สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 14-20 พ.ค. 2564

อยุธยาลุยคัดกรองเชิงรุกพนักงาน 12 โรงงาน 3 นิคม

20 พ.ค. 2564 ที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา นพ.พีระ อารีรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตรวจเยี่ยม การตรวจคัดกรอง เชิงรุกหาผู้ติดเชื้อในสถานประกอบการของจังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดย กระทรวงแรงงานได้กำหนดตรวจคัดกรองเชิงรุกในโรงงาน ตามโครงการ Healthy Thailand เพื่อผู้ประกันตนด้วยความห่วงใย

นายภานุ แย้มศรี ผวจ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า สถานการณ์การติดเชื้อโควิดในพนักงานโรงงานมีจำนวนลดลง และเพื่อเป็นการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดโรคโควิด- 19 ในภาคอุตสาหกรรม และเพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดเชื้อไปยังพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ทำงานในโรงงาน หรือสถานประกอบการ และให้ภาคอุตสาหกรรม ผู้ประกอบการ เดินหน้าธุรกิจต่อไปได้ โดยไม่หยุดชะงัก จึงจัดโครงการในครั้งนี้ขึ้น โดยสุ่มคัดกรองเชิงรุกพนักงานในโรงงานอุตสาหกรรม 3 นิคม รวมทั้งสิ้น 12 โรงงาน พนักงานรวมทั้งสิ้น 5,000 คน โดยดำเนินการตั้งแต่ วันที่ 1 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2564 และได้ประชาสัมพันธ์ให้ปฏิบัติตามมาตรการ อันได้แก่การเว้นระยะห่าง สวมใส่หน้ากากผ้า/หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ตรวจวัดอุณหภูมิ และลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะ ลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงแนะนำให้ร่วมลงทะเบียนฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโควิด-19 ด้วย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 20/5/2564

"ตลาดสี่มุมเมือง" ติดเชื้อโควิด 909 คน 70% เป็นแรงงานข้ามชาติ

20 พ.ค. 2564 เฟซบุ๊กตลาดสี่มุมเมือง ออกหนังสือชี้แจงสถานการณ์ COVIVD-19 รวม 8 ประเด็นระบุว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุข ประกาศเมื่อวันที่ 18 พ.ค.ว่า ตลาดสี่มุมเมืองมีผู้ติดเชื้อ COVID-19 ซึ่งได้สาธารณสุขลำลูกกา ได้ทำการตรวจเชิงรุกไปแล้วกว่า 10,480 คน ตั้งแต่วันที่ 7-15 พ.ค.ที่ผ่านมา พบผู้ติดเชื้อสะสม 867 คนคิดเป็น 8% เป็นกลุ่มแรงงานชาวต่างชาติ 70% แรงงานคนไทย 30% คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นเชื้อ COVID-19 สายพันธุ์เดิม ที่ติดในกลุ่มแรงงานชาวต่างชาติ เนื่องจากผู้ติดเชื้อเกือบ 100% ไม่แสดงอาการใดๆ

“จากผลการสอบสวนการระบาด ทีมสาธารณสุขวิเคราะห์ว่าน่าจะเกิดจากการติดต่อภายในที่พักอาศัยเดียวกัน ซึ่งสาธารณสุขได้ปิดห้องพักของผู้ติดเชื้อ ผู้สัมผัส และพิจารณาปิดอาคารบางอาคารที่มีความเสี่ยงสูง เพื่อจำกัดเชื้อไม่ให้กระจายออกไปในพื้นที่นอกชุมชน”

ทั้งนี้ ตลาดได้ประสานเรื่องเตียงและการรักษาให้กับผู้ป่วยคนไทยแล้ว ส่วนแรงงานชาวต่างชาติที่อยู่รวมกันและยากที่จะหาเตียงรองรับ จึงได้สร้างโรงพยาบาลสนามบุญรักษา จำนวน 800 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยเหล่านี้ โดยโรงพยาบาลสนามตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ว่างของตลาดเก่า ไม่มีผู้ใช้งานแล้วและอยู่ห่างจากตลาดสี่มุมเมืองยุคใหม่

รวมทั้งปิดอาคารตลาดผักปรุงรส กับตลาดผักต่างประเทศ 2 เป็นเวลา 1 สัปดาห์ ระว่างวันที่ 12-18 พ.ค. เพื่อทำความสะอาดบิ๊กคลีนนิ่ง โดยผู้ค้าและแรงงานทุกคนที่ทำงานในตลาดต้องได้รับการตรวจ 100% และมีผลตรวจว่าไม่พบเชื้อเพื่อยืนยันก่อนเข้าทำการค้าขายในตลาด มีการฉีดวัคซีนไปแล้ว 2,000 คน และฉีดเพิ่มให้อีก 3,000 คน รวมเป็น 5,000 คน

ตลาดได้นำที่กั้นหยอดเหรียญหน้าห้องน้ำออกเพื่อลดการสัมผัส เปลี่ยนเป็นให้ใช้บริการฟรี เพิ่มความถี่ในการทำความสะอาดทุกชั่วโมง เช็ดจุดสัมผัสอื่นๆ ทุก 30 นาที และมีการวางเจลล้างมือ ตามจุดสัมผัสต่างๆ กว่า 100 จุดทั่วตลาด

ที่มา: Thai PBS, 20/5/2564

ก.แรงงาน เตรียมพร้อมการฉีดวัคซีนโควิดให้ผู้ประกันตน ม.33 เริ่มฉีดได้ มิ.ย.นี้

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ประชุมหารือร่วมกับสถานพยาบาลในเครือข่ายสำนักงานประกันสังคม เพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้กระทรวงแรงงานได้สำรวจความต้องการฉีดวัคซีนผ่านระบบ Web -Service โดยมีผู้ประกันตนมาตรา 33 ประสงค์จะฉีดวัคซีนมากถึง 80% กระทรวงแรงงานจึงได้มอบหมายให้ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครเขตพื้นที่ทั้ง 12 เขต ไปหาสถานที่ฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้ได้แล้ว 45 แห่ง โดยได้จัดเตรียมอุปกรณ์ที่จำเป็นในการฉีดวัคซีนไว้พร้อมแล้ว ซึ่งได้เชิญผู้บริหารโรงพยาบาลในเครือประกันสังคมจำนวน 12 แห่ง มาประชุมเพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจเพื่อเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนที่จะสามารถเริ่มให้บริการได้ในเดือนมิถุนายนนี้

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุข ได้พิจารณาจัดสรรวัคซีนให้กระทรวงแรงงาน เพื่อกระจายให้แก่แรงงานซึ่งเป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 33 ในระยะแรก จำนวน 6 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน 2564 จำนวน 1.5 ล้านโดส ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และเดือนกรกฎาคม 2564 จำนวน 4.0 ล้านโดส ประกอบด้วย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จำนวน 1.5 ล้านโดส และในพื้นที่ 9 จังหวัดเศรษฐกิจอื่น 2.5 ล้านโดส พร้อมมอบหมายให้กระทรวงแรงงานเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนให้แก่แรงงาน โดยให้สถานประกอบการแจ้งรายชื่อที่จะฉีด และเชื่อมโยงข้อมูลกับแอปพลิเคชัน "หมอพร้อม" ของกระทรวงสาธารณสุข และประสานภาคเอกชนในการหาสถานที่เพิ่มเติมให้เพียงพอกับความต้องการฉีด

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/5/2564

แรงงานไทยในอิสราเอลบาดเจ็บ 8 คน กลับบ้านแล้ว 6 คน

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยเถึงกรณีแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 8 ราย จากเหตุระเบิดโจมตีด้วยจรวดของกลุ่มฮามาส ที่นิคมเกษตรกรรม (โมชาฟ) Ohad ใกล้ฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า น.ส.พรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ รายงานว่า แรงงานชายไทยที่เสียชีวิต 2 ราย สถานเอกอัครราชทูตได้ประสานกับแรงงานจังหวัดในประเทศไทย เรื่องข้อมูลผู้เสียชีวิต กระบวนการส่งศพผู้เสียชีวิต การติดตามสิทธิประโยชน์ รวมทั้งเงินชดเชยที่ผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บพึงได้รับจากสถาบันประกันแห่งชาติอิสราเอล (National Insurance Institute) พร้อมแจ้งครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บแล้ว

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บมีอาการสาหัส 2 ราย และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย 6 ราย ได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล Soroka เมือง Beer Sheva บางส่วนอาการดีขึ้นมาก จึงได้รับการอนุญาตให้เดินทางกลับที่พักแล้ว ทั้งนี้ น.ส.พรรณนภา ได้โทรศัพท์หาผู้บาดเจ็บและญาติ แสดงความเสียใจและอวยพรให้ฟื้นตัวจากอาการบาดเจ็บโดยเร็ว

ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรอิสราเอล รวมถึงรองปลัดกระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ได้โทรศัพท์ถึงเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เพื่อแสดงความเสียใจต่อการเสียชีวิตและบาดเจ็บของแรงงานไทย โดยทางการอิสราเอลพร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมย้ำว่า อิสราเอลใช้มาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยแก่คนต่างชาติเช่นเดียวกับชาวอิสราเอล

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 19/5/2564

นายกฯ สั่งเร่งช่วยเหลือแรงงานไทยเสียชีวิต-บาดเจ็บในฉนวนกาซา

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงกรณีสถานการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล-ปาเลสไตน์ จากการโจมตีโดยกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิต และห่วงใยผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากสะเก็ดระเบิด พร้อมสั่งการให้กระทรวงแรงงานเร่งประสานความช่วยเหลือให้ญาติพี่น้องและครอบครัวของแรงงานไทยที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บทราบ รวมทั้งให้การช่วยเหลือด้านสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายในทันที

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จากรายงานของฝ่ายแรงงานฯ ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ว่า ได้รับแจ้งข้อมูลจากนาย Eyal Siso รองอธิบดีกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ว่า จากการโจมตีโดยกลุ่มฮามาสในฉนวนกาซา เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม เวลา 14.35 น. แรงระเบิดทำให้แรงงานไทย จำนวน 2 ราย เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บอีก 8 ราย นอกจากนี้ ยังมีแรงงานอีก 15 ราย ที่มีอาการตกใจกลัว

สำหรับผู้ที่ได้รับบาดเจ็บถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาล Soroka ซึ่งฝ่ายแรงงานฯ ได้ติดต่อไปยังนายปรีชา แซ่ลี้ แรงงานไทยที่โดนสะเก็ดระเบิดได้รับบาดเจ็บเล็กน้อย ว่า หากนายปรีชา และแรงงานไทยอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวมีความต้องการให้ฝ่ายแรงงานฯ ประสานงานหรือให้ความช่วยเหลือในเรื่องใดให้ติดต่อมาโดยด่วน ทั้งนี้ ฝ่ายแรงงานฯ อยู่ระหว่างการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอรับรายชื่อผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ รวมทั้งจะติดตามดูแลคนไทยที่ได้รับบาดเจ็บอย่างใกล้ชิด

“สำหรับการให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น ผมได้ให้สำนักงานแรงงาน (สนร.) โดยฝ่ายแรงงาน ประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ เข้าไปเยี่ยมผู้บาดเจ็บและดูแลเรื่องสิทธิประโยชน์ให้ได้รับเงินสงเคราะห์จากกองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ รวมทั้งได้สั่งการให้สำนักประสานความร่วมมือระหว่างประเทศ ประสานให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงแรงงาน ลงพื้นที่ภูมิลำเนาของแรงงานไทยที่เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ ไปเยี่ยมครอบครัวและญาติ เพื่อให้กำลังใจ และแจ้งสิทธิประโยชน์การดูแลคุ้มครองตามกฎหมายแก่ครอบครัวและทายาททราบต่อไป” นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 18/5/2464

เร่งตรวจเชิงรุก แคมป์ก่อสร้างใน กทม. 393 จุด แรงงานไทยและต่างด้าว 6 หมื่นคน หลังแคมป์คนงานหลักสี่ติดเชื้อ 80%

17 พ.ค. 2564 หลังจากผลตรวจแคมป์ก่อสร้างเขตหลักสี่ ซึ่งตรวจคนงาน 559 ราย พบติดเชื้อรายงาน 482 ราย คิดเป็น 86.23% และสำนักงานเขตหลักสี่สั่งปิดแคมป์เรียบร้อยแล้วนั้น

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า แคมป์คนงานถือเป็นจุดเสี่ยงในการระบาดของโควิด-19 จึง ได้ประสานผู้ประกอบการทั่วประเทศให้คุมเข้มมาตรการตรวจสอบโควิด-19 โดย ผู้ประกอบการรายใดต้องการนำคนงานเข้ามาตรวจเชิงรุกสามรถประสาน และให้คนงานมาตรวจตามสถานทีตรวจเชิงรุกที่กระทรวงแรงงานจัดไว้

ส่วนกรุงเทพมหาคร ได้ประสานไปแล้วเช่นกัน โดยคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อ กทม.ได้เตรียมตรวจเชิงรุกในแคมป์คนงานที่มีจำนวนกว่า 393 จุด และมีแรงงานทังไทยและต่างด้าวกว่า 6 หมื่นคน

สำหรับครัสเตอร์แคมคนงานที่น่าเป็นห่วง 5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วยแคมป์คนงานเขตหลักสี่, แคมป์คนงานเขตวัฒนา, เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย, ตลาดห้วยขวาง และดินแดง

อย่างไรก็ตาม ศบค. ได้กำหนดมาตรการเตรียมประกาศใช้ สำหรับผู้ประกอบการเกี่ยวกับคนงาน โดยจะขอความร่วมมือ เช่น จัดที่พักอาศัยพื้นที่ส่วนกลางไม่ให้มีความแออัด ให้มีการเว้นระยะห่างจัดให้มีแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมถึงห้ามเคลื่อนย้ายคนงานในแคมป์เป็นต้น โดยจะจัดการเป็นรูปแบบบับเบิลแอนด์ซีล (Bubble and Seal)

ที่มา: TNN, 17/5/2564

ก.แรงงาน ช่วยเหลือลูกจ้าง นายจ้าง ผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ สู้วิกฤตไปด้วยกัน

นายอภิญญา สุจริตตานันท์ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้เกิดการแพร่ระบาดในวงกว้างและมีอัตราการติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น กระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องแรงงาน จึงได้ดำเนินการตามมาตรการช่วยเหลือแรงงานอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องแรงงานและสถานประกอบกิจการ นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้สั่งการให้กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน หาแนวทางในการดำเนินการส่งเสริมสภาพคล่องด้านการเงินให้แก่ลูกจ้าง นายจ้าง ผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการหรือรัฐวิสาหกิจ เพื่อเปิดโอกาสให้พี่น้องแรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการ สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ เพื่อนำไปเสริมสภาพคล่องสำหรับการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน และแก้ไขปัญหาการกู้ยืมเงินนอกระบบ กรณีที่ไม่สามารถหาหลักทรัพย์ค้ำประกันการกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เพื่อพัฒนาให้พี่น้องแรงงานมีรายได้และมาตรฐานความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น

นายอภิญญา กล่าวเพิ่มเติมว่า กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ให้บริการเงินกู้แก่ผู้ใช้แรงงานโดยผ่านสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการและรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 กสร. ได้มอบเงินกู้กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน จำนวน 10 ล้านบาท ให้แก่สหกรณ์ออมทรัพย์พนักงานซีเคียวริคอร์ จำกัด ซึ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการที่จัดตั้งขึ้นใน บริษัท รักษาความปลอดภัย การ์ดฟอร์ซ แคชโซลูชั่นส์ (ประเทศไทย) จำกัด โดยมีสมาชิกจำนวน 735 คน นำไปให้บริการแก่ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกสหกรณ์เพื่อเสริมสภาพคล่องด้านการเงินและช่วยเหลือลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยปัจจุบันกองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน ได้จัดโครงการเงินกู้เพื่อบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 มีวงเงินงบประมาณ 50 ล้านบาท เพื่อให้สหกรณ์ออมทรัพย์ในสถานประกอบกิจการหรือรัฐวิสาหกิจ สามารถยื่นคำขอกู้เงินเพื่อนำไปให้บริการเงินกู้แก่ผู้ใช้แรงงานที่เป็นสมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ได้ไม่เกินแห่งละ 10 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 1.00 ต่อปี โดยสหกรณ์ออมทรัพย์ที่สนใจสามารถยื่นคำขอกู้ได้ตั้งแต่วันนี้ จนถึง 31 กรกฎาคม 2564 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองสวัสดิการแรงงาน กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน โทรศัพท์ 0 2246 0383 หรือ 0 2248 6684

