ขุดหนังเก่า เล่าปรัชญา: ครบรอบ 24 ปี Gattaca เทคโนโลยี พันธุกรรม ความเหลื่อมล้ำในโลกอนาคต

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

“Of course, they say every atom in our bodies was once a part of a star.
Maybe I'm not leaving; maybe I'm going home."
 

“เขาว่ากันว่าทุก ๆ อณูในร่างกายเราเป็นส่วนหนึ่งของดวงดาว, อาจไม่ใช่ว่าผมกำลังจะจากไป แต่ผมกำลังจะกลับบ้าน”

ประโยคสุดแสนคมคายและลึกซึ้งนี้เป็นประโยคทิ้งท้ายไว้ในฉากจบของภาพยนตร์ Gattaca[1] (1997) ขณะที่วินเซนท์ ฟรีแมน ตัวเอกของเรื่อง กำลังเดินทางขึ้นไปยังอวกาศในฐานะนักบินอวกาศของบริษัท Gattaca Aerospace Corporation นับเป็นเวลา 23 ปีแล้วที่ภาพยนตร์ Gattaca ออกฉายปรากฏแก่สายตาผู้ชมทั่วโลก หากเปรียบเป็นคน Gattaca คงอยู่ในวัยหนุ่มซึ่งจะมีอายุครบ 24 ปีเต็มในเดือนตุลาคมที่จะถึงนี้

Gattaca: เมื่อเทคโนโลยีทางพันธุกรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือในการแบ่งชนชั้น

Gattaca เป็นผลงานการเขียนบทและผลงานการกำกับภาพยนตร์ของ Andrew Niccol เรื่องราวในภาพยนตร์จำลองโลกอนาคตที่มนุษย์มีเทคโนโลยีก้าวหน้าจนสามารถสร้างเทคโนโลยี ‘Eugenics’ เทคโนโลยีทางพันธุวิศวกรรมที่ใช้สำหรับพัฒนา คัดเลือก คัดสรร ตัดแต่ง และปรับปรุงพันธุกรรมในระดับยีนของมนุษย์ เทคโนโลยีนี้สามารถคัดเลือกคู่ยีนที่พึงประสงค์และตัดคู่ยีนที่ไม่พึงประสงค์ออกไปได้ ผลของการใช้งานเทคโนโลยีนี้จะทำให้ผู้ใช้ได้คุณสมบัติยีนพึงประสงค์ตามความต้องการ[2] หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า เทคโนโลยีนี้มีความสามารถในการกำจัดหรือลดยีนที่ให้โทษหรือยีนด้อยของมนุษย์ซึ่งอาจเป็นยีนที่ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ทำให้เกิดโรคหรือความเจ็บป่วย ตลอดจนยีนที่ทำให้คนพิการทุพพลภาพ และสามารถคัดเลือกยีนเด่นที่ทำให้มนุษย์มีคุณภาพชีวิตที่ดี เมื่อประชากรมนุษย์ผ่านการใช้ Eugenics และส่งต่อแต่พันธุกรรมให้กับรุ่นลูกหลานก็จะทำให้มนุษย์ในอนาคตมีแต่ยีนเด่น ในภาพยนตร์การใช้เทคโนโลยี Eugenics เป็นเรื่องปกติ ผลของมันทำให้การดำเนินชีวิตของมนุษย์จะต้องมีเรื่องของพันธุกรรมเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ เช่น การจัดทำฐานข้อมูลทะเบียนประชากรที่ใช้พันธุกรรมเป็นข้อมูลสำคัญ โดยใช้ ไบโอเมตริก[3] (Biometrics) เพื่อจัดจำแนกบุคคล ในภาพยนตร์จะมียีน Valid เป็นยีนเด่น และยีน Invalid เป็นยีนด้อย แม้ว่าการแบ่งแยกชนชั้นทางพันธุกรรมสำหรับการรับสมัครคนเข้าทำงานจะเป็นสิ่งที่มีกฏหมายรองรับ (ในทำนองเดียวกันกับการรับเข้าทำงานโดยห้ามเลือกจากการสีผิว การนับถือศาสนา และเพศ) แต่ในเชิงปฏิบัติแล้วในการกรอกใบสมัครงานก็ยังมีช่องให้กรอก จีโนไทป์ (genotype) หรือลักษณะภายในของยีน เพื่อใช้สำหรับการคัดเลือกคนเข้าทำงาน และแน่นอนว่าคนที่มียีน Valid มีโอกาสสำหรับการทำงานมากกว่าและได้งานที่ดีกว่าคนที่มียีน Invalid

วินเซนท์: ชายหนุ่มผู้เกิดมาพร้อมกับความ (ถูกทำให้) ด้อย

Gattaca เล่าถึงเรื่องราวที่พยายามเดินตามความฝันของวินเซนท์ ฟรีแมน ชายหนุ่มผู้ที่เกิดมาพร้อมยีนด้อย วินเซนท์มีสายตาสั้นและเป็นโรคหัวใจ จากการวินิจฉัยทางการแพทย์เขาถูกประเมินว่าจะมีอายุอยู่เพียง 30.2 ปีเท่านั้น พ่อและแม่ของวินเซนท์ตัดสินใจมีลูกคนที่สอง ครั้งนี้พ่อและแม่ของวินเซนท์เลือกใช้เทคโนโลยี Eugenics ทำให้ แอนโทน ฟรีแมน น้องชายของวินเซนท์เกิดมาพร้อมกับยีน Valid ทำให้แอนโทนฉลาดและสุขภาพดี สองพี่น้องมักจะพากันไปว่ายน้ำเล่นและเล่นเกมที่มีชื่อว่า Chicken เป็นเกมที่แข่งกันว่ายน้ำในทะเล หากใครว่ายไปไกลกว่าก็อีกคนเป็นผู้ชนะและใครที่ว่ายเข้ากลับถึงฝั่งก่อนเป็นผู้แพ้ การแข่งขันในแต่ละครั้งวินเซนท์ผู้มียีน Invalid เป็นผู้แพ้เสมอ วินเซนท์นั้นฝันอยากเป็นนักบินอวกาศ แต่ทุกครั้งที่เขาฝัน เรื่องยีนด้อยที่เขามีจะเข้ามาเตือนและดับฝันเขาเสมอ มิหนำซ้ำพ่อของเขายังดูถูกเขาว่า เขาทำได้ดีที่สุดก็เพียงคนทำความสะอาดในสถานีอวกาศเท่านั้น ทำให้วินเซนท์หนีออกจากบ้านและไปสมัครงานเป็นคนทำความสะอาดที่ Gattaca Aerospace Corporation ด้วยความต้องการตามฝันวินเซนท์ตัดสินใจสวมรอยตัวเองให้เป็นคน Valid ด้วยการใช้ตัวอย่างเส้นผม ผิวหนัง เลือด และปัสสาวะ จากเจอร์โรม มอร์โรว์ ผู้มียีน Valid และเป็นผู้พิการจากอุบัติเหตุรถยนต์ ก่อนหน้านี้เจอร์โรมเป็นนักกีฬาว่ายน้ำดาวรุ่ง วินเซนท์ปลอมแปลงตนเองว่าเป็นเจอร์โรม และเขาสมัครเป็นนักบินอวกาศได้สำเร็จ ในการปกปิดตนเองของวินเซนท์ ทุกวัน ๆ ก่อนไปสำนักงาน เขาจะต้องขัดผิวเพื่อชะล้างไม่ให้พบสิ่งที่บ่งชี้ถึงสารทางพันธุกรรมของตนเอง ต้องปลอมแปลงผลเลือดและปัสสาวะที่ใช้กับเครื่องตรวจจับในการผ่านเข้าสำนักงานในแต่ละวัน รวมถึงต้องปกปิดข้อมูลโรคหัวใจของเขาด้วย ต่อมาทาง Gattaca Aerospace Corporation มีโปรเจคไปสำรวจ ไททัน ดวงจันทร์บริวารของดาวเสาร์ ระหว่างที่คัดเลือกพนักงานในสถานีอวกาศสำหรับโปรเจคนี้ เกิดเหตุฆาตกรรมขึ้นในบริษัท ทำให้การตามล่าคนร้ายเกิดขึ้นและการตามล่าอาชญากรต้องใช้สารทางพันธุกรรมในการสืบค้น วินเซนต์ตกเป็นผู้ต้องสงสัย ทำให้เขาต้องระมัดระวังเกี่ยวกับการตรวจจับจากเจ้าหน้าที่ตำรวจสำหรับการตรวจสารทางพันธุกรรม แต่สุดท้ายเขาเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่ถูกตรวจจับจากทั้งบริษัทและเจ้าหน้าที่ตำรวจ และได้เดินทางไปอวกาศตามความฝันสำเร็จ

Gattaca กับภาพจินตนาการความเหลื่อมล้ำในวันที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า         

Gattaca ฉายภาพความเหลื่อมล้ำในวันที่เทคโนโลยีเจริญก้าวหน้า จะเห็นได้ว่านิยามของความเหลื่อมล้ำในโลกอนาคตเปลี่ยนแปลงไปนิยามในปัจจุบัน เป็นที่ทราบกันดีว่าค่าชี้วัดความเหลื่อมล้ำในโลกปัจจุบันชี้วัดกันที่ตัวเลขในบัญชีธนาคาร รายได้ประจำปี ซึ่งยึดโยงกับระบบเศรษฐกิจโดยตรง การแก้ไขความเหลื่อมล้ำสามารถแก้ไขได้ผ่านการจัดการระบบเศรษฐกิจ หรือการบริหารจัดการด้านการเงินของรัฐ และการจัดการของรัฐที่ดี จะนำมาซึ่งคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน ความเหลื่อมล้ำในลักษณะเช่นนี้แก้ได้ง่าย เมื่อเทียบกับความเหลื่อมล้ำที่กำลังจะพูดถึงต่อไป นั่นคือ ความเหลื่อมล้ำในโลกอนาคตในภาพยนตร์ Gattaca ซึ่งเป็นความเหลื่อมล้ำเหมือนกัน แต่ความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นดังกล่าวไปผูกติดอยู่กับชุดความรู้เรื่องพันธุกรรม หากใครที่มีพันธุกรรม Valid เท่ากับว่ามีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าคนที่มีพันธุกรรม Invalid ความเหลื่อมล้ำแบบหลังจึงแก้ไขยาก เพราะเทคโนโลยีเป็นสิ่งที่สามารถเข้าถึงได้เฉพาะคนบางกลุ่มที่มีสถานะทางเศรษฐกิจสูงพอสมควร การนำเทคโนโลยีชนิดนี้มาใช้ยิ่งจะเพิ่มความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมมากขึ้น ผู้เขียนลองจินตนาการ พบว่ามีความเป็นไปได้ 2 แบบ

แบบแรก เป็นภาพสังคมที่มีคนจนจำนวนมากที่ยากต่อการเข้าถึงเทคโนโลยี Eugenics และคนจนเหล่านั้นจะถูกบีบบังคับจากข้อมูลทางพันธุกรรมให้อยู่ในขอบเขตของงานที่ไม่ดี หรือ งานที่ไม่มีใครอยากทำ และคนรวยที่มีหนทางเข้าถึงเทคโนโลยี Eugenics ก็จะกินหรู อยู่สบาย ทำงานที่ดีที่ข้อมูลทางพันธุกรรมเอื้ออำนวยให้ สังคมแบบแรกคงเป็น สังคมที่อาชีพที่ใช้ทำมาหากินจะถูกจำกัดและสืบทอดด้วยสายเลือด ชนชั้นจะถูกจำกัดให้อยู่เช่นนั้นไปตลอดและยากที่จะมีอิสระ หรือโอกาสในการเลื่อนชนชั้น

แบบที่สอง เป็นภาพสังคมที่รัฐเข้ามาบริหารจัดการดี รัฐนำเทคโนโลยี Eugenics มาใช้กับคนทุกคนในสังคม หากเป็นไปในเช่นนี้ ประชากรทุกคนจะมีข้อมูลทางพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกัน ความเจ็บป่วยลดลง อายุยืนขึ้น คนมีสารพันธุกรรมดีพอ ๆ กัน การจัดจำแนกงานด้วยพันธุกรรมจะไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตามผู้เขียนคาดว่าจะมีการ turn จุดศูนย์กลางหรือความสำคัญของชุดความรู้มาแทนที่ความรู้เรื่องพันธุกรรมและเป็นต้นตอนำไปสู่พลวัตทางสังคมและประวัติศาสตร์ต่อไป

เมื่อวิทยาศาสตร์ คือ ความศักดิ์สิทธิ์

ความรู้ทางพันธุกรรมในสังคม Gattaca ความรู้ชุดนี้ตั้งอยู่บนฐานคิดสำคัญ คือ ความคิดแบบวิทยาศาสตร์ เราจะเห็นประชากรใน Gattaca ที่มีเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดดอย่าง Eugenics ที่ใช้คัดเลือกพันธุกรรม หรือการตรวจระบุอัตลักษณ์บุคคลโดยใช้ DNA ในเลือกในการตรวจจับผู้ต้องหาของเจ้าหน้าตำรวจ ตัวอย่างของเทคโนโลยีเหล่านี้เป็นจุดสำคัญแสดงให้เห็นว่า ความรู้แบบวิทยาศาสตร์ถูกยอมรับและให้ความสำคัญจนเป็นฐานคิดสำคัญของคนในสังคม Gattaca ลักษณะสำคัญของความรู้แบบวิทยาศาสตร์การเข้าถึงความจริง โดยความจริงนั้นสามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ในเชิงประจักษ์ สามารถชั่ง ตวง วัด เป็นไปในลักษณะวัตถุวิสัย[4]  

การยอมรับความรู้ชุดใดชุดหนึ่ง (ในภาพยนตร์เป็นการยอมรับความรู้แบบวิทยาศาสตร์) ขณะเดียวกันเป็นการมอบอำนาจหรือยกให้ความรู้ชุดนั้นเหนือกว่าความรู้อื่น ๆ ในภาพยนตร์เป็นการยอมรับความแม่นยำของการตรวจวัดทางพันธุกรรม หรือ การยอมรับความรู้แบบวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะความรู้เรื่องพันธุกรรม จึงเท่ากับว่าคนในสังคม Gattaca มอบอำนาจให้กับความรู้นั้น และมันนำมาซึ่งกฏเกณฑ์ของสังคมสำหรับการตัดสินผิดถูก ดีงาม ผ่านข้อมูลความรู้ทางพันธุกรรม ความศักดิ์สิทธิ์ของความรู้แบบวิทยาศาสตร์ (โดยเฉพาะเรื่องพันธุกรรม) ภายในเรื่องศักดิ์สิทธิ์เหนือกฏหมาย เห็นได้จากการที่เจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนจะพกเครื่องตรวจ DNA ติดตัวอยู่เสมอ รวมถึงฉากตอนตั้งด่านตรวจหาบุคคลต้องสงสัยก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ใช้ข้อมูลพันธุกรรมเป็นสำคัญ นอกจากนี้พบว่าความศักดิ์สิทธิ์ของความรู้เรื่องพันธุกรรมทำหน้าที่กำหนด ประพฤติตัวเป็นกฏเกณฑ์หลักของสังคม กลายเป็นมาตรวัดคุณค่าของความเป็นคน การมีพันธุกรรม Valid เป็นคนดี น่ายกย่อง เหมาะสมกับงานที่ดี สวนทางกับ คนมีพันธุกรรม Invalid ที่ต้องใช้ชีวิตอยู่อย่างลำบากมากกว่าในสังคม เช่น วินเซนท์ที่ต้องดิ้นรนตามความฝัน ต่างกับแอนโทน น้องชายที่ไม่ต้องกระเสือกกระสนมากนัก ทั้งที่ทั้งสองคนเกิดในครอบครัวเดียวกัน มีพ่อแม่คนเดียวกัน และมีฐานะทางบ้านเหมือนกัน

แง่มุมหนึ่งที่ผู้เขียนอยากเสนอคือ ในภาพยนตร์น้อยมากที่กล่าวถึงเรื่องราวเกี่ยวกับศาสนา หรือแทบไม่พบเรื่องความเชื่อในศาสนาเลย[5] ด้วยบรรยากาศภายในเรื่องที่สร้างให้คนในสังคมชูความรู้แบบวิทยาศาสตร์จนเป็นชุดความรู้ที่เป็นฐานของสังคม สำหรับศรัทธาและความเชื่อเมื่อวางบนฐานความรู้แบบวิทยาศาสตร์ย่อมไม่มีความหมายไปโดยปริยาย อย่างไรก็ตามมีบางคำถามที่น่าขบคิด และผู้เขียนอยากชวนผู้อ่านร่วมค้นหาคำตอบไปด้วย นั่นคือ แม้ว่าในบริบทที่ภาพยนตร์จัดวางขึ้นนั้น ไม่มีพื้นที่ที่แสดงออกถึงศาสนาหรือความเชื่อทางศาสนา แล้วเป็นไปได้หรือไม่ว่าการที่วินเซนท์สามารถปลอมแปลงตนเองจนทำตามความฝันได้สำเร็จ สิ่งที่เกิดกับวินเซนท์นี้เป็นพระประสงค์ของพระเจ้าที่ประทานให้เขาเป็นคน Invalid ที่โชคดี ผ่านการทดสอบจากพระเจ้า จนถึงเส้นชัยที่เขาปรารถนา หรือในอีกทางหนึ่ง พระเจ้าไม่ได้มีอยู่จริง ๆ ไม่มีการประทานพรหรือความโชคดีใดใดแก่วินเซนท์ การไปถึงฝั่งฝันของวินเซนท์ที่ใช้วิธีการปลอมแปลงตัวตนจากเจอร์โรมนั้น ทุกอย่างเกิดจากความพยายามของวินเซนท์เอง ไม่มีพระเจ้าเข้ามาเกี่ยวข้อง ประเด็นนี้หากเลือกคำตอบทางใดทางหนึ่งจะเท่ากับว่าตัดขาดการมีอยู่ของอีกตัวเลือกไปเลยดังนี้

หากเลือกว่า การที่วินเซนท์มีชีวิตเป็นไปตามพระประสงค์ของพระเจ้า เท่ากับว่าทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในภาพยนตร์ถูกกำหนดไว้แล้วโดยพระเจ้า การถือกำเนิดของคนแต่ละคน เท่ากับว่าพระเจ้าได้เลือกสรรไว้แล้ว แอนโทนเกิดมาหลังวินเซนท์ได้รับสิ่งพระเจ้าประทานให้ คือ การเกิดมาผ่านเทคโนโลยี Eugenics ส่วนวินเซนท์ก็ต้องเหนื่อยมากกว่าแอนโทน แต่พระเจ้าก็ยังเมตตาให้เขาไปถึงความปรารถนา ในข้อนี้ความพยายามในการปลอมแปลงตัวตนของวินเซนท์จะไม่มีความหมายเลย เพราะชีวิตเขาถูกจัดวางไว้แล้ว วันหนึ่งไม่ว่าอย่างไรเขาก็จะได้ไปท่องอวกาศ เพราะพระเจ้าจัดวางไว้แล้ว

หากเลือกว่า เกิดจากความสามารถของวินเซนท์เอง จะเท่ากับว่าการถูกกำหนดด้วยความรู้ชุดใดชุดหนึ่งของสังคมเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ในภาพยนตร์ความรู้แบบวิทยาศาสตร์กำหนดความเหมาะสมของบุคคลจากพันธุกรรม รวมถึงการตัดสินในแง่ความดี ความงามด้วยดังกล่าวไปข้างต้น เท่ากับว่ากฏเกณฑ์ของสังคม Gattaca ที่มีความรู้แบบวิทยาศาสตร์เป็นมาตรฐานตัดสินอยู่นี้จะผิดทันที เพราะวินเซนท์พิสูจน์แล้วว่าคนพันธุกรรม Invalid ก็สามารถทำงานในสถานีอวกาศได้ รวมถึงภาพยนตร์แสดงบางแง่มุมของตัวละครหลาย ๆ ตัว ที่แม้ว่าตัวละครเหล่านั้นมีสารพันธุกรรม Valid ที่เป็นสารพันธุกรรมที่เชื่อว่าเด่น แต่กลับดำเนินชีวิตไปได้อย่างไม่ราบรื่น มีความผิดหวังจากการที่ตนเองทำไม่ได้ตามความต้องการ เช่น เจอร์โรม ตัวละครที่ให้วินเซนท์ปลอมแปลงตนเอง ด้วยการช่วยเหลือมอบตัวอย่างสารพันธุกรรมทั้งเส้นผม ผิวหนัง เลือด และปัสสาวะ เขามียีน Valid ในทุกด้าน เจอร์โรมก่อนที่จะมาเจอกับวินเซนท์ เขาเป็นนักกีฬาว่ายน้ำโอลิมปิกที่ชวดเหรียญทองในการแข่งขัน เขาได้ครอบครองเพียงเหรียญเงิน เหตุการณ์นั้นทำให้เขาพยายามฆ่าตัวตายด้วยการกระโดดให้รถชน แต่รอดมาได้พร้อมกับการนั่งวีลแชร์ไปตลอดชีวิต กรณีของเจอร์โรมหักล้างความเชื่อเรื่องพันธุกรรมในภาพยนตร์ที่เชื่อว่าการมีพันธุกรรม Valid จะทำให้เจ้าของพันธุกรรมนั้นเป็นที่หนึ่งหรือทำได้ดีเสมอไป โดยไม่ต้องฝึกฝน

บทสรุป: คำเฉลยที่ซ่อนไว้ในเกม Chicken

สำหรับผู้เขียนแล้ว คำตอบที่แท้จริงของภาพยนตร์ Gattaca ถูกซ่อนเร้นเอาไว้ในเรื่องและคำตอบอยู่ในเกมที่สองพี่น้องฟรีแมนชวนกันเล่นในวัยเยาว์ เกม Chicken ในภาพยนตร์จะปรากฏฉากการเล่นเกม Chicken ทั้งหมด 3 ครั้ง ครั้งแรกและครั้งที่สองเกิดขึ้นตอนต้นเรื่อง และครั้งที่สามเกิดขึ้นช่วงท้ายเรื่อง ในครั้งแรกวินเซนท์และแอนโทน ออกว่ายน้ำไปในทะเล และเป็นวินเซนท์ที่กลับมาถึงฝั่งก่อน วินเซนท์มักจะแพ้เช่นนี้เสมอ

ในครั้งที่สอง สองพี่น้องโตขึ้นเป็นวัยรุ่น ทั้งสองพากันไปเล่น Chicken ดังที่เคย เหตุการณ์ในครั้งที่สองนี้วินเซนท์สามารถว่ายน้ำตามติดแอนโทนได้ ต่างไปจากครั้งแรกและเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน แอนโทนเกิดหมดแรง จมน้ำ และร้องขอให้วินเซนท์ช่วยชีวิต เป็นครั้งแรกในชีวิตที่วินเซนท์เห็นว่าแอนโทนเองก็ไม่ได้แข็งแรงอย่างที่เขาคิด และเขาก็ไม่ได้อ่อนแออย่างที่คาดไว้ เหตุการณ์นี้ทำให้ความเข้าใจของวินเซนท์ที่มีต่อความคิดเรื่องพันธุกรรมเปลี่ยนไป วินเซนท์มองเห็นความเป็นไปได้ที่เขาสามารถทำตามความฝัน โดยความฝันของเขาไม่ผูกติดกับพันธุกรรมอีกต่อไป

ต่อมาในครั้งที่สามสองพี่น้องพบกันอีกครั้งในวัยหนุ่มฉกรรจ์ เกม Chicken ในครั้งนี้ทั้งสองว่ายลงไปในทะเลท่ามกลางราตรีมืดมิด เมื่อว่ายไปไกลพอสมควร แอนโทนเอ่ยถามพี่ชายว่า

“เราออกมาไกลจากฝั่งมากเกินไปแล้ว เราควรว่ายกลับ”

“แกจะยอมแพ้หรอ” วินเซนท์ตอบกลับ

ทั้งคู่ว่ายไปต่อ ระยะทางไกลจากเดิมพอสมควร น้องชายเกิดสงสัยถามพี่ชายอีกหน

“แกไปเอาแรงมาจากไหน แกทำแบบนั้นได้ยังไง ว่ายกลับกันเถอะ”

“อยากรู้ว่าฉันได้ยังไงใช่ไหม ฉันทุ่มแรงว่าย โดยไม่คำนึงถึงตอนว่ายกลับ”

บทสนทนาที่เกิดขึ้นในครั้งที่สามนี้ แสดงถึงการไม่ยอมแพ้ต่อความเชื่อเรื่องพันธุกรรมที่สังคมมอบความศักดิ์สิทธิ์อย่างชัดเจน วินเซนท์ผู้มีพันธุกรรม Invalid เอาชนะน้องชายของเขาที่เกิดมาจากเทคโนโลยี Eugenics วินเซนท์พิสูจน์อย่างประจักษ์แล้วว่าเขาในฐานะผู้ที่สังคมเชื่อว่าด้อยกว่า หากเพียรพยายาม ไม่ยอมแพ้ ไม่หยุดทุ่มเทแรงกาย คนพันธุกรรม Invalid ก็สามารถมีความสามารถเทียบเท่าคนพันธุกรรม Invalid ได้ การเลือกใช้ฉากว่ายน้ำยังแสดงถึงศักยภาพทางด้านร่างกายที่ผู้เขียนบทอยากแสดงให้เห็นถึงการที่ตัวเอกสามารถเอาชนะน้องชายทางด้านร่างกายได้ซึ่งเป็นการแสดงและสื่อออกมาได้ชัดเจนกว่าด้านอื่น ฉากว่ายน้ำในครั้งที่สามนี้ยังยืนยันถึงความผิดพลาดของสังคม Gattaca ที่เชื่อในความรู้แบบวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะเรื่องพันธุกรรมที่นำมาเป็นตัวตัดสินชี้วัดหรือเป็นมาตรทางสังคมของ Gattaca

สุดท้ายแล้วการไปอวกาศของวินเซนท์จึงไม่ใช่เรื่องราวของชีวิตที่ถูกกำหนดไว้ ทั้งจากน้ำมือพระเจ้า และพันธุกรรมในร่างกายจากธรรมชาติ แต่เป็นความพยายามของวินเซนท์เองที่พาเขาไปยังจุดหมายได้

 

อ้างอิง

[3] ไบโอเมตริก คือ การตรวจวัดทางร่างกายและการประมวลผลเกี่ยวกับลักษณะของมนุษย์ โดยใช้ระบบคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือในการสร้างรูปแบบของการระบุอัตลักษณ์บุคคล

[5] พบเพียงฉากที่วินเซนท์เล่าถึงแม่ตอนเขาแรกเกิดว่า “ไม่รู้ทำไมแม่ของเขาถึงไม่ไว้ใจพระเจ้า”

 

ที่มาภาพ: Gattaca and the Law of Designer Babies https://thelegalgeeks.com/2018/08/13/gattaca-and-the-designer-baby/

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท