สปสช. ย้ำเอกชนห้ามเก็บค่าตรวจรักษากลุ่มเสี่ยงโควิด-19

เลขาธิการ สปสช. ย้ำโรงพยาบาลเอกชนห้ามเก็บเงินค่าตรวจหาเชื้อจากกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 รวมถึงเงินเพิ่มพิเศษหรือค่ามัดจำล่วงหน้าจากผู้ป่วย ชี้ค่าบริการทุกอย่างตกลงร่วมกัน หากมีรายการนอกบัญชีให้โรงพยาบาลเอกชนขอขยายรายการค่าใช้จ่ายไปที่อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ

ทีมสื่อสปสช. รายงานว่า นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวในรายการ NBT รวมใจ สู้ภัยโควิด-19 เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2564 ว่า ที่ผ่านมา สปสช. สื่อสารมาโดยตลอดว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงโควิด-19 สามารถรับการตรวจหาเชื้อฟรี รวมทั้งค่ารักษาต่างๆก็ฟรี รวมทั้งขอความร่วมมือโรงพยาบาลโดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชนไม่เรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย แต่ให้มาเก็บจาก สปสช.

อย่างไรก็ดี ยังมีข่าวทางโซเชียลมีเดียเป็นระยะว่ามีโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บเงินจากผู้ป่วย เช่น ล่าสุดถึงขั้นเรียกเก็บเงิน 5 แสนบาท ถ้าไม่จ่ายเงินก็ไม่ให้นำศพออกจากโรงพยาบาล จากการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่าสาเหตุเกิดจากโรงพยาบาลเข้าใจผิดในเรื่องกติกาการเบิกจ่าย ผู้เสียชีวิตไปตรวจที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งแล้วเตียงเต็ม จึงมารับการรักษาที่โรงพยาบาลนั้น เมื่อผู้ป่วยเสียชีวิต โรงพยาบาลกลัวว่าจะเรียกเก็บเงินไม่ได้ และไม่ได้สอบถามมายัง สปสช. จึงเกิดกรณีดังกล่าว อย่างไรก็ดี ขณะนี้ทางโรงพยาบาลเข้าใจกติกาและได้จ่ายเงินคืนให้แก่ญาติผู้เสียชีวิตหมดแล้ว

นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า ยังมีอีกหลายกรณีที่โรงพยาบาลเข้าใจผิดเกี่ยวกับกติกาการเบิกจ่ายเงิน ที่เจอมากที่สุดคือเรียกเก็บเงินค่าตรวจจากกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มที่ไม่แน่ใจว่าตนเองเสี่ยงหรือไม่ ทั้งที่กติกาเปลี่ยนไปแล้วว่า ถ้าแพทย์เป็นผู้สั่งตรวจ ให้โรงพยาบาลสามารถเรียกเก็บเงินมาที่ สปสช. ได้เลย ประชาชนไม่ต้องจ่าย หรือกรณีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ค่าพยาบาลพิเศษ ค่า Hospitel ที่เป็นโรงแรมหลายดาว ซึ่งต้องบอกว่าราคาค่าบริการทุกอย่างเป็นการตกลงร่วมกันระหว่างสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) และ สปสช. รวมทั้งนำเสนอคณะรัฐมนตรีและประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว รายการต่างๆ ที่มีในบัญชีก็เป็นรายการที่โรงพยาบาลเอกชนเสนอมา ดังนั้น จึงไม่มีเหตุที่จะเก็บเงินจากผู้ป่วยและต้องให้คืนเงินไป

หลักเกณฑ์การตรวจรักษาโควิด-19 ฟรี

หลักเกณฑ์การตรวจรักษาโควิด-19 ฟรี

ทั้งนี้ บางครั้งโรงพยาบาลก็เรียกเก็บในรายการที่ไม่มีในบัญชีที่ สปสช. จ่ายเงินให้จึงไปเก็บเอาจากผู้ป่วย กรณีนี้ให้ทำเรื่องมาที่อธิบดี สบส. เพื่อขยายรายการค่าใช้จ่าย ซึ่งในรอบ 1 ปีที่ผ่านมามีการขยายรายการค่าใช้จ่ายต่างๆ ไปแล้ว 3 ครั้ง จาก 3,000 รายการเพิ่มเป็น 4,800 รายการ ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องเก็บจากประชาชน เมื่อขยายรายการค่าใช้จ่ายแล้ว สปสช. จะจ่ายคืนย้อนหลังให้

"บางกรณีมีการการเรียกเก็บเงินมัดจำไว้ก่อน สปสช. ก็ปรับรอบการจ่ายให้เร็วขึ้น ให้ใช้เอกสารส่งเบิกง่ายขึ้น และเปิดระบบสื่อสารโดยตรงกับโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้สอบถามข้อสงสัยต่างๆ ดังนั้น ไม่มีเหตุให้เรียกเก็บมัดจำไว้ก่อน หรือแจ้งค่าใช้จ่ายเป็นระยะๆ ว่าขณะนี้ค่ารักษาเท่าไหร่แล้ว ขณะนี้ทางอธิบดี สบส. มีหนังสือเวียนไปยังโรงพยาบาลเอกชนแล้วว่าให้งดการเรียกเก็บมัดจำและงดแจ้งค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วย เพราะจะสร้างความตื่นตระหนกแก่ผู้ป่วย ต้องบอกว่าโควิด-19 เป็นโรคติดต่อร้ายแรงที่รัฐจะจ่ายค่าใช้จ่ายทั้งหมด" นพ.จเด็จ กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท