ไล่บี้คดีม่อนแจ่ม ภาพสะท้อนโครงสร้างอำนาจรัฐที่ไม่เป็นธรรม

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชน เป็นอาชีพสุจริต ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถขยายเป็นนโยบายที่สร้างเศรษฐกิจให้แก่ประเทศชาติท่ามกลางวิกฤติเชื้อไว้รัส โควิด 19 ได้ แต่ผู้มีอำนาจกลับอ้างกฎหมายไล่บี้ชาวบ้านเหล่านั้นอย่างกับพวกเขาเป็นอาชญากร

เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2564 สื่อออนไลน์หลายสำนัก ได้รายข่าวกรณีที่อัยการจังหวัดเชียงใหม่ สั่งไม่ฟ้องคดีที่พักโฮมสเตย์ของชาวบ้านม่อนแจ่ม โดยเนื้อหาของข่าวนั้น สื่ออ้างว่าเป็นรายงานจากจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเนื้อหาบางส่วนระบุว่า “อัยการจังหวัดเชียงใหม่มีความเห็นสั่งไม่ฟ้องคดีรีสอร์ตที่พักม่อนแจ่มบุกรุกป่าสงวน 19 คดี จากที่มีสำนวนอยู่ที่พนักงานอัยการ 28 คดี โดยมีความเห็นว่าผู้ประกอบการรีสอร์ต ขาดเจตนาในการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ””

จากที่ปรากฏตามข่าว เหตุผลหลักของอัยการในการสั่งไม่ฟ้องคดีนี้คือ ขาดเจตนาในการบุกรุกป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 143 บัญญัติให้พนักงานอัยการมีหน้าที่ตรวจสอบและกลั่นกรองคดี ถ้าพนักงานอัยการพิจารณาแล้วเห็นว่าพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนไม่หนักแน่นเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่า การกระทำของผู้ต้องหาไม่เป็นความผิดต่อกฎหมาย พนักงานอัยการมีอำนาจที่จะสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหาได้ ซึ่งคดีประเภทนี้มีกรณีตัวอย่างที่มีการใช้ดุลพินิจยกฟ้องหรือสั่งไม่ฟ้องมาแล้ว กล่าวคือ

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5663/2533 ที่เคยพิพากษายกฟ้องจำเลย โดยวินิจฉัยว่าเมื่อจำเลยขาดเจตนาบุกรุกพื้นที่ป่าก็ไม่เป็นความผิด และคดีเขายายเที่ยง เมื่อปี พ.ศ. 2553 ที่พนักงานอัยการจังหวัดสีคิ้ว มีคำสั่งไม่ฟ้อง พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในข้อหากระทำผิด พ.ร.บ.ป่าไม้ฯ และ พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติฯ โดยให้เหตุผลว่าขาดเจตนา และต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาเห็นชอบกับความเห็นของพนักงานอัยการที่สั่งไม่ฟ้องนั้น จะเห็นว่าคำสั่งไม่ส่งฟ้องของพนักงานอัยการกรณีม่อนแจ่ม จึงไม่ใช่เรื่องใหม่หรือแปลกแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม หลังจากจากอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องชาวบ้านม่อนแจ่ม 19 คน เกิดความเคลื่อนไหวของผู้มีอำนาจและผู้บังคับใช้กฎหมายอย่างน่าสนใจ โดยเมื่อวันที่ 11 พ.ค. 2564 ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ พร้อมผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5, ผู้อำนวยการสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 1 (เชียงใหม่), ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดเชียงใหม่ และพนักงานสอบสวนที่รับผิดชอบคดีม่อนแจ่ม ได้ร่วมประชุมกันและสรุปว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ป่าสงวน และกล่าวหาว่ามีการขายที่ดินให้นายทุนต่างชาติ หลังจากนั้น เมื่อวันที่ 13 พ.ค. 2564 ตำรวจภูธรภาค 5 และพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ได้ประชุมและเตรียมจัดทำหนังสือความเห็นแย้งคำสั่งไม่ฟ้องของพนักงานอัยการจังหวัดเชียงใหม่ส่งให้อัยการสูงสุดพิจารณาชี้ขาดแล้ว

“ม่อนแจ่ม” เป็นชื่อแหล่งท่องเที่ยวชุมชนชาติพันธุ์ม้ง ครอบคลุมพื้นที่ 3 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองหอยเก่า และบ้านหนองหอยใหม่ ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2447 และเมื่อปี พ.ศ. 2484 ทางราชการได้แต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านทางการคนแรก ชื่อ นายว่าง แซ่ว่าง เมื่อตรวจสอบแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศของกรมแผนที่ทหาร ที่ถ่ายเมื่อปี พ.ศ. 2497 ก็พบว่ามีหมู่บ้านตั้งอยู่จริง ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2505 ก็มีการตั้งโรงเรียนชายแดนสงเคราะห์ที่ 14 ขึ้น หลังจากนั้น เมื่อปี พ.ศ. 2507 จึงมีการประกาศให้ท้องที่ของม่อนแจ่มทั้งหมดเป็นป่าสงวนแห่งชาติ (ป่าแม่ริม) ต่อมาชาวบ้านก็ได้ขึ้นทะเบียนตามมติ ครม. 11 พฤษภาคม 2542 

กว่าจะเป็นม่อนแจ่มอย่างที่เห็นทุกวันนี้ เริ่มจากเมื่อปี พ.ศ. 2527 โครงการหลวงก็ได้เข้ามาตั้งในหมู่บ้าน มีการส่งเสริมอาชีพและปรับพื้นที่ให้ชาวบ้านทำนาขั้นบันได ต่อมีในปี พ.ศ. 2545 โครงการหลวงก็เริ่มส่งเสริมให้มีการท่องเที่ยวในพื้นที่ จนถึงปี พ.ศ. 2552 โครงการหลวงได้ตั้งม่อนแจ่มและสนับสนุนให้ชาวบ้านจัดทำการท่องเที่ยวชุมชน โดยการทำที่พักแบบโฮมสเตย์ ทำให้การท่องเที่ยวเริ่มมีชื่อเสียงและขยายตัวมากขึ้น หน่วยงานรัฐอื่นๆ ก็เข้าไปส่งเสริม อีกทั้งชุมชนได้จดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน

การที่ชาวบ้านใช้ที่ดินทำที่พักรองรับนักท่องเที่ยว และจัดการท่องเที่ยวชุมชน โดยใช้ทรัพยากรและวัฒนธรรมเป็นฐาน ถือว่าเป็นการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินครั้งสำคัญ ที่เคยใช้ปลูกพืชเชิงเดี่ยวที่ใช้สารเคมี เช่น ผัก ข้าวโพด มาทำที่พักและสถานที่ท่องเที่ยว ทำให้มีการลดการใช้ที่ดิน ลดการใช้เสารเคมี ในขณะเดียวกันชาวบ้านได้ช่วยกันเพิ่มพื้นที่สีเขียวและดูและรักษาป่าชุมชน จัดการไฟป่า เพื่อสร้างภูมิทัศน์ให้นักท่องเที่ยวได้ชม ที่สำคัญคือ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้มากกว่าการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่งผลให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้ทั้งในชุมชน และนอกชุมชนตามห่วงโซ่อุปทาน  

เมื่อพิจารณาถึงเนื้อแท้แล้ว การจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนชาติพันธุ์แบบม่อนแจ่ม เป็นอาชีพสุจริต ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม สามารถขยายเป็นนโยบายของรัฐเพื่อสร้างเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติการแพร่ระบาดของเชื้อไว้รัส โควิด 19 ได้ แต่ผู้มีอำนาจกลับตั้งหน้าตั้งตาดำเนินคดีกับชาวบ้านเหล่านั้น (พบว่ายังมีพื้นที่อื่นๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ ถูกสั่งห้ามและดำเนินคดีเช่นกัน) คำถามคือ ทำไมเรื่องนี้จึงเป็นปัญหา

การทำความเข้าใจต่อปัญหานี้ ต้องย้อนไปตรวจสอบการจัดโครงสร้างอำนาจ และทัศคติของรัฐต่อกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง ที่ส่งผลต่อปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่

กล่าวโดยสังเขป ตลอดเวลาที่ผ่านมารัฐไทยยังไม่ถือว่ากลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงมีสถานะเป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์ จึงไม่อาจยอมรับให้สามารถเข้าถึงสิทธิในการใช้ทรัพยากรของรัฐ ดังที่อาจารย์สายชล สัตยานุรักษ์ กล่าวไว้ว่า ”คนที่ไม่มี  ‘ความเป็นไทย’ หรือมี ‘ความเป็นไทย’ น้อย ตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบและได้รับการดูถูกเหยียดหยาม ซึ่งมีผลเชื่อมโยงไปถึงการถูกแย่งชิงทรัพยากร การขาดโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมและสวัสดิการต่างๆ ของรัฐ”

อีกทั้งในสายตาของผู้มีอำนาจ กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเป็นเพียงแค่เป็นคนป่าเถื่อน เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมทั้งเป็นพวกที่ทำลายทรัพยากรของประเทศด้วย จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะให้ความคุ้มครองดูแล กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงจึงถูกขับออกจากพื้นที่ที่รัฐจะให้ความคุ้มครองเสมอเหมือนกับชนชั้นกลาง

ที่สำคัญคือ รัฐ ผู้มีอำนาจและสื่อ มักจะประกอบสร้างและตอกย้ำว่าอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง โดยเฉพาะกรณีการใช้ที่ดินทำการเกษตรบนพื้นที่สูง เป็นภัยต่อความมั่นคงของชาติ จนนำไปสู่ความรังเกียจ การกดขี่ ตลอดจนความขัดแย้งรุนแรง

อีกทั้งการที่อำนาจทางการเมืองถูกผูกขาดโดยชนชั้นนำ และมักจะใช้อำนาจนั้นตัดสินใจจัดสรรทรัพยากรหรือดำเนินนโยบายไปในทางเอื้อประโยชน์ให้แก่คนบางกลุ่มเท่านั้น คนชายขอบก็ต้องดิ้นรนหาทางออกเอง แต่นั่นก็จะยิ่งทำให้ถูกระแวงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะกรณีที่ขัดขวางต่อผลประโยชน์ของผู้มีอำนาจ ก็ถูกอ้างว่า “เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ที่รัฐสามารถใช้ความรุนแรงเข้าปราบปรามได้”

เมื่อยุคสมัยผ่านพ้นไป กลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูงเริ่มยกระดับสถานะและความเป็นอยู่เข้าใกล้กับชนชั้นกลางมากขึ้น บางพื้นที่เศรษฐกิจของชาวบ้านบนเขาดีไม่น้อยกว่าคนในเมือง และคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งก็พยายามสร้างงานใหม่ๆ ในชุมชน แต่เมื่อผู้มีอำนาจยังมีความคิดฝังหัวว่า “ชาวเขา” คือพวกคนอื่น ยากจน ไร้การศึกษา การที่พวก “ชาวเขา” เกิดลุกขึ้นมาทำงาน มีรายได้ มีคุณภาพชีวิตแบบชนชั้นกลางบ้าง ก็กลายเป็นเรื่องที่เขารับไม่ได้ ดังข้อความที่ฝ่ายผู้มีอำนาจย้ำในรายงานที่ถูกนำเสนอเป็นเนื้อข่าวข้างต้นนี้ เพื่อชี้นำสังคมและทำลายความขอบธรรมของชาวบ้านว่า บุกรุกป่าและมีการขายให้นายทุน โดยเฉพาะการระบุว่า “ก่อให้เกิดความไม่สบายใจและบั่นทอนกำลังใจการทำงานของเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในเรื่องนี้เป็นอย่างมาก พร้อมกับเกิดคำถามว่าหากเป็นเช่นนี้จะสามารถแก้ปัญหาการทำผิดกฎหมายและบุกรุกพื้นที่ป่าม่อนแจ่มได้อย่างไร”

ด้วยสถานการณ์ในยุคสมัยปัจจุบัน หากผู้มีอำนาจมีวิสัยทัศน์ และเห็นหัวประชาชน รัฐควรสนับสนุนและส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบม่อนแจ่ม เลิกยึดถือชุดความเชื่อแบบเดิมๆ แล้วแก้ไขกฎหมายและนโยบายที่เอื้อให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าไปสนับสนุนและส่งเสริมการจัดการท่องเที่ยวโดยชุมชนได้ ก็จะสามารถสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศได้อย่างมหาศาล ... แต่ความจริงคือ ขณะนี้ประเทศไทยกำลังปกครองด้วยระบบที่ข้าราชการเป็นใหญ่ พวกเขารับผิดชอบต่อนายและระบบ ไม่ใช่ประชาชน  

 

อัยการเชียงใหม่ สั่งไม่ฟ้องบุกรุกม่อนแจ่ม 19 ราย ผู้ว่าฯสั่งรวบรวมหลักฐานใหม่ ให้อัยการสูงสุดชี้ขาด

วิสาหกิจม่อนแจ่มร้องยุติแผนรื้อถอน-ดำเนินคดี จัดระเบียบโฮมสเตย์ชุมชนต้องมีส่วนร่วม

จนท.สนธิกำลังตรวจสอบม่อนแจ่ม-ชาวบ้านเรียกร้องให้รับรองกิจการโฮมสเตย์

ที่มาภาพ: แฟ้มภาพ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงเกษตรม่อนแจ่มและเครือข่าย ตั้งโต๊ะแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน ขอความเป็นธรรมกรณีรื้อถอนและดำเนินคดีที่พักโฮมสเตย์บนม่อนแจ่ม เมื่อ 5 ก.ค. 62

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท