Skip to main content
sharethis

ทวิตเตอร์ จับมือ ศูนย์ทนายฯ สภาทนายความฯ และไอลอว์ เปิดตัวฟีเจอร์ #ThereIsHelp เมื่อผู้ใช้ทวิตเตอร์ค้นหาคำสำคัญเกี่ยวกับ ‘เสรีภาพการแสดงออก’ จะมีข้อความภาษาไทยขึ้นมาอัตโนมัติ พร้อมรายละเอียดเบอร์ติดต่อศูนย์ทนายฯ และสภาทนายความฯ เพื่อปรึกษาด้านกฎหมาย และความรู้สิทธิพื้นฐานจากไอลอว์ 

 

27 พ.ค. 64 ทวิตเตอร์ ประเทศไทย ร่วมกับ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน (@TLHR2014) ไอลอว์ (@iLawFX) และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดตัว #ThereIsHelp ฟีเจอร์บริการการแจ้งเตือนอัตโนมัติภาษาไทย บนสื่อโซเชียลมีเดีย 'ทวิตเตอร์' 

เมื่อผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ค้นหาคำสำคัญเกี่ยวกับเสรีภาพการแสดงออก และการดำเนินคดี จะมีข้อความขึ้นมาอัตโนมัติ เพื่อนำผู้ใช้ทวิตเตอร์ไปสู่บริการเบอร์สายด่วนขององค์กรศูนย์ทนายฯ และสภาทนายความฯ เพื่อขอคำปรึกษาด้านกฎหมาย รวมถึงความรู้เรื่องสิทธิพื้นฐานจากไอลอว์ 

มนรวี อำพลพิทยานันท์ หัวหน้าฝ่ายนโยบายสาธารณะและการให้เพื่อสังคม ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทวิตเตอร์ เปิดเผยว่า พันธกิจของทวิตเตอร์ในฐานะผู้ให้บริการพื้นที่แลกเปลี่ยนความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ เชื่อว่าเสรีภาพการแสดงออกและการเข้าถึงสังคมอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและเสรีถือเป็นหลักสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้รับ

สำหรับทวิตเตอร์ ประเทศไทย การเปิดตัวฟีเจอร์ข้อความอัตโนมัติ #ThereIsHelp จึงเป็นก้าวย่างที่สำคัญ ในการช่วยเหลือผู้ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงในการเข้าถึงสังคมอินเทอร์เน็ตที่เปิดกว้างและเสรี อีกทั้ง ความร่วมมือกับองค์กรด้านกฎหมายของไทยจะทำให้ผู้ที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลและทรัพยากรความรู้ที่สำคัญ สามารถเข้าถึงได้ไม่ว่าที่ไหนและเมื่อใดก็ตามที่พวกเขาต้องการมากที่สุด

 

ศิริกาญจน์ เจริญศิริ ผู้ร่วมก่อตั้งและทนายความ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยความเห็นถึงการร่วมมือกับทวิตเตอร์ ประเทศไทย ว่า “การร่วมมือกับทวิตเตอร์ครั้งนี้ถือเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมอย่างยิ่ง เพราะใน 9 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหาที่เกี่ยวกับการเมือง และการแสดงออกทางการเมืองในประเทศไทย จำนวน 635 ราย เราพบเห็นการบังคับใช้กฎหมายที่รุนแรงเพื่อปิดปาก และคุกคามประชาชน เพียงแค่พวกเขาแสดงความคิดเห็นอย่างเปิดเผย หรือใช้สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมถึงการเข้าร่วมการชุมนุมอย่างสันติ เราพบเห็นปัญหามากมาย จากหลาย ๆ คดีที่ไม่เข้าสามารถเข้าถึงสิทธิการประกันตัว และการพิจารณาคดีที่ยุติธรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ เราขอสนับสนุนสิทธิในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของประชาชน และตระหนักถึงความสำคัญของเสรีภาพเพื่อการแสดงออก เราตั้งตารอที่จะได้ขยายความช่วยเหลืออย่างทันท่วงทีแก่ผู้ที่ต้องการคำแนะนำด้านกฎหมายในขณะที่กำลังต่อสู้เพื่อคุณค่าตามหลักการประชาธิปไตย”

ทั้งนี้ ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุด้วยว่า ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา มีผู้ถูกฟ้องร้องเกี่ยวกับการแสดงออกและการเคลื่อนไหวทางการเมืองมากถึง 635 ราย ซึ่งมีตั้งแต่ข้อหาตาม ม.112 (94 ราย) ม. 116 ยุยงปลุกปั่น (103 ราย) ไปจนถึง พ.ร.บ. การชุมนุมสาธารณะ (99 ราย) และการกระทำผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ (44 ราย) 

ขณะที่ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ให้ความเห็นว่า “ต้องยอมรับว่ายังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังไม่เข้าใจเรื่องสิทธิของตนเอง เสรีภาพการแสดงออกคือรากฐานสำคัญของสังคมที่ยุติธรรม เสรี และสมัยใหม่ อย่างไรก็ตาม มันมีการบังคับใช้มาตรการมากมายเพื่อสอบสวนและจำกัดเสรีภาพ ประชาชนจึงยังสับสนว่าควรจะปกป้องสิทธิของตนเองตามกฎหมายอย่างไร ตลอดการร่วมมือกับทวิตเตอร์ครั้งนี้เราช่วยเหลือเรื่องการเข้าถึงข้อมูลและเครื่องมือที่มีความจำเป็น เมื่อคุณต้องใช้สิทธิในประเทศไทย”

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวประชาไทได้ทดลองใช้ฟีเจอร์ดังกล่าวผ่านแอปฯ ‘ทวิตเตอร์’ ในมือถือสมาร์ทโฟนในระบบแอนดรอยด์ เมื่อทดลองพิมพ์คำว่า ‘มาตรา112 ถูกจับ’ ในช่อง ‘ค้นหาทวิตเตอร์’ เมื่อคลิกค้นหาแล้ว พบว่าข้อความโผล่ขึ้นมาบนสุดของผลลัพธ์การค้นหา (ตามรูปด้านล่าง) 

หน้าจอหลังจากพิมพ์คำว่า 'มาตรา112 ถูกจับ' และกดค้นหาในแอปทวิตเตอร์
 

สมมติ ถ้าผู้ใช้ทวิตเตอร์ กดที่ ‘ติดต่อศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน’ จะมีการเปลี่ยนหน้าจออัตโนมัติไปสู่หน้าจอกดเบอร์โทรศัทพ์ และมีหมายเลขของศูนย์ทนายฯ ขึ้นมา ให้ผู้ใช้สามารถกดโทรติดต่อเพื่อปรึกษาปัญหากฎหมายได้ทันที

ถ้ากดที่ ‘เรียนรู้เรื่องสิทธิขั้นพื้นฐานจาก iLaw’ แอปฯ ทวิตเตอร์จะพาไปที่หน้าเว็บไซต์บทความของไอลอว์ หัวข้อ ‘รู้จักสิทธิขั้นพื้นฐาน กรณีถูกคุกคาม-เรียก-จับ จากการแสดงออกทางการเมือง’ ให้ผู้ใช้ทวิตเตอร์ได้อ่านและศึกษาข้อมูลเรื่องสิทธิ ตลอดจนวิธีการปฏิบัติตัวเมื่อถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจมาหาที่บ้าน หรือจับกุมตัว 

ทั้งนี้ บริการแจ้งเตือน #ThereIsHelp ของทวิตเตอร์นั้น มีการร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่นหลากหลายประเทศ โดยเน้นให้ความช่วยเหลือในประเด็นต่างๆ เช่น สุขภาพจิตและการป้องกันการฆ่าตัวตาย, การฉีดวัคซีน, การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก, COVID-19, ความรุนแรงตามเพศและการตอบสนองต่อภัยพิบัติ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net