Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เราแปล “ignorance” ว่าความไม่รู้, ความเขลา, ความไม่รับรู้หรือเพิกเฉย บ้างแปลว่า “อวิชชา” ในที่นี้ผมจะใช้คำแปล “อวิชชา” ในการอธิบายว่าศาสนาที่มีลักษณะ ignorance หรืออวิชชาและขาดความใจกว้างนั้นเป็นฉันใด 

เริ่มจากลักษณะ “ความไม่ใจกว้าง” ของศาสนาก่อน มีมิตรสหายท่านหนึ่งเข้ามาแลกเปลี่ยนในเฟสบุ๊คผม เขาเสนอว่า "คนไม่เอาศาสนาต้องใจกว้างด้วย" และผมได้โต้แย้งไปว่า

ที่จริงแล้ว ความมีใจกว้าง, อดกลั้น หรือ tolerance มันคือการยอมรับการมีอยู่ของ x เคารพสิทธิและเสรีภาพของ x ภายใต้เงื่อนไขที่ X ต้องไม่ละเมิดสิทธิเสรีภาพหรือทำอันตรายต่อบุคคลอื่น แม้เราจะไม่เห็นด้วย ไม่ชอบ หรือเกลียด x ก็ตาม

ถามว่า คนไม่เอาศาสนาไม่ยอมรับการมีอยู่ของศาสนา ไม่เคารพเสรีภาพทางศาสนาของนักบวช ศาสนิก หรือองค์กรศาสนาเช่นนั้นหรือ?

เปล่าเลย ที่จริงแล้วคนไม่เอาศาสนาเขาปฏิเสธศาสนาที่ไม่ใจกว้าง ไม่เคารพสิทธิเสรีภาพของคนอื่น ไม่เคารพหลักการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนต่างหาก

เช่น การมีองค์กรศาสนาใช้อำนาจทางกฎหมายและภาษีประชาชนในการรักษาความเชื่อและเผยแพร่ความเชื่อส่วนบุคคลของกลุ่มศาสนานั้นๆ การห้ามนักบวชสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน แต่ให้นักบวชเทศนาปลูกฝังอุดมการณ์ไม่ประชาธิปไตย การบังคับเรียนศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของรัฐ เป็นต้น เหล่านี้คือการที่ศาสนา "ไม่ใจกว้าง" หรือไม่มี tolerance หรือไม่รับรู้ ไม่ยอมรับ ไม่เคารพเสรีภาพของปัจเจกบุคคล (เสรีภาพทางศาสนา) และเสรีภาพทางการเมือง

พูดรวมๆ คือ ศาสนาไม่ใจกว้าง หรือไม่ยอมรับ ไม่เคารพการมีอยู่/การต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เพราะศาสนาทำหน้าที่ค้ำยัน "สถานะเดิม - status quo" ของสถาบันกษัตริย์และศาสนจักรในแบบที่ไม่ปฏิรูปให้สอดคล้องกับประชาธิปไตยและหลักการแยกศาสนากับรัฐ ขณะที่ศาสนารับภาษีจากประชาชน และอยู่ได้ด้วยวัฒนธรรมศรัทธาของประชาชน
 
ศาสนาที่ไม่ใจกว้าง ไม่ยอมรับ ไม่เคารพหลักการประชาธิปไตย หลักการแยกศาสนาจากรัฐ และสิทธิมนุษยชน ก็คือศาสนาที่ละเมิดศีลธรรมเสรีนิยมโลกวิสัย (secular liberal ethics) นั่นคือละเมิดคุณค่าที่เรียกว่าสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

มันตลกไหม หรือมัน "ย้อนแย้ง" สุดๆ ไหม ที่ศาสนาซึ่งทำหน้าที่ปกป้องโครงสร้างอำนาจที่ละเมิดศีลธรรมเสรีนิยมโลกวิสัย ซึ่งเป็นคุณค่าพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันในสังคมสมัยใหม่ กลับอ้างว่าเป็นศาสนาที่สอนให้คนเป็นคนดีมีศีลธรรม!

ลักษณะขาดความใจกว้างของศาสนาดังกล่าว คือปรากฏการณ์ที่สะท้อนออกมาจาก “ลักษณะอวิชชา (ignorance)” ของศาสนาเอง 

อวิชชาในภาษาพุทธศาสนาไม่เพียงแต่หมายถึง “ความไม่รู้” เท่านั้น ยังกินความรวมถึงผลสืบเนื่องคือการปรุงแต่งหรือสร้างการรับรู้ ความเชื่อ ทัศนคติต่างๆ ขึ้นมาเป็นส่วนขยาย หล่อเลี้ยง หรือสำทับให้อวิชชานั้นดำรงอยู่ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในการสร้างอำนาจครอบงำและพันธนาการทางความคิด จิตใจของบุคคล รวมถึงสร้างอำนาจครอบงำทางสังคมและการเมืองด้วย

เพื่ออภิปรายปัญหาดังกล่าว ผมขออ้างถึงคำบรรยายของ “นักปรัชญาพุทธ” ท่านหนึ่ง (ที่มา https://www.youtube.com/watch?v=nu9_dliNLyg) พูดถึงปัญหาการห้ามสอนศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของรัฐ โดยอ้างถึงทัศนะทางศาสนาของไอแซก นิวตันว่า “ศาสนาใหญ่กว่าวิทยาศาสตร์” เพราะศาสนาอธิบายที่มาและกฎของจักรวาล สำหรับคนที่เสนอห้ามสอนศาสนาในโรงเรียน เพราะถือว่าศาสนาเป็นเพียงความเชื่อ เมื่อมองจากมุมมองของนิวตันแล้วไม่น่าจะมีเหตุผลเพียงพอ

ประเด็นคือ ข้อโต้แย้งข้างบนนอกจากไม่ใช่ “ประเด็นหลัก” ของปัญหาว่าควรบังคับเรียนปลูกฝังศีลธรรมศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของรัฐหรือไม่แล้ว ทัศนะทางศาสนาของนิวตัวเองก็เกิดขึ้นในบริบริบทของยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ (Renaissance) ในยุโรป ที่เริ่มเกิดกระแสยืนยันการใช้เหตุผลแสวงหาความจริงขึ้นมาปะทะกับศรัทธาแบบศาสนา ควบคู่กับยืนยัน “เสรีภาพ” ในการใช้เหตุผลและประสบการณ์แสวงหาความจริงื และเกิดการปฏิรูปศาสนา ทำให้เกิดกระแสความคิดของปัญญาชนจำนวนหนึ่งรวมทั้งนิวตันด้วยที่พยายามตีความหลักความเชื่อพื้นฐานของศาสนาว่าไม่ขัดแย้งกับวิทยาศาสตร์ หรือไปกันได้กับวิทยาศาสตร์

เช่นที่ตีความว่า “การค้นพบความจริงของจักรวาลด้วยวิทยาศาสตร์คือการค้นพบอัจริยภาพในการออกแบบจักรวาลของพระเจ้า” การตีความเช่นนี้มีนัยยะสำคัญเป็นการต่อต้านด้านที่เป็นอวิชชาหรือ ignorance ของศาสนาต่อวิทยาศาสตร์ เช่น การที่ศาสนจักรมองว่าความจริงทางวิทยาศาสตร์เป็นเท็จและ “นอกรีต” ดังที่ศาลศาสนาลงโทษกาลิเลโอเป็นต้น

ในหนังสือ “ไอแซก นิวตัน: นักวิทยาศาสตร์คนแรกและพ่อมดคนสุดท้าย” แปลโดยสฤณี อาชวานันทกุล (หน้า 130) นิวตันวิจารณ์ว่า “คำสอนที่ถูกต้องในคริสต์ศาสนาถูกบิดเบือนโดยพวกดูหมิ่นศาสนา พระ และกษัตริย์” ดังนั้น สำหรับนิวตัน ความจริงทางวิทยาศาสตร์นอกจากไม่นอกรีต ไม่รุกรานศาสนาแล้ว ยังไปกันได้กับความเชื่อในความมีอยู่จริงของพระเจ้าด้วย พวกนักบวชและกษัตริย์ที่อ้างอำนาจเทวสิทธิ์กีดกันวิทยาศาสตร์ต่างหากที่บิดเบือนศาสนา

พูดชัดๆ คือ การยืนยันว่าศาสนากับวิทยาศาสตร์ไปด้วยกันได้ มีนัยสำคัญในทางต่อต้านอำนาจ “เทวสิทธิ์” ของศาสนจักรและกษัตริย์ที่บิดเบือนสาระที่แท้ของคำสอนศาสนาและพยายามกีดกันวิทยาศาสตร์ หาใช่ทัศนะที่ให้เหตุผลสนับสนุนการบังคับเรียนศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของรัฐแต่อย่างใดไม่ เพราะข้อถกเถียงเรื่องควรบังคับเรียนศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของรัฐหรือไม่เกิดขึ้นหลังยุคนิวตันนานมาก คือเป็นข้อถกเถียงในกรอบคิดเสรีประชาธิปไตยโลกวิสัย (secular liberal democracy) ที่ปฏิเสธอำนาจเผด็จการโดยเทวสิทธิ์ของกษัตริย์และศาสนจักร ซึ่งเป็นอำนาจที่ละเมิดทั้งเสรีภาพของปัจเจกบุคคล (เช่น เสรีภาพทางศาสนา ทางเพศ) และเสรีภาพทางการเมือง

ดังนั้น การปฏิเสธการบังคับเรียนศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของรัฐ ประเด็นหลักจึงไม่ใช่เพราะศาสนาเป็นเรื่องของความเชื่อ แต่คือการปฏิเสธการบังคับยัดเยียดความเชื่อโดยอำนาจรัฐและศาสนจักรของรัฐ ด้วยการยืนยันว่าเสรีภาพทางศาสนาเป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่รัฐหรือศาสนจักรจะละเมิดไม่ได้ รัฐจะต้องเป็นกลางทางศาสนา หรือเป็นกลางระหว่างผู้ที่เชื่อและไม่เชื่อ โดยรัฐต้องไม่สนับสนุนส่งเสริมศาสนาใดๆ ปล่อยให้เป็นเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่จะเลือกเชื่อ ไม่เชื่อ เลือกเรียน ไม่เรียนศาสนาใดๆ ด้วยตนเองในรูปแบบเอกชน

พูดอีกนัยหนึ่งคือ การเสนอยกเลิกบังคับเรียนปลูกฝังความเชื่อศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของรัฐ ก็คือการปฏิเสธลักษณะอวิชชาและการขาดความใจกว้างของศาสนา หรือปฏิเสธลักษณะ ignorance และการขาด tolerance ของศาสนานั่นเอง กล่าวคือ ปฏิเสธศาสนาในแบบที่ไม่รับรู้, ไม่เคารพต่อการมีอยู่ของคุณค่าศีลธรรมเสรีนิยมโลกวิสัย (secular liberal ethics) คือสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์นั่นเอง

ในด้านกลับ การปฏิเสธเช่นนี้คือการยืนยันว่า มันไม่มีความชอบธรรมใดๆ เลยที่จะเอาความเชื่อทางศาสนาภายใต้การผลิตสร้างและการรักษาปกป้องของศาสนจักรของรัฐ เช่น มหาเถรสมาคม หรือองค์กรศาสนาใดๆ ที่ขึ้นต่อรัฐมาบังคับยัดเยียดสอนพลเมืองในหลักสูตรการศึกษาของรัฐในลักษณะหนุนเสริมอุดมการณ์ชาตินิยม ขณะที่อำนาจศาสนจักรของรัฐละเมิดกระทั่งเสรีภาพทางศาสนาและเสรีภาพทางการเมืองของนักบวช ด้วยการกำหนดให้นักบวชสอนหรือตีความศาสนา “อวย” ชนชั้นปกครองและสนับสนุนอุดมการณ์ชาติ ศาสน์ กษัตริย์ แต่ห้ามสนับสนุนการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและประชาธิปไตยของประชาชน

ดังนั้น การสร้างข้อโต้แย้งว่า เพราะศาสนาใหญ่กว่าวิทยาศาสตร์ คำสอนศาสนาคือสัจธรรมของกฎธรรมชาติแห่งจักรวาลและธรรมชาติของมนุษย์ มันจึง “ออกทะเล” ไปมาก เพราะหักล้างข้อเท็จจริงที่ว่าความเชื่อศาสนาต่างๆ ล้วนอ้างว่าของตนถูกต้องเป็นสัจธรรมที่แท้มากกว่าไม่ได้ หักล้างข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์และปัจจุบันที่เคยมีและยังมีการใช้คำสอน ความเชื่อ จารีตทางศาสนาละเมิดสิทธิเท่าเทียมทางเพศและอื่นๆ ไม่ได้ หักล้างข้อเท็จจริงของการบังคับเรียนศาสนาในหลักสูตรการศึกษาของรัฐที่สนับสนุนอุดมการณ์ราชาชาตินิยมไม่ได้ เป็นต้น

การสร้างวาทกรรม “ศาสนาใหญ่กว่าวิททยาศาสตร์” หรือ “ศาสนาสอนจริยธรรมที่ใหญ่กว่าจริยธรรมเสรีนิยมโลกวิสัยตามความคิดปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่” ดังที่นักปรัชญาพุทธบ้านเราพยายามเน้นย้ำเสมอๆ โดยไม่ตั้งคำถามต่อปัญหาเชิงอุดมการณ์และโครงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับศาสนาที่ไม่แยกจากกันนั้น ถึงที่สุดแล้วมันมีนัยยะสำคัญในเชิงสนับสนุนความมั่นคงของสภาวะ ignorance และการขาด tolerance ของศาสนาต่อคุณค่าแบบศีลธรรมเสรีนิยมนิยมโลกวิสัยดังกล่าวแล้วนั่นเอง   

ยิ่งกว่านั้น ในคลิปที่อ้างไว้ข้างต้น การที่นักปรัชญาพุทธมองว่า การตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ “หลักการทางศีลธรรม” ของพุทธศาสนาที่ถือว่าการบริจาคลูกเมียเป็นทาสของเวสสันดรเป็น “ความดีทางศีลธรรม” ในระดับ “ทานอุปบารมี” ที่ส่งผลให้ตัสรู้เป็นพุทธะได้นั้นว่าเป็น “เรื่องเล็กน้อย” ยิ่งสะท้อนท่าทีแบบอิกนอร์ฯ ต่อข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐสยามไทยส่งเสริมการเทศนาเวสสันดรมาจนเป็นที่นิยมแพร่หลายในทุกท้องถิ่น เมื่อไม่รับรู้ข้อเท็จจริงดังกล่าว ก็ย่อมไม่รับรู้ด้วยว่า “เรื่องเล่า” ดังกล่าวมีอิทธิพลสนับสนุน “วัฒนธรรมปิตาธิปไตย-ชายเป็นใหญ่” ภายใต้อุดมการณ์ของการปกครองแบบพุทธศักดินา-พุทธราชาชาตินิยมมายาวนานอย่างไร 

ถึงที่สุดแล้ว การยืนยันสาระหรือ essence ของคำสอนพุทธศาสนาในเรื่องความพ้นทุกข์แบบที่นักพุทธปรัชญายืนยันอย่างอิกนอร์ฯ ต่อปัญหาเชิงโครงสร้าง ก็น่าจะสอดคล้องกับข้อวิจารณ์ของนักปรัชญาตะวันตกบางคนที่ว่า “ศาสนาแบบเน้นความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณมักเจริญรุ่งเรืองควบคู่กับระบบเผด็จการของกษัตริย์ในเอเชียมายาวนาน” จึงไม่แปลกที่เราได้ยิน “เรื่องเล่า” เกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนาของเจ้าในวังจากอดีตจวบปัจจุบัน 

และยิ่งตลกร้ายที่คำสอนเรื่องความหลุดพ้นนั้นมีมิติเป็นความเชื่อส่วนบุคคล หรือขึ้นกับประสบการณ์ส่วนบุคคลอย่างยิ่ง แต่กลับถกนำมาอย้างว่าเป็นเรื่อง “ใหญ่กว่า” วิทยาศาสตร์และศีลธรรมเสรีนิยมโลกวิสัยตามแนวคิดปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ นี่คือ “ความเนียน” ของการสนับสนุนวาทกรรม “พุทธพ่อทุกสิ่ง” อันเป็นด้านที่เป็นอวิชชาและการขาดความใจกว้างของพุทธศาสนาไทยที่หยั่งรากมายาวนาน


ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/thairath/photos/pcb.10154093419877439/10154093415052439

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net