Skip to main content
sharethis

สปสช.ออกประกาศเพิ่มค่าใช้จ่ายเยียวยาอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน COVID-19 แล้ว เตรียมเงินไว้ 100 ล้านบาทเพื่อเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ เผยขณะนี้มี สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ และเขต 10 อุบลฯ ยื่นเรื่องขอรับการเยียวยาแล้ว 267 ราย คิดเป็นสัดส่วนจากที่ฉีดไปแล้วทั้งหมดอยู่ที่ประมาณ 0.24% และมีอาการจนต้องนอนในโรงพยาบาลเพียง 0.05% เท่านั้น

สปสช.ออกประกาศเตรียมเงิน 100 ล้านบาท เยียวยาอาการแพ้วัคซีน COVID-19 แล้ว
ที่มาภาพประกอบ: สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์

16 พ.ค. 2564 นพ.จเด็จ ธรรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่าจากกรณีที่รัฐบาลมีนโยบายเร่งระดมฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้ได้โดยเร็วและเป็นวงกว้างมากที่สุด รวมทั้งมีนโยบายจ่ายเงินเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับผลไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนนั้น ล่าสุดคณะกรรมการ สปสช. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขการจ่ายค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขของหน่วยบริการ (ฉบับที่ 5) เรียบร้อยแล้ว โดยในกรณีการเยียวยาผลกระทบหลังฉีดวัคซีนได้เตรียมงบประมาณไว้ 100.32 ล้านบาท สำหรับจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายจากการฉีดวัคซีน และให้มีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่5 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า หลังจากเริ่มระดมฉีดวัคซีนไปแล้วระยะหนึ่ง ขณะนี้มี 2 เขตที่เสนอข้อมูลการขอรับเงินช่วยเหลือกรณีอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีน คือ สปสช.เขต 1 เชียงใหม่ จำนวน 218 ราย และ สปสช.เขต 10 อุบลราชธานี อีกจำนวน 49 ราย ส่วนเขตอื่นๆขณะนี้อยู่ระหว่างรวบรวมข้อมูล 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ในส่วนของ สปสช.เขต 1 ซึ่งมีผู้ยื่นขอเยียวยา 218 รายนั้น ตัวเลขถือว่าไม่ได้เยอะเลยเมื่อเทียบกับจำนวนที่ฉีดไปแล้วทั้งหมด 91,551 เข็ม คิดเป็น 0.24% ซึ่งถือว่าน้อยมาก และกลุ่มที่มีอาการรุนแรงก็มีแค่ 0.05% เท่านั้น และคำว่ามีอาการรุนแรงนี้ก็ไม่ใช่อาการรุนแรงน่ากลัวแบบเลือดตกยางออกหรือมีผลจนอาจเสียชีวิตแต่อย่างใด เป็นเพียงวิธีการนับของเขต 1 ว่าผู้ที่ต้องนอนพักในโรงพยาบาลก็นับเป็นกลุ่มที่มีอาการรุนแรงแล้วเท่านั้น 

"จาก 218 รายนี้ กว่าครึ่งมีอาการเล็กน้อย เช่น เป็นไข้นิดๆหน่อยๆปวดเมื่อยตามตัว ส่วนที่กลุ่มที่มีอาการรุนแรงนั้นก็คือไข้สูงจนต้องนอนพักโรงพยาบาล ส่วนอาการรุนแรงที่สุดที่พบคือมีอาการชาเท่านั้น จากข้อมูลนี้สะท้อนว่าการรับวัคซีนโควิด-19 มีความปลอดภัย เพียงแต่การที่ สปสช.กำหนดวิธีการเยียวยาด้วยนั้นก็เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนว่าหากมีอาการไม่พึงประสงค์ก็จะได้รับการดูแลด้วย ดังนั้นก็อยากจะฝากถึงประชาชนว่าให้รีบมาฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด ช่วยมากันเยอะๆ เมื่อมีภูมิคุ้มกันหมู่แล้วก็จะหยุดการระบาดของโรค เราจะได้กลับมาใช้ชีวิตกันตามปกติ เศรษฐกิจก็จะได้ดีขึ้น" นพ.จเด็จ กล่าว 

ด้าน พญ.สุชาดา เจียมศิริ รองผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า อาการไม่พึงประสงค์รุนแรงหลังฉีดวัคซีนหรือแพ้วัคซีน จะมีเช่น หอบหืด ผื่นขึ้น หน้าบวม เป็นผื่นเฉพาะที่ หมดสติ ช็อค อาการเหล่านี้สามารถรักษาได้และไม่มีผลในระยะยาว และโอกาสที่จะเกิดการแพ้รุนแรงมีน้อยมาก ส่วนกรณีของวัคซีนโควิดขณะนี้ฉีดเข็มแรกไป 1.46 ล้านโดสแล้ว ไม่มีใครที่มีอาการไม่พึงประสงค์รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ส่วนคนที่แพ้ก็อาการดีขึ้นหมดแล้ว 

เลขาธิการ สปสช. ยืนยัน ผู้ติดเชื้อโควิดที่เข้า รพ.บุษราคัม รักษาฟรี 

นพ.จเด็จ ยังระบุอีกว่ารัฐบาลได้มอบให้ สปสช.ให้การสนับสนุนเพื่อการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดที่รัฐบาลเปิดโรงพยาบาลบุษราคัม ณ อิมแพคชาเลนเจอร์ 3 เมืองทองธานี จ.นนทบุรี ทาง สปสช. ก็ได้สนับสนุนอุปกรณ์ อาทิ เครื่องวัดความดัน เครื่องวัดออกซิเจน เครื่องวัดอุณหภูมิ พร้อมทั้งยังได้นำร่องการใช้หุ่นยนต์เพื่อติดตามและดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาลแห่งนี้ด้วย 

นพ.จเด็จ กล่าวว่า นอกจากการสนับสนุนอุปกรณ์เพื่อความจำเป็นอย่างเร่งด่วนแล้ว สปสช.ยังได้ดำเนินการตามบทบาทหลัก นั่นคือการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนหน่วยบริการเพื่อให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ด้วย ฉะนั้นผู้ป่วยทุกรายที่เข้ามารับการรักษา ณ โรงพยาบาลบุษราคัม จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น ยืนยันว่า สปสช.จะรับหน้าที่ในการดูแลทั้งหมด 

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า จากสถานการณ์ที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมเพิ่มขึ้นกว่าที่เคยมีการประมาณการณ์ไว้ ขณะเดียวกันพบว่าการรักษาก็มีการปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ด้วย เช่น ในอดีตจะเน้นเรื่องปอด แต่ปัจจุบันพบว่ามีอวัยวะอื่นที่ต้องระวัง จึงจำเป็นต้องตระเตรียมงบประมาณให้เหมาะสม 

ทั้งนี้ สปสช. ได้เตรียมการที่จะเสนอต่อรัฐบาลเพื่อให้มีการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติม เพื่อรองรับปริมาณผู้ป่วย-การคัดกรองที่มากขึ้น ซึ่งคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ซึ่งมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช.เป็นประธาน ก็ได้ให้ความเห็นชอบในเรื่องนี้ไปแล้ว 

“เรื่องของงบประมาณนั้น เป็นหน้าที่ของ สปสช. ที่จะต้องคำนวนและชี้แจงต่อหน่วยงานที่จัดสรรงบประมาณอยู่แล้ว ตรงนี้ก็จะให้ความมั่นใจได้ว่าสิ่งที่ สปสช. คำนวณอยู่บนพื้นฐานของการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์และการรักษาที่เปลี่ยนไป มั่นใจได้ว่างบประมาณที่กำลังเตรียมการเอาไว้จะสามารถรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ได้อย่างเพียงพอ” นพ.จเด็จ กล่าว 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net