Skip to main content
sharethis

นับเป็นชัยชนะในเชิงสัญลักษณ์สำหรับสิทธิคนข้ามเพศในการต่อสู้ทางกฎหมายในไอร์แลนด์เหนือเพื่อให้คนข้ามเพศสามารถเข้าถึงการรับรองเพศสถานะได้โดยไม่ต้องเผชิญอุปสรรคการรับรองทางการแพทย์ว่าพวกเขามีความทุกข์ใจในเพศสภาพ (Gender Dysphoria) ซึ่งกระบวนการรับรองเช่นนี้มักจะทำให้คนข้ามเพศรู้สึกถูกตีตราให้กลายเป็น 'ความป่วยไข้' และเสี่ยงต่อการทำให้คนข้ามเพศถูกกีดกันเลือกปฏิบัติ

มีการตัดสินจากผู้พิพากษาในไอร์แลนด์เหนือที่ให้แก้ไขกฎหมายรับรองเพศสถานะทำให้คนข้ามเพศสามารถได้รับการรับรองเพศสภานะของตัวเองได้โดยไม่จำเป็นต้องผ่านการรับรองทางการแพทย์ในเรื่องความทุกข์ใจในเพศสภาพ (gender dysphoria) หลังจากที่มีหญิงข้ามเพศรายหนึ่งฟ้องร้องต่อสำนักงานด้านความเท่าเทียมของรัฐบาลอังกฤษ ให้ยกเลิกเกณฑ์กำหนดที่ "ตีตรา" และ "ไม่จำเป็น" สำหรับการเปลี่ยนเพศทางกฎหมาย

หญิงข้ามเพศรายดังกล่าวเคยยื่นร้องเรียนให้มีการยกเลิกมาตรการที่บังคับให้คนข้ามเพศเสนอหลักฐานทางการแพทย์เวลาที่พวกเขาต้องการเปลี่ยนเพศทางกฎหมาย และขอให้ยกเลิกเกณฑ์ข้อกำหนดว่าพวกเขาต้องผ่านการวินิจฉัยว่ามี "ความทุกข์ใจในเพศสภาพ" เสียก่อนถึงจะได้รับการรับรองเพศสถานะ ซึ่งผู้พิพากษาตัดสินให้การยื่นหลักฐานทางการแพทย์ยังต้องมีอยู่โดยอ้างว่าเป็นการ "ทำให้เกิดความสมดุล" แต่ก็ตัดสินในเชิงสนับสนุนข้อเรียกร้องที่สองคือระบุว่าการต้องได้รับการวินิจฉัยเรื่อง "ความทุกข์ใจในเพศสภาพ" ก่อนนั้นถือเป็นเรื่องไม่ชอบธรรม

ผู้พิพากษาสก็อฟฟิลด์ ระบุในคำตัดสินว่าการให้คนข้ามเพศต้องผ่านการวินิจฉัยว่ามีโรคทางใจอย่าง "ความทุกข์ใจในเพศสภาพ" เสียก่อนถึงจะสามารถผ่านการรับรองเพศสภาพนั้นเปรียบเสมือนเป็นการทำให้คนข้ามเพศถูกมองว่าเป็นโรค เป็นความทุกข์ ทำให้เขาตัดสินว่าการวินิจฉัยเช่นนี้ไม่จำเป็นอีกต่อไป

ก่อนหน้านี้ในปี 2562 องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยแถลงว่าพวกเขาเลิกจัดให้การข้ามเพศหรือคนข้ามเพศเป็น "โรค" หรือ "ความผิดปกติ" แล้ว โดยมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องการระบุถึงการข้ามเพศให้เป็น "ความผิดปกติของเอกลักษณ์ทางเพศ" (Gender Identity Disorder หรือ GID) ให้กลายเป็น "ความไม่ตรงกันระหว่างเพศสภาพและเพศกำเนิด" (Gender Incongruence) ในบทที่พวกเขาระบุไว้เกี่ยวกับสุขภาวะทางเพศแทน

การแถลงขององค์การอนามัยโลกยังนับว่ามาทีหลังสมาคมจิตแพทย์อเมริกันที่เคยเปลี่ยนแปลงในตำราการวินิจฉัยโรคจิตเวชฉบับที่ 5 (DSM-5) จาก GID ให้เป็น "ความทุกข์ใจในเพศสภาพ" แทน แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องที่ก้าวหน้ามากกว่าเดิมสำหรับคนข้ามเพศ แต่เรื่องการใช้ความทุกข์ใจในเพศสภาพเป็นตัวกำกับความเป็นคนข้ามเพศนั้นก็ยังทำให้เกิดข้อถกเถียงในเรื่องการกีดกันคนข้ามเพศบางส่วนที่มีประสบการณ์แตกต่างออกไปกับเพศสภาพตัวเอง รวมถึงข้อถกเถียงเรื่องการตีตราและการทำให้คนข้ามเพศดูเป็นเหยื่อ

นั่นทำให้การใช้คำว่า "ความไม่ตรงกันระหว่างเพศสภาพและเพศกำเนิด" (Gender Incongruence) ต่างออกไปจากความทุกข์ใจในเพศสภาพ คือเป็นการแค่ระบุว่าสำนึกทางเพศของตัวบุคคลนั้นๆ แตกต่างจากเพศที่ถูกระบุตามกำเนิดของพวกเขาเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องพูดถึงความอึดอัดหรือทุกข์ใจจากเพศสภาพ ซึ่งไม่ใช่คนข้ามเพศทุกคนที่จะประสบกับความทุกข์ใจในเพศสภาพที่ว่านี้

นอกจาก WHO ที่ระบุว่าการเปลี่ยนแปลงนี้เพื่อเป็นการ "ลดการตีตรา" แล้ว ฮิวแมนไรท์วอทช์ยังเรียกร้องให้รัฐบาลต่างๆแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายเกี่ยวกับการรับรองเพศสถานะอย่างเร่งด่วนให้มีการตัดเกณฑ์กำหนดเรื่องการวินิจฉัยทางการแพทย์ที่ "ล้าสมัย" ออกไป

ออสการ์ ดาวีส์ ทนายความนอนไบนารี (ผู้ที่มีเพศสภาพไม่อยู่ในระบบสองเพศชายหญิง) แสดงความคิดเห็นต่อคำตัดสินว่าถึงแม้ว่าจะไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงใหญ่ๆ แบบที่ควรจะเป็น แต่อย่างน้อยก็ทำให้หญิงข้ามเพศที่ร้องเรียนเรื่องนี้ได้รับชัยชนะในเชิงสัญลักษณ์ โดยเฉพาะเรื่องการที่ผู้พิพากษาตัดสินว่าการต้องให้วินิจฉัยเรื่องความทุกข์ใจในเพศสภาพด้วยนั้นขัดแย้งกับมาตราที่ 8 ของอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (ECHR) ที่ระบุถึงการเคารพสิทธิในชีวิตส่วนตัวของบุคคล นอกจากนี้ผู้พิพากษายังเสนอให้ใช้คำเรียกที่เป็นการตัดการตีตราคนข้ามเพศออกไป

ดาวีส์กล่าวอีกว่าในช่วงที่มีการร่างกฎหมายรับรองเพศสถานะของอังกฤษนั้นพวกเขาไม่ได้มองเรื่องที่ว่าการระบุถึงการข้ามเพศในรูปแบบที่เสมือนเป็นโรคทางใจเป็นสิ่งที่ล่วงล้ำ ขัดแย้ง และสร้างบาดแผลให้กับคนข้ามเพศ แต่ในเมื่อนิยามทางการแพทย์ของนานาชาติเปลี่ยนไปแล้ว กฎหมายก็เลยต้องเปลี่ยนตามกาลเวลาไปด้วย โดยปรับให้สื่อถึงคนข้ามเพศในเชิงตีตราน้อยลง

สำหรับกฎหมายรับรองเพศสถานะในอังกฤษนั้นออกมาเมื่อปี 2547 กฎหมายระบุให้คนข้ามเพศสามารถเปลี่ยนการระบุเพศทางกฎหมายของตัวเองได้โดยการยื่นขอใบรับรองเพศสถานะ แล้วใบรับรองนี้จะสามารถนำไปปยื่นขอแก้เพศที่ระบุในใบสูติบัตรได้

อย่างไรก็ตามมีกระบวนการยื่นขอใบรับรองนี้ก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องที่มันไม่ครอบคลุมถึงนอนไบนารี ไปจนถึงเรื่องที่กระบวนการนี้ต้องอาศัยระยะเวลานานและอยู่ภายใต้อำนาจการตัดสินใจของบุคลากรทางการแพทย์ซึ่งอาจจะไม่ได้เข้าใจคนข้ามเพศเสมอไป พวกเขามีเกณฑ์กำหนดต้องให้คนข้ามเพศได้รับการวินิจฉัยเรื่องความทุกข์ใจในเพศสภาพ ให้คนข้ามเพศต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าพวกเขาใช้ชีวิตอยู่ภายใต้ "เพศสภาพที่พวกเขาได้รับมา" เป็นเวลาอย่างน้อย 2 ปีและมีเจตจำนงที่จะใช้ชีวิตภายใต้เพศนั้นๆ ไปตลอดชีวิต รวมถึงต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสของพวกเขาด้วย

นั่นทำให้คนข้ามเพศในอังกฤษต้องอาศัยรายงานทางการแพทย์ 2 ชุด ในการขอใบรับรองเปลี่ยนเพศทางกฎหมาย หนึ่งคือการวินิจฉัยโรคความทุกข์ใจในเพศสภาพ ซึ่งเป็นการวินิจฉัยทางจิตเวชที่ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญด้านเพศสภาพเท่านั้นถึงจะทำได้ และสองคือข้อมูลรายละเอียดใดๆ ก็ตามเกี่ยวกับการแปลงเพศในทางการแพทย์หรือความตั้งใจที่พวกเขาจะแปลงเพศในทางการแพทย์

มีการเรียกร้องให้ปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกระบวนการที่ล้าหลังเหล่านี้มาเป็นเวลาหลายปีแล้ว โดยเน้นเรียกร้องให้ยกเลิกกระบวนการรับรองทางแพทย์และทำให้กระบวนการขอรับรองเพศสถานะคล่องตัวมากขึ้น แต่เมื่อเดือน ก.ย. 2563 ลิซ ทรัสส์ รัฐมนตรีด้านความเท่าเทียมจากพรรคอนุรักษ์นิยมของอังกฤษก็ยุบแผนการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงกฎหมายนี้ถึงแม้ว่าจะมีการสนับสนุนให้มีการเปลี่ยนแปลงจากประชาชนจำนวนมากก็ตาม

หญิงข้ามเพศในไอร์แลนด์เหนือที่เป็นผู้ฟ้องร้องในเรื่องนี้เปิดเผยต่อเองว่าเป็นคนข้ามเพศมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว เธอส่งหลักฐานให้กับศาลเพื่อให้เห็นว่ากระบวนการที่เน้นการรรับรองทางการแพทย์นั้นทำให้เกิดการตีตราต่อคนข้ามเพศได้อย่างไร

เธอระบุว่าเธอรู้สึกอย่างแรงกล้าว่าการรับรองเพศสถานะของเธอไม่ควรจะถูกทำให้กลายเป็นการต้องพิสูจน์ต่อหน้าคณะกรรมการว่าเธอป่วยทางใจ ซึ่งเธอไม่เห็นด้วยเพราะการเป็นคนข้ามเพศสำหรับเธอไม่ใช่อาการป่วยแต่คือสิ่งที่เธอเป็น คือตัวตนแก่นแท้ของเธอ ไม่ใช่โรคหรือความป่วยไข้

กระนั้นก็ตามความก้าวหน้าจากศาลไอร์แลนด์ก็ยังไปไม่สุด เพราะพวกเขาไม่ยอมตัดสินอีกเรื่องหนึ่งให้เป็นไปตามคำร้องของหญิงข้ามเพศ คือเรื่องการยกเลิกการขอการรับรองจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งผู้พิพากษาสก็อฟฟิลด์ได้อ้างไว้ว่ายังต้องคงเรื่องการขอรับรองจากผู้เชี่ยวชาญไว้เพื่อ "ทำให้เกิดความสมดุล" ระหว่างคนข้ามเพศและ "คนจากในชุมชน"

ถึงจะไม่ทราบแน่ชัดว่า "คนในชุมชน" ที่ว่านั้นหมายถึงใคร แต่จากการสำรวจขององค์กรสโตนวอลล์ต่อกลุ่มตัวอย่าง 100,000 คนก็ระบุในทางตรงกันข้ามกับที่ผู้พิพากษาอ้าง

ผลการสำรวจดังกล่าวระบุว่ามีผู้คนมากกว่าร้อยละ 80 ต้องการให้มีการยกเลิกเกณฑ์กำหนดในเรื่องรายงานทางการแพทย์เพื่อการรับรองเพศสถานะ นอกจากนี้อีกมากกว่าครึ่งหนึ่งยังระบุว่าควรจะยกเลิกข้อจำกัดอื่นๆ เช่นการต้องขออนุญาตจากคู่สมรส และการบังคับให้ต้องมีหลักฐานว่าได้ใช้ชีวิตเป็นอีกเพศหนึ่งในช่วงระยะเวลาสองปีด้วย

เรียบเรียงจาก : 

  • Diagnosing trans people with gender dysphoria is ‘unnecessary’ for legal recognition, judge rules, Pink News, 23-05-2021 https://www.pinknews.co.uk/2021/05/20/gender-dysphoria-recognition-act-judicial-review-northern-ireland-high-court/
  • What does the UK Government announcement on the Gender Recognition Act mean?, Stonewall, https://www.stonewall.org.uk/what-does-uk-government-announcement-gender-recognition-act-mean
  • https://en.wikipedia.org/wiki/Gender_dysphoria
  • https://en.wikipedia.org/wiki/DSM-5
     

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net