Skip to main content
sharethis

ภายใต้การปกครองของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) นับแต่เข้ามายึดอำนาจโดยทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22 พ.ค.2557 สภาพสังคมการเมืองไทยถูกปกคลุมไปด้วยอำนาจเผด็จการในทุกพื้นที่ การเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของประชาชนถูกปิดฉากลงในนาม “ความสงบเรียบร้อย” ขณะเดียวกัน การดำเนินนโยบายในลักษณะ “อำนาจนิยม”  ได้อุบัติขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่คนจน คนด้อยโอกาสทางสังคม ต่างตกอยู่ในชะตากรรมอันขัดสน ถูกละเมิดสิทธิ ขาดการมีส่วนร่วมที่ปรากฏความไม่เป็นธรรม ในหลายด้าน

อีกด้านหนึ่งบนความทรงจำที่เป็นประวัติศาสตร์บาดแผลที่ไม่เคยลืมมาตลอดระยะเวลา 7 ปี ของประชาชน ที่ถูกกระทำจากนโยบาย ทวงคืนผืนป่า โดยอาศัยอำนาจจากคำสั่งหัวหน้าคณะ คสช.มอบหมายให้กองกำลังทหารเข้ามามีบทบาทในการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ รวมทั้งฝ่ายปกครอง ปฏิบัติการ "ทวงคืนผืนป่า" 

ปัญหาป่าไม้/ที่ดินในประเทศไทยมีความยืดเยื้อมายาวนาน ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากนโยบายของรัฐในแต่ละช่วง โดยเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น คือ นโยบายที่รัฐเผด็จการได้ผลิตขึ้นมาคือ แผนแม่บทแก้ไขปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐฯ หรือ นโยบายทวงคืนผืนป่า โดยเกิดขึ้นภายหลังคำสั่ง คสช. ที่ 64 และ 66/2557 เรื่อง การป้องกัน และปราบปรามการทำลายทรัพยากรป่าไม้

พื้นที่แรกที่ถูกเจ้าหน้าที่ป่าไม้ และทหาร ผลักดันออกไปแล้วในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2557 คือ กรณีพื้นที่เขตป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ ต.ลำนางรอง อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ ส่งผลกระทบให้ประชาชนทั้ง 6 ชุมชน ที่เคยอยู่อาศัยและทำกินในพื้นที่ดังกล่าว กว่า 40 ครอบครัว ประมาณ 160 คน ถูกผลักไสให้ออกจากพื้นที่ ความทุกข์ยากแค้น ความเดือดร้อนที่ถูกกระทำ จนทำให้ชุมชนล่มสลายหมดสิ้น

'ทวงคืนผืนป่า' ปรากฏการณ์ขับไล่ประชาชนออกจากพื้นที่

ในการนี้ ขอยกตัวอย่างเพียงบางกรณีในพื้นที่ภาคอีสาน ’หลังจากรัฐบาล คสช,นำรถบรรทุกทหาร ฮัมวี่ ขนกองกำลังทหาร พร้อมอาวุธครบมือ เข้าไปคุกคาม ทำลาย รื้อถอน และขจัดชาวบ้านคนจนๆที่เป็นเพียงเกษตรกร ออกจากพื้นที่ เสร็จสิ้นแล้วนั้น

ต่อมาในวันที่ 25 ส.ค.2557 เจ้าหน้าที่ทหาร ป่าไม้ กว่า 100 นาย ได้เข้ามาปิดประกาศคำสั่ง คสช.ที่ 64/57 ในชุมชนโคกยาว ต.ทุ่งลุยลาย อ.คอนสาร เพื่อบังคับให้ชาวบ้านรื้อถอน อพยพออกจากพื้นที่ ภายใน 15 วัน และวันที่ 25 ส.ค.57 เข้ามาปิดประกาศคำสั่งที่ชุมชนบ่อแก้ว ต.ทุ่งพระ อ.คอนสาร จ.ชัยภูมิ โดยให้ออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน ซึ่งชุมชนทั้งสองพื้นที่เป็นชาวบ้านสมาชิกเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน (คปอ.) เจ้าหน้าที่ได้สนธิกำลังเจ้ามาไม่ต่ำกว่า 4 ครั้ง เป้าหมายคือเพื่อผลักดันชาวบ้านออกจากพื้นที่ให้ได้

อีกพื้นที่หนึ่งที่เป็นสมาชิกเครือข่ายฯ คปอ. คือ กรณีอุทยานแห่งชาติไทรทอง อ.หนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ นับแต่ช่วงปี 2558 เรื่อยมา ได้มีกองกำลังเจ้าหน้าที่ทหาร และป่าไม้ เข้าไปคุกคามชาวบ้านที่กำลังทำไร่มันสำปะหลัง โดยเบื้องต้นจะพยายามเกลี้ยกล่อม หลอกล่อ เมื่อไม่สำเร็จผล ก็จะใช้วิธีการข่มขู่ เพื่อให้ลงชื่อเซ็นยินยอมคืนพื้นที่ ซึ่งชาวบ้านจำต้องยอมด้วยคำขู่ที่น่ากลัวของเจ้าหน้าที่ที่ยกเข้าไปรายล้อม และในแต่ละแปลงที่ชาวบ้านทำไร่อยู่ จะมีไม่กี่คน ส่วนมากจะเป็นผู้หญิงและคนแก่ ทำให้ชาวบ้านทนการบีบคั้นไม่ได้ ที่สุดแล้ว ชาวบ้านถูกฟ้องคดีรวมทั้งสิ้น 14 ราย 19 คดี 

กรณีป่าสงวนแห่งชาติป่าดงชมภูพาน และป่าดงกระเฌอ บ้านจัดระเบียบ ต.หลุบเลา อ.ภูพาน จ.สกลนคร เจ้าหน้าที่สนธิกำลังเข้ามาทำการตัดต้นยางพาราไปกว่า 380 ไร่ และแจ้งความดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกจำนวน 37 ราย 

กรณีอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็ก บ้านหนองกุง ต.ส่องดาว อ.ส่องดาว จ.สกลนคร ถูกตัดฟันต้นยางพารา มีผู้เดือดร้อน 22 ครอบครัว และบ้านหนองแวง ต.วาริชภูมิ บ้านดอนส้มโฮง ต.ค้อเขียว อ.วาริชภูมิ จ.สกลนคร ถูกตัดฟันยางพารา จำนวน 400 ต้น 1แปลง 6 ไร่ บ้านโจด ต.นาทัน อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ถูกตัดฟันต้นยางพาราอายุ 3 ปี จำนวน 10 ไร่ ยังมีกรณีอุทยานแห่งชาติภูผายล ชาวบ้านคำป่าหลาย จ.มุกดาหาร และกรณีอุทยานแห่งชาติภูเก้า ภูพานคำ จ.หนองบัวลำภู กรณีอุทยานแห่งชาติผาแต้ม จ.อุบลราชธานี เป็นต้น

สามารถจำแนกผลกระทบ/สภาพปัญหา ได้ดังนี้ ถูกตัดฟันผลอาสิน จับกุม ดำเนินคดี ถูกผลักดันออกจากพื้นที่ รวมทั้งถูกติดป้ายตรวจยึด ส่งผลกระทบทางด้านจิตใจ ความวิตกกังวลต่อการถูกผลักดันออกจากพื้นที่ ถูกคดีความ ประกอบกับการติดตามปัญหาที่ยืดเยื้อ ยาวนาน ที่ต้องมีภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้น

กรณีพื้นที่ที่ยกมาดังกล่าว เป็นที่ดินทำกิน และที่อยู่อาศัยที่สืบทอดกันมาก่อนการประกาศเขตป่า และจากการตรวจสอบของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่มีกระบวนการแก้ไขปัญหาร่วมกันระหว่างรัฐกับชาวบ้าน กระทั่งนำไปสู่การหาข้อตกลงร่วมกันได้ แต่หัวหน้าคณะ คสช.กลับเลือกปฏิบัติด้วยวิธีการ ทวงคืนผืนป่า ถือเป็นการจำกัดการทำประโยชน์ในที่ดินของเกษตรกร อย่างร้ายแรง ทำให้หลายชุมชนทั่วประเทศเกิดความเดือดร้อน ทั้งในเรื่อง สิทธิที่ชาวบ้านเรียกร้องไม่ได้รับการสนใจ ทั้งยังแจ้งดำเนินคดีกับผู้ที่ต่อสู้และเรียกร้องความเป็นธรรม

การเลือกปฏิบัติในการทวงคืนผืนป่า ในลักษณะ 2 มาตรฐาน

ตามที่คณะ คสช.ออกคำสั่ง “ทวงคืนผืนป่า” เข้าใจว่า น่าจะเป็นการยึดที่ดินคืนจากบรรดานายทุน ข้าราชการ และนักการเมือง หรือผู้มีอิทธิพล ที่มีการถือครองที่ดินขนาดใหญ่ ที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ในเขตที่ดินของรัฐประเภทต่างๆ ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป็นมาโดยตลอดทุกยุคสมัยก็คือ การละเมิดสิทธิที่ดิน และทรัพย์สินของเกษตรกร ที่เป็นเพียงชาวบ้าน

แม้คำสั่ง คสช.ที่ 66/2557 ระบุว่าการดำเนินการใดๆ ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ยากไร้ ผู้ที่มีรายได้น้อย และผู้ไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งได้อาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมนั้นๆ ก่อนคำสั่งนี้มีผลบังคับใช้ ยกเว้นผู้ที่บุกรุกใหม่ แต่ชาวบ้านที่มีฐานะยากจน กลับไม่ได้รับการคุมครอง นอกจากนี้ ยังมีการเลือกปฏิบัติในลักษณะที่เป็น 2 มาตรฐาน กล่าวคือ มีการยึดคืนเฉพาะพื้นที่ของชาวบ้าน ในขณะที่ไม่มีการแตะต้องพื้นที่สัมปทานต่างๆ เช่น เหมืองแร่ พลังงาน และอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นการสร้างความไม่ยุติธรรมในการเข้าถึงฐานทรัพยากร

การเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ร้อยละ 40 ของพื้นที่ประเทศนั้นสามารถทำได้ในหลายแนวทาง กว่าการที่จะเอาชาวบ้านออกจากป่า เป็นการแก้ปัญหาไม่ตรงจุด รัฐควรสร้างทัศนคติใหม่ว่าคนสามารถอยู่กับป่าได้ แต่การทวงคืนผืนป่า เป็นอีกรูปการณ์หนึ่งที่สร้างผลกระทบต่อคนจน คนด้อยโอกาสทางสังคม ทั้งในเมืองและชนบท ตกอยู่ในชะตากรรมที่แร้นแค้น ขัดสนในทุกด้าน อันเกิดจากความอึดอัด คับแค้นใจขาดการดำเนินชีวิตที่ไม่ปรกติสุข มาตลอดระยะเวลา 7 ปี

ดังนั้น หากรัฐยังยึดติดความคิดเรื่องการจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ต้องการผูกขาด และรวมศูนย์ไว้ที่หน่วยงานรัฐ รวมทั้งหากยังไม่ทบทวนนโยบายทวงคืนผืนป่า และกฎหมายที่จำกัดสิทธิในการเข้าถึงที่ดินและทรัพยากรของประชาชน และไม่เปิดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง หาไม่แล้ว ความขัดแย้งจะเกิดขึ้น และลุกลามไปไม้รู้จบสิ้น

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net