ทูตเบลเยียมประจำเกาหลีใต้ถูกปลด หลังภรรยาตบหน้า พนง.ร้านเสื้อผ้ากลางห้างดัง

รัฐบาลเบลเยียมมีคำสั่งให้ ปีเตอร์ เลสคูเฮียร์ เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศเกาหลีใต้ ยุติบทบาทโดยทันที พร้อมถอนเอกสิทธิ์ทางการทูต หลังเกิดเหตุการณ์ภรรยาทูตทำร้ายร่างกายพนักงานร้านขายเสื้อผ้าบนห้างสรรพสินค้าในเกาหลีใต้

31 พ.ค. 2564 เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โซฟี วิลเมส รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของเบลเยียม แถลงขอโทษต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยระบุว่าการตัดสินใจปลดนายเลสคูเฮียร์ออกจากตำแหน่งถือเป็นทางออกที่ดีที่สุด เพื่อรักษาผลประโยชน์ร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศที่มีมาอย่างยาวนานกว่า 120 ปี พร้อมกล่าวว่าการกระทำของภรรยาทูตถือเป็นเรื่องที่ 'รับไม่ได้อย่างยิ่ง'

วิลเมส กล่าวในแถลงการณ์เพิ่มเติมว่า เซี่ยงสวีชิว ภรรยาชาวจีนของเอกอัครราชทูตเบลเยียมซึ่งเป็นผู้ก่อเหตุ ได้เข้าพบกับผู้เสียหายทั้ง 2 คนเป็นการส่วนตัวแล้ว เพื่อขอโทษที่กระทำเกินกว่าเหตุและเป็นความประพฤติที่ไม่เหมาะสม นอกจากนี้ วิลเมสยังระบุว่า เซี่ยงสวีชิว ได้เดินทางเข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจของเกาหลีใต้ทันทีที่เธอออกจากโรงพยาบาล และให้ความร่วมมือกับการสอบสวนอย่างเต็มที่

ในช่วงต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เซี่ยงสวีชิว ในฐานะภริยาทูตเบลเยียม ได้ขอใช้สิทธิทางการทูตเพื่อคุ้มครองไม่ให้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของเกาหลีใต้ อย่างไรก็ตาม ทางการเบลเยียมได้เพิกถอนสิทธินั้น เนื่องจากได้รับการร้องขอจากเจ้าหน้าที่ตำรวจของเกาหลีใต้

"ทางการเบลเยียมจะให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของเกาหลีใต้ตามที่ได้รับการร้องขอ" วิลเมส กล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 9 เม.ย. 2564 เซี่ยงสวีชิว เข้าไปลองชุดที่ร้านขายเสื้อผ้าแห่งหนึ่งบนห้างสรรพสินค้าในกรุงโซลของเกาหลีใต้ ก่อนจะเดินออกจากร้านไปโดยไม่ได้ซื้อสินค้า แต่ทันทีที่เธอเดินออกจากร้าน พนักงานประจำร้าน 2 คนได้วิ่งตามเธอออกมาเพื่อสอบถามว่าชุดที่เธอใส่อยู่เป็นชุดเดียวกับที่เธอเพิ่งลองเมื่อกี้หรือไม่ ทำให้เธอไม่พอใจและตบหัวพนักงานคนนั้น ก่อนจะตบหน้าของพนักงานอีกคนที่พยายามเข้ามาห้ามสถานการณ์

หลังจากนั้น พนักงานทั้ง 2 คนได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ โดยใช้ภาพจากกล้องวงจรปิดภายในร้านเป็นหลักฐาน แต่ตำรวจของเกาหลีใต้ไม่สามารถดำเนินคดีกับภรรยาทูตเบลเยียมซึ่งเป็นคู่กรณีได้ เนื่องจากเธอขอใช้สิทธิคุ้มกันทางการทูต สร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเกาหลีใต้เป็นอย่างมาก จนสถานเอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำเกาหลีใต้ต้องออกแถลงการณ์ขอโทษอย่างเป็นทางการผ่านเพจเฟซบุ๊ก พร้อมระบุว่าทูตเบลเยียมยืนยันว่าภรรยาของเขาจะเดินทางเข้าให้ปากคำกับตำรวจและให้ความร่วมมือกับการสอบสวนอย่างแน่นอน

ข้อถกเถียงเรื่องเอกสิทธิ์คุ้มกันทางการทูต

อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ.1961 ระบุว่า ผู้แทนทางการทูตและครอบครัวจะได้รับเอกสิทธิ์และความคุ้มกันไม่ให้ถูกดำเนินคดีอาญาตามกฎหมายของประเทศปลายทางที่ไปประจำการเพื่อปฏิบัติหน้าที่ หมายความว่า บุคคลเหล่านี้จะไม่ถูกดำเนินคดีไม่ว่าจะกระทำความผิดร้ายแรงใดๆ ก็ตาม แต่หากประเทศต้นทางซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิดังกล่าวเพิกถอนเอกสิทธิ์และความคุ้มครองทางการทูต บุคคลเหล่านี้จะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมายของประเทศปลายทาง

อย่างไรก็ตาม เอกสิทธิ์คุ้มกันทางการทูตสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมเป็นอย่างมาก ไม่ใช่เพียงกรณีของเบลเยียมและเกาหลีใต้ แต่ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือน ส.ค. 2562 แอนน์ ซาคูลาส ภรรยาเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองแห่งกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำสหราชอาณาจักรขอใช้สิทธิคุ้มกันทางการทูต ไม่ให้ถูกดำเนินคดีในข้อหาขับรถโดยประมาทจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย เนื่องจากเธออ้างว่าไม่ชินกับการขับรถเลนซ้าย จึงขับรถผิดเลนและชนแฮร์รี ดันน์ ชายวัย 19 ปีเสียชีวิต เป็นเหตุให้ชาวอังกฤษออกมาชุมนุมเรียกร้องความยุติธรรมบนท้องถนนและบนโลกออนไลน์ผ่านแฮชแท็ก #JUSTICE4HARRY

ด้าน บอร์ริส จอห์นสัน นายกรัฐมนตรีอังกฤษ กล่าวว่าการใช้เอกสิทธิ์คุ้มกันทางการทูตในกรณีนี้เป็นเรื่องที่ผิด พร้อมเรียกร้องให้โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในขณะนั้นทบทวนจุดยืนและบทบาทของสหรัฐฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือน ม.ค. 2563 ทางการสหรัฐฯ ปฏิเสธคำขอของตำรวจอังกฤษที่ขอให้สหรัฐฯ ยกเลิกเอกสิทธิ์คุ้มกันทางการทูต และส่งตัวซาคูลาสกลับมาดำเนินคดีที่อังกฤษ แต่โฆษกรัฐบาลอังกฤษยังยืนยันว่านายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษไม่ได้นิ่งนอนใจต่อเรื่องนี้ และจะพยายามสุดความสามารถเพื่อเรียกร้องความยุติธรรมให้แก่ครอบครัวของผู้เสียชีวิต

เมื่อช่วงกลางปีที่แล้ว มีรายงานข่าวพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่คอนโดมิเนียมแห่งหนึ่งย่านสุขุมวิท ซึ่งเปิดเผยภายหลังว่าเป็นบุตรของทูตจากประเทศซูดาน เมื่อวันที่ 14 ก.ค. 2563 ผู้จัดการออนไลน์ รายงานว่า รองอธิบดีกรมควบคุมโรคได้ชี้แจงถึงกรณีที่เกิดขึ้นว่าคณะทูตจากประเทศซูดานไม่ได้กักตัวที่สถานกักกันโรคของกระทรวงสาธารณสุขเพราะใช้เอกสิทธิ์ทางการทูต ซึ่งสามารถกักตัวสังเกตอาการได้ในสถานที่ที่สถานทูตของประเทศนั้นๆ จัดไว้ให้ แต่ในกรณีนี้ สถานที่อาจไม่เพียงพอ จึงต้องมากักตัว ณ ที่พักแทน ต่อมาในวันที่ 15 ก.ค. 2563 กรุงเทพธุรกิจ รายงานว่า โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า การกักตัวของคณะทูตซูด้านเป็นไปตามแนวทางของคำสั่ง ศบค. ฉบับที่ 7/2563 ที่ให้บุคคลในคณะทูต คณะกงสุล องค์การระหว่างประเทศ ตลอดจนคู่สมรส บิดามารดา หรือบุตร เข้ารับการกักกันในที่พำนักของบุคคลดังกล่าวภายใต้การควบคุมดูแลของสถานทูตต้นสังกัด ไม่ใช่เอกสิทธิ์คุ้มครองทางการทูตแต่อย่างใด พร้อมระบุว่าอนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูต ค.ศ.1961 กำหนดให้ผู้แทนทางการทูตต้องเคารพและปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศปลายทางด้วย

ที่มา:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท