Skip to main content
sharethis

เพื่อไทยอัด รบ.ตั้งงบกลางเน้นใช้จ่ายส่วนราชการสูงกว่าทุกปี คิดเป็นเกือบ 85% แต่ตัดงบสำรองฉุกเฉินแก้ปัญหาโควิดออกทั้งหมด ซัดขยับเพดานหนี้ ทำการคลังปท.อันตราย ชี้หนี้ยุคทักษิณลด 15% ยุคนี้พุ่ง 20%

26 พ.ค. 2564 วันนี้ ชนินทร์ รุ่งธนเกียรติ รองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงการจัดทำงบประมาณประจำปี 2565 ว่า เป็นการจัดทำงบประมาณที่ละทิ้งประชาชน ไม่สนใจสถานการณ์ปัจจุบันโดยสิ้นเชิง สังเกตได้จาก "งบกลาง" ที่ตั้งไว้สูงถึง 5.7 แสนล้านบาท แม้จะปรับลงจากปี 64 เล็กน้อย แต่ยังถือว่าเป็นงบที่มากเป็นอันดับ 1 ของงบประมาณทั้งหมดติดต่อกันเป็นปีที่ 3 นับตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี อีกทั้งยังตัดงบ “สำรองฉุกเฉินค่าใช้จ่ายในการบรรเทาหรือแก้ปัญหาจากการระบาดของโควิด-19” ภายในงบกลางออกทั้งหมด ทั้งที่สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังอยู่ในขั้นวิกฤต และในปีงบประมาณ 2563 - 2564 ก็เคยกันงบส่วนดังกล่าวสำรองไว้หลายหมื่นล้านบาท

นอกจากนี้เมื่อมาดูภาพรวมของงบกลางในปีงบประมาณ 2565 ค่าใช้จ่ายที่ใช้กับส่วนราชการมีสัดส่วนสูงกว่าทุกปี คิดเป็นเกือบ 85% เหลืองบไว้ใช้กับประชาชนในยามฉุกเฉินน้อยมาก แตกต่างจากรัฐบาลชุดก่อนหน้าที่มีการใช้งบกลางเพื่อประชาชนหรือเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจเป็นส่วนใหญ่ ทั้งหมดที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นถึงการบริหารงานที่ไร้ประสิทธิภาพและไม่สนใจประชาชน ดังเป็นที่ประจักษ์มายาวนานตลอด 7 ปี สอดคล้องกับข้อมูลของ ดร.กิตติ ลิ่มสกุล นักวิชาการเศรษฐมิติระดับโลก ที่ได้ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการทำรัฐประหารรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ตั้งแต่ปี 2557 จนถึงปี 2562 ไว้ คิดเป็นมูลค่าถึง 3.19 ล้านล้านบาท โดยยังไม่รวมความเสียหายที่เกิดจากความบกพร่องของรัฐบาลในการควบคุมการระบาดของโควิด-19 อีกด้วย

“การจัดทำงบประมาณปี 65 ของ พล.อ.ประยุทธ์ แสดงออกว่าไม่แคร์ประชาชนอย่างชัดเจน หากปล่อยให้บริหารต่อมีแต่จะสร้างความเสียหายให้ประเทศ พรรคเพื่อไทยขอให้ทุกคนร่วมจับตาการอภิปรายงบประมาณรอบนี้ และขอเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลเลิกเป็นนั่งร้านให้นายกรัฐมนตรีที่ไร้ประสิทธิภาพ ขาดวิสัยทัศน์แล้วกลับตัวกลับใจมาอยู่ข้างประชาชน” ชนินทร์กล่าว

ด้านเผ่าภูมิ โรจนสกุล รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย (พท.) และผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย แถลงถึงสถานการณ์หนี้สาธารณะว่า หนี้สาธารณะ ซึ่งรวมเงินกู้ 5 แสนล้านบาท ซึ่งเมื่อสิ้นเดือนกันยายน 64 คาดว่าจะอยู่ที่ 9.2 ล้านล้านบาท ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ 16.02 ล้านล้านบาท คิดเป็น 57.4% แต่จำนวนนี้ไม่รวมสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ระลอก 3 ที่ยาวเกินคาดเสียหายอีกราวเดือนละ 100,000 ล้านบาท การกู้ชดเชยขาดดุลงบ 65 อีก 700,000 ล้านบาท และจีดีพี ที่ต่ำกว่าประมาณการ หากรวมทั้ง 3 ข้อนี้ กรณีโควิดยืดกว่าคาด 2-3 เดือน หนี้สาธารณะต่อจีดีพี จะอยู่ที่ 62-63% ทะลุเพดานทันทีในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ซึ่งให้จับตารัฐบาลขยายเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเป็น 65-70% ในการทบทวนกรอบวินัยการเงินการคลังของคณะกรรมการนโยบายการเงินการคลัง ที่จะครบกำหนด 3 ปี ภายในเดือนมิถุนายน 64 นี้

เผ่าภูมิ กล่าวว่า สัดส่วนนี้ขยายเพดานให้กันได้ ในเงื่อนไขที่เหมาะสมและรัฐบาลใช้เงินมีประสิทธิภาพ เศรษฐกิจโตเร็วกว่าหนี้ที่ก่อเพิ่ม แต่จาก 7 ปีของรัฐบาลปัจจุบันจีดีพีขยายตัวเฉลี่ยเพียง 2.88% ต่อปี แต่หนี้สาธารณะขยายตัวเฉลี่ยสูงถึง 7.07% ต่อปี หนี้โตเร็วกว่ารายได้ประเทศถึงกว่า 2 เท่าต่อปีโดยเฉลี่ย สะท้อนการกู้มาใช้จ่ายไม่ก่อให้เกิดรายได้ ทำให้หนี้สาธารณะต่อจีดีพีพุ่งเกือบ 20% ในรัฐบาลชุดนี้ แนวโน้มเหล่านี้หากปล่อยไปเรื่อยๆ เป็นสัญญาณอันตรายยิ่ง ต่อการสร้างหนี้นอกระบบงบประมาณ และการขาดดุลงบประมาณ ปี 58-59 ขาดดุลเฉลี่ย 3-4 แสนล้านบาท ปี 60-63 ขาดดุลเฉลี่ย 5 แสนล้านบาทต่อปี และจะพุ่งเฉลี่ย 7 แสนล้านบาทต่อปีนับจากนี้ ไม่มีแนวโน้มลดลง งบปี 65 ก็ตั้งขาดดุล 7 แสนล้านบาท สุดเพดานตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) หนี้สาธารณะ แนวโน้มเหล่านี้ส่งสัญญาณอันตราย ต่อภาวะการสร้างหนี้ในระบบงบประมาณที่มากขึ้นทุกปีๆ นอกจากนี้เมื่อไทยจึงเข้าสู่ภาวะอันตรายในการสร้างหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ทั้งในและนอกระบบงบประมาณ การขยับเพดานหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ให้รัฐบาลนี้จะนำไปสู่อันตรายทางการคลังของประเทศ เพราะเป็นการสร้างหนี้ไปเรื่อยๆ โดยไม่เห็นอนาคต เสมือนให้ใบขับขี่แก่คนขับรถไม่เป็น

“การเอาไทยไปเปรียบกับญี่ปุ่น แล้วคิดว่าไทยก่อหนี้แบบนั้นได้ นั้นผิด ญี่ปุ่นต่างจากไทย 1. ธุรกิจกระจายฐานในต่างประเทศสูง ส่งรายได้กลับประเทศสูง (GNP สูง) 2. ก่อหนี้มาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่สูง 3. มีสัดส่วนคนอยู่ในระบบภาษีสูง ทั้ง 3 ข้อนี้ตรงข้ามกับไทย เพราะฉะนั้นคนละบริบท เทียบเคียงกันไม่ได้ ซึ่งหากเปรียบเทียบกับรัฐบาล ดร.ทักษิณ จากหนี้สาธารณะต่อจีดีพีที่ 54.05% ในปี 45 ลดลงสู่ 39.18% ลดลงเกือบ 15% ใน 4-5 ปี เทียบกับรัฐบาลปัจจุบันจาก 42.56% ในปี 58 พุ่งสู่ 57.4% ในเดือนมีนาคม 64 และ 62-63% ในสิ้นปีนี้ พุ่งขึ้นเกือบ 20% ใน 7 ปี สะท้อนประสิทธิภาพในการบริหารประเทศที่ต่างกันโดยสิ้นเชิง” เผ่าภูมิ กล่าว

 

อ้างอิง: วอยซ์ทีวี, มติชน, เพื่อไทย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net