สรุปปาฐกถา ‘รัฐสวัสดิการ’ โดยษัษฐรัมย์ เนื่องในวันปรีดี

สรุปประเด็นจากปาฐกถางาน PRIDI Talks #10 เนื่องในโอกาสวันปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 11 พ.ค. 64 หัวข้อ “รัฐสวัสดิการ เพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” โดย ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี 

  • ปรีดี พนมยงค์ แม้ถูกชนชั้นนำไทยปั้นแต่งเป็นปีศาจ แต่ในมุมมองของษัษฐรัมย์ ปรีดี คือจิตวิญญาณที่ต่อสู้เพื่อความเท่าเทียม และรัฐสวัสดิการ 
  • สิ่งที่เป็นแรงบันดาลใจให้ปรีดีเปลี่ยนแปลงการปกครอง ไม่แตกต่างจากสิ่งที่นักศึกษาคนรุ่นใหม่ออกมาตั้งคำถามและฝันถึงการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน  
  • บทเรียนจากประวัติศาสตร์ ชี้ให้เห็นว่าการรัฐประหาร-การปกครองใต้เผด็จการ เป็นอุปสรรคอย่างยิ่งยวดต่อการสร้างรัฐสวัสดิการ 
  • รัฐสวัสดิการคือสิ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ไม่ใช่เพ้อฝันอย่างที่ใครเขาว่า และคือรูปธรรมของประชาธิปไตย

ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ผู้กล่าวปาฐกถา หัวข้อ “รัฐสวัสดิการ เพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” ในงาน PRIDI Talks #10 เนื่องในวันปรีดี พนมยงค์ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.64 (ที่มา สถาบันปรีดี พนมยงค์)

11 พ.ค. 64 สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงาน LIVE PRIDI Talks #10 เนื่องในโอกาสรำลึก 121 ปีชาตกาล ปรีดี พนมยงค์ รัฐบุรุษอาวุโส โดยถ่ายทอดสดผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย เฟซบุ๊กไลฟ์ เพจ ‘สถาบันปรีดี พนมยงค์ Pridi Banomyong Institute’ เมื่อเวลา 10.00 น. โดยมี ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ เป็นผู้ดำเนินรายการ

ไฮไลท์ของงานครั้งนี้ คือ การปาฐกถา หัวข้อ “รัฐสวัสดิการ เพื่อความสุขสมบูรณ์ของราษฎร” โดย รองศาสตราจารย์ ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์จากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้วิจัยด้านรัฐสวัสดิการ ซึ่งชี้ให้เห็นมุมมองต่อปรีดี พนมยงค์ ในฐานะนักสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ ทำไมรัฐเผด็จการและการรัฐประหารถึงทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นยาก และประชาธิปไตยและรัฐสวัสดิการคือเรื่องเดียวกัน

ความเหลื่อมล้ำที่ไม่เคยจางหายในสังคมไทย 

ษัษฐรัมย์เริ่มต้นการปาฐกภา โดยชี้ให้เห็นว่า ความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมต่างๆ ในสังคม ดำรงอยู่ตั้งแต่ในอดีตจนปัจจุบัน ยิ่งในช่วงวิกฤตโควิด-19 บาดแผลเหล่านี้ยิ่งเด่นชัด และคนรุ่นใหม่คือผู้ที่ได้รับความบอบช้ำโดยตรง 

ในฐานะอาจารย์ของ มธ. ทำให้เขามองเห็นความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาอย่างเด่นชัด คนไหนเกิดในครอบครัวที่ยากจน การศึกษาหรือจ่ายค่าเทอมในระดับมหาวิทยาลัย ดูจะเป็นไปได้ยาก ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจถดถอยช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 และสุดท้าย ก็ไม่สามารถเรียนต่อได้

บางกรณีนักศึกษาต้องทำเรื่องผ่อนผันค่าเทอม เนื่องจากไม่มีเงินมาจ่าย ถึงจะจ่ายได้ ชีวิตก็ต้องติดลบจากการกู้หนี้ยืมสิน หลายคนเป็นประจักษ์พยานว่า พ่อ-แม่ของเขา ต้องทำงาน หรือแบกรับหนี้สินมากเพียงใด เพื่อให้พวกเขาได้ร่ำเรียน 

นอกจากตัวอย่างในการเรียนต่อระดับอุดมศึกษา การเป็นคนจนในสังคมไทยนั้น คุณต้องทำงานหนักอย่างมาก เพื่อยกระดับฐานะ หรือให้ได้ใช้ชีวิตปกติทั่วไป 

หากอ้างอิงจากรายงานของธนาคารโลก ซึ่งระบุว่า หากคุณเป็นคนไทยที่เกิดในครึ่งล่างของเส้นความยากจนของประเทศ หากคุณพยายามอย่างเต็มที่ คุณมีโอกาสเพียงแค่ 1 ใน 7 หรือ 15% เท่านั้น ที่จะมีโอกาสกลายเป็นชนชั้นกลาง หรือ 25% ของประเทศนี้ นั่นหมายความว่าคุณต้องทำงานหนักถึง 7 เท่า ถึงจะมีชีวิตตามแบบมาตรฐานของคนทั่วไปเลยทีเดียว  

ลักษณะเหล่านี้เป็นการตอกย้ำว่า ความเหลื่อมย้ำมีอยู่ในประเทศนี้ มีคนจำนวนมาก ที่ถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด แม้ว่าจะทำงานหนักทั้งชีวิตก็ไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองได้ ติดลบตั้งแต่วันที่ 1 ของชีวิต จนกระทั่งวันที่จากไปชีวิตก็ไม่ได้ดีขึ้นมาเลย 

ปรีดี พนมยงค์ นักสู้เพื่อรัฐสวัสดิการ ที่ถูกชนชั้นนำทำให้กลายเป็นปีศาจ

ษัษฐรัมย์ กล่าวต่อว่า ความเหลื่อมล้ำในสังคมนี้ หลายคนอาจคิดว่ามันเป็นปัญหาในปัจจุบัน แต่แท้จริง เรื่องเหล่านี้ดำรงมานานแล้ว หลักฐานชิ้นสำคัญที่ตอกย้ำให้เห็นเรื่องนี้คือ แถลงการณ์คณะราษฎร ฉบับที่ 1 เมื่อเกือบ 90 ปีที่แล้ว ราว พ.ศ.2463-2464 ร่างโดยรัฐบุรุษของไทย 'ปรีดี พนมยงค์' ข้อความตอนหนึ่งจากแถลงการณ์ฉบับนั้น ระบุว่า 

“เงินเหล่านี้จะต้องเอามาจากไหน ก็เอามาจากราษฎร เพราะวิธีการทำนาบนหลังคนนั่นเอง บ้านเมืองกำลังอัตคัด ฝืดเคือง ชาวนาและพ่อ-แม่ทหารต้องทิ้งนา เพราะทำนาไม่ได้ผล รัฐบาลไม่บำรุง คนตกงานอย่างเกลื่อนกราด นักเรียนที่สำเร็จการศึกษา ทหารที่ปลดกองหนุน ไม่มีงานทำ อดอยากไปตามยถากรรม ข้าราชการชั้นผู้น้อย นายสิบ และเสมียน ไม่สามารถได้รับค่าจ้างที่เพียงพอ ความจริง ถ้าเอาเงินพวกเขารวมกัน มาจัดบำรุงบ้านเมืองให้คนมีงานทำ จึงจะสมควรตอบสนองคุณราษฎร ที่เสียภาษีอากรให้พวกเขา หลังจากที่พวกเขาร่ำรวยมานาน แต่พวกเขาหาทำอย่างนั้นไม่ ยังคงสูบเลือดกันต่อไป เงินเหลือเท่าไหร่ ก็เอาไปฝากต่างประเทศ คอยเตรียมหนี เมื่อประเทศชาติบ้านเมืองทรุดโทรมลง” 

ดังนั้น ความเหลื่อมล้ำเป็นแรงบันดาลใจหนึ่งให้ปรีดี เปลี่ยนแปลงการปกครอง และถูกบรรจุเป็นหนึ่งในเจตนารมณ์ของคณะราษฎร กับความเหลื่อมล้ำและอยุติธรรมที่เป็นแรงบันดาลใจให้นักศึกษาคนรุ่นใหม่ออกมาตั้งคำถามในวันนี้ ก็ไม่ต่างกัน 

การผูกขาดความทรงจำของชนชั้นนำที่บอกว่ารัฐสวัสดิการเป็นไปไม่ได้

ษัษฐรัมย์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้รัฐสวัสดิการไม่เคยเกิดขึ้นเลยตลอด 90 ปี นับตั้งแต่สยามภิวัฒน์ เปลี่ยนแปลงการปกครองจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นประชาธิปไตย คือ การผูกขาดความทรงจำของชนชั้นนำ 

ความทรงจำเหล่านั้น คือ การกล่อมเกลาทางจิตสำนึกว่า ใครเกิดในครอบครัวยากจน หรือฐานันดรที่ต่ำ คุณต้องพอใจกับสถานะเหล่านี้ต่อไป ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เหมือนกับว่าสังคมไทยเป็นสังคมชนชั้นเหลื่อมล้ำมานาน 

ใครก็ตามที่หาญกล้าพูดถึงเรื่องความเท่าเทียม คนเหล่านั้นจะถูกผลักให้เป็นปีศาจร้าย หรือศัตรูของชนชั้นนำ อย่างที่ปรีดี พนมยงค์ และคณะราษฎร เคยโดน และคนรุ่นใหม่ที่ถวิลหาความเท่าเทียมในสังคมกำลังประสบในขณะนี้ 

ชนชั้นนำจะคอยบอกคุณว่า เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเพ้อฝัน ละเมอเพ้อพก ดังเช่น ตอนที่ปรีดี นำเสนอ พ.ร.บ.การประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร หรือถ้าใช้ภาษาปัจจุบัน ก็คือนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ผนวกรวมด้วยเงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า การทำให้ทุกคนมีหลักประกันพื้นฐานในชีวิต 

“...แต่สิ่งที่ผมอยากย้ำข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ ง่ายมาก การจัดรัฐสวัสดิการ และเงินเดือนพื้นฐานให้คนไทยทุกคน เริ่มต้นอยู่ที่ 20 บาทต่อเดือน คิดเป็นค่ามาตรฐานของค่าครองชีพปัจจุบันแล้ว ประมาณ 4,000 บาทต่อเดือน สิ่งเหล่านี้ประชาชนกำลังพูดถึงเรื่องบำนาญ พูดถึงเรื่องเงินเลี้ยงดูเด็กถ้วนหน้า 80-90 ปี นี่คือสิ่งที่ถูกเสนอในรอบแรกของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม” ษัษฐรัมย์ กล่าว

แต่นโยบายนี้ถูกแรงเสียดทานจากปีกอนุรักษ์นิยมของคณะราษฎร และฝ่ายสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งมองว่าประเทศไทยยังไม่พร้อมกับเรื่องนี้ และไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย 

แม้การต่อสู้ครั้งแรกจะไม่เป็นผล แต่ปรีดีได้กลับมามีบทบาททางการเมืองในฐานะนายกรัฐมนตรีในปี พ.ศ.2489 ในครานั้น ปรีดี ผลักดันรัฐธรรมนูญที่ได้ชื่อว่าก้าวหน้าที่สุดครั้งหนึ่งของไทย ซึ่งภายหลังจะเป็นรากฐานให้กับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ในเวลาต่อมา

“มาตรา 12 ระบุไว้ว่า บุคคลทุกคนมีฐานะเสมอภาคกันตามกฎหมาย จะมีฐานันดรโดยกำเนิดก็ดี หรือฐานันดร สถานะทางเศรษฐกิจที่ได้มาแต่หนหลังก็ดี ไม่ทำให้บุคคลนั้นมีเอกสิทธิ์เหนือผู้ใดเลย” ษัษฐรัมย์กล่าวถึงข้อความบางส่วนจากรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2489

กระนั้นก็ตาม ความฝันเรื่องรัฐสวัสดิการก็ต้องชะงัก หลังการทำรัฐประหาร พ.ศ. 2500 โดยสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งต่อมา อาจารย์รั้วแม่โดมจะชี้ให้เห็นว่า การทำรัฐประหาร และการปกครองภายใต้เผด็จการ ส่งผลต่อนโยบายสวัสดิการอย่างไรบ้าง 

เสียงของรัฐสวัสดิการจะแผ่วลงเมื่อรัฐเผด็จการมีอำนาจ 

ษัษฐรัมย์ ชี้ว่า นโยบายสวัสดิการถ้วนหน้าเกิดยากเมื่อมีการทำรัฐประหาร และการปกครองภายใต้เผด็จการ หากดูในช่วงประวัติศาสตร์การเมืองไทยหลัง พ.ศ. 2500 สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำรัฐประหาร ยึดอำนาจจากจอมพล ป.พิบูลสงคราม ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ กฎหมายประกันสังคม ซึ่งควรจะผ่านก่อนปี พ.ศ. 2500 ถูกดองจนถึงปี พ.ศ. 2540 ถึงได้ใช้ ขณะที่นักการเมืองผู้มีความคิดก้าวหน้าดั่งปรีดี ที่หวังเห็นความเท่าเทียมเกิดขึ้นในประเทศแห่งนี้ ถูกไล่ปราบอย่างหนักหน่วง และต้องพบจุดจบอย่างเศร้าสลด 

นอกจากนี้ จุดเปลี่ยนหลัง พ.ศ. 2500 ทำให้ไทยเดินสู่รัฐสังคมสงเคราะห์แทนรัฐสวัสดิการ และรัฐอภิสิทธิ์ชน สวัสดิการจำนวนมากถูกนำมาใช้ในระบบราชการ เพื่อการต้านภัยคอมมิวนิสต์ การเรียกร้องของขบวนการนักศึกษาครั้งสำคัญอย่างเหตุการณ์ 6 ต.ค. 2519 เพื่อเรียกร้องให้สังคมเกิดความเป็นธรรมและเท่าเทียม ก็ถูกชนชั้นนำสลายการชุมนุมนองเลือด บางคนต้องสละชีวิตจากเหตุครั้งนั้น และหลายคนถูกบีบให้เดินทางเข้าป่าไปร่วมกับพรรคคอมมิวนิสต์ 

แม้ว่ารัฐธรรมนูญปี 40 ซึ่งเป็นอีกจุดสำคัญของการเมืองไทย ที่ทำให้มีระบบพรรคการเมือง และการเลือกตั้งจากประชาชน ระบบแบบนี้ทำให้พรรคการเมืองต้องนำเสนอนโยบายที่มีความก้าวหน้า และให้ประโยชน์แก่ประชาชนโดยแท้จริง ผู้บริหารประเทศมีความใกล้ชิดกับประชาชนมากกว่าที่เคย ผลจากรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540 นำมาสู่การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในปี พ.ศ. 2544 แต่ดีใจได้ไม่นาน ประเทศไทยก็เดินเข้าสู่วังวนรัฐประหารอีกครั้งหลังปี พ.ศ. 2549-2557 ส่งผลให้ผู้นำประเทศไม่ถูกยึดโยงกับประชาชนเฉกเช่นสมัยก่อนหน้านี้ 

สามอัปลักษณ์ที่ทำให้ไทยไม่มีรัฐสวัสดิการ 

การเข้าสู่วังวนการรัฐประหาร และการสืบทอดอำนาจอย่างต่อเนื่อง เป็นอุปสรรคสำคัญของรัฐสวัสดิการ หรือนโยบายที่ให้คุณต่อประชาชน 

ผลอีกประการจากรัฐประหารซ้ำๆ คือการเกิดความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างกลุ่ม 3 กลุ่ม ได้แก่ ชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ ชนชั้นนำทางการเมือง และชนชั้นอนุรักษ์นิยมที่ผูกขาดค่านิยมจารีตประเพณีต่างๆ และแน่นอนว่าไม่มีประชาชนอยู่ในสมการดังกล่าว 

ความอัปลักษณ์ด้านการเมือง การผูกขาดอำนาจทางการเมืองผ่านเครือข่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มทุน กองทัพ และอำนาจที่เหนือรัฐธรรมนูญขึ้นไป การทำงานเป็นเครือข่ายทำให้คนรุ่นใหม่ไม่สามารถเข้ามาได้มีความคิดใหม่ ไม่เกิดการนำเสนอนโยบายที่ท้าทายอำนาจ 

ในทางวิชาการเรียกระบบนี้ว่า ‘Democrasubjection’ คือ การเป็นไพร่ในสังคมประชาธิปไตย มีการเลือกตั้ง มีพรรคการเมือง เสนอนโยบายได้ แต่ไม่นำสู่การเปลี่ยนแปลง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นเมื่อมีการรัฐประหารที่ต่อเนื่องยาวนาน มีกลไกการสืบสอดอำนาจ เมื่อเสียงความต้องการของประชาชนไม่สามารถถูกส่งต่อออกไปได้ ความเท่าเทียมทางนโยบายก็ไม่เกิดขึ้น

ความอัปลักษณ์ข้อที่สองคือความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจ มีเพียงกลุ่มทุนไม่กี่กลุ่มที่ผูกขาด และครอบครองปัจจัยการผลิตทั้งหมดในประเทศ ส่วนคนที่ยากจนที่สุดคือคนที่ทำงานหนักที่สุด ยิ่งรายได้น้อย ก็ต้องทดแทนด้วยเวลาการทำงานที่ยาวนานยิ่งขึ้น แต่การทำงานที่ยาวนานกลับไม่ได้การันตีอีกว่าพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้น แรงงานเป็นผู้รับความเสี่ยงทั้งหมดเพื่อทำให้นายทุนมั่งคั่ง 

ษัษฐรัมย์ ยกตัวอย่าง ‘แรงงานเสี่ยง’ แรงงานในระบบแพลตฟอร์มขึ้นมา ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้แม้ว่าจะต้องรับความเสี่ยงต่างๆ มากมาย กลับไม่มีสวัสดิการรองรับในการทำงานเลย  

เหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น เนื่องมาจากความแนบชิดกลไกชนชั้นนำทางการเมือง และชนชั้นนำทางเศรษฐกิจ อันเป็นผลจากการสืบทอดอำนาจอย่างยาวนาน เมื่อเป็นเช่นนี้ฝ่ายกุมอำนาจทางการเมืองมักดำเนินนโยบายเอื้อกลุ่มทุนมากกว่า และละเลยความเป็นอยู่ของแรงงาน

สุดท้าย อัปลักษณ์ที่สาม ชนชั้นนำกลุ่มสุดท้าย คือชนชั้นนำแบบจารีตประเพณี อาศัยความเหลื่อมล้ำทางสังคม วัฒนธรรมแบบเจ้าขุนมูลนายในอดีต วัฒนธรรมที่ต้องทำให้ปัจเจกชนรับผิดชอบชีวิตตัวเอง วัฒนธรรมที่ผูกคุณไว้กับความกตัญญู บอกให้อดทน ขยันสื่อสัตย์ ประหยัด เพื่อให้มีชีวิตที่ดี ให้เสียสละเพื่อคนภายภาคหน้า เพื่อครอบครัวของเรา พ่อแม่ของเราทำงานหนักทั้งชีวิต แต่ไม่สามารถทำให้ผู้คนมีชีวิตที่ดีได้ ซ้ำร้ายไปกว่านั้น คนรุ่นใหม่กำลังถูกขังไว้กับสังคมผู้สูงอายุ ที่พ่อแม่ทำงานหนักมาทั้งชีวิต แต่กลับไม่มีเงินบำนาญที่เพียงพอที่จะดูแลชีวิตของพวกเขายามเกษียณ

สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นมานาน แต่เมื่อใดก็แล้วแต่ที่ชนชั้นนำ อำนาจเผด็จการ มีชัยชนะเหนืออำนาจประชาชน สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ ทำให้เราไม่สามารถที่จะมีความทรงจำ หรือจินตนาการใหม่ๆ เกี่ยวกับความเท่าเทียมได้เลย และสุดท้าย เราก็ได้แต่บอกตัวเองว่า ประเทศไทยนี้ไม่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง ไม่พร้อมต่อการสร้างสังคมที่เป็นธรรม และไม่พร้อมต่อรัฐสวัสดิการ 

คนรุ่นใหม่จำนวนมากมองเห็นความอยุติธรรมค้ำคอพวกเขา ไม่ว่าทำงานหนักขนาดไหน หรือขยันมากเท่าใด ก็ไม่ทำให้ชีวิตดีได้ โลกใบนี้ก็แทบจะถูกจองโดยชนชั้นนำไม่กี่กลุ่ม พวกเขาต้องการการเปลี่ยนแปลง และสิ่งที่เราเห็นในข้อเรียกร้องของพวกเราด้านหนึ่ง คือ เรื่องรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า และแนวคิดสังคมนิยมประชาธิปไตย

คนรุ่นใหม่ที่ต่อสู้เพื่อจิตวิญญาณคณะราษฎร   

แม้จะถูกสกัดกั้นโดยรัฐประหาร และเผด็จการ แต่รัฐสวัสดิการที่ปรีดี เคยเสนอไม่เคยจางหายไปจากสังคมไทย คนรุ่นใหม่ยังคงออกมาเรียกร้องเพื่อสังคมที่ดีกว่า แม้นพวกเขาจะถูกปราบอย่างหนัก บางคนต้องลี้ภัย และบางคนถูกบังคับสูญหายอีกมาก 

ความเหลื่อมล้ำที่ประชาชนและคนรุ่นใหม่ประสบทำให้เขาตั้งคำถามต่อรัฐว่า รัฐคงอยู่ไปเพื่ออะไร และเพื่อใคร ถ้าเป็นรัฐสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ตั้งแต่บาทแรกจนบาทสุดท้าย ก็เพื่ออำนาจสมบูรณ์ของคนหนึ่งคน แต่ถ้าเป็นทุนนิยม บาทแรกจนบาทสุดท้าย เพื่อปรนเปรอความมั่งคั่งของนายทุน เหลือเท่าใดก็โยนเป็นเศษเนื้อมาให้กับประชาชน 

หากดูจากข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ พวกเขากำลังใฝ่ฝันถึง “รัฐสวัสดิการ ที่ภาษีบาทแรกถึงบาทสุดท้าย ถูกนำมารับประกันชีวิตของผู้คน เป็นสวัสดิการให้แก่ผู้คน เหลือเท่าไร ค่อยเอาไปทำอย่างอื่น” 

ษัษฐรัมย์ กล่าวต่อว่า สิ่งที่คนรุ่นใหม่ต่อสู้นั้น ไม่ได้เป็นเรื่องละเมอเพ้อพก สิ่งเหล่านี้ทำได้จริงเหมือนกับที่ปรีดีเคยเสนอ ษัษฐรัมย์ ชวนย้อนดู พ.ร.บ.ประกันความสุขสมบูรณ์ของราษฎร นำเสนอโดยปรีดี พนมยงค์ เมื่อ 89 ปีก่อน เงิน 3.2 ล้านล้านบาท งบฯ รายจ่ายประจำปีที่ประเทศไทยมี ถ้าทำตามข้อเสนอของปรีดี พนมยงค์ 

“เราทำได้ไหม ผมลองคำนวณตามค่าเงิน ความต้องการของประชาชน ความมั่งคั่งของประเทศที่เพิ่มเติมมากขึ้น ประชากรที่เพิ่มมากขึ้น เราจะใช้เงินแค่ 2 ล้านล้านบาท คำถามสำคัญคือ เราคิดว่าคนเท่ากันไหม ถ้าเราคิดว่าคนเท่ากัน รัฐสวัสดิการก็เป็นไปได้” ษัษฐรัมย์ กล่าว พร้อมระบุต่อว่า พ่อ-แม่ของทุกคนเกษียณ เมื่ออายุครบ 60 ปี มีเงินบำนาญประชาชนถ้วนหน้า เดือนละ 3,000 บาท เหมือนกับที่อารยประเทศใช้ดูแลผู้สูงอายุ รัฐจะใช้เงินเพียงแค่ 4 แสนล้านบาทต่อปี หรือถ้าเทียบแล้วในเงิน 100 บาท เราใช้เงินเพียงแค่ 8 บาทเท่านั้น

“ต้องใช้เงินเท่าไหร่ ที่จะทำให้คนที่เกิดมาใหม่ไม่ถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด ไม่ติดลบ พ่อ-แม่ไม่ต้องไปกู้เงินนอกระบบมาเพื่อเป็นค่านมลูก เราเห็นคนจำนวนมากที่ติดลบตั้งแต่วันแรกจนวันสุดท้าย เงินเด็กถ้วนหน้า 0-18 ปี ใช้เงิน 4.5 แสนล้านบาท หรือ 9 บาทจาก 100 บาท 

“ต้องใช้เท่าไร ให้คนสามารถเรียนฟรีจนจบปริญญาเอก เราเคยคิดว่าเรื่องเหล่านี้เป็นไปไม่ได้ เหมือนกับที่เราเคยคิดว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็เป็นไปไม่ได้เช่นเดียวกัน แต่การทำให้คนกว่า 2 ล้านคนในระบบมหาวิทยาลัยเรียนฟรีจนกระทั่งถึงปริญญาเอก มีเงินเดือน แบบนานาอารยประเทศที่เขาพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ใช้เงินประมาณปีละ 2 แสนล้านบาท หรือประมาณ 8 บาทจาก 100 บาทที่งบฯ รายจ่ายประจำปีที่ประเทศนี้ใช้ ทำให้ประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ 30 บาท ดีขึ้นเทียบเท่ากับระบบราชการ สามารถที่จะรวมกองทุนได้ ก็ใช้งบประมาณเพิ่มขึ้นอีกแค่ 3 แสนล้านบาท หรือประมาณ 6 บาท หรือ 6% จาก 100 บาท

“เรื่องเหล่านี้เป็นไปได้ เพียงแค่เราคิดว่า รัฐสวัสดิการ เป็นสิ่งที่จำเป็นหรือไม่สำหรับคนประเทศนี้ เราต้องการหมอ ต้องการพยาบาล ต้องการครูสอนอนุบาล ต้องการน้ำไฟ ที่เข้าถึงทุกคน และก็ราคาถูก ต้องการมหาวิทยาลัยที่เรียนฟรี หรือว่าต้องการเรือดำน้ำ ต้องการคุกที่มากขึ้น ต้องการตำรวจคุมฝูงชนที่มากขึ้น เราต้องการแบบไหนกัน” ษัษฐรัมย์ กล่าว