ที่มา: สำนักข่าวอินโฟเควสท์, 17/5/2564

สั่งปิดโรงงานอาหารทะเลคลัสเตอร์สงขลา หลัง 65 พนง. ติดเชื้อ เร่งตรวจอีกนับพันราย

17 พ.ค. 2564 ที่ห้องประชุมศาลากลางจังหวัดสงขลา นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา โดยในวาระในการประชุมทั้งในเรื่องของการเตรียมความพร้อมในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน รวมถึงมาตรการในการควบคุมโรคในโรงงานแปรรูปอาหารทะเล

ผวจ.สงขลา กล่าวว่า คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา มีมติให้ปิดโรงงานแปรรูปอาหารทะเล ของบริษัท สยามอินเตอร์เนชั่นแนลฟู้ด จำกัด ตำบลนาทับ อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น โดยเริ่มตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และจะมีการประเมินสถานการณ์อีกครั้งในอีก 5-7 วัน

ในขณะเดียวกันทางฝ่ายสาธารณสุขก็ได้จัดทีมแพทย์และบุคลากรทางการแพทย์เข้าทำการตรวจเชื้อเชิงรุก ในพนักงาน แยกเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงกับกลุ่มเสี่ยงต่ำ อีก 1,500 คน โดยพนักงานไทยนั้น จะทำการตรวจเชื้อเชิงรุกทั้งหมด ประมาณ 1,500 คน หากพบเชื้อส่งเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล แต่หากไม่พบเชื้อก็จะขอให้กักตัวเองที่บ้าน โดยมีเจ้าหน้าที่ อสม.คอยดูและให้กักตัวอย่างแท้จริงและจะตรวจหาเชื้อซ้ำอีกครั้งในวันที่ 7 และ วันที่ 14 ในส่วนของแรงงานเมียนมาร์นั้น ได้มีการกักตัวภายในแคมป์ และเปิดโรงพยาบาลสนามด้านหน้าแคมป์ เพื่อติดตามอาการ

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาวางแนวทางในการดูแลโรงพยาบาลสนามในแคมป์คนงานของบริษัทสยามอินเตอร์ฯ โดยตั้งระบบ อสม.ในแต่ละแถวห้องพักทำหน้าที่วัดไข้ วัดความดันในกลุ่มแรงงานชาวเมียนมาร์ 1,400 รายโดยหากไม่มีอาการผิดปกติก็กักตัวต่อไปแต่หากมีอาการผิดปกติให้แจ้งเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลสนามซึ่งเจ้าหน้าที่จะได้ทำการตรวจคัดกรองและทำการตรวจเชื้อโควิด-19 โดยหากพบเชื้อก็จะเข้าสู่ระบบการรักษา แต่หากไม่พบเชื้อก็กลับเข้ากักตัวในแคมป์ต่อไปในส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่ได้อยู่ในแคมป์ที่พักคนงานจะทำการตรวจคัดกรองและให้กักตัวในแคมป์เช่นเดียวกับแรงงานชาวไทยจนครบ 14 วัน

ผู้สื่อข่าวรายงาน จากการตรวจสอบพบว่า มีกลุ่มผู้ที่สัมผัสเสียงสูงมีประมาณ 400 คน ซึ่งเป็นคนไทยที่พักในแคมป์คนงาน คนไทยที่สัมผัสใกล้ชิดผู้ตรวจพบเชื้อ คนไทยทุกคนในไลน์ผลิตโรงที่ 2 เจ้าหน้าที่ห้องปฐมพยาบาล คนขับรถรับส่งผู้ป่วยรวมถึงผู้ที่ไม่ใช่พนักงานแต่สัมผัสผู้ป่วยร่วมบ้านหรือสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด ส่วนกลุ่มเสี่ยงต่ำประมาณ 800 คน

ทั้งนี้ ได้มีการหารือกับทางผู้ประกอบการในการควบคุมโรค เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปให้ได้โดยเร็ว หากแรงงานต่างด้าวที่ไม่ติดเชื้อสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้

ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลากล่าวว่า เหตุที่ไม่ปิดโรงงานตั้งแต่แรกตามที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันนั้น เนื่องจากกรณีนี้เป็นการพบเชื้อแบบทยอย คือพบครั้งละ 1 คน 2 คน 4 คน ทำให้มาตรการในการควบคุมต้องเป็นไปตามลำดับขั้น เพราะหากเจอเชื้อเพียง 1-2 รายแล้วปิดทันทีก็จะกระทบธุรกิจ กระทบกับแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มทำงานรายวัน ทำให้ต้องมีการพิจารณาใช้มาตรการไปตามสถานการณ์ เพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันก็ต้องให้ธุรกิจ ทั้งในส่วนของโรงงานและของแรงงานขับเคลื่อนไปได้ด้วย

สำหรับข้อมูลผู้ติดเชื้อจากคลัสเตอร์โรงงานดังกล่าว ประชาชาติ รายงานว่า จากข้อมูลของวันที่ 16 พฤษภาคม 2564 พบว่าในกลุ่มพนักงานของบริษัท ที่เข้ารับการตรวจคัดกรองเชิงรุก จำนวน 1,064 ราย เริ่มจากวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 พบผู้ติดเชื้อยืนยันสะสมจำนวน 65 ราย เป็นคนไทย 16 ราย และเมียนมา 49 ราย โดยคิดเป็นร้อยละ 6 จากจำนวนพนักงานที่ตรวจคัดกรองทั้งหมดและได้ถูกนำส่งไปรักษายังโรงพยาบาลสนาม สวนประวัติศาสตร์ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เรียบร้อยแล้ว

ส่วนสถานการณ์โควิด-19 จ.สงขลา วันนี้ (17 พ.ค. 2564) ยอดผู้ป่วยสะสมอยูที่ 1,022 คน และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 2 คน เป็นหญิงอายุ 91 ปี และชายอายุ 72 ปี เสียชีวิตที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา ส่งผลให้มียอดผู้เสียชีวิตรวม 5 รายแล้ว และทั้งหมดเป็นกลุ่มผู้สูงอายุ โดยสามรายแรกเป็นชายอายุ 73 ปี ชายอายุ 85 ปี และหญิงอายุ 99 ปี

ที่มา: มติชนออนไลน์, 17/5/2564

ศบค. ห่วง 5 คลัสเตอร์ใน กทม. พร้อมออกมาตรการบับเบิลแอนด์ซีล คุมเข้มแคมป์แรงงาน ห้ามเคลื่อนย้ายคน

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์ โควิด-19 หรือ ศบค. แถลงว่าศบค.ชุดเล็กได้รายงานในที่ประชุมเกี่ยวกับผู้ติดเชื้อ โดยในพื้นที่กรุงเทพมหานครต้องเฝ้าระวัง 27 คลัสเตอร์ กระจายอยู่ 17 เขต ประกอบด้วยดินแดง วัฒนา คลองเตย หลักสี่ ลาดพร้าว ราชเทวี พระนคร ดุสิต ป้อมปราบ สวนหลวง ปทุมวัน สาทร จตุจักร สัมพันธวงศ์ สีลม ประเวศน์ และวังทองหลาง และมีอยู่ 7 คลัสเตอร์ที่อย่ในภาวะควบคุมได้ดีพอสมควร แต่ที่น่าเป็นห่วงมี 5 คลัสตอร์สำคัญที่มีอัตราผู้ติดเชื้อเพิ่มรายวันประกอบด้วย 1.แคมป์คนงานเขตหลักสี่ 2.แฟลตดินแดง 3.แคมป์คนงานเขตวัฒนา 4. คลองถมและวงเวียน 22 เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย และ 5. ตลาดห้วยขวางดินแดง

“แคมป์คนงาน ที่มีการสำรวจตั้งแต่ปลายปี 2563 พบว่ามีการกระจายตัวของแคมป์คนงานทั่ว กทม. 393 แคมป์ มีแรงงานเกือบ 60,000 คน มีทั้งชาวไทยและแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งแคมป์แรงงานหลักสี่ ของบริษัทอิตาเลียนไทย มีการตรวจวันที่ 15 พฤษภาคม 559 ราย พบติดเชื้อรายงาน 482 ราย ซึ่งสำนักงานเขตหลักสี่และตำรวจได้เข้าพื้นที่และปิดแคมป์คนงาน และมีการรายงานให้บริษัทเจ้าของและตรวจแคมป์คนงานในเครือทั้งหมด ส่วนของกรมควบคุมโรค วิเคราะห์เหตุแพร่ระบาดเกิดจากความเป็นอยู่ค่อนข้างหนาแน่น การใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกันในหลายจุด เช่น ห้องน้ำ จุดรับประทานอาหาร คนงานเดินทางไปตลาดในชุมชน และเดินทางข้ามพื้นที่ ที่ประชุมจึงได้มีการกำหนดมาตรการที่จะประกาศให้บริษัทของแรงงานเหล่านี้รับทราบปฎิบัติ เช่น จัดที่พักอาศัยพื้นที่ส่วนกลาง จะต้องทำความสะอาด จัดการเรื่องการระบายอากาศและกำหนดความหนาแน่น และให้ดำเนินมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and SEAL) ห้ามเคลื่อนย้ายแรงงาน หากมีความจำเป็นต้องขออนุญาตก่อนเท่านั้น รวมถึงจะมีการจัดส่งความช่วยเหลือเข้าไปในแคมป์งานต่างๆ เนื่องจากส่วนหนึ่งของการแพร่ระบาดที่พบมาจากการเคลื่อนย้ายของแรงงานไปยังแตมป์ต่างๆ เช่น หลักสี่ไปยังจังหวัดพระนครศรีอยุทยา ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อ ซึ่งวิธีนี้จะสามารถจำกัดวงของผู้ติดเชื้อได้และคัดกรองผู้มีความเสี่ยงได้” แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 16/5/2564

วางแผนตั้งศูนย์กลางฉีดวัคซีนโควิดในนิคมฯ ทั่วประเทศ หนุนเป้าหมายรัฐวันละ 5 แสนคน

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมเพื่อหาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไปว่าที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ให้แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป ซึ่งจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการในวันที่ 17 พ.ค.2564

ทั้งนี้ คณะกรรมการฯชุดดังกล่าว มีหน้าที่หลัก 1.กำหนดแนวทางพื้นที่จุดบริการและเตรียมความพร้อมการให้วัคซีนป้องกันโรค โควิด-19 แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม และประชาชน 2.ประสานงานและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การบริการมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ 3. ติดตามและรายงานผลการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และ 4.ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า กนอ.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยเบื้องต้นได้สำรวจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เหมาะสมเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งมีทั้งในส่วนที่ กนอ.บริหารจัดการเอง และในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน รวมทั่วประเทศ 59 นิคมฯ แต่จะต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้งว่าความสามารถในการฉีดวัคซีนต่อวันจะได้ประมาณกี่ราย โดยคิดจากอัตราส่วนต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด เพื่อประเมินความพร้อมของสถานที่ ไม่ให้เกิดความแออัด ขณะเดียวกันต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ดำเนินการได้ทันท่วงที

อย่างไรก็ตามเบื้องต้นจะแบ่งกลุ่มผู้ที่รับวัคซีนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 2.โรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรมที่แจ้งความประสงค์เข้ามา และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในสวนอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และ 3.ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งรูปแบบจะเป็นอย่างไรจะพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง

ขณะเดียวกันได้มีการประสานไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อหารือถึงการใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งวางแนวทางการฉีดวัคซีนในแต่ละวันเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ การทำงานของคณะกรรมการฯ ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการฉีดให้ได้วันละ 5 แสนคน ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้รับเรื่องไปพิจารณาและจะประสานข้อมูลในเชิงลึกร่วมกับ กนอ.และกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด

ที่มา: โพสต์ทูเดย์, 16/5/2564

ธปท.รับกังวลเศรษฐกิจและตลาดแรงงานทรุด ลุ้นรัฐเร่งกระจายวัคซีนตามแผน

นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดโควิดระลอก 3 รุนแรงกว่าที่ผ่านมา คาดกระทบจีดีพีที่ร้อยละ 1.4 – 1.7% ขณะที่การระบาดระลอก 2 กระทบจีดีพีที่ 1.2% โดยการระบาดที่รุนแรง และยืดเยื้อส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศ และความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งการระบาดระลอก 3 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจปรับลดลงเร็ว คาดว่าต้องใช้มาตรการคุมเข้มไปอีกระยะหนึ่ง และต้องใช้เวลากว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี หากมีการฉีดวัคซีนเร็วขึ้นจะช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ถึงร้อยละ 3.0-5.7ในช่วงปี 2564 – 2565

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยหลังถูกผลกระทบโควิด-19 ระลอกที่ 3 มีตัวแปรสำคัญ คือ การฉีดวัคซีน ซึ่งขึ้นอยู่กับความเร็วในการฉีด เพราะรอบนี้กระจายเป็นวงกว้าง ส่งผลให้การเกิดภูมิคุ้มกันหมู่ช้าลงกว่าเดิม โดยหากฉีดวัคซีนได้ 2.7 – 3.3 แสนโดสต่อวัน จะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ภายในไตรมาส 3/65 ซึ่งล่าช้าจากเดิมที่คาดว่าจะเป็นไตรมาส 2/65 แต่หากต้องการให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในไตรมาสแรกปี 65 จะต้องฉีดวัคซีนให้ได้ 5-6 แสนโดสต่อวัน หรือ มากกว่า 4 เท่าจากปัจจุบันฉีดต่อวัน 1.5 แสนโดส

นอกจากนี้ หากฉีดวัคซีนได้เร็วจะมีผลต่อเวลาการเปิดประเทศ ซึ่งหากในปีนี้ฉีดวัคซีนได้ 64.6 ล้านโดส จะทำให้เปิดประเทศในไตรมาส 4/65 แต่หากกรณีเลวร้าย โดยจัดหาหรือกระจายวัคซีนได้น้อยกว่า 64.6 ล้านโดสในปีนี้ นอกจากจะทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ล่าช้าไปถึงไตรมาส 4/65 แล้ว ยังทำให้การเปิดประเทศเลื่อนออกไปหลังปี 2565 อีกด้วย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก โดยสิ่งสำคัญ คือ การฉีดวัคซีนให้เร็ว เพื่อจะได้สร้างภูมิคุ้นกันหมู่เร็ว และ เปิดประเทศเร็วขึ้นตามไปด้วย ส่งผลดีต่อการจับจ่ายใช้สอยในประเทศ และ ถ้าอนาคตภาครัฐหางบจัดหาวัคซีน และช่วยกระตุ้นการจับจ่ายเพิ่มเติมจะทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้ดีกว่านี้

ขณะที่การระบาดโควิด-19 ระลอกนี้ ในระยะสั้นกระทบต่อฐานะทางการเงินประชาชนและภาคธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มภาคท่องเที่ยว บริการ และร้านอาหาร ทำให้ ธปท. และ ภาครัฐออกมาตรการดูแลสนับสนุนต่อเนื่อง ขณะที่ภาคเศรษฐกิจและธุรกิจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน ซึ่งภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบไม่มาก โดยเฉพาะส่งออกที่คำสั่งซื้อยังมี จากเศรษฐกิจคู่ค้าปรับตัวดีขึ้น และปรับตัวด้วยการใช้เครื่องจักรเข้ามาทดแทน โดย ธปท. มีความกังวลเกี่ยวกับตลาดแรงงาน เพราะสถานการณ์โควิด-19 ยิ่งยืดเยื้อ จะทำให้แรงงานหางานทำได้ยากขึ้น เนื่องจากมีโอกาสสูญเสียทักษะการทำงานไป โดยกลุ่มผู้ว่างงานส่วนจะเป็นกลุ่มบริการ และกลุ่มคนจบใหม่

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 14/5/2564

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท