Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทนำ: เรื่องเล่าความเหลื่อมล้ำจากตัวบทภาพยนตร์ White Tiger

พยัคฆ์ขาวรำพัน[1] (The White Tiger, 2021) ภาพยนตร์จากนวนิยาย พยัคฆ์ขาวรำพัน (The White Tiger) Aravind Adiga นักเขียนชาวอินเดีย เป็นเรื่องราวชีวิตของ พลราม ฮาลวัย ชายชาวอินเดียวรรณะต่ำที่ดิ้นรนเอาชนะอุปสรรคทางชนชั้นจนได้มาเป็นเจ้าของธุรกิจเดินรถแท็กซี่ ‘White Tiger Driver’ โครงเรื่องของภาพยนตร์เป็นการเล่าเรื่องจากการที่พลรามเขียนอีเมล์ไปยัง เหวินเจียเป่า นายกรัฐมนตรีของจีน พลรามเขียนจดหมายแนะนำตัวและเล่าถึงเรื่องราวภูมิหลังของตนเองที่ต้องดิ้นรนเอาชีวิตรอด ฟันฝ่ากำแพงทางชนชั้นที่กดทับ และสร้างความเหลื่อมล้ำอันน่าสังเวชสมเพศเวทนา พลรามได้เปรียบเทียบความยากเย็นในการดำรงชีวิตของเขาในวัยเด็กว่าเปรียบเสมือน ‘กรงไก่’ ว่า เมื่อครั้งพลรามยังเยาว์ เขาได้รับทุนจากโรงเรียนที่ชุมชนของเมืองเดลีที่เขาอาศัยอยู่ เนื่องมาจากโรงเรียนมองเห็นว่าเขามีความสามารถทางวิชาการสูงกว่านักเรียนในวัยเดียวกัน พลรามหัวดีขนาดที่ว่าทุกคนที่รู้จักขนานนามพลรามว่าเป็น ‘พยัคฆ์ขาว’ ซึ่งเป็นสัตว์หายากที่เชื่อกันว่าหนึ่งศตวรรษจะเกิดขึ้นมาเพียงหนึ่งตัว แต่เคราะห์กรรมจากโครงสร้างทางสังคมทำให้พลรามถูกบังคับออกจากโรงเรียนเพื่อไปทำงานจากความจำเป็นของครอบครัวที่ต้องหาเงินส่งค่าเช่าให้กับเจ้าของหมู่บ้านที่พลรามอาศัยอยู่ พลรามได้เข้าไปทำงานในร้านน้ำชาและเขามักจะแอบฟังคนที่มาดื่มน้ำชาคุยกัน ทำให้เขามีคลังความรู้หลากหลายด้านทั้งสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และลู่ทางในการไปสู่ชีวิตที่ดีกว่าที่เป็น พลรามค่อย ๆ หาทางดิ้นรนจนได้มาเป็นคนขับรถของมิสเตอร์อโศกและภรรยาซึ่งเป็นลูกชายของเจ้าของที่ดินที่พลรามอาศัยอยู่ แต่ทว่าคืนหนึ่งหลังปาร์ตี้งานวันเกิดของภรรยามิสเตอร์อโศก มิสเตอร์อโศกและภรรยาเมาหนัก เขาบังคับให้พลรามไปนั่งในที่ผู้โดยสารและให้ภรรยาของเขาขับรถ (ในขณะมึนเมาอยู่) เหตุไม่คาดฝันก็เกิดขึ้นเมื่อภรรยาของมิสเตอร์อโศกขับรถไปชนเด็กชายคนหนึ่งจนเสียชีวิต ทำให้พ่อของมิสเตอร์อโศกพยายามยัดเยียดการกระทำผิดให้พลรามเป็นแพะรับบาปแทน ทั้งการใช้อำนาจต่อรองกับผู้มีอำนาจในทางการเมือง รวมถึงเขียนจดหมายให้ย่าของพลรามเกลี้ยกล่อมพลรามว่า การรับผิดแทนเจ้านายเป็นความภาคภูมิของคนรับใช้ อย่างไรก็ตามโชคดีที่คดีจบลงจากอำนาจมืดในสถานีตำรวจ ต่อมาพลรามตัดสินใจทบทวนกับตัวว่า เขาต้องเป็นพยัคฆ์ขาวที่ต้องออกกรงไก่นี้ให้ได้ พลรามตัดสินใจฆาตกรรมมิสเตอร์อโศก และขโมยเงินจำนวนหนึ่ง ต่อมาพลรามติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้ไม่มีใครจับเขาได้ จากนั้นพลรามได้เป็นบริษัทเดินรถแท็กซี่ เขาหนีออกจากกรงไก่สำเร็จ และเปลี่ยนชื่อเป็น อโศก ชาร์มา ชื่อที่อ่านและสะกดเหมื่อนชื่อเดิมของเจ้านายของเขา


ว่าด้วยความหมายของความเหลื่อมล้ำ

ในช่วงปีถึงสองปีมานี้ เรามักจะได้ยินคำว่า ‘ความเหลื่อมล้ำ’ อยู่บ่อย ๆ เช่น ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม เป็นต้น ความเหลื่อมล้ำเป็นลักษณะของความไม่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงบางสิ่งบางอย่าง อาจเป็นความไม่เท่าเทียมกันด้านการศึกษา ความไม่เท่าเทียมกันของการแสดงความคิดเห็น ความไม่เท่าเทียมกันของการเข้าถึงทรัพยากรของรัฐ ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ เป็นต้น ซึ่งการเข้าถึงสิ่งต่าง ๆ ที่กล่าวมานี้เป็นหนทางนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่ประชาชนพึงได้รับจากรัฐ หรือกล่าวได้ว่า ความเท่าเทียมกันในการเข้าถึงปัจจัยสำคัญดังกล่าวไปนี้ไม่ว่าด้านใดก็ตามเท่ากับการที่ประชาชนคนหนึ่งเข้าถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และประเทศไหนที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยก็เท่ากับว่าคนในประเทศมีคุณภาพชีวิตที่ไม่แตกต่างกันมากนัก

สำหรับความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยที่ตอนนี้อยู่อันดับ 1 ของโลก (ข้อมูลปี 2018) เราสามารถอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ได้จากปรากฏการณ์ ‘จนกระจุก รวยกระจาย’ กล่าวคือ เป็นปรากฏการณ์ที่ผู้มีรายได้น้อยของประเทศมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และผู้มีรายได้สูงเป็นเพียงกลุ่มคนหรือบุคลลเพียงไม่กี่คนของประเทศที่ถือครองทรัพย์สินส่วนมาก (คนจนมีมากขึ้นและจนลง ๆ คนรวยก็เป็นกลุ่มคนเดิมๆ ที่รวยเอา ๆ) หรือ จากรายงานของ The Credit Suisse Global Wealth Report 2018 ชี้ว่า มีคนไทยเพียง 1 เปอร์เซนต์ที่มีทรัพย์สินเท่ากับ 66.9 เปอร์เซนต์ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ และมี 99 เปอร์เซต์ที่เหลือ ถือครองทรัพย์สิน 33.1 เปอร์เซนต์ของทรัพย์สินรวมทั้งประเทศ[2] การมีตัวเลขชี้วัดความเหลื่อมล้ำที่ต่างกันมากเช่นนี้ยิ่งชี้ชัดถึงคุณภาพชีวิตที่ต่างกันราวฟ้ากับเหวของคนในสังคมไทย

เมื่อหันมาทบทวนความเหลื่อมล้ำของพลราม พบว่าสิ่งที่พลรามพบเจอ คือ ความเหลื่อมล้ำทางสังคม ความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่ว่านี้เป็นแกนหลักที่ปรากฏและเป็นตัวเล่าเรื่องสำคัญ โดยถือกำเนิดมาจากโครงสร้างทางสังคมและศาสนาที่นำไปสู่มิติเศรษฐกิจและการเมือง


กรงไก่ของพลราม

ในภาพยนตร์ กรงไก่ ของพลรามคงเทียบได้กับโครงสร้างทางสังคมและศาสนา เมื่อสำรวจโครงสร้างทางสังคมและศาสนาของอินเดีย เราจำเป็นที่จะต้องย้อนกลับไปกล่าวถึงเรื่องของ ‘วรรณะ’ เนื่องจากระบบวรรณะซึ่งเป็นแนวคิดจากศาสนามีความเกี่ยวโยงกับอย่างแนบแน่นกับโครงสร้างทางสังคมจนไม่สามารถแยกออกจากกันได้ (เป็นเหตุผลว่า ผู้เขียนจึงใช้คำว่า ‘โครงสร้างทางสังคมและศาสนา’ เพื่อแสดงให้เห็นถึงการผูกติดกันของสองสิ่งนี้)

แนวคิดเรื่องวรรณะมีมาตั้งแต่โบราณกาล ปรากฏขึ้นครั้งแรกในคัมภีร์พระเวทซึ่งเป็นคัมภีร์เก่าแก่ของอินเดีย ตามความเชื่อในคัมภีร์เชื่อว่าวรรณะทั้งสี่เกิดมาจากพิธีกรรมปุรุษสุกตะ ผลของพิธีกรรมก่อให้เกิดวรรณะทั้งสี่ ได้แก่ พราหมณ์ กษัตริย์ แพศย์ (ไวศยะ) และ ศูทร และหน้าที่ของคนแต่ละวรรณะก็แตกต่างกันออกไป โดยหน้าที่จะสอดคล้องกันกับสัญญะที่เป็นที่มาของแต่ละวรรณะ พราหมณ์เกิดจากปากมีความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับทวยเทพ กษัตริย์เกิดจากแขนใช้แขนในการรบ แพศย์เกิดจากขาอ่อนทำหน้าที่เกษตรกรรมและค้าขาย และศูทรซึ่งเกิดจากเท้ามีหน้าที่เป็นแรงงาน ลูกจ้าง และคอยรับใช้วรรณะอื่น[3] การอธิบายการเกิดของระบบวรรณะเช่นนี้เป็นการอธิบายผ่านมุมมองศาสนาฮินดูซึ่งมีความสอดคล้องเชื่อมโยงกันกับการเกิดขึ้นของระบบวรรณะผ่านมุมมองทางประวัติศาสตร์ที่พบหลักฐานว่า ชาวอารยันซึ่งเป็นกลุ่มชนผิวขาวได้เข้ามารุกราน ชาวทรา-วิท ชนพื้นเมืองเดิมที่มีผิวคล้ำ ชาวอารยันสามารถเอาชนะและยึดครองพื้นที่ไว้ได้ ต่อมามีการกำหนดโครงสร้างจนเป็นระบบวรรณะโดยชาวอารยัน กำหนดไว้ว่าผู้ที่ถือครองในวรรณะพราหมณ์ กษัตริย์ และแพศย์ ผู้ที่ถือครองวรรณะเหล่านี้ทำได้เฉพาะชาวอารยันเท่านั้น ส่วนชาวทราวิทสามารถถือครองได้เฉพาะวรรณะศูทร ลักษณะที่เกิดขึ้นเป็นการตรากฏเกณฑ์บางอย่างเพื่อควบคุมหรือจัดการบริหารอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจปกครองและผู้อยู่ใต้อำนาจปกครอง หรือในมุมมองทางเศรษฐกิจเป็นการจัดสรรปันส่วนงาน ในลักษณะของการจัดสรรคนให้เหมาะสมกับงาน ผ่านการใช้ผิวสีเป็นเกณฑ์แบ่ง[4]

จะเห็นได้ว่ากรงไก่ที่พลรามอาศัยอยู่ถูกประกอบสร้างขึ้นจากมิติศาสนาเป็นแกนหลักสำคัญ โดยแนวคิดศาสนามีส่วนสำคัญในการวางโครงสร้างทางสังคม โครงสร้างทางสังคมที่ผูกติดกับแนวคิดระบบวรรณะที่เป็นความเชื่อโบราณ ลักษณะของโครงสร้างทางสังคมเช่นนี้ไม่เพียงทำงานในทางสังคมกายภาพในรูปแบบรูปธรรม แต่มันยังทำงานในรูปธรรมที่แทรกซึมอยู่ในสังคมแบบนามธรรม กล่าวคือ ภูมิหลังของความคิดความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันมาตามมิติศาสนาได้เป็นลิ่มหมุดแหลมสำคัญที่ผนึกจนผนวกเข้ากับความสำนึกของคนในอินเดียจนเป็นชีวิต การมองเห็นหรือทำความเข้าใจระบบวรรณะในมุมองของคนอินเดียจึงเป็นความไม่ปกติที่พยายามถูกสร้างให้ปกติ (จากแนวคิดทางศาสนา) และความปกติที่ (ไม่) ปกติที่ว่านี้เกิดขึ้นในระดับความสำนึกที่ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคมทั้งระดับความสำนึกและสังคมกายภาพซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำที่ถูกทำให้ต้องยอมรับ เราสามารถพบเห็นความปกติที่ (ไม่) ปกตินี้ในหลาย ๆ ฉากสำคัญ เช่น

ฉาก นาทีที่ 45.01 ขณะที่พลรามขับรถพามิสเตอร์อโศกและภรรยาไปยังหมูบ้านนกกระสา พลรามใช้มือแตะดวงตาซ้ายขวาและท้ายทอย มิสเตอร์อโศกจึงถามพลรามว่า

ASHOK: Balram, what did you just do? -- You touched your finger to your eye. Did we pass something holy?[5]

BALRAM: Yes, sir. We just passed a sacred tree. I was offering my respects.

จากนั้นพลรามเล่าถึงความศักดิ์สิทธิ์ของสถานที่บริเวณสองข้างทางที่กำลังขับรถผ่าน

BALRAM: That’s a holy path, sir, where the Lord Buddha walked until he found the tree of enlightenment. Pardon me, but you and Madam should really do the same. It’s very important. If you don’t, you will become infertile.

และพลรามรำพึงรำพันในใจที่ตนเล่าเรื่องความเชื่อของตนในเจ้านายฟัง

BALRAM: I gave them reactions of piety for every tree, rock and temple we passed. I was like a Sadhu to them.

ฉากนี้เราจะเห็นถึงความเชื่อที่มั่นคงและลึกซึ้งของชาวอินเดียที่มีต่อแนวคิดทางศาสนา จะเห็นได้ว่าแม้จะเป็นเพียงการรำพึงรำพันเปรียบเทียบ พลรามในฐานะตัวแทนของคนอินเดียในฉาก ได้เปรียบเทียบตนเองว่าเป็นพราหมณ์ในศาสนาฮินดูแสดงถึงความอยากที่จะไปอยู่ในวรรณะพราหมณ์ที่สูงขึ้นกว่าที่ตนเป็นอยู่ซึ่งความเป็นจริงอยู่ในวรรณะล่าง และความสำนึกความคิดที่คนอินเดียมีต่อศาสนา อธิบายตนเองผ่านศาสนา

ฉากนาที 1.03.42 หลักจากภรรยาของมิสเตอร์อโศกขับรถชนเด็ก พลรามกลับมาที่ห้องพัก เขาทิ้งตัวลงนอนและคิดในใจว่า

BALRAM: On my lips there was a big, contented smile that comes to a servant who has done his duty by his master even in the most difficult of moments.

จากนั้นภาพก็ตัดไปที่พระพุทธรูปขนาดเล็กที่วางอยู่บนหัวนอนของพลราม

การตัดภาพไปยังพระพุทธรูปหลังจากเสียงคิดในใจของพลรามเชื่อมโยงถึงความคิดของการเป็นคนรับใช้ที่ต้องจงรักภักดีต่อเจ้านายที่วรรณะสูงกว่าอย่างเต็มใจ ไม่ว่าเจ้านายต้องการสิ่งใดก็ต้องน้อมรับด้วยความเต็มใจ ภายใต้ความเชื่อที่มาจากศาสนา ฉากนี้จึงสะท้อนแนวคิดเรื่องระบบวรรณะที่ฝั่งรากลงในระดับจิตใจความสำนึกและแสดงออกชัดเจนออกมาในลักษณะโครงสร้างทาวสังคมที่ผู้ถือวรรณะต่ำกว่าต้องยอมรับสิ่งที่ถูกทำให้เป็นดังกล่าว และเหตุการณ์ต่อมาในภาพยนตร์ วันรุ่งขึ้นพลรามถูกเชิญให้ไปรับผิดแทนภรรยาของมิสเตอร์อโศก ถูกบังคับให้รับสารภาพผิดว่าตนเป็นคนขับรถชนคนตาย พลรามจิตตก เสียงครวญครางกับชะตากรรมดังขึ้นในใจเขา

BALRAM: Not once did I think I had options, not once did I think “I’ll tell the judge the truth,” or run away.

I was trapped in the Rooster Coop. And don’t believe for a second that there’s a million-rupee game show you can win to get out of it.

The World’s greatest democracy.

For hundreds of millions of people like me, there is only one way to break free.

I would have to accept what this man’s family would do - not just to me - but to my family.

And that takes no normal human being, but a freak, a pervert of nature. It would, in fact, take a White Tiger.

ลำดับภาพในเรื่องช่วงนี้แสดงถึงความสับสน งุนงง ความพยายามต้องการปลดแอกตนเองของพลรามให้รอดพ้นจากกรงไก่ที่ตนเองต้องอาศัยอยู่ เขาทบทวนอำนาจของศาสนาที่เขาเชื่อ ความถูกต้อง ความจริงที่เกิดขึ้น เขาพบว่าตนเองต้องอยู่ในกรงไก่ซึ่งเป็นชะตากรรมเดียวกับคนอีกจำนวนมาก เขาคิดว่าเขาต้องทำอะไรสักอย่างให้เป็นเสือขาวดังที่ถูกขนานนาม จากนั้นเจ้านายของพลรามก็เรียกเขาให้ไปพบ เรียกให้พลรามไปบีบนวดเท้า ภรรยาของมิสเตอร์อโศกเข้ามาบอกพลรามว่าเขาไม่ต้องรับโทษแล้ว เนื่องจากเจ้านายของเขามีเส้นสานในวงการตำรวจ พลรามเหมือนยกภูเขาออกจากอก พลรามวางศรีษะของเขาลงบนเข่าของเจ้านายด้วยความซาบซึ้ง

ความน่าสนใจของฉากนี้อยู่ที่การวางศีรษะลงบนเข่าของเจ้านายด้วยความซาบซึ้ง การวางศีรษะลงบนเข่าด้วยความซาบซึ้งของคนที่มีสถานะรองต่อคนที่มีอำนาจมากกว่า สะท้อนให้เห็นถึงระบบวรรณะที่มาจากความคิดเกี่ยวเทพเจ้าในทางศาสนาอย่างชัดเจน กล่าวคือ เป็นไปในลักษณะของเทพเจ้าในฐานะคนมีอำนาจเหนือกว่า (เทียบเท่ากับเจ้านายของพลราม) มีความสามารถในการประทาน มอบ หรือลงโทษ หรือทำอะไรก็ได้กับมนุษย์ในฐานะผู้อยู่ใต้อำนาจ (พลราม) หรือในทำนองเดียวกับกับชาวอารยันกำหนดระบบโครงทางสังคมให้เหนือกว่าชาวทราวิทที่เป็นความเชื่อที่ถูกเข้าใจว่า ไม่ว่าคนที่มีอำนาจเหนือกว่าจะทำอะไรต่อผู้อยู่ใต้อำนาจต่างล้วนเป็นความเมตตาหรือสิ่งดีงามที่คนมีอำนาจเลือกให้กับผู้อยู่ใต้อำนาจ ผู้อยู่ใต้อำนาจพึงน้อมรับไว้และพึงซาบซึ้งเมตตาต่อความกรุณาที่ผู้มีอำนาจมอบให้

ตัวอย่างฉากต่าง ๆ ที่ยกมานี้ แสดงถึงกรงไก่ของพลรามที่ถูกทำให้เป็นจากภูมิหลังทางศาสนาและประวัติศาสตร์ รวมไปถึงการยอมรับการมีอยู่ของกรงไก่ที่ไก่ในกรงไม่อาจฝืนชะตากรรมได้ แต่ก็ใช่ว่าไก่ทุกตัวจะยอมอยู่ในกรง และยอมเป็นไก่ตลอดไป


การกระโจนของเสือขาว

ภายหลังที่พลรามเริ่มตั้งคำถามกับกรงไก่ และเขารอดจากการถูกใช้เป็นเครื่องมือในการรับโทษแทนภรรยาของมิสเตอร์อโศก พลรามเริ่มตระหนักรู้แล้วว่าที่ผ่านมาแม้ว่าเขาจะรับใช้มิสเตอร์อโศกด้วยความจงรักภักดีมากเท่าใดก็ไม่ได้การันตีถึงความปลอดภัยและความมั่นคงในชีวิตของเขา พลรามแอบนำรถที่ขับรับส่งมิสเตอร์อโศกไปวิ่งรับงานนอก และตัดสินใจฆาตกรรมมิสเตอร์อโศกและขโมยเงินจำนวนหนึ่งไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเปิดบริษัทเดินรถ

การฆาตกรรมมิสเตอร์อโศก ผู้เขียนขอเรียกมันว่า การกระโจนของเสือขาว การกระโจนของเสือขาวออกจากกรงไก่ที่เกิดขึ้นของพลรามในภาพยนตร์ เป็นการกระโจนที่พังทลายบางสิ่งบางอย่าง และการพังทลายที่เกิดขึ้น แม้จะเป็นการพังทลายเพียงมิติเดียวแต่ส่งผลให้เกิดผลกระทบในหลายมิติพร้อม ๆ กัน สิ่งที่ผู้เขียนกำลังจะนำเสนอก็คือ สิ่งที่พลรามทำให้เกิดการพังทลาย คือ การฆาตกรรม หรือการฆ่าชีวิต ซึ่งการกระทำเช่นนี้พลรามได้เลือกที่จะพังทลายกำแพงในมิติที่ลึกที่สุด มิติที่ที่เป็นแกนหลักในการประกอบสร้างโครงสร้างทางสังคมของอินเดียที่สุด นั่นคือ การทลายกำแพงทางศาสนา การฆ่าคนแน่นอนว่าเป็นความผิดทางศาสนาทุกศาสนาและยังผิดต่อระบบจริย-ศาสตร์เชิงหน้าที่ของนักปรัชญาชาวเยอรมันอย่างอิมมานูเอ็ล ค้านท์ (Immanuel Kant, 1724-1804) สำหรับการฆ่าของพลรามเป็นการฆ่าในฐานะเครื่องมือพังทลายระบบบางอย่างของสังคม เป็นการเลือกที่เกิดจากการตื่นรู้ของเขาเกี่ยวกับกับกรงไก่ พลรามเริ่มต้นพังทลายระบบศีลธรรมทางศาสนาอันเป็นรากฐานสำคัญเพื่อก้าวพ้นความเป็นชนชั้นในโครงสร้างทางสังคม การกระทำเดียวกันนี้พลรามพังทลายความเข้าใจของเขาต่อแนวคิดระบบวรรณะของสังคมอินเดียที่ ขณะเดียวกันพลรามก็ได้ปลดแอกอำนาจระหว่างผู้มีอำนาจและผู้อยู่ใต้อำนาจในทางการเมืองแม้จะเป็นระดับเล็กก็ตาม การพังทลายกำแพงทางศาสนา ทำให้เขาก้าวไปสู่การมีโอกาสสัมผัสชีวิตที่ไม่ต้องรับใช้ใคร ไม่ต้องเป็นทาสใคร การมีชีวิตในแบบที่ตนเองต้องการ


บทสรุป: เสือขาวเขี้ยวคม

The White Tiger บทสรุปสำคัญไว้ให้เรา 2 ประการ ประการแรก คือ สะท้อนให้เห็นถึงการทำงานของระบบความคิดความเชื่อของศาสนา ระบบวรรณะ ที่ฝังรากลึกในสโครงสร้างทางสังคมของอินเดียที่ลึกจนถึงขั้นฝังอยู่ในความสำนึกของคนอินเดีย และเป็นแกนหลักสำคัญในการประกอบสร้างชนชั้น และ ความเหลื่อมล้ำในสังคมอินเดียซึ่งแกนหลักของระบบนี้ส่งผลถึงมิติทางการเมือง และ เศรษฐกิจ ตามมา จนกลายเป็นกรงไก่ของพลรามในภาพยนตร์ ประการที่สอง คือ ภาพยนตร์แสดงการพังทลายกรงไก่ผ่านการละเมิดระบบศีลธรรมทางศาสนาอันเป็นรากฐานสำคัญเพื่อก้าวพ้นความเป็นชนชั้นในโครงสร้างทางสังคม ทางออกคือการฆ่าที่นำไปสู่การบรรลุเป้าหมายที่ต้องการและก้าวข้ามความเป็นชนชั้น ทางออกเดียวที่ภาพยนตร์เสนอ คือ การละเมิดระบบศีลธรรมทางศาสนายิ่งตอกย้ำความมั่นคงของศาสนาที่เป็นรากแก้วของโครงสร้างทางสังคมอินเดีย

อย่างไรก็ตาม เมื่อหันกลับมามองที่ประเทศไทย น่าครุ่นคิดต่อไปว่า ประเทศไทยมีกรงไก่หรือไม่? หากมีแล้วเป็นกรงไก่แบบใด? และหากจินตนาการถึงการออกจากกรงไก่เราควรเริ่มต้นที่จุดใดของกรงไก่ และออกด้วยวิธีการเช่นใด?

 

 

อ้างอิง

[3] สมหวัง แก้วสุฟอง. (2561). การดำรงอยู่ของระบบวรรณะในสังคมอินเดีย. วารสารปณิธาน: วารสารวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา. 14(2). 115-134. จาก https://so05.tci-thaijo.org/index.php/panidhana/article/view/151882/ 110950

[4] สมหวัง แก้วสุฟอง. (2559). ระบบวรรณะ: ปัญหาและทางออกในมุมมองของ มหาตมะ คานธี และ ดร. บี. อาร์ อัมเบดการ์. วารสารปณิธาน: วารสารวิชาการด้านปรัชญาและศาสนา. 12(2). 121-139. จาก  https://so05.tci-thaijo.org/index.php/ panidhana/article/view/150132/110102

[5] บทภาพยนตร์ทุกบทที่ยกมาในบทความนี้อ้างอิงจาก https://script-pdf.s3-us-west-2.amazonaws.com/white-tiger-the-script-pdf.pdf

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net