Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

สภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมืองไทยทำให้เกิดกระแสคนจำนวนไม่น้อยอึดอัดถึงกับอยากย้ายออกจากประเทศ

ในฐานะคนสมัครใจย้ายมาอยู่ออสเตรเลีย เข้าปีที่ 20 อยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ข้อคิดบางด้าน


วีซ่าถาวร

ด่านแรกที่ยากที่สุดคือโอกาสได้วีซ่าถาวร วางแผน ศึกษาข้อมูลตั้งแต่ก่อนออกจากไทยว่าเส้นทางไหนพอเป็นไปได้เพื่อได้วีซ่าถาวร

การหวังทำงานไปด้วย เรียนไปด้วยเป็นไปได้ แต่ต้องทำงานหนักมากๆ และต้องเรียนสาขาที่สามารถสมัครวีซ่าถาวรได้ มิฉะนั้นค่าทำงานจะหมดไปกับค่าเรียนปีแล้วปีเล่า 

เรื่องตลกที่เจอบ่อยคือคนที่ได้วีซ่าถาวรไม่อยากอยู่ ส่วนใหญ่คือคนมีการศึกษาดี เส้นสายดีมาก หรือมีธุรกิจมั่นคงในไทย

ส่วนคนที่อยากอยู่ดิ้นรนหาวีซ่าแทบตาย


ความลำบาก

นอกจากอาชีพแพทย์ พยาบาล โปรแกรมเมอร์มีประสบการณ์และภาษาดีอยู่แล้ว อาชีพอื่นๆต้องเริ่มต้นใหม่กันแทบทั้งหมด

ความลำบากขึ้นกับความคาดหวังด้วย หากพร้อมทิ้งสถานะ ความคุ้นเคยเดิมๆ (Status, Comfort Zone) จะไม่ลำบากมาก

ถ้าใครถึงขนาดคิดว่าชีวิตคือความท้าทาย คือการหาประสบการณ์ใหม่ ความลำบากกลายเป็นกำไรชีวิต เพราะรายได้ขั้นต่ำสามารถ

ทำให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ระดับหนึ่ง แล้วค่อยขยับขยาย

คนอายุไม่เกิน 30 ต้นๆ พร้อมเริ่มต้นใหม่มีทางไปเสมอ โอกาสการศึกษาและหางานทำเปิดกว้างกว่าบ้านเรามาก


ความเหงา

ขึ้นกับติดอะไรที่เมืองไทยมากแค่ไหน เช่นพรรคพวก ญาติ อาหาร บรรยากาศ ขนมธรรมเนียม

หากมองโลกตามความเป็นจริง ชอบสังเกต ทำความเข้าใจวิธีคิด ค่านิยม ระบบคุณค่าใหม่ๆ ชีวิตเมืองนอกคือการเรียนรู้ตัวเองจากประสบการณ์ตรง


รุ่นต่อไป

สำหรับออสเตรเลีย เด็กที่กำลังเกิดมาสามารถโตขึ้นอย่างไม่กดดันมากนัก 

เพื่อให้เห็นภาพ คนจบใหม่ทำงานรัฐสามารถดาวน์บ้านได้หลังจากทำงานเพียง 3 ปี 

เด็กสายอาชีพ อายุ 21 มีความรับผิดชอบ รายได้ไม่น้อยกว่าคนจบปริญญา

คนรุ่นแรกที่ย้ายมาเสียเปรียบเรื่องการงาน ไม่ใช่เพราะการเหยียดเชื้อชาติ 

ปัญหาใหญ่คือภาษา วัฒนธรรม ที่ไม่กลมกลืน

รุ่นต่อไปเกิดที่นี่ โตที่นี่ ปัญหาเหล่านั้นหมดไปสิ้นเชิง ทุกคนแข่งกันบนจุดเริ่มต้นเท่ากัน


พลเมืองชั้นสอง?

เห็นนักข่าวคุณประวิตร โรจนพฤกษ์ ที่เคยอยู่อังกฤษ และอาจารย์อานนท์ที่นิด้า เคยอยู่นิวยอร์ค เปรยเรื่องพลเมืองชั้น 2 ชั้น 3

ที่ออสเตรเลียระบบค่าจ้าง ระบบสังคม กฎหมาย อนุญาตให้ทุกคน ไม่ขึ้นกับอาชีพ เชื้อชาติ

- สามารถหาสันทนาการเช่นชมคอนเสิร์ต หรือการแข่งขันออสเตรเลียนโอเพ้นท์ได้ 

- สามารถเรียนหนังสือได้ รัฐให้ทุนเรียนก่อนจ่ายทีหลังเมื่อมีรายได้ระดับหนึ่ง

- สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาล "สิทธิ์เดียวกัน" ไม่ว่าข้าราชการ หรือคนว่างงาน 

- เมื่อทำผิดกฎหมายกฎหมายมีหลายมาตรฐาน คือศาลจะเมตตา ให้โอกาสกับคนพิการ คนว่างงาน คนสิ้นหวังเป็นพิเศษ   และลงโทษมากเป็นพิเศษคนที่มีอำนาจ

- กรรมกร นั่งกินข้าวร้านเดียวกับรัฐมนตรี ผู้สำเร็จราชการ

การที่คนดำ หรือคนขาวสิ้นหวังตะโกนไล่เอเชียกลับบ้าน อาจทำให้เจ้าตัวเสียกำลังใจ

แต่คงไม่ร้ายแรงเท่ากับชาวบ้านที่อยู่บนที่ดินมาหลายชั่วคน อยู่ๆระบบกฎหมาย สังคมไล่เขาออกทั้งหมู่บ้าน

คงไม่ร้ายแรงเท่าคนยากจนทำผิดเล็กๆน้อยๆ ไม่มีเงินประกัน ต้องติดคุกยาวนาน

คงไม่ร้ายแรงเท่าคนไม่มีเส้นสายเป็นโรคร้ายแรงไม่มีเตียง แต่ข้าราชการ คนมีเส้นสายเป็นโรคธรรมดาได้เข้าห้องพิเศษโรงพยาบาลรัฐ

คงไม่ร้ายแรงเท่าคนทำงานขยันตลอดชีวิต แต่ระบบเศรษฐกิจสังคมไม่เปิดโอกาสให้ลืมตาอ้าปาก

ความเป็นพลเมืองชั้น 2 ในออสเตรเลียไม่มีอยู่จริงอย่างน้อยไม่มีจากระบบกฎหมายและรัฐบาล สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวจากปัจจัยจิตวิทยาของปัจเจกบุคคลที่สิ้นหวังพ่ายแพ้

สำหรับเมืองไทย ผมเข้าใจว่าคนคิดอยากออกจากไทย เพื่อหนีความเป็นพลเมืองชั้น 2 จากโครงสร้างกฎหมาย ระเบียบสังคมที่เห็นอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ทุกหนทุกแห่ง 

ไปเถิดหนุ่มสาว หากพร้อมมือหยาบด้าน เจ็บระบม แล้วได้สูดอากาศบริสุทธิ์ แลกเปลี่ยนมิตรภาพจากคนแปลกหน้า เงยหน้ามองฟ้าแล้วไม่รู้สึกมีอะไรกดทับไว้

ไปเถิดหนุ่มสาว หากเป้าหมายเพื่อกลมกลืนกับผู้คน มิใช่ความเป็นเจ้าคนนายคน

 

 

ปล. เร็วๆนี้บริษัทเหมืองแร่ยักษ์ใหญ่ริโอทินโต ทำการระเบิดถ้ำขนาดกระจิ๋วที่ชนพื้นเมืองถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ กระแสสังคมกดดันให้ผู้บริหารระดับสูง 3 คนรวมทั้งซีอีโอลาออก หากนึกภาพไม่ออกเปรียบเทียบสมมติปตท. หรือซิเมนต์ไทย ไประเบิดสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของชาวเขาสักเผ่าหนึ่ง แล้วเบอร์ 1 ต้องลาออกนะ คงเป็นไปไม่ได้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: CEO out as heads roll at Rio Tinto over Juukan Gorge blast

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net