Skip to main content
sharethis

'เพื่อไทย' ห่วง พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้าน เพิ่มแต่หนี้ ไม่แก้ปัญหา - 'อนุสรณ์ ธรรมใจ' เสนอทุ่มงบประมาณด้านสาธารณสุข ลงทุนอุตสาหกรรมยา-วัคซีน ควบคุมการแพร่ระบาดและการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนโดยเร็วที่สุด - โฆษกรัฐบาลแจงความเข้าใจผิด 'ร่างงบฯ ปี 2565-ปมขาดทุนสะสม 1.069 ล้านล้านบาท'

'เพื่อไทย' ห่วง พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้าน เพิ่มแต่หนี้ ไม่แก้ปัญหา - รัฐบาลแจงความเข้าใจผิด 'ร่างงบฯ ปี 2565-ปมขาดทุนสะสม 1.069 ล้านล้านบาท'

เว็บไซต์พรรคเพื่อไทย รายงานเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2564 ว่านายไชยา พรหมา ส.ส. หนองบัวลำภู ประธานคณะกรรมาธิการศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณสภาผู้แทนราษฎร รองหัวหน้าพรรค และ คณะทำงานเศรษฐกิจพรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นว่า จากการที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการออก พ.ร.ก. เงินกู้อีก 7 แสนล้าน ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเสนอเป็นวาระจร เอกสารลับมากขอบแดง เก็บเอกสารกลับทันทีที่เสนอเสร็จ การดำเนินการครั้งนี้เปรียบเสมือนการ “ลักหลับ” ในขณะที่สภากำลังปิดสมัยประชุม ปราศจากการตรวจสอบจากสภาผู้แทนราษฎร อีกทั้งในวันที่ 31 พ.ค.-2 มิ.ย นี้จะมีการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณปี 2565 ด้วยกรอบวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาท จึงไม่มีความจำเป็นที่จะออก พรก.มาซ้ำซ้อนในขณะที่กำลังจะพิจารณางบประมาณรายจ่ายประจำปี เช่นนี้ ทั้งนี้ เพราะก่อนหน้านี้ กระทรวงการคลัง โดย รมว. คลัง ยืนยันว่า วงเงินกู้ตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านเดิมนั้น ยังมีวงเงินคงเหลือถึง 380,000 ล้านบาท เพียงพอสำหรับการเยียวยาและแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ระลอก 3

ทั้งนี้ แม้รัฐบาลจะอ้างถึงความจำเป็นที่จะต้องกู้เงินเพื่อนำมาแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการฟื้นฟูเศรษฐกิจก็ตาม ตนมีความเห็นว่า การที่รัฐบาลออก พรก.เงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหาโควิด-19 และฟื้นฟูเศรษฐกิจไปก่อนหน้านี้ จำนวน 1 ล้านล้านบาทนั้น ไม่สามารถแก้ปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้ ไม่ว่าจะเรื่องระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะเรื่องการจัดหาวัคซีนให้มีความเพียงพอและทันเวลา ตลอดจนไม่มีวัคซีนทางเลือกให้กับประชาชน หรือแม้กระทั่งการฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจของประเทศให้กลับมาโดยเร็ว

ดังนั้น จึงเป็นห่วงว่า ในสภาวะที่ฐานะการคลังของประเทศมีความเปราะบางเช่นนี้ จะส่งผลต่อหนี้สาธารณะของประเทศเพิ่มสูงขึ้น เป็นภาระให้ประชาชนแบกรับในการใช้หนี้ในอนาคตมากกว่า จากข้อมูลของกระทรวงการคลังมีการประมาณการสถานะทางการคลังของประเทศ ณ วันนี้ (ปีงบประมาณ 2564) เรามีหนี้สาธารณะคงค้างกว่า 9 ล้านล้านบาท เมื่อพิจารณาถึงกรอบการใช้จ่ายเงินงบประมาณใน ปี 2565 ซึ่งเป็นการจัดงบประมาณขาดดุลงบประมาณต่อเนื่องกันมา ไทยต้องกู้เงินเพื่อนำมาชดเชยการขาดดุลงบประมาณทุกปี ในขณะที่ประมาณการจัดเก็บรายได้ต่ำกว่าประมาณการมาโดยตลอดและต้องกู้เงินมาโปะการจัดเก็บรายได้ที่พลาดเป้า

การกู้เงินต่อเนื่องของรัฐบาลส่งผลให้หนี้สาธารณะต่อ GDP พุ่งสูงขึ้นแตะ 60% ซึ่งจะเกินกรอบวินัยการเงินการคลังและกรอบความยั่งยืนทางการคลังของประเทศ จะเป็นอันตรายต่อฐานะทางการคลังของประเทศในอนาคต ดังนั้น การใช้จ่ายเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการต่าง ๆ ที่ผ่านมาของรัฐบาล ถือว่าล้มเหลว ไม่ประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการหยุดยั้งการแพร่ระบาดของไวรัส รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ซึ่งจะเห็นได้จากการอนุมัติโครงการปล่อยกู้เพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้รับการอนุมัติน้อยมาก และยังถูกโยกงบประมาณส่วนนี้ไปในเรื่องของการเยียวยาแทนเป็นส่วนใหญ่ จนนำมาสู่การแพร่ระบาดในรอบที่ 3

ในฐานะที่เป็นประธาน กมธ.ศึกษาการจัดทำและติดตามการบริหารงบประมาณ มีความเห็นว่า การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 ยังไม่มีความเหมาะสม หากรัฐบาลจัดลำดับความสำคัญของการใช้งบประมาณ ลดรายจ่ายในส่วนที่ไม่จำเป็นออกไปก่อน เช่น งบประมาณด้านความมั่งคง ด้านการทหาร เพราะในสถานการณ์ปัจจุบัน ภัยความมั่นคงของประเทศคือภัยจากไวรัสโควิด-19 ที่กำลังระบาด และมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ ดังนั้น การใช้เงินงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง ถ้ารัฐบาลจัดลำดับความสำคัญของปัญหาได้อย่างที่กล่าวมา อาจไม่มีความจำเป็นต้องออก พรก.เงินกู้อีก 7 แสนล้านเลย เพราะจะเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนที่ลูกหลานจะต้องมาชดใช้หนี้คืนด้วยภาษีอากรในวันข้างหน้า

อย่างไรกดี เมื่อรัฐบาลได้ตัดสินใจออก พรก.อีก 7 แสนล้านแล้ว ตนจึงอยากเห็นการใช้เงินกู้ครั้งนี้ พุ่งเป้าไปที่การหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ด้วยการระดมวัคซีนที่ดี มีคุณภาพ ไม่ใช่จำกัดแค่วัคซีนที่รัฐบาลเลือกแล้ว แต่ต้องเป็นวัคซีนที่ประชาชนมีความมั่นใจว่าปลอดภัย อีกทั้งเร่งการฟื้นฟู เยียวยาภาคประชาชน ภาคธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยวให้รีบกลับมาใช้ชีวิตเป็นปกติโดยเร็ว เพราะยิ่งช้าเท่าไหร่ เท่ากับต้นทุนทางด้านเศรษฐกิจและด้านสาธารณะสุขยิ่งเพิ่มสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว

ในสภาวะวิกฤติการณ์ไวรัสซึ่งส่งผลกระทบมาเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจพร้อมกัน การใช้เงินของรัฐบาลจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องรู้จักเรียงลำดับความจำเป็นในการใช้เงินในสภาวะที่การคลังของประเทศเริ่มมีปัญหา รัฐบาลต้องรู้จักลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นเพื่อนำมาใช้กับเรื่องที่จำเป็นมากกว่าก่อน ซึ่งหากพลเอกประยุทธ์ไม่สามารถที่จะแยกแยะเรียงลำดับความสำคัญได้ ก็ไม่ควรจะมาบริหารประเทศอีกต่อไปแล้ว นายไชยา กล่าวในที่สุด

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' เสนอทุ่มงบประมาณด้านสาธารณสุข ลงทุนอุตสาหกรรมยา-วัคซีน ควบคุมการแพร่ระบาดและการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนโดยเร็วที่สุด

ด้านนายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และ อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต เปิดเผยว่า การก่อหนี้สาธารณะและการกู้เงินเพิ่มเติมนั้นมีความจำเป็นในการนำมาใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุข เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเศรษฐกิจ บรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งชดเชยรายได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ควรออกเป็นพระราชกำหนด การออกเป็นพระราชกำหนดจะทำให้การพิจารณาการจัดสรรการใช้เงินกู้ซึ่งเป็นภาระภาษีประชาชนในอนาคตไม่รอบคอบ ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล และ อาจนำมาซึ่งความไม่โปร่งใสและเบี่ยงเบนไปจากยุทธศาสตร์การใช้งบประมาณ ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน ไม่ได้สำคัญต่อประชาชนมากนัก แต่อาจสำคัญต่อกลุ่มผลประโยชน์ทั้งในระบบราชการและนอกระบบราชการที่อยู่แวดล้อมผู้มีอำนาจรัฐ ส่วนกรอบการจัดสรรงบประมาณปี 2565 ที่กำลังเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา ก็มีขนาดของงบประมาณที่ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาวิกฤติในปัจจุบันและอนาคต ไม่มียุทธศาสตร์และแผนงานชัดเจนว่าหลังจากประเทศพ้นจากวิกฤต COVID-19 แล้วจะวางรากฐานประเทศเพื่อก้าวอย่างไรต่อไป สมมติฐานในการจัดทำงบประมาณก็มองโลกในแง่ดีเกินไปว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวและรายได้ภาษีเพิ่มขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้น้อย จึงควรเตรียมการวางแผนก่อหนี้ไว้ล่วงหน้าเลยจะดีกว่าจะได้ไม่ต้องออกเป็น พ.ร.ก. ที่ไม่มีการกลั่นกรองตรวจสอบเช่นที่ผ่านมา 

ส่วนเพดานสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีนั้นก็มั่นใจว่าน่าจะทะลุ 60% แน่นอนในปี พ.ศ. 2565 สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีขณะนี้ก็เกือบจะแตะ 60% ซึ่งเรากำหนดเพดานเอาไว้ หากเศรษฐกิจขยายได้ไม่ถึง 2% ในปีนี้ หนี้สาธารณะจะชนเพดาน หากเศรษฐกิจยังไม่กระเตื้องอีก และ ต้องใช้เงินเพิ่มเติมเพื่อดูแลเศรษฐกิจและเยียวยาความยากลำบากทางเศรษฐกิจต่อไปอีกหลายปี รัฐบาลต้องปฏิรูปโครงสร้างภาษีและเก็บภาษีทรัพย์สินให้ได้มากพอ หรือ ต้องแก้กฎหมายเพื่อขยับเพดานการก่อหนี้ กรณีหลังนี้ รัฐบาลจะหลุดกรอบวินัยทางการเงินการคลังไปแล้วประเทศน่าจะมีความเสี่ยงทางการคลังในอนาคต มีงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์จำนวนมากบ่งชี้ไปในทางเดียวกันว่า การก่อหนี้สาธารณะจำนวนมากและสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่สูงเกินไปมีความสัมพันธ์เชิงลบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาวหรือทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลงนั้นเอง การก่อหนี้สาธารณะจะไม่ทำให้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวก็ต่อเมื่อเป็นการก่อหนี้เพื่อการลงทุนที่นำมาสู่ศักยภาพในการแข่งขันโดยปัจจัยทรัพยากรมนุษย์และการลงทุนในการวิจัยนวัตกรรมสำคัญที่สุด หากการก่อหนี้เป็นเรื่องของรายจ่ายประจำที่ไม่ได้ก่อให้เกิดรายได้ในอนาคตย่อมทำให้การเติบโตลดลงในอนาคตอันเป็นผลจากการต้องจัดสรรเงินจำนวนมากเพื่อชำระหนี้และต้องเก็บภาษีเพิ่มขึ้นในอนาคต 

นายอนุสรณ์ เสนอแนวทางการใช้งบประมาณเพิ่มเติมจากเงินกู้ 7 แสนล้านบาทว่าควรมีแนวทางดังนี้ แนวทางที่หนึ่ง ต้องใช้ตามยุทธศาสตร์ที่วางไว้อย่างเคร่งครัด สามารถแก้ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้าและไม่สร้างภาระในระยะปานกลางหรือระยะยาว และเน้นไปที่โครงการเพื่อการลงทุนต่าง ๆ แนวทางที่สอง ต้องทุ่มเทงบประมาณไปที่บริการทางการแพทย์ การบริการสุขภาพและสาธารณสุข การลงทุนทางด้านอุตสาหกรรมยาและวัคซีน การควบคุมการแพร่ระบาดและการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมประชาชนมากกว่า 70% โดยเร็วที่สุด แนวทางที่สาม ตัดงบประมาณหรือชะลอการใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์และค่าใช้จ่ายทางการทหารทั้งหมด ตัดงบประมาณลับและงบปฏิบัติการทางจิตวิทยาสร้างความแตกแยกในหมู่ประชาชนออกทั้งหมด หรือ ชะลอโครงการก่อสร้างที่ไม่จำเป็นของหน่วยราชการบางแห่ง แนวทางที่สี่ โครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งคมนาคม ระบบสาธารณูปโภค โครงการลงทุนระบบชลประทานและโครงสร้างพื้นฐานระบบอุตสาหกรรมให้เดินหน้าลงทุนอย่างเต็มที่ แนวทางที่ห้า ตัดงบประมาณสนับสนุนหรือชดเชยรัฐวิสาหกิจที่ไม่มีความจำเป็นตามวัตถุประสงค์การก่อตั้งแล้ว เพราะเอกชนสามารถให้บริการได้ดีกว่ามาก รวมทั้งรัฐวิสาหกิจที่บริหารล้มเหลว รั่วไหล มีการทุจริตคอร์รัปชัน เป็นแหล่งหาผลประโยชน์ของผู้อำนาจรัฐและผู้บริหาร และไม่มีประสิทธิภาพ รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ควรถูกแปรรูปเพื่อลดภาระทางการคลังและไม่ควรใช้งบประมาณจากเงินกู้ 7 แสนล้านบาทนี้ แนวทางที่หก งบประมาณที่ใช้ควรเน้นไปที่การสร้างการจ้างงาน การประคับประคองไม่ให้ธุรกิจปิดกิจการเพื่อรักษาการจ้างงานเอาไว้ มากกว่า การแจกเงินชดเชยรายได้ แนวทางที่เจ็ด ต้องจัดสรรงบประมาณจำนวนหนึ่งมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนจนเมือง กลุ่มผู้มีรายได้น้อย แรงงานรายวัน โดยช่วยเหลือทั้งแรงงานชาวไทยและแรงงานต่างด้าว แนวทางที่แปด ไม่ควรใช้มาตรการหรือโครงการภายใต้เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่ใช้แล้วไม่มีประสิทธิผลหรือล้มเหลว ส่วนโครงการหรือมาตรการใดได้ผลควรเพิ่มเติมและขยายผลต่อ โดยรัฐบาลต้องมีระบบประเมินผลการใช้งบประมาณที่ดีและรวดเร็วจึงสามารถดำเนินการได้

รัฐบาลต้องนำ พ.ร.ก.เงินกู้  7 แสนล้านบาทเข้าพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรโดยด่วนพร้อมงบประมาณปี 2565 การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ประชาชนผู้เสียภาษีสบายใจระดับหนึ่งเนื่องจากรัฐบาลได้ก่อหนี้จำนวนมาก ขณะนี้รัฐบาลควรเปิดเผยรายละเอียดมาตรการและโครงการในการใช้งบประมาณจากเงินกู้ 7 แสนล้านบาททันที หากรัฐบาลอ้างว่ายังไม่มีรายละเอียดและยังไม่สามารถเปิดเผยได้ ย่อมแสดงถึงการบริหารจัดการงบประมาณที่ล้มเหลวไม่มีประสิทธิภาพ ไม่มีการวางแผนล่วงหน้า ประชาชนย่อมมีสิทธิจะรู้ว่าเอาเงินของพวกเราไปทำอะไรบ้าง และ เป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องเปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากเวลานี้ มีความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจในวงกว้าง และ ทุกคนในประเทศนี้ต้องการเข้าถึงการรักษาพยาบาล การบริการทางการแพทย์ และ การฉีดวัคซีน รัฐบาลได้ยึดหลักการอะไรในการดำเนินการ การรวบอำนาจและรวมศูนย์ในการตัดสินใจในบางเรื่องนั้นมีความจำเป็นในภาวะวิกฤติ แต่บางเรื่องต้องกระจายอำนาจกระจายการตัดสินใจกระจายงบประมาณจะมีประสิทธิภาพมากกว่า บางเรื่องต้องอาศัยการแทรกแซงและควบคุมโดยรัฐ บางเรื่องต้องใช้กลไกตลาดและกลไกราคา การตัดสินใจในการใช้งบประมาณในโครงการและมาตรการต่างๆต้องอยู่บนผลประโยชน์สาธารณะ ยึดหลักความเป็นธรรม และต้องเรียงลำดับความสำคัญให้ดี หากรัฐบาลอยู่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์และลัทธิพวกพ้อง รวมทั้งไม่ยอมรับฟังความเห็นต่าง เราจะไม่สามารถฝ่าวิกฤติครั้งนี้ไปได้ ความมีเอกภาพของสังคมเป็นปัจจัยพื้นฐานเบื้องต้นการฝ่าวิกฤตครั้งนี้ 

นายอนุสรณ์กล่าวอีกว่าการระบาดระลอกใหม่ในอนาคตอาจเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และโรคระบาดอุบัติใหม่ก็สามารถเกิดขึ้นได้อีก การปฏิรูปการใช้จ่ายงบประมาณทางด้านสาธารณสุขและบริการสุขภาพใหม่มีความจำเป็น การปฏิรูประบบสาธารณสุขและการบริการสุขภาพนี้ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนแปลงเล็กๆน้อยๆ แต่ต้องเปลี่ยนแปลงระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือระบบ 30 บาทรักษาทุกโรคเสียใหม่ เพราะระบบแบบเดิมต้องการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นและตอบสนองต่อสภาวะทางการคลังที่ย่ำแย่ลง ต้องกู้เงินเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเราต้องใช้จ่ายงบประมาณจำนวนมากในการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด COVID-19 

การปฏิรูปนี้ต้องมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณทางด้านสาธารณสุขและการบริการสุขภาพโดยไม่ไปลดความเสมอภาคในการเข้าถึงการใช้บริการ และ สามารถตอบสนองต่อความจำเป็นของประชาชนภายใต้การแพร่ระบาดของ COVID-19 และเชื้อกลายพันธุ์ใหม่ ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นอีกหลายระลอก วิธีการปฏิรูปที่เป็นรูปธรรม คือ การแบ่งแยกผู้ซื้อและผู้ขายบริการสุขภาพออกจากกัน การจ่ายเงินแบบเหมาจ่ายต่อหัว (Capitation) มากขึ้น การกำหนดให้มี GP Budgetholders การ Contracting-out การทำ self-governing hospital เป็นต้น การปฏิรูปแนวทางนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งบประมาณผ่านตลาดภายในของบริการสุขภาพเอง อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดการลดลงของคุณภาพในการให้บริการโดยการกำหนดธรรมาภิบาลในทางคลินิคเพื่อให้ได้คุณภาพที่เป็นมาตรฐาน คุณภาพที่เป็นมาตรฐานหมายถึง รักษาและบริการสุขภาพอย่างถูกต้องให้กับผู้ป่วยที่สมควรได้รับในเวลาที่เหมาะสมและต้องพยายามทำทั้งหมดนี้ให้ได้ในครั้งแรกสำหรับผู้ใช้บริการหรือผู้ป่วย 

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่านอกจากนี้ยังมีตัวอย่างของการปฏิรูปโครงการ Medicaid ในรัฐโอเรกอน สหรัฐอเมริกา ที่ประเทศไทยสามารถนำมาเป็นบทเรียนได้ในการแก้ปัญหาความไม่เพียงพอของงบประมาณ โดยเฉพาะดูแลผู้มีรายได้น้อยและคนที่ไม่มีประกันสุขภาพ ด้วยการทำให้เกิดการรวมกลุ่มของผู้ซื้อประกันสุขภาพเพื่อให้องค์กรของผู้ใช้บริการมีอำนาจในการต่อรองกับผู้ให้บริการโรงพยาบาลเอกชนเพื่อให้ได้ราคาบริการสุขภาพที่เหมาะสม
นายอนุสรณ์ ธรรมใจ ได้อ้างข้อเสนอของนายแพทย์สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ ผู้ผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าว่า หมอสงวนเคยเสนอเรื่องการปฏิรูปการจัดการและระบบการเงินการคลังสำหรับหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเอาไว้ หลายอย่างมีการดำเนินการ มีความคืบหน้า บางอย่างยังไม่เกิดขึ้นและอาจต้องปรับเปลี่ยนจากปัญหาฐานะทางการคลังที่เพิ่มมากขึ้นพร้อมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เริ่มต้นจากการปรับระบบสวัสดิการและการประกันสุขภาพของรัฐทุกระบบให้มีความเป็นเอกภาพ ลดความซ้ำซ้อนของสิทธิประโยชน์ เน้นนโยบายและมาตรการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพิ่มการลงทุนทางด้านสุขภาพสำหรับกลุ่มคนที่ยังไม่มีหลักประกันสุขภาพ การปฏิรูประบบกำลังคนทางการแพทย์และบริการสุขภาพ 

รัฐจำเป็นต้องจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อปิดจุดอ่อนของระบบสาธารณสุขและการบริการสุขภาพไทย ดังนี้ การลดความซ้ำซ้อนการบริหารจัดการสุขภาพในส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น ลงทุนทางด้านระบบข้อมูลสารสนเทศทางด้านสุขภาพทั้งระบบโดยเฉพาะข้อมูลด้านอุปสงค์ ขณะเดียวกัน ก็ต้องพิจารณาถึงความจำเป็นทางด้านการเงินการคลังว่า จะหาเงินและงบประมาณมาจากไหนเนื่องจากรายจ่ายทางด้านสาธารณสุขและบริการสุขภาพเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากสังคมผู้สูงอายุและผลกระทบของโรคระบาด เราจะเก็บภาษีผ่านกรมสรรพากร หรือ เก็บเงินสมทบผ่านสำนักงานประกันสุขภาพ ซึ่งผลของการสนับสนุนทางการเงินอาจแตกต่างกันได้ 

นอกจากนี้การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในโรงงานการผลิต แคมป์คนงานก่อสร้างก็ดี จำนวนมากสะท้อนถึงปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูลที่เป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างผู้ใช้แรงงานในสถานประกอบการ ลูกจ้างหรือแรงงานโดยเฉพาะแรงงานรายวัน อาจปกปิดการติดเชื้อ Covid เพราะเกรงผลกระทบต่อรายได้และการมีงานทำ การป้องกันการติดเชื้อในโรงงาน ในแคมป์คนงาน และในชุมชนแอดัดที่มีแรงงานอิสระรับจ้างรายวันอาศัยจึงล้มเหลว เพราะความด้อยประสิทธิภาพของกลไกของตลาด กลไกตลาดทำงานไม่ปรกติ มีความไม่สมมาตรของข้อมูล (asymmetric Information) จึงเกิดพฤติกรรมเสี่ยงภัยทางศีลธรรม (Moral Hazard) เกิดปัญหาการเลือกรับภัยที่ขัดประโยชน์หรือการเลือกที่ก่อให้เกิดผลเสีย (Adverse Selection) ขึ้นอันเป็นผลจากการล้มเหลวของกลไกตลาด รัฐจึงต้องเข้าแทรกแซงด้วยการประกันรายได้ให้กับแรงงานติดเชื้อและประคับประคองสถานประกอบการที่ต้อง Lockdown เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด 

ระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าควรต้องจัดการความเสี่ยงด้านอุปทานเพิ่มขึ้นโดยจัดสรรงบประมาณให้โรงพยาบาลของรัฐตามความเสี่ยงของประชากรที่ขึ้นทะเบียนกับโรงพยาบาลต่างๆ นั่นคือ ผู้ให้บริการทื่ต้องดูแลประชากรที่มีความเสี่ยงสูงควรจะเหมาจ่ายต่อหัวสูงกว่าผู้ให้บริการหรือโรงพยาบาลที่ดูแลประชากรที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า ไม่ควรกำหนดการเหมาจ่ายแบบคงที่ทั่วทั้งประเทศ และ แนวทางตามที่ผมเสนอนี้ควรจะนำมาใช้ในสถานการณ์ที่โรงพยาบาลต่างๆมีภาระในการดูแลรักษาผู้ป่วย COVID-19 ฉีดวัคซีน และป้องกันการแพร่ระบาดแตกต่างกันด้วย ฉะนั้นงบประมาณต้องจัดสรรไปตามภาระและแผนงานกิจกรรมที่ต้องทำ และ ไม่ควรรวมศูนย์การตัดสินใจเพราะจะทำให้แก้ปัญหาล่าช้าและไม่ทันกาล 

โฆษกรัฐบาลแจงความเข้าใจผิด 'ร่างงบฯ ปี 2565-ปมขาดทุนสะสม 1.069 ล้านล้านบาท'

Voice online รายงานว่า รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยถึงวาระการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของสภาผู้แทนราษฎร ระหว่าง 31 พ.ค. - 2 มิ.ย.ว่า ถือเป็นพื้นที่การทำงานร่วมกันระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ รัฐบาลพร้อมชี้แจงให้ข้อมูลถึงความจำเป็นในการใช้จ่ายงบประมาณปี 2565 และขณะเดียวกัน ส.ส.จะได้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง

หากการใช้เวลาอภิปรายเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับทุกฝ่ายรวมถึงประชาชนด้วย อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากบางกลุ่มเกี่ยวข้องกับ ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ จึงขอชี้แจงดังนี้ 

1) การที่งบประมาณรายจ่ายลงทุนปี 2565 วงเงิน 624,399 ล้านบาท (20.14% ของงบประมาณรายจ่าย) น้อยกว่าการขาดดุลงบประมาณที่ตั้งไว้ 700,000 ล้านบาท ไม่ได้ขัดต่อ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ. 2561 มาตรา 20 วรรคหนึ่ง ตามที่เข้าใจผิดกัน แม้กฎหมายได้กำหนดให้งบประมาณรายจ่ายลงทุน ต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี และต้องไม่น้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปี

อย่างไรก็ตามต้องพิจารณาในวรรคสอง ของมาตรา20 ด้วย ซึ่งกำหนดข้อยกเว้น กรณีที่การตั้งงบประมาณรายจ่ายไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในวรรคหนึ่งได้ ให้รัฐบาลแสดงเหตุผลความจำเป็นและมาตรการในการแก้ไขต่อรัฐสภาพร้อมกับการเสนอร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีด้วย และเพื่อให้เป็นตามที่กฎหมายกำหนด ครม. เมื่อ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา ได้เห็นชอบหลักการมาตรการในการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุนมีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนขาดดุล และจะรายงานให้สภาฯได้ทราบ โดยการเพิ่มแหล่งเงินลงทุนของประเทศ ประกอบด้วย 

1. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP) 

2. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund) 

3. การใช้เงินกู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม โดยให้ความสำคัญกับการลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อวางรากฐานการพัฒนาระบบน้ำ การสร้างคุณภาพชีวิต และการกระจายความเจริญสู่ภูมิภาค การลงทุนเพื่อการให้บริการด้านสาธารณสุข ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการสร้างความเข้มแข็งของประเทศ 

2) ข้อวิจารณ์ว่า กระทรวงกลาโหมได้งบประมาณมากกว่ากระทรวงสาธารณสุข ซึ่งในความเป็นจริง งบประมาณที่เกี่ยวข้องกับทางด้านสาธารณสุขนั้น ยังมีในส่วนของกองทุนการแพทย์ฉุกเฉิน และกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งเมื่อรวมงบประมาณเข้าด้วยกันแล้ว ด้านการสาธารณสุขได้รับการจัดสรรมากกว่ากลาโหม กว่า 9.2 หมื่นล้านบาท

3) ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตัวเลขการรายงานเงินขาดทุนสะสมของธนาคารแห่งประเทศไทย มูลค่า 1.069 ล้านล้านบาท ซึ่งตัวเลขนี้ไม่ใช่หนี้สาธารณะ ตามที่ไปลือกัน โดยธนาคารแห่งประเทศไทยอธิบายว่า รายงานดังกล่าวเป็นการแสดงรายการงบการเงินของ ธปท. และเป็นธุรกรรมที่เกิดจากการทำหน้าที่ปกติของธนาคารฯ ในการดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจ ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติเช่นเดียวกันทั่วโลก ตามนิยามของ IMF ที่กำหนดมาตรฐานการเผยแพร่ข้อมูลเศรษฐกิจการเงินเพื่อการเปรียบเทียบและติดตามการทำนโยบายของประเทศสมาชิก

รัชดา กล่าวด้วยว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด19 ส่งผลให้ประมาณการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และทำให้กรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2565 มีจำนวน 3,100,000 ล้านบาท ลดลงจากงบประมาณปีก่อน ที่กำหนดไว้ 3,285,962.5 ล้านบาท ประเด็นข้อสงสัยจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร รัฐบาลพร้อมชี้แจงข้อมูลถึงความจำเป็นและประโยชน์ของการใช้งบประมาณแผ่นดินในแผนงานและโครงการต่างๆ รวมถึงความสอดคล้องต่อสถาณการณ์ของประเทศ ทุกอย่างต้องเป็นไปอย่างโปร่งใส ประเทศจะได้เดินหน้าบนพื้นฐานความเข้าใจ แม้อาจมีความเห็นต่างกันบ้าง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net