COVID-19: 16 พ.ค. 2564 ยอดผู้ติดเชื้อสะสมในไทยทะลุ 1 แสนรายแล้ว

ศบค. รายงานไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 2,302 ราย ติดเชื้อสะสมทะลุ 1 แสนรายแล้วที่ 101,447 ราย รักษาหายเพิ่ม 2,136 ราย รักษาหายสะสม 65,803 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่ม 24 ราย เสียชีวิตสะสม 589 ราย - กทม.ตั้งเป้าปูพรมฉีดวัคซีน COVID-19 เดือนละ 1 ล้านคน - ห่วง 5 คลัสเตอร์ใน กทม. พร้อมออกมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล คุมเข้มแคมป์แรงงาน ห้ามเคลื่อนย้ายคน - แจงไม่ยกเว้นการสวมหน้ากากในที่ประชุมสภา แต่ผ่อนปรนได้สำหรับผู้อภิปราย

16 พ.ค. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่เพิ่ม 2,302 คน รวมผู้ป่วยสะสมระลอกใหม่ 72,584 คน เสียชีวิตเพิ่มอีก 24 คน และหายป่วยกลับบ้านแล้ว 2,136 คน สำหรับตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มขึ้นในวันนี้อีก 2,302 คน ส่งผลทำให้มียอดผู้ติดเชื้อสะสมตั้งแต่เริ่มพบการแพร่ระบาดในระลอกแรกจนถึงปัจจุบัน 101,447 คน ขณะเดียวกันมียอดผู้ป่วยที่รักษาหายแล้ว 65,803 คน

กทม.ตั้งเป้าปูพรมฉีดวัคซีน COVID-19 เดือนละ 1 ล้านคน

พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในกลุ่มคนขับรถขนส่งสาธารณะ ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว ซึ่งเป็นหน่วยบริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาล

สำหรับกลุ่มเป้าหมายที่จะฉีดวัคซีนในวันนี้ เป็นกลุ่มคนขับรถและเรือโดยสารสาธารณะ เช่น พนักงานขับรถเมล์ พนักงานขับรถไฟฟ้า และคนขับเรือ จำนวน 850 คน ส่วนอีก 300 คน เป็นพนักงานเก็บขยะของกรุงเทพมหานคร

ผู้ว่าฯ กทม. ยังระบุว่า จะปูพรมฉีดวัคซีนทุกกลุ่มทั่ว กทม. ให้เป็นไปตามเป้าหมายครอบคลุมอย่างน้อยร้อยละ 70 ของประชากรทั้งหมด ตั้งเป้าภายในสิ้นเดือน พ.ค.นี้ ต้องฉีดวัคซีนให้ได้อย่างน้อย 500,000 คน และตั้งแต่เดือน มิ.ย.เป็นต้นไป จะฉีดให้ได้เดือนละ 1 ล้านคน

นอกจากการให้บริการฉีดวัคซีนในโรงพยาบาล 126 แห่ง กทม.มีหน่วยให้บริการฉีดวัคซีนนอกโรงพยาบาลอีก 25 แห่ง ซึ่งเปิดให้บริการแล้ว 3 แห่ง ส่วนที่เหลือจะทยอยเปิดเพิ่มให้ครบทั้งหมดภายในสิ้นเดือนนี้ ส่วนการเปิดภาคเรียนของโรงเรียนในสังกัด กทม. ตามกำหนดเดิมเปิดเทอมในวันที่ 1 มิ.ย.นี้ แต่เนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ยังไม่คลี่คลาย จึงต้องรอความชัดเจนจากกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) อีกครั้งแต่ส่วนตัวมองว่า ยังเปิดเทอมไม่ได้ เพราะกังวลเรื่องการติดเชื้อ COVID-19 ในกลุ่มเด็กเล็ก

เล็งฉีดวัคซีนครู กทม. 1.7 แสนคน ก่อนเปิดเทอม

พล.ต.อ.อัศวิน เปิดเผยว่า เตรียมฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มครูที่อยู่ในพื้นที่ กทม. ทุกสังกัด จำนวน 170,000 คน เพื่อให้ทันช่วงเปิดภาคเรียน รวมทั้งจะขยายไปในกลุ่มอื่น ๆ ที่ทำงานบริการประชาชน และมีความเสี่ยงสูง เช่น คนขับแท็กซี่ วินรถจักรยานยนต์รับจ้าง ผู้มีอาชีพดูแลผู้สูงอายุ และเจ้าหน้าที่ศูนย์รับเลี้ยงเด็กเล็ก ขณะที่กลุ่มอาชีพเสี่ยงอื่น ๆ จะพิจารณาให้ได้รับวัคซีนในลำดับถัดไป 

ศบค. ห่วง 5 คลัสเตอร์ใน กทม. พร้อมออกมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล คุมเข้มแคมป์แรงงาน ห้ามเคลื่อนย้ายคน 

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงว่าศบค.ชุดเล็กได้รายงานในที่ประชุมเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องเฝ้าระวัง 27 คลัสเตอร์ กระจายอยู่ 17 เขต ประกอบด้วยดินแดง วัฒนา คลองเตย หลักสี่ ลาดพร้าว ราชเทวี พระนคร ดุสิต ป้อมปราบ สวนหลวง ปทุมวัน สาทร จตุจักร สัมพันธวงศ์ สีลม ประเวศน์ และวังทองหลาง และมีอยู่ 7 คลัสเตอร์ที่อย่ในภาวะควบคุมได้ดีพอสมควร แต่ที่น่าเป็นห่วงมี 5 คลัสตอร์สำคัญที่มีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันประกอบด้วย 1.แคมป์คนงานเขตหลักสี่ 2.แฟลตดินแดง 3.แคมป์คนงานเขตวัฒนา 4. คลองถมและวงเวียน 22 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และ 5. ตลาดห้วยขวางดินแดง

“แคมป์คนงาน ที่มีการสำรวจตั้งแต่ปลายปี 2563 พบว่ามีการกระจายตัวของแคมป์คนงานทั่ว กทม. 393 แคมป์ มีแรงงานเกือบ 60,000 คน มีทั้งชาวไทยและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแคมป์แรงงานหลักสี่ ของบริษัทอิตาเลียนไทย มีการตรวจวันที่ 15 พฤษภาคม 559 ราย พบติดเชื้อรายงาน 482 ราย ซึ่งสำนักงานเขตหลักสี่และตำรวจได้เข้าพื้นที่และปิดแคมป์คนงาน และมีการรายงานให้บริษัทเจ้าของและตรวจแคมป์คนงานในเครือทั้งหมด ส่วนของกรมควบคุมโรค วิเคราะห์เหตุแพร่ระบาดเกิดจากความเป็นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น การใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันในหลายจุด เช่น ห้องน้ำ จุดรับประทานอาหาร คนงานเดินทางไปตลาดในชุมชน และเดินทางข้ามพื้นที่ ที่ประชุมจึงได้มีการกำหนดมาตรการที่จะประกาศให้บริษัทของแรงงานเหล่านี้รับทราบปฎิบัติ เช่น จัดที่พักอาศัยพื้นที่ส่วนกลาง จะต้องทำความสะอาด จัดการเรื่องการระบายอากาศและกำหนดความหนาแน่น และให้ดำเนินมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and SEAL) ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน หากมีความจำเป็นต้องขออนุญาตก่อนเท่านั้น รวมถึงจะมีการจัดส่งความช่วยเหลือเข้าไปในแคมป์งานต่างๆ เนื่องจากส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดที่พบมาจากการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปยังแตมป์ต่างๆ เช่น หลักสี่ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุทยา ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถจำกัดวงของผู้ติดเชื้อได้และคัดกรองผู้มีความเสี่ยงได้” แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าว

แจงไม่ยกเว้นการสวมหน้ากากในที่ประชุมสภา แต่ผ่อนปรนได้สำหรับผู้อภิปราย

แพทย์หญิงอภิสมัย ยังกล่าวถึงกระแสข่าว ศบค. เตรียมออกข้อกำหนดยกเว้นการสวมใส่หน้ากากอนามัยเพื่อรองรับการประชุมของสภาฯ ว่ายังไม่มีการยกเว้นข้อกำหนดใดๆออกมาทั้งสิ้น ตอนนี้ยังใช้ข้อกำหนดที่ 22 ที่ระบุว่า ให้สวมหน้ากากผ้าหน้ากากอนามัยตลอดเวลาซึ่ง ศบค. สนับสนุนให้เกิดการประชุมออนไลน์ให้มากที่สุด แต่กรณีมีความจำเป็นต้องจัดการประชุมที่มีการรวมกันจะให้ยึดที่ข้อกำหนดที่ 22 รวมถึงมีการขยายแนวปฏิบัติเพิ่มเติมในสถานการณ์จำเพาะให้มีการผ่อนผันการสวมหน้ากากได้ โดยผู้ควบคุมการประชุม ซึ่งอาจจะเป็นประธานในที่ประชุม อาจผ่อนผันได้เฉพาะในช่วงการอภิปรายแสดงความคิดเห็น โดยเฉพาะผู้ที่ทำการอภิปรายเท่านั้น แต่ผู้ที่อยู่ในที่ประชุมทั้งหมดจะต้องสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงการเว้นระยะห่างตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดอย่างเคร่งครัด หากมีการผิดต่อข้อกำหนดเหล่านี้จะมีบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ เข้าไปดำเนินการตามกฎหมาย
 

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] | สำนักข่าวไทย
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท