Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ประเด็นที่ 1 รัฏฐาธิปัตย์
ในการรัฐประหารในหลายครั้งที่ผ่านมาของไทย ได้มีการพยายามอธิบายจากทั้งนักเนติบริกรและนักรัฐศาสตร์บริการว่าคณะรัฐประหารคือรัฏฐาธิปัตย์ ย่อมมีอำนาจสูงสุด แม้แต่ศาลก็มิอาจก้าวล่วงไปพิจารณาพิพากษาเอาผิดแก่คณะรัฐประหารได้ ไม่ว่าจะเรียกชื่อว่าคณะปฏิวัติ คณะปฏิรูป รสช. คมช. ฯลฯ ที่ยึดอำนาจและฉีกรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ก็ตาม

มิหนำซ้ำยังยอมรับประกาศหรือคำสั่งและรัฐธรรมนูญที่คณะรัฐประหารเหล่านั้นตราออกมา ไม่ว่าจะผ่าน สสร.หรือไม่ก็ตามว่าชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งผิดจากหลักการปกครองในนานาอารยประเทศทั้งหลายที่กฎหมายของคณะรัฐประหารเหล่านั้นไม่ได้รับการยอมรับหรือให้การรับรองรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารเหล่านั้น

คำว่ารัฏฐาธิปัตย์ (sovereign) นั้นในทางรัฐศาสตร์หมายถึงผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน ส่วนจะเป็นใครก็สุดแท้แต่ว่าเป็นผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดินหรือของบ้านเมืองใด มีระบอบการปกครองอย่างไร ถ้าเป็นในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ รัฏฐาธิปัตย์ คือ พระมหากษัตริย์

ส่วนในทางนิติศาสตร์หมายถึงผู้ทำให้เกิดกฎหมายดังที่ จอห์น ออสติน (John Austin) อธิบายว่ากฎหมาย คือ คำสั่งของรัฏฐาธิปัตย์

ฉะนั้น อำนาจของรัฏฐาธิปัตย์ ก็คือการมีอำนาจอธิปไตยนั่นเอง ซึ่งก่อให้เกิดผลดังนี้ คือ

1.ผลของการมีอำนาจอธิปไตย ทำให้รัฏฐาธิปัตย์อยู่ในฐานะสูงสุดในแผ่นดิน และไม่ต้องเชื่อฟังผู้อื่นอีก แต่ในระบอบประชาธิปไตยนั้น อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน เมื่อประชาชนแต่ละคนเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนแต่ละคนย่อมเป็นรัฏฐาธิปัตย์ โดยไม่มีประชาชนคนใดอยู่ในฐานะสูงสุดโดยไม่ต้องฟังคำสั่งผู้อื่น

2.ผลต่อมาในด้านกฎหมายระหว่างประเทศอันเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐต่อรัฐย่อมไม่มีสภาพเป็นกฎหมาย เพราะเมื่อรัฐต่างๆ มีฐานะเท่าเทียมกันก็ไม่มีรัฏฐาธิปัตย์ใดมีอำนาจบังคับบัญชารัฏฐาธิปัตย์อื่นได้ และจะเอาผิดหากมีการฝ่าฝืนกฎหมายระหว่างประเทศก็มิได้ ความผูกพันระหว่างรัฐต่อรัฐตามกฎหมายระหว่างประเทศจึงเป็นเรื่องถ้อยทีถ้อยอาศัยและรัฏฐาธิปัตย์นั้นๆ ต้องให้ความยินยอมที่สละอำนาจอธิปไตยบางส่วนให้แก่ผู้อื่น เช่น ศาลโลก เป็นต้น

ในยุคก่อนเชื่อกันว่าอำนาจสูงสุดเป็นของพระผู้เป็นเจ้า เพราะทรงเป็น “ที่สุดของสิ่งที่สุดทั้งปวง” (The Absoluteness) จึงไม่มีข้อจำกัดขัดขวางของอำนาจของพระองค์แต่อย่างใด ต่อมาเชื่อกันว่าพระสันตะปาปาทรงเป็นใหญ่เพราะได้รับอำนาจมาจากพระเจ้าเป็นองค์อธิปัตย์อยู่เหนือกษัตริย์ทั้งหลาย แต่อำนาจของอธิปัตย์องค์นี้ย่อมถูกจำกัดเพราะพระสันตะปาปาจะออกกฎหมายใดให้ขัดหรือแย้งกับกฎของพระผู้เป็นเจ้ามิได้

ต่อมากษัตริย์ทั้งหลายได้ปฏิเสธอำนาจของพระสันตะปาปาโดยอ้างว่าตนเองได้รับอำนาจจากพระเจ้ามาโดยตรง กษัตริย์ทั้งหลายจึงมีชื่อเรียกว่าพระเจ้านั่น พระเจ้านี่ นั่นเอง อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากษัตริย์เป็นรัฏฐาธิปัตย์แต่ก็เป็นรัฏฐาธิปัตย์ที่เกิดจากความยินยอมหรือการยอมรับนับถือของประชาชน ฉะนั้น กษัตริย์จะใช้อำนาจผิดทำนองคลองธรรมมิได้ เพราะถ้าใช้อำนาจผิดธรรมนองคลองธรรม ราษฎรก็จะเสื่อมศรัทธา และคลายความจงรักภักดี ซึ่งอาจนำไปสู่การล้มล้างอำนาจรัฏฐาธิปัตย์ในที่สุด

เมื่อเปรียบเทียบมุมมองของทั้งสองศาสตร์แล้วจะเห็นว่ามุมมองทางด้านรัฐศาสตร์นั้น นักรัฐศาสตร์ทั้งหลายต่างก็ยอมรับในลัทธิประชาธิปไตย (popular sovereign) ที่ถือว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนหรือในอีกชื่อหนึ่งก็คือทฤษฎีสัญญาประชาคม (social contract theory) ที่มีรากฐานมาจากความคิดที่ว่ามนุษย์เป็นผู้สร้างรัฐ โดยที่ประชาชนตกลงยินยอมให้ผู้ปกครองใช้อำนาจอธิปไตยแทนตนตามเจตจำนงของประชาชน หากผู้ปกครองละเมิดเจตจำนงของประชาชน ประชาชนมีสิทธิถอดผู้ปกครองได้ตามวิถีทางประชาธิปไตย มิใช่การแย่งชิงอำนาจอธิปไตยไปจากประชาชนโดยการใช้กำลังเข้ายึดอำนาจแล้วออกกฎหมายมาบังคับเอากับประชาชน

แต่ในมุมมองทางด้านนิติศาสตร์หรือทางกฎหมายนั้นกลับตรงกันข้ามกับมุมมองทางรัฐศาสตร์ โดยคำพิพากษาฎีกาที่ 1662/2505 ยอมรับว่าคณะรัฐประหารเป็นรัฏฐาธิปัตย์ คือ

“ศาลฎีกาเห็นว่า เมื่อใน พ.ศ. 2501 คณะปฏิวัติใด้ทำการยึดอำนาจปกครองประเทศไทยได้เป็นผลสำเร็จ หัวหน้าคณะปฏิวัติย่อมเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบ้านเมือง ข้อความใดที่หัวหน้าคณะปฏิวัติสั่งบังคับประชาชน ก็ต้องถือว่าเป็นกฎหมาย แม้พระมหากษัตริย์จะมิได้ทรงตราออกมาด้วยคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎรหรือสภานิติบัญญัติของประเทศก็ตาม ฉะนั้น ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 21 ซึ่งประกาศคำสั่งของหัวหน้าคณะปฏิวัติบังคับแก่ประชาชนดังกล่าว จึงเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในการปกครองในลักษณะเช่นนั้นได้ จำเลยจึงอาศัยอำนาจตามประกาศฉบับนี้ทำการจับกุมควบคุมโจทก์ได้โดยชอบ”

และถือเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมายที่เชื่อถือสืบต่อกันมาจนปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม นายกีรติ กาญจนรินทร์ ผู้พิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของ ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย ได้ออกมาปฏิเสธการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 โดยเมื่อวันที่ 28 กันยายน ที่ผ่านมา นายกีรติ กาญจนรินทร์ ได้มีคำวินิจฉัยส่วนตัวในคำพิพากษาที่ อม.9/2552 ว่า

“การได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย กล่าวคือการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยความไม่ยินยอมพร้อมใจจากประชาชนส่วนใหญ่ เท่ากับเป็นการล้มล้างระบอบประชาธิปไตย การปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 ย่อมเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตย”

“หากศาลรับรองอำนาจของบุคคลหรือคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหารว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์แล้ว เท่ากับศาลไม่ได้รับใช้ประชาชน จากการใช้อำนาจโดยมิชอบและเพิกเฉยต่อการปกปักรักษาประชาธิปไตยดังกล่าวมาข้างต้น ทั้งเป็นการละเลยหลักยุติธรรมตามธรรมชาติที่ว่าบุคคลใดจะรับประโยชน์จากความฉ้อฉลหรือความผิดของตนเองหาได้ไม่ รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารเป็นวงจรอุบาทว์อยู่ร่ำไป ยิ่งกว่านั้นยังเป็นช่องทางให้บุคคลหรือคณะบุคคลดังกล่าวยืมมือกฎหมายเข้ามาจัดการสิ่งต่างๆ”

“คปค. เป็นคณะบุคคลที่ทำการปฏิวัติหรือรัฐประหาร เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 จึงเป็นการได้อำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางของระบอบประชาธิปไตยดังเหตุผลข้างต้น ย่อมไม่อาจถือได้ว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ แม้จะได้รับการนิรโทษกรรมภายหลังก็ตาม หาก่อให้เกิดอำนาจที่จะสั่งการหรือกระทำการใดอย่างรัฏฐาธิปัตย์ไม่”

ถึงแม้ว่าคำวินิจฉัยส่วนตัวนี้จะไม่มีผลต่อคำพิพากษาเพราะเป็นเสียงข้างน้อย แต่มีผลกระทบมหาศาลต่อมุมมองของนักกฎหมายและผู้รักประชาธิปไตยทั้งหลาย

ฉะนั้น ผู้ที่กำลังคิดที่จะทำรัฐประหารหรือผู้ที่โหยหารัฐประหารพึงสำเหนียกว่า ผู้ที่ได้อำนาจมาจากการรัฐประหารมิใช่เป็นรัฏฐาธิปัตย์ในมุมมองนักรัฐศาสตร์และมีแนวโน้มที่จะมิใช่รัฏฐาธิปัตย์ในมุมมองของนักนิติศาสตร์อีกต่อไป แต่จะเป็นได้ก็เพียง “โจราธิปัตย์” เท่านั้นเอง และอาจถูกกุดหัวได้ทุกเมื่อ แม้ว่าจะทำรัฐประหารสำเร็จก็ตาม

ปกติแล้วศาลจะต้องตัดสินตามตัวบทกฎหมาย แต่การอ้างความเป็นรัฏฐาธิปัตย์นั้นไม่ปรากฏในมาตราใดของตัวบทกฎหมายใดเลย ฉะนั้น ช่วงหลังศาลจึงเลี่ยงไปใช้ว่า”รัฐธรรมนูญฯได้บัญญัติรับรองไว้” แทนคำอธิบายว่าเป็นรัฏฐาธิปัตย์ 

ประเด็นที่ 2 จะเอาผิดผู้ที่ทำรัฐประหารสำเร็จแล้วได้หรือไม่
ผมขอยกตัวอย่างในต่างประเทศมาสัก 2 กรณี คือ

กรณีแรก คือกรณีของกวางจูที่เกาหลีใต้ที่มีการใช้กำลังเข้าปราบปรามประชาชนเมื่อ 18 พฤษภาคม 2523 จนมีคนตายและสูญหายกว่า 2,000 คน ซึ่งต่อมาได้มีการดำเนินคดีกับอดีตประธานาธิบดีทั้งสองคนคือ Chun Doo Wan และ Roh Tae Woo พร้อมกับพรรคพวก แต่อัยการสั่งไม่ฟ้องเพราะเห็นว่าการกระทำที่เกิดขึ้นในการรัฐประหารที่สำเร็จไม่ควรถูกนำกลับมาพิจารณาเพื่อลงโทษ ต่อมาจึงได้มีการออกกฎหมายเพื่อพิจารณาเหตุการณ์เรียกร้องประชาธิปไตยที่เมืองกวางจูเป็นกฎหมายพิเศษเพื่อดำเนินคดีกับอดีตประธานาธิบดีทั้งสองและพรรคพวกอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งทั้งสองต่อสู้ว่าเป็นการออกกฎหมายย้อนหลัง แต่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยว่าสามารถกระทำได้ โดยให้เหตุผลว่าความไม่ชอบด้วยกฎหมายของการรัฐประหารเป็นอันตรายร้ายแรงและจะต้องทำให้สังคมคลายความเคลือบแคลงสงสัยนี้

จากคำวินิจฉัยดังกล่าวอดีตประธานาธิบดีทั้งสองจึงถูกดำเนินคดี จนศาลสูงสุดได้พิพากษาให้ Chun Doo Wan ถูกจำคุกตลอดชีวิตและ Roh Tae Woo ถูกจำคุก 17 ปี และที่เหลืออีกตามความหนักเบาของโทษ แต่ต่อมาเมื่อติดคุกได้ประมาณ 2 ปีก็มีการอภัยโทษให้ทั้งหมด หลังจากนั้นเกาหลีใต้ก็ไม่มีการรัฐประหารอีกเลย

กรณีที่สอง คือกรณีของตุรกีในการรัฐประหารครั้งล่าสุด คือ รัฐประหาร 12 กันยายน 2523 ตุรกีถูกปกครองโดยคณะรัฐประหารในชื่อ “คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” นำโดยนายพล Kenan Evren และตั้งตนเองเป็นประธานาธิบดี โดยบัญญัติในรัฐธรรมนูญฯมาตรา 15 ว่า การฟ้องร้องหรือดำเนินคดีให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติหรือรัฐบาลที่แต่งตั้งโดยคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติต้องรับผิดทางอาญา ทางแพ่ง หรือทางกฎหมายใดเนื่องจากการกระทำใดๆของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติและรัฐบาล ไม่อาจทำได้

ตุรกีอยู่ภายใต้การปกครองของคณะรัฐประหารรวมระยะเวลา 3 ปี มีประชาชนเสียชีวิต 5,000 คน ถูกจำคุก 6,000 คน แต่ต่อมาเมื่อวันที่ 10 กันยายน 2553 ได้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ให้ยกเลิกมาตรา 15 ที่ว่านี้ ซึ่งสมาคมนักกฎหมายและนักกิจกรรมด้านสิทธิมนุษยชนเดินหน้ากล่าวโทษนายพล Kenan Evren และพวกในความผิดฐานกบฏ ความผิดอาญาฐานอื่นๆ ตลอดจนความรับผิดทางแพ่ง

ต่อมา พนักงานอัยการสั่งฟ้องนายพล Kenan Evren อายุ 97 ปี และนายพล Tahsin Şahinkaya อายุ 89 ปี และ 18 มิถุนายน 2557 ศาลพิพากษาให้นายพลทั้งสองจำคุกตลอดชีวิต และถูกถอดยศทางทหารทั้งหมดอีกด้วย

มองเขา มองเรา ประวัติศาสตร์การเมืองไม่ว่าที่ใดในโลกย่อมซ้ำรอยกันเสมอ อยู่ที่จะช้าหรือเร็วเท่านั้นเองครับ

ประเด็นที่ 3 ข้อโต้แย้งต่อคำชี้แจงกรณีไม่ปล่อยชั่วคราว 
อนุสนธิข่าวแจกสื่อมวลชนของศาลยุติธรรม เรื่อง การพิจารณาและมีคำสั่งของศาลยุติธรรม ในการร้องขอปล่อยชั่วคราวในคดีอาญาว่า ศาลยุติธรรมให้ความสำคัญกับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวของผู้ถูกกล่าวหาในคดีอาญาตลอดมาว่าเป็นสิทธิประการหนึ่งของผู้ต้องหาในคดีอาญา แต่การพิจารณาและมีคำสั่งศาลจำเป็นต้องพิจารณาหลักเกณฑ์ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดประกอบกับพฤติการณ์และความจำเป็นในแต่ละคดีซึ่งย่อมมีความแตกต่างกัน นั้น

ภายหลังที่ข่าวข้างต้นได้เผยแพร่ออกไปได้มีการวิพากษ์วิจารณ์โต้แย้งกันอย่างกว้างขวาง เนื่องเพราะในข่าวแจก นั้น นอกจากจะอ้างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108/1 ที่กำหนดให้ศาลอาจสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวหากปรากฏกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยจะหลบหนี ยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือ ก่ออันตรายประการอื่น หรือการปล่อยชั่วคราวจะเป็นอุปสรรคต่อการสอบสวนหรือการดำเนินคดี โดยเมื่อเจ้าพนักงานหรือศาลจะไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวก็ต้องระบุเหตุผลโดยอ้างอิงไปยังเหตุตามกฎหมายด้วย 

แต่ยังได้อธิบายเพิ่มเติมไปอีกว่ากรณีที่เกรงว่าจำเลยหรือผู้ต้องหาอาจก่ออันตรายประการอื่นนั้น กฎหมายมุ่งป้องกันมิให้จำเลยหรือผู้ต้องหาไปกระทำซ้ำในสิ่งที่ถูกฟ้องร้องหรือถูกกล่าวหาว่าเป็นความผิดหรือกระทำความผิดอย่างอื่น หากจำเลยหรือผู้ต้องหาคนใดมีพฤติการณ์หรือแนวโน้มที่จะกระทำเช่นนั้นและไม่มีมาตรการอื่นใดที่จะป้องกันได้ ศาลย่อมไม่อาจปล่อยชั่วคราวได้ 

อีกทั้งยังได้อ้างถึงกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองตลอดจนยกตัวอย่าง สหราชอาณาจักรได้กำหนดไว้ใน Criminal Justice and Public Order Act 1994 และ The Bail Act 1976 กำหนดให้ศาลอาจมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวได้เว้นแต่ในบางกรณีกฎหมายห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวในความผิดบางประเภทอีกด้วย

ผมขอโต้แย้งในประเด็นที่สำคัญๆ ดังต่อไปนี้

1.ตามมาตรา 29 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฯปี 60ได้บัญญัติไว้ชัดเจนว่า “ในคดีอาญา ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจําเลยไม่มีความผิด และก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้” และหลักของการดำเนินคดีอาญา นั้นเมื่อบุคคลใดถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ในเบื้องต้นให้สันนิษฐานและปฏิบัติต่อเขาในฐานะเสมือนหนึ่งเป็นผู้บริสุทธิ์(presumption of innocence) ฉะนั้น การสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวโดยให้เหตุผลว่าจะไปกระทำความผิดตามที่ฟ้องมานั้นจึงไม่ถูกต้อง เพราะไม่เช่นนั้นแล้วก็จะเกิดการไปแจ้งความดำเนินคดี เพียงหวังให้ผู้ถูกกล่าวหาถูกจับกุมคุมขัง โดยไม่ต้องรอผลการพิจารณาพิพากษาจนถึงที่สุดก็ได้ ซึ่งเสมือนหนึ่งการอาศัยศาลเป็นเครื่องมือนั่นเอง

สำหรับการอ้างถึงกฎหมายของสหราชอาณาจักร ได้แก่ Criminal Justice and Public Order Act 1994 โดยอ้างว่าต่างประเทศก็ยังมีกฎหมายที่ห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวในความผิดบางประเภท นั้น ในเนื้อหาของ Criminal Justice and Public Order Act 1994 กำหนดว่าการห้ามมิให้ศาลมีคำสั่งให้ประกันตัวนั้นให้ใช้กับความผิดฐานฆาตกรรม (Murder), พยายามฆาตกรรม (Attempted murder), ทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย (Manslaughter), กระทำชำเรา (Rape) หรือความผิดเกี่ยวกับการล่วงละเมิดทางเพศบางประการเท่านั้น 

ที่สำคัญคือต้องเป็นกรณีที่จำเลยเคยถูกพิพากษาในความผิดดังกล่าวมาก่อนแล้วเท่านั้น แต่นี่เป็นการขังตั้งแต่ก่อนพิจารณาคดี(pretrial detention)ซึ่งศาลยังได้มีคำพิพากษาว่าเขาผิดจริงเสียด้วยซ้ำ แล้วจะเป็นการป้องการกระทำผิดอีก(recidivism)หรือการกลับมาทำผิดอีก(reoffending)ได้อย่างไร

ส่วน The Bail Act 1976 ก็กำหนดในลักษณะที่คล้ายๆ กันกับมาตรา 108/1 ของกฎหมายไทย แต่ สหราชอาณาจักรไม่ได้มีการใช้กฎหมายอาญาอย่างมาตรา 112 ของไทย โดยใช้เพียง Defamation Act 1996 กับการหมิ่นประมาทบุคคลโดยทั่วไปเท่านั้น

ส่วนการอ้างข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(International Covenant on Civil and Political Rights - ICCPR) เองก็ได้กำหนดไว้ด้วยว่าอาจมีการควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยระหว่างพิจารณาได้เพียงแต่ไม่พึงใช้มาตรการดังกล่าวเป็นการทั่วไปเท่านั้น ซึ่งเนื้อความในICCPRก็ชัดเจนอยู่แล้ว ไม่เข้าใจเหมือนกันว่านำมาอ้างทำไม ที่ถูกควรจะอธิบายให้ชัดไปเลยว่าทำไมถึงใช้กับคดีนี้ต่างหาก

2.การอ้างว่าในการควบคุมตัวระหว่างการพิจารณา แม้จะทำให้จำเลยหรือผู้ต้องหาถูกจำกัดเสรีภาพในการเดินทาง แต่หาได้ทำให้ถึงขั้นขาดความสามารถในการต่อสู้คดีอย่างมีนัยสำคัญ เพราะตามระเบียบกรมราชทัณฑ์ฯ จำเลยหรือผู้ต้องหามีสิทธิปรึกษาและให้ข้อมูลเกี่ยวกับคดีแก่ทนายความของตนได้อย่างเต็มที่ และอาจปรึกษาเป็นการลับก็ได้หากมีความจำเป็นในการดำเนินคดี การสืบพยานและซักถามพยานในกระบวนพิจารณาตามปกติ 

แต่ในความเป็นจริงมีการแทรกแซงการปรึกษาหารือกันเป็นการส่วนตัวระหว่างจำเลยกับทนายความดังเช่นกรณีการแถลงขอถอนทนายความของจำเลย 21 รายเนื่องจากไม่ได้รับสิทธิในการปรึกษาหารือกันในทางคดีอย่างเป็นส่วนตัวและเป็นความลับ มิหนำซ้ำเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ควบคุมจนสิทธิของจําเลยและทนายความถูกละเมิดแม้อยู่ในห้องพิจารณาคดี ทั้งการตรวจเช็ครายชื่อทนายจําเลยที่เข้าร่วมการพิจารณาคดีอย่างเข้มงวด, การไม่เปิดโอกาสให้จําเลยและทนายได้ปรึกษากันเป็นการเฉพาะตัว ฯลฯ แล้วจำเลยจะไปต่อสู้คดีได้อย่างไร

3.การอ้างว่าในปี 2563 ที่ผ่านมา จำเลยหรือผู้ต้องหาได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวรวม 237,875 คดี ศาลมีคำสั่งอนุญาตถึง 217,904 คดี หรือคิดเป็นร้อยละ 91.26 นั้น เป็นคดีโดยรวมทุกประเภท แต่ประเด็นที่เป็นปัญหาถกเถียงกันในสังคมทุกวันนี้คือคดีมาตรา 112 มีกี่เปอร์เซ็นต์นั้น ไม่ได้กล่าวถึงแต่อย่างใด

จากที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าแม้ศาลจะออกข่าวแจกสื่อมวลชนชี้แจงออกมาก็ตาม แต่ยิ่งชี้แจงยิ่งเข้าตัว  เพราะคนสมัยนี้ไม่ได้เชื่อเฉพาะจากตัวหนังสือ แต่จะวิเคราะห์วิจารณ์ตามที่ได้รู้ได้เห็น วิธีการชี้แจงที่ดีที่สุดคือการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีนี้ให้เหมือนดังเช่นการปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยอื่นๆหรือในคดีอื่นๆ น่ะครับ

ประเด็นอื่น ๆ ในช่วงถามตอบ
การปฏิรูปศาล(หากศาลไม่ทำก็เป็นหน้าที่ของฝ่ายนิติบัญญัติ)/ระบบลูกขุน/การเลือกตั้งผู้พิพากษา/ศาลเดี่ยว-ศาลคู่/การทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ(ตัดสินก่อนแล้วมาเขียนคำวินิจฉัยกลางอธิบายทีหลัง)/การลงโทษกรณีบิดเบือนกฎหมาย(bend the law)/กรณีสินบนโตโยตากับการส่งผู้ร้ายข้ามแดน/Judicial Review Commission ฯลฯ


 

หมายเหตุ: เนื้อหาที่นำเสนอในการเสวนาว่าด้วย”การยุติธรรมนำประชาธิปไตย” ที่ ศูนย์สตรีศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2564

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net