Skip to main content
sharethis

พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาจากโควิด-19 จำนวน 500,000 ล้านบาทประกาศใช้แล้วสาธารณสุขได้ 30,000 ล้านจัดหายาและวัคซีนรวมถึงวิจัยวัคซีนที่เหลือ 470,000 ล้านบาทเป็นเงินเยียวยาชดเชยและฟื้นฟูเศรฐกิจ

25 พ.ค.2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ. 2564 ซึ่งจะให้กระทรวงการคลังสามารรถกู้เงินบาทหรือเงินตราต่างประเทศ หรือออกตราสารหนี้ได้ไม่เกิน 500,000 ล้านบาท

พ.ร.ก.กู้เงินฯ ฉบับนี้มีการกำหนดไว้ในมาตรา 5 ว่าเงินที่กู้มาตามอำนาจที่พ.ร.ก.ฉบับนี้ให้ใช้ตาม 3 แผนงานดังต่อไปนี้

  1. แผนงานเพื่อแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 30,000 ล้านบาทที่มีกระทรวงสาธารณสุขและหน่วยงานรัฐที่ ครม.มอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบในการจัดหาเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนภายในประเทศ รวมทั้งการปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข
  2. เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย ให้แก่ประชาชนทุกสาขาอาชีพ ซึ่งได้รับผลกระทบ จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 300,000 ล้านบาทที่มีกระทรวงการคลังและหน่วยงานรัฐที่ ครม.มอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบในการบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน และช่วยเหลือผู้ประกอบอาชีพหรือผู้ประกอบการทุกสาขาอาชีพให้สามารถประกอบอาชีพหรือดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง
  3. เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 วงเงิน 170,000 ล้านบาท โดยมีกระทรวงการคลังและหน่วยงานรัฐที่ ครม.มอบหมายเป็นผู้รับผิดชอบในการรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค ในระบบเศรษฐกิจของประเทศ

นอกจาก 3 แผนงานข้างต้นที่ระบุไว้ในพ.ร.ก.เงินกู้จำนวน 500,000 ล้านบาทนี้จะไม่สามารถนำไปใช้เพื่อการอื่นได้

นอกจากนั้นการกู้เงินตามพ.ร.ก.ตามฉบับ 2564 นี้จะไม่กระทบต่ออำนาจการกู้เงินหรืออกตราสารหนี้ของกระทรวงการคลังตาม พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ฉบับของปีที่แล้ว(พ.ศ.2563) ทั้งนี้ในส่วนการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้และการบริหารจัดการให้เป็นไปตามฉบับ 2563 ด้วย

'เพื่อไทย' ห่วง พ.ร.ก.เงินกู้ 7 แสนล้าน เพิ่มแต่หนี้ ไม่แก้ปัญหา

ทั้งนี้สัปดาห์ที่ผ่านมาในขณะที่สังคมกำลังจับตามองว่าที่ประชุมจะมีมติอย่างไรต่อการออกพ.ร.ก.กู้เงิน 700,000 ล้านบาทในสถานการณ์ที่การะทรวงการคลังคาดการณ์ภายในสิ้นเดือนมีนาคม 2564 ว่าไทยมีหนี้สาธารณะอยู่ที่ 8.47 ล้านล้านบาทซึ่งเป็น 54.28% ของ GDP แล้ว แต่ภายหลังการประชุมหลังที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ผ่าน พ.ร.ก.ดังกล่าว กลับมีการรายงานว่าการประชุมเรื่องนี้เป็นวาระลับและเอกสารการประชุม ครม.ส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการออกพ.ร.ก.ก็กลายเป็นเอกสารลับไป

นอกจากนั้นในการประชุม ครม. รอบสัปดาห์ก่อน(18 พ.ค.2564) ครม.ยังมีมติเห็นชอบให้นำเงินกู้ตามพ.ร.ก.นี้ไปใช้ในมาตรการแก้ไขกรณีงบประมาณรายจ่ายลงทุน มีจำนวนน้อยกว่าวงเงินส่วนที่ขาดดุลของงบประมาณประจำปีที่เสนอโดยสำนักงบประมาณด้วย ซึ่งในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 วงเงินขาดดุลของงบประมาณกำหนดไว้จำนวน 700,000 ล้านบาท ซึ่งในมาตรการดังกล่าวที่ ครม.มีมติเห็นชอบมี 3 มาตรการ

  1. การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (Public Private Partnership: PPP)
  2. กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย (Thailand Future Fund)
  3. การใช้เงินกู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net