Skip to main content
sharethis

KNU ปฏิเสธฝึกกองกำลังประชาชนต่อต้านเผด็จการพม่า หลังกองทัพพม่ารีดข้อมูลหลังกวาดจับฝ่ายต่อต้านได้ข้อมูลว่าลอบฝึกในเขตทหารกะเหรี่ยงกองพล 1, 2 และ 7 โดยฝ่าย KNU ระบุคนฝึกฝ่ายต่อต้านคือนายทหารพม่าแปรพักตร์ ‘พล.ต.เฮนทออู’ ด้านกลาโหมพม่าแก้กฎหมายเกษียณอายุเป็น ‘ไม่มีกำหนด’ เปิดช่อง ‘พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย’ อยู่ยาว 

ภาพบรรยากาศงานครบรอบวันปฏิวัติกะเหรี่ยง สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) แฟ้มภาพเมื่อวันที่ 31 ม.ค.56
 

21 พ.ค.64 สำนักข่าว Myanmar Now รายงานเมื่อวันที่ 20 พ.ค.64 ระบุว่า สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ปัดข่าวที่ KNU เป็นผู้ฝึกการรบให้กองกำลังต้านเผด็จการในเขตอิทธิพลของตน

กระแสข่าวมีมูลเหตุมาจาก เผด็จการทหาร แถลงข่าวเมื่อวันที่ 18 พ.ค.64 กล่าวหาว่า มีกองกำลังชนกลุ่มน้อยกำลังให้การฝึกฝนแก่กองกำลังความมั่นคงของประชาชน (PDF) ซึ่งก่อตั้งโดยรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) 

“ไม่ใช่ว่ากองกำลัง PDF เพิ่งประกาศก่อตั้งในเดือน พ.ค.หรอกหรือ? และกองกำลังนี้ถูกก่อตั้งอย่างเป็นเอกเทศตามเมืองต่างๆ? เราจะช่วยฝึกพวกเขาได้อย่างไร? ไม่มีการฝึกฝนอะไรทั้งนั้น” พะโด ซอลาทุน รองเลขาธิการของ KNU กล่าวตอบโต้แถลงการณ์ของกองทัพพม่า 

อย่างไรก็ตาม เผด็จการพม่าอ้างข้อมูลจากการสอบสวนผู้ถูกจับกุม ระบุว่า PDF ได้รับการฝึกฝนยุทธวิธีการรบในเขตกองพลน้อยที่ 1, 2 และ 7 แห่งกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNLA)

พะโดซอลาทุน ให้สัมภาษณ์กับ Myanmar Now เมื่อวันที่ 20 พ.ค.64 กล่าวว่า เผด็จการทหารพม่าอาจจะสับสนเรื่องใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการวางตารางฝึก PDF 

นอกจากนี้ เขายังกล่าวว่า แถลงการณ์ที่ออกเมื่อวันที่ 18 พ.ค.64 “ไม่มีอะไรที่ถูกต้องเลย”

ซอลาทุน ชี้ว่า คนที่อยู่เบื้องหลังการฝึกกองกำลังประชาชน คือ พลตรีเฮนทออู ทหารแปรพักตร์จากกองทัพพม่า สังกัดกองพลทหารราบเบาที่ 99 ซึ่งเมื่อปลาย มี.ค. 64 เขาหลบหนีออกมาจากฐานบัญชาการในเมืองเมกติลา ภูมิภาคมัณฑะเลย์ แล้วไปเข้าร่วมกับกลุ่มผู้ประท้วงต่อต้านเผด็จการทหารในทางตะวันออกเฉียงเหนือของรัฐฉาน  

พ.ต.เฮนทออู อดีตนายทหารพม่าสังกัดกองพลทหารราบเบาที่ 99 ปัจจุบัน เขายังเป็นนายทหารที่มียศสูงสุดที่แปรพักตร์จากกองทัพพม่าอีกด้วย

นอกจากนี้ เผด็จการพม่ายังกล่าวหาว่าการจัดโปรแกรมฝึกทหารของ KNU ถือเป็นการบ่อนทำลายข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ (NCA) อีกด้วย แม้ว่าทั้งสองฝ่ายรบพุ่งกันอย่างดุเดือดมาตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค.64 โดยกองทัพพม่าหาว่า KNU ยืนอยู่ข้างผู้ประท้วงต้านรัฐประหาร และเริ่มส่งเครื่องบินรบมาทิ้งระเบิดในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง เขตกองพลน้อยที่ 5 KNLA โดยเฉพาะเขตมือตรอ อย่างต่อเนื่อง 

สถานการณ์ตึงเครียดมากยิ่งขึ้น หลังวันที่ 27 เม.ย.64 KNLA บุกยึดฐานซอแลท่า ของกองทัพพม่า ซึ่งเป็นฐานริมแม่น้ำสาละวิน ตั้งอยู่ตรงข้ามบ้านแม่สามแลบ ต.สบเมย อ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน นอกจากนี้ KNLA ยังเปิดปฏิบัติการปิดล้อม และโจมตีฐานดากวิน ของกองทัพพม่า ซึ่งเป็นฐานที่อยู่ตรงข้ามบ้านท่าตาฝั่ง จ.แม่ฮ่องสอน 

การโจมตีของ KNLA ทำให้กองทัพพม่าใช้เครื่องบินรบเข้าสนับสนุน โจมตีทหาร KNLA ที่ล้อมฐานดากวินอยู่ และตอนนี้มีกระแสข่าวว่า กองทัพพม่ามีคำสั่งให้กองกำลังพิทักษ์ชายแดน หรือ BGF ซึ่งเป็นกองกำลังที่แยกตัวออกมาจากกลุ่มกะเหรี่ยงพุทธ (DKBA) มาสัดกัดกองทัพพม่า เข้ามาเป็นกองหนุนช่วยรบกับ KNLA ในพื้นที่เขตกองพล 5 อีกด้วย

ทั้งนี้ ผลจากการสู้รบทำให้ชาวกะเหรี่ยงต้องพลัดถิ่นจำนวนมาก หลายคนอพยพข้ามแม่น้ำสาละวินมาฝั่งไทย โดยรายงานจากศูนย์สั่งการชายแดนไทย-เมียนมา ด้านจังหวัดแม่ฮ่องสอน แถลงสถานการณ์สู้รบฝั่งพม่า ประจำวันที่ 21 พ.ค.64 ระบุยอดตัวเลขผู้หนีภัยสงครามข้ามมาฝั่งไทยขณะนี้ มีจำนวนทั้งสิ้น 1,569 ราย 

เมื่อวันที่ 5 พ.ค.64 รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ประกาศก่อตั้งกองกำลังประชาชน หรือ PDF ขึ้นมา โดยถือเป็นขั้นแรก ก่อนต่อยอดไปสู่การตั้งกองกำลังสหพันธรัฐ โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญเพื่อโค่นล้มกองทัพพม่า ต้นเหตุของการทำรัฐประหาร

NUG ระบุเพิ่มว่า การเกิดขึ้นของกองกำลังสหพันธรัฐจะยุติความเจ็บปวดของประชาชนชาวพม่า ที่ต้องอยู่ภายใต้การปกครองเผด็จการทหารมามากกว่าครึ่งศตวรรษ และการทำสงครามกลางเมืองมามากกว่า 70 ปี 

ท้ายสุด รายงานจากสมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองพม่า หรือ AAPP เปิดเผยจำนวนผู้เสียชีวิตและถูกจับกุมจากการออกมาต้านรัฐประหาร ตั้งแต่ 1 ก.พ.64-20 พ.ค.64 มีจำนวนทั้งสิ้น 810 ราย ถูกจับกุมแล้ว 5,308 ราย และถูกตัดสินจำคุก 4,212 ราย 

กลาโหมพม่าแก้กฎหมายเกษียณอายุ เปิด ‘มินอ่องหล่าย’ อยู่นาน 

กระทรวงกลาโหมพม่าแก้กฎหมายเกษียณอายุราชการทหาร ให้ ผบ.สส. และ รอง ผบ.สส. จากอายุ 65 ปี เป็น ‘ไม่มีกำหนด’ ส่งให้มินอ่องหล่าย สามารถทำงานราชการนานเท่าใดก็ได้ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคนใหม่ขึ้นมา หรือยอมลงจากตำแหน่งด้วยความสมัครใจ 

พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.สส.กองทัพพม่า 
 

เจ้ากรมสารบรรณทหารบก พลโท เมียวซอเต่ง เป็นผู้เซ็นลงนามคำสั่งแก้ไขกฎหมายขยายอายุเกษียณราชการสำหรับผู้บัญชาการทหารสูงสุด และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองทัพพม่า ตั้งแต่วันที่ 4 ก.พ.64 หรือหลังรัฐประหาร 3 วัน โดยคำสั่งแก้ไขกฎหมายส่งผลให้แต่เดิม เจ้าหน้าที่ทหาร ต้องเกษียณอายุราชการเมื่ออายุครบ 65 ปี เปลี่ยนเป็น ‘ไม่มีการกำหนดอายุเกษียณราชการ

หมายความว่า พล.อ.อาวุโส มินอ่องหล่าย ผบ.สส. และหัวหน้าคณะรัฐประหาร ซึ่งแต่เดิมต้องเกษียณอายุราชการในเดือน เม.ย. เนื่องจากอายุครบ 65 ปี จะสามารถทำงานราชการนานเท่าใดก็ได้ จนกว่าจะมีการแต่งตั้งคนใหม่ หรือยอมลงจากตำแหน่งด้วยความสมัครใจ 

ทั้งนี้ กฎหมายตัวใหม่นี้ถูกบังคับใช้ต่อสาธารณชนเมื่อวันที่ 5 มี.ค.64 โดยมีการประกาศบนสื่อสิ่งพิมพ์ที่กองทัพพม่าเป็นเจ้าของ  

นอกจากนี้ การแก้ไขกฎหมายนำมาสู่การอนุญาตให้มีการขยายวาระดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหาร 3 เหล่าทัพ ได้แก่ ทัพบก ทัพเรือ และทัพอากาศ เพิ่มอีก 2 ปี หรือมากกว่านั้นหากมีเหตุจำเป็น จากแต่เดิมต้องเกษียณทันที หากดำรงตำแหน่งครบ 4 ปีติดต่อกัน และไม่สามารถต่ออายุได้

ย้อนไปเมื่อปี พ.ศ.2516 สมัยรัฐบาลทหาร นายพลเนวิน สภาความมั่นคงเคยอนุญาตให้เจ้าหน้าที่สามารถรับราชการทหารนานเท่าใดก็ได้ตราบเท่าที่กองทัพต้องการ ก่อนที่ต่อมา ในปี พ.ศ. 2557 ช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย กฎหมายนี้จะถูกแก้ไขโดยการกำหนดอายุเกษียณทำงานราชการทหารไว้ที่ 65 ปี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net