Skip to main content
sharethis

ไทยพบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ 4,528 คน สะสม 154,307 คน หายป่วยสะสม 105,244 คน เสียชีวิตเพิ่ม 24 คน เสียชีวิตสะสม 1,012 คน - สธ.เพิ่มสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน

COVID-19: 30 พ.ค. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 4,528 คน เสียชีวิตสะสมแตะ 1,012 คน

30 พ.ค. 2564 ศูนย์ข้อมูล COVID-19 รายงานว่าไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 4,528 คน เป็นการติดเชื้อใหม่ 2,626 คน ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 1,902 คน ยอดป่วยสะสมตั้งแต่ 1 เม.ย. 125,444 คน หายป่วยเพิ่ม 2,933 คน หายป่วยสะสม 77,818 คน เสียชีวิตเพิ่ม 24 คน เสียชีวิตสะสม 918 คน ขณะนี้มีผู้รักษาตัวอยู่ 48,051 คน อยู่ใน รพ. 19,008 คน รพ.สนาม 29,043 คน อาการหนัก 1,209 คน ใส่เครื่องช่วยหายใจ 389 คน 

ขณะที่การแพร่ระบาดตั้งแต่ปี 2563 มียอดผู้ป่วยสะสม 154,307 คน หายป่วยสะสม 105,244 คน เสียชีวิตสะสม 1,012 คน

พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. กล่าวว่าผู้เสียชีวิตเพิ่ม 24 คน เป็นชาย 11 คน หญิง 13 คน อยู่ใน กทม. 14 คน, นนทบุรี 3 คน, ชลบุรี 2 คน, เชียงใหม่ สมุทรปราการ สมุทรสาคร สุพรรณบุรี นครศรีธรรมราช จังหวัดละ 1 คน โดยมีโรคประจำตัวและปัจจัยเสี่ยง คือ โรคความดันโลหิตสูง 16 คน เบาหวาน ไขมันในเลือดสูง อย่างละ 7 คน ไตเรื้อรัง 3 คน หลอดเลือดสมอง 2 คน โรคปอด หัวใจ ผู้ป่วยติดเตียง อย่างละ 1 คน และไม่มีโรคประจำตัว 3 คน

COVID-19: 30 พ.ค. ไทยติดเชื้อเพิ่ม 4,528 คน เสียชีวิตสะสมแตะ 1,012 คน

วันเดียวสกัดกั้นลอบเข้าเมือง 139 คน

พญ.อภิสมัย กล่าวถึงข้อมูลในรอบ 24 ชั่วโมงที่ผ่านมา พบการสกัดกั้นการลักลอบเข้าเมือง 139 คน ส่วนการแพร่ระบาดในเรือนจำ ตั้งแต่ 1 เม.ย.-29 พ.ค.2564 พบยอดติดเชื้อสะสม 15,616 คน ขณะที่กรมควบคุมโรค รายงานว่าพบการแพร่ระบาด COVID-19 ในตลาดขนาดเล็ก หรือในชุมชน เช่น จ.นนทบุรี พบในตลาดปากเกร็ด

เตรียมตรวจเชิงรุก 30 แคมป์ก่อสร้าง

นอกจากนี้ กทม.จะตรวจคัดกรองเชิงรุกแคมป์โรงงาน โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาได้ลงพื้นที่สำรวจไซต์ก่อสร้างกระจาย 50 เขต บางเขตมีมากกว่า 20 แคมป์ บางแคมป์มีคนงานเกิน 1,000 คน โดยพบว่าแคมป์ที่มีแรงงานหนาแน่น ทั้งเขตบางกะปิ บางเขต ลาดพร้าว และห้วยขวาง

ทั้งนี้ ในวันที่ 1-10 มิ.ย.นี้ เจ้าหน้าที่จะลงพื้นที่ตรวจคัดกรอง COVID-19 เชิงรุกในแรงงาน 30 แคมป์ รวมทั้งตรวจสิ่งแวดล้อม ความสะอาด จุดสัมผัสร่วม การเว้นระยะห่าง และมาตรการป้องกันโรคในแต่ละแคมป์ หากบางแคมป์ก่อสร้างไม่ปรับตัว หรือกระทำผิดซ้ำ อาจมีการทบทวนบทลงโทษ

ทั้งนี้ ระบบ "หมอพร้อม" ประกาศหยุดให้บริการลงทะเบียนฉีดวัคซีนเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค.2564 คงไว้แต่ใช้แสดงข้อมูลหลังฉีดวัคซีน นัดหมายฉีดเข็มที่ 2 และขอใบรับรองการฉีดวัคซีน ส่วนผู้สูงอายุและผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคที่ลงทะเบียนไว้แล้วสามารถไปรับวัคซีนได้ตามกำหนดเดิม โดยประชาชนสามารถลงทะเบียนผ่านช่องทางของ กทม. หรือจังหวัด เช่น แอปพลิเคชัน หรือเว็บไซต์ที่จังหวัดกำหนดขึ้น รพ.สต. อสม. โรงพยาบาลใกล้บ้าน และระบบหมอพร้อมเมื่อเปิดให้บริการอีกครั้ง

ชลบุรี ติดโควิดเพิ่ม 90 คน ส่วนใหญ่คลัสเตอร์ตลาดกลางรัตนากร

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดชลบุรี รายงานว่า พบผู้ติดเชื้อ COVID-19 รายใหม่ จำนวน 90 คน หายป่วยเพิ่ม 44 คน เสียชีวิตเพิ่ม 1 คน

ผู้ติดเชื้อรายใหม่อยู่ในคลัสเตอร์ตลาดกลางรัตนากร 23 คน คลัสเตอร์บริษัท เซเลอเรส 8 คน (ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ตรวจซ้ำครั้งที่2) คลัสเตอร์บริษัท โอคุมุระ 16 คน (ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ตรวจซ้ำครั้งที่2) สัมผัสผู้ป่วยยืนยันเป็นบุคคลในครอบครัว 12 คน จากที่ทำงาน 8 คน ผู้สัมผัสผู้ป่วยยืนยันที่อยู่ระหว่างสอบสวนโรค 11 คน และอยู่ระหว่างการสอบสวนโรค 12 คน ทำให้ยอดติดเชื้อสะสมระลอก เม.ย. อยู่ที่ 4,607 คน เสียชีวิตสะสม 25 คน หายป่วยสะสม 3,608 คน

สำหรับการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ เริ่มจากแหล่งสถานบันเทิงสู่ครอบครัว มาสู่เพื่อนร่วมงาน มาสู่ชุมชนที่พักอาศัยพนักงาน แรงงาน ซึ่งมีปัจจัยเสี่ยงมาจากการกินข้าวร่วมกัน หรือมีกิจกรรมใกล้ชิด สังสรรค์แม้จะเป็นเพียงกลุ่มเล็ก 2-3 คนในเพื่อนสนิท

ขณะที่เริ่มมีการระบาดเป็นกลุ่มก้อน หรือคลัสเตอร์ พบในโรงงาน 4 แห่ง ตลาด 2 แห่ง แคมป์คนงานก่อสร้าง 2 แห่ง และชุมชนที่มีความเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ดังกล่าว โดยขอความร่วมมือผู้ที่อยู่ในสถานประกอบมาตรการดังนี้ ไม่สังสรรค์, ไม่ตั้งวงดื่มเหล้า, ไม่กินอาหารใกล้ชิดกัน, เมื่อป่วยแล้วต้องหยุดงาน, ทำความสะอาดจุดสัมผัสร่วมบ่อย ๆ เช่น ลูกบิด ราวบันได, เมื่อสแกนนิ้วมือ เซ็นชื่อแล้วต้องล้างมือทันที และเคร่งครัดในสุขอนามัยส่วนบุคคล ใส่หน้ากากตลอดเวลา เว้นระยะห่าง

ส่วนสถานที่พักพนักงานของสถานประกอบการ อาจเป็นหอพักที่สถานประกอบการหาให้ หรือหอพักที่ไปเช่าอยู่เอง ซึ่งเป็นที่อยู่ของพนักงานหลายบริษัทปะปนกัน จะเป็นแหล่งกระจายเชื้อข้ามบริษัท จึงขอความร่วมมือเคร่งครัดในมาตรการส่วนบุคคล อยู่ห่างกัน ไม่ข้ามไปคุยกันห้องพักห้องอื่น ไม่กินอาหารร่วมกัน และไม่สังสรรค์

สธ.เพิ่มสิทธิเบิกจ่ายค่ารักษาอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวว่า ตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ฉบับที่ 1 และ 2 ให้ผู้ป่วย COVID-19 สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์จากสถานพยาบาลอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม แต่ในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีผู้ป่วยรายใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้แก่ประชาชนผ่านการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ด้วยสุขภาพร่างกายของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกัน อีกทั้งการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 ในครั้งนี้ มีผู้เข้ารับบริการนับล้านราย จึงอาจจะมีบางรายที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน

สบส.จึงแก้ไขเพิ่มเติมประกาศฯ ฉบับก่อนหน้า ออกเป็นประกาศฉบับที่ 3 กำหนดให้สถานพยาบาลเอกชนให้บริการแก่บุคคลที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีน เช่นเดียวกับผู้ป่วย COVID-19 โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย

นพ.ธเรศ กล่าวว่า สำหรับประกาศ “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการ ดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19” (ฉบับที่ 3) นั้น ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 24 ธ.ค.2563 เว้นแต่ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากอาการแพ้วัคซีนหรืออาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดจากการฉีดวัคซีน ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2564 เป็นต้นไป ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการฉีดวัคซีนจากสถานพยาบาลเอกชนที่รัฐกำหนด สามารถเข้ารับการดูแลรักษาได้ฟรีจากสถานพยาบาลเอกชน

นอกจากการเพิ่มสิทธิเบิกจ่ายในข้างต้นแล้ว ประกาศฯ ฉบับที่ 3 ยังได้เพิ่มสิทธิในการเบิกจ่ายค่าพาหนะขนส่งผู้ป่วยทั้งทางบก ทางน้ำ และทางอากาศ และอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) ของบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้การดำเนินงานป้องกันควบคุม COVID- 19 เป็นไปอย่างราบรื่น และเหมาะสมกับสภาวะการณ์ในปัจจุบันด้วย

กรมอนามัยใช้ 8 มาตรการคุมตลาดสดพื้นที่สีแดงเข้ม ยกระดับป้องกันโควิด

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในตลาดสดช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่ามีการแพร่ระบาดในตลาดสดเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑลเป็นจำนวนมาก ทำให้กรุงเทพมหานครได้ออกคำสั่งปิดตลาดทั้งสิ้น 17 แห่ง เพื่อฆ่าเชื้อทำความสะอาด สำหรับ ในส่วนของกรมอนามัยนั้น ได้กำหนดใช้มาตรการ 8 ข้อ เพื่อยกระดับการควบคุมตลาดสดในพื้นที่สีแดงเข้ม โดยขอให้ผู้ประกอบการตลาดปฏิบัติ ดังนี้ 1) ผู้ประอบการตลาดต้องประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus และผู้ค้าหรือลูกจ้างต้องประเมินความเสี่ยงของตนเองผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ซึ่งจากข้อมูลการประเมินตนเองของผู้ประกอบการผ่าน Thai Stop COVID Plus พบว่า มีตลาดที่ลงทะเบียนจำนวน ทั้งสิ้น 3,465 แห่ง ผ่านการประเมิน 2,779 แห่ง ไม่ผ่าน 686 แห่ง โดยมาตรการที่ยังดำเนินการได้น้อย คือ การลงทะเบียบเข้า – ออก การควบคุมจำนวนผู้มาซื้อของ และไม่มีการ คัดกรองลูกค้า 2) จัดทำทะเบียนแผงค้า ผู้ค้า ผู้ช่วยขายของ และแรงงานต่างด้าวที่ปฏิบัติงานในตลาด เพื่อเป็นฐานข้อมูล ในการควบคุม กำกับ ติดตาม 3) จัดทำทะเบียนรถเร่จำหน่ายอาหารที่มาซื้อสินค้าในตลาดเพื่อนำไปขายต่อ 4) เพิ่มมาตรการ ชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อลดการสัมผัส 5) กรณีพบผู้ค้า ผู้ช่วยขายของ และแรงงานต่างด้าวป่วย ให้หยุดขาย และแจ้งเจ้าพนักงานควบคุมโรคในพื้นที่ทันที 6) ปิดตลาดชั่วคราวเพื่อทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรค โดยให้ปฏิบัติตามมาตรการที่จังหวัดกำหนด 7) หากตลาดเปิดทำการให้มีการสลับแผงค้าให้เหมาะสม เพื่อลดความหนาแน่นของแผงค้าและจำนวนคน เข้มงวดคัดกรองผู้ค้าและผู้ช่วยขายของ ให้มั่นใจว่าไม่ไปสัมผัสกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการเจ็บป่วยหรืออาจมีผลตรวจยืนยัน และ 8) ให้ตลาดปรับปรุงให้เป็นไปตามมาตรฐานตลาดสด น่าซื้อ และเน้นการรักษาความสะอาดอย่างเข้มข้น

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับผู้ซื้อสินค้าภายในตลาดควรมีการประเมินตนเองทุกวันผ่านเว็บไซต์ “ไทยเซฟไทย” ก่อนออกจากบ้าน และควรวางแผนการซื้อสินค้าเพื่อลดเวลาการใช้บริการในตลาดต้องสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัยตลอดเวลาเข้า-ออก ตามจุดที่ตลาดกำหนดไว้ ล้างมือด้วยสบู่หรือเจลแอลกอฮอล์ก่อนและหลังใช้บริการในตลาดทุกครั้ง กรณีซื้ออาหารปรุงสำเร็จ ควรเลือกอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ชำระเงินผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อหลีกเลี่ยงการชำระเงินสด หรือการสัมผัสกับผู้ขาย หากมีอาการป่วย มีไข้ ไอจาม ให้งดเข้ามาใช้บริการในตลาด

“ทั้งนี้ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องควบคุม กำกับและติดตามให้ตลาดมีการดำเนินงานอย่างเคร่งครัด ให้เกิดการปฏิบัติจริงจัง โดยบูรณาการงานร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน สมาคม/ชมรมผู้ประกอบกิจการตลาด และเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์ของแต่ละพื้นที่ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด อาจพิจารณาดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมซึ่งมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคในเขตพื้นที่รับผิดชอบเพิ่มเติมจากที่กำหนดได้ โดยให้ดำเนินการสอดคล้องกับมาตรการหรือแนวปฏิบัติที่นายกรัฐมนตรีกำหนด ตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 20)” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว

 

ที่มาเรียบเรียงจาก Thai PBS [1] [2] [3] สำนักข่าวไทย

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net