'อนุสรณ์' ชี้ความเหลื่อมล้ำภาคอุตสาหกรรมและก่อสร้างนำมาสู่การลุกลามของ COVID-19

'อนุสรณ์ ธรรมใจ' ชี้ผลของปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคอุตสาหกรรมส่งออกและภาคก่อสร้าง นำมาสู่การลุกลามของโรค COVID-19 ในโรงงานผลิตและแคมป์คนงานก่อสร้าง กระทบภาคส่งออกและการลงทุนภาครัฐ 

30 พ.ค. 2564 นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลัง และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ ม. รังสิต กล่าวถึงผลของปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคอุตสาหกรรมส่งออกและภาคก่อสร้าง นำมาสู่การลุกลามของโรค COVID-19 ในโรงงานผลิตและแคมป์คนงานก่อสร้าง กระทบภาคส่งออกและการลงทุนภาครัฐในที่สุด ความเหลื่อมล้ำเป็นผลมาจากระบบการจ้างงานที่ไม่เป็นธรรม มีระบบการจ้างงานแบบรายวันที่ไม่ยึดมาตรฐานแรงงานสากล การเป็นลูกจ้างรายวันทำให้แรงงานปกปิดการติดเชื้อของตัวเองเนื่องจากเกรงสูญเสียรายได้หากต้องหยุดงาน นอกจากนี้ ในหลายโรงงาน ผู้ใช้แรงงานไม่ได้มีสวัสดิการ สุขอนามัยและความปลอดภัยในสถานที่ทำงานที่ได้มาตรฐาน ไม่มีระบบสวัสดิการลาป่วยที่มีมาตรฐาน 

ภาคการผลิตและภาคการก่อสร้างมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวจำนวนมากเพื่อลดต้นทุนแรงงานและเพิ่มผลกำไรเนื่องจากค่าจ้างต่ำทำให้ไม่จูงใจแรงงานไทย แรงงานต่างด้าวจำนวนไม่น้อยในโรงงานและกิจการก่อสร้างเข้าเมืองผิดกฎหมายไม่มีการกักกันโรค สภาพปัญหาที่เกิดขึ้นล้วนสะท้อนปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและการจ่ายสินบนเพื่อนำเข้าแรงงานผิดกฎหมายทั้งสิ้น ปัญหาการติดเชื้อของแรงงานในโรงงานภาคการผลิตและภาคการก่อสร้างจะทยอยโผล่ออกมาเรื่อยๆเพราะระบบสุขอนามัยในโรงงานการผลิตของไทยจำนวนไม่น้อยยังไม่ได้มาตรฐาน ระบบสุขอนามัยและระบบมาตรฐานความปลอดภัยที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและกิจการก่อสร้าง

การฟื้นตัวของภาคส่งออก และ การเดินหน้าลงทุนภาครัฐ กำลังเผชิญความเสี่ยงจากการติดเชื้อ COVID-19 ทั้งสองภาคเศรษฐกิจอาจเกิดชะลอตัวในไตรมาสสามได้หากไม่สามารถควบคุมไม่ให้การแพร่ระบาดลุกลามในโรงงานและแคมป์คนงานก่อสร้างได้ ซึ่งจะส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยมาก การส่งออกของไทยเดือนเมษายนนั้นขยายตัวสูงถึง 13.09% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันเมื่อปีก่อน มูลค่าส่งออกรวมอยู่ที่ 21,429 ล้านดอลลาร์ เป็นมูลค่าส่งออกสูงกว่าระดับ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ได้ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 สำหรับการส่งออกสี่เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวได้ 4.78% ขณะที่การลงทุนภาครัฐในไตรมาสแรกก็เติบโตถึง 19.6% เป็นผลจากการเร่งรัดการใช้จ่ายหากทั้งสองส่วนนี้กระทบจากผู้ใช้แรงงานติดเชื้อและต้องทำให้กิจการภาคการผลิตและโครงการลงทุนก่อสร้างต่างๆต้องหยุดชะงัก จะกระทบเศรษฐกิจไทยในไตรมาสามได้  

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่างบประมาณปี 2565 ที่พิจารณากันอยู่นั้นไม่เพียงพอต่อการบริหารประเทศและรับมือกับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมอยู่แล้ว เป็นการจัดสรรงบในวงเงิน 3.1 ล้านล้านบาทซึ่งลดลงจากงบประมาณปี 2564 1.85 แสนล้านบาทหรือลดลง 5.6% เป็นการจัดงบประมาณที่ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตการณ์ การขาดดุลงบประมาณที่ระดับ 7 แสนล้านบาทส่วนหนึ่งเป็นผลจากการไม่สามารถขยายฐานภาษีทรัพย์สินได้ ทั้งที่การจัดเก็บภาษีทรัพย์สินไม่มีผลกระทบทางลบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด การไม่พยายามเก็บภาษีทรัพย์สินจะทำให้ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆจนยากจะเยียวยาได้ 

นอกจากนี้งบรายจ่ายเพื่อการลงทุนก็ปรับลดลง 3.84% และเวลานี้ไม่ใช่เวลาที่ควรจะเพิ่มการชำระคืนเงินกู้ โดยงบปี 65 มีการจ่ายคืนเงินกู้เพิ่มขึ้น 3.01% ซึ่งไม่จำเป็น ควรนำเงินไปเพิ่มให้กับกระทรวงสาธารณสุข และ กระทรวงการคลังให้เพียงพอต่อการรับมือปัญหาต่างๆ ส่วนงบลงทุนที่จัดสรรลดลงอาจแก้ไขโดยใช้ กลไก PPP เอกชนร่วมลงทุนในกิจการภาครัฐ (แต่อาจต้องเป็นเอกชนรายใหญ่ที่ยังมีความพร้อมทางการเงินอยู่) หรือ ผ่านกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน

การปรับลดเงินสมทบของนายจ้างและลูกจ้างในกองทุนประกันสังคมเพื่อบรรเทาภาระทางการเงินในช่วงวิกฤติโรคระบาดจะก่อให้เกิดปัญหาต่อฐานะทางการเงินของกองทุนประกันสังคมในระยะยาว ซึ่งรัฐบาลต้องจัดสรรงบประมาณอุดหนุนเพิ่มเติม นอกจากนี้สวัสดิการสังคมบางอย่างได้ถูกปรับลดลง ควรจัดสรรงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเร่งรัดนำเข้าวัคซีนไฟเซอร์ฉีดให้เด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ป้องกันการติดเชื้อก่อนเปิดภาคเรียน ก่อนที่โรงเรียนจะกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ในการแพร่กระจายเชื้อโรคระบาดไวรัสโควิด

ในส่วนรายได้ภาษีในงบประมาณปี 2565 ก็จะเก็บไม่ได้ตามเป้าแน่นอน สมมติฐานของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2565 ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะตั้งสมมติฐานว่า จะขยายถึง 4-5% กระทรวงสำคัญๆเช่น กระทรวงการคลัง กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการล้วนได้รับงบประมาณลดลงทั้งสิ้น แต่กระทรวงกลาโหมและสำนักนายกรัฐมนตรีได้รับงบประมาณเพิ่มขึ้น  ความจำเป็นในการกู้เงินเพิ่มเติมนั้นมีอยู่ แต่ต้องไปตัดงบไม่จำเป็นออกก่อน และไม่ควรออกเป็น พ.ร.ก. เพราะอาจเกิดความไม่โปร่งใสในการใช้งบได้ง่าย ผมค่อนข้างมั่นใจว่า รัฐบาลจำเป็นต้องทำงบกลางปีแน่นอน เพราะเม็ดเงินที่จัดสรรไม่เพียงพอแน่นอน

นายอนุสรณ์ ระบุว่าแผนการกู้เงินในระยะสองสามปีข้างหน้าต้องอยู่ในระดับไม่ต่ำกว่า 2 ล้านล้านบาทจึงเพียงพอต่อการฟื้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายเพื่อการลงทุนต่างๆ รวมทั้งแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆที่เกิดขึ้นเวลานี้ เงิน 5 แสนล้านบาทนั้นเพียงพอสำหรับการบริหารสภาพคล่องในช่วงปลายปีงบประมาณ 2564 และต้นปีงบประมาณ 2565 เท่านั้น และ ยังมีการใช้จ่ายฉุกเฉิกต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงแก้ปัญหาวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด การเพิ่มบทบาทของรัฐทางเศรษฐกิจและการขยายบทบาทการลงทุนภาครัฐมีความจำเป็นในช่วงนี้ แต่การดำเนินการดังกล่าวไม่ได้มีอะไรประกันความสำเร็จ หากรัฐบาลไม่โปร่งใสและไม่มีประสิทธิภาพ จะเกิดปัญหาวิกฤติซ้ำซ้อนขึ้นไปอีก คือ ฟื้นเศรษฐกิจก็ไม่เป็นผล และจะยังเผชิญทั้งวิกฤติคอร์รัปชันงบประมาณ วิกฤติหนี้สาธารณะในอนาคต รวมทั้งวิกฤตแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ (Rent-Seeking) โดยกลุ่มผลประโยชน์จะวิ่งล็อบบี้เพื่อให้กลุ่มของตัวเองได้ประโยชน์จากงบประมาณหรือเงินภาษีประชาชนโดยไม่ต้องลงแรงอะไร และ ผู้อำนาจรัฐมักมอบผลประโยชน์และอภิสิทธิ์เหล่านี้ให้กับกลุ่มผลประโยชน์แลกกับการสนับสนุนทางการเมืองเสมอ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท