นิธิ เอียวศรีวงศ์ : 'ไม่ใช่ 7 ปี แต่ 130 ปีมาแล้วที่อำนาจตุลาการไม่เคยเป็นประชาธิปไตย'

นิธิ เอียวศรีวงศ์ ถกวงเสวนา “7 ปีรัฐประหาร : อำนาจตุลาการที่ (ไม่) เป็นประชาธิปไตย ?” ย้ำ ไม่ใช่ 7 ปี แต่ 130 ปีมาแล้วที่อำนาจตุลาการไม่เคยเป็นประชาธิปไตย พร้อมวิเคราะห์ 4 ประเด็น ความไม่เป็นประชาธิปไตยของตุลาการไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ระบุเรากำลังอยู่ในสภาพความเปลี่ยนแปลงครั้งมหึมา 

 

ภายในงานเสวนา “7 ปีรัฐประหาร : อำนาจตุลาการที่ (ไม่) เป็นประชาธิปไตย ?” จัดขึ้นที่ห้องประชุมศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 พ.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งมี นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักประวัติศาสตร์และนักวิชาการคนสำคัญคนหนึ่งของไทยมาร่วมเป็นวิทยากรด้วย

“ไม่ใช่ 7 ปี แต่เป็น 130 ปีมาแล้วที่อำนาจตุลาการไทยไม่เคยเป็นประชาธิปไตย และเขาก็ไม่เคยประกาศตัวเองว่าเป็นประชาธิปไตยด้วย เขาภาคภูมิใจด้วยซ้ำไปที่มันไม่เป็นประชาธิปไตย” นิธิ กล่าวในช่วงต้นของงาน

นิธิ คลี่คลายให้เห็นความไม่เป็นประชาธิปไตยของตุลาการไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผ่านเนื้อหา 4 ประเด็น ดังนี้

ประเด็นแรก นิธิเตือนให้นึกถึงคำพูดของเสกสรรค์ ประเสริฐกุล เมื่อนานมาแล้วที่บอกว่า ในสถาบันการเมืองของไทยหลัง 2475 เป็นต้นมา เรามีสถาบันการเมืองใหม่ที่มาจากประชาชนเพียงสถาบันเดียว คือ รัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้ง ส่วนสถาบันอำนาจที่เหลือทั้งหมดนับตั้งแต่สถาบันกษัตริย์ลงมา ระบบราชการ กองทัพ ตุลาการ สาธารณสุข การศึกษา มหาวิทยาลัย ล้วนแต่เป็นกลไกที่เกิดขึ้นก่อนหน้า 2475 ทั้งสิ้น และวันหนึ่งการปฏิวัติ 2475 ก็ตั้งรัฐสภาที่มาจากการเลือกตั้งขึ้น และยังประกาศว่ารัฐสภาจะเข้ามามีบทบาทควบคุมสถาบันอำนาจทั้งหมดที่เกิดขึ้นมาก่อน เพื่อให้ตอบสนองต่อประชาชน แต่ผลปรากฏว่าไม่เป็นไปตามนั้น รัฐสภาไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอำนาจของกลไกรัฐจากสถาบันอำนาจที่มีอยู่เดิมได้

“สภาพที่เป็นอยู่ทุกวันนี้คือสภาพการปรับตัวของอำนาจที่ถูกท้าท้ายในปี 2475 จะอยู่ต่อกันอย่างไร”

กลไกในสถาบันอำนาจอื่นของไทยจริงๆ แล้วคือ รัฐ ไม่ใช่แค่กลไกรัฐ ขณะที่รัฐสภาหรือสถาบันประชาธิปไตยเป็นอะไรที่อยู่นอกรัฐ และรัฐที่ว่านี้ถูกทำให้เป็น “บุคลาธิษฐาน” โดย 2 ประการ คือ หนึ่ง พระมหากษัตริย์ที่เป็นตัวแทนของรัฐที่กล่าวมา และสอง หัวหน้าคณะรัฐประหาร หลังช่วงทศวรรษ 2500 เป็นต้นมาทั้ง 2 ขั้วอำนาจนี้มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น เพราะเมื่อใดที่ความชอบธรรมของหัวหน้ารัฐประหารหมดลง ก็ต้องเข้าไปอิงอยู่กับอำนาจของสถาบันกษัตริย์มากขึ้น จนกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันและทำให้รัฐของไทยมีตัวบุคคลที่สามารถยึดถือได้

นิธิตั้งข้อสังเกตว่า ศาลไทยเคยเป็นศาลที่ยึดถือกฎหมาย ทำตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดในตอนที่ประเทศอยู่ในสภาวะไม่มีอำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์ เนื่องจากกลัวการเข้ามาของฝรั่ง แต่หลังจากมีอำนาจอธิปไตยที่สมบูรณ์แล้วการตัดสินคดีหลายคดีกลับถูกตั้งคำถาม ยกตัวอย่าง สมัยรัชกาลที่ 7 นายนรินทร์ ภาษิต มักจะเขียนจดหมายไปถึงพระเจ้าแผ่นดิน รัฐมนตรี และใครต่อใคร จนเป็นที่น่ารำคาญ รัชกาลที่ 7 ปรึกษาว่าเห็นควรจับตัวนายนรินทร์เข้าโรงพยาบาลบ้าดีหรือไม่ รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยสมัยนั้นให้คำตอบว่า ในกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจของตำรวจในการจับคนส่งโรงพยาบาลบ้า เจตนารมณ์ของกฎหมายอยู่ที่อาการบ้านั้นต้องอาจเป็นอันตรายต่อตนเองหรือผู้อื่น แต่นายนรินทร์ไม่มีประวัติหรือท่าทีที่อ้างได้ว่าจะเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น จึงไม่อาจใช้กฎหมายนี้จับกุมตัวนายนรินทร์เข้าโรงพยาบาลบ้าได้ เปรียบเทียบกับปัจจุบันในกรณีที่คนใส่เสื้อ “'เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว” และถูกจับส่งโรงพยาบาลจิตเวช การมีอธิปไตยที่ไม่สมบูรณ์ในสมัยรัชกาลที่ 7 กลับกลายเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนยิ่งเสียกว่ารัฐธรรมนูญ

ศาลไทยตั้งมั่นมาก่อนที่จะมีรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำว่าจะไม่เป็นประชาธิปไตย หลังการปฎิวัติ 2475 มีการส่งนักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้งไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อมุ่งหวังให้มีอำนาจระดับหนึ่งในการควบคุมผู้พิพากษา แต่ต่อมาผู้พิพากษากลับบอกว่าไม่ต้องการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามายุ่งเกี่ยว องค์กรตุลาการต้องเป็นอิสระ ทำให้นักการเมืองการเป็นเสมือนฝ่ายธุรการของระบบตุลาการ ศาลกลายเป็นอิสระจากทุกอย่าง การจะให้ศาลลงมาอยู่ภายใต้การดูแลของประชาชนผ่านรัฐสภาจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก

ประเด็นที่ 2 ประเทศไทยไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวในโลก ประเทศไทยมีการติดต่อกับคนจำนวนมาก ทำให้ความคิดแบบต่างประเทศไหลเข้ามา ทั้งเรื่องสิทธิมนุษยชน เสรีภาพ ความยุติธรรม ฯลฯ แต่น่าสนใจที่ประเทศไทยรับเรื่องเหล่านี้เข้ามาแบบมีลำดับชั้น เรามีเสรีภาพแบบเป็นลำดับชั้น มีสวัสดิการของรัฐแบบเป็นลำดับชั้น “เป็นแบบ very very ไทยเลย” การใช้หรือการมองเรื่องที่รับมาจากต่างประเทศของไทยมีลำดับชั้นแฝงอยู่โดยที่เราอาจไม่รู้ตัว

ในประเทศไทยลำดับชั้นเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง คนที่อยู่ในลำดับชั้นที่สูงกว่าอาจมีสิทธิและเสรีภาพมากกว่าคนอื่นในสังคม ดังนั้น ข้อเรียกร้องเรื่องความเสมอภาคของนักศึกษาและคนเสื้อแดงจึงเป็นเรื่องที่น่าตกใจของชนชั้นปกครองอย่างยิ่ง ในอดีตความเสมอภาคเป็นสิ่งที่เราเรียกร้องไม่มากพอ ตอน 2475 เคยมีคนคิดว่าประเด็นนี้เป็นเรื่องสำคัญและพยายามฝ่าฝืนระบบลำดับชั้น โดยการฟ้องพระมหากษัตริย์ฐานหมิ่นประมาท แต่คณะราษฎรในขณะนั้นก็ไม่กล้าสู้ด้วย สุดท้ายคดีนี้ก็เงียบหายไป ไม่มีการนำไปสู่การตัดสินคดี เนื่องจากเป็นการเผชิญหน้ากันตรงๆ ระหว่างคน 2 ลำดับชั้น ฉะนั้น การเรียกร้องความเสมอภาคเท่าเทียมกันของคนทั้งจากคนเสื้อแดงและนักศึกษาที่ลุกออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้จึงเป็นเรื่องใหญ่โตสำหรับประเทศที่ยึดถือลำดับชั้นอย่างประเทศไทย

