Skip to main content
sharethis

สำนักข่าว​ DW รายงานว่าเมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา​ วลาดีมีร์​ ปูติน ประธานาธิบ​ดีของรัสเซีย​ ได้พา​อเล็กซานเดอร์​ ลูคาเชนโก​ เผด็จการ​ของเบลารุสไปนั่งเรือเที่ยวที่บริเวณ​เมืองโซชิ​ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัสเซีย​และติดทะเลดำ

สำหรับการล่องเรือในวันเสาร์นั้นเป็นวันที่สองของการพบปะกันระหว่างผู้นำทั้งสองประเทศ​ ในวันนี้ลูกชายของลูคาเชนโกเข้าร่วมพบปะพูดคุยบนโต๊ะอาหารด้วย ท่ามกลางกระแสต่อต้านการข่มขู่ให้เครื่องบินลงจอดกระทันหันเพื่อจับกุมนักข่าวเบลารุสผู้เห็นต่างจากรัฐบาลชื่อว่า​โรมัน​ โปรตราเชวิช

"เมื่อวานเป็นวันของการพูดคุยทางการ​ ส่วนวันนี้เป็นการคุยแบบไม่ทางการ" ดิมิทรี เปสกอฟ โฆษกของประธานาธิบดี​รัสเซียกล่าว​ ทั้งนี้​ โฆษกกล่าวอีกว่าเนื่องจาก​ "อากาศดี" ผู้นำรัสเซียและเบลารุสจึง​ "ไปนั่งเรือเที่ยวกัน" โดยการพูดคุยในวันเสาร์เป็นเรื่องความร่วมมือทางเศรษฐกิจ​และการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด​ 19 เป็นหลัก

เมื่อไม่นานมานี้มีการยืนยันออกมาว่ารัฐบาลรัสเซียจะมอบเงินช่วยเหลือเบลารุสเพิ่มอีกเป็นจำนวน 1.23 พันล้านยูโร​ หรือประมาณ​ 46,924 ล้านบาท​ หลังจากที่ก่อนหน้านี้​รัสเซียเคยให้ความช่วยเหลือระบอบเเบลารุสไปแล้ว​ 410 ล้านยูโร​หรือประมาณ​ 15,641 ล้านบาท โดยความร่วมมือเหล่านี้ยังไม่รวมการสนับสนุนรูปแบบอื่น ๆ เช่น การลดราคานำเข้าพลังงาน

อเล็กซานเดอร์​ ลูคาเชนโก​ ประธานาธิบดีเบลารุส​ที่สืบทอดอำนาจจากการโกงเลือกตั้ง​ ท่ามกลางกระแสการประท้วงเรียกร้องให้เขาลงจากอำนาจหลังปกครองมากว่า​ 27 ปี​ เลือกรับการสนับสนุนจากรัสเซีย​ ทั้งที่สหภาพยุโรปประกาศพร้อมให้ความช่วยเหลือก​ว่า​ 3 พันล้านยูโรหรือ​ประมาณ 114,449 ล้านบาท​ หากเบลารุสเปลี่ยน​ผ่านไปสู่ระบอบประชา​ธิปไตย

ในการประชุมก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์​ ลูคาเชนโกบอกว่า​เศรษฐกิจ​ของเบลารุสยังคง​ "เดินไปได้ตามปกติ" ทั้งที่การคว่ำบาตรส่งผลกระทบต่อเบลารุสอย่างหนัก นอกจากนี้ เขายังได้หอบเอกสารต่าง​ ๆ​ มามอบให้ปูตินเพื่อฟ้องว่า​ "มีความพยายามในการบั่นทอนให้สถานการณ์​ไปอยู่ในระดับของเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว" และ​ "ชัดเจนว่าเพื่อนตะวันตกของเราต้องการอะไรจากเรา" ทั้งนี้ โฆษกของทางการรัสเซียระบุว่าได้รับข้อมูลหักล้างข้อกล่าวหาต่าง ๆ เกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นบนเที่ยวบินไรอันแอร์อย่างละเอียด

สถานการณ์ตึงเครียด

สัปดาห์ที่แล้วสถานการณ์ในยุโรปตะวันออกตึงเครียดขึ้นอีกครั้ง หลังเจ้าหน้าที่รัฐบาลเบลารุสข่มขู่ว่าจะระเบิดเครื่องบินของสายการบินไรอันแอร์ หากไม่ลงจอดที่กรุงมินสก์ซึ่งเป็นเมืองหลวงของประเทศเบลารุส

หลังจากยอมลงจอดกระทันหันในวันที่ 23 พ.ค. 64 เจ้าหน้าที่เบลารุสจึงเข้าจับกุมนักข่าวผู้เห็นต่างที่อยู่บนเครื่องชื่อว่า​โรมัน​ โปรตราเชวิช และแฟนของเขาชื่อว่าโซเฟีย ซาเปกา โดยทั้งคู่กำลังเดินทางกลับจากการประชุมสัมมนาในประเทศกรีซไปยังประเทศลิทัวเนียซึ่งเขาลี้ภัยอยู่

โรมัน โปรตราเชวิช เป็นบรรณาธิการของช่องเทเลแกรมชื่อว่า Nextra ที่นำเสนอข้อมูลวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลเบลารุส และนัดหมายการประท้วงบนท้องถนนในประเทศเบลารุส โดยเขาได้รับการขนานนามว่าเป็น “ศัตรูส่วนตัว” ของลูคาเชนโก เนื่องจากต่อสู้กับระบอบเผด็จการเบลารุสมาตั้งแต่อายุ 16 ปี ปัจจุบันเขาอายุ 26 ปี

โปรตราเชวิช และซาเปกาแฟนของเขาให้การรับสารภาพว่ามีความผิดในคดีอาญา เนื่องจากมีส่วนร่วมในการจัดประท้วงใหญ่เมื่อปีที่แล้ว แต่เพื่อนของเราระบุว่าทั้งคู่ให้การรับสารภาพเนื่องจากถูกบังคับข่มขู่

สเตฟาน ปูลิโต เพื่อนร่วมงานของโปรตราเชวิชบอกกับบีบีซีว่าตัวเขาเคยถูกขู่ฆ่าหลายครั้งแล้ว ก่อนหน้านี้ไม่ได้เก็บมาคิดอะไรมากนัก แต่หลังจากโปรตราเชวิชโดนจับ เขาเริ่มคิดว่าคำขู่ฆ่าเหล่านี้เริ่มมีมูลความจริงขึ้นทุกที

อย่างไรก็ตาม ปูลิโตเชื่อว่าสาเหตุที่โปรตราเชวิชโดนจับ เป็นเพราะ “พวกเราโชว์ความจริงที่พวกเขาอยากปกปิด” ปูลิโตกล่าวอีกว่า “ถ้าระบอบสนใจมากถึงขนาดต้องนำเครื่องบินของโรมันลงจอด แสดงว่าเรากำลังทำบางอย่างมาถูกทางแล้ว และเราจะสู้ต่อไป”   

การจับกุมดังกล่าวก่อให้เกิดผลสะเทือนไปทั่วทั้งยุโรป

นายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิล ของประเทศเยอรมนีได้ออกมาบอกว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเรื่อง “ไร้เหตุผลสิ้นดี” ส่วนไฮโก มาส รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีกล่าวว่าการกระทำของลูคาเชนโก “มีลักษณะของการก่อการร้าย”

เออร์ซูลา ฟอน เดอร์ เลเยน ประธานคณะกรรมาธิการยุโรประบุว่า “ลูคาเชนโกและระบอบของเขาต้องเข้าใจว่าเรื่องนี้จะมาผลตามมาอย่างร้ายแรง”

ผู้นำของสหภาพยุโรปได้ขอให้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศสืบสวนเรื่องราวที่เกิดขึ้น องค์การดังกล่าวเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การสหประชาชาติ มีหน้าที่ในการออกมาตรฐานการบินและความเห็น แต่ไม่มีอำนาจกำกับใด ๆ

ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปได้ทำการยกระดับการคว่ำบาตรโดยสั่งห้ามไม่ให้เครื่องบินของเบลารุสลงจอดใน 28 ประเทศของสหภาพยุโรป และเครื่องบินของสหภาพยุโรปก็ห้ามบินผ่านน่านฟ้าของประเทศเบลารุสเช่นกัน ทั้งนี้ รัสเซียตอบโต้ด้วยการสั่งไม่ให้สายการบินบางแห่งในยุโรปลงจอดในกรุงมอสโก

สหภาพยุโรปกำลังพิจารณารายชื่อผู้สนับสนุนระบอบเผด็จการเบลารุสที่จะถูกคว่ำบาตรเพิ่มเติม ด้วยการ “แช่แข็งทรัพย์สิน” และการแบนวีซ่า จากเดิมที่เคยถูกคว่ำบาตรเป็นรายบุคคล 88 รายและเป็นรายองค์กรอีก 7 แห่ง รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของรัฐสมาชิกกำลังทำการประชุมกันเพื่อปรึกษาหารือเรื่องนี้ร่วมกับวาระอื่น ๆ  โดยขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะยกระดับไปสู่การคว่ำบาตรทั้งภาคอุตสาหกรรม

สหรัฐอเมริกาประกาศเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาว่าจะลงโทษรัฐบาลเบลารุสด้วยมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมเช่นกัน โดยขณะนี้กำลังปรึกษารายชื่อผู้ที่เป็นเป้าหมายของการคว่ำบาตรกับสหภาพยุโรป เนื่องจากการกระทำของรัฐบาลลูคาเชนโกเป็นการ “ละเมิดบรรทัดฐานระหว่างประเทศอย่างชัดเจน”

ที่ผ่านมาได้มีการออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อประณามรัฐบาลเบลารุสต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากหลายฝ่าย เช่น แถลงการณ์ร่วมที่ผู้ลงนามได้แก่ประเทศเอสโตเนีย ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา องค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือหรือนาโต้ได้ออกมาประนามการกระทำของเบลารุสว่าเป็นการ “ละเมิดฝ่าฝืนต่อหลักการเห็นต่างทางการเมืองและเสรีภาพสื่อ” เช่นกัน และเรียกร้องให้มีการสืบสวนที่เป็นอิสระขึ้นอย่างเร่งด่วน

คณะมนตรีความมั่นคงของสหประชาชาติพยายามออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อประนามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเช่นกัน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากถูกวีโต้โดยรัสเซีย ตั้งแต่เกิดการประท้วงขึ้นในเบลารุสเมื่อปีที่แล้ว รัสเซียถือเป็นพันธมิตรคนสำคัญของประเทศเบลารุสซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “เผด็จการคนสุดท้ายของยุโรป”

ในการพบปะระหว่างผู้นำรัสเซียและเบลารุสเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา​ ผู้นำรัสเซียได้ออกมาปกป้องการบังคับจอดเครื่องบินและจับกุมผู้เห็นต่างโดยรัฐบาลของเบลารุสอย่างเห็นได้ชัด ระหว่างที่สนทนากับลูคาเชนโก วลาดีมีร์ ปูตินได้ยกเรื่องเหตุการณ์​ในปี​ 2013 ขึ้นมา​ ในครั้งนั้นเครื่องบินของประธานาธิบ​ดีโบลิเวียถูกบังคับให้ลงจอ​ดที่กรุงเวียนนา​ เนื่องจากไม่ได้รับอนุญาติให้บินผ่านน่านฟ้าของสหภาพยุโรป​​

ขณะนั้นมีความกังวลว่าเอ็ดเวิร์ด สโนว์เด็น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงไซเบอร์ที่ออกมาเปิดโปงความลับของรัฐบาลสหรัฐอเมริกา​ แอบเดินทางอยู่บนเครื่องบินดังกล่าวด้วย​ แต่ท้ายที่สุดแล้วปรากฏว่าข่าวลือดังกล่าวไม่เป็นความจริง​ ประธานาธิบ​ดีของโบลิเวียถูกบังคับนำตัวลงจากเครื่องบินเพื่อตรวจสอบ​เช่นกัน แต่สหภาพยุโรปไม่ได้มีปฏิกิริยาตอบโต้แต่อย่างใด

"ประธานาธิบ​ดีถูกนำตัวออกจากเครื่องบิน​ และไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลย​... เงียบ​กริบ" ปูตินกล่าว

นักวิเคราะห์ประเมินว่าแม้ก่อนหน้านี้ปูตินกับลูคาเชนโกจะไม่ค่อยถูกกันนัก เพราะลูคาเชนโกชอบยุยงให้สหภาพยุโรปแตกคอกับรัสเซียเพื่อปูทางให้เบลารุสเข้ามาเป็นตัวกลางเจรจา แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปแล้ว เนื่องจากเกรงว่าการประท้วงต่อต้านเผด็จการในเบลารุสอาจก่อให้เกิดปรากฎการณ์โดมิโนมาถึงการประท้วงในรัสเซีย ปูตินสนับสนุนเบลารุสและนำเสนอภาพลักษณ์ว่าสนิทสนมกับลูคาเชนโก

สำหรับประเด็นที่โซเฟีย ซาเปกา (แฟนของโรมัน โปรตาเชวิช) ซึ่งถูกจับกุมในเบลารุสเป็นบุคคลสัญชาติรัสเซียวัย 23 ปี รัฐบาลรัสเซียจึงควรให้ความคุ้มครองนั้น โฆษกของรัฐบาลรัสเซียระบุว่าทางการไม่ได้ “นิ่งดูดายต่อชะตากรรม” ของโซเฟียแต่อย่างใด อย่างไรก็ตาม หลังโซเฟียถูกบังคับให้สารภาพว่ามีความผิดคดีอาญา รัฐบาลรัสเซียยังไม่ประกาศแนวทางในการช่วยเหลือซาเปกาออกมาแต่อย่างใด

การคว่ำบาตรเบลารุสจะได้ผลหรือไม่

หลังลูคาเชนโกโกงเลือกตั้งเพื่อขึ้นเป็นประธานาธิบดีต่อในปีที่แล้ว ได้เกิดการประท้วงใหญ่ขึ้นในเบลารุสเพื่อขับไล่ลูคาเชนโก เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลตอบโต้ด้วยการปราบปรามผู้ประท้วงอย่างรุนแรง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บหลายร้อยคน และมีเจ้าหน้าที่บางส่วนถอดเครื่องแบบออกมาสนับสนุนประชาชนจนเป็นข่าวดังไปทั่วโลก

การประท้วงที่เบลารุสก่อให้เกิดปฏิกิริยาต่อต้านจากสหภาพยุโรปและสหรัฐอเมริกาอย่างหนัก โดยมาตรการสำคัญที่สุดที่ประกาศออกมาคือการคว่ำบาตร แม้ว่าสหภาพยุโรปจะพยายามคว่ำบาตรรัฐบาลเบลารุสโดยกำหนดเป้าหมายเฉพาะผู้สนับสนุนระบอบเผด็จการของลูคาเช็นโก แต่ก็มีคำถามเกิดขึ้นเช่นกันว่าการคว่ำบาตรจะได้ผลหรือไม่

ดีเซียนิส เมลยันโซ จาก Minsk Dialogue Council on International Relations เห็นว่าการคว่ำบาตรอาจไม่ส่งผลกระทบใด ๆ ต่อประเทศเบลารุส เนื่องจากเบลารุสยังสามารถหันไปพึ่งพารัสเซียได้ การสั่งห้ามไม่ให้เครื่องบินเบลารุสลงจอดในสหภาพยุโรปอาจทำให้สายการบินของเบลารุสล้มละลาย แต่รัสเซียก็อาจซื้อสายการบินเหล่านื้คืนกลับมาได้เช่นกัน

โจนนา โฮซาจาก European Council on Foreign Relations ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศของยุโรปเห็นต่างว่า แม้เบลารุสจะได้รับการสนับสนุนจากรัสเซียต่อไปตราบที่ลูคาเชนโก “ทำในสิ่งที่วลาดีมีร์ ปูตินต้องการให้ทำ” แต่การคว่ำบาตรก็จะส่งผลให้รัสเซียมีต้นทุนต้องจ่ายเพิ่มสูงขึ้นเพื่ออุ้มเศรษฐกิจของเบลารุส ขณะเดียวกัน โฮซาได้เรียกร้องให้สหภาพยุโรปเข้าช่วยเหลือประชาชนชาวเบลารุสโดยทันที ทั้งในรูปของการลี้ภัยและการช่วยเหลือภาคประชาสังคมและนักข่าว

นักวิเคราะห์บางส่วนเห็นว่าการคว่ำบาตรอาจส่งผลให้เบลารุสเปราะบางจากการครอบงำของรัสเซียเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น วาเลอรีย์ คาร์บาเลวิช นักวิเคราะห์การเมืองที่ประจำอยู่ในกรุงมินสก์เห็นว่าลูคาเชนโกกำลังหวาดกลัว และรัสเซียอาจขอ “ค่าตอบแทนสำหรับการสนับสนุนทางการเมือง” ด้วยการเสนอให้เบลารุสใช้เงินสกุลเดียวกับรัสเซีย และขอให้รัสเซียได้รับอนุญาติเข้าไปวางกำลังทหารหรือสร้างฐานทัพในเบลารุส หากเป็นเช่นนี้ ลูคาเชนโกจะขัดขืนและต่อรองกับปูตินยากขึ้นอย่างมาก

รายงานข่าวของวอชิงตันโพสต์ได้รวบรวมความเห็นจากหลายฝ่าย ประเมินว่าในช่วงที่ผ่านมาการคว่ำบาตรถูกใช้เพิ่มขึ้นโดยสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป เนื่องจากถูกมองว่าเป็นมาตรการทดแทนนโยบายทางการทหารได้ดี แม้ว่าการคว่ำบาตรจะสำเร็จตามที่หวังไว้น้อยมากจากที่มีการศึกษาวิจัยกันมา แต่ก็ใช่ว่าการคว่ำบาตรจะล้มเหลวไปเสียทุกครั้ง ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การคว่ำบาตรมีลักษณะเป็นอย่างไร หากเป็นการคว่ำบาตรแบบพหุภาคี โอกาสสำคัญที่สูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญ

สำหรับกรณีของเบลารุส โลกตะวันตกจะต้องหาทางแยกเบลารุสออกจากรัสเซียให้ได้ด้วย เนื่องจากสินค้าเกือบครึ่งที่ผลิตโดยรัฐวิสาหกิจของเบลารุสถูกส่งออกไปยังรัสเซีย ขณะที่สินค้าเบลารุสที่ส่งออกไปยังสหภาพยุโรปมีสัดส่วนอยู่ที่ 24 เปอร์เซ็นต์ แม้จะมีบ่อยครั้งที่การคว่ำบาตรผิดฝาผิดตัวและทำร้ายกลุ่มที่ต้องการช่วยเหลือ และอาจทำให้ผู้ประท้วงฝ่ายต่อต้านรัฐบาลเบลารุสหนีออกจากประเทศได้ยากขึ้น แต่นักวิเคราะห์บางคนก็เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่ในเบลารุสเห็นด้วยกับสหภาพยุโรปและพร้อมรับผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะสั้นจากการคว่ำบาตรเพื่อกดดันลูคาเช็นโกให้ลงจากตำแหน่ง

นอกจากความพยายามในการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรป ประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐอเมริกาก็ใช้มาตรการคว่ำบาตรเบลารุสเช่นกัน ตั้งแต่ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี รัฐบาลสหรัฐอเมริกาได้ทำการห้ามซื้อขายแลกเปลี่ยนกับบริษัทน้ำมันและปิโตรเลียมของรัฐบาลเบลารุสไปแล้ว 9 แห่ง และคว่ำบาตรเจ้าหน้าที่รัฐของเบลารุสไปแล้ว 109 ราย หลังจากปรึกษาหารือกับสหภาพยุโรปแล้ว ประเทศตะวันตกจะยกระดับการคว่ำบาตรระบอบเผด็จการในเบลารุสต่อไป น่าติดตามว่าการคว่ำบาตรครั้งนี้จะส่งผลตามที่คาดหวังไว้หรือไม่

เรียบเรียงจาก:

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net