Skip to main content
sharethis

เสวนาออนไลน์พูดคุยสถานการณ์คนล้นคุก สืบเนื่องผู้แสดงออกทางการเมืองยังถูกปฏิเสธประกันตัว นักกิจกรรมผู้ถูกคุมขังเผย คุกไทยเหมือนยุคหินที่มีมาม่ากิน กฎหมายทำให้คนเข้าคุกง่าย นักกิจกรรมแรงงานเล่าปัญหาการดำเนินคดี ม.112 ที่ทำให้คนมักสารภาพ แนะ ตัดปัญหาคนล้นคุกได้ด้วยการมองคนเท่ากันและสร้างรัฐสวัสดิการ 

บรรยากาศหน้าจอเสวนาออนไลน์ที่สิรภพ (บนขวา) และเสาวลักษณ์ (ล่างขวา) ร่วมเสวนา

เมื่อ 19 พ.ค. 2564 คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) จัดงานเสวนาออนไลน์ในหัวข้อ "ประเด็นร้อนออนไลน์ ตอนที่ 2 เสียศูนย์เมื่อสูญเสียสิทธิประกันตัว" โดยมี เสาวลักษณ์ โพธิ์งาม จากกลุ่มสังคมนิยมแรงงาน และสิรภพ พุ่มพึ่งพุทธ นักศึกษาจากกลุ่ม มศว คนรุ่นเปลี่ยน ร่วมเสวนา 

คุกไทย: ยุคหินที่มีมาม่ากิน

สิรภพผู้ถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อยู่ 3 วัน (6-9 พ.ค.) เล่าว่าการคุมขังกระทบกับการเรียนของตน เพราะกำลังจะมีการสอบในหนึ่งวันหลังการฝากขัง เขาถูกนำไปอยู่ที่แดนกักโรคชั้นสอง แดน 7 มีเพียงอิฐก่อเอาไว้และมีพลาสติกกั้นเป็นล็อกให้คนมากักตัว ในห้องจะมีกล้องวงจรปิดทุกจุด ยกเว้นห้องที่ไปนอน ตรงส้วมหลุมก็ยังมีกล้องส่องลงมา สุขอนามัยค่อนข้างแย่ ซื้อสินค้าไม่ได้ วันที่เข้าไปไปตัวเปล่าไม่มีอะไรเลย ดีที่แอมมี่อยู่ห้องข้างๆ เอาของที่มีมาแบ่งให้ใช้ก่อน 

"ผมนิยามว่าเป็นยุคหินที่มีมาม่ากิน" สิรภพกล่าว

นักกิจกรรมจากกลุ่ม มศว คนรุ่นเปลี่ยน เล่าว่า ที่นั่น เจ้าหน้าที่นำอาหารมาส่งเสร็จก็ปิดประตู ล็อกกุญแจ ไม่ได้พูดอะไร อาหารที่แดนกักตัวมี 3 มื้อ แจกมื้อเช้าเวลา 07.00 น. อาหารเที่ยงตอนเที่ยงวัน แต่อาหารเย็นจะแจกตอนบ่ายโมง โดยเจ้าหน้าที่บอกให้เก็บไว้กินตอนเย็น อาหารที่ได้รับแจก มื้อแรกได้จับฉ่าย อีกอันเป็นผัดผัก ที่แยกไม่ออก อันหนึ่งเปรี้ยว อีกอันมีกระดูกไก่สับแล้วเอามาผัด ต่างกันแค่อันหนึ่งรสเปรี้ยว อีกอันไม่เปรี้ยว ทิ้งไว้นานไม่ได้เพราะว่าบูดไว จึงได้กินแค่วันละมื้อ ที่เหลือไม่กิน จากคำบอกเล่าที่ได้สอบถามผู้ต้องขังพบว่าแต่ละแดนจะมีงานให้ทำเช่นพับถุงหรือทำไฟแช็ก เหมือนจะมีบริษัทมาจ้างให้นักโทษทำ แต่คนที่ได้เงินคือเรือนจำ

สิรภพนำข้อมูลจำนวนผู้ต้องของกรมราชทัณฑ์มาแสดง และระบุว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ต้องขังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปี 2564 ลดลงราวหนึ่งหมื่นคน เหลือคนในคุกอยู่ราว 3 แสนคนซึ่งก็ยังถือว่าเยอะเมื่อเทียบกับสัดส่วนประชากรทั้งประเทศ ตัวเลขเมื่อปี 2563 มีผู้ถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดีอยู่ราว 1 หมื่นคนซึ่งถือว่าเยอะมาก คนเหล่านี้ยังไม่ถูกศาลตัดสินว่าผิดหรือไม่ผิด แต่ถูกเอาเข้าเรือนจำไปแล้ว มีกระบวนการอื่นๆ ที่สามารถไม่เข้าไปอยู่ในคุกก็ได้ นอกจากนั้นยังมีการนำจำเลยหรือผู้ต้องหาในคดีที่ไม่จำเป็นต้องเอาเข้าคุกมาไว้ในเรือนจำ  

ม.112: การดำเนินคดีที่มักจบด้วยการสารภาพ

เสาวลักษณ์เล่าว่าหลังรัฐประหารปี 2549 ที่มีคนต่อต้านอำนาจทหาร และวิจารณ์ว่าการรัฐประหารเป็นการรักษาผลประโยชน์ของชนชั้นนำ จะเห็นคนถูกดำเนินคดีด้วย ม.112 เยอะมาก และไม่ได้รับสิทธิประกันตัว เช่น กรณีดารณี ชาญเชิงศิลปกุล (ดา ตอร์ปิโด) ที่ถูกตัดสินจำคุกร่วม 10 กว่าปี และจำคุกอยู่ 7-8 ปี หรือกรณีสมยศ พฤกษาเกษมสุขที่เคยมีคดี ม.112 ก็เคยไม่ได้รับการประกันตัว 

เสาวลักษณ์ตั้งคำถามว่าการดำเนินคดีด้วย ม. 112 เป็นการดำเนินคดีที่เป็นธรรมกับประชาชนหรือไม่ เพราะมีลักษณะเหวี่ยงแห โยนหินถามทางไปว่าการแสดงความเห็นทางการเมืองคือการวิจารณ์กษัตริย์ แล้วก็ตั้งข้อหาเอาไว้และผู้ถูกกล่าวหาก็ไม่ได้สิทธิประกันตัวโดยยังไม่ได้พิสูจน์ว่าตัวเองมีความผิด การดำเนินคดีอาญาต้องยึดหลักว่าจำเลยยังเป็นผู้บริสุทธิ์ การไม่ประกันตัวถือว่าผิดหลักการอย่างมาก แต่พอเป็นแบบนี้ก็เอาคนไปขัง สภาพในเรือนจำที่แล้วร้ายทำให้คนที่โดนคดี 112 มักสารภาพเพื่อให้จบเร็วๆ เพราะเมื่อนักโทษที่คดีเด็ดขาดก็จะสามารถขออภัยโทษ ได้รับลดหย่อนผ่อนโทษเมื่อเป็นนักโทษชั้นดี เพื่อให้รู้ว่าจะได้ออกจากคุกวันไหน อีกปัญหาคือ ม. 112 เป็นการต่อสู้ระหว่างอุดมการณ์ราชาชาตินิยมกับคนที่ต้องการแสดงความเห็นทางการเมืองต่อองค์กรที่เป็นสาธารณะ อุปสรรคในการตัดสินคดีนี้จึงอยู่ที่อุดมการณ์ของศาลคือคุณค่าอยู่ภายใต้คุณค่าชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ด้วย

"ศาลจะต้องปล่อยให้คนได้สิทธิประกันตัว หมายถึงคดีอื่นๆ ทั่วไปด้วย ไม่ใช่แค่คดี ม. 112 บางคดีเกี่ยวกับเศรษฐกิจ บางคนไม่มีเงินทำงานใช้หนี้ บางคนเช็คเด้ง บางคนไปลักเล็กขโมยน้อย ก็ควรได้รับสิทธิประกันตัว ถ้าคุณไม่มีหลักประกัน คุณต้องสามารถให้เขาหาหลักประกันที่ไม่แพงมากเพื่อให้เขาได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว"

แนะ มองคนเท่ากัน สร้างสวัสดิการ ตัดปัญหาคนล้นคุก

สิรภพเสนอแนะว่าควรปรับฐานคิดของกรมราชทัณฑ์ให้มองคนให้เป็นคนเท่ากัน ถึงแม้ผู้ต้องขังเป็นผู้กระทำผิดก็ถือเป็นกลุ่มคนเปราะบางที่ต้องการการดูแลให้เขาปรับปรุงและพัฒนาตัวเอง ไม่ใช่ไปกดดันให้เขาเป็นคนที่แย่กว่าเดิมในเรือนจำด้วยความย่ำแย่ด้านใน การดูแลผู้ต้องขังควรเป็นไปตามหลักสากล ซึ่งไทยอยู่กันคนละโลกกับมาตรฐานข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของห้องน้ำที่ดี หรืออาหารห้าหมู่ หรือให้มีภาคประชาสังคมเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพหรือดูแลนักโทษ นอกจากนั้น อาจจะมองหากระบวนการอื่นที่ไม่ต้องให้คนเข้ามาในเรือนจำ เช่น การบำเพ็ญประโยชน์

เสาวลักษณ์มองว่าการที่จะลดผู้ต้องขังได้ จะต้องพัฒนาสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนในสังคม สร้างรัฐสวัสดิการให้สังคมเพื่อแก้ปัญหาสภาพที่ทำให้เกิดแรงจูงใจที่ทำให้เกิดอาชญากรรมจากปัญหาเศรษฐกิจ

ต่อกรณีเงื่อนไขห้ามไม่ให้ไปกระทำความผิดซ้ำจากการถูกดำเนินคดีเพราะการร่วมชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง เสาวลักษณ์มองว่าปกติการให้ประกันตัวก็จะต้องบอกว่าไม่ให้เพราะเกรงจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน เกรงกลัวว่าจะหลบหนี แต่การกำหนดเงื่อนไขให้ประกันตัวให้เงื่อนไขไม่ให้การชุมนุมทางการเมือง ส่วนตัวคิดว่าขัดกับรัฐธรรมนูญ ที่บอกว่าคนย่อมมีสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น แต่ศาลบอกว่าการแสดงความเห็นถือเป็นเงื่อนไขในการประกันตัวก็ถือว่าย้อนแย้ง ทั้งที่เงื่อนไขควรอยู่ภายใต้หลักการรัฐธรรมนูญ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net