ประเด็นที่ 3 ในอดีตแนวทางการรับระบบประชาธิปไตยแบบไทยๆ คือ การที่ผู้มีอำนาจสามารถสร้างประชาธิปไตยแบบ 2 เวทีการเมืองได้ โดยเวทีหนึ่งจะไม่เกี่ยวอะไรเลยกับประชาชน เป็นเวทีการแข่งขันทางการเมืองในกลุ่มชนชั้นนำของสังคมและกลไกรัฐ ส่วนเวทีที่ 2 เป็นเวทีของนักการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชน โดยนักการเมืองจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการต่อรองอำนาจกับฝ่ายรัฐและชนชั้นนำประหนึ่งว่าประชาชนเข้ามาร่วมต่อรองอำนาจด้วย ซึ่งเวทีนี้จะเป็นเวทีแห่งการต่อรองกันจริงๆ อาจต่อรองต่อหน้าในรัฐสภาหรือต่อรองลับหลังก็แล้วแต่ ถ้าไม่สามารถตกลงกันได้ทำรัฐประหารแล้วเริ่มต้นต่อรองสร้างอำนาจกันใหม่

“ตราบเท่าที่คุณสามารถแยกประชาชนออกไปจากเวทีการเมืองได้ คุณอยู่ได้” นิธิ กล่าว

แต่หลัง 2500 เป็นต้นมา เกิดคนกลุ่มใหม่ขึ้นมาคือกลุ่มทุน ซึ่งกลุ่มทุนของไทยเป็นกลุ่มที่งอกออกมาจากรัฐ มีการอาศัยอำนาจผูกขาดแบบอย่างที่รัฐยินยอมให้ทุนนั้นเติบโตได้ เป็นลักษณะที่พบได้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทบทุกแห่งที่ทุนกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐ ขณะเดียวกันกลุ่มทุนเองก็พอใจที่จะมีรัฐในลักษณะนี้ เนื่องจากรัฐประชาธิปไตยไม่ได้เพิ่มกำไรให้เขา ซึ่งกลุ่มทุนเองก็รวมอยู่ในเวทีการต่อรองของฝ่ายกลไกรัฐและชนชั้นนำด้วย

ประเด็นสุดท้าย ความเปลี่ยนแปลงในไทยเป็นเรื่องสำคัญมาก อาจเริ่มต้นจาก “ชาวนาการเมือง” ตามที่แอนดรู วอล์คเกอร์ ได้ศึกษาไว้ ตั้งแต่รัฐบาลเปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้นมาหรือก่อนหน้านั้นไม่นานมาก รัฐเริ่มเข้าไปเป็นผู้อุปถัมภ์ชาวนาโดยตรง สมัยหนึ่งชาวนาและคนระดับล่างอยู่ในระบบอุปถัมภ์กับเจ้าพ่อ แต่พอสมัยรัฐบาลเปรมรัฐทุ่มลงไปในการอุปถัมภ์ประชาชนโดยตรงมากขึ้น เกิดโครงการรัฐมากมายที่เข้าไปในหมู่บ้าน ชาวบ้านมีรายได้อื่นนอกภาคการเกษตรจากโครงการเหล่านี้ที่เข้ามาหาถึงที่ เช่น การเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ก็ได้เงินต่อเดือน มีการขยับองค์กรของกำนันให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ

การอุปถัมภ์ของรัฐมีผลทำให้อิทธิพลของระบบเจ้าพ่ออุปถัมภ์ค่อยๆ เสื่อมอำนาจลงไป การทำหน้าที่อุปถัมภ์ของรัฐไม่ใช่รัฐบาลทักษิณ ชินวัตร เป็นคนริเริ่มคนแรก แต่ทำกันมานานแล้วตั้งแต่รัฐบาลเปรม เพียงแต่วิธีการของรัฐบาลทักษิณอาจฉลาดกว่ายุคสมัยอื่นตรงที่เป็นรัฐอุปถัมภ์ในนามตัวเอง พรรคไทยรักไทยก็ได้ผลประโยชน์ด้วย รัฐก็ยังได้เวทีการเมืองที่ประชาชนอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐ ไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ

นอกจากนี้ยังมีตรงกลางที่ขยายใหญ่เพิ่มมากขึ้นอีกกลุ่มคือ กลุ่มชนชั้นกลางในเมือง แต่คนกลุ่มนี้ไม่ได้เข้าไปอยู่ในเวทีการเมือง ชนชั้นกลางอยู่ขอบเวทีการเมืองของทั้ง 2 ฝ่าย จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์พฤษภาคม 35 ขึ้น แม้พฤษภาคม 35 ดูเหมือนจะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงวันสองวัน ไม่มีการต่อสู้ยาวนาน แต่สำหรับชนชั้นนำนี่เป็นเรื่องที่น่าตกใจ ต้องอย่าลืมว่ามีการรัฐประหาร พ.ศ. 2534 ซึ่งการรัฐประหารไม่ใช่ปฏิบัติการทางทหาร แต่การรัฐประหารเป็นการปฏิบัติการทางการเมืองของคนหลายกลุ่ม การรัฐประหาร พ.ศ. 2534 อย่าคิดว่า จปร. รุ่น 5 เป็นคนทำเพียงฝ่ายเดียว แต่เป็นการกระทำท่ามกลางความเห็นชอบของคนอีกหลายฝ่ายในกลุ่มชนชั้นนำ ซึ่งตอนนั้นไม่มีใครคาดคิดว่าใน พ.ศ. 2535 จะมีนักศึกษาและประชาชนกลุ่มหนึ่งลุกขึ้นมาต่อต้านไม่ให้พลเอกสุจินดา คราประยูร ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีทั้งที่รัฐธรรมนูญเขียนไว้ว่าเป็นได้ ทั้งยังมีพระราชดำรัสของรัชกาลที่ 9 ใน พ.ศ. 2534 สนับสนุนด้วย ให้รับเป็นนายกไปก่อนแล้วค่อยมีการแก้ไขกันในอนาคต จึงกลายเป็นเรื่องน่าตกใจว่ามีคนแปลกหน้าที่ไม่ได้อยู่ในเวทีการเมืองเข้ามาเป็นผู้ตัดสินใจทางการเมือง ประเทศไทยไม่เคยมีคนแปลกหน้าเข้ามาตัดสินใจทางการเมืองแบบนี้

“ผมคิดว่าพฤษภาคม 35 shocking สำหรับเขามากแล้ว (ชนชั้นนำ) จนต้องยอมปรับ อันนี้แหละที่เป็นเหตุของรัฐธรรมนูญปี 2540” นิธิ กล่าว

 

การเมือง 2540 เป็นความพยายามในการผนวกชนชั้นกลางเข้ามา โดยไม่แบ่งเวทีทางการเมือง 2 เวทีที่เคยมีมา เพียงแต่ให้ชนชั้นกลางเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และมีความพยายามอีกประการหนึ่งของรัฐธรรมนูญ 2540 จะตั้งใจหรือไม่ตาม แต่ในรัฐธรรมนูญมีข้อกำหนดหลายอย่างที่ดูจะเป็นการกีดกันประชาชนทั่วไปไม่ให้เข้ามาในเวทีทางการเมืองนี้ เช่น เป็น ส.ส. ต้องจบปริญญาตรี หรือ ส.ว. ต้องมาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นข้อถกเถียงหนึ่งในสภาร่างรัฐธรรมนูญ เป็นต้น ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง การจะควบคุมคนหน้าใหม่ที่เข้ามาในเวทีการเมืองได้ต้องมีองค์กรอิสระ ซึ่งองค์กรอิสระที่ยังสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ไม่ได้เป็นองค์กรที่จะเป็นตัวแทนของความเป็นกลางทางการเมืองหรือความเป็นธรรม แต่องค์กรอิสระเหล่านี้ถูกตั้งขึ้นมาด้วยวัตถุประสงค์ตั้งแต่แรกที่จะรักษาเวทีทางการเมือง 2 เวทีให้ดำรงอยู่ต่อไป และในรัฐธรรมนูญ 2540 กฎหมายที่ให้โอกาสในการเคลื่อนไหวของฝ่ายประชาชนมีการตราออกมาน้อยมาก จนแทบมองไม่เห็น ถ้ามีใส่เข้าไปหลายอย่างก็เป็นเรื่องที่ NGOs เรียกร้องและก็ได้สิ่งที่ไม่ค่อยชัดเจนกลับมา เช่น ชุมชนดั้งเดิม ชุมชนที่สลัมคลองเตยถือเป็นชุมชนดั้งเดิมไหมตามความหมายของรัฐธรรมนูญ ? และจะทำอย่างไรกับความเป็นชุมชนดั้งเดิม จะให้ประชาชนเป็นเจ้าของป่าด้วยไหม

รัฐธรรมนูญ 2540 เป็นความพยายามที่ไม่ประสบความสำเร็จ คุณทักษิณฉลาดที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ชาวนาการเมืองเพิ่มขึ้นทั้งประเทศ ถ้าคุณอยากให้ระบบเลือกตั้งอยู่ได้ตลอดไป คุณต้องเล่นกับชาวนาการเมืองเหล่านี้ อย่าไปเล่นกับหัวคะแนน เมื่อชาวนาการเมืองและชนชั้นกลางเหล่านี้อยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของรัฐย่อมต้องการกำกับนโยบายของรัฐเป็นเรื่องปกติ รัฐธรรมนูญ 2540 จึงพังพินาศหมดในแง่การจะรักษาเวทีการเมืองที่แยกเป็น 2 เวทีไว้ตลอดไป ไม่สามารถทำได้ เป็นเหตุให้เกิดการรัฐประหาร 2549 ขึ้นมา

การรัฐประหาร 2549 ขับเคลื่อนสิ่งที่เรียกว่ารัฐหรือกลไกของรัฐทั้งหมดเข้ามาสู่เวทีการเมือง โดยไม่ต้องปิดบังกันอีกต่อไป การรัฐประหารที่เคยอยู่กันเนียนๆ มาตลอด ออกมาเฉพาะผู้นำเหล่าทัพเป็นคนทำรัฐประหาร แต่การรัฐประหาร 2549 หลายฝ่ายเปิดหน้ากันออกมาหมดเลย เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ของสังคมไทยจากชาวนาการเมืองก็ไม่มีทางถอยกลับไปสู่จุดเดิมได้ ซ้ำยังไปผนวกรวมเข้ากับชนชั้นกลางกลุ่มหนึ่งที่เป็นคนรุ่นใหม่ได้อีก ซึ่งคนรุ่นใหม่เหล่านี้ไม่อาจจะฝากฝังความเติบโตของตัวเองไว้กับรัฐได้แบบเก่าอีกแล้ว คนรุ่นใหม่มีความผูกพันกับรัฐอุปถัมภ์ดังเช่นสมัยรุ่นพ่อแม่พวกเขาน้อยลง

“ผมคิดว่าเรากำลังอยู่ในสภาพความเปลี่ยนแปลงครั้งมหึมาจริงๆ เวลาที่เด็กบอกว่าจบที่รุ่นเรา ถึงคุณไม่พูดหลายอย่างในประเทศไทยก็จบแน่ๆ แต่อาจจะจบไม่หมดอย่างที่คณะราษฎรเรียกร้องก็ได้ แต่จบเยอะมากๆ เลย และผมคิดว่าเวลานี้คุณกำลังเผชิญกับความพยายามที่จะไม่ให้มันจบแบบนั้น และไม่มีกลวิธีอื่นนอกจากความรุนแรง นอกจากคำตัดสินของฝ่ายตุลาการที่เห็นชัดว่าขัดกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งขัดก็ขัดสิ แต่คุณกำลังจะจบเรื่องใหญ่ขนาดนี้จะไม่ให้ขัดได้อย่างไร”

ไม่แปลก ที่ในปัจจุบันเรากำลังเผชิญหน้าอยู่กับอำนาจตุลาการที่บิดเบี้ยว

นิธิกล่าวจบว่า ถ้าเราเข้าใจสภาวะที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ เราจะมีใจที่พร้อมจะยอมรับกับเรื่องราวที่คาดไม่ถึงได้อีกหลายอย่าง ประเทศไทยเดินทางมาถึงจุดที่รัฐและชนชั้นนำไม่สามารถใช้กลวิธีแบบเก่าได้อีกต่อไป จึง “จำเป็นต้องใช้วิธีหน้าด้านๆ แบบนี้”

 

หมายเหตุ : เมื่อเวลา 16.20 น. วันที่ 1 มิ.ย.64 ประชาไท ปรับแก้เนื้อหาบางส่วนจาก ...มีการขยับองค์กรของกำนันให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ฯลฯ เป็น ...มีการขยับองค์กรของกำนันให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกระทรวงมหาดไทย ฯลฯ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท