รู้จัก 'กองทัพ 5 เหมา' นักรบไซเบอร์มืออาชีพ และไอโอจีน ’จิตอาสา’ กว่า 20 ล้านคน

รู้จัก "กองทัพ​ 5 เหมา" หน่วยงานปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลจีน​ ซึ่งมาจากความเชื่อว่าสมาชิกของหน่วยนักรบไซเบอร์จีนมักได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินครึ่งหยวนหรือ​ 5 เหมา/โพสต์ ในการสนับ​สนุนรัฐบาลจีน​หรือโจมตีผู้เห็นต่าง​ คิดเป็นเงินไทยตามอัตราแลกเปลี่ยน​ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณโพสต์ละ​ 2.4 บาท

27 พ.ค. 2564 ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีงานวิจัยเปิดเผยว่ากองทัพไอโอจีนอาจมีสมาชิกกว่า 2 ล้า​นคน​ สมาชิกกลุ่มนี้ได้รับค่าตอบแทนจากรัฐบาลจีนจนสามารถประกอบเป็นอาชีพเต็มเวลาได้ รายได้ของเกรียนอินเทอร์เน็ตเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณจากรัฐบาลจีนที่ใช้ไปถึง​ 6,600 ล้านเหรียญ​สหรัฐ​ฯ​ หรือ​ 207,487.5 ล้านบาทในปีที่แล้ว เพื่อเซ็นเซอร์เสรีภาพการแสดงออกบนโลกออนไลน์

อย่างไรก็ตาม​ รายงานวิจัยชิ้นใหม่เผยให้เห็นว่านอกจากกลุ่ม 2 ล้านคนดังกล่าวแล้ว​ รัฐบาลจีนยังมี​ "ไอโอพาร์ทไทม์" หรือ “ไอโออาสา” อีกกว่า​ 20​ ล้านคน​ตามมณฑลต่างๆ ด้วย โดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มยุวชนคอมมิวนิสต์ในมหาวิทยาลัย หากเทียบเคียงกับของไทย​ กลุ่มนี้คงไม่ต่างจาก​ "ไอโอจิตอาสา" ที่ทำสงครามข่าวสารเพื่อกำราบความคิดเห็นต่างของประชาชน ซึ่งมีการจัดตั้งและกลยุทธ์การต่อสู้บนพื้นที่ออนไลน์ซับซ้อนขึ้นทุกที

อธิปไตยเชิงภาพลักษณ์

ข้อมูลใหม่เกี่ยว​กับไอโอจิตอาสาของจีนที่มีสมาชิกกว่า​ 20​ ล้านคน​ มาจากงานวิจัยเรื่อง​ A Different Kind of Army: The Militarization of China’s Internet Trolls (กองทัพรูปแบบใหม่: การทำให้กลุ่มเกรียนอินเตอร์เน็ตในจีนเป็นหน่วยรบทางทหาร) ของ​ไรอัน​ เฟดาสิอุก (Ryan Fedasiuk) ​ที่ตีพิมพ์​ในวารสารวิชาการ ไชน่าบรีฟ เมื่อกลางเดือน ​เม.ย.​ 2561 ที่ผ่านมา

บทความ​ดังกล่าวท้าวความว่ารัฐบา​ลจีนพยายามลิดรอนเสรีภาพการแสดงออกในพื้นที่อินเทอร์เน็ตมานานแล้ว อย่างไรก็ตาม ทางการจีนได้ออกมาเปิดเผยผ่านสำนักข่าว People's Daily ในปี 2561 ว่า "อำนาจอธิปไตยเชิงภาพลักษณ์" เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักในการต่อสู้ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนบนเวทีการเมืองโลก

คำว่า "อธิปไตยเชิงภาพลักษณ์" หมายถึง สิทธิของประเทศจีนในการรักษาหน้าตาและชื่อเสียงของตนในเวทีโลก เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนเชื่อว่าแม้จีนจะมีอำนาจทางเศรษฐกิจและทางการทหารสูงขึ้นแล้ว แต่ยังถูกต่างชาติโจมตีในรูปแบบของปฏิบัติการข้อมูลข่าวสาร และเชื่อว่ากระแสวิพากษ์วิจารณ์ภายในประเทศเกิดจากการแทรกแซงของประเทศตะวันตก

เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลจีนเรียกเสรีภาพสื่อและเสรีภาพในการแสดงออกเช่นนี้ว่า “สงครามฝิ่นข้อมูล” เหล่าผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนยังเชื่อด้วยว่าอินเตอร์เน็ตคือ “สมรภูมิหลักของความเห็นมหาชน” ดังนั้นรัฐบาลจีนจึง “ต้องส่งทัพใหญ่” ลงสู่สมรภูมิที่สำคัญที่สุด

ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเคยพูดในปี 2556 ว่าต้อง “เล่าเรื่องจีนดีๆ” หลังจากนั้นไม่นานพรรคคอมมิวนิสต์จีนก็ได้ประกาศ “บรรทัดฐาน 7 ข้อ” ออกมา ได้แก่

  1. บรรทัดฐานของกฎหมายและระเบียบ
  2. บรรทัดฐานของระบบสังคมนิยม
  3. บรรทัดฐานของผลประโยชน์แห่งชาติ
  4. บรรทัดฐานของสิทธิประโยชน์ทางกฎหมายของพลเมือง
  5. บรรทัดฐานของความสงบเรียบร้อยของสาธารณะ
  6. บรรทัดฐานทางศีลธรรมและ
  7. บรรทัดฐานของความเที่ยงตรงทางข้อมูล

บรรทัดฐานทั้ง 7 ข้อนี้สามารถถูกนำมาตีความเพื่อเข้าข้างรัฐบาลจีน ในการลิดรอนเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของผู้เห็นต่าง และปิดกั้นข้อมูลสาธารณะของประชาชนได้ทั้งสิ้น แนวคิดที่ว่านี้นำมาสู่หนึ่งในหน่วยงานปฏิบัติการข้อมูลข่าวสารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก หรือที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในชื่อว่า “กองทัพ 5 เหมา”

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

กองทัพ 5 เหมา

ในช่วงเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา สื่อในประเทศตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐอเมริกา ได้นำเสนอข่าวเกี่ยวกับ “กองทัพ 5 เหมา” กันอย่างครึกโครม บางครั้งนักรบไซเบอร์หรือกลุ่มเกรียนอินเตอร์เน็ตของรัฐบาลจีนจะถูกเรียกในโลกตะวันตกว่า “พรรค 50 เซ็นต์” หรือ “กองทัพ 50 เซ็นต์” เพราะทุกการโพสต์สนับสนุนรัฐบาลจีน 1 ครั้ง ผู้โพสต์จะได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินครึ่งหยวนหรือประมาณ 2.4 บาท

ในประเทศจีนเอง "กองทัพ 5 เหมา" ถูกเรียกเป็นชื่อภาษาจีนว่า “อู่เหมาตาง” ซึ่งมีความหมายไม่ต่างกัน กองทัพปฏิบัติการข่าวสารมืออาชีพของจีนเหล่านี้ นอกจากจะมีหน้าที่ในการโพสต์เพื่อประชาสัมพันธ์รัฐบาลจีนแล้ว ยังมีหน้าที่ในการวิพากษ์วิจารณ์และข่มขู่ผู้เห็นต่างจากรัฐบาลจีน และคอยกดรายงานเพื่อลบโพสต์ที่ไม่เห็นด้วยกับรัฐบาลจีนอย่างแข็งขันด้วย

จากการศึกษาวิจัยอีกชิ้นหนึ่งชื่อว่า Buying Silence: The Price of Internet Censorship in China (ซื้อความเงียบ: ราคาของการเซ็นเซอร์อินเตอร์เน็ตในจีน) เฟดาสิอุกเชื่อว่าเกรียนคีย์บอร์ดในจีนที่ได้รับค่าตอบแทนจากรัฐบาลจีนเป็นงานประจำมีจำนวนสูงถึง 2 ล้านคน โดยนักรบคีย์บอร์ดมืออาชีพเหล่านี้ได้รับการว่าจ้างโดยตรงจากคณะกรรมการกิจการพื้นที่ไซเบอร์ (Cyberspace Affairs Committee) และหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ

ทั้งนี้ พรรคคอมมิวนิสต์จีนใช้งบประมาณเพื่อการเซ็นเซอร์ความเห็นบนโลกอินเตอร์เน็ตในปีที่แล้วไปทั้งสิ้นถึง 6,600 ล้านเหรียญ​สหรัฐ​ ฯ​ หรือ​ 207,487.5 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทเอกชนต่างๆ ยังมีหน่วยเซ็นเซอร์ของตัวเองเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเห็นที่อาจสร้างความไม่พอใจให้กับรัฐบาลจีนด้วย จากรายงานของนิวยอร์กไทมส์ ประเทศจีนมีบริษัทเอกชนที่ให้บริการเซ็นเซอร์เนื้อหาที่ไม่เหมาะสมแก่บริษัทอื่นๆ ที่ทำธุรกิจในประเทศจีน จนเรียกได้ว่าเป็น “โรงงานเซ็นเซอร์” ซึ่งกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว

แม้ว่าเฟดาสิอุกจะเชื่อว่ารัฐบาลจีนมีหน่วยไอโอมืออาชีพที่ “จ้างมา” กว่า 2 ล้านคน แต่เขาก็บอกเช่นกันว่านักวิจัยคนอื่นๆ ได้อาจข้อสรุปต่างออกไป เช่น ในงานศึกษาของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเชื่อว่ามีนักรบไซเบอร์จีนเป็นลูกจ้างเต็มเวลาของพรรคคอมมิวนิสต์จีนประมาณ 250,000 – 300,000 คน เนื่องจากผู้สนับสนุนรัฐบาลมักถูกแปะป้ายจากฝั่งตรงข้ามทางการเมืองว่าเป็นไอโออยู่บ่อยๆ เฟดาสิอุกจึงเห็นว่าตัวเลขจำนวนพลรบของกองทัพ 5 เหมาเป็นสิ่งที่สามารถถกเถียงได้ ไม่ว่าตัวเลขจะมีจำนวนเท่าใด แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าความพยายามในการควบคุมเสรีภาพการแสดงออกบนโลกอินเทอร์เน็ตของจีนกำลังเพิ่มสูงขึ้นทุกที

ในปัจจุบัน ประเทศจีนมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตทั้งหมด 900 ล้านคน และในปี 2563 คณะกรรมการกิจการพื้นที่ไซเบอร์ได้รับรายงานเกี่ยวกับ “ข้อมูลที่ผิดกฎหมายและไม่ดี” กว่า 138 ล้านครั้ง แม้สถิติของเมืองใหญ่ เช่น กรุงปักกิ่งและมณฑลกวางโจวจะระบุว่าโพสต์ที่ถูกลบมักเกี่ยวกับสแปม การต้มตุ๋น และสื่ออนาจาร แต่ก็มีเช่นกันที่เป็นการเซ็นเซอร์การแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เช่น ข่าวลือ การดัดแปลงเพลงชาติ การล้อเลียนประธานาธิบดีสีจิ้นผิงว่าเหมือนหมีพูห์ รวมไปถึง “มุมมองเกี่ยวกับการแต่งงานและความรักที่อยู่นอกกระแสหลัก”

ข้อมูลใหม่: ไอโอ ‘จิตอาสา’ กว่า 20 ล้านคน

นอกจากกองทัพ 5 เหมาที่เป็นนักรบไซเบอร์มืออาชีพกว่า 2 ล้านคนแล้ว รัฐบาลจีนยังมีไอโอ ‘จิตอาสา’ หรือไอโอ 'พาร์ทไทม์' อีกกว่า 20 ล้านคน ส่วนมากแล้วไอโออาสาสมัครเหล่านี้เป็นนักเรียนนักศึกษาในมหาวิทยาลัย และเป็นสมาชิกของพันธมิตรเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน หรือ Communist Youth League (CYL)

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:

เกรียนคีย์บอร์ดอาสาสมัครเหล่านี้เริ่มถือกำเนิดขึ้นในปี 2558 เมื่อกระทรวงศึกษาธิการและพันธมิตรเยาวชนคอมมิวนิสต์จีนมีคำสั่งให้รับสมัครทีมนักรบคีย์บอร์ดที่เรียกว่า “อาสาสมัครเพื่ออารยธรรมบนอินเทอร์เน็ต” ขึ้น แม้ในช่วงแรกจะกำหนดให้แต่ละมหาวิทยาลัยมีทีมเหล่านี้เป็นสัดส่วนเพียง 0.5-1.5 เปอร์เซ็นต์ของนักเรียนนักศึกษาทั้งหมดในมหาวิทยาลัย แต่ในเดือน ก.ย. ของปีเดียวกันพบว่าพันธมิตรเยาวชนคอมมิวนิสต์จีนสั่งให้รับอาสาสมัครเข้ามาทำงานถึง 10 ล้านคนในทุกมณฑลรวมกัน โดย 3.8 ล้านคนต้องอยู่ในมหาวิทยาลัย

สัญลักษณ์ของพันธมิตรเยาวชนคอมมิวนิสต์จีน (Communist Youth League, 中国共产主义青年团)
ภาพจาก Wikipedia
 

ตัวอย่างเช่น ในมณฑลเจ้อเจียง จากเดิมที่มีไอโออาสาสมัครเพียง 800 ร้อยคนในปี 2555 แต่ในปี 2559 มีไอโออาสาสมัครถึง 500,000 คน ในมณฑลกวางตุ้ง ยูนนาน และมณฑลอื่นๆ พบว่ามีการเพิ่มขึ้นของไอโออาสาสมัครในลักษณะเดียวกัน ทั้งสองมณฑล (กวางตุ้งและยูนนาน) มีไอโออาสาสมัครอีกหลายแสนคนโดยเป็นไปตามข้อบังคับของพรรคคอมมิวนิสต์จีน จากข้อมูลของพันธมิตรเยาวชนคอมมิวนิสต์ใน 4 มณฑลพบว่าพรรคคอมมิวนิสต์จีนมีแนวโน้มว่าจะจ้าง “อาสาสมัครเพื่ออารยธรรมบนอินเตอร์เน็ต” เป็นสัดส่วน 120 คนต่อผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในประเทศจีน 10,000 คน

งานวิจัยของเฟดาสิอุกเล่าอีกว่าจากข้อมูลของวิทยาลัยแห่งหนึ่งในมณฑลอานฮุย ไอโออาสาสมัคร 100 คนของวิทยาลัยดังกล่าวมีอายุเฉลี่ยอยู่ที่ 19 ปีเท่านั้น อาสาสมัครเหล่านี้เป็นนักเรียนช่าง นักเรียนพยาบาล และนักเรียนสาขาอื่น ๆ ที่ในเวลาว่างควร “หยุดการเผยแพร่ข้อมูลมากมายที่ผิดกฎหมายและอันตรายบนอินเตอร์เน็ต และช่วยเหลือในสร้างสรรค์พื้นที่ไซเบอร์สะอาด” สำหรับคุณสมบัติในการสมัครเพื่อเป็นไอโออาสาสมัครเหล่านี้คือจะต้องเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ มีทักษะการเขียนอยู่ในระดับดี และสามารถเข้าใจทฤษฎีการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์และงานโฆษณาชวนเชื่อได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อได้รับเข้าทำงานพาร์ทไทม์ จะต้องโพสต์ความเห็นประมาณ 1-25 ครั้งต่อเดือน นอกจากนี้จะต้องได้รับ “การซ้อมรบในสนามจริงของความเห็นมหาชน” โดยจะมีการจำลองวิกฤติของการประชาสัมพันธ์ต่างๆ และฝึกให้นักรบคีย์บอร์ดเหล่านี้บริหารจัดการความเห็นมหาชน สื่อสัมพันธ์ และ “การฟื้นฟูความน่าเชื่อถือ” ด้วย ไอโออาสาสมัครเหล่านี้ถูกเรียกว่าเป็นเกรียนคีย์บอร์ด “รากหญ้า” ที่ทำงานประสานกับหน่วย “มืออาชีพ” (หมายถึงกองทัพ 5 เหมา) ทั้งนี้ การทำงานจะต้องประสานกันอย่าง “ไร้รอยต่อ” เพื่อรับมือกับ “สถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ” ที่เกิดขึ้นในพื้นที่การแสดงออกของความเห็นมหาชน

แม้ไอโออาสาสมัครเหล่านี้จะยังเป็นเยาวชนอยู่ แต่ก็มีการจัดตั้งไม่ต่างจากกองทัพ จากเอกสารของพันธมิตรเยาวชนคอมมิวนิสต์ คณะกรรมการกิจการพื้นที่ไซเบอร์ และหน่วยงานโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ พบว่าไอโออาสาสมัครเหล่านี้ถูกเรียกว่า “กองทัพไซเบอร์เยาวชน” “กองกำลังสำรอง” และ “สามารถต่อต้านถ้อยแถลงและข่าวลือเท็จ และสามารถต่อสู้ในสงครามความเห็นมหาชนบนโลกออนไลน์ได้อย่างห้าวหาญ” ในกรณีของมณฑลชานตงพบว่ามีการจัดตั้งโครงสร้างบัญชาการเป็นลำดับชั้นอย่างชัดเจน โดยแบ่งเป็นหมวด (20 คน) หมู่ (20 หมวดหรือ 400 คน) กองพัน (20 หมู่หรือ 8,000 คน) กองพล (20 กองพันหรือ 160,000 คน) และกองทัพน้อย (กำลังพลทั้งหมดของมณฑล)

ก้าวสู่สงครามข้อมูลข่าวสารระดับโลก

งานวิจัยของเฟดาสิอุกสรุปในตอนท้ายว่าขณะนี้หน่วยงานของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและสื่อที่รัฐจีนเป็นเจ้าของกำลังขยายผลกองกำลังไอโออาสาสมัครเหล่านี้ไปสู่การสู้รบใน “สงครามความเห็นมหาชน” กับสหรัฐอเมริกา ด้วยการ “สร้างเครือข่ายระบบวาทกรรมโดยมีลักษณะความเป็นกองทัพของเราอยู่” และ “ขยายอิทธิพลความเห็นมหาชนของเราไปสู่ศัตรูและประเทศบุคคลที่สาม”

ในทางรูปธรรมแล้ว สิ่งที่พรรคคอมมิวนิสต์กำลังทำคือกำหนดกรอบมุมมองของชาวต่างชาติต่อเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อผลประโยชน์ของจีนและพรรคคอมมิวนิสต์จีน เช่น เรื่องการแพร่ระบาดของโควิด 19 และสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา การส่งเสริมกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง และการบังคับใช้แรงงานในซินเซียง ภารกิจของนักรบคีย์บอร์ดเหล่านี้คือการขยายเสียงให้กับเนื้อหาที่สนับสนุนมุมมองดังกล่าวและหักล้างความเห็นของชาวต่างชาติที่ตั้งคำถามและวิพากษ์วิจารณ์มุมมองของพรรคคอมมิวนิสต์จีน

แม้เฟดาสิอุกประเมินว่าการทำงานของไอโอจีนจะยังไม่มีประสิทธิภาพในระดับโลก เนื่องจากการมีอยู่ของกองทัพไอโอเหล่านี้ทำให้ต่างชาติยิ่งยกการ์ดป้องกันตัวเพื่อต่อสู้กับข้อมูลบิดเบือนจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน แต่รัฐบาลจีนยังคงเรียนรู้และพัฒนาเกี่ยวกับการต่อสู้สงครามความเห็นมหาชนบนโลกออนไลน์อย่างต่อเนื่อง เช่น คณะกรรมการกิจการพื้นที่ไซเบอร์ได้สั่งให้ศึกษาการแพร่กระจายข้อมูลข่าวของสำนักข่าว NowThis ในสหรัฐอเมริกา ยุทธศาสตร์จุลภาคของ Cambridge Analytica และขบวนการข่าวปลอมของรัสเซียในช่วงการเลือกตั้งสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ สำนักข่าวต่างๆ ของจีนยังมีการฝึกลดโทนของการโฆษณาชวนเชื่อ โดยใช้เทคนิค “การเล่าเรื่อง (storytelling)” เพื่อลดปฏิกิริยาต่อต้านจากฐานผู้ฟัง/ผู้อ่าน และทดลองใช้บอต (bot) เพื่อเผยแพร่ข้อมูลเป็นวงกว้างเพื่อชดเชยจุดอ่อนทางด้านภาษาของนักรบคีย์บอร์ดจีนอีกด้วย เฟดาสิอุกส่งท้ายว่าแม้จีนจะยังไม่ประสบความสำเร็จมากนักในการต่อสู้สงครามข้อมูลข่าวสารในระดับโลก แต่กองทัพไอโอของจีนจะมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ “หากในช่วง 20 ที่ผ่านมาบ่งชี้อะไรบางอย่างได้ ชาวต่างชาติควรเตรียมใจว่าปฏิบัติการขยายอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์จีนจะเพิ่มขึ้นทั้งขนาด ความซับซ้อน และเป้าหมายของพรรคในสงครามความเห็นมหาชน”

ที่มา:

Ryan Fedasiuk, A Different Kind of Army: The Militarization of China’s Internet Trolls, China Brief Volume: 21 Issue: 7. 

Ryan Fedasiuk, Buying Silence: The Price of Internet Censorship in China, China Brief Volume: 21 Issue: 1. 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท