แรงงานข้ามชาติเข้าไม่ถึงบริการทำแท้ง จากปัญหาปากท้องถึงความรุนแรงในครอบครัวและสุขภาพ

โควิด-19 กำลังทำให้แรงงานข้ามชาติในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครเผชิญกับความยากลำบากทั้งในด้านเศรษฐกิจและการเข้าถึงบริการสุขภาพ โดยเฉพาะการยุติการตั้งครรภ์ที่พวกเธอไม่มีสิทธิเข้าถึง ทำให้เกิดความรุนแรงในครอบครัว ความปลอดภัยของผู้หญิง

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังวิกฤต ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่มั่นใจในวัคซีน เศรษฐกิจได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง คนอีกกลุ่มที่ถูกละเลยจากการรับรู้คือกลุ่มแรงงานข้ามชาติ ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องทั้งในด้านปากท้องและสุขภาพ

โดยเฉพาะในกรณีที่เกิดการตั้งครรภ์ไม่พร้อม แม้ว่ากฎหมายจะได้รับการแก้ไขให้หญิงสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ภายในอายุครรภ์ 12 สัปดาห์และสามารถรับบริการยายุติการตั้งครรภ์ฟรีจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่สิทธิการเข้าถึงการยุติการตั้งครรภ์ยังถูกกันไว้เฉพาะคนไทย

บางหนทางที่แรงงานข้ามชาติช่วยเหลือตัวเองจึงทั้งสุ่มเสี่ยงและรุนแรง

ปากท้องถึงสุขภาพ

ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครมีแรงงานข้ามชาติที่ขึ้นทะเบียนถูกต้องประมาณ 2.5 แสนคน เมื่อรวมกับแรงงานกลุ่มที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนจะตกราว 3 แสนคน โดยส่วนใหญ่เป็นชาวพม่า มีชาวกัมพูชา ลาว และชนเผ่าเพียงเล็กน้อย

ด้านการเข้าถึงการบริการสุขภาพแบ่งได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ประกอบด้วยกลุ่มที่มีประกันสังคม กลุ่มที่มีประกันสุขภาพกับโรงพยาบาลที่ตนเลือก ลักษณะเหมือน 30 บาทรักษาทุกโรค แต่ต้องจ่ายเงินซื้อประกันเอง 2,100 บาทต่อปี กลุ่มที่เคยมีสิทธิแต่หลุดออกจากระบบภายหลัง และกลุ่มที่ไม่มีประกันสุขภาพเลย

มนัญชยา อินคล้าย จากเครือข่ายสนับสนุนทางเลือกผู้หญิงท้องไม่พร้อม เล่าว่า พิษเศรษฐกิจส่งผลกระทบอย่างมากต่อกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เธอยกตัวอย่างแรงงานประมงและต่อเนื่องจากการประมง เรือประมงที่ออกหาปลาไม่ได้ต้องลอยลำอยู่กลางทะเลจนกว่าจะได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด เรียกว่าต้องถูกกักตัวอยู่กลางทะเล ห้ามกลับเข้าฝั่ง ถ้าพบว่ามีคนบนเรือติดเชื้อ เรือลำดังกล่าวจะถูกกักตัวไปอีกจนกว่าคนในเรือจะไม่พบเชื้อ ระยะเวลาที่ออกหาปลาไม่ได้จะส่งผลกระทบต่อแรงงานต่อเนื่องที่ชายฝั่ง ไม่มีงานทำ บวกกับบางโรงงานที่ตรวจเจอผู้ติดเชื้อก็ต้องปิดอย่างน้อย 14 วันถึง 1 เดือน ทำให้แรงงานขาดรายได้ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพนักงานร้านอาหารที่ร้านถูกปิดตั้งแต่เดือนเมษายนปีที่แล้วที่ไม่มีรายได้เช่นกัน

แรงงานข้ามชาติจึงต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อให้มีงานทำ เงื่อนไขที่เพิ่มขึ้นมาในปัจจุบันคือก่อนเข้าทำงานจะต้องผ่านการตรวจเชื้อโควิดจากทางโรงพยาบาล ซึ่งมีค่าใช้จ่าย 2,300 บาทต่อการตรวจ 1 ครั้ง โดยใบยืนยันผลการตรวจจะมีอายุเพียง 7 วัน หมายความว่าภายใน 7 วันถ้าไม่สามารถหางานทำได้ก็ต้องตรวจใหม่และเสียค่าตรวจอีกครั้ง ซึ่งในสภาวะที่เป็นอยู่ถือว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมากสำหรับพวกเขา ความเลวร้ายที่ประดังมาอีกทาง แรงงานที่ไม่รู้หนังสืออาจถูกนายหน้าเก็บเงินค่าตรวจโควิดสูงถึง 4,500 บาท

ท้องไม่พร้อมและความรุนแรงในครอบครัว

ขณะเดียวกัน ภาครัฐมีนโยบายห้ามแรงงานข้ามชาติออกนอกพื้นที่ ทำให้บางคนที่มีโรคประจำตัวเข้าถึงยาลำบากมากขึ้น เนื่องจากเดิมที่สามารถเดินไปรับยาได้ แต่ปัจจุบันต้องให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) เป็นคนนำมาส่งให้

ในส่วนของการยุติการตั้งครรภ์ มนัญชยา กล่าวว่า ก่อนนี้จะมีโรงงานที่ให้แรงงานทั้งหมดเข้าไปพักในโรงงาน พอมีมาตรการกักตัวแรงงานกลุ่มนี้ก็ไม่สามารถออกไปข้างนอกได้

“บางคนถึงรอบที่ต้องฉีดยาคุมกำเนิดก็ไม่สามารถออกไปอนามัยได้ บางคนก็ไม่ได้เตรียมตัวไป บางโรงงานเราก็ฝากคนเอายาคุมหรือถุงยางอนามัยเข้าไปให้ แต่ก็มีจำกัดและจะถึงกี่คนเราไม่รู้ ผลกระทบตั้งแต่ธันวาคมถึงปัจจุบัน เราได้รับการประสานเรื่องการฝากครรภ์ บางคนท้องก็ยังอยากตั้งครรภ์อยู่ บางคนถูกสามีทำร้าย โดนชกหน้าท้องหวังจะให้แท้ง บีบปากกรอกยาสตรีเบนโล แต่เด็กไม่แท้ง แล้วผู้หญิงก็เข้าสู่กลไกการมาปรึกษา ไม่ได้จะให้จับสามี แต่ให้ช่วยบอกว่าอย่าทำแบบนี้กับเขา บางคนก็หาวิธีเองด้วยการใช้ยาสมุนไพรจากพม่า”

เข้าไม่ถึงสิทธิยุติการตั้งครรภ์

มนัญชยา เล่าต่อว่า เบื้องต้นมีแรงงานที่เข้ามาปรึกษาขอยุติการตั้งครรภ์ 3 ราย ซึ่งโดยปกติทางเครือข่ายจะให้ผู้ที่ต้องการยุติการตั้งครรภ์เดินทางไปยังสถานบริการถูกกฎหมาย แต่เมื่อทำไม่ได้ก็ต้องใช้วิธีบริการเวชกรรมผ่านการสื่อสารทางไกล

“เราก็โอนเงิน 3,000 บาท ให้คุณหมอส่งยามา เพราะแรงงานข้ามชาติไม่ได้สิทธิการยุติการตั้งครรภ์ฟรีเหมือนคนไทยจาก สปสช. และไปรับบริการได้ทุกที่ที่มีการให้บริการ เคสที่มาปรึกษาเรา เราใช้บริการ RSA และเครือข่ายกลุ่มทำทาง โดยขอใช้บริการโทรเวชกรรม ปรึกษากันทางไลน์ มีหมอ กลุ่มทำทาง ล่าม ปรึกษาตั้งแต่ว่าอายุครรภ์เท่าไหร่  มีปัญหาสุขภาพอะไร บางคนนอกจากตั้งครรภ์ยังมีปัญหาสุขภาพ

“พอได้ยามาเราก็อธิบายวิธีการใช้ให้น้องเขาฟัง โดยเราจะอยู่กับเขา ออนไลน์ตลอด เริ่มตั้งแต่วางแผนการกินยา สะดวกช่วงเวลาไหน หลังจากสอดยาเราจะอยู่กับเขาตลอดและประเมินร่วมกัน ถ้ามีภาวะอะไรให้รีบบอก ถ้ามีประจำเดือนออกมาเต็มผ้าอนามัย 2 แผ่นแปลว่ามีอาการตกเลือด ถ้าเป็นแบบนี้ต้องไปรับเขาพาส่งโรงพยาบาล เข้าสู่กระบวนการขูดมดลูกที่โรงพยาบาล ที่ผ่านมามีผู้รับบริการ 3 คน มีอาการตกเลือด 1 คน ซึ่งเคสที่เราเจอไม่มีสิทธิประกันสุขภาพ เสียค่าบริการประมาณ 4,500 บาท รวมแล้ว 7,000 กว่าบาท ถือเป็นเงินเยอะมาก แต่ก็ปลอดภัยกว่าไปคลินิก”

เป็นไปได้หรือไม่ว่าที่จะรวมเอาบริการยุติการตั้งครรภ์เข้าไปไว้ในชุดสิทธิของแรงงานข้ามชาติ ในฐานะที่เป็นผู้จ่ายเงินประกันเพื่อรับบริการสุขภาพ

อีกมิติหนึ่ง สถานการณ์ที่เป็นอยู่และคาดว่าจะลากยาวไปอีกพอสมควร การให้กำเนิดเด็กท่ามกลางภาวะไม่พร้อมเป็นไปได้ว่าอาจจะก่อปัญหาต่อเนื่อง ตั้งแต่สุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของแม่และเด็ก คุณภาพชีวิต รวมถึงความรุนแรงในครอบครัว

การเข้าถึงบริการสาธารณสุขจึงควรถูกพิจารณาให้เป็นสิทธิของทุกคนที่อยู่อาศัยในรัฐไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท