Skip to main content
sharethis

พิษโควิดระบาดสองปี “ซีพี” เยียวยาพนักงานแล้ว 880 ล้านบาท

27 พ.ค.2564 รายงานข่าวจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ส่งผลต่อการทำงานและการใช้ชีวิตของพนักงาน จากสถานการณ์ดังกล่าว เครือฯ โดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร มีความห่วงใยพนักงานทุกคน โดยประกาศนโยบายดูแลพนักงาน อาทิ ไม่เลิกจ้างพนักงาน พร้อมทั้งมีมาตรการให้ความช่วยเหลือพนักงานเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงานและครอบครัว

ทั้งนี้ ในปี 2563 เครือฯ ได้ให้ความช่วยเหลือพนักงานในด้านต่างๆ มูลค่ารวม 624 ล้านบาท แบ่งเป็น สนับสนุนหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ มูลค่ารวม 280 ล้านบาท เงินกู้ฉุกเฉิน 198 ล้านบาท ช่วยเหลือด้านอาหารแก่ครอบครัวพนักงานที่เดือดร้อน 92 ล้านบาท สนับสนุนค่าประกันโควิด-19 จำนวน 21 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาลแก่พนักงานที่ป่วยจากโควิด-19 จำนวน 15 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อการศึกษาบุตรพนักงานในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจำนวน 6 ล้านบาท เป็นต้น

สำหรับในปี 2564 จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกที่ 3 ซึ่งบริษัทได้ให้การสนับสนุนและให้การช่วยเหลือพนักงานอย่างต่อเนื่อง โดยข้อมูลการช่วยเหลือในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายน มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 256 ล้านบาท แบ่งเป็น สนับสนุนหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์ มูลค่ารวม 171 ล้านบาท เงินกู้ฉุกเฉิน 6 ล้านบาท สนับสนุนอาหาร 11 ล้านบาท สนับสนุนค่าประกันโควิด-19 จำนวน 16 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาล 15 ล้านบาท และเงินกู้เพื่อการศึกษาบุตรบุตรพนักงานในครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจำนวน จำนวน 1 ล้านบาท เป็นต้น

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 27/5/2564

Apple ประกาศรับสมัครทีมงานด้าน Supply Chain จำนวนมากในประเทศไทย คาดย้ายฐานการผลิตบางส่วนมาที่ไทย

หลังมีข่าวพบว่า iMac M1 รุ่นใหม่ล่าสุด มีบางโมเดลที่ผลิตมาจากประเทศไทย (Made in Thailand) ซึ่งสร้างความฮือฮาในโลกออนไลน์กันมาก เนื่องจากเราไม่เคยทราบมาก่อนว่าแอปเปิลมีฐานผลิตบางส่วนอยู่ในไทยด้วย

ล่าสุด (26 พ.ค. 2564) ทีมงาน MacThai ตรวจสอบพบว่า แอปเปิลได้มีการประกาศรับสมัครงานเจ้าหน้าที่ ดูแลด้านการปฏิบัติการและซัพพลายเชน จำนวนมากในประเทศไทย

ซึ่งจากการตรวจสอบ พบว่าแอปเปิลต้องการทีมงานที่เข้ามาดูแลการผลิต และการประสานงานกับโรงงานต่างๆ โดยหลายตำแหน่งมีเนื้อหางานที่น่าสนใจ เช่น ประสานงานกับผู้ผลิตและโรงงานต่างๆ, ดูแลเรื่องการควบคุมคุณภาพของสินค้า, ประสานงานระหว่างผู้ผลิตกับทีมงานของแอปเปิล เพื่อให้การผลิตเป็นไปตามที่กำหนด, ดูแลการจัดการแรงงานในพาร์ทเนอร์ต่างๆ ว่าเป็นไปตามมาตรของบริษัทหรือไม่ และสามารถเดินทางไปได้หลากหลายประเทศในภูมิภาคนี้

ทั้งนี้ตำแหน่งงานส่วนใหญ่ที่รับสมัครนั้น เดิมทีจะเป็นตำแหน่งที่รับสมัครอยู่ในประเทศจีน หรือประเทศที่แอปเปิลไปตั้งศูนย์การผลิตสินค้า ซึ่งการเปิดรับตำแหน่งระดับนี้ในไทย น่าจะส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า แอปเปิลน่าจะเริ่มมีการย้ายการผลิตบางส่วนมาในไทยหรือประเทศใกล้เคียง

โดยช่วงปีที่ผ่านมา ได้มีข่าวว่าแอปเปิลย้ายฐานการผลิต AirPods Max จากประเทศจีน ไปที่เวียดนาม รวมถึง iPhone บางรุ่นเริ่มมีการผลิตที่อินเดีย ซึ่งตอบรับกับกรณีความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับจีน ที่น่าจะส่งผลให้แอปเปิลต้องเริ่มกระจายความเสี่ยงของฐานการผลิตไปที่ประเทศอื่นๆ ในเอเชีย

ที่มา: MacThai, 26/5/2564

พิธีส่งศพแรงงานไทย 2 รายที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอลกลับประเทศไทย

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. 2564 เวลา 15.30 น. สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ได้จัดพิธีไว้อาลัยและส่งศพนายวีรวัฒน์ การุญบริรักษ์ และนายสิขรินทร์ สงำรัมย์ แรงงานไทยจากนิคมเกษตรกรรม (โมชาฟ) โอฮาด 2 ราย ที่เสียชีวิตจากจรวดโจมตีเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 ณ ท่าอากาศยานเบนกูเรียน โดยมีนางสาวพรรณนภา จันทรารมย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ นาย Ziv Bilaus, Director of Liaison Department, นางสาว Dalia Grad-Efrat, Liaison Department, Consular Division กระทรวงการต่างประเทศอิสราเอล ผู้แทนจากท่าอากาศยานเบนกูเรียน และเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตฯ เข้าร่วม

ในโอกาสนี้ ผู้เข้าร่วมพิธีได้ยืนสงบนิ่งและจุดเทียนไว้อาลัยให้แก่ผู้เสียชีวิต ก่อนที่โลงศพของผู้เสียชีวิตจะถูกลำเลียงไปยังเครื่องบินของสายการบิน El Al เที่ยวบินที่ LY081 ซึ่งเป็นเที่ยวบินอำนวยความสะดวกนำคนไทยในอิสราเอลกลับประเทศไทยที่สถานเอกอัครราชทูตฯ จัดขึ้น และมีกำหนดออกเดินทางจากท่าอากาศยานเบนกูเรียนเวลา 22.00 น. ของวันที่ 25 พ.ค. 2564 และถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 26 พ.ค. 2564 เวลา 12.30 น. โดยศพของผู้เสียชีวิตทั้ง 2 รายจะถูกนำส่งถึงภูมิลำเนาที่จังหวัดเพชรบูรณ์และบุรีรัมย์ทันทีที่เดินทางถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

อนึ่ง สถานเอกอัครราชทูตฯ ได้จัดให้แรงงานจากโมชาฟโอฮาดที่ได้รับผลกระทบจากการโจมตีด้วยจรวดเมื่อวันที่ 18 พ.ค. 2564 จำนวน 18 ราย ซึ่งในจำนวนดังกล่าวรวมถึงผู้ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว 2 รายได้แก่นายจักรี รัตพลทีและนายธนดล ขันธชัย เดินทางกลับประเทศไทยด้วยเที่ยวบินนี้ด้วย ทั้งนี้ เอกอัครราชทูตฯ ได้พบปะกับแรงงานกลุ่มดังกล่าวเพื่อปลอบขวัญและให้กำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไปด้วย

ที่มา: ไทย-อิสราเอล รูปภาพการทำงานคนไทยในอิสราเอล, 26/5/2564

สศช.ชี้ โควิด-19 ทำว่างงานพุ่ง กดดันสัดส่วนหนี้ครัวเรือนเพิ่ม

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 1/2564 เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 2564 ว่าการจ้างงานในไตรมาสแรกของปีนี้ผู้มีงานทำอยู่ที่ 37.6 ล้านคน เพิ่มขึ้น 0.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการเพิ่มขึ้นในสาขาภาคเกษตรตามทิศทางราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ซึ่งภาคเกษตรถือว่าช่วยดูดซับแรงงานจากสาขาอื่นๆได้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ให้เข้ามาทำงานในส่วนนี้ อย่างไรก็ตามการจ้างงานนอกภาคเกษตรปรับตัวลดลงที่ 0.6% จากผลกระทบการแพร่ระบาดในช่วงต้นปี 2564

สำหรับการว่างงานเพิ่มสูงขึ้นมาอยู่ที่ 1.96% คิดเป็นผู้ว่างงาน 7.6 แสนคน สูงกว่าไตรมาสก่อนที่การว่างงานอยู่ที่ 1.83% โดยการว่างงานที่เพิ่มขึ้นสะท้อนให้เห็นผลกระทบจากโควิดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังสะท้อนผ่านชั่วโมงการทำงานรวมต่อสัปดาห์ลดลงเหลือ 40.1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ลดลง 1.8%จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และลดลงต่อเนื่องกัน 6 ไตรมาส โดยกลุ่มอาชีพที่มีการทำงานเฉลี่ยต่อสัปดาห์ลดลงต่อเนื่องมากที่สุดคือกลุ่มอาชีพอิสระซึ่งทำให้แรงงานมีรายได้ลดลง โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีรายได้ไม่แน่นอน

นอกจากนี้จำนวนแรงงานที่ว่างงานติดต่อกันมากกว่า 1 ปีแล้วยังมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นจากประมาณ 8.1 หมื่นคนในไตรมาสก่อน เป็น 8.85 หมื่นคนในไตรมาสที่ 1 ของปีนี้

“ทั้งชั่วโมงการทำงานที่ลดลง การเลิกจ้างและการว่างงานที่ยาวนานขึ้น ทำให้เงินออกของแรงงานลดลงเห็นได้จากจำนวนบัญชีที่มีเงินฝากไม่ถึง 1 แสนบาทเริ่มเพิ่มขึ้นในช่วงที่มีการระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา”

ทั้งนี้ สศช.ได้เสนอแนะว่ามีประเด็นเกี่ยวกับแรงงานและสถานการณ์การจ้างงานในประเทศไทยในปี 2564 ใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.ผลกระทบของโควิด-19 ระลอกใหม่ต่อเศรษฐกิจและการจ้างงาน โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดจากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีซึ่งมีการสำรวจพบว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะแบกรับสถานการณ์นี้ได้อีก 6 เดือนเท่านั้น แรงงานในกลุ่มนี้อาจตกงานมากขึ้นหรือถูกลดชั่วโมงการทำงาน

“ธุรกิจเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบ ตั้งแต่ปี 2563 ทำให้จีดีพีเอสเอ็มอีปรับตัวลดลง 9.1% หากไม่สามารถควบคุมการระบาดได้ อย่างรวดเร็ว ธุรกิจฯ อาจไม่สามารถประคองตัวต่อไปได้ รวมถึงการเลิกจ้างแรงงาน และโอกาสการกลับมาฟื้นตัว อาจใช้เวลานานมากขึ้น กระทบต่อการจ้างงานซึ่งนอกจากมาตรการทางสินเชื่อต้องมีมาตรการในการเสริมสภาพคล่องเพิ่มเติมด้วย”

2.ผลกระทบที่จะเกิดจากแรงงานภาคท่องเที่ยว ซึ่งการแพร่ระบาดของโควิดที่ยาวนานทำให้การกลับมาปกติของภาคการท่องเที่ยวจะต้องใช้เวลายาวนานมาก ศูนย์วิจัย ด้านการตลาดท่องเที่ยวของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) คาดว่าการท่องเที่ยวจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติในปี2569 ส่งผล

กระทบต่อแรงงานในภาคการท่องเที่ยวที่มีอยู่กว่า 7 ล้านคน โดยหากแรงงานถูกเลิกจ้างจะไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในสาขาเดิมได้ในระยะเวลาอันใกล้ และอาจต้องเปลี่ยนอาชีพ ซึ่งต้องมีมาตรการในการรองรับในส่วนนี้ด้วย

3.ปัญหาความพอเพียงของการจ้างงานที่อาจไม่เพียงพอที่จะรองรับนักศึกษาจบใหม่ เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้าหมายส่งผลต่อการขยายงานเพิ่มในตำแหน่งใหม่ ซึ่งจะกระทบกับนักศึกษาจบใหม่ในปี 2564 ประมาณ 4.9 แสนคน ขณะที่โครงการจ้างงานกลุ่มผู้จบการศึกษาใหม่และ แรงงานคืนถิ่นภายใต้ พ.ร.ก. เงินกู้ฯ ในปี 2563 ซึ่งมีระยะเวลาการจ้างงานประมาณ 12 เดือนกำลังจะสิ้นสุดลง อาจส่งผลกระทบต่อแรงงานภายใต้โครงการนี้อีกประมาณ 1.4 แสนตำแหน่ง ซึ่งเป็นอีกส่วนที่จะต้องเตรียมมาตรการรองรับเช่นกัน

ดนุชา กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนของไทยในปี 2564 คาดว่าหนี้สินครัวเรือนต่อ GDP จะยังคงอยู่ในระดับสูง จากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวกลับไปในระดับก่อนโควิด-19 ประกอบกับตลาดแรงงานอาจได้รับผลกระทบ ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของแรงงานและทำให้

ครัวเรือนประสบปัญหาการขาดสภาพคล่องมากขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนรายได้น้อย

โดยในปี2564 ครัวเรือนจะระมัดระวังการใช้จ่าย โดยเฉพาะการชะลอการซื้อ สินค้าในกลุ่มสินค้าคงทน ทำให้ความต้องการสินเชื่อที่อยู่อาศัยและรถยนต์ชะลอตัวลง ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอาจปรับตัวเพิ่มขึ้น จากปัญหาการขาดสภาพคล่อง รวมทั้งมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำสำหรับประชาชนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เช่น ธนาคารออมสิน ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างเหมาะสม ควบคุมดูแลการให้สินเชื่อให้สอดคล้องกับระดับรายได้ รวมทั้งเฝ้าระวังการก่อหนี้นอกระบบโดยเฉพาะกับครัวเรือนผู้มีรายได้น้อย ควบคู่ไปกับการส่งเสริม การจ้างงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ และสามารถรักษาระดับการบริโภคไว้ในระดับเดิม

สำหรับสถานการณ์หนี้ครัวเรือนไตรมาส 4 ปี 2563 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.02 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% จาก 4% ในไตรมาสก่อน หรือคิดเป็นสัดส่วน 89.3% ต่อ GDPเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่หดตัว แม้หนี้ครัวเรือน จะขยายตัวในอัตราที่ช้าลงสะท้อนให้เห็นว่าครัวเรือนยังระมัดระวังในการก่อหนี้ ด้านความสามารถในการชำระหนี้ ของครัวเรือนปรับตัวดีขึ้นแต่ยังต้องเฝูาระวัง เนื่องจากสัดส่วนสินเชื่อค้างชำระไม่เกิน 3 เดือน (สินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ) ยังอยู่ในระดับสูง โดยในไตรมาสสี่ ปี 2563 สัดส่วน NPLs ของสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.84% ลดลงจาก2.91% ในไตรมาสก่อน เป็นผลจากการดำเนินมาตรการปรับโครงสร้างหนี้ในช่วง

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 25/5/2564

การบินไทยเปิดให้พนักงานกลุ่มฟ้าใหม่ 1,000 คน ชิงสมัครกลั่นกรองเข้าโครงสร้าง 158 ตำแหน่งงานชั่วคราว

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ 'ฐานเศรษฐกิจ' ว่าล่าสุดการบินไทยได้ออกประกาศให้พนักงานแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรปัจจุบันปี 2564 ในตำแหน่งงานชั่วคราว รวม 158 ตำแหน่ง (Relaunch for Temporary Positions) โดยระบุว่าตามที่บริษัทได้ดำเนินการพิจารณากลั่นกรองพนักงานที่แสดงความจำนงสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ 2564 ครั้งที่3 (Relaunch 3) ไปเรียบร้อยแล้วนั้น

เนื่องจากสายงานต่าง ๆ ยังมีตำแหน่งงานชั่วคราว (Temporary Positions)ตามโครงสร้างองค์กรปัจจุบันที่ว่างอยู่รวม 158 ตำแหน่ง จึงเปิดให้พนักงานกลุ่มฟ้าใหม่ (พนักงานที่เคยแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ทั้ง 3 ครั้ง แต่ไม่ผ่านการกลั่นกรองซึ่งมีกว่า1พันคน) ให้สามารถมาแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนกลั่นกรองในตำแหน่งงานชั่วคราวนี้ (เฉพาะพนักงานที่ทำงานในไทย)ทั้ง 158 ตำแหน่งงานชั่วคราว ประกอบไปด้วย 1.สายทรัพยากรบุคคล 1 อัตรา 2.สายการเงินและการบัญชี 13 อัตรา 3.สายการพาณิชย์ 58 อัตรา 4.หน่วยธุรกิจการบิน 23 อัตรา และ5.ฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร 63 อัตรา โดยเปิดให้แสดงความจำนงระหว่างวันที่24-28พฤษภาคมนี้ ซึ่งพนักงานสามารถเลือกแสดงความจำนง ในตำแหน่งชั่วคราวได้ 2 ตำแหน่ง คือตำแหน่งงานในระดับเดิม หรือตำแหน่งงานที่สูงขึ้นไปจากเดิม 1 ระดับหรือตำแหน่งงานที่ต่ำกว่าเดิมโดยไม่จำกัดระดับ

ซึ่งบริษัทจะพิจารณาจากตำแหน่งที่พนักงานเลือกในอันดับที่1 ก่อนโดยจะประกาศรายชื่อพนักงานที่ผ่านการกลั่นกรองเพียงตำแหน่งเดียว ในวันที่ 11 มิ.ย. นี้ ถ้าผ่านการคัดเลือกจะเริ่มสภาพการจ้างงานตั้งแต่วันที่ 15 มิ.ย. 2564 นี้เป็นต้นไปอย่างไรก็ตามในกรณีที่พนักงานไม่ผ่านการคัดเลือกในตำแหน่งทั้งหมดที่ได้แสดงความจำนงไว้ และบริษัทฯเห็นว่ายังมีตำแหน่งงานในโครงสร้างว่างอยู่ ประธานเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นๆอาจจะพิจารณาคัดเลือกพนักงานที่ไม่ผ่านการคัดเลือกในตำแหน่งทั้งหมดที่ได้แสดงความจำนงไว้นี้ เพื่อหาพนักงานคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามหลักเกณฑ์การกลั่นกรอง และกระบวนการแสดงความจำนง Relaunchแหล่งข่าวยังกล่าวต่อว่าภายหลังการประกาศผลการกลั่นกรอง หากพนักงานยอมรับผลการพิจารณา และต้องการเข้าทำงานในตำแหน่งงานชั่วคราวนี้ พนักงานต้องตกลงยินยอมแสดงความจำนงเข้าร่วมโครงการเสียสละเพื่อองค์กร MSP B Block พิเศษ หรือ C Block พิเศษก่อน เพื่อให้เมื่อการจ้างงานสิ้นสุดลงในตำแหน่งชั่วคราวดังกล่าว พนักงานจะเข้าสู่โครงการMSP B Block พิเศษ หรือ C Block พิเศษทันทีโดยMSP B Block พิเศษ นี้จะแบ่งจ่ายเงินตอบแทนตามโครงการเป็นรายเดือนเข้าบัญชี 12 งวดในอัตราเท่ากัน งวดแรกกำหนดจ่ายภายในเดือน ก.ย. 2565 และจะจ่ายงวดต่อไปภายในวันที่ 27 ของแต่ละเดือน ส่วน MSP C Block พิเศษ จะแบ่งจ่ายเงินตอบแทนตามโครงการเป็นรายเดือนเข้าบัญชี 12 งวดในอัตราเท่ากัน งวดแรกกำหนดจ่ายภายในเดือน ธ.ค. 2565 และจะจ่ายงวดต่อไปภายในวันที่ 27 ของแต่ละเดือน

ที่มา: ฐานเศรษฐกิจ, 26/5/2564

สมาคมสายการบินประเทศไทย นำพนักงาน 7 สายการบิน เข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 รับการฉีดวัคซีนเพื่อรองรับแผนการเปิดประเทศ

24 พ.ค. 2564 สมาชิกสมาคมสายการบินประเทศไทย ที่ประกอบด้วย 7 สาย ได้แก่ สายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ,สายการบินไทยแอร์เอเชีย ,สายการบินไทยแอร์เอเชีย เอ็กซ์ , สายการบินไทย สมายล์, สายการบินนกแอร์, สายการบินไทยไทยไลอ้อนแอร์ และ สายการบินไทยเวียตเจ็ต เริ่มทยอยเดินทางเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยกลุ่มพนักงานในธุรกิจการบินจะทยอยรับวัคซีนตลอด 4 วัน ตั้งแต่ 24-28 พฤษภาคมนี้ รวมทั้งสิ้น 15,970 คน

สำหรับวันนี้จะเป็นคิวฉีดวัคซีนสายการบินไทยแอร์เอเชียก่อน โดยนายกฤษ พัฒนสาร ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวในฐานะเลขานุการสมาคมสายการบินประเทศไทย ว่าเมื่อพนักงานสายการบินทุกสาย เริ่มได้รับวัคซีน หากสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง ประกอบกับนโยบายรัฐที่อาจจะมีการกระตุ้นการเดินทางหลังจากนี้ หากสถานการณ์ทุกอย่างค่อย ๆ ดีขึ้น ก็จะทำให้คนเริ่มเดินทางอีกครั้งในช่วงปลายเดือน มิถุนายน 2564 จากนั้นกรกฎาคม 2564 ก็จะเป็นช่วงที่เริ่มเปิดประเทศให้ต่างชาติเข้าไทยได้ ตามนโยบาย “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์”

“ก็มีในเรื่องของ ภูเก็ต ทัวริสซึ่ม แซนด์บ็อกซ์ โมเดล ที่ตั้งเป้าว่าจะเปิดประเทศได้ ในช่วงวันที่ 1 กรกฎาคม นะครับ โดยที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับวัคซีนครบแล้วไม่ต้องกักตัวสามารถท่องเที่ยวในภูเก็ตได้ ซึ่งทุกสายการบินก็ดี ก็ได้เตรียมความพร้อมเรื่องนี้ ซึ่งในวันนี้ในเรื่องของการฉีดวัคซีนในกับพนักงานสายการบินทุกท่านทุกคน ก็เป็นหนึ่งในแผนที่จะเตรียมความพร้อมในการที่จะเปิดประเทศ หรือแม้จะทั่งการฟื้นฟูการเดินทางในประเทศอีกครั้งหนึ่งด้วยครับ” นายกฤษ กล่าว

ขณะที่สถานีกลางบางซื่อ วันนี้เริ่มฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรด่านหน้าในสังกัดกระทรวงคมนาคมก่อน ซึ่งจะเริ่มฉีดในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00-20.00 น. ซึ่งการลงทะเบียนในระบบวันนี้จะมีผู้ฉีดวัคซีนทั้งสิ้น 4,000 คน ในวันพรุ่งนี้ 6,000 คน และในวันพุธอีก 7,000 คน

โดยขั้นตอนการบริการได้แบ่งเป็น 4 จุด ได้แก่ จุดชั่งน้ำหนัก-วัดความดัน จุดพื้นที่ลงทะเบียน จุดฉีดวัคซีน และจุดพักรอสังเกตอาการ ซึ่งสามารถรองรับการฉีดวัคซีน 900 คน/ชั่วโมง หรือเป้าหมาย 1 หมื่นคน/วัน

สำหรับกลุ่มผู้ที่ลงทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก เดินทางมาเข้าคิวรับวัคซีนกันเป็นจำนวนมาก หนึ่งในผู้ขับรถแท็กซี่ เปิดเผยกับทีมข่าวว่า ตนมีความมั่นใจ อยากให้รัฐบาลเร่งฉีดให้ทั่วถึง เพื่อผู้คนจะได้มั่นใจ ออกมาทำงาน ออกมาใช้จ่าย เศรษฐกิจจะได้ดีขึ้นเสียที

อย่างไรก็ตามวันนี้ยังมีประชาชนที่ไม่ใช่พนักงานด้านการขนส่ง วอล์คอินเข้ามา ซึ่งเจ้าหน้าที่เน้นย้ำว่า ไม่มีการเปิดให้วอล์คอิน จะฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้าด้านขนส่งก่อนเท่านั้น ยังไม่มีการเปิดให้กับประชาชนทั่วไปแต่อย่างใด ประชาชนทั่วไปขอให้รอการแจ้งจากภาครัฐอีกครั้ง เพื่อไม่ให้เกิดความแออัดและเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดครั้งใหม่

ที่มา: PPTV, 24/5/2564

วอนผู้ประกอบการหยุดขอนำแรงงานเข้า เหตุช่วงโควิด-19 ระบาดหนัก

24 พ.ค. 2564 พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังประชุมด่วนศูนย์สั่งการชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านจังหวัดว่า ได้กำชับผู้ประกอบการไม่ให้รับแรงงานเพิ่มเนื่องจากแรงงานที่เข้ามาผิดกฎหมายหากจะต้องการแรงงานเพิ่มตอนนี้ต้องหยุดข้อเสนอไว้ก่อนรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดลดลงก่อน ก็ต้องดูตามสถานการณ์การแพร่ระบาดอีกครั้ง หากแรงงานขาดแคลนก็ต้องยอมรับสภาพจะทำยังไงได้

ส่วนกรณีรูรั่วตามแนวชายแดนที่พบมีการลักลอบเข้ามาของแรงงาน 3 จุดนั้นมีต้นตอสาเหตุมาจากอะไรนั้นพลเอกประวิตรกล่าวว่า เกี่ยวกับเรื่องของแรงงานที่เข้ามาอย่างผิดกฎหมายตามเส้นทางธรรมชาติ ก็กำชับให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมาย ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ดูแลถ้าท้องถิ่นกำกับดูแลกันอย่างดีก็ไม่มี

เมื่อถามว่าได้สั่งคาดโทษเจ้าหน้าที่หากพบรู้เห็นเป็นใจนำแรงงานผิดกฎหมายเข้ามาพลเอกประวิตรกล่าวว่า ถ้าผิดกฎหมายก็ต้องถูกลงโทษ ดำเนินคดีทางคดีอาญา ส่วนขบวนการที่ลักลอบนำแรงงานเข้ามานั้นพลเอกประวิตรปฏิเสธทันทีว่า ตนจะไปรู้ได้อย่างไรก่อนจะเดินออกจากวงสัมภาษณ์ขึ้นรถออกจากทำเนียบรัฐบาลทันที

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 24/2564

คุมเข้มการแพร่ระบาดโควิด-19 ในแคมป์คนงาน กำชับทุกเขตกวดขันเข้มข้นตามประกาศ กทม.

นางศิลปสวย ระวีแสงสูรย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ได้เกิดขึ้นในหลายพื้นที่และแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว มีการติดเชื้อต่อเนื่องจากสถานที่เฉพาะกลุ่ม เช่น แคมป์คนงานก่อสร้าง หรือตลาด ส่งผลให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ และผู้ป่วยสะสมเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก คณะกรรมการโรคติดต่อฯ กทม. จึงมีมติเห็นชอบ ออกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องมาตรการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) โดยให้สถานที่ต่างๆ ประกอบด้วย ตลาด แคมป์คนงานก่อสร้าง และสถานประกอบการ call center ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคที่คณะกรรมการโรคติดต่อฯ กทม.กำหนด ตั้งแต่วันที่ 23 พ.ค 2564 เป็นต้นไปนั้น

กรุงเทพมหานคร ได้มีการสั่งการกำชับให้สำนักงานเขตต่าง ๆ ที่มีแคมป์คนงานก่อสร้างในพื้นที่ จัดเจ้าหน้าที่กำชับ กวดขัน ให้ผู้ประกอบการ/นายจ้าง ของแคมป์คนงานก่อสร้าง ปฏิบัติตามมาตรการเฝ้าระวัง ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด -19 ซึ่งมีหน่วยงานต่าง ๆ ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวอย่างเข้มข้น

สำนักงานเขตหนองจอก จัดเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจแคมป์คนงานก่อสร้างป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) พร้อมแจกประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกนอกเคหสถาน พร้อมทั้งขอความร่วมมือให้ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด ณ บริเวณแคมป์งานก่อสร้างพื้นที่เขตหนองจอกทั้งหมด

สำนักงานเขตห้วยขวาง ลงพื้นที่ตรวจการปิดแคมป์คนงานชั่วคราว ตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 โดยจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจ ร่วมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.มักกะสัน ลงพื้นที่ตรวจสอบการปิดแคมป์คนงานชั่วคราว เพื่อดำเนินการตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ณ แคมป์คนงาน บมจ.อิตาเลี่ยนไทย ดีเวลลอปเมนท์ ถนนกำแพงเพชร 7 แขวงบางกะปิ และบริเวณแคมป์คนงานก่อสร้าง ในพื้นที่แขวงสามเสนนอก และแขวงห้วยขวาง

สำนักงานเขตบางพลัด ลงพื้นที่สอบสวนโรคและแยกกักผู้สัมผัสเสี่ยงสูงแคมป์คนงานก่อสร้าง โดยจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล และฝ่ายเทศกิจ ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 31 ลงพื้นที่สอบสวนโรคและแยกกักกันผู้สัมผัสเสี่ยงสูง พร้อมแนะนำวิธีการทำความสะอาดฆ่าเชื้อโรคภายในที่พักอาศัย รวมทั้งแนวทางการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันการระบาดในวงกว้าง ณ บริษัท 3 พร จำกัด ซ.รุ่งประชา แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด ซึ่งจะดำเนินการค้นหาผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมจากกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเพื่อรับการตรวจยืนยันครั้งที่ 2 ในวันที่ 27 พ.ค. 64 เพื่อควบคุมการระบาดในพื้นที่ต่อไป

นอกจากนี้ สำนักงานเขตที่มีการตรวจพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่ ยังได้มีการจัดหน่วยเคลื่อนที่ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) เชิงรุก ให้กับประชาชนทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงสูงในพื้นที่เขต ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่

สำนักงานเขตบางพลัด ลงพื้นที่อำนวยความสะดวกและซักประวัติภายในหน่วยเคลื่อนที่ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) โดยจัดเจ้าหน้าที่ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและสุขาภิบาล ฝ่ายเทศกิจ และฝ่ายรักษาความสะอาดฯ ลงพื้นที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนทั่วไป และกลุ่มเสี่ยงสูง ร่วมกับศูนย์บริการสาธารณสุข 31 บริเวณใต้สะพานพระรามแปด (ฝั่งธนบุรี) พร้อมแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 ของกรุงเทพมหานครอย่างเคร่งครัด

สำนักงานเขตวังทองหลาง ตรวจคัดกรองเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยมีผู้บริหารเขต ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เขตและศูนย์บริการสาธารณสุข 15 และโรงพยาบาลซีจีเอช ในการตรวจคัดกรองเชิงรุก (Swab) สำหรับประชาชนเขตวังทองหลางผู้ที่มีความเสี่ยงสูง และประชาชนทั่วไป บริเวณศูนย์การค้าโชคชัย 4 ซึ่งมีกำหนดตรวจในวันที่ 23 – 25 พ.ค. 64 ตั้งแต่เวลา 08.00 – 14.00 น. โดยสามารถรองรับการให้บริการวันละ 500 ราย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 23/5/2564

ใช้สมุทรสาครโมเดล ตั้ง รพ.สนามในโรงงาน จ.เพชรบุรี

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เผย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี สั่งการให้ใช้สมุทรสาครโมเดล ตั้งโรงพยาบาลสนามในโรงงาน ดูแลลูกจ้างที่ติดโควิด-19 ในสถานประกอบการจังหวัดเพชรบุรี ซึ่งวันนี้ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานได้ลงพื้นที่สถานประกอบการ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี สนับสนุนล่าม 4 คน สื่อสารกับลูกจ้างต่างด้าวที่ติดโควิด-19 เพื่อรับฟังปัญหา สร้างขวัญและกำลังใจให้ลูกจ้างที่ต้องกักตัวรู้สึกผ่อนคลาย พร้อมมอบเตียงกระดาษ 2,100 เตียง น้ำดื่ม 500 แพ็ก และรถสนับสนุนในการรับ-ส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 5 คัน สำหรับใช้ดูแลลูกจ้างที่โรงพยาบาลสนามในสถานประกอบการ

สำหรับจังหวัดเพชรบุรีขณะนี้สถานประกอบการขนาดใหญ่ อำเภอเขาย้อย เก็บตัวอย่างส่งตรวจ (Swab) จำนวน 5,153 คน พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 421 คน ยอดผู้ติดเชื้อสะสม 2,111 คน เป็นคนไทย 781 คน เมียนมา 1,297 คน กัมพูชา 19 คน อินเดีย 7 คน ลาว 4 คน และจีน 3 คน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 23/5/2564

แรงงานชาวเมียนมาของโรงงานสยามอินเตอร์กว่า 400 คนประท้วง เหตุไม่ชัดเจนแนวทางการดูและรักษาโควิด-19

ช่วงกลางดึกวันที่ 22 พ.ค. 2564 แรงงานสัญชาติเมียนมาร์ประมาณ 400 คน ของโรงงานแปรรูปอาหารทะเล บริษัทสยามอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ตำบลนาทับอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ได้รวมตัวประท้วง บริเวณแคมป์ที่พักเรียกร้องให้ทาง บ.สยามอินเตอร์ฯ ชี้แจงเกี่ยวกับขั้นตอนและกระบวนการตรวจคัดกรองหาเชื้อโรคไวรัสโควิด-19

โดยฝ่ายปกครอง ร่วมกับผู้จัดการบริษัทฯได้ ร่วมเจรจาผ่านล่ามชี้แจงให้กลุ่มผู้ชุมนุมทราบว่าการดำเนินการตรวจหาเชื้อเป็นหน้าที่รับผิดชอบของแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่จะดำเนินการตรวจบุคคลจากข้อมูลการสอบสวนโรคเมื่อผลผู้ใดออกมาเป็นบวกก็ต้องส่งตัวเข้ารับการรักษา แต่กลุ่มผู้ชุมนุมเข้าใจว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ ซึ่งผลของการเจรจาขอให้กลุ่มผู้ชุมนุมส่งตัวแทนเข้าร่วมฟังคำชี้แจงจากแพทย์และผู้ที่เกี่ยวข้องในวันที่ 23พ.ค. 2564 ที่ห้องประชุมของบริษัทฯ กลุ่มผู้ชุมนุมฯพอใจและแยกย้ายกันกลับที่พัก

โดยโรงงานแห่งนี้นั้นพบผู้ติดเชื้อโควิด 19 มาตั้งแต่ 30 เม.ย. ต่อเนื่องมาจนถึง 21 พ.ค. รวมจำนวน 91 คน แยกเป็นพนักงานคนไทย 40 คน และแรงงานเมียนมา 51 คน ซึ่งในส่วนพนักงานคนไทยนั้นแพทย์ได้ให้กักตัวที่บ้านเป็นเวลา 14 วัน ส่วนแรงงานเมียนมา ให้กักตัวในแคมป์ที่พักที่อยู่เยื้องกับโรงงาน และทำการซีล แยกกลุ่มเสี่ยงสูง เสี่ยงต่ำ กักตัว หากพบผู้ใดมีอาการก็จะทำการตรวจหาเชื้อและเข้ารักษาตัว

ในขณะที่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาออกประกาศด่วนขอให้พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทแคล-คอมพ์อิเล็กทรอนิกส์ จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งพบพนักงานติดเชื้อ covid19 จำนวนมากและได้ทำการปิดโรงงานไปเมื่อ 20 พฤษภาคม ที่ผ่านมาโดยกรณีที่พนักงานหรือเจ้าหน้าที่ของบริษัทดังกล่าวที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดสงขลาตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. เป็นต้นมาให้แจ้งรายงานตัวกับอสม.ผู้ใหญ่บ้านผู้นำชุมชนเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่หรือสำนักงานสาธารณสุขอำเภอในพื้นที่ทันที

ที่มา: มติชนออนไลน์, 23/5/2564

ประธานาธิบดีอิสราเอลโทรศัพท์แสดงความเสียใจกับครอบครัวแรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล

นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อวันศุกร์ที่ 21 พ.ค. 2564 เวลา 14.30 น.หรือ เวลา 10.30 น. ตามเวลาอิสราเอล นาย Reuven Rivlin ประธานาธิบดีอิสราเอล ได้สนทนาทางโทรศัพท์ ผ่านล่ามของสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ กับนางสาวเรือนรัตน์ แซ่ลี้ ภรรยานายวีรวัฒน์ การุณบริรักษ์ ซึ่งพำนักอยู่ที่ จ. เพชรบูรณ์ และกับนางสาวอรทัย กองมะเริง ภรรยานายสิขรินทร์ สงำรัมย์ ซึ่งพำนักอยู่ที่จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งเป็น 2 แรงงานไทยที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ความไม่สงบในอิสราเอล เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา

โดยประธานาธิบดี Rivlin ได้กล่าวแสดงความเสียใจกับความสูญเสียในครั้งนี้ของทั้งสองครอบครัว ขอให้ดวงวิญญาณของผู้เสียชีวิตทั้งสองรายไปสู่สุขคติ รวมทั้งขอนำส่งการแสดงความเสียใจและความปรารถนาดีของตน รัฐบาลอิสราเอล และประชาชนชาวอิสราเอลไปยังพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัฐบาลไทย และประชาชนชาวไทย ซึ่งเป็นมิตรที่ดีของอิสราเอล ในโอกาสนี้ ประธานาธิบดี Rivlin ได้ให้คำมั่นจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทางการอิสราเอลประสานกับสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ โดยเฉพาะประเด็นเรื่อง การส่งศพแรงงานไทยทั้ง 2 ราย และการดูแลให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตได้รับเงินชดเชยตามสิทธิประโยชน์จากอิสราเอลด้วย ในโอกาสนี้ ครอบครัวผู้เสียชีวิตทั้งสองได้แสดงความขอบคุณและซาบซึ่งต่อประธานาธิบดี Rivlin ที่ได้สละเวลาพูดคุยและแสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต

ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศได้มอบหมายให้กรมการกงสุล โดยหัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จ. พิษณุโลก (ดูแล จ. เพชรบูรณ์) และหัวหน้าสำนักงานหนังสือเดินทางชั่วคราว จ.บุรีรมย์ เดินทางไปเยี่ยมญาติของแรงงานที่เสียชีวิต รวมทั้งอำนวยความสะดวกในการสนทนากับประธานาธิบดีของอิสราเอลด้วย

เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องคนไทยในอิสราเอลทุกคน กระทรวงการต่างประเทศขอให้คนไทยในอิสราเอลโปรดติดตามข้อมูล ข่าวสาร และปฏิบัติตามมาตรการของทางการอิสราเอลอย่างเคร่งครัด และในกรณีฉุกเฉินต้องการความช่วยเหลือ ขอให้ติดต่อสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ทันที กระทรวงการต่างประเทศยังคงติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และได้เตรียมแผนดูแลคนไทยในอิสราเอลไว้แล้วในทุกสถานการณ์

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 21/5/2564

การบินไทยเลิกจ้างพนักงาน 508 คน มีผล 31 พ.ค. 2564 ยันจ่ายค่าแรงขั้นต่ำตามกฎหมายแรงงาน

ตามที่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ประสบปัญหาขาดทุนสะสมต่อเนื่องมายาวนาน ประกอบกับสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถประกอบกิจการการบินได้ตามปกติ จนกระทั่งบริษัทฯ ต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการและเมื่อเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการแล้ว บริษัทฯ มีความจำเป็นต้องปรับปรุงองค์กรทุก ๆ ด้าน อาทิ ด้านแรงงาน ด้านการลงทุน หรือด้านกลยุทธ์ในการประกอบธุรกิจ เพื่อลดต้นทุนลงและเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในตลาดธุรกิจการบิน การปรับปรุงองค์กรดังกล่าวเป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งที่จะทำให้บริษัทฯ สามารถประกอบกิจการต่อไปเพื่อให้มีกระแสเงินสดเพียงพอสำหรับชำระหนี้ให้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามที่กำหนดไว้ในแผนฟื้นฟูกิจการ ตลอดจนเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของบริษัทฯ ให้กลับมาประกอบธุรกิจการบินได้อย่างมั่นคงและเป็นสายการบินแห่งชาติที่คนไทยภาคภูมิใจ

ด้วยเหตุดังกล่าวข้างตัน บริษัทฯ จึงได้ปรับปรุงโครงสร้างองค์กรให้มีจำนวนพนักงานให้เหมาะสมกับปริมาณงานและสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ซึ่งปัจจุบันมีพนักงานแสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองและผ่านการกลั่นกรองเข้าสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ในตำแหน่งงานถาวรจำนวน 10,733 อัตรา และตำแหน่งชั่วคราวจำนวน 257 อัตรา รวมเป็น 10,990 อัตราเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ประกอบกับที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้จัดทำโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP) และมีพนักงานเสียสละเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 6,725 คน

สำหรับพนักงานจำนวน 508 คน ที่ไม่ประสงค์จะเดินหน้าไปกับบริษัทฯ โดยไม่แสดงความจำนงเข้าสู่กระบวนการกลั่นกรองสู่โครงสร้างองค์กรใหม่ รวมถึงไม่สมัครเข้าร่วมโครงการร่วมใจจากองค์กรนั้น เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2564 เวลา 14.30 น. บริษัทฯ ได้เลิกจ้างพนักงานดังกล่าวโดยให้มีผลในวันที่ 31 พฤษภาคม 2564 ทั้งนี้ ในการเลิกจ้างดังกล่าว บริษัทฯปฏิบัติตามกฎหมายแรงงานโดยจะจ่ายเงินตามมาตรฐานขั้นต่ำที่กำหนดโดยกฎหมายแรงงาน

ที่มา: มติชนออนไลน์, 21/5/2564

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net