Skip to main content
sharethis

4 นักวิชาการร่วมพูดคุยเรื่องความกล้าหาญทางวิชาการและจรรยาบรรณวิชาชีพ เปิดมุมมองบทบาทหน้าที่ของนักวิชาการตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและการอภิปรายถึงเสรีภาพทางวิชาการ ความกล้าหาญในการแสดงความเห็น การยึดมั่นในหลักวิชา จรรยาบรรณ สิทธิตามกฎหมายของนักวิชาการและความเป็นอิสระจากอำนาจของฝ่ายการเมือง

13 พ.ค. 2564 เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘Nitihub’ จัดเสวนาผ่านสื่อออนไลน์เฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ ความ "กล้าหาญ" ทางวิชาการ และ "จรรยาบรรณ" วิชาชีพ มีผู้ร่วมเสวนา คือ ผศ.ดร.กนกรัตน์ เลิศชูสกุล คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผศ.ดร.ภาสกร อินทุมาร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผศ.ดร.อดิศร จันทรสุข คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และดร.เข็มทอง ต้นสกุลรุ่งเรือง คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินรายการโดย พริม มณีโชติ Nitihub 

5 ยุคการเปลี่ยนผ่านของเสรีภาพนักวิชาการในประเทศไทย

กนกรัตน์ กล่าวว่ามองเห็นถึงวิกฤตการณ์ครั้งสำคัญที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองสมัยใหม่ในเรื่องของการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่เคยเห็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของนักวิชาการมากเท่านี้และความขัดแย้งหรือการที่นักวิชาการกลายเป็นเครื่องมือและกลไกของรัฐมากหรือกลุ่มทางการเมืองได้มากเท่าครั้งนี้ 

การเปลี่ยนผ่านเสรีภาพของนักวิชาการไทยแบ่งออกได้เป็น 5 ยุคคือ

ยุคที่ 1 นักวิชาการในฐานะกลไกของรัฐ จุดเริ่มต้นของสถาบันการศึกษาหรือสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทยไม่ได้ถูกออกแบบขึ้นมาให้มีเสรีภาพ เพราะจุดเริ่มต้นคือการผลิตบุคลากรให้เข้าไปสู่กลไกของรัฐ หรืออาจะเรียกได้ว่าถูกออกแบบโดยรัฐเพื่อให้เป็นเครื่องมือของรัฐ และได้รับการสนับสนุนโดยรัฐ

ยุคที่ 2 การเติบโตของนักวิชาการในการเมืองไทย ปี 2510-2520 เริ่มมีการขยายตัวของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศภายใต้บริบทของสงครามเย็นที่อเมริกาจับมือกับรัฐบาลไทย มีการส่งอาจารย์ไปเรียนต่างประเทศมากขึ้น เริ่มมีนักวิชาการที่ได้รับแนวคิดเรื่องสิทธิเสรีภาพ แนวคิดเสรีนิยม และแนวคิดสังคมนิยมหลากหลายรูปแบบ ปรากฏการณ์ที่น่าสนใจคือ 100 รายชื่อแรกเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นครั้งแรกที่เห็นบทบาทของนักวิชาการในการรวมกลุ่มกันเป็นเครือข่ายและหลังจากนั้นนักวิชาการก็เริ่มมีบทบาทมากขึ้นโดยเฉพาะช่วงหลัง 14 ตุลาฯ นักวิชาการเริ่มมีการไปตั้งพรรคการเมือง เริ่มมีการไปลงสมัคร ส.ส. หรือแม้แต่การไปทำงานเคลื่อนไหวกับกลุ่มขบวนการภาคประชาชนมากขึ้น

ยุคที่ 3 การขยายตัวของบทบาทนักวิชาการในการเมืองไทย ปี 2530-2540 เริ่มเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของบทบาทนักวิชาการและคือปฐมบทแรกที่เรารู้จักนักวิชาการในฐานะพลังทางการเมืองที่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบรัฐ นำเสนอนโยบายหรือแม้การนำเสนอทางออกเมื่อสังคมเกิดวิกฤตเช่นวิกฤตการณ์ในช่วงปี 2540

ยุคที่ 4 จุดสูงสุดของบทบาทนักวิชาการการเมืองเหลืองแดง ปี 2540-2550 เป็นช่วงที่นักวิชาการมีสิทธิเสรีภาพมากและมีบทบาทในการนำเสนอนโยบายรัฐในช่วงรัฐบาลไทยรักไทย การขยายตัวของขบวนการต่อต้านทักษิณ ชินวัตร การเข้าไปทำงานเพื่อเสนอนโยบายต่างๆ มีการขยายตัวของการคุกคามนักวิชาการโดยเฉพาะบทบาทของรัฐที่เริ่มมีอำนาจมากขึ้น นอกจากนั้นยังมีปรากฏการณ์ที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือนักวิชาการเข้าไปมีบทบาทนำในขบวนการเคลื่อนไหวเสื้อเหลืองเสื้อแดง

ยุคที่ 5 การตกต่ำของเสรีภาพและบทบาทนักวิชาการการเมืองไทย หลังรัฐประหาร 2557 เห็นรูปแบบจำนวนมากที่รัฐเข้ามาคุกคามมีการเอานักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์การรัฐประหารเข้าไปปรับทักศนคติในค่ายทหาร มีนักวิชาการที่ต้องลี้ภัยทางการเมืองจำนวนมาก นอกจากนั้นยังมีการคุกคามการเผยแพร่งานวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันอนุรักษ์นิยมของไทย มีการลุกขึ้นมาโจมตีในพื้นที่สาธารณะ การลดลงของบาทบาทนักวิชาการในการเมือง เน้นในการจัดเวทีเสวนาทางวิชาการที่มีความรัดกุม ระมัดระวังในการจัดเวทีสาธารณะอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน นอกจากนี้นักวิชาการยังมีบทบาทหน้าที่ในการปกป้องเสรีภาพของคนรุ่นใหม่ เช่นการช่วยเหลือในการประกันตัว การจัดตั้งกองทุนในการสู้คดีหรือกิจกรรมอื่นๆที่ไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอย่างมากมายกับขบวนการเคลื่อนไหวในคนรุ่นใหม่เมื่อเทียบกับยุคก่อนหน้านี้

“เราจะเห็นว่าบทบาทการเมืองของนักวิชาการเติบโตขึ้นจริงๆ ในช่วงปี 2530 ซึ่งก็เติบโตมาเพียงแต่ 30 กว่าปีหลังจากนั้นก็ถูกจำกัดอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในช่วงหลังรัฐประหาร 2557” กนกรัตน์ กล่าว

เสรีภาพทางวิชาการถูกบัญญัติหรือพูดถึงในรัฐธรรมนูญมากน้อยแค่ไหน

เข็มทอง ตั้งคำถามว่าทำไมเราถึงให้คุณค่าหรือว่าให้ความสำคัญกับการแสดงแสดงออกในเชิงวิชาการมากกว่าการแสดงออกทางอื่นและเมื่อใส่คำว่า ‘วิชาการ’ เข้าไปทำให้รู้สึกว่ามีสิทธิพิเศษบางอย่าง ในความเห็นส่วนตัวตนมองว่าส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเห็นคุณค่าทางวิชาการคือการหาความรู้ที่ถูกต้องหรือความจริงแท้เพราะฉะนั้นถึงให้พื้นที่ให้เสรีภาพกับทางวิชาการมากกว่ากิจกรรมทางพาณิชย์อย่างเช่น ละคร ศิลปะหรือแม้กระทั่งการพูดสุทรพจน์ต่างๆแต่พอมาเป็นเรื่องวิชาการเหมือนเราจะถูกอนุญาตให้นักวิชาการได้ทดลอง นำเสนอได้มากกว่ากิจกรรมอื่นแต่ในความเป็นจริงในทางวิชาการมันมีการควบคุมตัวมันเองด้วยขนบทางวิชาการ คนที่เป็นนักวิชาการจะรู้ว่าการเขียนงานวิชาการไม่ใช่การเขียนอะไรก็ได้แต่มันมีหลักการและชุดความรู้ มีธรรมเนียมในการนำเสนอที่เป็นชุดบันทัดฐานหนึ่งที่ใช้ควบคุม

ในรัฐธรรมนูญมาตรา 37-42 เป็นหมวดว่าด้วยเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก บุคคลย่อมมีเสรีภาพในทางวิชาการ การศึกษาอบรม การเรียนการสอนการวิจัยและการเผยแพร่งานวิจัยตามหลักวิชาการย่อมได้รับความคุ้มครอง ทั้งที่เท่าที่ไม่ขัดต่อหน้าที่ของพลเมืองหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน สิ่งที่น่าสนใจคือในสายตาของผู้ร่างรัฐธรรมนูญกิจกรรมของนักวิชาการมันหยุดอยู่แค่ในมหาวิทยาลัย การเผยแพร่งานวิจัยผ่านช่องทางออนไลน์ หรือในห้องประชุมไม่ได้เป็นไปตามหลักวิชาการ งานเผยแพร่ตามหลักวิชาการที่ได้รับการคุ้มครองคือการประชุมเชิงปฏิบัติการ ทั้งนี้การใช้กฎหมายที่เข้ามาควบคุมการนำเสนองานทางวิชาการที่ระบุว่าต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีงามของประชาชนก็กลายเป็นว่าเสรีภาพในทางวิชาการเป็นการแสดงออกอย่างหนึ่งซึ่งสุดท้ายแล้วก็ยังมีขอบเขตอยู่ การขบคิดทางวิชาการที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนเปรียบเสมือนการห้ามนักวิชาการไม่ให้นอกกรอบ ซึ่งวิธีคิดทางวิทยาศาสตร์บางอย่างมันเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ขัดต่อความรู้สึกของประชาชนว่ามันกระทบศีลธรรม กระทบคุณค่าพื้นฐานอะไรบางอย่าง เขามองว่ามันเป็นหน้าที่ของนักวิชาการที่ต้องการจะผลักพรหมแดนความรู้ออกไป ซึ่งมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่อาจจะทำให้ประชาชนรู้สึกไม่สบายใจกับสถานะหรือความคิดของตัวเองที่มีอยู่ แต่ในทางรัฐธรรมนูญไม่อนุญาตให้มีเพราะต้องไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี

เสรีภาพของนักวิชาการที่ถูดตีกรอบและถูกจำกัด

อดิศร กล่าวว่าความขัดแย้งเกี่ยวกับนักวิชาการไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยแค่ประเทศเดียวเท่านั้น แต่ต่างประเทศเองก็เกิดปัญหาอย่างอเมริกาในช่วงยุคทรัมป์ หรือในประเทศตุรกีที่มีการแบนพาสปอร์ต ไม่ต่อสัญญางานให้นักวิชาการหลายพันคนที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ซึ่งตนมองว่ามีความรุนแรงกว่าในประเทศไทย

แต่ในขณะเดียวกัน อดิศรกล่าวว่า ความย้อนแย้งระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยเองก็พยายามแข่งขันความเป็นสากลสร้างผลงานวิชาการให้มีแต้มสูงเพื่อชื่อเสียงระดับโลก ฉะนั้นวิชาการจึงเป็นเครื่องมือรับใช้อะไรสักอย่างไปแล้ว โดยที่ในอีกแง่มุมหนึ่งวิชาการพยายามเป็นนานาชาติตะวันตก และพยายามเป็นคนไทยรักษาศีลธรรมอันดีไว้ ความขัดแย้งนี้ถูกเปิดให้เห็นเสรีภาพของวิชาการ พอกลับมามองเสรีภาพวิชาการกลายเป็นสิ่งที่มีปัญหาในตัวของมันเองเพราะว่าเสรีภาพวิชาการส่วนหนึ่ง ตนมองว่าถ้าวิชาการมีเสรีภาพจริงมันอาจจะต้องไปแตะขอบเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของสังคมบอกว่าเป็นสิ่งที่ถูกแล้ว เราไม่ควรที่จะไปตั้งคำถามกับมันอีก เพราะฉะนั้นความรู้ควรจะหยุดแค่นั้น ถ้าเราผลักความรู้ไปต่ออาจจะทำให้เกิดสภาวะของความอึดอัดความไม่มั่นคงบางอย่างเกิดขึ้นได้ สิ่งเหล่านี้กลายเป็นความย้อนแย้งในตัวของมันเอง 

อดิศรกล่าวถึงบทบาทของมหาวิทยาลัยที่เริ่มก่อตั้งในโลกตะวันตก ถึงความจำเป็นที่ต้องรักษาเสรีภาพทางด้านวิชาการเอาไว้ เพราะต้องแสวงหาความรู้ที่นำไปสู่ความจริง สิ่งที่จะทำได้ก็คือการเปิดพื้นที่ที่กว้างมากพอและเป็นไปได้มากพอในแง่ของการถกเถียงในแง่ของการค้นหาความรู้ด้วยวิธีวิทยาต่างๆ เพื่อให้ทราบถึงความจริงอันสูงสุดในบางอย่างได้ ตนมองว่าพอรู้ว่าต้องแสวงหาความจริงโดยที่บางทีอาจจะต้องวิพากษ์วิจารณ์ได้แม้กระทั่งตัวสถาบันที่เป็นต้นสังกัด นำไปสู่ประเด็นที่เป็นหลักการอีกอันของการเป็นมหาวิทยาลัย ในส่วนของความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ควรที่จะสร้างอันตรายให้เกิดขึ้นกับใครก็ตามเพราะฉะนั้น 2 หลักการ คือ หนึ่ง การให้พื้นที่เสรีภาพในการทำงานวิชาการ สอง เราต้องไม่ทำร้ายใคร มักจะถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นเครื่องมือของฝั่งใดฝั่งหนึ่งเพื่อมายับยั้งอีกฝั่งเสมอ 

“ผมยกตัวอย่างเช่น เรารู้สึกว่าการนำเสนองานวิชาการอะไรบางอย่าง มันอาจจะไปกระทบทำให้เกิดความไม่พอใจกับอีกคนหรืออีกกลุ่ม ดังนั้นเราไม่ควรที่จะอนุญาติให้งานวิชาการมันได้ถูกนำเสนอออกมาสร้างอันตรายความเดือดร้อนให้กับอีกกลุ่ม สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทั้งของภาครัฐและตัวมหาวิทยาลัยเอง” อดิศร กล่าว

อดิศรกล่าวต่อว่าประเด็นที่สำคัญอีกอย่างคือ การถกเถียงและอภิปรายเมื่อ 10 กว่าปีที่ผ่านมา วงการวิชาการถูกตั้งคำถามเรื่องนี้ค่อนข้างเยอะว่าจริงๆ แล้วสมควรนำเอาความคิดที่เป็นอันตรายต่อสังคมหรือต่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เข้ามาในพื้นที่วิชาการ ซึ่งนักวิชาการในโลกตะวันตกเห็นพ้องต้องกันส่วนใหญ่ว่ามหาวิทยาลัยควรจะเป็นพื้นที่ที่สามารถนำความคิดเป็นอันตรายต่อสังคมเข้ามา เพราะถือว่าเป็นพื้นที่ที่ใช้ทดทองทางความคิด เป็นความพิเศษ เพราะมหาวิทยาลัยถูกสถาปนาขึ้นให้เป็นพื้นที่พิเศษ ซึ่งต้องได้รับการคุ้มครองเสรีภาพวิชาการ สามารถนำความคิดที่เป็นอันตรายที่สุดมาดีเบต 

“ในช่วงหนึ่งนักเขียนการ์ตูนล้อเลียนพระมูฮัมหมัด และมีการเชิญบรรณาธิการของนิตยสารนั้นมาปาฐกถาที่ประเทศแอฟริกาใต้เมืองเคปทาวน์ และถูกแบนจากมหาวิทยาลัย เพราะเกรงว่าจะสร้างผลกระทบต่อกลุ่มนักศึกษามุสลิม มีการตั้งคำถามว่าจริงๆ แล้วการที่เราผลักความคิดที่อันตรายที่เราคิดว่าเป็นบุคคลที่นำเสนอวิธีที่อันตรายออกไปจากพื้นที่หรือสังคมนั้น มันหยุดความคิดและผลงานวิชาการนั้นได้จริงหรือเปล่า คำตอบก็คือไม่ เมื่อไหร่ก็ตามที่เราผลักความคิดผลงานวิชาการออกไปจากรั้วมหาวิทยาลัย มันก็จะไปอยู่ในพื้นที่อื่น และการที่มันไปอยู่ในพื้นที่อื่นนั้นวิธีการนำเสนออาจจะไม่สามารถดึงการมีส่วนร่วมนักวิชาการคนอื่นเข้ามาถกเถียงอภิปรายการใช้หลักการ การหาหลักฐานและการหาเหตุผลได้ ซึ่งเป็นวิธีวิทยาของนักวิชาการ ถ้าเรานำความคิดที่เป็นอันตรายมาสู่พื้นที่ของมหาวิทยาลัย พื้นที่อันตรายในแง่ของคนที่มองว่าวิธีคิดแบบนี้เป็นวิธีที่อันตราย เป็นปัญหาต่อบ้านเมือง ถ้าเราอนุญาตให้เกิดได้ในพื้นที่มหาวิทยาลัยให้เสรีภาพทางด้านวิชาการ นั้นก็หมายความว่าพื้นที่ในมหาวิทยาลัยตรงนี้จะสามารถเชิญชวนคนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายมารวมกันถกเถียงใช้ความรู้ ใช้พื้นที่ค้นหาข้อเท็จจริง ความรู้อะไรบางอย่างขึ้นมาได้  สิ่งนี้เป็นสิ่งที่นักวิชาการตะวันตกพยามที่จะต่อสู้เพื่อให้ได้พื้นที่แบบนี้ให้เกิดขึ้นจริงในมหาวิทยาลัย ซึ่งในประเทศไทยก็อาจจะเป็นไปได้ยาก แต่ประเด็นเหล่านี้เคยพยายามทำให้เกิดขึ้นอยู่หลายครั้ง แต่ก็ถูกแทรกแซงด้วยวิธีการต่างๆ” อดิศรกล่าว

ต่อมาอดิศรกล่าวว่าเสรีภาพของคนที่แสดงออกเป็นความคิดหรือว่าผลงานทางด้านวิชาการ ซึ่งเลือกได้ว่าเราจะแสดงหรือไม่แสดง แต่ตนมองว่ามันมีความสลับซับซ้อนมากกว่านั้น ถึงแม้ว่าเราต้องการที่จะแสดงออก แต่กลับถูกควบคุมด้วยกลไกของรัฐ ซึ่งไม่ได้ควบคุมแค่ห้ามไม่ให้พูดในประเด็น แต่สามารถควบคุมในประเด็นทางอื่นไปด้วย เช่น ให้ทุนวิจัย ไม่ให้เงินสนับสนุนหรือว่าตัดงบประมาณของมหาวิทยาลัย และวิธีการอื่นเพื่อควบคุมเจตจำนงเสรีภาพแสดงออกทางความคิด หรือว่าผลงานทางด้านวิชาการ

นอกจากรัฐแล้วสถาบันหรือมหาวิทยาลัย อดิศรเชื่อว่า มีกระบวนการในการควบคุมเลือกที่จะสนับสนุนงานวิจัยบางเรื่อง เลือกที่จะต่ออายุสัญญาของอาจารย์บางคน หรือไม่ต่ออายุสัญญาของอาจารย์บางคนที่มีการนำเสนองานวิชาการขัดต่อหน่วยงานภาครัฐ นอกจากนี้ชุมนุมวิชาการในแต่ละสาขามีกระบวนการควบคุมอะไรที่รับได้ว่าเป็นงานนักวิชาการ หรืออะไรที่ถูกปฎิเสธไปว่าไม่ใช่งานของนักวิชการ ตนกล่าวว่าสิ่งเหล่านี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการควบคุมเสรีภาพ แม้กระทั่งตัวนักวิชาการ ที่สามารถเลือกว่าจะทำได้หรือทำไม่ได้ ซึ่งไม่สามารถที่จะเลือกได้ทั้งหมด 

“ชีวิตเรายังถูกเกาะเกี่ยวอยู่กับการประเมินผลงาน ในการทำอาชีพของเราอยู่เสมอ วิธีคิดและอำนาจเหล่านี้ทำงานผ่านด้านร่างกายความคิดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว แนวคิดที่ว่าเราสามารถเลือกได้ที่จะแสดงเสรีภาพกับผลงานของเราได้หรือไม่ มันอาจจะไม่ได้มีตั้งแต่ต้นอยู่แล้ว เพราะตัวเราเองก็เป็นส่วนหนึ่งที่อยู่ในระบบทั้งหมดที่ควบคุมวิธีคิด ควบคุมการมองโลก ควบคุมการตัดสินใจ” อดิศร กล่าว

เมื่อศิลปะถูกใช้เป็นเครื่องมือเคลื่อนไหวทางสังคม

ภาสกร  กล่าวว่าตนยังไม่ถือว่าตัวเองเป็นนักวิชาการ เป็นเพียงอาจารย์สอนศิลปะอาจจะมีความเกี่ยวข้องในประเด็นที่เสวนาหรือในเหตุการณ์นั้นๆ อย่างเช่น กรณีเดินทะลุฟ้าที่ผ่านมาตนเข้าร่วมกระบวนการในการเคลื่อนไหวไม่ใช่นักวิชาการและไม่ใช่แกนนำ และเคยเป็นตัวแสดงให้กลุ่มศิลปะปลดแอก (ฟรีอาร์ต) 

ภาสกรกล่าวถึงประโยคคำพูดของอาจารย์ทัศนัย เศรษฐเสรี อาจารย์สาขาสื่อศิลปะและการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่กล่าวไว้ว่า ‘ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร ศิลปะไม่เป็นขี้ข้าใคร’ ทำให้ตนนึกถึงหนังสือ The Prophet ของ คาลิล ยิบราน ที่บอกว่า ‘ความรักไม่ครอบครอง และความรักไม่ยอมถูกให้ครอบครอง เพราะว่าความรักนั้นเพียงพอแล้วสำหรับการต่อความรัก’ ถ้านำมาเปรียบเทียบกับ ‘ศิลปะไม่เป็นเจ้านายใคร แล้วศิลปะเป็นอะไร’ ซึ่งตนเชื่อว่าเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการเคลื่อนไหวทางสังคม

ภาสกรกล่าวว่า ถ้าพูดถึงบทบาทฐานะนักวิชาการตนมีคำถามมาตลอดว่า ศิลปะการละครจะมีทิศทางในการเคลื่อนไหวได้อย่างไร ที่จะร่วมสร้างประวัติศาสตร์ทางสังคม ตนเคยพูดถึงสิ่งนี้เมื่อปี 2559 ในช่วงวะระ 40 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา 2519 ว่ามีนักละครอย่างน้อย 3 กลุ่ม ลุกขึ้นมาทำละครเนื่องในวาระ 40 ปี 6 ตุลา เหมือนจะร่วมอยู่ในบริบทแห่งการรำลึก แต่กลับกลายเป็นการพูดถึงบริบท 6 ตุลา ในปี 2559 ในลักษณะที่ทวงถามถึงความจริงในขณะนั้นศิลปินเอง และรวมถึงนักวิชาการตั้งคำถามได้มากแค่ไหน จากเหตุการณ์นั้นสามารถขับเคลื่อนประชาธิปไตยในปัจจุบันได้มากน้อยแค่ไหน คำตอบก็คือ ‘มันไม่ถึงไหน’ 

เมื่อต่างประเทศนำศิลปะอย่างละครมาขับเคลื่อนปัญหาทางสังคม

ตัวอย่างกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ อย่างประเทศฟิลิปปินส์ขับไล่มาร์กอส สื่อที่เป็นกระแสหลัก โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ ถูกปิดโดยรัฐ ดังนั้นข้อมูลข่าวสารที่จะไปถึงประชาชนมันถูกควบคุมโดยรัฐ สิ่งเดียวที่ในขณะนั้นที่จะนำพาข้อมูลข่าวสารที่เป็นเผด็จความเป็นมาร์กอสไปสู่ประชาชนได้คือละคร ฟิลิปปินส์ในช่วงเวลานั้นมีเครือข่ายละครประชาชนเป็นกลุ่มละครเล็ก ๆ กระจายตัวไปทั่วประเทศฟิลิปปินส์ เปิดเผยให้เห็นความฉ้อฉลและความเป็นเผด็จการของมาร์กอส เพื่อปลุกเร้าประชาชนลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวอยู่ในกระบวนการขับไล่มาร์กอส ละครสามารถทำหน้าที่ได้เพราะเป็นเครื่องมือที่สามารถเคลื่อนตัวไปได้ ไม่เกี่ยวกับละครเวทีตั้งอยู่กับที่ นักละครถูกตามฆ่า แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเป็นเพราะละครหรือเปล่า แต่ท้ายที่สุดละครก็เป็นกลไกที่สำคัญมาก

“หรือในประเทศออสเตรีย การลักพาตัวเด็กชนเผ่าพื้นเมืองหรือ อะบอริจินส์ เข้ามาในค่ายกักกัน เพื่อตัดรากถอนโคลนความเป็นอะบอริจินส์ เข้ามาถูกกลืนกลายด้วยโลกทัศน์ของคนขาว และช่วงเจนเนอเรชั่นนั้นที่ถูกลักพาตัวไป จนมีรัฐบาลออกมาพูดว่าตั้งกรรมาธิการตรวจสอบความจริงในยุคนั้น การสืบค้นถึงความจริงในช่วงเวลานั้น ของกระบวนการขโมยเด็ก ในขณะเดียวกันก็มีนักละครลุกขึ้นมาเขียนบทละครว่าด้วยเรื่องนี้ เพื่อที่จะบอกเล่าทางประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้หายไป และไม่ใช่เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ที่กระจายตัวอย่างเหมือนกับประเทศฟิลิปปินส์ แต่เป็นการแสดงละครที่โรงละครในซิดนีย์ จึงทำให้เกิด Socail Dialog ว่าด้วยเรื่องการกระทำความรุนแรงของรัฐผิวขาวต่อชนเผ่าพื้นเมือง ทำให้มันเชื่อมโยงกับคนที่เป็น อะบอริจินส์ในยุคปัจจุบัน ในต่างประเทศทำได้ ดังนั้นมันนำมาสู่คำถามที่ถามไปเมื่อต้นว่า ศิลปะในประเทศไทยสาขาการละคร มันจะเป็นได้แค่ไหน” ภาสกรกล่าว

การรวมกลุ่มของเหล่าศิลปะจากหลากหลายแขนง

เมื่อพูดถึง ‘ฟรีอาร์ต’ ตนมองว่าในกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมจะเห็นว่างานศิลปะเข้าไปอยู่ในนั้นแน่นอน ตนย้อนกลับไปในช่วง ‘อาร์ตเลน’ เกิดปรากฎการณ์ของกลุ่ม กปปส ทั้งนักวิชาการและศิลปินจะเห็นได้อย่างเด่นชัดในเรื่องของศิลปะหรือเหตุการณ์รำลึก 40 ปี 6 ตุลา ช่วงเวลานั้น ‘ฟรีอาร์ต’ ยังไม่เกิดขึ้น และเมื่อปีที่แล้วครบรอบ 120 ชาตกาลของอาจารย์ปรีดี พนมยงค์ ภาสกรกล่าวว่า ได้ทำละครเกี่ยวกับการอภิวัฒน์สยามและพูดถึงอาจารย์ปรีดี เป้าหมายคือในช่วงเวลาที่ประเทศอยู่ภายใต้รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และพยายามที่จะพูดถึงประชาธิปไตยที่หายไปในสังคมไทย และในขณะที่จะทำละครอภิวัฒน์สยามนี้ ระหว่างนั้นก็เกิดคณะราษฎรปี 2563 ขึ้น ก่อนที่ละครจะแสดง และหลังจากคณะราษฎรปี 2563 เกิดขึ้น บทบาทเรื่องศิลปะเริ่มมีบทบาทมากขึ้น คือศิลปะ ‘ฟรีอาร์ต’

กิจกรรมรำลึก 11 ปี สลายชุมนุมเสื้อแดง 10 เมษา ศิลปะปลดแอก (ที่มาภาพเพจศิลปะปลดแอก - FreeArts)

ภาสกรกล่าวถึง บทบาทสำคัญของ ‘ฟรีอาร์ต’ ในขณะนี้ตนคิดว่าเป็นปรากฎการณ์ที่สำคัญของโลกศิลปะในประเทศ ที่เหล่าศิลปะต่างสารทิศมารวมตัวที่ ‘ฟรีอาร์ต’ ทั้งทัศน์ศิลป์ การละคร เป็นกระบวนการเคลื่อนไหวที่สำคัญส่วนหนึ่งไม่ใช่แค่เป็นตัวประกอบในม็อบ ไม่ใช่เป็นแค่การแสดงในม็อบ ขั้นเวลาในอดีตที่ผ่านมาแต่ในขณะนี้ ‘ฟรีอาร์ต’ มีขบวนการเคลื่อนไหวทางศิลปะในแง่มุมทางสังคมของมันเอง โดยที่ไม่ต้องไปผูกติดกับประเด็นที่กำลังดำเนินอยู่ สิ่งที่ ‘ฟรีอาร์ต’ ทำเป็นการระดมความคิดและนักศิลปะจากแขนงที่หลากหลาย กำลังทำบทบาทที่หลายคนเคยตั้งคำถามว่าศิลปะทำหน้าที่อะไร มีทิศทางตรงไหนในการเคลื่อนไหวทางสังคม จะสามารถทำหน้าที่บันทึกประวัติศาสตร์ได้ไหม  จะทำหน้าที่จัดการความทรงจำทางสังคมได้หรือไม่ สิ่งที่ ‘ฟรีอาร์ต’ กำลังทำอยู่และตนเชื่อว่ามันทำได้ 

“ผมเป็นส่วนหนึ่งในนักแสดงที่รำลึกถึงเหตุการณ์ 11 ปี 10 เม.ย. บันทึกความทรงจำของเหตุการณ์ปราบปรามของประชาชนเสื้อแดงถูกสลายการชุมนุม 10 เม.ย. 2553  ซึ่งจัดขึ้นที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในฐานะนักศิลปะที่ทำงานวิชาการมาได้ไม่นาน ฟรีอาร์ตคือผู้ที่เข้ามาทำให้คำถามที่ผมถามมาตลอดเกิดขึ้นจริง” ภาสกรกล่าว

สำหรับ นภัสรินทร์ เทศสวัสดิ์วงศ์ และทิพากร เส้นเกษ ผู้รายงานเสวนาชิ้นนี้เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ปัจจุบันฝึกงานกับกองบรรณาธิการข่าวประชาไท

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net