Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อาจารย์เกษียร เตชะพีระโพสต์ในเฟสบุ๊คของท่านว่า นายกฯ ประยุทธ์จัดการปัญหาทุกเรื่องด้วยวิธี single command แบบทหาร ซึ่งใช้ไม่ได้กับบรรดาปัญหาทั้งหลายในสังคมซึ่งมีความสลับซับซ้อนกว่าภารกิจทางทหารเพียงอย่างเดียว (อย่างน้อยก็เพราะทรัพยากรทั้งหลายที่จำเป็นในภารกิจไม่ได้อยู่ในมือของกองทัพฝ่ายเดียว ซ้ำส่วนใหญ่อยู่ในมือคนอื่นเสียด้วย – ตามความเห็นเพิ่มเติมของผมเอง)

อาจารย์เกษียรท่านใช้คำเรียก single command แบบทหารเช่นนี้ว่า “ทึ่มมะลื่อทื่อ” ผมชอบมาก เพราะโตมากับคำว่า “ทื่อมะลื่อ หรือมะลื่อทื่อ” ซึ่งฟังดูไม่เหมาะกับสถานการณ์ปัจจุบันไปเสียแล้ว

ผมไม่มีความเห็นอะไรแย้งกับโพสต์ของท่าน แต่เมื่ออ่านแล้วทำให้เกิดความวิตกไปอีกอย่างหนึ่ง คือเห็นด้วยว่า single command นั้นมีความจำเป็นในภารกิจบางอย่างบางสถานการณ์ โดยเฉพาะทางทหาร แต่ผมค่อนข้างเชื่อว่า ทหารไทยระดับผู้บัญชาการระดับสูงไม่เข้าใจ single command หรือถึงเข้าใจก็รู้อยู่ว่าไม่อาจทำได้จริง

single command หมายถึงการระดมสรรพทรัพยากรในมือ ทั้งที่เป็นทรัพยากรรูปธรรมและนามธรรม เข้ามาร่วมกันทำงาน เพื่อเป้าหมายคือความสำเร็จในภารกิจ สิ่งที่ต้อง single อย่างยิ่งคือภารกิจครับ ไม่ใช่ commander

ย้อนกลับไปดูประวัติการรบของกองทัพสมัยใหม่ของไทย นับตั้งแต่ “ปราบฮ่อ”, “เงี้ยวเมืองแพร่”, สงครามกับอินโดจีนฝรั่งเศส, ยึดครองเชียงตุง, จนถึงผกค. และการรบที่บ้านร่มเกล้า จากหลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่ารายงานราชการ ปฏิบัติการเหล่านั้นล้วนห่างไกลจากอุดมคติของ single command ทั้งนั้น หน่วยต่างๆ ล้วนปฏิบัติการไปตามภารกิจเฉพาะหน้ามากกว่าเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจใหญ่ที่วางแผนล่วงหน้า และนิยามไว้อย่างแจ่มชัดแล้ว ทั้งเป้าหมาย, วิธีการ, และหวังผลอะไร

ประวัติการรบของกองทัพไทยมีแต่ single commander ไม่เคยปฏิบัติด้วย single command เลย

ผมไม่ได้หมายความว่ารบทีไรก็แพ้ทุกทีนะครับ แพ้ก็มีชนะก็มี แต่ปัจจัยที่ทำให้แพ้หรือชนะไม่ได้อยู่ที่สมรรถนะทางทหารเท่ากับปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ (เช่นการเมืองระหว่างประเทศ, กำลังทัพที่เหนือกว่าอย่างล้นเหลือ โดยเฉพาะเมื่อต้องรบกับคนไทยด้วยกันเอง,ฯลฯ) กลายเป็นเรื่อง “ตามบุญตามกรรม” ไปเสียฉิบ

ทำไมกองทัพสมัยใหม่ของไทยจึงตกอยู่ในสภาพเช่นนี้? คงอธิบายกันได้หลายนัยยะ และก็ถูกทั้งนั้นด้วย แต่ผมอยากอธิบายจากอะไรที่ใหญ่กว่าเงื่อนไขต่างๆ ในการเมืองไทย แล้วค่อยย้อนกลับมาใช้อธิบายเงื่อนไขภายในของเราเอง

