Skip to main content
sharethis

ไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 3,052 คน มีผู้เสียชีวิตอีก 24 คน และหายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 2,900 คน - โฆษก ศบค.เปิดคลัสเตอร์เฝ้าระวัง 28 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ แบ่งเป็น เฝ้าระวังสูงสุด 20 คลัสเตอร์ กลุ่มเฝ้าระวัง 2 คลัสเตอร์ และกลุ่มพบใหม่ 6 คลัสเตอร์ โดยเป็นแคมป์ก่อสร้าง ใน 5 เขตกรุงเทพฯ พร้อมจับตาคลัสเตอร์ตลาดบางกะปิ ล่าสุด ติด COVID-19 แล้ว 137 คน

22 พ.ค. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานจำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเพิ่ม 3,052 คน จำแนกเป็นติดเชื้อใหม่ 2,447 คน และติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 605 คน รวมผู้ป่วยสะสมระลอก เม.ย. 97,255 คน และส่งผลให้มีผู้ป่วยสะสมตั้งแต่เริ่มพบการแพร่ระบาด 126,118 คน

นอกจากนี้ยังมีผู้เสียชีวิตอีก 24 คน รวมผู้เสียชีวิตสะสมระลอกใหม่ 665 คน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตตั้งแต่เริ่มพบการแพร่ระบาดสะสม 759 คน ขณะเดียวกันมีผู้ที่หายป่วยกลับบ้านเพิ่ม 2,900 คน รวมหายป่วยสะสมระลอกใหม่ 54,978 คน ทำให้ยอดผู้ที่หายป่วยสะสมตั้งแต่เริ่มพบการแพร่ระบาดเพิ่มเป็น 82,404 คน

ขณะที่เว็บไซต์ worldometers รายงานสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ทั่วโลก ล่าสุดเมื่อเวลา 08.43 น. มีผู้ติดเชื้อสะสม 166,458,272 คน เสียชีวิตสะสม 3,457,105 คน และหายป่วยสะสม 147,219,500 คน

โฆษก ศบค.เปิดคลัสเตอร์เฝ้าระวัง 28 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ แบ่งเป็น เฝ้าระวังสูงสุด 20 คลัสเตอร์

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์ COVID19 ในกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า แนวโน้มผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตัวเลขติดเชื้อเพิ่ม 1,191 คน แบ่งเป็นจากระบบเฝ้าระวังและจากโรงพยาบาล คนไทย 702 คน และแรงงานข้ามชาติ 189 คน และจากการค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุกในชุมชน ไทย 113 คน และแรงงานข้ามชาติ 187 คน

“ทิศทางกราฟผู้ติดเชื้อในกรุงเทพฯ ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อยู่ในภาวะที่ไม่น่าไว้วางใจ ขอให้ทุกคนตื่นตัวและไม่ตื่นตระหนก”

สำหรับการติดตามสถานการณ์ระบาดเป็นคลัสเตอร์ ล่าสุด เมื่อวานมีคลัสเตอร์ในกรุงเทพฯ 30 คลัสเตอร์ โดยการแพร่ระบาดกระจายไปใน 24 เขต จาก 50 เขต กทม. ควบคุมได้แล้ว 9 คลัสเตอร์ โดยควบคุมได้เพิ่มขึ้นมา 2 คัลสเตอร์ คือ บริษัทประกันแห่งหนึ่ง เขตลาดพร้าว และชุมชนแห่งหนึ่ง เขตป้อมปราบศัตรูพ่าย 

จับตาตลาดบางกะปิติดโควิดรวม 137 คน

ส่วนการตรวจหาเชื้อในจุดตรวจ 6 แห่ง ตรวจหาเชื้อแล้ว 4,608 คน ผลพบติดเชื้อ 268 คน คิดเป็น 5.75% ที่น่าจับตา คือ ตลาดบางกะปิ ตรวจแล้ว 845 คน ติดเชื้อ 137 คน คิดเป็น 16.21% ขอประชาชนที่อยู่รอบข้างตลาดบางกะปิให้ความร่วมมือเข้าตรวจหาเชื้อและป้องกันตนเองด้วย

นอกจากนี้ นพ.ทวีศิลป์ ยังได้เปิดเผยคลัสเตอร์เฝ้าระวัง 28 แห่งในพื้นที่กรุงเทพฯ แบ่งเป็น เฝ้าระวังสูงสุด 20 คลัสเตอร์ กลุ่มเฝ้าระวัง 2 คลัสเตอร์ และกลุ่มพบใหม่ 6 คลัสเตอร์ ซึ่งที่พบใหม่เป็นแคมป์ก่อสร้างเกือบทั้งหมด จึงขอความร่วมมือประชาชนทั้งคนไทยและแรงงานข้ามชาติให้แสดงตัวกับเจ้าหน้าที่ หากสงสัยอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงแล้วต้องการตรวจสามารถแจ้งหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่อยู่ใกล้เคียง

“กลุ่มผู้ประกอบการ ขอความร่วมมือนำลูกจ้างไปตรวจหาเชื้อ หรือประสานกับกรมควบคุมโรค ขอให้มั่นใจว่า 100% ของทุกคนในประเทศไทยจะได้รับการดูแลอย่างแน่นอน”

เผยวัคซีน 6 ล.โดส ฉีดแล้ว 2.7 ล.โดส ยอมรับสถานการณ์แพร่เชื้อไม่น่าไว้ใจ

ส่วนความคืบหน้าการฉีดวัคซีน นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่าวัคซีนเข้ามายังไทยตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ.-20 พ.ค. 2564 จำนวน 6 ล้านโดส แต่มีการกระจายลงพื้นที่จริง ๆ 3.6 ล้านโดส ซึ่งมีการฉีดไปแล้ว 2.7 ล้านโดส โดย 4 แสนโดส อยู่ระหว่างการจัดส่งลงพื้นที่ และอีก 2 ล้านโดส กำลังอยู่ระหว่างการตรวจคุณภาพการผลิต โดยขอความร่วมมือประชาชนเข้าไปศูนย์บริการฉีดวัคซีนแต่ละจังหวัด โดยขณะนี้ สสจ. จังหวัดกำลังทำกระบวนการฉีดวัคซีนอยู่

'หมอชลน่าน' จวก 'ประยุทธ์-ฝ่ายความมั่นคง' บริหารล้มเหลวซ้ำรอย ปล่อยสายพันธุ์อินเดียเข้าไทย

นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการที่โควิด “สายพันธุ์อินเดีย” แพร่ระบาดในแคมป์ก่อสร้างในกรุงเทพฯว่า แน่นอนว่ามีการตรวจพบคนงานติดเชื้อสายพันธุ์อินเดีย แสดงว่าเชื้อต้องนำเข้ามาจากประเทศอินเดีย หรือทางประเทศพม่า

โดยสันนิษฐานว่ามาจากแรงงานต่างด้าวหรือแรงงานข้ามชาติ ลักลอบเข้ามาใช่หรือไม่ ซึ่งสะท้อนให้เห็นภาพเดิมๆ ในระลอกแรก และระลอก 2 ภายใต้การบริหารจัดการของ ศบค.ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ในฐานะ ผอ.ศบค. ที่ปล่อยปละละเลย ไม่มีมาตรการป้องกันถือว่าไม่มีจิตสำนึกที่จะดูแลบ้านเมือง แต่มุ่งแต่ผลประโยชน์ใช่หรือไม่

“การทำงานของ ศบค.ได้นำฝ่ายความมั่นคงมาบริหารทางด้านแพทย์ ก็ถือว่าล้มเหลว แต่นายกฯกลับไม่บริหารด้านความมั่นคงซึ่งเป็นหน้าที่หลักของตัวเองในการป้องกัน อาทิ การลักลอบแรงงานเข้าเมือง การขนแรงงานต่างด้าวเข้ามา กลับปล่อยปละละเลย เพราะเรื่องผลประโยชน์เหมือนการระบาดรอบ 2 ที่ปล่อยให้แรงงานเข้ามาโดยไม่มีการกักกันควบคุม โดยมีการแลกค่าหัวคิว แลกค่าใช้จ่าย ใช่หรือไม่ แล้วตอนนี้มาแพร่เชื้อให้คนงานไทย และชุมชนรอบข้างอีก สรุปแล้วแก้ปัญหาไม่ได้เลย เสียหมด”

นพ.ชลน่านกล่าวต่อว่า เบื้องต้นขอเรียกร้องให้นายกฯ ทำความจริงให้ปรากฏชัดเจนว่าสายพันธุ์อินเดียแพร่ระบาด และเข้ามาในประเทศได้อย่างไร เพื่อหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต รวมถึงปรับเปลี่ยนการทำงานอย่าตามแก้ปัญหา ต้องคิดล่วงหน้าเพื่อป้องกันเป็นหลัก และถ้านายกฯทำไม่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ และคนกลุ่มเดิมที่บริหารประเทศ ต้องพิจารณาตัวเอง อย่ามารับผิดชอบประเทศชาติบ้านเมืองเลย เพราะหากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะพากันไปไม่รอด

'หมอยง' แนะเร่งควบคุม 'โควิดสายพันธุ์อินเดีย' ยืนยันวัคซีนป้องกันได้

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ โพสต์เฟสบุ๊ค ให้ความรู้เรื่องโควิด-19 สายพันธุ์อินเดีย โดยระบุว่า

เป็นข่าวใหญ่ที่พบสายพันธุ์อินเดียระบาดในประเทศไทยก่อนหน้านี้ที่ศูนย์ก็พบสายพันธุ์อินเดีย B.1.167.2 จากผู้เดินทางมาจากอินเดีย 8 คน ในสถานกักกัน ซึ่งจะไม่มีผลต่อการระบาดในประเทศไทย

เมื่อมีการพบสายพันธุ์อินเดีย ในประเทศไทยจึงจำเป็นที่จะต้องควบคุมให้ได้โดยเร็ว ก่อนที่จะสร้างปัญหาใหญ่โตสายพันธุ์ที่ระบาดอย่างรุนแรงในอินเดีย ประกอบไปด้วยสายพันธุ์อินเดียและ เบงกอล

สายพันธุ์อินเดียเป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง และให้ความสำคัญ Variant of Concern (VOC) อีกสายพันธุ์หนึ่ง รวมทั้งสายพันธุ์อังกฤษ เพราะมีการแพร่กระจายได้ง่ายมาก อย่างรวดเร็ว

สายพันธุ์อินเดีย B.1.167 มี 3 กลุ่มย่อย คือ B.1.167.1, B.1.167.2, B.1.167.3 ดังแสดงในรูป แต่สายพันธุ์ที่ระบาดมากในอินเดียและกระจายไปในประเทศต่าง ๆ เป็นจำนวนมากคือสายพันธุ์ B.1.167.2

สายพันธุ์นี้ได้ระบาดไปถึงประเทศอังกฤษ ทำให้ทางอังกฤษต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ พบว่ามีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก เพราะแพร่กระจายได้ง่าย

จากข้อมูลในประเทศอังกฤษ มีการรายงานในข่าว Reuters พบว่าสายพันธุ์นี้แพร่กระจายได้ง่าย แต่ไม่น่าจะหลบหลีกภูมิต้านทานที่เกิดจากวัคซีน (UK increasingly confident COVID-19 vaccines work against Indian variant) โดยเฉพาะที่ใช้ในประเทศอังกฤษ ใช้วัคซีน AstraZeneca ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีการศึกษาในแนวลึก

ถ้าเราดูในหลักวิชาการทางวิทยาศาสตร์ สายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่ายจะมีการกลายพันธุ์ในส่วนของ Spike protein ดังนี้ D614G หรือที่เราเรียกว่าสายพันธุ์ G คือตำแหน่งที่ 614 มีการเปลี่ยนแปลงของกรดอะมิโนจาก Aspartate ไปเป็น Glycine ทำให้สายพันธุ์นี้ครองโลกอยู่ขณะนี้ ตำแหน่ง N501Y มีการเปลี่ยนแปลงจาก Asparagine ไปเป็น tyrosine และทำให้จับกลับตัวรับบนผิวเซลล์ได้ดีขึ้น พบในสายพันธุ์อังกฤษ ที่ทำให้แพร่กระจายได้ง่ายขึ้น

ที่สำคัญอีกตำแหน่งหนึ่งคือตำแหน่ง 681 ในตำแหน่งนี้ทั่วไปกรดอะมิโนจะเป็น Proline จะเป็นตำแหน่งที่เอนไซม์ของร่างกายเราคือ furin ไปตัดแบ่ง spike protein หลังจากไวรัสได้เกาะกับเซลล์เรียบร้อยแล้ว ถ้าสามารถตัดได้ง่ายไวรัสก็จะมุดเข้าสู่เซลล์ได้ง่าย เพราะการเกาะติดและเข้าสู่เซลล์จะต้องมีการตัดส่วนของ Spike protein ให้แยกขาดออกจากกัน (S1 และ S2) เพื่อให้ไวรัสเข้าสู่เซลล์ ถ้ายิ่งตัดง่ายก็เข้าสู่เซลล์ได้ง่าย เกิดการติดเชื้อได้ง่าย โดยเฉพาะถ้าเปลี่ยนเป็น กรดอะมิโนที่เป็นด่าง

จะเห็นว่าสายพันธุ์อินเดียต่างจากสายพันธุ์อื่นคือเป็น 681R ในตำแหน่งนี้เป็น Arginine ซึ่งมีคุณสมบัติเป็นด่าง ทำให้เอนไซม์ Furin ตัดได้ง่ายขึ้นและ ง่ายที่จะเข้าสู่เซลล์หรือการติดเชื้อนั้นเอง

การเปลี่ยนแปลงที่จะหลบหลีกระบบภูมิต้านทานส่วนใหญ่ จะให้ความสำคัญอยู่ในตำแหน่งที่ 484 วัคซีนส่วนใหญ่ที่ทำมาจะเป็นสายพันธุ์ ในตำแหน่งนี้คือกรดอะมิโน Glutamic (E) แต่ถ้าเปลี่ยนไปเป็น K หรือ Lysine อย่างเช่นในสายพันธุ์แอฟริกาใต้ จะทำให้หลบหลีกระบบภูมิต้านทานที่จะทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง

เมื่อดูสายพันธุ์อินเดีย (B.1.167.2) ในตำแหน่งนี้ยังเป็น E ดังนั้นด้วยเหตุผลทาง วิทยาศาสตร์วัคซีนที่ใช้อยู่น่าจะมีประสิทธิผลในการป้องกันได้ เช่นเดียวกันกับที่มีการพูดในอังกฤษผ่านสำนักข่าวออกมา การแพร่กระจายได้ง่ายนี้เองทำให้ทั่วโลก จึงให้ความสำคัญและคำนึงถึงสายพันธุ์อินเดียมีการพยายามป้องกันอย่างเต็มที่ไม่ให้เกิดการระบาดในประเทศของตัวเอง แต่ต้องยอมรับว่าการป้องกันสิ่งที่มองไม่เห็น สามารถทำได้ยาก ถ้าขาดระเบียบวินัย

โดยสรุปสายพันธุ์อินเดีย B.1.167.2 จะแพร่กระจายได้ง่าย จะง่ายเท่าสายพันธุ์อังกฤษหรือมากกว่าสายพันธุ์อังกฤษ ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจน แต่สายพันธุ์นี้ตามหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ วัคซีนที่เราใช้อยู่นี้ น่าจะป้องกันได้

นักวิทยาศาสตร์รายงานผลการตรวจสอบพบ สายพันธุ์แอฟริกาใต้ ที่ อ.ตากใบ จ.นราธิวาส

กวิจัยหลากหลายสถาบัน ซึ่งรวมตัวเป็นกลุ่ม COVID-19 Network Investigations หรือ CONI เพื่อหยุดยั้งการระบาดของโควิด-19 ด้วยข้อมูลระดับจีโนม เผยแพร่รายงานสำหรับประชาคมวิทยาศาสตร์ เรื่อง การระบาดในประเทศของเชื้อ สายตระกูล B.1.351 (20H/501Y.V2) ณ วันที่ 22 พ.ค. 2564 ระบุว่า

ปัจจุบันประเทศไทยมีการระบาดในประเทศของเชื้อโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) สายตระกูล B.1.351 (20H/501Y.V2) หรือที่มักเรียกกันในสื่อว่าเชื้อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ ทางกลุ่มพันธมิตร COVID-19 Network Investigations (CONI) ได้รับการประสานจากทางกระทรวงสาธารณสุขให้ร่วมสืบสวนคลัสเตอร์ที่อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส โดยได้รับข้อมูลว่าอาจเป็นคลัสเตอร์ติดเชื้อต่อเนื่องในประเทศไทย จากผู้ลักลอบเข้าเมือง

จากการถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนมพบว่าเป็นเชื้อสายตระกูล B.1351 ทางกลุ่มฯ ได้ส่งต่อข้อมูลทั้งหมดให้กับหน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขในระดับภูมิภาคและระดับชาติเพื่อสื่อสารกับประชาชนต่อไป

ทั้งนี้ ทางกลุ่มขอสื่อสารข้อมูลชุดนี้ให้ประชาคมวิทยาศาสตร์เพื่อร่วมกัน ติดตาม เฝ้าระวัง และพัฒนาวิธีป้องกันรักษาโรค

1.ตัวอย่างชุดนี้จัดเก็บโดยทางกระทรวงสาธารณสุข เมื่อวันที่ 13 พ.ค.2564 ทางกลุ่มฯ ได้รับตัวอย่างเมื่อวันที่ 17 พ.ค.2564 และคัดเลือกมาสามตัวอย่าง เพื่อถอดรหัสพันธุกรรมระดับจีโนม โดยตำแหน่งที่ถอดได้มีลำดับการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมตรงกับสายตระกูล B.1.351 ตามระบบ PANGO

2.การถอดรหัสใช้วิธี MinION ของ Oxford Nanopore Technologies โดยมาจากวิธี amplicon sequencing ของ ARTIC Network ผ่านการวิเคราะห์โดย workflow ของ COG-UK และระบบ QC ของกลุ่ม ด้วยทรัพยากร Supercomputer จาก ThaiSC TARA

3.Genomic Coverage ของสามตัวอย่างอยู่ที่ 85.01%, 90.11% และ 84.93% ตามลำดับ

ปกติวิธีที่ใช้จะได้ coverage ประมาณ 95-98% แต่ตัวอย่างน่าจะมีการเสื่อมสลายระหว่างขนส่ง เพราะวิธีการอื่นที่ใช้วิเคราะห์ตัวอย่างนี้ก็มีปัญหาคล้ายคลึงกัน อย่างไรก็ดี ตำแหน่งที่ได้เพียงพอต่อการกำหนดสายตระกูล ทางทีมถอดรหัสจะใช้วิธีการ illumine เพื่อเพิ่ม coverage ของตัวอย่างชุดนี้ต่อไป

4.ทางกลุ่มจะนำข้อมูล BKKCOVID721 ที่ได้เข้าสู่ระบบ GISAID และจะรวมเจ้าไปใน Nextstrain build รอบถัดไป พร้อมทั้งติดตามต้นตอการระบาดด้วยวิธี Maximum-likelihood และ Bayesian analyses

โดยปกติทางกลุ่มจะนำเสนอข้อมูลให้กระทรวงสาธารณสุขและนำข้อมูลเข้ GISAI โดยตรง แต่เนื่องจากข้อมูลชุดนี้มีความสำคัญ ทางกลุ่มจึงนำมาแสดงต่อประชาคมวิทยาศาตร์ทันที

5.เชื้อสายตระกูล B.1.351 มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งที่คาดว่ามีผลกระทบต่อการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์ต่อไวรัส และลดประสิทธิภาพการทำงานของวัคซีน แต่มิได้แปลว่าวัคซีนจะใช้ไม่ได้ เพียงแต่ต้องเพิ่มอัตราส่วนประชากรผู้ได้รับวัคซีนให้สูงขึ้นเพื่อเกิดการป้องกันระดับประชากร

ทางกลุ่ม CONI ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ที่สังกัดสถาบันในไทยและต่างประเทศ ทางกลุ่มทำการถอดรหัสโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายเพื่อช่วยหน่วยงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขสืบสวนโรคและติดตามการระบาดในระดับประชากร

สำหรับข้อมูลดังกล่าวจัดเตรียมโดยนักวิทยาศาสตร์ 9 คน ซึ่งตอนท้ายเอกสารระบุว่า ความเห็นประกอบข้อมูลดังกล่าวมิใช่ของต้นสังกัด

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] | Voice online | มติชนออนไลน์ | ประชาชาติธุรกิจ


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net