Skip to main content
sharethis

ภาคีSaveบางกลอย โพสต์สรุปสถานการณ์คดี 28 กะเหรี่ยง กับคณะอนุกรรมการคดีและกฎหมายที่ยังไม่คืบหน้า ก่อนเคลื่อนไปทำเนียบรัฐบาล

24 พ.ค.2564  ภาคีSaveบางกลอย โพสต์รายงานสถานการณ์คดีกะเหรี่ยงบางกลอย 28 ราย กับคณะอนุกรรมการคดีและกฎหมายที่ยังไม่คืบหน้า โดยระบุว่าก่อนการเคลื่อนไหวของภาคีSaveบางกลอย ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพรุ่งนี้ (25 พ.ค.) เวลา 11.00 น. เป็นต้นไป ชวนย้อนมองสถานการณ์ทางคดีของชาวบางกลอย จากวันที่ถูกจับกุม สู่วันที่พนักงานสอบสวนจะส่งฟ้อง ในวันที่คณะกรรมการฯ ยังตกอยู่ในสภาพอัมพาต ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้

ดังนี้

  • 5 มีนาคม 2564 เจ้าหน้าที่สนธิกำลังไปที่บางกลอยบนเพื่อควบคุมตัวชาวบ้าน โดยกวาดต้อนชาวบ้านลงมาได้ทั้งหมด 85 คน มีหมายจับจากศาลจังหวัดเพชรบุรี 30 คน ในข้อหา “บุกรุก ก่นสร้าง แผ้วถาง ยึดถือครอบครอง กระทำการใดๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมสภาพหรือเปลี่ยนแปลงสภาพพื้นที่ไปจากเดิมแก่ป่าในเขตอุทยานแห่งชาติโดยไม่ได้รับอนุญาต” ตามมาตรา 19 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 ซึ่งกระบวนการดังกล่าวทำให้ชาวบ้านต้องรับสารภาพข้อกล่าวหา เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาตให้ทนายความที่ชาวบ้านไว้วางใจและญาติเข้าพบ จนทำให้ชาวบ้าน 22 คนที่ถูกจับกุมได้ในที่เกิดเหตุต้องถูกฝากขังทันที
  • 7 มีนาคม 2564 ชาวบ้าน 22 คนได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ โดยมีเงื่อนไขว่า “ห้ามผู้ต้องหากลับเข้าไปในพื้นที่ที่ถูกจับ และพื้นที่อุทยานที่ไม่ได้รับอนุญาต” เพื่อป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่สิ่งแวดล้อมในระหว่างการพิจารณาคดี และแต่งตั้งผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เป็นผู้กำกับดูแลเพื่อให้ผู้ต้องหาทั้ง 22 คน ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดโดยเคร่งครัด
  • 7-16 มีนาคม 2564 ชาวบ้านบางกลอยเข้าร่วมการชุมนุมกับภาคี #SAVEบางกลอย ณ สะพานชมัยมรุเชฐ ทำเนียบรัฐบาล ในระหว่างการปักหลักชุมชนและเจรจาให้เกิดการแก้ไขปัญหานั้น มีการเจรจาและเห็นชอบแนวทางว่า ให้พนักงานสอบสวนชะลอการดำเนินการใดๆ ไว้ก่อน ก่อนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีจะลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัยและที่ทำกิน รวมทั้งการพัฒนาและฟื้นฟูคุณภาพชีวิตของชาวกะเหรี่ยงในพื้นที่บ้านบางกลอย โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน
  • 25 มีนาคม 2564 คณะกรรมการฯ ประชุมนัดแรก โดยมีร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า เป็นประธานในที่ประชุม มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหา 5 ชุด ได้แก่ 1. คณะอนุกรรมการศึกษาประวัติศาสตร์การตั้งถิ่นฐานชุมชน และผลกระทบจากการประกาศอุทยานแห่งชาติ และการอพยพชุมชน 2. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหากฎหมาย 3. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาคดีความ 4. คณะกรรมการศึกษาแนวทางและผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ สัตว์ป่า และการให้การบริการทางนิเวศน์ กรณีการกลับไปอยู่อาศัยและทำกินที่บางกลอยบน และ 5. คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาที่ดินทำกิน ที่อยู่อาศัย และพัฒนาคุณภาพชีวิตบ้านบางกลอยล่าง
  • 26 มีนาคม 2564 ชาวบ้านบางกลอยอีก 7 คน เข้ามอบตัวต่อพนักงานสอบสวน ณ สถานีตำรวจภูธรอำเภอแก่งกระจาน โดยศาลจังหวัดเพชรบุรีมีคำสั่งปล่อยตัวชั่วคราวด้วยเงื่อนไข “ห้ามผู้ต้องหากลับเข้าไปในพื้นที่ที่ถูกจับ และพื้นที่อุทยานที่ไม่ได้รับอนุญาต” เช่น 22 คนแรก
  • 24 พฤษภาคม 2564 ชาวบ้านบางกลอยทั้งสิ้น 28 ราย (จากเดิม 30 ราย แต่เนื่องจากความผิดพลาดในการออกหมายศาลที่ทำให้ชื่อของชาวบ้าน 2 คนคลาดเคลื่อน) ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนให้ไปพบที่สถานีตำรวจภูธรอำเภอแก่งกระจาน เพื่อรับทราบข้อหาเพิ่มเติม ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 และ พระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507
  • 28 พฤษภาคม 2564 พนักงานสอบสวนแจ้งว่า ให้ชาวบ้านทั้ง 28 คน ไปพบพนักงานสอบสวนเพื่อนำตัวส่งฟ้องต่อพนักงานอัยการในวันดังกล่าว

"คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหากฎหมายและคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาคดีความ ยังไม่มีการประชุมจนถึงวันนี้ อ้างติดสถานการณ์โควิด-19 แต่กระบวนการทางคดียังดำเนินต่อไปแม้มีข้อตกลงว่าจะชะลอไว้จนกว่าจะได้แนวทางการแก้ไขปัญหาอันเป็นข้อยุติจากคณะอนุกรรมการฯ" ภาคีSaveบางกลอย ระบุตอนท้าย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net