Skip to main content
sharethis

เตงโซ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) ที่ได้รับการแต่งตั้งจากกองทัพพม่า กล่าวในที่ประชุม UEC เมื่อวันที่ 21 พ.ค. 64 จ่อ ดำเนินคดีกับพรรค NLD และอองซานซูจี ข้อหาโกงเลือกตั้ง

ภาพอองซานซูจี หัวหน้าพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ขณะนี้ยังอยู่ในการควบคุมของกองทัพพม่านับตั้งแต่กองทัพพม่าทำรัฐประหาร เมื่อ 1 ก.พ. 64
 

22 พ.ค. 64 สำนักข่าว Myanmar Now และ อิระวดี รายงานเมื่อ 21 พ.ค. 64 ระบุว่า เตงโซ อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญแห่งกองทัพพม่า และรองหัวหน้าผู้พิพากษาศาลสูงสุดพม่า ผู้ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) คนล่าสุดโดยกองทัพพม่า กล่าวในที่ประชุม UEC ว่า คณะกรรมการฯ กำลังพิจารณารายชื่อผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง ซึ่งจะมีข้อสรุปเร็วๆ นี้ หลังจากนี้ UEC มีแผนจะดำเนินคดีกับพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ฐานทุจริตการเลือกตั้งทั่วไป ปี พ.ศ. 2563 

กรมพระธรรมนูญแห่งกองทัพ หมายความถึงกรมฯ ที่ดูแลเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับกองทัพ รวมถึงกระบวนการยุติธรรมของทหาร 

“เราจะทำอะไรกับพรรค NLD ซึ่งวางแผนร่วมกันละเมิดกฎหมาย (เพื่อให้ชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อเดือน พ.ย. 63)? พรรคควรถูกยุบ? ดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดข้อหา ‘ทรยศต่อประเทศ’?” เตงโซ กล่าวในที่ประชุมในกรุงเนปยีดอ 

เขากล่าวหาว่า รัฐบาล NLD จงใจเพิ่มคะแนนเสียงให้พรรคตัวเอง โดยให้ชาวพม่าที่ไม่มีบัตรประชาชนสามารถใช้สิทธิ์เลือกตั้งได้ และใช้การลงคะแนนเสียงล่วงหน้า เพื่อประโยชน์ของพรรคตัวเอง นอกจากนี้ อดีตผู้พิพากษาคนนี้เชื่ออีกว่า การทุจริตทั้งหมดของพรรค NLD มีเจตนาเพื่อก่อตั้งรัฐบาลพรรคเดียวอีกด้วย  

“จะมีการดำเนินการทางกฎหมายกับพรรค NLD เร็ว ๆ นี้” เตงโซ กล่าวเพิ่ม แต่ไม่ได้ระบุเวลาว่าเมื่อใด

นอกจากนี้ เตงโซ ยังไต่ถามตัวแทนพรรคการเมืองที่เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 64 ว่า หากมีพรรคไหนมีประสบหรือพบเห็นการทุจริตของ NLD สามารถให้ข้อมูลกับทาง UEC เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไปเป็นหลักฐานเพื่อเอาผิดพรรค NLD ต่อไป 

แม้ว่าคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพ (UEC) ที่แต่งตั้งโดยกองทัพพม่า จะกล่าวหาพรรค NLD ทุจริตเลือกตั้ง แต่เครือข่ายเอเชียเพื่อการเลือกตั้งเสรี (ANFE) ระบุว่า ผลการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าเมื่อเดือน พ.ย. 63 มีความชอบธรรม เนื่องจาก “สะท้อนเจตนารมณ์ส่วนใหญ่ของชาวพม่า” 

ภาพบรรยากาศการเลือกตั้งทั่วไปพม่า เมื่อ พ.ย. 63 (ที่มา www.moi.gov.mm/iprd/news/20228)  
 

การประชุมของ UEC จัดขึ้นเมื่อวันที่ 21 พ.ค.64 ที่กรุงเนปยีดอ นับเป็นการประชุมครั้งที่สอง ตั้งแต่กองทัพแต่งตั้ง UEC ชุดใหม่ขึ้นมา โดยมีพรรคการเมืองเข้าร่วมประชุมทั้งหมด 59 พรรค รวมถึงพรรคพีเพิลปาร์ตี (People’s Party หรือพรรคประชาชน) มี โกโกจี นักกิจกรรมการเมืองเพื่อประชาธิปไตยจากยุค 88 เป็นหัวหน้าพรรค ทั้งนี้ มีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่าพรรคที่เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นพรรคที่พ่ายแพ้การเลือกตั้ง และไม่มีที่นั่งในสภาสหภาพ จากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปีที่แล้วเลยสักที่ 

โกโกจี หัวหน้าพรรคพีเพิลปาร์ตี และแกนนำการประท้วงต้านรัฐประหาร จากยุค 88 รวมถึงผู้นำระดับสูงของพรรคการเมืองต่าง ๆ ร่วมกันขอลาออกจากพรรคต้นสังกัด เพื่อแสดงจุดยืนต่อต้านมติพรรคที่ต้องการเข้าร่วมการประชุมกับ UEC

นอกจากนี้ ยังมีพรรคการเมืองอื่น ๆ ที่ร่วมกันคว่ำบาตรปฏิเสธเข้าร่วมประชุม ได้แก่ สันนิบาตแห่งชาติฉานเพื่อประชาธิปไตย (SNLD) พรรคประชาธิปไตยเพื่อสังคมใหม่ (DPNS) และพรรคชาติพันธุ์ที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ 

หะวหน้าพรรค DPNS กล่าวประณาม และปฏิเสธร่วมงานกับกองทัพพม่า ที่เข่นฆ่าประชาชนไปมากกว่า 800 คน นับตั้งแต่เกิดการลุกฮือประท้วงต้านรัฐประหารขึ้นทั่วประเทศ 

หนึ่งในตัวแทนเข้าร่วมการประชุมกับ UEC ครั้งนี้ มีคนหนึ่งที่น่าสนใจ คือ เอหม่อง เนื่องจากเขาเคยถูกดำเนินคดีในข้อหา ‘ทรยศชาติ’ ซึ่งอาจเป็นข้อหาเดียวกันที่ อองซานซูจี อาจถูกดำเนินคดีเร็ว ๆ นี้

เอหม่อง เป็นนักการเมืองชาติพันธุ์ยะไข่ และหัวหน้าพรรคแนวร่วมอาระกัน นอกจากนี้ เขายังเคยเป็นสมาชิกก่อตั้งพรรคแห่งชาติอาระกัน (ANP) จนกระทั่งลาออกในปี พ.ศ. 2560 

เอหม่อง เคยถูกตัดสินจำคุก 20 ปี จากคดี ‘ทรยศต่อประเทศชาติ’ ในปี พ.ศ. 2562 ก่อนได้รับการนิรโทษกรรมโดยกองทัพพม่าเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา และถูกปล่อยตัวจากเรือนจำในเวลาต่อมา

เขาถูกจับกุมพร้อมกับนักเขียนชาวยะไข่ในเดือน ม.ค. 61 จากกรณีกล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันชุมนุมเฉลิมฉลองปีที่ 233 ของการล่มสลายของอาณาจักรอาระกัน ที่เมืองยะเต๊ะต่อง รัฐอาระกัน  

นอกจากคดีทุจริตเลือกตั้งที่กองทัพพม่าเตรียมเล่นงานพรรค NLD ย้อนไปเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 64 ซอมินทุน โฆษกกองทัพพม่า กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันที่ 15 พ.ค. 64 ระบุว่า จะดำเนินคดีต่อพรรค NLD เพราะทางพรรคสนับสนุนรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) หรือรัฐบาลคู่ขนานซึ่งตั้งขึ้นมาช่วงชิงสิทธิ์การนำประเทศพม่าตอนนี้ และคณะกรรมการผู้แทนสภาแห่งสหภาพ (CRPH) ซึ่งเป็นทั้งสองถูกกองทัพพม่าแปะป้ายว่าเป็น ‘ผู้ก่อการร้าย’ และเป็นองค์กรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 

ภายใต้รัฐธรรมนูญพม่า ฉบับ ค.ศ. 2008 หรือ พ.ศ. 2551 ระบุว่า พรรคการเมืองใดที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับผู้ก่อการร้าย หรือองค์กรนอกกฎหมาย จะถูกยุบพรรค

เตงโซ อดีตหัวหน้า กกต.พม่า จากปี พ.ศ.2553

เรียกว่าเป็นการหวนคืนตำแหน่งหัวหน้าคณะกรรมการการเลือกตั้งแห่งสหภาพของเตงโซ ก่อนหน้านั้น เขาเคยเป็นประธานคณะกรรมการฯ แล้วครั้งหนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2553 สมัยเผด็จการทหาร ตานฉ่วย 

การเลือกตั้งทั่วไปของพม่าในปี พ.ศ. 2553 พรรคสหสามัคคีและการพัฒนา (USDP) ซึ่งเป็นพรรคทหารพม่า ชนะการเลือกตั้งอย่างถล่มทลาย โดยได้ที่นั่งในสภา ประมาณ 80% จากทั้งหมด นับเป็นจำนวนที่มากที่สุดในรอบสองทศวรรษประวัติศาสตร์การเมือง แต่ผลการเลือกครั้งปีนั้นกลับเต็มไปด้วยข้อครหา โดยเฉพาะเรื่องความโปร่งใสในการเลือกตั้งที่ปราศจากอิสระ และยุติธรรม มากกว่านั้น เตงโซ ยังขัดขวางไม่ให้ผู้สังเกตการณ์การเลือกตั้งและสื่อมวลชนจากต่างประเทศมาสำรวจการกระบวนการเลือกตั้งในประเทศพม่าอีกด้วย 

พรรค NLD บอยคอตการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2553 เพื่อคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับปี พ.ศ. 2551 (ค.ศ. 2008) ที่ร่างโดยกองทัพพม่า ในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น ระบุว่า ผู้สมัครเลือกตั้งได้ต้องไม่มีประวัติอาชญากรรม แต่ส่งผลให้ นักกิจกรรมการเมืองมากกว่า 200 คน รวมถึง หัวหน้าพรรค NLD อย่างอองซานซูจี ซึ่งเคยถูกจับกุมจากกรณีทำกิจกรรมทางการเมือง ไม่สามารถลงสมัครเลือกตั้งได้ไปโดยปริยาย  

 

แปลและเรียบเรียงจาก 

Junta-appointed election commission head suggests disbanding NLD, prosecuting leadership as ‘traitors’

Myanmar Junta to Dissolve National League for Democracy
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net