ขึ้นชื่อว่าจัดองค์กร หนึ่งในจุดมุ่งหมายที่ทำก็คือเพื่อแย่งชิงทรัพยากร (ทุกชนิด) กับคุมอำนาจในการจัดสรรทรัพยากร (ทุกชนิด) ไม่เฉพาะแต่องค์กรสมัยใหม่นะครับ วัดก็ใช่, กลุ่มเอามื้อเอาวันของชาวนาก็ใช่, กรมอาลักษณ์ก็ใช่, กรมโหรก็ใช่, ฯลฯ ทั้งนั้นแหละครับ

รัฐสมัยใหม่มีอำนาจมากขึ้นอย่างเทียบไม่ได้กับรัฐจารีต ฉะนั้นองค์กรภาครัฐจึงยิ่งมีพลังในการแย่งชิงและควบคุมทรัพยากรมหาศาลขึ้นไปกว่าเก่าอย่างมาก การแข่งขันกันเองจึงมีความรุนแรงและซับซ้อนซ่อนเงื่อนด้วยยุทธวิธีที่หลากหลายจนตามไม่ทัน เป็นเหตุให้ “ภารกิจ” ทางสังคมขององค์กรด้อยความสำคัญลงไปกว่าการแย่งชิงและควบคุมทรัพยากร

และในบรรดาองค์กรรัฐทั้งหลาย กองทัพคือองค์กรที่มีกำลังสูงมาก ค่อนข้างเป็นอิสระจากการควบคุมของหน่วยอื่น เพราะภารกิจของกองทัพบังคับให้ต้องเป็นเช่นนั้น (ในระดับหนึ่ง) ด้วยเหตุดังนั้น กองทัพของทุกรัฐสมัยใหม่จึงมีแนวโน้มจะเข้าแย่งชิงทรัพยากรกลางอย่างอุกอาจบ้าง อย่างเนียนๆ แต่ก็ชิ้นใหญ่บ้างอยู่ตลอดเวลา

ยิ่งในรัฐที่ผู้นำประเทศขาดความชอบธรรมทางการเมือง หรือความชอบธรรมตามประเพณีอ่อนกำลังลง กองทัพก็ยิ่งเป็นองค์กรรัฐที่ถูกใช้เพื่อปกป้องคุ้มครองผู้นำมากขึ้น และไหนๆ ก็ไหนๆ แล้ว กองทัพก็เข้ามาเป็นผู้นำเสียเอง โดยร่วมมือกับคนกลุ่มอื่นซึ่งมีปัญหาด้านความชอบธรรมเหมือนกันเช่นนายทุนผูกขาด, นักเลงท้องถิ่น, เนติบริกร, นักการเมืองหน้าซีดๆ, นักวิชาการที่ไม่มีทางเอาดีทางวิชาการได้, และแน่นอนเหล่าข้าราชการซึ่งชีวิตการงานของเขาขาด “ความหมาย”แก่ชีวิตโดยสิ้นเชิง

(โดยทัศนะส่วนตัว “ความหมาย”ชีวิตเกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมี social mission บางอย่างที่แต่ละคนสร้างแก่ตนเอง แม้เป็น mission ผิดๆ เช่นคิดวางระเบิดผู้นำชั่วๆ ก็ยังมี “ความหมาย” แก่ตัวเขาเป็นอย่างน้อย)

รัฐสมัยใหม่ต้องการองค์กรรัฐที่เข้มแข็งมีพลัง แต่ความเข้มแข็งมีพลังกลับทำให้การแข่งขันเพื่อทรัพยากรรุนแรงเข้มข้นขึ้น จนรัฐสมัยใหม่หมดสมรรถนะที่จะทำภารกิจของตนเองให้ได้ผล จะแก้ปัญหาได้อย่างไร?

คำตอบก็คือ ประการแรก ไม่มีใครแก้ให้เป็นศูนย์ได้ ไม่ว่าจะเป็นประเทศพัฒนาไปไกลแล้วแค่ไหนก็ตาม ประการที่สองก็คือ ดึงเอา “คนนอก” เข้ามามีส่วนร่วมในการแย่งชิงและจัดสรรให้มากและกว้างขวางที่สุดเท่าที่จะทำได้ คนเหล่านี้คือที่เราเรียกรวมๆ ว่า “ประชาชน” ไงครับ

มีคนแย่งชิงมากขึ้น ไม่ได้หมายความว่าหยุดการแย่งชิง แต่เพื่อให้การแย่งชิงไม่เป็นอันตรายต่อทรัพยากรจนเกินไป จึงจำเป็นต้องจัดระเบียบการแย่งชิง ที่เราเรียกว่า “ประชาธิปไตย” นี่แหละครับ ระเบียบของการแย่งชิงทำให้เกิดการกระจายทรัพยากรอย่างเป็นธรรมขึ้น ไม่ถึงกับเต็มร้อยหรอกนะครับ แต่ก็เป็นธรรมขึ้นมากพอที่จะทำให้ผู้คนส่วนมากพอใจ หรือถ้าไม่พอใจ ก็อาจโวยวายเพื่อแก้ไขระเบียบกันใหม่ได้

ย้อนกลับมาดูประเทศไทย เราล้มเหลวในการสถาปนาระเบียบประชาธิปไตยมายาวนาน เพราะองค์กรภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนในการแย่งชิงทรัพยากร คอยขัดขวางมิให้ระเบียบประชาธิปไตยได้รับการสถาปนาอย่่างยั่งยืนขึ้นได้ในเมืองไทย แย่งกันคนน้อยๆ หน่อย เกี้ยเซี้ยก็ง่าย, งัดบางกลุ่มออกไปก็ง่าย, กล่อมคนนอกก็ง่าย, ฯลฯ ในที่สุดทรัพยากรก็ไหลเวียนกันอยู่ในมือคนกลุ่มน้อยเหล่านี้ จนเป็นที่พอใจทุกฝ่าย ถ้าไม่พอใจก็งัดกันใหม่ แต่ถึงใหม่อย่างไรก็จำกัดวง “ขาไพ่” ไว้เท่าเดิม

คราวนี้ เจาะลงมาดูองค์กรภาครัฐไทย โดยเฉพาะกองทัพ

น่าสนใจนะครับ องค์กรภาครัฐไทยใช้ “ยุทธวิธี” อยู่ไม่กี่อย่าง เปรียบเทียบกับประเทศอื่นอีกหลายประเทศ องค์กรภาครัฐของเขาพัฒนายุทธวิธีแย่งชิงทรัพยากรกันอย่างซับซ้อนหลากหลายมาก (จนตามไม่ทันอย่างที่กล่าว โดยเฉพาะในสังคมที่มีสื่อต่ำทราม)

ยุทธวิธีดังกล่าวผมเห็นว่าคล้ายกับยุทธวิธีของหัวไม้ คือเกาะกลุ่มกันเพื่อต่อรองกับกลุ่มอื่น แล้วใช้ coercive force ซึ่งผมขอแปลว่า “พลังบี้” (บ.ใบไม้นะครับ) อย่านึกว่าหน่วยงานที่ไม่ใช่กองกำลังติดอาวุธจะไม่มีพลังบี้ เพราะเขาใช้พลังบี้มุมกลับซึ่งร้ายแรงไม่น้อยไปกว่ากัน เช่นทำให้หลักฐานการทุจริตของฝ่ายพรรคพวกตัวเองลอยน้ำหายไปทั้งหมด อ่านกฏหมายให้ความผิด-กลายเป็นความถูก หรือถูกกลายเป็นผิด จนถึงทำป่าดีๆ ให้แหว่งไปก็ได้

ใครจะอยากเป็นศัตรูกับหน่วยงานที่มีพลังบี้มุมกลับล่ะครับ

แน่นอนกองทัพย่อมมีพลังบี้ตรงๆ ได้เลย และเมื่ออาจฉีกรัฐธรรมนูญได้ตามใจชอบ ก็ไม่อยู่ในความควบคุมของกฏหมายใดๆ อีกแล้ว นอกจากพลังทาง “สังคม” ซึ่งประกอบด้วยหลายองค์กรและสลับซับซ้อน และกองทัพต้องแสวงหาความร่วมมือ

แม้แต่เมื่อมีรัฐมนตรีเข้ามาใหม่ (จากการเลือกตั้งหรือกองทัพก็ตาม) รัฐมนตรีก็ต้องเลือกว่าจะเอาหัวไม้กลุ่มไหน หากอยากได้กลับมาเป็นอีกก็ตาม อยากทำงานให้ลุล่วงไปบ้างก็ตาม ย่อมต้องเลือกกลุ่มหัวไม้ที่แข็งแรงไว้ก่อนเป็นธรรมดา มีมิตรที่แข็งแรงย่อมดีกว่ามีศัตรูที่แข็งแรง

การรวมกลุ่มของพวกหัวไม้ไทยเหล่านี้ใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวเป็นหลัก ขยายความสัมพันธ์ตามประเพณีขึ้นมาตามลำดับของพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคม ดังนั้นโดยพื้นฐานคือเครือญาติ, โรงเรียนเก่า, รุ่นในโรงเรียนทหาร, หน่วยในกรมกองของกองทัพหรือราชการพลเรือน, ฯลฯ

แน่นอนว่าฐานของการเกาะกลุ่มหัวไม้ย่อมเปลี่ยนไปตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมดังกล่าวแล้ว “ทหารเสือพระราชินี”นี่น่าสนใจนะครับ เพราะเป็นกรมทหารที่ประกอบด้วยหน่วยรบหลายประเภท ทำให้ “เครือข่าย” ที่สร้างขึ้นเพื่อต่อรองอำนาจขยายไปครอบคลุมทั่วกองทัพได้กว้างขวาง

อันที่จริงพวกหัวไม้ในกองทัพรู้มานานแล้วว่า การเข้ายึดกุมอำนาจเพื่อแย่งชิงทรัพยากรนั้น จำเป็นต้องอาศัยเครือข่ายที่กว้างกว่าญาติ, เพื่อน, รุ่น, หน่วย หรือแม้แต่กองทัพเดียว นั่นคือเหตุผลที่การเกาะกลุ่มเปลี่ยนจากรุ่นของ ร.ร.นายร้อยมาเป็น ร.ร.เตรียมทหารแทน เพราะจะทำให้เครือข่ายขยายข้ามกองทัพได้

แต่มาในระยะหลัง เครือข่ายทหารอย่างเดียวก็ไม่พอที่จะแย่งชิงทรัพยากรได้เด็ดขาดนัก จำเป็นต้องขยายเครือข่ายออกไปนอกกองทัพอย่างกว้างขวางกว่านั้นอีกมาก เพื่อรวมพ่อค้านายทุน, ข้าราชการพลเรือน, นักการเมืองในคราบต่างๆ เช่นนิติศาสตร์, เศรษฐศาสตร์, แพทยศาสตร์, ผู้จงรักภักดี, ฯลฯ และด้วยเหตุดังนั้น คำอภิปรายเรื่องป่ารอยต่อของส.ส.รังสิมันต์ โรมจึงน่าจับตาทางวิชาการเป็นอย่างยิ่ง ไม่ใช่เรื่องของความปลอดภัยของทรัพย์แผ่นดินในรูปต่างๆ อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของการเกาะกลุ่มการเมืองของเหล่าหัวไม้ที่เปลี่ยนไป เพื่อตอบสนองเกมการแย่งชิงและควบคุมทรัพยากรในสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนไปเช่นกัน

ไล่มาแต่ศิษย์เก่าโรงเรียนเซนต์ฯ ไปจนถึงผู้ค้าอาวุธ, นายทุนใหญ่หลายประเภทผู้รังเกียจการแข่งขันอย่างเสรีและเท่าเทียมในตลาด, ข้าราชการที่หมายจะเอาดีทางลัด ม็อบอันธพาล (ซึ่งกองทัพก็ร่วมจัดตั้งขึ้น), กลุ่มและองค์กรที่อ้างความสัมพันธ์กับสถาบัน, ฯลฯ

ถ้าจะอธิบายว่า ทำไม คสช.จึงคุมอำนาจมาได้อย่างสืบเนื่องถึง 8 ปี โดยทำอะไรไม่สำเร็จสักอย่าง ผมคิดว่าเครือข่ายหัวไม้ที่กว้างขวางและสอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนี้ อธิบายได้ถูกต้องกว่า “มีปืนอยู่ในมือนี่หว่า”

แตกต่างจากสมัยสฤษฎิ์-ถนอม-ประภาส ซึ่งอย่างน้อยก็เปลี่ยนโฉมหน้าเศรษฐกิจไทยไปอย่างไพศาล ให้กำเนิดแก่บรรพบุรุษสลิ่มจำนวนมาก จนทำให้สังคมไทยกลายเป็นสังคมใหม่อีกชนิดหนึ่งที่ต่างไปจากเดิมลิบลับ ไม่ว่าความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจดังกล่าวจะเกิดจากฝีมือของพวกเขาหรือไม่ก็ตาม

ในวัฒนธรรมการสร้างความเป็นปึกแผ่น (solidarity) ของกลุ่มแบบไทย บุคลิกของหัวหน้ามีความสำคัญมากในอันที่จะทำให้กลุ่มเกิดการผนึกตัวได้เข้มแข็งเพียงไร (แน่นอนว่า อุดมการณ์, ผลประโยชน์, สายบังคับบัญชา, ทรัพยากรในมือ, ฯลฯ ก็สำคัญเหมือนกัน แต่บุคลิกของหัวหน้ามีความสำคัญกว่าการสร้างความเป็นปึกแผ่นของกลุ่มในวัฒนธรรมอื่น) และด้วยเหตุดังนั้น เมื่อกองทัพเข้ามาแย่งชิงและควบคุมทรัพยากรหรือแทรกแซงการเมืองอย่างหนักเช่นกองทัพไทย single command จึงมีความสำคัญน้อยกว่า single commander

ถ้าอยากสร้างกลุ่มที่มีสมรรถนะในการแย่งชิงและควบคุมทรัพยากรได้ดี ต้องคิดถึงผู้นำให้หนักกว่า mission หรือภารกิจหลัก ข้อนี้อาจทำให้สมรรถนะของกองทัพในการทำภารกิจในสนามรบลดลงอย่างมาก แต่ในสมรภูมิ “การเมือง” กลับเพิ่มสมรรถนะให้สูงขึ้น เพราะขึ้นชื่อว่าบุคลิกของบุคคล ย่อมปรับเปลี่ยนผ่อนหนักเป็นเบา หรือเบาเป็นหนักไปตามสถานการณ์การแย่งชิงได้ตลอดเวลา

นั่นคือเหตุผลที่คำพูดหรือคำสัญญาของคุณประยุทธ์นั้นเชื่อไม่ได้สักเรื่อง นี่เป็น “ยุทธวิธี” ครับ ไม่ใช่เพราะคุณประยุทธ์เป็นพีนอคคิโอ (เป็นหรือไม่ ผมไม่ทราบ) ถ้ายุทธศาสตร์คือการแย่งชิงทรัพยากร ไม่ใช่ประโยชน์ของประเทศชาติ ยุทธวิธีอันทรงเกียรติที่ก่อให้เกิดศรัทธาและพลังแก่มวลชนอย่างไพศาล ก็ไม่มีประโยชน์อะไรนัก และไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้วย

และนั่นคือเหตุผลที่ว่า ในบรรดา “สามปอ.”ซึ่งคุมการนำของคสช.อยู่นั้น ทำไมต้องเป็นประยุทธ์บุคลิกเดียวที่สามารถเชิดขึ้นเป็นสัญลักษณ์การนำของกลุ่มได้ ไม่ว่าประยุทธ์จะตกเป็นเป้าโจมตีของปฏิปักษ์สักเพียงไร "ปอ"อื่นแทนไม่ได้ทั้งนั้น

ทั้งหมดที่กล่าวนี้นำมาสู่อะไร? ผมอยากสรุปว่า ความคิดที่จะปฏิรูปกองทัพนั้น มีอะไรต้องคิดและต้องทำมากกว่าเลิกเกณฑ์ทหาร, ลดกำลังพล, พัฒนาการศึกษาของโรงเรียนนายทหาร, ฯลฯ มากมายนัก ไม่ใช่เพราะมันไม่สำคัญนะครับ อย่างน้อยก็สำคัญทางการเมือง เพราะเป็น"ยุทธวิธี"ที่ได้รับการสนับสนุนจากสังคมด้วยอย่างแน่นอน แต่เป้าหมายต้องก้าวไปให้ไกลกว่านั้นมาก ซึ่งผมขอไม่พูดถึงในที่นี้ เพราะหมดเนื้อที่แล้ว
    

    
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net