Skip to main content
sharethis

Protection international หรือ PI จัดส่งรายงาน 6 ปีหลังข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (CESCR) พร้อมเสนอ 9 ข้อขอให้กรรมการ CESCR กระตุ้นรัฐบาลให้ดำเนินการตามอำนาจที่มี ชูประเด็นให้ 'ประยุทธ์-ส.ว.แต่งตั้ง' ต้องลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญของประชาชน

Protection international หรือ PI

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. 2564 Protection international หรือ PI แจ้งข่าวว่าทาง PI ได้จัดส่งรายงาน 6 ปีหลังข้อเสนอแนะของคณะกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (CESCR) “เกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยประเด็นที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของไทย “พร้อมเสนอ 9 ข้อขอให้กรรมการ CESCR กระตุ้นรัฐบาลให้ดำเนินการตามอำนาจที่มี ชูประเด็นให้พล.อ.ประยุทธ์และ ส.ว.แต่งตั้งต้องลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญของประชาชน ต้องประกาศยอมรับและสนับสนุนบทบาทและความชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงชายและทุกเพศสภาพ และให้ระงับนโยบายทวงคืนผืนป่า พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ร.บ.แร่ หรือนโยบายอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อนักปกป้องสิทธิฯและระงับโครงการพัฒนา จนกว่าจะมีโครงสร้างด้านนิติบัญญัติที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง

เมื่อปีพ.ศ.2542 ประเทศไทยได้ให้สัตยาบันรับรองกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ICESCR ทำให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย และรัฐบาลไทยจะต้องปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ICESCR  ปัจจุบันเป็นระยะเวลาหกปีแล้วที่คณะกรรมการ ICESCR ได้เผยแพร่ ความเห็นเชิงสรุปเกี่ยวกับประเทศไทยโดยมีข้อเสนอแนะเมื่อเดือน มิถุนายน พ.ศ. 2558 ครอบคลุม 34 ประเด็นหลักที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

ล่าสุด (28 พ.ค.) องค์กร Protection international  (PI) ที่ทำงานปกป้องคุ้มครองดูแลนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยได้จัดทำรายงานเพื่อทบทวนและเสนอข้อเท็จจริงว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศไทยว่าหกปีหลังข้อเสนอแนะของคณะกรรมการของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม (CESCR) เกิดอะไรขึ้นกับ ประเด็นที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนของไทย

โดยปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจาก PI เปิดเผยถึงรายละเอียดในรายงานว่า PI ได้จัดทำรายงานฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อมีข้อเสนอให้กับคณะกรรมการ CECSR ดำเนินการตามอำนาจที่มีเพื่อประกันให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยไม่ต้องเสี่ยงต่อการถูกข่มขู่คุกคามและละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกต่อไป โดยในรายงานฉบับดังกล่าวนี้ได้แบ่งประเด็นหลักที่รัฐบาลไทยได้ดำเนินการในแนวนโยบายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อนักปกป้องสิทธิโดยเฉพาะสิทธิของชุมชนและนักปกป้องสิทธิฯจากชุมชนทั้งหญิงชายและทุกเพศสภาพ อาทิประเด็นการบังคับไล่รื้อชุมชนและที่อยู่อาศัยของเกษตรกร คนจนเมือง และกลุ่มชาติพันธุ์และชนพื้นเมือง ประเด็นโครงการพัฒนา กลไกการมีส่วนร่วม การให้และขอความยินยอมอย่างเสรี ล่วงหน้าและเกิดจากความเข้าใจ ประเด็นบรรษัทข้ามชาติและหน่วยงานธุรกิจอื่น ๆ  ประเด็นเรื่องการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ประเด็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยในแต่ละประเด็นเราพบข้อมูลอย่างชัดเจนว่าตลอดหกปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่ได้ปฏิบัติตามข้อเสนอแนะที่คณะกรรมการ ICESCR ได้เผยแพร่ออกมาอย่างครบถ้วนสมบูรณ์

ยกตัวอย่างประเด็นการบังคับไล่รื้อต่อเกษตรกร คนจนเมือง และชนพื้นเมือง PI พบว่า นโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ของรัฐบาลยังเป็นปัญหา ซึ่งคณะกรรมการ CESCR ได้ระบุอย่างชัดเจนในข้อเสนอแนะว่ารัฐภาคีควรประกันสิทธิของชนพื้นเมืองในการครอบครอง ใช้ประโยชน์ ควบคุมและพัฒนาที่ดิน ดินแดนและทรัพยากรที่พวกเขาเป็นเจ้าของ ครอบครอง หรือใช้ประโยชน์หรือได้มาตามจารีตประเพณี  แต่รัฐบาลไทยไม่ยอมรับสถานะของชนพื้นเมืองโดยอ้างว่าที่ไม่ยอมรับเพราะ “ประเทศไทยไม่มีชนพื้นเมืองรัฐบาลยอมรับเพียงว่ามีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลายในประเทศไทย และปัจจุบันชนพื้นเมืองกลับถูกเอาผิดทางอาญามากขึ้นจากการใช้ประโยชน์ในที่ดินตามจารีตประเพณีของตนเอง และจากการปฏิบัติตามจารีตประเพณี กฎหมายใหม่

นอกจากนี้ยังมีกรณีการบังคับไล่รื้อชาวกะเหรี่ยง จากชุมชนบางกลอยเมื่อเร็ว ๆ นี้ และการสังหารนายพอละจี รักจงเจริญ” หรือ “บิลลี่” นักปกป้องสิทธิมนุษยชนสะท้อนให้เห็นสถานการณ์การต่อสู้ของชุมชนพื้นเมือง และเจตจำนงของพวกเขาที่จะปกป้องที่ดินของตนเอง ซึ่งปัจจุบัน ยังไม่มีใครต้องรับผิดชอบต่อการสังหารบิลลี่ แม้จะมีการรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมให้กับ บิลลี่นำโดยนางพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของเขาและชุมชน

เราพบว่าการคุกคามและการบังคับไล่รื้อไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับชนพื้นเมือง การบังคับไล่รื้อและการขู่จะไล่รื้อ ยังเกิดขึ้นกับคนทั้งในชุมชนชนบทและในเมือง ล่าสุดผลการตัดสินคดีที่สำคัญกรณีบ้านซับหวาย จังหวัดชัยภูมิ นับเป็นความถดถอยครั้งใหม่ของการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายโดยเฉพาะการละเมิดที่เกิดขึ้นมหาศาลกับผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ครอบครัวและชุมชนของพวกเธอ และการคุ้มครองชุมชนเกษตรกรรมยากจนจากกฎหมายที่ขัดแย้งอย่างชัดเจนกับพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศของไทย

ชุมชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชาย ยังคงได้รับผลกระทบอย่างร้ายแรงจากนโยบายทวงคืนผืนป่า ซึ่งเคยสร้างความกังวลให้กับคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมตั้งแต่ปี 2558 สถานการณ์นี้ไม่เพียงเลวร้ายลง แต่ที่ผ่านมายังไม่มีการแก้ไขอย่างจริงจังตามข้อกังวลและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ ฯ

สำหรับประเด็นโครงการพัฒนา กลไกการมีส่วนร่วม การให้และขอความยินยอมอย่างเสรี ล่วงหน้า และเกิดจากความเข้าใจนั้น จากการทำงานของPI ทำงานอย่างใกล้ชิดกับชุมชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชาย พวกเขาและเธอถูกข่มขู่ในระหว่างการดำเนินงานเพื่อสันติภาพและคุ้มครองที่ดินและความเป็นอยู่ของตนเอง มีการเปิดโอกาสให้บริษัทเข้ามาเช่าซื้อ หรือมีการต่อสัญญาเช่าซื้อที่ดิน เพื่อให้ทำเหมืองแร่และทำเกษตรอุตสาหกรรม รวมทั้งการปลูกต้นปาล์มน้ำมัน อ้อย และยางพารา หลายชุมชนได้ต่อสู้มาเป็นเวลาหลายทศวรรษเพื่อรักษาที่ดินของตนเอง และเพื่อยุติการทำลายสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดจากอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติ

กระบวนการปรึกษาหารือและมีส่วนร่วมของชุมชนยังคงมีข้อบกพร่อง โดยมีการกำหนดให้มีการปรึกษาหารือในเวลาหรือสถานที่ซึ่งทำให้สมาชิกในชุมชนไม่สามารถเข้าถึงได้ ทำให้เกิดความยากลำบากโดยเฉพาะต่อแม่ที่มีลูกเล็ก และสำหรับสมาชิกในชุมชนซึ่งเป็นผู้พิการ ตัวอย่างที่ชัดเจนอย่างหนึ่งของปัญหานี้ คือการทำประชาพิจารณ์สำหรับโครงการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่อื้อฉาวในอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา โดยวันที่กำหนดขึ้นตรงกับช่วงถือศีลอด และเป็นช่วงที่กำลังมีการประกาศล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 และมีการจำกัดการชุมนุมตามพระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน

น.ส.ไครียะห์ ระหมันยะ เยาวชนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน อายุ 17 ปีจากเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ได้ไปนอนอยู่หน้าศาลากลางจังหวัดสงขลา จนทำให้ทางราชการยินยอมเลื่อนการจัดประชาพิจารณ์ออกไป ก่อนที่การทำประชาพิจารณ์ที่เลื่อนออกไปจะเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ได้ไปเยี่ยมบ้านของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายอย่างน้อย 11 คน มีการสอดแนมข้อมูลและการข่มขู่ต่อพวกเขา การทำประชาพิจารณ์ในพื้นที่อื่นก็เกิดขึ้นท่ามกลางการข่มขู่และการสร้างอุปสรรคขัดขวางการมีส่วนร่วมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนและชุมชนที่คล้ายคลึงกัน

 ที่สำคัญมาตรการควบคุมโรคโควิด-19  ได้ถูกใช้เพื่อขัดขวางการมีส่วนร่วมของชุมชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในเดือนเมษายน 2563 นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายและชุมชนที่เป็นส่วนหนึ่งของเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ได้สวมหน้ากากและยืนห่างกัน 1.5 เมตร เพื่ออ่านแถลงการณ์  ทำให้สุนทร ดวงณรงค์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนผู้หญิงข้ามเพศ ซึ่งเป็นผู้อ่านแถลงการณ์ ได้ถูกนำตัวไปที่โรงพัก และขู่จะดำเนินคดีในข้อหาละเมิด 1) พระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ 2) พระราชกำหนดในสถานการณ์ฉุกเฉิน และ/หรือ 3) พระราชบัญญัติโรคติดต่อ เธอถูกกักตัวไว้เป็นเวลาหลายชั่วโมง และเนื่องจากเป็นสตรีข้ามเพศจึงรู้สึกเปราะบางและหวาดกลัวอย่างมาก

นอกจากนี้ยังมีการเร่งดำเนินงานตามโครงการพัฒนาอย่างอื่น โดยไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมหรือความยินยอม ในเดือนมิถุนายน 2560 รัฐบาลได้เร่งอนุมัติโครงการรถไฟความเร็วสูง ทั้งที่ยังไม่มีการทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอย่างสมบูรณ์ หรือไม่มีการปรึกษาหารือกับสาธารณะอย่างเหมาะสม ชุมชนซึ่งอาศัยอยู่ในที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทยก็เสี่ยงที่จะถูกไล่รื้อ เครือข่ายสลัมสี่ภาคเรียกร้องสี่ภาคเรียกร้องให้รฟท.จ่ายค่าชดเชย และจัดที่อยู่ให้กับคนที่ถูกไล่รื้อ และให้ดูแลประชาชน 30,000 คนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งโครงข่ายรถไฟความเร็วสูง

ในส่วนประเด็นบรรษัทข้ามชาติและหน่วยงานธุรกิจอื่น ๆ กติกา ICESCR กำหนดให้รัฐประกันว่า บริษัทซึ่งจดทะเบียนในพรมแดนของตนต้องเคารพสิทธิมนุษยชน ระหว่างการทำโครงการพัฒนาข้ามพรมแดนด้วย แต่ชุมชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายในประเทศเพื่อนบ้าน ได้รายงานตัวอย่างโครงการพัฒนาและธุรกิจจากประเทศไทย ซึ่งไม่เคารพสิทธิของพวกเธอ โดยประชาชนในเมืองทวายทางตอนใต้ของพม่า เรียกร้องให้รัฐบาลไทยยุติโครงการสร้างถนนที่เชื่อมต่อระหว่างทวายกับกาญจนบุรี และยุติโครงการพื้นที่อุตสาหกรรมทวาย ที่อยู่ระหว่างการพัฒนาของบริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จํากัด (มหาชน) ของไทย ชาวบ้านได้แขวนแผ่นป้ายประท้วงเขียนเป็นภาษาอังกฤษว่า “ยุติการทำให้เกิดโครงการมาบตาพุดที่ทวาย” อย่างไรก็ดี ยังไม่พบว่ามีการดำเนินงานตามที่เรียกร้องแต่อย่างใด

  ในส่วนประเด็นของการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชาย  ผู้ก่อความรุนแรงต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนมักไม่ต้องรับผิดและลอยนวลพ้นผิด Protection International บันทึกข้อมูลกว่า 72 กรณีของการสังหารและการบังคับให้สูญหายต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในระดับชุมชนในประเทศไทยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมาโดยผ่านโครงการFor Those Who Died Trying  แด่นักสู้ผู้จากไป โดยส่วนใหญ่แล้วคนร้ายยังคงลอยนวลและยังไม่ได้รับโทษตามกฎหมาย ที่ผ่านมามีความคืบหน้าน้อยมากหรือไม่มีเลยในการสอบสวนคดีการทำร้ายและการข่มขู่นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายในระดับชุมชนในประเทศไทย

และประเด็นที่สำคัญเรื่องธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ซึ่งแผนปฏิบัติการเพื่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เป็นหนึ่งในสี่องค์ประกอบหลักของแผนปฏิบัติการแห่งชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน( NAP) แต่กลับไม่มีการกำหนดมาตรการอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อคุ้มครองหรือยอมรับการทำงานของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายอย่างเป็นผล แผนปฏิบัติการแห่งชาติ และข้อบทที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองในกระบวนการยุติธรรม ไม่มีกฎหมายมารองรับ ไม่มีการกำหนดขั้นตอนปฏิบัติหรือข้อบทที่ชัดเจน เพื่อจำกัดหรือลงโทษหน่วยงานธุรกิจ กรณีที่พบว่าได้ทำการคุกคามด้วยกระบวนการทางกฎหมายต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชาย ( SLAPP) เห็นได้ชัดเจนว่า ยังไม่มีการแก้ไขตามข้อกังวลของคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ในส่วนของการคุ้มครองนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชาย และการลอยนวลพ้นผิด

และในส่วนประเด็นคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กสม.ที่เข้มแข็ง เป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างยิ่งของกรอบการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในประเทศ คณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมได้มีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาล ให้ประกันให้มีความเป็นอิสระอย่างเต็มที่ และให้แก้ไขปัญหาที่มีอยู่เกี่ยวกับกระบวนการคัดสรรกรรมการ และสนับสนุนให้กสม.ปฏิบัติหน้าที่ของตนได้      ต่อมาได้มีการจัดทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 ซึ่งยิ่งทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น ในเดือนกรกฎาคม 2562 กรรมการสิทธิมนุษยชนได้ลาออก รวมทั้งนายสุรเชษฐ์ สถิตนิรามัย, นายชาติชาย สุทธิกลม, นางอังคณา นีละไพจิตร และนางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนที่ลาออก ได้อ้างว่ามีสาเหตุมาจากระเบียบใหม่ที่จัดทำขึ้นตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ซึ่งสร้างข้อจำกัดต่อการทำงาน ขัดขวางไม่ให้กรรมการรับข้อร้องเรียนโดยตรงจากสาธารณะ และทำลายความเป็นอิสระของกสม.

ในเดือนมีนาคม 2564 คณะอนุกรรมการประเมินสถานะภายใต้กรอบความร่วมมือเครือข่ายพันธมิตรระดับโลกว่าด้วยสถาบันสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (GANHRI-SCA) ซึ่งได้รับฟังข้อกังวลจากภาคประชาสังคม จึงตัดสินใจเลื่อนการพิจารณาการเลื่อนสถานะของกสม.ออกไปอีก 18 เดือน ในขณะที่ยังไม่มีกสม.ที่เข้มแข็ง ทำให้นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชาย ไม่มีกลไกที่ไม่ลำเอียงและเป็นอิสระที่ช่วยสอบสวนเมื่อเกิดการละเมิด  

นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายของไทย เป็นผู้มีความกล้าหาญ มีความสามาร และเปี่ยมไปด้วยศักยภาพ ทั้งที่เป็นผู้หญิง ผู้ชาย และผู้มีเพศสภาพอื่น พวกเขาต่างสามารถทำงานดูแลและปกป้องชุมชน ที่ดิน และทรัพยากรธรรมชาติได้ Protection International จึงมีข้อเสนอเพื่อขอกระตุ้นคณะกรรมการว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ให้ดำเนินการตามอำนาจที่มีเพื่อประกันสิ่งต่าง ๆ ดังต่อไปนี้

1. พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งต้องลาออก เพื่อเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญของประชาชนที่เป็นประชาธิปไตย เพื่อคุ้มครองสิทธิของประชาชน

2. ทางการไทยต้องระงับนโยบายทวงคืนผืนป่า พระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พระราชบัญญัติแร่ หรือนโยบายอื่น ๆ ที่เป็นอันตราย และระงับโครงการพัฒนา จนกว่าจะมีโครงสร้างด้านนิติบัญญัติที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริง โดยมีกลไกสนับสนุนการมีส่วนร่วมของชุมชนและภาคประชาสังคมอย่างเข้มแข็ง 

3. ข้อเสนอแนะของคณะกรรมการประสานงานระหว่างประเทศว่าด้วยสถาบันส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เกี่ยวกับการดำเนินงานของกสม. ต้องมีการดำเนินงานตามอย่างเร่งด่วน เพื่อให้กสม.ทำหน้าที่อย่างมีอิสระและมีอำนาจ

4. ทางการไทยต้องยุติความรุนแรง การข่มขู่ การคุกคาม และการจับกุมโดยทันที ต่อประชาชนที่ใช้ประโยชน์และดูแลที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในชุมชนของตนเอง รัฐบาลต้องสนับสนุนสิทธิของชุมชนในการบริหารจัดการพื้นที่ตนเอง ทั้งนี้รวมถึงการลงโทษหน่วยงานธุรกิจที่ใช้ความรุนแรง และ/หรือใช้การคุกคามด้วยกระบวนการทางกฎหมาย (การฟ้องคดีปิดปาก)

5. ทางการไทยต้องแก้ไขปัญหาวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด โดยประกันให้มีการสอบสวนโดยพลันและอย่างไม่ลำเอียง เพื่อให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษ และผู้เสียหายได้รับการเยียวยาอย่างเหมาะสม

6. ทางการไทยควรประกันว่าการฟ้องคดีใด ๆ ที่มีอยู่ต่อนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายและชุมชน จะต้องได้รับการสอบสวนจากคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติของไทย สภาทนายความไทย และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของไทยก่อนจะปล่อยให้คดีเดินหน้าต่อไป

7. จะต้องมีการทบทวนอย่างรอบด้าน ไม่ลำเอียง และเร่งด่วนต่อคำตัดสินว่า ชุมชนและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายมีความผิด ทั้งนี้เพื่อให้มีการยกเลิกคำตัดสินที่ไม่สอดคล้องกับกติกา IESCR และ/หรือสนธิสัญญาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติอื่น ๆ 

8. ทางการไทยต้องจัดให้มีการชดใช้และการเยียวยากับผู้ที่ถูกไล่รื้อจากบ้านและที่ดินของตนเอง หรือเป็นผู้ได้รับผลกระทบ โดยต้องให้ความใส่ใจเป็นอย่างยิ่งต่อความต้องการของผู้หญิงและผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน

9. ทางการไทยต้องประกาศยอมรับและสนับสนุนบทบาท และความชอบธรรมของนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายในการปฏิบัติงานตามสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยคำนึงว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนทั้งหญิงและชายมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริม ติดตามผล และคุ้มครองสิทธิมนุษยชน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net