มูลนิธิ May 18 มอบรางวัล 'กวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชน' ให้ ‘ทนายอานนท์’

มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) พิธีมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2021 แก่ "ทนายอานนท์" แต่ทนายร่วมพิธีไม่ได้เพราะยังอยู่ในการควบคุมตัวและรักษาโควิด-19 ที่ติดจากเรือนจำ เนื่องจากศาลไม่ให้ประกันตัวทั้งที่ยื่นประกันมาแล้ว 7 ครั้งตั้งกุมภาพันธ์ 64

ภาพจากไลฟ์พิธีมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2021 ของมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก 

18 พ.ค.2564 มูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) พิธีมอบรางวัลกวางจูเพื่อสิทธิมนุษยชนประจำปี 2021 แก่ อานนท์ นำภา ทนายความด้านสิทธิมนุษยชนและนักกิจกรรมด้านประชาธิปไตย ทางมูลนิธิเชิญให้อานนท์ร่วมพิธีผ่านทางออนไลน์ (Zoom) แต่อานนท์ไม่สามารถร่วมพิธีได้เพราะยังรักษาอาการจากเชื้อโควิด-19 ที่ติดจากเรือนจำ อยู่ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ และยังอยู่ในการควบคุมตัวเนื่องจากศาลไม่ให้ประกันตัวทั้งที่ยื่นประกันมาแล้ว 7 ครั้งตั้งแต่ 9 ก.พ.2564 หรือกว่า 3 เดือนแล้ว

อานนท์เริ่มต้นอาชีพในฐานะทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนตั้งแต่ พ.ศ.2551 โดยทำหน้าที่ทนายอาสา ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย รวมถึงว่าความให้ฟรีแก่กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ต่อมา ภายหลังการรัฐประหารปี 2557 อานนท์ให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ถูกแจ้งข้อหาดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ซึ่งถูกนำมาใช้เพื่อปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก รวมถึงใช้ลงโทษนักเคลื่อนไหวด้านการเมืองและด้านสิทธิมนุษยชน อีกทั้ง อานนท์ยังให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนคนอื่น ๆ ที่ถูกจับขึ้นศาลทหารเพราะการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าต่อต้านการทำรัฐประหารในครั้งนั้น

นอกจากนี้อานนท์ยังมีบทบาทในการทำกิจกรรมด้านประชาธิปไตยหลายอย่างภายใต้บรรยากาศการรัฐประหารร่วมตั้งกลุ่มพลเมืองโต้กลับ (Resistant Citizens) กับกลุ่มนักเคลื่อนไหว เพื่อต่อสู่เรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งตัวเขาเองต้องเผชิญกับการคุกคามและยังถูกดำเนินคดีเสียเองหลายครั้ง ไม่ว่าจะมาจากกิจกรรม "ยืนเฉยๆ" เรียกร้องปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกควบคุมตัวโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ร่วมกิจกรรม "คนอยากเลือกตั้ง" เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทหารจัดการเลือกตั้งใน พ.ศ.2561 เป็นต้น

ตั้งแต่ 3 ส.ค. ปีที่แล้ว อานนท์กล่าวปราศรัยบนเวทีชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยซึ่งจัดขึ้นโดยกลุ่มประชาชนปลดแอกและเครือข่ายภาคี อานนท์เรียกร้องให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนำพาประเทศไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง โดยเขาเน้นย้ำไปที่การแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการยกระดับการเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิไตยในไทยไปอีกขั้นและดำเนินต่อมาเรื่อยๆ จนทำให้เขาถูกดำเนินคดีด้วยมาตรา 112 มากถึง 12 คดี

ทางด้านแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยโดย ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ ก็ได้แสดงความยินดีกับทนายอานนท์ นำภาที่ได้รับรางวัลในบุคคลที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และเรียกร้องทางการไทยยุติการปฏิบัติต่อผู้ออกมาวิจารณ์ราวกับเป็นอาชญากรหรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของรัฐ พวกเขาควรได้รับการปล่อยตัวและยกเลิกข้อกล่าวหาโดยทันทีหากขาดหลักฐานว่ากระทำความผิดอาญาตามหลักสากล

“เรามีความยินดีที่การทำงานเพื่อปกป้องสิทธิของนักสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเป็นที่รับรู้ และได้รับการชื่นชมจากนานาประเทศ และยังมีผู้คนอีกมากมายที่ยึดมั่นในการทำงานเพื่อการเคารพ ปกป้อง และคุ้มครองสิทธิมนุษยชนทั้งของตัวเองและผู้อื่น การก้าวขึ้นมาร่วมกันสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการพูดคุยและแสดงความเห็นโดยสงบเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาสังคมที่เท่าเทียมและเป็นธรรม ขอบคุณนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งในประเทศและทั่วโลกที่ยังยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน”

“แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ยังคงเรียกร้องทางการไทยให้ปล่อยตัวคุณอานนท์ นำภา ทนายนักปกป้องสิทธิมนุษยชน และผู้ที่ถูกควบคุมทุกคนตัวเพียงเพราะการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบทันทีและอย่างไม่มีเงื่อนไข ยุติการดำเนินคดีต่างๆ และที่คุกคามผู้ชุมนุม และข้อหาอื่นๆ เพียงเพราะใช้สิทธิมนุษยชนของตนเอง และแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมาย เพื่อให้สอดคล้องกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย รวมถึงสิทธิในเสรีภาพการแสดงออก การสมาคมและการชุมนุมโดยสงบ”

จากการระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด ตรวจสอบการติดโควิดในเรือนจำ ตัวเลขจากกระทรวงสาธารณสุข ณ วันที่ 18 พ.ค. 2564 พบว่ามีการตรวจและพบติดเชื้อโควิด 11,428 ราย และทนายอานนท์ นำภา เป็นหนึ่งในผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 จากเรือนจำด้วย ดังนั้นยิ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องลดความแออัดของเรือนจำและคืนสิทธิประกันตัวให้กับผู้ต้องหาที่ยังไม่มีการตัดสินจากศาลว่ามีความผิด

ก่อนหน้านี้แอมเนสตี้ ประเทศไทยได้ส่งจดหมายเรียกร้องให้กระทรวงยุติธรรมและสำนักงานประธานศาลฎีกา ดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อพิจารณาจัดสรรมาตรการที่สอดคล้องกับหลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องขังเเละนักโทษในภาวะที่มีโรคระบาด ทั้งเพื่อลดความรุนแรงของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ภายในเรือนจำ และระหว่างเรือนจำกับประชาชนภายนอก ให้จัดสรรหน้ากากอนามัย สบู่และน้ำสะอาดอย่างเพียงพอให้แก่ผู้ต้องขังและนักโทษโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เเละให้ผู้ต้องขังและนักโทษได้รับการดูเเลจากแพทย์ มีสิทธิเข้ารับการตรวจหาเชื้อไวรัสอย่างเร่งด่วน แยกผู้ป่วยออกจากผู้ต้องขังและนักโทษปกติ พิจารณาให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาพยาบาลที่เหมาะสม ตลอดทั้งดำเนินการ ’ลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน’ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเเละประธานศาลฎีกาเองโดยทันที

สำหรับรางวัลกวางจูเริ่มมอบรางวัลให้กับนักสิทธิมนุษยชน ตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา โดยมีคนไทยสองคนที่เคยได้รับรางวัลมาแล้วได้แก่ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เมื่อปี 2549 และนายจตุภัทร์ บุญภัทร์รักษา (ไผ่ ดาวดิน) เมื่อปี 2560 ส่วนในระดับภูมิภาคเอเชีย ยังมีบุคคลสำคัญและองค์กรที่ได้รับรางวัลนี้ อาทิ นางอองซาน ซูจี นายมิน โก นาย นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยในประเทศพม่า เเละองค์กร Bersih องค์กรซึ่งสนับสนุนการเลือกตั้งที่อิสระเเละเป็นธรรมในประเทศมาเลเชีย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท