รำลึก 11 ปี สลายชุมนุมเสื้อแดง ย้ำต้องสร้างอนุสาวรีย์ หรืออนุสรณ์สถานให้

ญาติ-แกนนำจัดรำลึก 11 ปี สลายชุมนุมเสื้อแดงย้ำต้องสร้างอนุสาวรีย์ หรืออนุสรณ์สถานให้ กลุ่มศิลปะปลดแอกจัดแสดงสดรำลึกความตายตามจุดเกิดเหตุ ขณะที่ ยิ่งลักษณ์-ณัฐวุฒิ โพสต์รำลึก

19 พ.ค.2564 เนื่องในวันครบรอบ 11 ปีเหตุการณ์ที่รัฐบาลในขณะนั้นใช้กำลังทหารสลายการชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ (นปช.) หรือ “คนเสื้อแดง” ที่ออกมาชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลของอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะยุบสภาที่เริ่มมาตั้งแต่ 12 มี.ค. 2553 และถูกสลายการชุมนุมไปแล้ว 1 ครั้งในคืนวันที่ 10 เม.ย.2553 จนมีผู้เสียชีวิตถึง 27 คน แต่ผู้ชุมนุมก็ยืนยันที่จะชุมนุมต่อไปพร้อมกับทวงความเป็นธรรมให้กับผู้เสียชีวิตในคืนนั้น จนกระทั่งถึงวันที่ 19 พ.ค.2553  วันที่แกนนำ นปช. ต้องประกาศยุติการชุมนุมที่ราชประสงค์เนื่องจากมีผู้เสียชีวิตมาตลอด 7 วัน หลังจากถูกปิดล้อมโดยกองกำลังทหารมาตั้งแต่วันที่ 13 พ.ค.2553  หรือตามที่ พล.ท.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ, รองเสนาธิการทหารบ (ยศขณะนั้น) แถลงถึงการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 20 พ.ค.53 ว่า “เรามียานเกราะ มีการเคลื่อนที่เข้าไปในลักษณะเหมือนในสนามรบ ซึ่งต้องยอมรับว่าการจัดกำลังเข้าดำเนินการในครั้งนี้เราไม่ได้ทำเหมือนกับการควบคุมฝูงชน" นั้น จนมีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งจับกุมจำนวนมาก

ญาติ-แกนนำจัดรำลึก ย้ำต้องสร้างอนุสาวรีย์ หรืออนุสรณ์สถานให้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 พ.ค.64) แม้จะมีการระบาดของโควิด 19 แต่ยังมีการจัดกิจกรรมรำลึกตลอดทั้งวัน โดยมติชนออนไลน์ รายงานว่า เมื่อ เวลา 10.30 น. ที่บริเวณด้านหน้าศูนย์ข่าว UDD news ชั้นใต้ดิน อาคารเอเวอรี่มอลล์ อ.เมืองนนทบุรี จ.นนทบุรี แกนนำกลุ่ม นปช. นำโดยธิดา ถาวรเศรษฐ และ นพ.เหวง โตจิราการ จัดงานรำลึก 11 ปี เหตุการณ์สลายการชุมนุมกลุ่มคนเสื้อแดงพฤษภาคม 2553 มีผู้ร่วมกิจกรรมจำนวนประมาณ 24 คน

โดยรูปแบบกิจกรรมเป็นการทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้กับผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว และมีการปราศรัยสดุดีวีกรรมของผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น ซึ่งผู้สั่งฆ่ายังลอยนวล ซึ่งช่วงหนึ่งของการปราศรัย มีการระบุว่า เราต้องสร้างอนุสาวรีย์ หรืออนุสรณ์สถานให้กับวีรชนประชาธิปไตยผู้พลีชีพ ขอคนเสื้อแดงอย่าเพิ่งท้อถอย ต้องรวมพลังกับเยาวชนคนรุ่นใหม่ เราไม่จำเป็นต้องอยู่บนเวทีในฐานะผู้นำ เพราะไม่เหมาะ เวลา 15 ปีของการต่อสู้ และ 11 ปีที่มีการสูญเสียครั้งใหญ่ แต่เราจะเดินหน้าต่อไป

สถานีโทรทัศน์ พีซทีวี จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ หรือ นปช. พร้อมด้วย ยศวริศ ชูกล่อม เกริกมนตรี รุจโสตถิรพัฒน์ สุริยา ชินพันธ์ พร้อมด้วยญาติวีรชน อาทิ พะเยาว์ อัคฮาด และณัทพัช อัคฮาด มารดา และน้องชายของ กมนเกด อัคฮาด หรือเกด พยาบาลอาสาที่เสียชีวิตจากกระสุนปืนภายในวัดปทุมวนาราม ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 และประชาชนจำนวนหนึ่ง ร่วมทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้วีรชนที่ร่วมต่อสู้ในเหตุการณ์ ดังกล่าวด้วย

ศิลปะแสดงสดรำลึก

จากนั้นช่วงเย็นที่สี่แยกราชประสงค์ มีการจัดกิจกรรมรำลึก เช่น การวางดอกไม้บริเวณป้าย ส่วนกลุ่มศิลปะปลดแอก (FreeArts) ซึ่งจัดแสดงศิลปะแสดงสดรำลึกเหตุการณ์การเสียชีวิตช่วงสลายชุมนุมต่อเนื่องมาตั้งแต่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยวันนี้ตั้งแต่ช่วงเช้ากลุ่มดังกล่าวได้จัดกิจกรรมรำลึกตามเวลาและจุดที่มีผู้เสียชีวิต เช่น ช่วงเช้าแยกศาลาแดง ถนนราชดำริและสวนลุมพินีจุดที่ ถวิล คำมูล นรินทร์ ศรีชมภู ชายไทยไม่ทราบชื่อ ฟาบิโอ โปเลนกี และ ธนโชติ ชุ่มเย็น ถูกยิงเสียชีวิต รวมทั้งจุดใหญ่อย่างช่วงเย็นถึงค่ำที่วัดปทุมวนารามซึ่งถูกประกาศเป็นเขตอภัยทานก็มีผู้ชุมนุมและอาสาพยาบาลและกู้ภัยเสียชีวิต 6 ราย ซึ่งต่อมาศาลมีคำสั่งในการไต่สวนการตายว่ากระสุนที่ทำให้ทั้ง 6 ถึงแก่ความตายนั้นยิงมาจากเจ้าพนักงานซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยอยู่บนรางรถไฟฟ้าบีทีเอส หน้าวัดปทุมวนารามราชวรวิหารและบริเวณถนนพระรามที่ 1 ซึ่งเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณแยกราชประสงค์ตามคำสั่งของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน หรือ ศอฉ. 

ภาพแสดงศิลปะแสดงสดรำลึกหน้าวัดปทุมฯ (ภาพโดยAchara Ing)

นอกจากนี้ในต่างจังหวัดอย่างหน้ามหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ช่วงเย็นถึงหัวค่ำมีการจัดกิจกรรม ยืน 1 ชั่วโมง 12 นาที สดุดีวีรชนนักสู้ธุลีดิน ด้วย

ภาพกิจกรรมยืน 1 ชั่วโมง 12 นาที สดุดีวีรชนนักสู้ธุลีดิน (ภาพโดย ธีร์ อันมัย)

ยิ่งลักษณ์-ณัฐวุฒิ โพสต์รำลึก

ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ภาพทหารที่อยู่บนสกายวอล์ครถไฟฟ้าบีทีเอสหน้าวัดปทุมฯ และข้อความว่า รำลึกถึงความสูญเสียของประชาชนจากการสลายชุมนุมปี 2553 ที่ประชาชนเป็นผู้ถูกกระทำจากฝ่ายรัฐ และขอเป็นส่วนหนึ่งในการร่วม คืนความจริง ให้กับทุกคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในวันนั้น

"ดิฉันขอวิงวอนว่าความเจ็บปวดที่ครอบครัวของเหยื่อการเมืองไทยและผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น จะเป็นความเจ็บปวดครั้งสุดท้ายสำหรับประเทศไทย" ยิ่งลักษณ์ โพสต์

ขณะที่ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำเสื้อแดง โดยรำลึกด้วยว่า บ่ายวันที่ 19 พ.ค. 2553 หลังยุติการชุมนุมเรามอบตัวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขบวนรถพร้อมเจ้าหน้าที่อาวุธครบมือ พาพวกเราลัดเลาะผ่านวงล้อมทหารมุ่งหน้าสู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจสามพราน

"เราถูกคุมตัวลงจากรถไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์ ปลายทางค่ายนเรศวร ใจนึกว่าเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่พี่น้องกำลังเดินทางกลับบ้าน แต่ความจริงคือหลายพันชีวิตกำลังหนีตายอยู่ในวัดปทุมวนาราม เขตอภัยทาน และมีอีก 6 ชีวิตสังเวยความอำมหิตลงที่นั่น ประชาชนถูกฆ่าตาย ประชาชนถูกยิงในเขตอภัยทาน" ณัฐวุฒิ โพสต์

ทั้งนี้แม้จะผ่านเหตุการณ์ที่มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากนี้มาแล้ว 11 ปี แม้หลายกรณีในการไต่สวนการตายศาลจะมีคำสั่งแล้วว่ากระสุนที่ยิงนั้นมาจากฝั่งทหารที่ปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่ง ศอฉ. แต่หลังรัฐประหาร 57 กระบวนการต่างๆ ดูเหมือนจะไม่มีความคืบหน้า แม้ผู้สียหายและครอบครัวจากฟ้องฟ้องต่อศาลอาญาเอง ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ไม่รับฟ้องอ้างว่าอยู่ในอำนาจของศาลทหาร หรือดีเอสไอมีความเห็นสั่งฟ้องและส่งสำนวนต่อให้อัยการศาลทหาร อัยการทหารสั่งไม่ฟ้อง อ้างหลักฐานไม่เพียงพอ หรือฟ้อง ป.ป.ช. ก็ไม่สามารถฟ้องได้เพราะอ้างว่าทำภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

กลับกันคนอนุมัติเยียวยาอาจถูกดำเนินคดีเสียเอง จากเมื่อปี 55 ครม.ยิ่งลักษณ์มีมติให้จ่ายชดเชยค่าเสียหายแก่ผู้เสียชีวิต ผู้ได้รับบาดเจ็บ รวมถึงผู้ที่ทรัพย์สินเสียหายจากการสลายการชุมนุมไปแล้ว โดยมีวงเงินในการชดเชยกว่า 2 พันล้านบาทและให้แก่ผู้เสียหายต่างๆ ย้อนหลังกลับไปถึงเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งรวมถึงเหตุการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย โดยผู้เสียชีวิตจะได้เงินเป็นจำนวน 7.5 ล้านบาท ในแบบฟอร์มยินยอมรับเงินเยียวยาระบุว่าผู้รับเงินต้องยินยอมสละสิทธิรับเงินช่วยเหลืออื่นๆ จากภาครัฐ และต้องไม่ใช้สิทธิฟ้องคดีแพ่งเพื่อเรียกค่าเสียหายจากหน่วยงานรัฐอีก อย่างไรก็ตาม มีความพยายามดำเนินคดีกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์จากขั้วการเมืองฝ่ายตรงข้ามด้วย โดยสาธิต ปิตุเตชะ พรรคประชาธิปัตย์ฟ้องศาลปกครองให้ระงับมติ ครม.ในการจ่ายเงินเยียวยาโดยระบุว่าเป็นการเยียวยาบุคคลที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ว่ามีส่วนร่วมในการกระทำความผิดหรือไม่ ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งไม่รับฟ้อง เนื่องจากกิจการในทางรัฐประศาสน์นโยบาย ไม่ใช่การกระทำทางปกครองที่จะอยู่ในอำนาจของศาล ความพยายามจัดการกับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ด้วยประเด็นจ่ายเงินเยียวยานี้ก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อวิชา มหาคุณ หนึ่งในกรรมการ ป.ป.ช.ให้ข่าวว่า ป.ป.ช.มีมติให้แจ้งข้อกล่าวหายิ่งลักษณ์ และครม. 36 คนที่มีมติจ่ายเงินเยียวยาโดยไม่มีอำนาจ เนื่องจากไม่มีกฎหมายรองรับและเป็นไปเพื่อช่วยเหลือพวกพ้อง เป็นการหลีกเลี่ยงละเว้นไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามพ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 เป็นการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ทำให้เกิดความเสียหายแก่การเงินการคลังของประเทศ 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท