Skip to main content
sharethis

ศาลเพชรบุรีปล่อยตัวชาวบ้านบางกลอย 21 คน เหตุพนักงานสอบสวนและอัยการส่งสำนวนฟ้องไม่ทันกำหนดฝากขัง นัดพบอัยการอีกครั้ง 29 ก.ค. 64 ทนายความของชาวบ้านบางกลอยย้ำ ต้องสอบพยานฝั่งชาวบ้านเพิ่ม 7 ราย ตามข้อเรียกร้องขอความเป็นธรรม

ชาวบ้านบางกลอย 22 คนเดินทางมาที่ศาล จ.เพชรบุรี เพื่อฟังว่าอัยการจะสั่งฟ้องหรือไม่

28 พ.ค.64 ทีมสื่อ #SAVEบางกลอย รายงานวันนี้ (28 พ.ค.) ระบุว่า ชาวบ้านบางกลอย อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี 28 คน แบ่งเป็นผู้ต้องหาที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา 22 คน และชาวบ้านที่รับทราบข้อกล่าวหาหลังจากนั้น 6 คน ได้เดินทางไปที่ศาลจังหวัดเพชรบุรี เพื่อรับทราบผลว่า อัยการจะส่งสำนวนฟ้องต่อศาลทันหรือไม่ ตามกำหนดฝากขังของชาวบ้านกลุ่มแรก 22 คนแรก ซึ่งผลสรุปคือพนักงานสอบสวนและอัยการไม่สามารถส่งสำนวนฟ้องต่อศาลทัน ศาลจึงปล่อยตัวชาวบ้านที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด ก่อนนัดพบอัยการอีกครั้งในวันที่ 29 ก.ค.64 อย่างไรก็ตาม ในกลุ่มชาวบ้าน 22 คนนั้นมี 1 คนเป็นเยาวชน จึงต้องเข้าสู่กระบวนการของศาลเยาวชนต่อไป ส่วนชาวบ้านกลุ่ม 6 คน ได้รับทราบข้อกล่าวหาเพิ่มเติมครบแล้วในวันนี้ ซึ่งยังไม่ครบกำหนดฝากขัง จึงไม่มีการดำเนินการในชั้นอัยการวันนี้

ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านั้นทนายความและชาวบ้านได้ยื่นหนังสือถึงอัยการจังหวัดเพชรบุรี และอัยการสูงสุด เพื่อขอความเป็นธรรมแล้ว ซึ่งตามระเบียบและกฎหมายนั้น เมื่อผู้ต้องหาร้องขอความเป็นธรรม โดยเฉพาะร้องขอให้มีการสอบสวนเพิ่มเติม ส่วนใหญ่อัยการก็จะมีคำสั่งให้สอบสวนเพิ่มเติมก่อน ก่อนที่จะมีคำสั่งว่าจะส่งฟ้องหรือไม่

“อัยการให้ความสะดวก เนื่องจากเป็นสถานการณ์โควิด และน่าจะต้องมีการสอบสวนเพิ่มแน่นอน อัยการเลยนัดวันที่ 29 กรกฎาคม เพื่อที่จะมารับทราบว่าอัยการจะส่งฟ้องทันไหม อย่างไร และวันนี้ทางชาวบ้านและทนายความก็ได้ยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมสำหรับผู้ต้องหาที่ยังที่ไม่ได้มารับทราบข้อหาเมื่อวันที่ 24 พ.ค.แล้วด้วย ฉะนั้นทั้งหมด 28 คนก็ได้ยื่นร้องขอความเป็นธรรมจากพนักงานอัยการเพิ่ม โดยเฉพาะสอบสวนนักวิชาการ ตอนนี้เราเสนอรายชื่อไป 7 ท่าน” ส.รัตนมณี กล่าว

โดยรายชื่อนักวิชาการทั้ง 7 คนที่พนักงานสอบสวนต้องสอบปากคำเพิ่มตามหนังสือร้องขอความเป็นธรรมนั้น ประกอบด้วย อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นักวิชาการที่ศึกษาและเข้าใจเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวกะเหรี่ยง รวมทั้งคณะอนุกรรมการที่แต่งตั้งโดยร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อแก้ปัญหากรณีกะเหรี่ยงบางกลอย ดังรายนามต่อไปนี้

  1. เตือนใจ ดีเทศน์ อดีตคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  2. ดร. สมศักดิ์ สุขวงศ์ ผู้ก่อตั้งและอดีตผู้อำนวยการบริการบริหาร ศูนย์วนศาสตร์ชุมชน (RECOFTC)
  3. ดร. กฤษฎา บุญชัย สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา
  4. สุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม
  5. นางสุนี ไชยรส อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
  6. รศ.ดร. นฤมล อรุโณทัย ผู้อำนวยการสภาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  7. ศ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

พชร คำชำนาญ ตัวแทนกลุ่มภาคี #SAVEบางกลอย มีความเห็นว่า เริ่มเห็นความคืบหน้าหลังการเคลื่อนไหวของกลุ่มภาคี #SAVEบางกลอย ร่วมกับชาวบ้านเมื่อวันที่ 25 พ.ค.ที่ผ่านมา รวมถึงการเข้ายื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ซึ่งมีทีมทนายความช่วย ซึ่งก็ทำให้เบาใจไปได้ระดับหนึ่ง แต่ก็ยังไม่อาจนิ่งนอนใจได้ เพราะที่ผ่านมา ก็เห็นชัดเจนว่าระดับนโยบายและเจ้าหน้าที่ระดับพื้นที่ยังไม่ไปในทิศทางเดียวกัน นโยบายเปิดให้แก้ปัญหา แต่ในพื้นที่ยังคงมีการดำเนินการกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง

“เราเห็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาจากรัฐบาลและฝ่ายการเมืองหลายครั้งในช่วง 4-5 เดือนของการเคลื่อนไหว เพื่อพาชาวบางกลอยกลับบ้าน แต่หน่วยงานในพื้นที่ โดยเฉพาะอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานยังไม่รับลูก กรมอุทยานฯ และกระทรวงทรัพยากรฯ เองก็ดูจะลอยตัว เลยทำให้ปัญหาไม่เคยถูกแก้ เป็นเพียงการชะลอ และชาวบ้านก็ยังต้องหวาดระแวงว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นอีกในอนาคตหรือไม่ ซึ่งความขัดแย้ง ย้อนแย้งกันของรัฐบาลและหน่วยงานแบบนี้จะไม่เป็นผลดีต่อกระบวนการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลเลย” พชร กล่าว

ด้าน หน่อแอะ มีมิ ชาวบ้านบางกลอย ลูกชายคออี้ มีมิ ผู้นำทางจิตวิญญาณชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอยผู้ล่วงลับ และหนึ่งในผู้ต้องหา 22 คนแรก กล่าวว่า วันนี้เห็นกระบวนการที่หลายฝ่ายให้ความช่วยเหลือ ทั้งคนเพชรบุรีและทีมทนายความ รวมถึงรัฐบาล ซึ่งตนยืนยันว่าการกลับไปที่บางกลอยบนไม่ใช่ความผิด ไม่ควรต้องถูกดำเนินคดีหรือติดคุก

หน่อแอะ มีมิ (คนซ้าย) ชาวกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย ขณะเดินทางมาที่ศาล จ.เพชรบุรี

“เราก็อยากจะยืนยันว่า เราไม่ได้ทำอะไรผิด เราไม่ควรต้องติดคุก ถ้าถอนคดีได้ก็อยากให้ถอน แล้วปัญหาของเราไม่มีอะไรมากเลย เราก็แค่อยากจะกลับไปอยู่ในที่ทำกินเดิม เราไม่ได้ท้าทายอำนาจของใครหรือท้าทายกฎหมายของใคร เราเพียงต้องการกลับไปอยู่ในพื้นที่เดิมที่เราอยู่มาก่อนเท่านั้น” หน่อแอะ กล่าว

นอกจากนี้ หน่อแอะ กล่าวด้วยว่า ท้ายที่สุดตนขอบคุณความช่วยเหลือจากหลายภาคส่วนที่ผ่านมา โดยขอขอบคุณคนเพชรบุรีที่ให้ความช่วยเหลือมากมายขนาดนี้ ทั้งอาหารและการให้การต้อนรับอย่างดี ตนอยากให้โรคร้ายที่เกิดขึ้นกับคนเมืองตอนนี้ผ่านพ้นไปด้วยดี และหวังว่าคนปลายน้ำและต้นน้ำจะกลับมาอยู่ด้วยกันอย่างสงบ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

ภาคีSaveบางกลอย สรุปสถานการณ์คดี 28 กะเหรี่ยง กับอนุ กก.คดี-กฎหมายที่ยังไม่คืบหน้า

สภ.แก่งกระจาน แจ้งทนายยังไม่ส่งฟ้องศาลคดีชาวบ้านบางกลอย 28 พ.ค.นี้

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net