Skip to main content
sharethis

ครม.ผ่านงบ 300 กว่าล้านบาท ให้ราชทัณฑ์แก้ปัญหาการระบาดโควิด-19 ในเรือนจำและแก้ปัญหาการเข้าถึงสิทธิการรักษาของผู้ต้องขังที่มีปัญหาสถานะบุคคและชาวต่างชาติ ทั้งนี้รายงานของราชทัณฑ์ระบุเจอผู้ติดเชื้อรายแรกเป็นเจ้าหน้าที่เรือนจำระยองและแค่ช่วง 3 เม.ย.-8 พ.ค.64 พบผู้ติดเชื้อถึง 1,752 ราย

25 พ.ค.2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในเรือนจำทั่วประเทศและรับหลักการการจัดระบบประกันสุขภาพให้ผู้ต้องขังที่มีปัญหาสถานะบุคคลและเป็นชาวต่างชาติในเรือนจำ

โดยในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณ 311,650,300 บาท ให้กรมราชทัณฑ์เป็นรายการค่าใช้จ่ายการแก้ไขและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเรือนจำและทัณฑสถาน จากงบกลาง ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ โดยค่าใช้จ่ายดังกล่าวมีจำนวน 5 รายการ ประกอบด้วย

  1. ค่าชุดตรวจเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID - 19) แบบ RT PCR จำนวน 100,000 ชุด เป็นเงิน 80,000,000 บาท
  2. ค่าก่อสร้างโรงพยาบาลสนามรองรับผู้ป่วยวิกฤตในเขตกรุงเทพและปริมณฑล จำนวน 2 แห่ง เป็นเงิน 51,967,200 บาท
  3. ค่าก่อสร้างโรงพยาบาลสนามประจำเขตกลุ่มเรือนจำและทัณฑสถาน จำนวน 10 แห่ง เป็นเงิน 92,680,000 บาท
  4. ค่าก่อสร้างและปรับปรุงห้องกักกันโรคประจำเรือนจำและทัณฑสถาน จำนวน 65 แห่ง เป็นเงิน 49,835,500 บาท
  5. ค่าวัสดุ อุปกรณ์ป้องกันโรคติดต่อจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในเรือนจำและทัณฑสถาน เป็นเงิน 37,167,600 บาท

ในมติระบุว่าในส่วนของการจัดหายาฟาวิพิราเวียร์สำหรับผู้ติดเชื้อนั้น ขอให้กรมราชทัณฑ์ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติ โดยขอรับการสนับสนุนยาดังกล่าวจากกระทรวงสาธารณสุขโดยตรงและเร่งด่วน รวมทั้งเร่งจัดทำแผนปฏิบัติการและแผนการใช้จ่ายงบประมาณเท่าที่จำเป็นอย่างเหมาะสม เพื่อทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไปตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

นอกจากนั้นครม.มีมติอนุมัติหลักการให้จัดระบบหลักประกันสุขภาพ สำหรับผู้ต้องขังที่มีปัญหาทางสถานะบุคคลและต่างด้าวจำนวน 16,000 คน จากที่มีจำนวนทั้งหมด 19,506 คน เนื่องจากอีกจำนวน 3,506 คน ยังมีความคลาดเคลื่อนทางทะเบียนอยู่ โดยให้มีการลงทะเบียนเพื่อเข้าถึงระบบหลักประกันสุขภาพ พร้อมกับเสนอให้มีงบประมาณเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการเข้าถึงบริการสุขภาพตามชุดสิทธิประโยชน์ในอัตราเทียบเท่ากับผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (Universal Coverage: UC) ที่ปัจจุบันสิทธิในระบบดังกล่าวคิดค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายรายหัวจำนวน 3,719.23 บาทต่อผู้มีสิทธิ ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ โดยให้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นผู้จัดระบบดังกล่าวไปพลางก่อน

สำหรับงบประมาณในการดำเนินการ ค่าใช้จ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 13.71 ล้านบาท และค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นในปีต่อ ๆ ไป ขอให้ สธ. ใช้จ่ายจากเงินนอกงบประมาณ (เงินบำรุงโรงพยาบาล) เป็นลำดับแรกก่อน เพื่อช่วยลดภาระงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด หากไม่เพียงพอขอให้พิจารณาปรับแผนการปฏิบัติงานและแผนการใช้จ่ายงบประมาณไปดำเนินการ ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

มติที่ประชุมระบุอีกว่าให้ ยธ. เป็นหน่วยงานหลักหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณากำหนดแนวทางในการจัดระบบบริการและประกันสุขภาพสำหรับผู้ต้องขังที่มีปัญหาสถานะบุคคลและต่างด้าวในระยะยาวให้ได้ข้อยุติที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม และให้ ยธ.ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตช.) กระทรวงมหาดไทย (มท.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พิจารณากำหนดแนวทางในการตรวจสอบและยืนยันตัวตนของผู้กระทำความผิดให้ถูกต้อง ชัดเจน รวมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาในกรณีที่ไม่สามารถยืนยันตัวตนของผู้กระทำความผิดได้ด้วย

สถานการณ์โควิด-19 ในเรือนจำ

ในที่ประชุมมีการรายงานสถานการณ์โควิด-19 ระบาดในเรือนจำ โดยมีการกล่าวถึงมาตรการที่ทางเรือนจำเริ่มใช้ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 จนถึงช่วงต้นเดือนเมษายน 2564 ด้วย

รายงานระบุถึงผลการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในเรือนจำครั้งแรกในเดือนมกราคม 2564 ที่เรือนจำกลางจังหวัดระยองเป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จำนวน 1 ราย ต่อมาในช่วงเดือนม.ค.-ก.พ. 64 ในเรือนจำกลางจังหวัดฉะเชิงเทรา สระแก้ว และสมุทรสาครพบผู้ต้องขังในกลุ่มชาวต่างชาติที่อยู่ระหว่างแยกกักตามมาตรการแยกกักผู้ต้องขังใหม่ติดเชื้อ ทำให้ทางเรือนจำขยายระยะเวลาในการกักตัวจาก 14 วัน เป็น 21 วัน และให้มีการตรวจหาเชื้อในกลุ่มผู้ต้องขังเข้าใหม่ก่อนออกจากห้องกักโรค

ทั้งนี้ในเดือนมีนาคมสถานการณ์การระบาดภายในประเทศเริ่มคลี่คลายจึงเริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการให้ญาติเข้าเยี่ยมได้ตามปกติ แต่ยังมีมาตราแยกกักผู้ต้องขังใหม่นอก 5 พื้นที่เสี่ยง ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร นนทบุรี ปทุมธานี และสมุทรปราการ โดยให้งดเยี่ยมผู้ต้องขังและให้เรือนจำและทัณฑสถานจัดทำแผนและขั้นตอนการปฏิบัติต่อคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนการดำเนินกิจกรรมใด

จนกระทั่งในระหว่างวันที่ 3 เมษายน-8 พฤษภาคม 2564 มีรายงานผลการตรวจพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในส่วนกลางของกรมราชทัณฑ์ เรือนจำ และทัณฑสถาน รวม 23 แห่ง โดยมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 1,752 ราย ประกอบด้วย (1) ผู้ต้องขัง  1,668 ราย (รักษาหาย 449 ราย อยู่ระหว่างการรักษา 1,208 ราย ปล่อยตัว 10 ราย และเสียชีวิต 1 ราย) และ (2) เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 84 ราย (รักษาหาย 65 ราย และอยู่ระหว่างการรักษา 19 ราย) 

ในรายงานระบุว่ามีการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ต้องขังติดเชื้อโควิด-19 กรมราชทัณฑ์ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามในเรือนจำที่พบผู้ต้องขังติดเชื้อเป็นจำนวนมาก ที่ดำเนินการจัดตั้งแล้วได้แก่ โรงพยาบาลสนามเรือนจำจังหวัดนราธิวาส โรงพยาบาลสนามเรือนจำกลางเชียงใหม่ และโรงพยาบาลสนามทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งจะใช้รองรับผู้ต้องขังติดเชื้อในกลุ่มเรือนจำลาดยาว  นอกจากนี้ โรงพยาบาลสนามทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ต้องรองรับผู้ต้องขังในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล รวม 11 แห่ง ซึ่งมีผู้ต้องขังที่ต้องดูแลประมาณ 44,301 คน โดยโรงพยาบาลสนามดังกล่าวสามารถรองรับผู้ป่วยได้ 1,010 เตียง

นอกจากนั้นทางกรมราชทัณฑ์ยังได้รับมอบเงินและอุปกรณ์พระราชทานต่าง ๆ โดย “โครงการราชทัณฑ์ปันสุขทำความดี เพื่อชาติ ศาสน์ กษัตริย์” ได้มอบเงินพระราชทาน จำนวน 1,000,000 บาท ให้แก่กรมราชทัณฑ์เพื่อสนับสนุนการปรับปรุงห้องปฏิบัติการในการตรวจหาเชื้อของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ให้มีศักยภาพเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับการให้บริการผู้ต้องขัง รวมทั้งประชาชนทั่วไปที่จะมารับบริการ และทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ยังได้รับรถชีวนิรภัยพระราชทานเพื่อนำมาใช้ในตรวจคัดกรองหาเชื้อโควิด-19 โดยได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 15 ก.พ.2564  จนถึงปัจจุบัน มีผู้มารับบริการประมาณ 10,000 คน ประกอบด้วย ผู้ต้องขัง ข้าราชการและประชาชนทั่วไป นอกจากนี้ กรมราชทัณฑ์ยังได้รับพระราชทานอุปกรณ์ต่าง ๆ เช่น หน้ากากอนามัย และเจลแอลกอฮอล์ เพื่อนำไปใช้เสริมการป้องกันและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในเรือนจำต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net