7 ปีรัฐประหาร 'ปิยบุตร' เสนอหยุดวงจรรัฐประหารด้วย 4 ปฏิรูป

เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2564 เนื่องในวาระครบรอบ 7 ปีรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 'ปิยบุตร แสงกนกกุล' เลขาธิการคณะก้าวหน้า ได้เสนอข้อเสนอจัดการปฏิรูป 4 ด้าน ได้แก่ ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ ปฏิรูปกองทัพ และปฏิรูปศาลและองค์กรอิสระ เผยแพร่ในเว็บไซต์คณะก้าวหน้า โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ปฏิรูป 1 : ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์

ในประเทศที่มีกษัตริย์ เมื่อกองทัพก่อรัฐประหาร ก็อาจเลือกล้มสถาบันกษัตริย์หรือเก็บสถาบันกษัตริย์เอาไว้ เหตุใดบางกรณี ผู้ก่อการรัฐประหารจึงเลือกเก็บสถาบันกษัตริย์เอาไว้?

ประสบการณ์รัฐประหารของ Mussolini ในอิตาลี รัฐประหารของ Miguel Primo de Rivera ในสเปน และรัฐประหารของคณะทหารนายพันในกรีซ ช่วยไขคำตอบให้เราได้ว่า สาเหตุที่กองทัพก่อรัฐประหารแล้วยังคงรักษาสถาบันกษัตริย์ไว้นั้น ก็เพราะ กษัตริย์เป็นพันธมิตรกับรัฐประหาร ไม่ว่าสั่งการให้กองทัพรัฐประหาร หรือสนับสนุน เอาใจช่วย หรือไม่คัดค้านรัฐประหาร แต่เมื่อใดที่กษัตริย์ขัดแย้งกับกองทัพ กองทัพก็พร้อมที่จะปลดกษัตริย์ออก

กล่าวสำหรับกรณีประเทศไทยนั้น รัฐประหารแทบทุกครั้งมักใช้ข้ออ้างเกี่ยวกับการปกป้องสถาบันกษัตริย์เสมอ นอกจากนั้น คณะผู้ก่อการรัฐประหารต้องพยายามเข้าเฝ้ากษัตริย์ ต้องมีพระปรมาภิไธยในประกาศแต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหาร หรือต้องมีพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวของคณะรัฐประหาร

วิษณุ เครืองาม เนติบริกรคู่บุญกับรัฐประหาร เคยเขียนไว้ในตำรากฎหมายรัฐธรรมนูญของเขาว่า

“ในประเทศไทยนั้น ถือเป็นประเพณีการเมืองตลอดมาว่า ไม่ว่าจะมีการปฏิวัติหรือรัฐประหารเกิดขึ้นครั้งใด การตรารัฐธรรมนูญขึ้นใช้บังคับใหม่จะต้องถือว่าเป็นความตกลงร่วมกันระหว่างประมุขของรัฐกับคณะผู้ก่อการปฏิวัติหรือรัฐประหารเสมอ ที่เป็นเช่นนี้น่าจะมีเหตุผล 3 ประการ

1. คณะผู้ก่อการปฏิวัติ หรือรัฐประหารต้องการอาศัยพระราชอำนาจทางสังคมของพระมหากษัตริย์ เพื่อที่จะให้ประชาชนรู้สึกและเข้าใจว่าพระมหากษัตริย์ก็ทรงยินยอมด้วยตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว

2. คณะผู้ก่อการปฏิวัติ หรือรัฐประหารต้องการอาศัยพระราชอำนาจทางการเมืองของพระมหากษัตริย์ เพื่อให้นานาประเทศรับรองรัฐบาลใหม่

3. เพื่อแสดงให้เห็นว่าคณะผู้ก่อการได้ถวายพระเกียรติยกย่องและยอมรับพระมหากษัตริย์พระองค์นั้นไม่เสื่อมคลาย และต้องการให้มีสถาบันประมุขเช่นเดิมอยู่ต่อไป”

วิษณุ เครืองาม, กฎหมายรัฐธรรมนูญ, นิติบรรณการ, 2530, หน้า 79.

คณะรัฐประหารในประเทศไทยพยายามหาจุดเกาะเกี่ยวยึดโยงกับกษัตริย์อยู่เสมอ นอกจากข้ออ้างเพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหารแล้ว ยังต้องการให้พระปรมาภิไธยของกษัตริย์เสมือนเป็นจุดชี้ขาดว่ารัฐประหารสำเร็จ fait accompli เรียบร้อยแล้ว

หากตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันกษัตริย์สอดคล้องกับประชาธิปไตย

หากสถาบันกษัตริย์ไม่มีอำนาจและบทบาท ทั้งตามกฎหมายและตามประเพณีมากจนเกินขอบเขตของระบอบ Constitutional-Parliamentary Monarchy

หากไม่มีประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ที่ถูกใช้และตีความจนไม่มีมาตรฐานและคาดหมายไม่ได้ว่าการแสดงออกแบบใดถือว่ามีความผิดเช่นทุกวันนี้

คณะรัฐประหารย่อมไม่มีวันอ้างถึงสถาบันกษัตริย์เพื่อก่อรัฐประหารได้

เมื่ออ้าง คนย่อมไม่เชื่อ

เมื่ออ้าง สถาบันกษัตริย์ย่อมไม่ยินยอมให้อ้าง

เมื่อกองทัพก่อรัฐประหาร กษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ จอมทัพ และผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ต้องต่อต้านรัฐประหารอย่างแน่นอน  

ดังนั้น ถ้าต้องการยุติวงจรรัฐประหาร จึงจำเป็นต้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ดังนี้

หนึ่ง กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้กษัตริย์มีหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญ และกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ปฏิญาณตนว่าจะเคารพและพิทักษ์รัฐธรรมนูญก่อนเข้ารับตำแหน่งกษัตริย์

การกำหนดไว้เช่นนี้ ย่อมเป็นสัญลักษณ์ชัดเจนว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บ้านเมืองปกครองตามรัฐธรรมนูญ แม้แต่กษัตริย์ซึ่งเป็นประมุขของรัฐยังต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ การปฏิญาณตนว่าจะเคารพรัฐธรรมนูญ แสดงให้เห็นถึงการอยู่ใต้รัฐธรรมนูญของกษัตริย์

ในกรณีที่กองทัพก่อรัฐประหาร ต้องการฉีกรัฐธรรมนูญ ก็ต้องพึงสังวรณ์ว่า กษัตริย์ผู้เป็นประมุขของประเทศ ยังต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ การที่คณะรัฐประหารฉีกรัฐธรรมนูญ แล้วยังไปเข้าเฝ้าฯเพื่อขอให้กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยแต่งตั้งหัวหน้าคณะรัฐประหารหรือลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังรัฐประหาร ย่อมหมายความว่า คณะรัฐประหารซึ่งทำการล้มล้างรัฐธรรมนูญ กำลังบีบบังคับให้กษัตริย์ซึ่งได้ปฏิญาณตนไว้ว่าจะเคารพรัฐธรรมนูญและพิทักษ์รัฐธรรมนูญนั้น ต้องร่วมลงพระปรมาภิไธยรับรองการละเมิดรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร

ในกรณีที่กษัตริย์มีพระปรีชาสามารถ กล้าหาญ และมีหัวใจประชาธิปไตยเต็มเปี่ยม กษัตริย์ก็อาจอ้างว่า พระองค์ในฐานะผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ ไม่ยอมรับและไม่ให้ความเห็นชอบกับรัฐประหาร และประกาศว่าคณะรัฐประหารนั้นเป็นกบฏ ดังที่เคยปรากฏให้เห็นจาก กรณีของพระราชาธิบดี ฆวน คาร์ลอสที่ 1 แห่งราชอาณาจักรสเปน ที่ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ เมื่อคืนวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 1981 ประกาศไม่ยอมรับรัฐประหาร

สอง กำหนดบทบาทและอำนาจหน้าที่ของกษัตริย์ไว้ในรัฐธรรมนูญ ให้ชัดเจน ตรงไปตรงมา ไม่ต้องตีความ ดังนี้

“มาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของราชอาณาจักรไทย เป็นสัญลักษณ์ของประเทศ เป็นกลางทางการเมือง และเป็นศูนย์รวมจิตใจของปวงชนชาวไทย

การกระทำของพระมหากษัตริย์ทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับกิจการของรัฐ ต้องได้รับคำแนะนำและความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเสียก่อน

การกระทำของพระมหากษัตริย์ต้องมีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเสมอ การกระทำใดของพระมหากษัตริย์ที่ไม่มีผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ ให้ถือเป็นโมฆะ

พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจเกี่ยวกับกิจการของรัฐได้เท่าที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้ และพระมหากษัตริย์ไม่ทรงมีพระราชอำนาจเหนือสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีตามคำแนะนำและความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งรัฐมนตรีตามการเสนอชื่อของนายกรัฐมนตรี

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ตามคำแนะนำและความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร

พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนระดับสูง ข้าราชการทหารระดับสูง ข้าราชการตำรวจระดับสูง ตามการเสนอชื่อของรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและกระทำการต่างๆ ตามคำแนะนำและความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎร ทั้งนี้ในนามของปวงชนชาวไทย ดังนี้

(1.) ประกาศสงคราม

(2.) แต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์

(3.) แต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ

พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยและกระทำการต่างๆ ตามคำแนะนำและความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ในนามของปวงชนชาวไทย ดังนี้

(1.) ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม

(2.) ประกาศใช้พระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา สนธิสัญญาระหว่างประเทศ

(3.) พระบรมราชโองการแต่งตั้งหรือให้พ้นจากตำแหน่งรัฐมนตรีและข้าราชการระดับสูง

(4.) พระราชทานอภัยโทษ

(5.) สถาปนาและถอดถอนฐานันดรศักดิ์ พระราชทานและเรียกคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์

(6.) รับรองประมุขของรัฐต่างประเทศ เอกอัครราชทูต หรือพระราชอาคันตุกะ

(7.) ประกอบพระราชพิธี

เฉพาะการใช้พระราชอำนาจตามบทบัญญัติในมาตรานี้ องค์พระมหากษัตริย์ไม่ต้องรับผิดชอบใด ให้ผู้รับสนองพระบรมราชโองการ เป็นผู้รับผิดชอบ”

สาม ยกเลิกองคมนตรี

สี่ ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ห้า ให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจกำหนดเงินรายปีให้สถาบันกษัตริย์

หก แก้ไขกฎหมายทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ แบ่งแยกทรัพย์สินส่วนพระองค์ และทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้ชัดเจน ให้ทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ (ซึ่งเป็นของราชบัลลังก์ เป็นของสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่ของกษัตริย์องค์ใดองค์หนึ่ง) มีสถานะเป็นทรัพย์สินของแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจการจัดการทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์

เจ็ด แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับราชการส่วนพระองค์ และกฎหมายอื่นๆทั้งปวง ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและระบอบ Constitutional-Parliamentary Monarchy ที่กษัตริย์ไม่อาจมีพระราชอำนาจในการบริหารกิจการราชการและประกอบธุรกิจ

ปฏิรูป 2 : ปฏิรูปรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญ 2560 คือ ผลพวงจากรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ปราศจากความชอบธรรมทั้งด้านที่มา กระบวนการจัดทำ และเนื้อหา เป็นเครื่องมือสำคัญในการสืบทอดอำนาจของ คสช. และฝังเอาระบอบรัฐประหารเข้าไปไว้ในรัฐธรรมนูญ

รัฐธรรมนูญฉบับนี้มีหลายประเด็นที่ต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลง จำเป็นต้องยกเลิกและจัดทำใหม่ทั้งฉบับโดยมาจากฉันทามติร่วมกันของประชาชน ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการลบล้างมรดกรัฐประหาร ป้องกันรัฐประหาร และหยุดการสืบทอดอำนาจนั้น จำเป็นต้อง

หนึ่ง ยกเลิกมาตรา 279 ซึ่งรับรองให้บรรดาประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง (ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญ 2560) ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ

สอง ยกเลิกแผนการปฏิรูปประเทศและการทำยุทธศาสตร์ชาติ

สาม ยกเลิกวุฒิสภา ใช้ระบบสภาเดียว ยกเลิกอำนาจวุฒิสภาตามบทเฉพาะกาลตามมาตรา 269 ถึงมาตรา 272

สี่  กำหนดเพิ่มบทบัญญัติใน “หมวด 16 การลบล้างผลพวงรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พุทธศักราช 2557 และการป้องกันและการต่อต้านรัฐประหาร”

  • ให้บทบัญญัติในมาตรา 48 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 (บทบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557) เป็นโมฆะ เสียเปล่า เสมือนว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่มีผลใด ๆในทางรัฐธรรมนูญและกฎหมายเมื่อบทบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหารตกเป็นโมฆะแล้ว ย่อมหมายความว่า การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ยังคงมีความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักรตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 คณะผู้ก่อการรัฐประหารจึงถูกดำเนินคดีได้
  • ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใด ๆต่อการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญและการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของปวงชนชาวไทย
  • ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งปวง มีสิทธิและหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างประจักษ์ชัด
  • ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการทหาร ข้าราชการตำรวจ และเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งปวง มีหน้าที่ในการไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะทหารหรือคณะบุคคลใดที่ก่อการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศ แย่งชิงอำนาจสูงสุดของปวงชนชาวไทย หรือล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด
  • ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวง วินิจฉัยหรือพิพากษารับรองความสำเร็จสมบูรณ์ของการรัฐประหาร หรือรับรองความสมบูรณ์ทางกฎหมายและสถานะทางกฎหมายให้แก่คณะผู้ก่อการรัฐประหาร ประกาศ คำสั่ง และการกระทำอื่นใดของคณะผู้ก่อการรัฐประหาร
  • ในกรณีที่มีคณะทหารหรือคณะบุคคลใดก่อรัฐประหารเพื่อยึดอำนาจการปกครองประเทศ แย่งชิงอำนาจสูงสุดของปวงชนชาวไทย หรือล้มล้างรัฐธรรมนูญโดยไม่เป็นไปตามวิถีทางที่รัฐธรรมนูญกำหนด เมื่อไรก็ตามที่อำนาจสูงสุดกลับมาเป็นของปวงชนชาวไทยและได้มาซึ่งรัฐบาลและอำนาจการปกครองที่ชอบธรรมแล้ว ให้ดำเนินคดีต่อคณะทหารหรือคณะบุคคลที่ก่อรัฐประหารนั้นโดยทันที และปราศจากอายุความ
  • บทบัญญัติในหมวดนี้มีสถานะเป็นกฎหมายจารีตประเพณีทางรัฐธรรมนูญและหลักการพื้นฐานของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งมีผลใช้บังคับโดยตลอดแม้รัฐธรรมนูญนี้จะสิ้นผลไป  

อ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับเต็มโดยกลุ่ม Resolution

ห้า แต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่จำแนกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมด

  • กรณีประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกมาเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยทั่วไป และมีบุคคลที่ได้รับประโยชน์ไปโดยสุจริต ให้ตราพระราชบัญญัติเพื่อเปลี่ยนสภาพของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎหมายลำดับรอง และคำสั่งทางปกครอง แล้วแต่กรณี
  • กรณีประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของ คสช. ในการปราบปรามศัตรูทางการเมือง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือมีเนื้อหาที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรง ให้ยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านั้นทันที และกำหนดให้มีกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านั้นด้วย

หก ตั้งคณะกรรมการยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน ทำหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริง พยานหลักฐาน ริเริ่มดำเนินคดี ตลอดจนจัดทำรายงานและข้อเสนอเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมา โดยคณะกรรมการประกอบไปด้วย ตัวแทนจาก ส.ส. ตัวแทนจากผู้เสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งทางการเมือง ตัวแทนจากนักวิชาการหรือนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนและกระบวนการยุติธรรมในช่วงเปลี่ยนผ่าน

เจ็ด ยุติการดำเนินคดีต่อบุคคลที่ถูกกล่าวหาหรือฟ้องร้องในคดีทางการเมือง และตรากฎหมายนิรโทษกรรมในคดีการเมืองให้แก่ “ผู้ต้องหาและนักโทษ” ของระบอบ คสช. ตั้งแต่ 22 พฤษภาคม 2557 

ปฏิรูป 3 : ปฏิรูปกองทัพ

กองทัพจะเลิกก่อรัฐประหารได้ จำเป็นต้องปฏิรูปกองทัพให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและทันสมัย ดังนี้

หนึ่ง บัญญัติรับรองหลักการรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพไว้ในรัฐธรรมนูญ

สอง แก้ไขกฎหมายกระทรวงกลาโหม การแต่งตั้งข้าราชการทหารเป็นอำนาจของรัฐบาล มิใช่ผู้บัญชาการเหล่าทัพ

สาม กำหนดให้มีคณะผู้ตรวจการกองทัพมาจาก ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 5 คน ส.ส.ฝ่ายค้าน 5 คน ทำหน้าที่

  • ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพและรายได้ของกองทัพ
  • ตรวจสอบโครงการจัดซื้อจัดจ้างของกองทัพ
  • พิจารณาเรื่องร้องเรียนของข้าราชการทหาร ทหารกองประจำการ นักเรียนในสังกัดกระทรวงกลาโหม และบุคคลที่ถูกเรียกเข้ารับราชการทหารตามกฎหมาย จากการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมหรือละเมิดสิทธิมนุษยชนจากผู้บังคับบัญชา ในกรณีที่เรื่องร้องเรียนมีมูล ให้คณะผู้ตรวจการกองทัพมีอำนาจเสนอเรื่องต่อสภาผู้แทนราษฎร คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องต่อไป 
  • ประกันหลักการรัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพ
  • จัดทำรายงานและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงหรือปฏิรูปกองทัพให้ทันสมัยและสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและหลักการรัฐบาลพลเรือนมีอำนาจเหนือกองทัพ เพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรและคณะรัฐมนตรี
  • ให้คณะผู้ตรวจการกองทัพคัดเลือกกันเองสองคนไปเป็นสมาชิกสภากลาโหมโดยตำแหน่ง

สี่ ยกเลิกการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ

ห้า สร้างสวัสดิการให้แก่ทหารชั้นผู้น้อย

หก ปรับปรุงหลักสูตรการเรียนวิชาทหารให้มีความสัมพันธ์กับพลเรือนมากขึ้น เช่น วิชาพื้นฐานสามัญ ให้เรียนร่วมกับพลเรือนในมหาวิทยาลัย เพิ่มเนื้อหาเกี่ยวกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน  

เจ็ด ยกเลิกศาลทหาร

แปด ยกเลิกพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 และตราพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกขึ้นใหม่ทั้งฉบับให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนตามมาตรฐานสากล ได้แก่

  • เหตุแห่งการประกาศกฎอัยการศึก คือ สถานการณ์ในสภาวะสงครามเท่านั้น เหตุการณ์จลาจล การชุมนุมสาธารณะ การนัดหยุดงาน การประท้วงรัฐบาล ตลอดจนภัยพิบัติธรรมชาติ ไม่เป็นเหตุให้ต้องประกาศกฎอัยการศึก แต่ให้อยู่ในขอบเขตของกฎหมายการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน
  • อำนาจในการประกาศกฎอัยการศึกทั้งในกรณีบางพื้นที่และทั้งในกรณีทั่วราชอาณาจักรเป็นของรัฐบาลพลเรือน นายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจประกาศ
  • ในช่วงประกาศกฎอัยการศึก รัฐบาลพลเรือนยังคงมีอำนาจเหนือกองทัพ นายกรัฐมนตรี คือ ผู้บังคับบัญชาสูงสุดในช่วงประกาศกฎอัยการศึก 
  • การใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึกอยู่ภายใต้การตรวจสอบของศาลปกครอง  บุคคลผู้เสียหายจากการใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกมีสิทธิฟ้องขอเพิกถอนประกาศหรือคำสั่งของเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายศาลปกครอง และมีสิทธิเรียกค่าสินไหมทดแทนได้ตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
  • ผู้บัญชาการกองทัพที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกตามลำพัง โดยพลการ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากรัฐบาลพลเรือน มีความผิดทางอาญาและวินัย
  • นายทหารที่ทราบว่าผู้บังคับบัญชากำลังตระเตรียมกำลังเพื่อล้มล้างรัฐบาลหรือประกาศกฎอัยการศึกโดยพลการ แล้วไม่แจ้งให้รัฐบาลทราบ ให้ถือว่านายทหารผู้นั้นมีความผิดฐานผู้สนับสนุน  

เก้า ยกเลิกพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551

สิบ ให้สัตยาบันธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ 2002

สิบเอ็ด ห้ามมิให้กองทัพประกอบธุรกิจการพาณิชย์

สิบสอง ยกเลิก กอ.รมน.

สิบสาม ยกเลิกบทบาทของกองทัพที่เข้าไปข้องเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินทั้งปวงที่ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจการป้องกันประเทศจากอริราชศัตรูหรือภารกิจทางกลาโหม เช่น ป่าไม้ ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ ประมง รัฐวิสาหกิจ การบินพลเรือน เศรษฐกิจ ประมง กีฬาอาชีพ การท่องเที่ยว เป็นต้น

สิบสี่ จัดสรรปันส่วนที่ดินและทรัพย์สินของกองทัพเสียใหม่เพื่อประโยชน์สูงสุดของรัฐ กองทัพถือครองที่ดินและทรัพย์สินเท่าที่จำเป็น

ปฏิรูป 4 : ปฏิรูปศาลและองค์กรอิสระ

คณะผู้ก่อการรัฐประหารไทยไม่เคยมีความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักร เพราะ เมื่อรัฐประหารสำเร็จแล้ว ก็ตั้งตนเป็นใหญ่ในแผ่นดิน นิรโทษกรรมตนเอง จากนั้นศาลก็ช่วยรับรองรัฐประหารให้มีผลสมบูรณ์ทางกฎหมายอีกแรงหนึ่ง เช่นเดียวกัน วิกฤตการเมืองนับตั้งแต่รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ผ่านรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 จนถึงทุกวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าศาลรัฐธรรมนูญ ศาล องค์กรอิสระ เป็นส่วนหนึ่งของต้นตอปัญหา ดังนั้น จำเป็นต้องปฏิรูปศาลและองค์กรอิสระให้สอดคล้องกับประชาธิปไตย ให้เป็นองค์กรที่ช่วยเสริมสร้างประชาธิปไตย คุ้มครองประชาชน มิใช่รับใช้คณะรัฐประหาร ดังนี้

หนึ่ง กำหนดการได้มาซึ่งผู้พิพากษาศาลฎีกาและตุลาการศาลปกครองสูงสุด ให้ ก.ต.และ ก.ศป.เสนอรายชื่อผู้พิพากษาหรือตุลาการที่สมควรดำรงตำแหน่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา และเสนอรายชื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาให้ความเห็นชอบ

สอง องค์ประกอบของ ก.ต.และ ก.ศป. ต้องมีสัดส่วนกรรมการจากบุคคลภายนอกที่เชื่อมโยงกับประชาชนหรือสภาผู้แทนราษฎร

สาม ปฏิรูปกฎหมายว่าด้วยกระบวนการได้มาซึ่งผู้พิพากษา ตุลาการ และว่าด้วยหน่วยธุรการของศาล ปรับปรุงระบบการสอบคัดเลือกผู้พิพากษา ตุลาการ ให้เสมอภาคเท่าเทียม ยกเลิกการสอบ “สนามเล็ก-สนามจิ๋ว” ปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาอบรมผู้พิพากษาและตุลาการต้องมีวิชาที่ว่าด้วยประชาธิปไตย ประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองไทยร่วมสมัย สิทธิมนุษยชน

แก้รัฐธรรมนูญ

ดูรายละเอียดได้ที่นี่

สี่ แก้ไของค์ประกอบและการได้มาซึ่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียใหม่ (ดูข้อเสนอได้ที่นี่)

ห้า แก้ไของค์ประกอบและการได้มาซึ่งองค์กรอิสระเสียใหม่ (ดูข้อเสนอได้ที่นี่)

หก กำหนดให้มีการถอดถอนผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ (ดูข้อเสนอได้ที่นี่)

เจ็ด กำหนดให้ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต้องแจ้งบัญชีทรัพย์สินและเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินนั้นต่อสาธารณะ

แก้ รธน.

อ่านร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ฉบับเต็มโดยกลุ่ม Resolution

แปด กำหนดให้มีคณะผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญ คณะผู้ตรวจการองค์กรอิสระ (ดูข้อเสนอได้ที่นี่)

เก้า แก้ไขปรับปรุงระบบการจ่ายสำนวนให้องค์คณะ การตรวจร่างคำพิพากษาโดยผู้บริหารศาล เพื่อสร้างหลักประกันความเป็นอิสระของผู้พิพากษาและตุลาการในการพิจารณาคดี

สิบ ยกเลิกกฎหมายความผิดฐานดูหมิ่นศาล จำกัดกฎหมายความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลไว้อย่างจำกัดอย่างยิ่งเฉพาะกรณีก่อความวุ่นวายในศาลและขัดขวางการพิจารณาคดี

สิบเอ็ด กำหนดความผิดฐาน “บิดเบือนกฎหมาย” ไว้ในประมวลกฎหมายอาญา   

สิบสอง แก้ไขกฎหมายเพื่อทำให้ศาลมีโอกาสพิจารณาคดีรัฐประหารได้ เช่น

  • บัญญัติให้บุคคลผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาในความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113
  • บัญญัติให้มีระบบวิธีพิจารณาคดีแบบเร่งด่วนในความผิดฐานกบฏตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 และศาลต้องพิจารณาพิพากษาให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง
  • ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญและศาลทั้งปวง วินิจฉัยหรือพิพากษารับรองความสำเร็จสมบูรณ์ของการรัฐประหาร หรือรับรองความสมบูรณ์ทางกฎหมายและสถานะทางกฎหมายให้แก่คณะผู้ก่อการรัฐประหาร ประกาศ คำสั่ง และการกระทำอื่นใดของคณะผู้ก่อการรัฐประหาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท