Skip to main content
sharethis

ประชุมออนไลน์สหภาพรัฐสภา (IPU) 'พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์' สมาชิกวุฒิสภา เผย IPU มีมติให้ถอดไทยออกจากกลุ่มประเทศที่เผชิญกับวิกฤตทางการเมืองที่ IPU มีข้อห่วงกังวล เพราะปัจจุบันไทยไม่เข้าข่ายวิกฤตการณ์การเมืองเหมือนในหลายประเทศ - ด้าน 'พิธา ลิ้มเจริญรัตน์' นำเสนอแนวคิดสู่ร่างข้อมติในการออกกฎหมายทั่วโลกรับมือการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์

พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา (IPU) เข้าร่วมการประชุมออนไลน์ของคณะกรรมการฯ สมัยที่ 285 ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2564 
พิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา (IPU) เข้าร่วมการประชุมออนไลน์ของคณะกรรมการฯ สมัยที่ 285 ครั้งที่ 7 เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2564 

เมื่อวันที่ 19 พ.ค. 2564 นางพิกุลแก้ว ไกรฤกษ์ สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา (IPU) เข้าร่วมการประชุมออนไลน์ของคณะกรรมการฯ สมัยที่ 285 ครั้งที่ 7 ระหว่างการประชุมสมัชชาสหภาพรัฐสภา ครั้งที่ 142 โดยที่ประชุมได้รับฟังรายงานสถานการณ์ทางการเมืองของสมาชิกบางประเทศที่ IPU มีข้อห่วงกังวลถึงปัญหาความไม่สงบหรือวิกฤตทางการเมือง การสู้รบขัดแย้งภายในประเทศ  การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ไม่เป็นไปตามวิถีทางประชาธิปไตย หรือการจัดตั้งสภาพลัดถิ่น พร้อมกันนี้ เตรียมจะส่งผู้แทนลงพื้นที่จริงในเวเนซุเอลาในช่วงเดือน มิ.ย. นี้ด้วย เพื่อเก็บข้อมูลสำคัญและนำเสนอรายงานพร้อมข้อเสนอแนะให้คณะมนตรีบริหารของ IPU ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับสถานภาพสมาชิกในการประชุมสมัชชาใหญ่ ครั้งที่ 143 ในเดือน พ.ย.64 ส่วนกรณีของเมียนมาซึ่งคณะกรรมการบริหารฯ เคยมีมติไม่ระงับสมาชิกภาพใน IPU จึงเชิญให้ตัวแทนของคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH) ที่จัดตั้งโดยสมาชิกรัฐสภาของเมียนมาหลังมีการรัฐประหารในเดือน ก.พ. 2564 เข้าร่วมการประชุมสมัชชาใหญ่ IPU ในฐานะผู้สังเกตการณ์ได้ แม้คณะผู้แทนถาวรของเมียนมาประจำสหประชาชาติ ณ นครเจนีวา จะคัดค้านขอให้ IPU ทบทวนการเชิญตัวแทน CRPH เนื่องจากมิใช่ตัวแทนของเมียนมาที่ชอบธรรมในเวทีระหว่างประเทศก็ตาม 
     
คณะกรรมการบริหารสหภาพรัฐสภา (IPU) ยังรับทราบถึงสถานการณ์ในเฮติที่ขณะนี้ยังไม่มีการเลือกตั้ง ส่วนที่ซูดานมีประเด็นปัญหาการเมืองภายในที่ส่งผลให้ซูดานต้องค้างชำระค่าบำรุงสมาชิกภาพของ IPU มาเป็นเวลาติดต่อกัน 2 ปีแล้ว ขณะสถานการณ์ของประเทศชาด มีประเด็นกองทัพเข้าแทรกแซงการเมืองอีกครั้ง ในขณะที่ลิเบียมีการพัฒนาที่ดีขึ้น และประเทศมาลีมีพัฒนาการเชิงบวกหลังจากมีรัฐประหารเมื่อ ส.ค. 63  โดยรัฐบาลเฉพาะกาลมาลีประกาศกำหนดให้มีการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในวันที่ 31 ต.ค. 64 ทั้งนี้ คณะกรรมการบริหารของ IPU จะได้จัดทำข้อเสนอแนะเสนอต่อคณะมนตรีบริหารที่จะมีการประชุมในสัปดาห์หน้าต่อไป 
     
ขณะเดียวกัน นางพิกุลแก้ว ได้กล่าวขอบคุณเลขาธิการ IPU ถึงความเข้าใจสถานการณ์ทางการเมืองของไทย เนื่องจากที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ถอดไทยออกจากกลุ่มประเทศที่เผชิญกับวิกฤตทางการเมืองที่ IPU มีข้อห่วงกังวล เพราะปัจจุบันไทยไม่เข้าข่ายวิกฤตการณ์การเมืองเหมือนในหลายประเทศ พร้อมกันนี้ นางพิกุลแก้ว ระบุต่อที่ประชุมว่าการจัดให้ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มประเทศดังกล่าว จะทำให้ประชาคมโลกได้รับภาพลักษณ์ไทยที่ผิดเพี้ยนคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง รวมถึงขณะนี้สมาชิกรัฐสภาของไทยหลายคนทำงานอย่างแข็งขันในคณะกรรมาธิการชุดต่าง ๆ ของ IPU ตลอดจนสัปดาห์หน้า รัฐสภาไทยจะเปิดสมัยประชุมสามัญเพื่อพิจารณางบประมาณประจำปี 2565 ซึ่งสะท้อนว่ารัฐสภาไทยยังคงทำงานได้ตามปกติ 

'พิธา' นำเสนอแนวคิดสู่ร่างข้อมติในการออกกฎหมายทั่วโลกรับมือการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์

พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (The IPU Standing Committee on Democracy and Human Rights)
พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (The IPU Standing Committee on Democracy and Human Rights)

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ในฐานะผู้แทนรัฐสภาไทยในการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญสหภาพรัฐสภาว่าด้วยประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน (The IPU Standing Committee on Democracy and Human Rights) กล่าวอภิปรายในการประชุมดังกล่าวซึ่งจัดขึ้นระหว่างการประชุมสมัชชาของ IPU ครั้งที่ 142 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยนำเสนอแนวคิดหลักที่จะเป็นแกนของร่างข้อมติว่าด้วยเรื่องการออกกฎหมายทั่วโลกเพื่อรับมือการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์ (Legislation Worldwide to Combat Online Sexual Child Exploitation) ซึ่งไทย เนเธอร์แลนด์ และเคนยา นำเสนอแนวคิดหลักเรื่องดังกล่าวและรวบรวมข้อมูล ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญจากองค์กร ECPAT ผู้แทนพิเศษของสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก รวมถึงข้อมูลและข้อคิดเห็นจากประเทศสมาชิก โดย นายพิธา ระบุว่า จากการรับฟังคำปรึกษาและข้อเสนอจากหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาสังคมของไทย รวมถึงองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องพบว่า สถานการณ์การแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศจากเด็กในยุคปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปมากมีความซับซ้อน ทำให้ยากลำบากในการติดตาม จับกุม และดำเนินคดีตามกฎหมาย ทั้งเรื่องการเสนอผลตอบแทนที่เปลี่ยนจากเงินสดเป็นสกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ จากการบีบบังคับไปสู่ความสมัครใจ และการเผยแพร่ผ่านช่องทางที่เปิดเผยไปสู่การเผยแพร่ผ่านช่องทางลับ ซึ่งล้วนเป็นผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีที่รวดเร็วในโลกออนไลน์ ดังนั้น จึงจำเป็นที่ฝ่ายนิติบัญญัติจะต้องเร่งสร้างความร่วมมือใน 3 มิติ ได้แก่ การป้องกัน การบังคับใช้กฎหมาย และการบำบัดรักษา ด้วยความร่วมมือทั้งระดับชาติ ระดับภูมิภาค และระดับโลก
     
นายพิธา กล่าวว่าการแก้ปัญหาดังกล่าวยังมีช่องว่างและความแตกต่างในแง่ของความสามารถในการจัดการปัญหา ช่องว่างทางกฎหมาย รวมทั้งข้อจำกัดที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ ดังนั้น รัฐสภาจะมีบทบาทช่วยผลักดันประเด็นปัญหาดังกล่าวให้เกิดความร่วมมือทั้งในประเทศและระหว่างประเทศที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น ด้วยการให้การสนับสนุนในสร้างความตระหนักรู้ การมีส่วนร่วมในการกำกับตรวจสอบการดำเนินนโยบายของภาครัฐ และการสนับสนุนแนวทางการพัฒนาโดยมีเด็กเป็นศูนย์กลาง การดำเนินการตามมาตรการทางกฎหมาย อาทิ การปรับแก้ไขหรือออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของบริษัทผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เข้ามามีส่วนรับผิดชอบต่อปัญหา และการพิจารณาสนับสนุนด้านงบประมาณเพื่ออำนวยความสะดวกให้การดำเนินการด้านต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น อาทิ การบังคับใช้กฎหมาย การวิเคราะห์ข้อมูล Big Data รวมทั้งเครื่องมือทางอิเล็กทรอนิกส์อื่นที่เกี่ยวข้อง 
     
สำหรับแนวคิดหลักต่อร่างรายงานดังกล่าวที่ไทยนำเสนอนั้น นายพิธา มีนัดประชุมร่วมกับผู้ร่วมเสนอรายงานของเนเธอร์แลนด์ และเคนยา อีกครั้ง เพื่อกำหนดกรอบและแนวทางการไปสู่การยกร่างข้อมติให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ค. นี้ ก่อนนำเสนอให้ที่ประชุมสมัชชา IPU ครั้งที่ 143 ณ กรุงคิกาลี ประเทศรวันดา พิจารณาและให้การรับรอง ในเดือน พ.ย. 2564 


ที่มาเรียบเรียงจาก เว็บไซต์สถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา [1] [2]
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net