ไอลอว์ เปิดรายงาน 7 ปี คสช.-7 ปี แห่งความถดถอย

22 พ.ค. 2564 เนื่องในวาระครบรอบ 7 ปี การรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) "ไอลอว์" ซึ่งติดตตามกระบวนการนิติบัญญัติและการบังคับใช้กฎหมายของ คสช. มาตลอด สรุปและเผยแพร่รายงานในหัวข้อ "7 ปี แห่งความถดถอย" โดยเนื้อหาของรายงานพยายามชี้ว่า นับตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 เป็นต้นมา คสช. ได้นำพาประเทศไปสู่ความถดถอย ล้มเหลวทั้งการทำหน้าที่ฝ่ายบริหารที่ต้องดูแลคุณภาพชีวิตประชาชน และล้มเหลวในการทำหน้าที่ฝ่ายนิติบัญญัติที่ต้องทำหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุล

7 ปี แห่งความถดถอย : ประยุทธ์ปัดตกร่างกฎหมายถ่วงความก้าวหน้าและคุณภาพชีวิตประชาชน
7 ปี แห่งความถดถอย : วุฒิสภาของ คสช. ผ่านกฎหมายได้ 11 ฉบับ ปั๊มตรายางให้ พ.ร.ก. 6 ฉบับ

พล.อ.ประยุทธ์ ถ่วงความก้าวหน้าและคุณภาพชีวิตประชาชน

7 ปีที่ผ่านมา พบว่ากฎหมายที่ออกภายใต้ระบอบคสช. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีได้ปัดตกร่างกฎหมายที่เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตประชาชน อย่างน้อย 11 ฉบับ เช่น ร่าง พ.ร.บ.บำนาญแห่งชาติ ที่เสนอให้มีการจัดบำนาญให้กับผู้สูงอายุโดยถ้วนหน้า หรือ ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด ที่กำหนดให้มีกลไกคุ้มครองและแก้ปัญหามลพิษ โดยเฉพาะปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีทั้งฉบับที่ ส.ส. ในสภาเสนอและประชาชนช่วยกันเข้าชื่อเสนอ

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ ยังปัดตกกฎหมายเกี่ยวกับสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง 4 ฉบับ ยกตัวอย่างเช่น ร่าง พ.ร.บ.รับราชการทหาร ที่ต้องการเปลี่ยนระบบเกณฑ์ทหารจากการบังคับไปสู่ระบบสมัครใจ หรือ  ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ที่กำหนดให้ต้องมีช่องทางการเข้าชื่อเสนอกฎหมายผ่านระบบออนไลน์ภายใน 2 ปี เป็นต้น 

ณัชปกร นามเมือง หัวหน้าฝ่ายจับตากระบวนการนิติบัญญัติ กล่าวว่า กฎหมายที่ผ่านออกมาในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ทั้ง 444 ฉบับที่ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และ 17 ฉบับที่ผ่าน ส.ส. และ ส.ว. ชุดนี้ มีลักษณะเป็นการออกกฎหมายเพื่อส่งเสริมความเป็นรัฐราชการ รวมถึงจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ในขณะที่กฎหมายส่งเสริมความก้าวหน้าและคุณภาพชีวิตของประชาชนกลับไม่ได้รับความสนใจนัก ซึ่งแสดงให้เห็นความถดถอยของประเทศที่ผู้นำขาดวิสัยทัศน์ในการแก้ปัญหาคุณภาพชีวิตประชาชน

ส.ว.แต่งตั้ง ถ่วงการตรวจสอบ-ถ่วงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

บทบาทของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่มาจากการคัดเลือกของ คสช. ก็ทำหน้าที่เป็น "สภาตรางยาง" คล้ายกับ สนช. ผลการลงมติออกกฎหมายมีลักษณะไปทางเดียวกันไม่ค่อยมีเสียงแตกแถว ในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.ที่แล้วเสร็จไป 11 ฉบับ มี 8 ฉบับ ที่ผ่านการเห็นชอบของ ส.ว.  ในวาระสาม โดยไม่มีเสียงคัดค้านเลย และ ส่วนการอนุมติพระราชกำหนดให้รัฐบาลทั้ง 6 ฉบับ ก็ไม่มีเสียงแตกแถวเลย 

อีกหนึ่งบทบาทของ ส.ว. แต่งตั้ง คือ การร่วมพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 เปิดช่องให้ ส.ว. ร่วมพิจารณากฎหมายกับ ส.ส. ได้ถ้าเป็นกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิรูป และด้วยช่องทางนี้ จึงทำให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เปรียบมาก เพราะมีเสียงสนับสนุนจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล และทำให้เสียง ส.ว. ที่มาจากการคัดเลือกของตัวเองเข้ามาเพิ่ม ทำให้กุมอำนาจในการตรากฎหมายได้ ยกตัวอย่าง ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ ส.ว. เข้ามามีบทบาทต่อเนื้อหากฎหมายอย่างมาก

อีกหนึ่งบทบาทของ ส.ว.แต่งตั้ง  คือ การวางฐานอำนาจองค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยในยุคเผด็จการ คสช. ได้ใช้ สนช. พิจารณาเห็นชอบบุคคลให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ไปจำนวน 34 คน รวมทั้ง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แต่พอมายุคของ ส.ว. ที่จากการแต่งตั้งโดย คสช. ก็ทำหน้าที่เช่นเดียวกัน และพิจารณาให้ความเห็นชอบไปแล้วทั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ, คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), อัยการสูงสุด, ตุลาการศาลปกครองสูงสุด

ในการบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ต้องอาศัยเสียงของ ส.ว. ก็พบว่า ส.ว. ได้จับมือกับ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐในการยื้อแก้รัฐธรรมนูญ ผ่านการขอตั้ง "กมธ.ศึกษาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ" รวมถึงการที่ ส.ว. ออกมาเคลื่อนไหวร่วมกับ ส.ส. เพื่อขอให้ยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่า รัฐสภาอำนาจในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ และเมื่อถึงเวลาลงมติวาระที่ 1 ส.ว. ที่ยอมรับหลักการร่างที่เสนอโดยพรรคเพื่อไทยก็มีแค่ 126 จาก 245 คน และในวาระที่สาม ก็มี ส.ว. เห็นชอบเพียง 2 คน งดออกเสียง 84 คน ไม่ประสงค์ลงคะแนน 127 คน และเสียงที่ "ไม่เห็นชอบ" 4 เสียงก็เป็น ส.ว. ทั้งหมด

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ iLaw กล่าวว่าจากผลงานที่ผ่านมาสองปีเต็มก็เห็นได้ชัดว่า บทบาทของ ส.ว. ชุดพิเศษนี้มีขึ้นเพื่อการรับรองการใช้อำนาจของรัฐบาลมากกว่าการเข้าไปตรวจสอบถ่วงดุล ไม่ต่างจากการทำงานของ สนช. เปรียบเสมือนเหล้าเก่าในขวดใหม่ของคสช. เพียงแต่ทำงานได้ช้ากว่า ออกกฎหมายได้น้อยกว่ามาก เพราะต้องรอกฎหมายผ่านจาก ส.ส. มาก่อน ทำให้ระบบรัฐสภาของประเทศถดถอยไปมาก ประชาชนไม่อาจมีความหวังใดๆ ได้ว่า องค์กรที่รับเงินเดือนจากภาษีประชาชนมากมายเหล่านี้จะเป็นตัวแทน หรือเป็นปากเป็นเสียงแทนประชาชนได้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท