Skip to main content
sharethis
  • ทอม กินส์เบิร์กเริ่มต้นเสนอว่าในกลุ่มประเทศที่มีระบอบประชาธิปไตยที่ดีที่สุด 13 ประเทศ มีถึง 8 ประเทศที่เป็นมีสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญและสถาบันกษัตริย์กับประชาธิปไตยก็เข้ากันได้อย่างดีแม้ว่าในอดีตจะมีการต่อสู้ต่อรองอำนาจกันระหว่างสถาบันกษัตริย์กับชนชั้นนำ
  • ทอมชี้ให้เห็นว่าสถาบันกษัตริย์จะอยู่ได้อย่างมั่นคงในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย และยินยอมให้ประชาชนได้ตัดสินใจในทางการเมืองและประวัติศาสตร์ก็ทำให้เห็นว่าหากสถาบันกษัตริย์ไม่ยินยอมก็จะเกิดความรุนแรงและสถาบันกษัตริย์ก็สูญสิ้นไป
  • อีกทั้งเมื่อระบอบถูกเปลี่ยนจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้วก็ไม่สามารถย้อนกลับไปได้อีกและทอมยังได้ยกตัวอย่างเนปาลที่พยายามย้อนกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์จนสุดท้ายสถาบันกษัตริย์ก็สิ้นสุดลง
  • ทอมเห็นว่าสถาบันกษัตริย์มีประโยชน์และความจำเป็นเสมืออนกับเป็นเครื่องดับเพลิงที่มีอยู่ทุกทีคอยแก้ไขวิกฤตการณ์ทางการเมือง อีกทั้งยังคอยถ่วงดุลกับนักการเมืองประชานิยมเนื่องจากประชาชนมีศูนย์รวมจิตใจอื่นและเป็นตัวจำกัดศักยภาพของผู้นำประชานิยมได้ 

เมื่อ 15 พ.ค.2564 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดเสวนา “บทบาทตุลาการกับการธำรงระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขให้ยั่งยืน” โดยมีทอม กินส์เบิร์ก ผู้เชี่ยวชาญรัฐธรรมนูญเปรียบเทียบและเป็นอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยชิคาโก สหรัฐอเมริกาและเป็นผู้ร่วมแต่งหนังสือ "How to Save a Constitutional Democracy" เป็นผู้กล่าวปาฐกถานำในหัวข้อบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยก่อนเข้าสู่การเสวนา

ทอม กินส์เบิร์ก ถ่ายโดย Ken Resnick จากเว็บไซต์ Wikimedia

ทอม กินส์เบิร์ก ในกล่าวในฐานะที่เป็นผู้ศึกษาวิจัยบทบาทของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ เขาเริ่มการนำเสนอว่า ตัวเขาเองเชื่อว่าพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอาจเป็นรูปแบบการปกครองที่ดีที่สุดที่มีอยู่และเมื่อดูการปกครองบนโลกนี้ก็ยังมีระบบนี้อยู่ ทุกประเทศไม่ได้เป็นระบอบสาธารณรัฐทั้งหมด เขาจำนวนของประเทศที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์และมีรัฐธรรมนูญที่เริ่มตั้งแต่ค.ศ.1787 ที่มีจำนวนประเทศคงเส้นคงวามาจนถึงปัจจุบัน

ทอมให้นิยามของระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญว่า เป็นระบอบการปกครองที่มีสถาบันกษัตริย์ไม่ว่าจะเป็นกษัตริย์หรือราชินีก็ได้และมีรัฐธรรมนูญที่กำหนดกฎเกณฑ์เกี่ยวกับกษัตริย์และราชินี และองค์ประกอบสุดท้ายคือกษัตริย์ไม่ใช่หัวหน้ารัฐบาลแต่หัวหน้ารัฐบาลหรือหัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งและเมื่อให้นิยามแบบนี้จะเห็นว่าปัจจุบันประเทศที่ปกครองในระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญมีประมาณ 20% ของประเทศทั้งหมดในโลก และจาก 43 ประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขของรัฐมีเพียง 8 ประเทศเท่านั้นที่ปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ โดยที่ประเทศที่เป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเหล่านี้เป็นประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลกเมื่อพิจารณาจากหลายมาตรวัด เช่น ความเป็นประชาธิปไตย ความมั่งคั่ง เป็นต้น

ทอมยกตัวอย่างประเทศที่มีรัฐธรรมนูญเก่าแก่ที่สุดในโลกและไม่เคยถูกเปลี่ยน มีรัฐธรรมนูญ 11 ฉบับที่มีอายุมากกว่า 100 ปี ซึ่งสะท้อนถึงความมีเสถียรภาพทางการเมืองของสถาบันพื้นฐานของสังคม โดยมี 9 ฉบับที่เป็นต้นแบบทางรัฐธรรมนูญและยังทำให้ประเทศเหล่านี้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบค่อยเป็นค่อยไปและประสบความสำเร็จ

ตารางรายชื่อประเทศที่มีรัฐธรรมนูญที่เก่าแก่ที่สุดนำเสนอโดยทอม กินส์เบิร์ก

เขาเทียบกับประเทศที่มีการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ดีที่สุด 13 ประเทศ มี 8 ประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ และชี้ให้เห็นว่าจากรายชื่อประเทศข้างต้นบอกเป็นนัยว่าระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่เพียงแต่เข้ากันได้กับประชาธิปไตย แต่ประเทศที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดยังสามารถผสานทั้งสองสิ่งเข้าด้วยกันอีกด้วย

ตารางรายชื่อประเทศที่มีประชาธิปไตยที่ดีที่สุดนำเสนอโดยทอม กินส์เบิร์ก

นอกจากนั้นเขายังชี้ให้เห็นอีกว่าในบรรดาประเทศที่ร่ำรวยที่สุด 12 ประเทศ ก็มี 7 ประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญและยังมีประเทศร่ำรวยอื่นๆ อีกเช่น ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ แคนาดา สหราชอาณาจักรและเบลเยี่ยมที่ก็มีระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ตารางรายชื่อประเทศที่ร่ำรวยที่สุดนำเสนอโดยทอม กินส์เบิร์ก

นอกจากนั้นใน 7 ประเทศที่กล่าวไปก็ยังมีประเทศที่เป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์และก็เพิ่มมากขึ้นหลังสิ้นสุดยุคล่าอาณานิคมเนื่องจากอังกฤษและฝรั่งเศสได้สร้างระบอบกษัตริย์ทิ้งไว้ตอนที่ออกจากประเทศอาณานิคมเพราะทั้งสองประเทศเคยมีระบอบกษัตริย์จึงชอบสถาบันกษัตริย์ของที่อื่นๆ ด้วย ดังนั้นจึงสร้างไว้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่เป็นราชาธิปไตย

ทั้งนี้ทอมขยายความถึงบางประเทศในกลุ่มที่ร่ำรวยที่สุดที่สถาบันกษัตริย์ไม่ได้ถูกจำกัดอำนาจโดยรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริงว่า บางประเทศก็มีการเจรจาต่อรองกับสภาแต่หลายประเทศกษัตริย์ก็เป็นผู้ควบคุมว่าใครจะเป็นนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรี บางกรณีนายกรัฐมนตรีก็เป็นสมาชิกราชวงศ์อีกด้วยซึ่งเป็นกลุ่มประเทศที่ยังเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ยังไม่เปลี่ยนมาเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ทอมอธิบายว่าประเทศที่ยังคงเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์เหล่านี้ยังคงอยู่ได้เพราะเป็นประเทศที่ร่ำรวยมากซึ่งเขาคิดว่าปัจจัยนี้สถาบันกษัตริย์ไม่จำเป็นต่อรองกับประชาชน เช่น ในซาอุดิอาระเบียที่มีน้ำมันมากก็เพียงแค่หาทางควบคุมน้ำมันให้ได้ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารประเทศและวางระบบป้องกันประเทศรวมถึงการควบคุมประชาชนด้วย

ทอมอธิบายว่าประวัติศาสตร์การสถาปนาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในยุโรปขึ้นกับความสามารถในการควบคุมประชาชนหรือความสามารถในการต่อรองกับประชาชนนั้นเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาขึ้นกับเศรษฐกิจ เมื่อกษัตริย์จำเป็นต้องใช้เงินในการบริหารประเทศที่พวกเขาต้องทำก็เพียงแค่ควบคุมเหมืองเพชรหรือบ่อน้ำมันไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องต่อรองกับประชาชน

แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มมีความซับซ้อนมากขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 19 กษัตริย์เหล่านั้นก็พบว่าพวกเขาจำเป็นต้องต่อรองกับชนชั้นนำเพื่อให้มีเงินที่จำเป็นสำหรับทำสงครามหรือการบริหารรัฐบาล ดังนั้นแม้ว่ากษัตริย์จะมีรายได้จากทรัพยากรธรรมชาติอยู่บ้างแต่ยังจำเป็นต้องต่อรองกับสภาและชนชั้นนำอยู่ดี พลวัตรแบบนี้อธิบายให้เห็นว่าประเทศที่ร่ำรวยและมีประชาธิปไตยเข้มแข็งเหล่านั้นเปลี่ยนแปลงจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบกษัตริย์ในระบบรัฐสภาหรือภายใต้รัฐธรรมนูญได้อย่างไร สิ่งที่เกิดขึ้นคือกษัตริย์ต้องไปที่สภาเพื่อขอเงินและสภาก็จะเรียกร้องอำนาจมากขึ้นเรื่อยๆ

ทอมยกตัวอย่างของประเทศนอร์เวย์ซึ่งมีระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก โดยในศตวรรษที่ 19กษัตริย์นอร์เวย์เป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์สวีเดน กษัตริย์ได้ไปที่สภาเพื่อเรียกร้องให้สภารับสนองนโยบายบางอย่าง แต่สภาไม่ต้องการ นอกจากนั้นสภาต้องการที่จะเป็นผู้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแทนกษัตริย์เพื่อที่จะมีอำนาจควบคุมนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้บริหารประเทศจริงๆ สภาจึงโหวตผ่านกฎหมายเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญให้อำนาจในการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีแก่สภา แต่กษัตริย์ก็วีโต้กฎหมายเหล่านั้นทำให้เกิดสภาวะขับขันทางการเมืองขึ้น และเมื่อไปดูประวัติศาสตร์สถาบันกษัตริย์ในยุโรปจะเห็นว่าช่วงศตรวรรษที่ 19 เป็นช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานที่จะเห็นว่าประเทศใดจะเปลี่ยนเป็นระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญหรือไม่ เป็นสถานการณ์ระหว่างกษัตริย์จะยอมตามข้อเรียกร้องของสภาหรือกษัตริย์พยายามจะควบคุมหรือขัดขวางชนชั้นนำไม่ให้ได้ในสิ่งที่ต้องการซึ่งอาจถึงขั้นใช้ความรุนแรง

ทอมระบุว่าการที่กษัตริย์ยอมจำนนต่อสภาคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศที่ใช้ระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในยุโรป และสภาก็ได้อำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลในท้ายที่สุดผ่านกระบวนการต่อรองอันเข้มข้น แต่บางประเทศที่กษัตริย์ไม่ยอมตามข้อเรียกร้องประเทศเหล่านั้นก็กลายเป็นสาธารณรัฐ

ทอมชี้ให้เห็นกระบวนการในการสร้างระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นการเปลี่ยนถ่ายอำนาจอย่างค่อยเป็นค่อยไปอำนาจทางการเมืองเปลี่ยนถ่ายจากกษัตริย์ไปสู่สถาบันของพลเมืองและสถาบันรัฐสภา ถ้ากษัตริย์ยอมอ่อนข้อให้ก็จะอยู่รอดแต่ถ้ากษัตริย์เลือกที่จะสู้ไม่ทางใดก็ทางหนึ่งก็จะถูกแทนที่ในที่สุด ดังนั้นสิ่งนี้คือภาพของการเกิดขึ้นของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ทอมกล่าวถึงสถานการณ์อีกแบบของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญถูกทำให้หายไปได้อย่างไร เขาได้ชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้อย่างหนึ่งก็คือประชาชนจะลุกฮือต่อต้านและยกเลิกระบอบกษัตริย์ถ้ากษัตริย์ไม่ยอมจำนนต่อแรงปราถนาของประชาชนที่จะตัดสินใจอนาคตทางการเมืองของตนเอง แน่นอนว่ากษัตริย์สามารถลงทุนในเทคโนโลยีเพื่อควบคุมประชาชนได้ และมอบอำนาจให้กองทัพเพื่อช่วยควบคุมประชาชน แต่การทำเช่นนั้นก็เป็นอันตรายต่อตัวสถาบันกษัตริย์เองและมีตัวอย่างที่กองทัพที่ได้อำนาจไปทำรัฐประหารล้มล้างระบอบกษัตริย์เสียเองเป็นจำนวนมากเช่นตัวอย่างในตะวันออกกลาง อิรัก ซีเรีย ลิเบีย เป็นต้น

ทอมยกตัวอย่างประเทศประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างกัมพูชาที่กษัตริย์สีหนุในกัมพูชาเมื่อค.ศ.1907 ที่ถูกล้มล้างโดยกองทัพ หรือราชวงศ์ของลาวที่อยู่มาเป็นร้อยปีเช่นเดียวกับราชวงศ์จักรีก็ถูกปฏิวัติโดยขบวนการคอมมิวนิสต์ในปีค.ศ.1975 จนระบอบกษัตริย์สิ้นสุดลง

ทอมมีข้อเสนอถึงทางรอดของระบอบกษัตริย์ว่า เมื่อประเทศใดมีระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญแล้วจะกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่กษัตริย์มีอำนาจปกครองรัฐในเรื่องต่างๆ โดยตรงนั้นไม่ได้อีกและก็จบไม่สวยนัก โดยเขายกตัวอย่างให้เห็นคือระบอบกษัตริย์ในประเทศเนปาลที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นช่วงสั้นๆ จากการกดดันของอินเดียในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง แต่ในช่วงต้นทศวรรษ 1960 กษัตริย์ของเนปาลทำการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญของตัวเองและทวงคืนพระราชอำนาจในการปกครองของกษัตริย์กลับมาได้เป็นเวลาประมาณ 3 ทศวรรษ เนื่องจากเป็นประเทศยากจนและไม่ค่อยมีการพัฒนา จนช่วงทศวรรษ 1990 จากสภาพที่ไม่มีความเท่าเทียมและปัญหาความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ทำให้เกิดกบฏลัทธิเหมาในเนปาลและมีความรุนแรงในประเทศจนมีผู้เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก

เขาอธิบายต่อว่า ข้อเรียกร้องประการหนึ่งของกบฏลัทธิเหมาคือการกำจัดระบอบกษัตริย์ แต่ชนชั้นนำของเนปาลไม่เอาด้วยสถาบันกษัตริย์เนปาลจึงยังรอดมาได้ จนกระทั่งเกิดโศกนาฏกรรมอันน่าสะพรึงกลัวขึ้นในต้นทศวรรษที่ 2000 ที่สถาบันกษัตริย์ต้องจบสิ้นลงจากการทำลายตัวเองกล่าวคือ องค์รัชทายาทใช้ปืนสังหารพระญาติส่วนใหญ่ของพระองค์และผู้ที่เหลือรอดอยู่คือหลังเหตุการณ์คือพระปิตุลา(อา) ของรัชทายาทที่ทวงคืนพระราชอำนาจและพยายามเปลี่ยนประเทศจากกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์เกิดการควบคุมประชาชนและโจมตีศัตรูของพระองค์ จนกระทั่งปี 2008 กลุ่มชนชั้นนำและกลุ่มลัทธิเหมาผนึกกำลังกันและตัดสินใจร่วมกันว่าประเทศต้องการสันติภาพภายใต้เงื่อนไขว่าจะยกเลิกระบอบกษัตริย์ทำให้ราชวงศ์และระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง

ทอมเห็นว่าหนทางที่สำคัญอันหนึ่งในการรักษาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญไว้คือรักษาประชาธิปไตยเอาไว้พร้อมกับรักษาระบอบกษัตริย์เพราะทั้งสองสิ่งนี้เมื่อมาอยู่ด้วยกันจะไปได้ดีมาก แต่ถ้าพยายามจะเปลี่ยนไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์คือหมายถึงการไม่เอาประชาธิปไตย ซึ่งไม่ใช่รูปแบบรัฐบาลที่มีเสถียรภาพในศตวรรษที่ 21 ดังตัวอย่างของเนปาลที่ยกขึ้นมา

ทอมตอบข้อสงสัยว่าทำไมไทยถึงยังต้องมีสถาบันกษัตริย์อยู่เพราะเขาเห็นว่ากษัตริย์มีบทบาทสำคัญในประชาธิปไตยสมัยใหม่ กล่าวคือ ประการแรกสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญปกป้องประชาชนจากสถาบันประชานิยมบางประเภท สิ่งที่เห็นจากทั่วโลกในฐานะเป็นความท้าทายของประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญคือการปรากฏตัวของสิ่งที่เขาเรียกว่านักการเมืองประชานิยมที่มีเสน่ห์ดึงดูดมหาชน

ทอมยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่สหรัฐอเมริกาที่มีโดนัลด์ ทรัมป์ที่เหมือนกับนักการเมืองประชานิยมคนอื่นๆ ที่มีความไม่ไว้วางใจฝังรากลึกต่อสถาบันอื่นๆ ทั้งหมดที่อยู่ระหว่างประชาชนกับผู้มีอำนาจ ซึ่งรวมถึงศาล สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม ระบบราชการหรือเรียกว่ารัฐซ่อนรูป นักการเมืองประชานิยมพยายามทำลายสิ่งเหล่านี้เพราะต้องการมีกษัตริย์ใหม่ที่ไม่ต้องมีสายเลือดกษัตริย์ เขาเห็นว่าคนเหล่านี้เป็นอันตรายมากพวกเขาได้ล้มล้างประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญในหลายประเทศ หรือกรณีของฮูโก ชาเวส นักการเมืองประชานิยมฝ่ายซ้ายในเวเนซุเอลา ฮูโกคิดว่าตัวเองเป็นเพียงคนเดียวที่จะบริหารประเทศได้หรือกรณีวิคเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรีฮังการี ซึ่งเป็นนักการเมืองประชานิยมฝ่ายขวาที่ตอนนี้ควบคุมระบบการเมืองเกือบทั้งหมดและก็ไม่เรียกว่าการปกครองที่มีอยู่เป็นประชาธิปไตยด้วย

ทอมอธิบายถึงความเกี่ยวข้องกันระหว่างสถานการณ์ดังกล่าวกับสถาบันกษัตริย์ว่า เขามองว่าบทบาทด้านดีของระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็คือป้องกันการเกิดขึ้นของพวกนักการเมืองประชานิยมที่มีเสน่ห์ดึงดูดมหาชนได้ ไม่ให้เข้ายึดครองระบบการเมืองทั้งหมด เขายกกรณีของประเทศไทยเองก็มีกรณีทักษิณ ชินวัตร ที่ไม่นิยมชมชอบสถาบันต่างๆ และต้องการสื่อสารกับประชาชนเองโดยตรงและเป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยานทางการเมืองสูงแต่เมื่อมีสถาบันกษัตริย์อยู่เท่ากับว่ามีผู้ทำหน้าที่ศูนย์รวมจิตใจของมหาชนแล้วทำให้ไม่เหลือบทบาทให้นักการเมืองประชานิยม กล่าวคือเป็นการจำกัดความสามารถของนักการเมืองประชานิยมในการเข้ายึดครองประเทศ และทอมคิดว่าเป็นเรื่องดีเพราะนักการเมืองประชานิยมนั้นค่อนข้างเป็นอันตรายต่อประชาธิปไตย

ทอมยกหลักฐานบางส่วนของประเด็นนี้ว่า เมื่อลองดูส่วนแบ่งคะแนนโหวตของพรรคการเมืองประชานิยมในยุโรป ที่มีประเทศเป็นสมาชิกของสภายุโรป 27 ประเทศโดยมี 8 ประเทศที่มีกษัตริย์ทำให้สามารถเปรียบเทียบได้ว่าสถานการณ์ผู้นำประชานิยมเป็นอย่างไรระหว่างในประเทศที่มีกับไม่มีกษัตริย์ และเมื่อไปดูข้อมูลปี 2563 ส่วนแบ่งของพรรคการเมืองประชานิยมในการเลือกตั้งในประเทศที่ไม่มีกษัตริย์มีอยู่ประมาณ 20% และเมื่อดูในประเทศที่มีกษัตริย์ส่วนแบ่งของพรรคการเมืองประชานิยมอยู่ต่ำกว่า 15% ทอมบอกว่าด้วยเหตุผลบางอย่างประชานิยมดูจะไม่ค่อยได้ผลนักในกลุ่มประเทศที่มีสถาบันกษัตริย์และเขาคิดว่าสถาบันกษัตริย์มีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้

ทอมกล่าวว่าบทบาทสำคัญอีกประการหนึ่งของกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญต่อประชาธิปไตยคือสิ่งที่เขาเรียกว่าหลักประกันในสภาวะวิกฤตซึ่งหมายถึงกษัตริย์ในระบอบประชาธิปไตยสมัยใหม่มีอำนาจหลายประการที่ไม่ได้ใช้ และข้อดีของมันคือเมื่อมีความจำเป็นกษัตริย์สามารถพูดบางอย่างได้ในทางการเมืองและประชาชนจะเชื่อฟัง โดยกษัตริย์สร้างศูนย์รวมบางอย่างในวิกฤตการณ์ เขายกตัวอย่างเหตุการณ์พฤษภาทมิฬเมื่อปี 2535 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 รับสั่งให้หัวหน้าคณะรัฐประหารและผู้นำของกลุ่มผู้ประท้วงเข้าเฝ้าและมีพระราชดำรัสให้ยุติความรุนแรง จึงชัดเจนว่าเป็นช่วงเวลาสำคัญในประวัติศาสตร์ของไทย ประเด็นคือถ้าไม่มีกษัตริย์ ความรุนแรงอาจยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ กล่าวคือกษัตริย์มีความจำเป็นในการช่วยคลี่คลายสถานการณ์ในวิกฤตการณ์ทางการเมืองและช่วยปกป้องประชาธิปไตยของประเทศไว้ ทอมเปรียบเทียบว่ากษัตริย์เป็นเครื่องดับเพลิงที่มีอยู่ในบ้าน ที่โรงเรียนหรือที่ไหนก็ตาม และประชาชนก็หวังว่านี่จะเป็นภารกิจสำคัญของสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ทอมกล่าวว่าที่กล่าวมาทั้งหมดก็เพื่อจะบอกว่าจะรักษาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญได้อย่างไรเมื่อสถาบันกษัตริย์ต้องเผชิญหน้ากับการคุกคาม แต่ก็ขึ้นกับว่าการคุกคามนั้นมาจากไหนถ้าเป็นการรุกรานจากภายนอกก็ทำอะไรไม่ได้มากนักในทางรัฐธรรมนูญ

แต่ถ้าเป็นภัยคุกคามในประเทศก็มีอันตรายเกิดขึ้นเสมอจากการเพิ่มอำนาจให้กองทัพในบางประเทศจบลงด้วยการสูญเสียสถาบันกษัตริย์ไปตามตัวอย่างที่เขากล่าวไป หรือถ้าการคุกคามสถาบันกษัตริย์นั้นเกิดจากความพยายามในการเปลี่ยนกลับไปเป็นสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เขาบอกว่ารัฐธรรมนูญจะสามารถยับยั้งได้และควรจะทำด้วยเพราะความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ขึ้นอยู่กับการอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญไม่ใช่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญความอยู่รอดของสถาบันกษัตริย์ในท้ายที่สุดไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับกองทัพในการควบคุมประชาชนแต่ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กับประชาชน และสถาบันกษัตริย์อาจไปไม่รอดถ้าประชาชนไม่พึงพอใจในตัวสถาบัน

ทอมกล่าวว่าสิ่งที่กล่าวไปเป็นข้อแนะนำในการรักษาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญเป็นวิธีเดียวกันกับการรักษาระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญ ถ้าสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญรอดประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญก็รอดและประเทศต่างๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นก็เป็นประเทศที่ร่ำรวยและมีอำนาจ และการจะรักษาและมีระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญได้คือต้องมีการเลือกตั้งที่ทุกคนสามารถแข่งขันได้ให้การยอมรับในรัฐธรรมนูญ ต้องเปิดให้ประชาชนมีการอภิปรายกันได้อย่างเสรีว่าเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในประเด็นนโยบายมากกว่าแค่การมีเพียงตัวเลือกว่ารับหรือไม่รับหรือไม่ออกเสียง และต้องมีระบบการเลือกตั้งที่มีความรับผิดชอบต่อประชาชนด้วยเช่นกันและเป็นเรื่องท้าทายในการมีรัฐบาลที่มีประสิทธิภาพเมื่อเรารู้ว่านโยบายแบบใดที่ประชาชนต้องการแต่มีเหตุติดขัดทำให้รัฐบาลไม่สามารถทำให้นโยบายนั้นเป็นจริงได้

ทอมกล่าวอีกว่าต้องมีศาลที่เคารพหลักนิติธรรมและรัฐธรรมนูญ เพราะในท้ายที่สุดแล้วทุกสถาบันในสังคมต้องทำตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายเพราะเป็นหนทางเดียวที่จะแก้ไขความขัดแย้งผ่านสถาบันต่างๆ ไม่ใช่การลงถนนประท้วง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้พิพากษาซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งสำหรับระบอบประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องค้ำจุนสิทธิและเสรีภาพในรัฐธรรมนูญภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ ที่ควบคุมสถาบันการเมืองซึ่งจะก่อให้เกิดความรับผิดชอบของนักการเมืองและไม่สามารถมีระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญได้หากไม่มีหลักนิติธรรม

นอกจากนั้นไม่สามารถมีประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญได้หากไม่มีเสรีภาพบางประการ เช่น ไม่สามารถมีระบบการเลือกตั้งได้หากไม่มีสิทธิในการพูดอย่างอิสระ สิทธิในการเผยแพร่ข้อมูล สิทธิในการแสดงความคิดเห็น สิทธิในการรวมตัว สิทธิในการชุมนุมอย่างสงบ รวมถึงสิทธิในการลงสมัครรับเลือกตั้ง สิ่งเหล่านี้เป็นแก่นของประชาธิปไตยตามรัฐธรรมนูญที่ในมุมมองของเขาเป็นสูตรสำเร็จที่ทำให้รักษาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญอยู่รอดได้หลายร้อยปีด้วย

ทอมกล่าวว่าประเทศไทยก็เหมือนกับอีกหลายประเทศในโลกที่เป็นสังคมที่มีการแบ่งข้างอย่างสุดขั้ว มีการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มต่างๆ ในหลายๆ เรื่อง ซึ่งอาจจะดำรงอยู่ในสังคมไทยมายาวนานแล้ว แต่เพิ่งปรากฏตัวให้เห็นชัดเจนในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ซึ่งตอนที่เขามาไทยครั้งแรกๆ ก็ยังเห็นไม่ชัดนักในช่วงทศวรรษ 1980 ตอนนั้นยังไม่มีใครพูดถึงความแตกแยกทางการเมืองอย่างสุดขั้วกันมากนักในประเทศไทย และเขามองว่าความแตกแยกทางการเมืองอย่างสุดขั้วก็เกิดขึ้นในหลายประเทศบางครั้งอาจเกิดจากสื่อสารมวลชนและอาจเป็นสื่อสังคมออนไลน์มีความสัมพันธ์อันซับซ้อนกับประชาธิปไตยสื่อเหล่านี้มีความจำเป็นต่อประชาธิปไตย แต่บางครั้งก็เป็นช่องทางการเผยแพร่ของข้อมูลผิดๆ การจัดการกับสังคมที่มีการแบ่งขั้วเป็นเรื่องท้าทาย

ทอมเสนอว่าหนทางเดียวคือการกลับไปสู่การมีสถาบันกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญที่ทำหน้าที่ได้จริงและรับใช้วัตถุประสงค์และบทบาทของตัวสถาบันเองในระบบการเมืองและรักษาไว้ซึ่งหลักนิติธรรมที่ค้ำจุนสิทธิและเสรีภาพประชาธิปไตยและอนุญาตให้มีการอภิปรายอย่างถูกกฎหมายในทุกประเด็นปัญหาในสังคมหากประชาชนไม่สามารถพูดปัญหาเหล่านั้นออกมาได้มีแต่จะสร้างแรงกดดันที่จะนำไปสู่ปฏิกิริยาต่อต้านที่สุดโต่งมากขึ้น

เหตุนี้ทอมจึงเห็นว่าการที่สามารถอภิปรายถึงประเด็นเหล่านี้เพื่อเกิดการแข่งขันกันและเพื่อวิจารณ์รัฐบาลได้นั้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งยวดของระบอบประชาธิปไตยที่ประสบความสำเร็จ รัฐบาลไม่ควรที่จะกลัวการวิจารณ์ บางครั้งการวิจารณ์ก็เป็นสิ่งที่ดีต่อรัฐบาลเองเพราะช่วยพัฒนาสิ่งที่กำลังทำอยู่และท้ายที่สุดก็เป็นไปเพื่อการธำรงรักษาระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทยด้วย จึงต้องอนุญาตให้มีการวิพากษ์วิจารณ์ การอภิปรายอย่างเป็นประชาธิปไตยและการถกเถียงทางนโยบายที่เปิดกว้างเพราะไม่สามารถให้คนกลุ่มเล็กๆ กุมคำตอบสำหรับทุกอย่างในสังคมได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net