Skip to main content
sharethis

'วิโรจน์' แนะเพิ่มเงินเยียวยาผลกระทบจากการฉีดวัคซีน COVID-19 จากเดิมที่เสียชีวิตวงเงิน 400,000 บาท เป็น 5,000,000 บาท ทุพลภาพจากเดิม 240,000 บาท เป็น 2,000,000 บาท เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชน เผยตั้งสูงไว้ถ้ามั่นใจว่าปลอดภัยไม่ต้องจ่ายแน่นอน 


วิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล 

16 พ.ค. 2564 ทีมสื่อพรรคก้าวไกล รายงานว่าวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ส.ส.บัญชีรายชื่อและโฆษกพรรคก้าวไกล ร่วมกับ ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.กรุงเทพมหานคร เขตบางเเค แถลงต่อสื่อมวลชนถึงสถานการณ์โควิด 19 ณ ปัจจุบัน ,ผลการลุยตรวจโควิดเชิงรุก 'บางแคโมเดล' ของพรรคก้าวไกล และความเห็นต่อกรณีคลัสเตอร์เรือนจำ 

วิโรจน์ กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้ประชาชนเกี่ยวกับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 เพราะจากข้อมูลการจองคิวของของผู้สูงอายุจำนวนทั้งสิ้น 11.7 ล้านคน และผู้ป่วยจากโรคเรื้อรังที่มีอยู่ 4.3 ล้านคน รวมทั้งสิ้น 16 ล้านโดส ข้อมูลล่าสุดเมื่อวันที่ 15 พ.ค. พบว่ามียอดจองการลงทะเบียนทั้งสิ้นเพียง 4,923,029 คน คิดเป็น 30.77% แม้จะเห็นแนวโน้มว่ายอดจองวัคซีนเพิ่มขึ้นเเต่ยังคงต่ำเเละห่างไกลจากเป้าหมาย 16 ล้านโดสอยู่พอสมควร 

ปัญหาสำคัญที่พรรคก้าวไกลเล็งเห็น คือ ประชาชนยังขาดความเชื่อมั่นจากรัฐบาล ซึ่งสิ่งที่สร้างความมั่นใจให้กับประชาชนได้ดีที่สุดคือ การชี้เเจงข้อเท็จจริงอย่างตรงไปตรงมา เพื่อให้ประชาชนได้พิจารณาทั้งข้อมูลความเสี่ยงเเละคุณประโยชน์จาการฉีดวัคซีน เเละได้ไตร่ตรองตัดสินใจด้วยตนเองด้วยความเต็มใจ โดยพรรคก้าวไกลขอเสนอให้รัฐบาลพิจารณาดำเนินการใน 2 ประเด็นสำคัญ ดังนี้ 

ประเด็นเเรก ปัจจุบันประชาชนเข้าใจดีอยู่เเล้วว่าความเสี่ยงที่เกิดจากผลข้างเคียงที่รุนเเรงจากการฉีดวัคซีนในปัจจุบันมีน้อยมากในระดับที่ต่ำกว่า 10 ราย ต่อ 1 ล้านเข็ม เเต่สิ่งที่ประชาชนต้องการทราบ คือ รัฐบาลได้เตรียมการดูเเลผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนเเรงไว้อย่างไรบ้าง อาทิ ระบบการรักษาพยาบาล ณ จุดที่ฉีด ระบบการส่งต่อผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนเเรงไปยังโรงพยาบาลที่มีศักยภาพได้ภายในกี่นาที ได้มีการจัดสรรทีมแพทย์และซักซ้อมขั้นตอนในการช่วยเหลือผู้ป่วยที่มีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนเเรงไว้เรียบร้อยเเล้วหรือไม่ มีการเตรียมอุปกรณ์ทางการเเพทย์และสำรองยาที่จำเป็นในการช่วยเหลือชีวิตที่เเพทย์สามารถใช้ช่วยเหลือเเละสั่งจ่ายยาให้กับผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนเเรงได้ทันท่วงทีหรือไม่ มีระบบการสำรองยาที่ทำให้ประชาชนมั่นใจเเล้วหรือไม่  หากรัฐบาลได้วางระบบในการคุ้มครองผู้ป่วยผู้ที่ไม่พึงประสงค์เป็นที่เรียบร้อยเพียงพอเเล้ว  รัฐบาลควรปรับวงเงินเยียวยาเบื้องต้นให้เพิ่มขึ้นจากเดิม จากเดิมที่เสียชีวิตวงเงิน 400,000 บาท เป็น 5,000,000 บาท ทุพลภาพจากเดิม 240,000 บาท ก็ปรับเป็น 2,000,000 บาทโดยเป็นการเยียวยา ไม่ใช่การชดใช้ความเสียหาย ซึ่งสามารถจ่ายได้ทันทีเมื่อเกิดอุบัติการณ์ขึ้น โดยไม่ต้องรอการสอบสวนหาสาเหตุ ตัวเลขที่ปรับสูงขึ้นไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลต้องการจะจ่ายเงินก้อนนี้ แต่มันสะท้อนถึงความมั่นใจในระบบการดูแลความปลอดภัยในการฉีดวัคซีนของประชาชน และเป็นการยืนยันว่ารัฐบาลจะพร้อมเข้าไปรับผิดชอบต่อชีวิตของประชาชนอย่างเต็มที่

ประเด็นต่อมา ปัจจุบันประชาชนทราบดีว่าวัคซีน Sinovac สามารถป้องกันอาการหนัก และลดโอกาสการเสียชีวิตได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ประชาชนยังต้องการข้อเท็จจริงก็คือ วัคซีน Sinovac นั้นมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อได้มากน้อยเพียงไร ปัจจุบันมีบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากได้รับการฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มเป็นที่เรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจึงควรสรุปข้อมูล และชี้แจงให้ประชาชนทราบว่า ผู้ที่ได้รับการฉีด Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว นั้นมีภูมิคุ้มกันขึ้นคิดเป็นร้อยละเท่าใด และปัจจุบันมีบุคลากรทางการแพทย์ที่ฉีดวัคซีน Sinovac ครบ 2 เข็มแล้ว แต่พบว่าติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ มากน้อยเพียงไร ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อเท็จจริงถึงประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีน Sinovac

และในกรณีที่พบว่าประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อของวัคซีน Sinovac ไม่อยู่ในระดับที่สูงนัก รัฐบาลควรมีความชัดเจนในการจัดซื้อวัคซีนยี่ห้ออื่นที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อที่ดีกว่า เพราะการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อที่ต่ำ จะทำให้ไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่และจะไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ พอควบคุมการระบาดไม่ได้ ก็จะไม่สามารถเปิดประเทศได้ และเศรษฐกิจก็จะไม่ได้รับการฟื้นฟู ดังนั้นรัฐบาลจึงควรมีความชัดเจนในการจัดซื้อวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อสูง และควรฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อสูงให้กับประชาชนที่ฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อต่ำไปก่อนหน้าแล้ว
 
ประเด็นที่ 2 ปัญหาการรอคอยของประชาชน และจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 สีเหลือง ที่มีอาการหนักขึ้น

ปัจจุบัน ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร หากสงสัยว่าตนอาจเป็นผู้ติดเชื้อโควิด-19 และเริ่มมีอาการ การเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการ ปัจจุบันในโรงพยาบาลของรัฐบางแห่ง ต้องรอคิวตรวจนานกว่า 3 วัน และกว่าจะทราบผล ก็อาจต้องรออีก 1-2 วัน ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีอาการหนักขึ้น จากผู้ป่วยสีเขียว ก็ต้องกลายเป็นผู้ป่วยสีเหลือง หรือสีแดง โดยไม่จำเป็น ทำให้จำนวนผู้ป่วยสีเหลือง และสีแดงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะทำให้โอกาสการเสียชีวิตของผู้ป่วยมีเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย นอกจากนี้การตรวจเชิงรุกที่ทำอยู่ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็ยังทำได้ไม่ครอบคลุม และมีจำนวนตรวจที่จำกัด ทำให้ไม่สามารถสกัดกั้นการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพได้ ซึ่งมาตรการการตรวจเชิงรุก การส่งต่อผู้ติดเชื้อ และการดูแลผู้กักตัวอย่างเป็นระบบ พรรคก้าวไกลได้ทำพื้นที่ตัวอย่างเพื่อเป็นต้นแบบแล้วในเขตบางแค

ณัฐพงษ์  กล่าวถึงรายละเอียดในเรื่องนี้ว่า จากประกาศ ศบค.ล่าสุด เขตบางเเคอาจจะไม่ใช่พื้นที่เฝ้าระวังสูงสุดที่สำคัญ แต่ถ้าติดตามข่าวจะเห็นว่าในช่วงสามถึงสี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เขตบางเเคเป็นคลัสเตอร์สำคัญ โดยตนได้มีส่วนในการขับเคลื่อนภายช่วยเหลือพี่น้องประชาชนมาโดยตลอด 

"จากการขับเคลื่อนในเขตบางเเคคิดว่า น่าจะเป็นตัวอย่างให้เขตอื่นนำไปดำเนินการเเละขยายผลได้ โดยสิ่งที่ทีมงานพรรคก้าวไกลและกลุ่มเปลือกส้มซึ่งก็คือว่าที่ผู้สมัคร ส.ก.ของพรรค ขับเคลื่อนร่วมกันมี 3 หา ได้แก่ หาชุดตรวจ หารถรับส่งผู้ป่วย  หาเตียง ตลอดจนหาเครื่อง HFNC ให้กับ รพ.ต่างๆในกรุงเทพมหานคร เเละเราได้พัฒนาโมเดลตรวจเชิงรุก จากเคสชุมชนบ้านขิง ซึ่งเป็นคลัสเตอร์สำคัญของกรุงเทพมหานคร เเละมีการเเจกถุงธารน้ำใจ จากที่ได้รับบริจาคมาเเล้วส่งต่อผู้ที่ต้องกักตัวในที่พักอาศัย ในช่วงสถานการณ์การเเพร่ระบาด ในส่วนของข้อมูลที่พรรคก้าวไกลขับเคลื่อนภายใต้ว่าที่ผู้สมัครส.ก.ของพรรคก้าวไกล สามารถเข้าไปติดตามผลงานได้ที่ www.covid19.moveforwardparty.org เป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมการทำงานไว้ทั้งหมด อาทิ ในเรื่องการหารถ เราได้ประสานทั้งหมด 22 เคส หาคิวตรวจ 724 เคส หาเตียง 321 เคส"

ณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า อยากสะท้อนปัญหาสำคัญที่รัฐบาลยังไม่สามารถรับมือกับการเเพร่ระบาด และถือว่าเป็นความผิดพลาด คือ การที่ยังตรวจไม่เพียงพอและไม่รวดเร็ว รวมถึงขาดการตรวจเชิงรุก อาทิ กรณีชุมชนบ้านขิง ที่ทีมงานของตนได้รับทราบข้อมูลตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. โดยตัวแทนชุมชนแจ้งว่ามีผู้ต้องสงสัยว่าติดเชื้ออาศัยอยู่ในชุมชนซึ่งมีอาการค่อนข้างรุนเเรง แต่เมื่อติดต่อไปยังสำนักงานเขตหรือ คอลเซนเตอร์ต่างๆของรัฐ ก็ไม่ได้รับการตอบสนองใดๆ  

"สิ่งที่เราจะเสนอต่อรัฐบาลคือการตรวจ rapid antigen test ให้ประชาชนได้ตรวจอย่างเสรี เหมือนอย่างประเทศเยอรมันที่เเจกชุดตรวจตามร้านขายยา เเละในอังกฤษที่มีการส่งชุดตรวจให้ฟรี 2 ครั้งต่อสัปดาห์ โดยในกรณีบ้านขิงทีมของพรรคได้นำเเล็บตรวจ ที่มีใบอนุญาตถูกต้อง มีเจ้าหน้าที่เทคนิคการเเพทย์ลงชุมชน ในวันที่ 28 เมษายน หรือเพียง 2 วัน หลังได้รับเเจ้ง ได้ตรวจไปทั้งสิ้น 98 เคส พบ9 เคส ในขั้นเเรก เป็นการตรวจด้วย Rapid antigen test ที่หน้างาน แต่เพื่อความเเน่นอนในผลตรวจจึงส่งผลตรวจไปยัง รพ.ราชพิพัฒน์ ด้วยการตรวจแบบ PCR อีกครั้ง ซึ่งผลออกมาพบว่า ติดเชื้อทั้ง 9 คนตรงกัน ทำให้เรายืนยันได้ว่าการตรวจแบบ Rapid antigen test เป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพเเละเหมาะสมเพียงพอต่อการตรวจเชิงรุกที่หน้างาน "

ณัฐพงษ์ กล่าวต่อไปว่า จากการดำเนินงานสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตรวจเชิงรุก 5 วัน  อาทิ ชุมชมงามปัญจะ หมู่บ้านทวีโชติ ชุมชุมศิริสุข แเละนครเเสงเพชร ได้พบผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น เเละการดำเนินงานด้วยการตรวจแบบ Rapid antigen test ของพรรคก้าวไกลมีส่วนสำคัญที่ทำให้บางเเคคลี่คลายสถานการณ์จากการเป็นคลัสเตอร์ของกรุงเทพมหานคร และเป็นข้อเท็จจริงที่ขอเสนอไปยังรัฐบาลว่า การตรวจเเบบ PCR ไม่เพียงพอต่อสถานการณ์ปัจจุบัน  

ทั้งนี้ พรรคก้าวไกล ได้มีข้อเสนอต่อที่ต้องเร่งดำเนินการทันที ดังนี้ 

1) รัฐบาลควรใช้ Rapid Anitgen Test ที่ผ่านมาตรฐาน อย. ในการตรวจคัดกรองให้กับประชาชนที่มีอาการเข้าข่ายว่าอาจติดเชื้อโควิด-19 เพื่อให้ผู้ป่วยโควิด-19 เข้าถึงยา และการรักษาก่อนที่จะมีอาการหนัก พร้อมกับใช้ในการดำเนินการตรวจคัดกรองเชิงรุก ให้ครอบคลุมพื้นที่ และมีจำนวนตรวจที่มากขึ้น เพื่อสกัดกั้นการระบาดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ พร้อมกับดูแลเรื่องข้าวปลาอาหารที่เพียงพอต่อการยังชีพ ให้กับผู้ที่ต้องอยู่ระหว่างรอเตียง หรือต้องกักตัวเอง 14 วัน

2) รัฐบาลควรให้ประชาชนสามารถเข้าถึง Rapid Antigen Test ที่ผ่านมาตรฐาน อย. ผ่านการซื้อได้ตามร้านขายยามาตรฐานทั่วไป
 
3) รัฐบาลควรยกเลิกนโยบายที่โรงพยาบาลไหนที่ตรวจพบ จะต้องเป็นผู้จัดหาเตียงให้กับผู้ป่วยเอง โดยเปลี่ยนมาเป็นโรงพยาบาลตามสิทธิเป็นผู้บริหารจัดการในเบื้องต้น สำหรับการจัดสรรเตียง และการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลที่มีสมรรถนะที่เหมาะสมกับอาการของโรค ควรมีหน่วยงานกลางในการจัดการ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่เป็นมาตรฐานที่ตกลงร่วมกัน เพราะปัจจุบันปัญหาใหญ่ที่สุดในการบริหารจัดการเตียงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ก็คือ โรงพยาบาลมีต้นสังกัดที่หลากหลาย ทั้ง สังกัดกรุงเทพมหานคร กรมการแพทย์ กองทัพ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และโรงเรียนแพทย์ ซึ่งการจัดสรรเตียง และการส่งต่อผู้ป่วยในปัจจุบันยังคงขาดเอกภาพในการทำงานข้ามสังกัด

4) รัฐบาลต้องเร่งปรับปรุงกระบวนการในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 โดยลดระยะเวลาในการรอคิวตรวจ รอผลตรวจ รอเตียง และรอยา ให้ได้ โดยเฉพาะการลดงานเอกสาร และงานธุรการในการจ่ายยาของแพทย์ลง เพื่อลดอัตราการเสียชีวิตของผู้ป่วยให้น้อยลงที่สุด เท่าที่จะทำได้
 
5) รัฐบาลต้องเร่งจัดสรรงบประมาณ หรืออนุมัติงบกลางในการจัดซื้อเครื่องมือที่จำเป็น เช่น เครื่องออกซิเจนไฮโฟล์ว เป็นต้น พร้อมกับยกระดับหอผู้ป่วยทั่วไป หรือโรงพยาบาลสนามบางแห่ง ให้มีศักยภาพในการดูแลผู้ป่วยสีเหลืองได้ ซึ่งปัจจุบันพรรคก้าวไกล ได้ประสานกับกลุ่มเปลือกส้ม ซึ่งเป็นกลุ่มอาสาสมัคร ในการเป็นตัวกลางในการรับบริจาคจากผู้มีจิตศรัทธาในการจัดซื้อให้กับโรงพยาบาล ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งปัจจุบัน ได้จัดซื้อไปแล้วทั้งสิ้น 9 เครื่อง และแจ้งความประสงค์ในการบริจาคไปแล้ว 5 เครื่อง ให้กับ โรงพยาบาล 5 แห่ง ได้แก่ รพ.ราชพิพัฒน์ รพ.ผู้สูงอายุบางขุนเทียน รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ รพ.ตากสิน และ รพ.สิรินธร และอยู่ระหว่างประสานงานเพื่อการบริจาค และส่งมอบบอีก 4 เครื่อง ให้แก่ โรงพยาบาลอีก 4 แห่ง คือ รพ.ลาดกระบัง รพ.เวชย์การุณ รพ.หลวงพ่อทวีศักดิ์ และ รพ.ราชวิถี ซึ่งจะเร่งดำเนินการเพื่อการส่งมอบต่อไป ในเรื่องการจัดหาเครื่อมือทางการแพทย์ต่างๆ ทั้งเครื่อง ออกซิเจนไฮโฟล์ว หรือชุด PARP รัฐบาลจะรอคอยการบริจาคไม่ได้ จะต้องเร่งอนุมัติงบประมาณมาจัดซื้ออย่างเร่งด่วน ซึ่งจริงๆ แล้ว รัฐบาลต้องจัดซื้อมาก่อนล่วงหน้าแล้วด้วยซ้ำ

6) รัฐบาลต้องกระจายความเสี่ยง และสำรองยาที่จำเป็นต่อการรักษาโรคโควิด-19 ให้มีความหลากหลาย และเพียงพอ ที่แพทย์สามารถเลือกจ่ายยาตามข้อบ่งชี้ ที่เหมาะสมกับคนไข้แต่ละคนได้ ปัจจุบันยาต้านไวรัส ประเทศไทยมีเพียงยาฟาวิพิราเวียร์เป็นหลักเท่านั้น
 
ในประเด็นสุดท้าย ความเห็นต่อ การระบาดคลัสเตอร์เรือนจำ จากข้อมูลเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 พบว่าจากยอดผู้ตั้งขังทั้งหมดในทัณฑสถานหญิงกลาง 2,444 คน พบผู้ติดเชื้อสูงถึง 1,039 คน คิดเป็น 42.51% เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร จากผู้ต้องขังทั้งหมด 3,045 คน พบผู้ติดเชื้อสูงถึง 1,979 8น คิดเป็น 64.99% และยังคงมีการรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่เป็นจำนวนมากทุกวัน

ด้วยเหตุนี้ จึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งจัดส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่มีความชำนาญ เข้าไปจัดการควบคุมสถานการณ์การระบาดในในเรือนจำเขตลาดยาว อย่างเร่งด่วน โดยพิจารณาแยกผู้ต้องขังที่ยังไม่ติดเชื้อ ออกมาอยู่ในพื้นที่ที่หนาแน่นน้อยกว่า และเร่งจัดสรรพื้นที่ พร้อมกับจัดหาเครื่องมือแพทย์และยา ให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ต้องขังที่ติดเชื้อโควิด-19 เพราะต่อให้ผู้ต้องขังจะเป็นผู้ที่กระทำความผิดตามคำพิพากษาของศาล แต่พวกเขายังคงถือว่าเป็นประชาชน ที่ควรได้รับการดูแลทางด้านสวัสดิภาพตามสมควร จะปล่อยให้พวกเขาต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคระบาดในเรือนจำตามยถากรรมไม่ได้

"เหตุการณ์การระบาดในเรือนจำในครั้งนี้ ถือเป็นความรับผิดชอบของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้ นอกจากนี้รัฐบาลควรจัดสรรงบประมาณในการป้องกันการพร่ระบาดให้กับกรมราชทัณฑ์เพิ่มเติม เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้ที่เรือนจำอื่น เพราะงบประมาณปี พ.ศ. 2564 ที่มีอยู่เพียง 750,000 บาท สำหรับเรือนจำ 142 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งตกแห่งละ 5,282 บาทต่อปี นั้นไม่เพียงพอแน่ๆ

"นอกจากนี้ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำ สิทธิประกันตัวสำหรับผู้ที่ถูกกล่าวหา ควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะผู้ที่ถูกกล่าวหา ตราบใดที่ยังไม่มีคำพิพากษาของศาลเป็นที่สุด ย่อมต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ดังนั้นจะปล่อยให้เขาไปผจญกับสถานการณ์การระบาดภายในเรือนจำ ย่อมเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง" วิโรจน์ ระบุ ทิ้งท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net