จากตัวอย่างของษัษฐรัมย์ ทำให้เชื่อว่าเรื่องเหล่านี้สามารถเป็นจริงได้ สำหรับคนที่ยังไม่เชื่อ หลายท่านอาจจะมีคำถามว่าสิ่งเหล่านี้จะทำร้ายประเทศไทยไหม บางท่านสงสัยว่าถ้ามีรัฐสวัสดิการจะทำให้ผู้คนขี้เกียจไม่ทำงาน บางท่านสงสัยว่า ถ้ามีรัฐสวัสดิการ กลุ่มทุนจะย้ายหนีออกนอกประเทศหมด หรือประเทศจะล่มจม เงินเฟ้อ ของแพง 

ษัษฐรัมย์ ยืนยันว่า ทั้งหมดนี้ไม่เป็นความจริง ไม่มีงานวิจัยตัวไหนยืนยันเลยว่า ผู้คนขี้เกียจและเกียจคร้านไม่ออกไปทำงานเมื่อมีสวัสดิการที่ดี เช่นเดียวกัน ประเทศเราคิดเพียงแค่ว่าต้องการภาษีต่ำ สวัสดิการต่ำ และก็ค่าแรงต่ำ เพื่อดึงดูดกลุ่มทุนต่างประเทศ แม้ภาษีมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนก็จริง แต่ไม่ใช่ปัจจัยชี้ขาด 

ประเทศที่มีค่าแรงสูง สวัสดิการที่ดี สามารถที่จะดึงดูดกลุ่มทุนมากมายให้เข้ามาลงทุนได้ กลับกัน ถ้าประเทศไหนเลือกกดค่าแรง กดชีวิตของประชาชน จะได้แค่กลุ่มทุนที่เข้ามาสูบเลือดสูบเนื้อ และกอบโกยกลับประเทศไป บางคนกลัวประเทศล่มจม เพราะเอาเงินมาใช้ในนโยบายสวัสดิการ ซึ่งษัษฐรัมย์แย้งว่า ประเทศไม่เคยล่มจมจากการดูแลประชาชน แต่เกิดจากชนชั้นปกครองเมินเฉยและละทิ้งประชาชน 

ถ้าสังคมคิดว่าเป็นไปไม่ได้ อย่างที่ชนชั้นนำกล่อมเกลา เงินเหล่านี้จะถูกนำไปใช้อย่างอื่น เช่น ซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ บำนาญให้ทหารชั้นนายพลที่มีอยู่เกลื่อนประเทศ เหลือเงินเท่าใดก็เอามาเป็นสวัสดิการแบบสังคมสงเคราะห์ โยนให้ประชาชน ประชาชนต้องเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้ทำได้ก่อน เชื่อว่ามนุษย์ทุกคนเท่าเทียมกัน และสวัสดิการถ้วนหน้าเป็นเรื่องจำเป็น

ท้ายสุด ษัษฐรัมย์ กล่าวว่า ไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ต้องใช้เวลานานเท่าใดก็ตาม อาจไม่กี่สัปดาห์ หรืออาจนานเป็นปี แต่เมื่อใดที่ประชาชนเป็นใหญ่ ประชาชนชนะในการต่อสู้ ประเทศไทยมีรัฐสวัสดิการ เราจะมีประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ 

“อาจมีหลายสิบปีที่เราพ่ายแพ้ และหลายสิบปีที่ไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงอะไร แต่อาจมีไม่กี่สัปดาห์ที่เกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าประชาชนชนะ และชนชั้นปกครองค้อมหัวลงฟังประชาชนบ้าง รัฐสวัสดิการจะเป็นทางออก จะเป็นฉันทามตินำสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์” ษัษฐรัมย์ ทิ้งท้าย  

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท