Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เมื่อเร็วๆ นี้ มีโพสต์ของหมอท่านหนึ่ง [1] วิจารณ์วัฒนธรรมการวิจารณ์ โพสต์นี้ดูเหมือนจะเป็นที่สะใจของคนในแวดวงที่ทำงานแก้ปัญหาโควิด ตอบโต้นักวิจารณ์ทั้งหลายที่ชอบใช้ถ้อยคำรุนแรง ไม่รู้จริง ด้วยความมักง่ายและยิ่งทำให้สถานการณ์เลวร้ายลง ตรงกันข้าม การแก้ปัญหาที่ถูกทาง และสถานการณ์ดีขึ้นตามลำดับ เป็นเครื่องพิสูจน์ว่านักวิจารณ์เบาปัญญาเหล่านั้น มีแต่จะทำให้การแก้ปัญหาที่สลับซับซ้อน ยุ่งยากขึ้น

ถ้าเสรีภาพคือความเชื่อที่สามารถปลดปล่อยมนุษย การจำกัดเสรีภาพจึงต้องยกเว้นเท่าที่จำเป็นจริงๆ เช่น การจำกัดเสรีภาพการละเมิดสิทธิในชีวิตและทรัพย์สิน มีแต่เผด็จการเท่านั้น ที่ต้องการฟังคำวิจารณ์ที่สบายใจ ถ้อยทีถ้อยอาศัย

 ความคิดเห็นที่หลากหลาย แม้จะไม่เข้าใจ ไม่รู้จริง ที่จริงคือส่วนหนึ่งของปัญหา ที่อาจเกิดจากความไม่เชื่อมั่น เจตนาร้าย หรืออะไรสักอย่าง ไม่มีอะไรจะคลี่คลายสถานการณ์ได้ดีกว่า การสร้างความเชื่อมั่น และแก้ปัญหาเป็นที่พอใจของทุกฝ่าย ไม่ใช่การรังเกียจและห้ามปรามการวิจารณ์ และโทษว่า การวิจารณ์ของพวกด้อยปัญญาทำให้การแก้ป้ญหาของเหล่าผู้เชี่ยวชาญยุ่งยากขึ้น

เสรีภาพในความเข้าใจของเหล่าชนชั้นนำคงไม่ใช่ความหมายเดียวกับที่ใช้กันทั่วไปในประเทศที่มีเสรีภาพ และถ้ายิ่งคิดถึงประเด็นความยุติธรรมในศาล เรายิ่งเห็นความแตกต่างในมาตรฐานของศาลแต่ละประเทศ

คุณค่าและมาตรฐานในการตีความที่มีความแตกต่างกันข้างตน น่าจะเกิดจากเรื่องของ  “คนไม่เท่ากัน” ที่วัฒนธรรมและสถาบันของแต่ละแห่งหล่อหลอมสำนึกในเรื่องนี้ ให้กลายเป็นแว่นที่ใช้มองโลกโดยไม่รู้ตัว

จอห์น รอลส์ ( (John Rawis, 1921-2002) นักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยฮารเวิรด์ ผู้เงียบขรึมและถ่อมตน อธิบายว่า ทำไมเราถึงต้องการโลกที่เท่าเทียมกันมากกว่า โลกที่ไม่เท่าเทียมกัน

คุณอาจเป็นคนรวย ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยนิด ใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ในขณะที่คนจำนวนมากยากจน มีสุขภาพที่ย่ำแย่ และอายุสั้น ถ้าโลกนี้มีความเท่าเทียมกัน ก็ไม่ควรเกิดเรื่องราวเหล่านี้ การที่คุณวิ่งได้เร็วกว่า เป็นนักบอลที่เก่งกว่า มีความสามารถมากกว่า ทำให้คุณมีรายได้มากกว่า เป็นเพียงโชคของการถูกล๊อตเตอรี่ธรรมชาติ(natural lottery) ที่เกิดจากการที่คุณมียีนส์ที่ดีกว่า เกิดในสภาพแวดล้อมที่ดีกว่า

รอลส์ทดลองออกแบบความคิดทางสังคมที่เรียบง่ายมาก โดยสมมติให้ทุกคนไม่รู้สถานะของตนเอง และกลับไปสู่สถานะดั้งเดิม ที่ทุกคนมีสถานะเหมือนกันและเท่าเทียมกัน โดยใช้ ผ้าคลุมแห่งความไม่รู้(veil of ignorance) ทำให้ทุกคน ไม่รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต

 ดังนั้นเมื่อไม่มีใครอยากจะเป็นคนยากจนที่ทุกข์ทรมาน เมื่อกาลเวลาผ่านไป  (ซึ่งมีโอกาสเป็นมากกว่าไม่เป็น) ทุกคนจะต่อรองและสร้างทางเลือกที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน แน่นอนว่าหลายคนคงชอบการเสี่ยงทายมากกว่า เพราะถ้าเขาตกอยู่ในกลุ่มที่ร่ำรวย ก็จะสบายไปตลอดกาล แต่ถ้าให้คนส่วนใหญ่เลือกได้ ก็คงอยากจะให้คำตอบออกเป็นกลางๆ  และนี่คือการประดิษฐ์ทางความคิดที่ยอดเยี่ยมของรอลส์ โดยมีพื้นฐานจากทัศนะสองเรื่องคือ เสรีภาพ และ หลักการแห่งความแตกต่าง( Difference principle)

รอลส์ เชื่อว่า เสรีภาพในเรื่องสำคัญ เช่น เสรีภาพในการเชื่อ การเลือกผู้นำ และการแสดงออก จะต้องได้รับการปกป้องเหนือสิ่งอื่นใด เช่นเดียวกับชาวเสรีนิยม ที่เชื่อว่าทุกคนมีสิทธิในเสรีภาพเหล่านั้น และไม่มีใครควรพรากมันไป เสรีภาพจะทำให้การต่อรองระหว่างกันดำเนินไปได้อย่างเป็นอิสระและเป็นเหตุเป็นผล

 ในขณะที่หลักแห่งความแตกต่าง รอลว์อธิบายว่า สังคมควรจัดการแจกจ่ายความอยู่ดีกินดีและให้โอกาสกับผู้เสียเปรียบมากที่สุดก่อน ถ้าผู้คนได้รับเงินในปริมาณต่างกัน ความไม่เท่าเทียมจะเป็นที่ยอมรับได้ก็ต่อเมื่อ บางส่วนของมันถูกนำไปช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่าโดยตรง นายธนาคารอาจได้รับเงินโบนัสก้อนใหญ่ เมื่อพนักงานโดยทั่วไปได้รับเงินมากขึ้นจนน่าพอใจ

รอลส์ เชื่อว่า นี่คือโลกแบบที่ผู้มีเหตุผลจะเลือก หากเขาไม่รู้ว่าพวกเขาจะรวยหรือจนในโลกแบบนั้น

แต่โลกศีลธรรมของคนดี ไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับ เสรีภาพและความเท่าเทียมกัน ดังนั้น จงหยุดการแสดงออกหรือแสดงออกเท่าที่จำเป็น เพื่อเปิดพื้นที่ให้คนดีที่ถูกล๊อตเตอรี่ธรรมชาติได้ทำงานเพื่อทุกคนดีกว่า

ส่วนเรื่องความเหลื่อมล้ำ บางคนก็อาจอุทานว่า “อ๋อ จริงด้วยนะ ชีวิตมันไม่ยุติธรรม”(แล้วไง)

 

    อ่านความคิดของ จอห์น รอลส์ เพิ่มเติมใน

    ประวัติศาสตร์ปรัชญา ฉบับ กะทัดรัด โดย ไนเจล วอร์เบอร์ตัน  แปลโดย ปราบดา หยุ่น และ รติพร ชัยปิยะพร 2557
    มนุษย์กับเสรีภาพ: มุมมองปวงปรัชญาคานท์,มิลล์,รอลส์ โดย สุรพศ ทวีศักดิ์ 2562

    อ้างอิง

    [1] เฟสบุ๊ค หมอแก้ว ผลิพัฒน์

    คำพูดของลื้อมันมีแต่ heat ไม่มี light
    .
    วันนี้พอมีเวลาได้นั่งอ่านความคิดของนักวิจารณ์สถานการณ์โควิด
    อ่านแล้วนึกถึงคำสอนอาจารย์ธาดาที่เคยกล่าวไว้
    การวิพากษ์วิจารณ์ควรมี light ไม่ใช่ heat
    คำวิจารณ์ที่สร้างสรรค์ควรเป็นคำวิจารณ์ที่ “ชี้ทางสว่าง” - light
    ไม่ใช่เป็นเพียงคำวิจารณ์ที่แค่ “เอามัน” “สะใจ” หรือ “สร้างความสับสน” - ความร้อนรน - heat
    .
    มันก็คงมีเหตุจูงใจที่ทำให้นักวิจารณ์สถานการณ์โควิดนำเสนอแต่ heat
    แรกก็คือมันทำแล้วดัง มีสำนักข่าวต่างๆ เอาไปตัดแปะ แถมยังเชิญให้มาออกทีวีอีกต่างหาก ย่ิงร้อนแรงยิ่งดูน่ากลัวยิ่งมีถ้อยคำเสียดสียิ่งมีการตั้งชื่อเรียกแปลกๆ - ยิ่งดังมาก ยิ่งสร้างความสับสนก็ยิ่งได้รับความสนใจ
    สองคือมันง่าย บอกแค่ว่ามันมีปัญหาตรงไหน ใครเป็นคนผิด แล้วขยี้แต่งแต้มเติมสีสันลงไป นักวิจารณ์บางคนไม่รับผิดชอบแม้แต่การตรวจสอบว่าข้อเท็จจริงที่ได้รับมา มันถูกต้องหรือไม่
    สามซึ่งน่าจะเป็นเหตุผลที่สำคัญที่สุด ก็คือ การชี้ทางสว่าง หรือการชี้แนะทางออกที่เป็นไปได้ มันยากครับ ต้องสืบค้นและเข้าถึงข่าวสารที่ถูกต้อง วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารหลากหลายมิติที่มีความไม่แน่นอนสูงอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ซึ่งงานอย่างนี้ต้องการคนที่มี “มันสมอง” มาทำงาน
    .
    นักวิจารณ์แบบเอามันที่สามารถสร้างความสับสนมากๆ มักจะชอบสร้างภาพให้ดูน่าตกใจหรือไม่ก็ใช้ถ้อยคำที่เสียดสี เช่น
    * อาจารย์สามแสนห้า-ออกมาบอกว่าถ้าไม่ล็อกดาวน์แบบอู่ฮั่น สงกรานต์ ๖๓ จะมีผู้ติดเชื้อ ๓๕๐,๐๐๐ แน่ๆ ซึ่งโชคดีมากเลยที่เราไม่เชื่อเขา ไม่ได้ล็อกดาวน์แบบอู่ฮั่นจริงๆ เพียงแค่ให้ปิดสถานที่เสี่ยงเท่านั้น ซึ่งจนถึงวันนี้ก็ยังมีผู้ติดเชื้อรายงานในระบบยังไม่ถึงหนึ่งแสนคนเลย
    * อาจารย์สลอธ - ออกมาบอกว่า ช้าแล้ว คุมไม่ได้แล้ว เอาไม่อยู่แล้ว แย่แล้ว ระบาดทั่วประเทศแน่นอน
    * อาจารย์มโนฉากทัศน์-ออกมาสร้างฉากทัศน์มากมายพยายามอธิบายภาพอนาคต ทุกฉากทัศน์ “เอามัน” คือคุมไม่ได้ คุมไม่อยู่ จะระบาดไปทั่วประเทศ
    * อาจารย์เทเลทับบี้-ออกมาบอกว่าการระบาดระลอก ๒ ที่สมุทรสาครต้องล็อกดาวน์ (อีกแล้ว) แถมยังบอกอีกว่า ถ้าไม่ล็อกดาวน์ ไม่มีทางที่จะควบคุมโรคได้ วิจารณ์คนทำงานที่ทำงานหนักและทำงานอย่างถูกวิธีว่าใช้ยุทธวิธีเทเลทับบี้ แล้วยังไงครับ การระบาดที่สมุทรสาครเหลือผู้ติดเชื้อหลักเดียวในช่วงต้นเดือนเมษายน
    * อาจารย์ระบาดจำเป็น-ออกมาบอกว่าการระบาดสมุทรสาครกับทองหล่อเป็นการระบาดต่อเนื่องกัน ทั้งที่รู้ว่ามันเป็นเชื้อคนละตัวกัน
    * อาจารย์วัคซีน - ออกมาวิจารณ์วัคซีนที่ไทยซื้อไม่มีประสิทธิภาพ ทำไมไม่ไปซื้อวัคซีนที่ไทยไม่ได้จอง วัคซีนบริษัทอื่นดีกว่าเยอะ
    ฯลฯ
    ไปต่อได้เรื่อยๆ ครับ ถ้าอ่านอีก ก็คงจะเจออีก
    .
    เรื่องพวกนี้ เห็นชัดๆ ครับว่า บางเรื่องไม่ใช่เป็นการบอกเตือนสังคมด้วยใจที่มี “ธรรม”
    คำวิจารณ์พวกนี้แทบไม่ช่วยสถานการณ์เลยครับ
    บางครั้งกลับทำให้คนทำงานทำงานยากขึ้นอีก
    จริงๆ แล้วเราต้องเปิดใจนะครับ คนทำงานย่อมมีความผิดพลาดได้
    ขนาดนักวิจารณ์ยังผิดพลาดเลย บางคนผิดซ้ำผิดซาก ผิดพลาดมากกว่าคนทำงานซะอีก
    .
    ผมขอเสนอวิธีการเดินไปข้างหน้าดูนะครับ
    .
    สำหรับคนที่ชอบวิจารณ์สถานการณ์โควิด ผมคิดว่าท่านควร
    ๑) ตั้งสติ เอาอคติวางไว้ข้างนอกวงก่อนเริ่มวิจารณ์ คิดประเด็นที่ท่านอยากจะให้ข้อเสนอแนะ ไม่ใช่คิดถึงสิ่งที่ท่านจะติ
    ๒) วิเคราะห์สถานการณ์ให้รอบด้าน พิจารณาทุกมิติ
    ๓) ระบุทิศทางหรือเป้าหมายของการจัดการกับปัญหาให้ชัดเจน (หลายครั้งผู้วิจารณ์มักไม่ค่อยบอกว่าเขาอยากเห็นอะไรเกิดขึ้นในสังคม ซึ่งการตัดสินใจทำอย่างหนึ่งย่อมมีผลกระทบต่ออีกด้านหนึ่ง)
    ๔) วิเคราะห์ทางเลือกด้วยใจที่ไร้อคติ ด้วยความเข้าใจว่าคนไทยมี ๖๐ กว่าล้านคน ไม่ได้มีท่านคนเดียว คนอื่นเขาก็ต้องการจะ “รอด” ด้วยเหมือนกัน
    ๕) เสนอ “ทางสว่าง” อย่างสร้างสรรค์ และด้วยใจที่มีเมตตา
    .
    สำหรับคนอ่าน ท่านควร
    ๑) ใช้หลักกาลามสูตรของพระพุทธเจ้านะครับ อย่าเชื่อเพียงเพราะได้รับการแชร์ต่อๆ กันมา อย่าเชื่อเพราะคนพูดได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญ อย่าเชื่อเพราะคนพูดเป็นถึงรองศาตราจารย์ หรือศาสตราจารย์ อย่าเชื่อเพราะผู้พูดเป็นคนที่มีชื่อเสียง อย่าเชื่อเพราะผู้พูดมาจากสถานบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง ฯลฯ
    ๒) อ่านเยอะๆ ฟังให้มาก มองหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ (scientic evidence) อย่ามองหาแต่ความเห็น
    ๓) ค่อยๆ รวบรวมหลักฐาน ค่อยๆ คิดด้วยตรรกะพื้นฐานที่เรามี
    ๔) หากไม่เข้าใจ ก็ควร “ถาม” ได้คำตอบมาแล้วนำเข้ามาสู่การคิด วิเคราะห์ต่อ
    ๕) อย่าลืมจดบางประเด็นที่สำคัญไว้ กันลืม
    .
    สำหรับสื่อ ผมเสนอเพิ่มเติมจากการเป็นผู้อ่านที่ดีแล้ว
    ควรเข้าใจว่านาทีนี้ประเทศอยู่ในสภาวะที่ไม่ปกติครับ
    ท่านควรเลือกเสนอความจริง
    ท่านควรเลือกนำเสนอ light ให้มากกว่า heat
    นำเสนอข้อคิดที่น่าจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหา
    ไม่ใช่เพียงแค่นำเสนอคำวิพากษ์วิจารณ์ โดยเฉพาะการนำเสนอคำวิพากษ์วิจาณ์รัฐที่ท่านก็รู้ว่าไม่เป็นความจริง
    ถามนักวิจารณ์ให้หนักว่า แล้วถ้าเป็นนักวิจารณ์เอง นักวิจารณ์จะแก้ปัญหาอย่างไร
    .
    ยามนี้ผมอยากเห็น light มากกว่า heat ในสังคมไทย
    อยากเห็นคนใช้สมองมากกว่าใช้อารมณ์
    อยากเห็นความคิดสร้างสรรค์มากกว่าการใช้อคติ
    อยากเห็นคนที่มองภาพรวมมากกว่ามองแค่จุดที่ตนสนใจ
    .
    เวลานี้เป็นเวลาที่ไทยต้องเป็นหนึ่งครับ
    เสนอความคิดอย่างสร้างสรรค์ ต่อเติมเสริมสร้างความเข้มแข็ง
    Share the light, not the heat นะครับ
    .
    #เราจะชนะไปด้วยกัน
    #พวกเราทีมไทย
    #NeverNeverNeverGiveUp
    #สำหรับประเทศไทยน้อยกว่านี้ได้ยังไง
    #แด่มดงานเพื่อนร่วมอุดมการณ์
    #ศิษย์มีวันนี้เพราะมีครู
    #TPWork
    #TPlife
    #I_Love_What_I_Do
    #ชีวิตคือการเรียนรู้ที่ไม่มีวันสิ้นสุด 

    ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

    ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net