Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

เร็วๆ นี้ผมได้ฟังบรรยายออนไลน์เกี่ยวกับ “growth mindset” โดยรองศาสตราจารย์ นพ.ชัชวาลย์ ศิลปกิจ ที่น่าสังเกตคือนักวิชาการสายแพทย์และอื่นๆ ในกลุ่มคนเจน X ย้อนไป มักจะมีทักษะในการปรับความคิดทางวิชาการแบบตะวันตกเข้ากับคำสอนสำคัญของพุทธศาสนา เฉพาะสายแพทย์ที่โดดเด่นที่สุดคือ ศ.นพ.ประเวศ วะสี และยังมีนายแพทย์อื่นๆ อีกหลายคนที่สื่อสารสาธารณะด้วยวิธีการประยุกต์พุทธธรรมกับการใช้ชีวิตเพื่อความเติบโตงอกงาม

คนรุ่นก่อนๆ เช่น ปรีดี พนมยงค์, กุหลาบ สายประดิษฐ์, สัญญา ธรรมศักดิ์, เสน่ห์ จามริก ล้วนแต่มีปฏิสัมพันธ์ทางความคิดกับพุทธศาสนา และการตีความพุทธธรรมประยุกต์กับการเมืองของพุทธทาสภิกขุ ทว่าแต่ละคนก็ตีความพุทธธรรมสนับสนุน “อุดมการณ์ทางการเมือง” แตกต่างกัน 

ปรีดีตีความพุทธธรรมสนับสนุนอุดมการณ์ทางการเมืองแบบสังคมประชาธิปไตย กุหลาบก็เช่นกันและดูเหมือนเขาจะมี growth mindset ว่าชีวิตที่เจริญเติบโตด้านในของปัจเจกบุคคลนั้นน่าจะไปกันได้ดีกับระบบสังคมการเมืองและเศรษฐกิจแบบสังคมนิยม ขณะที่เสน่ห์ออกแนวเสรีนิยมคือตีความพุทธธรรมสนับสนุนหลักสิทธิมนุษยชนสากล ส่วนสัญญาดูเหมือนจะสมาทานแนวคิด “เผด็จการโดยธรรม” หรือ “เผด็จการโดยคนดี” ที่เข้ากับได้อย่างเนียนๆ กับอุดมการณ์พุทธราชาชาตินิยม

ยังไม่นับนักตีความกฎหมายรับใช้การเมืองอย่าง “วิษณุ เครืองาม” ที่เก่งพุทธธรรมไม่น้อยหน้าใครๆ เขาตีความอริยสัจสี่ว่า “จะแก้ปัญหาต้องแก้ที่เหตุ” เพื่อสนับสนุนว่าการร่างรัฐธรรมนูญจากการรัฐประหาร 2557 คือการแก้ปัญหาการเมืองที่ต้นเหตุ 

เราอาจนึกถึงผู้แตกฉานพุทธธรรมที่คิดทำนองเดียวกัน เช่น กวีธรรมอย่างเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ที่เป็น สว.นั่งร้านให้เผด็จการ นึกถึงนักเขียนซีไรท์อย่างวินทร์ เลียววาริณที่โพสต์พุทธธรรมแนวปล่อยวางอยู่เสมอ แต่เป็นคนอิกนอแรนท์ต่อความอยุติธรรมทางการเมืองภายใต้อำนาจเผด็จการ ไม่นับพิธีกรชือดังแห่ง “คนค้นคน” ที่ล้วนแต่เก่งในเรื่องประยุกต์พุทธรรมมองชีวิตและโลก

ย้อนกลับมาที่การประยุกต์กระบวนการเรียนรู้แบบ “growth mindset” กับพุทธธรรม วิทยากรนายแพทย์ท่านนั้นพูดถึงกระบวนการเรียนรู้เพื่อความเจริญเติบโตไปด้วยกันระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนในสาระสำคัญว่า ผู้สอนต้องไม่ตัดสิน “ตัวตน” ของผู้เรียน และต้องไม่ใช้คำพูดในทางใดๆ ที่จะทำให้ผู้เรียนเกิด fixed mindset คือกลัวที่จะเรียนรู้ หยุดคิดที่จะเรียนรู้ แต่ควรใช้วิธีการสอน คำพูด บรรยากาศการแลกเปลี่ยนกถเถียงที่จะช่วยขจัด fixed mindset และส่งเสริมให้เขาเกิด growth mindset หรือความกล้าที่จะเรียนรู้ กล้าเผชิญกับอุปสรรค และการท้าทายต่างๆ มองปัญหา อุปสรรค และการท้าทายทุกอย่างเป็นการเรียนรู้เพื่อความเติบโตงอกงามของตนเอง

คีย์เวิร์ดแบบพุทธคือสิ่งที่ผู้บรรยายใช้บ่อยแทบจะตลอดการบรรยาย เช่น growth mindset เป็นเรื่องของกุศลจิต การฝึกตน ฝึกสติให้รู้ทันการเกิด fixed mindset ในชีวิตประจำวันของเราแล้วก็ละมัน ไม่ทำซ้ำอีก ปล่อยวางมันแล้วจะเป็นคนที่ทุกข์ยาก สุขง่าย ผู้บรรยายยังยกตัวอย่างว่า บางทีคนรุ่นพ่อแม่อย่างเราๆ อาจจะคิดต่างในทางการเมืองกับลูก แต่เราก็ต้องเปิดกว้างรับฟังเหตุผลของเขา อย่าให้ถึงขนาดว่าลูกคิดต่างจากเราแล้วจะต้องไม่ส่งเสียให้เรียน หรือตัดขาดกันไป ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ เราควรจะคุยกันด้วยเหตุด้วยผล และในที่สุดเราก็ต้องยอมรับการเลือกของเขา

ผมเห็นว่า คำบรรยายดังกล่าว (โดยเฉพาะบางตัวอย่าง) มีนัยยะสอดคล้องกับเสรีนิยมอยู่ด้วย จึงแลกเปลี่ยนไปว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเสรีนิยมที่ถือว่าทุกคนเป็นคนเท่ากัน เสรีภาพและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของทุกคนไม่ว่าจะเก่งหรือไม่เก่งต้องได้รับการเคารพเท่าเทียมกันน่าจะส่งเสริม growth mindset มากกว่า ขณะที่วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเผด็จการอำนาจนิยมน่าจะเป็นอุปสรรคสำคัญของ growth mindset

แต่วิทยากรตอบรวดเร็ว (สาระสำคัญ) ว่า “ไม่เกี่ยวกับเผด็จการหรือประชาธิปไตย หรือเสรีนิยม ในระบอบประชาธิปไตยคนก็อาจมี fixed mindset ได้ โครงสร้างมันไม่ใช่ความเป็นจริง มันเป็นโครง เป็นเสา ตรรกะเกี่ยวกับแนวคิด โครงสร้างเราก็เถียงกันมาตลอด เถียงกันไม่จบ แต่ growth mindset คือความเป็นจริงที่เราจัดการได้โดยตรง เป็นเรื่องของความงอกงามจากภายในของปัจเจกบุคคล” 

อันที่จริงคำถามเชิงแลกเปลี่ยนของผมเจาะจงไปที่ “วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเสรีนิยม” กับ “วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเผด็จการอำนาจนิยม” แบบไหนสนับสนุน growth mindset? แต่คำตอบพูดถึงโครงสร้างทางการเมืองหรือระบอบการปกครองเลย (แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ตรงกับคำถาม แต่คำตอบก็มีนัยยะสำคัญเกี่ยวข้องกับคำถามในแง่ที่ว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเสรีนิยมย่อมไปกันได้ดีกับระบอบประชาธิปไตยมากกว่า) ส่วนคำตอบแบบ “กำปั้นทุบดิน” ที่ว่า “ในระบอบประชาธิปไตยก็มีคนที่มี fixed mindset ได้” เป็นประเด็นปลีกย่อย

สิ่งที่ผมได้จากคำตอบของวิทยากรคือ ได้เห็น “mindset แบบพุทธไทย” ที่เชื่อว่าความเติบโตงอกงามจากภายในของแต่ละบุคคลนั้นเกิดขึ้นได้ด้วยตัวเขาเอง (ภาษาพุทธว่ามันเป็น “ปัจจัตตัง”) ไม่ว่าเขาจะอยู่ภายใต้โครงสร้างทางการเมืองการปกครองแบบใดๆ ก็ตาม ดังนั้น mindset เช่นนี้จึงไม่ได้ใส่ใจอย่างจริงจังว่าสังคมจะเป็นประชาธิปไตยหรือเผด็จการอำนาจนิยม

mindset แบบพุทธไทยดังกล่าวสอดคล้องกับข้อสังเกตของ Kenneth Minogue ใน “Politics: A Very Short Introduction” ว่า ศาสนาที่เน้นความหลุดพ้นทางจิตวิญญาณมักเจริญรุ่งเรืองควบคู่กับระบอบกษัตริย์ เผด็จการในเอเชีย ขณะที่ Edward Conze พูดชัดไปเลยว่าพุทธศาสนาเป็นที่โปรดปรานของบรรดากษัตริย์ที่เป็นเผด็จการของเอเชีย

อันที่จริง แม้จะจริงหรือเป็นไปได้ตามคำตอบของวิทยากรที่ว่า growth mindset เป็นเรื่องของการเติบโตจากภายใน (ความเชื่อ ทัศนคติ วิธีคิดฯลฯ) ของแต่ละบุคคล ไม่เกี่ยวกับโครงสร้างทางการเมืองโดยตรง ซึ่งคำตอบเช่นนี้บังเอิญตรงกับ mindset แบบพุทธไทยที่เชื่อว่าความพ้นทุกข์ของบุคคลเป็นอกาลิโก เกิดขึ้นได้ในทุกยุคสมัย ในทุกระบบการปกครอง เพราะขึ้นอยู่กับการที่แต่ละคนสามารถจัดการกับความทุกข์ของตนเองให้ถูกต้องตามแนวอริยสัจสี่ ไม่เกี่ยวกับการเมืองการปกครองแบบใดๆ โดยเฉพาะ แต่เมื่อใช้กรอบคิดแบบพุทธอีกอันคือ “กฎความเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน-อิทัปปัจจยตา” เราจะปฏิเสธได้อย่างไรว่า วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบเสรีนิยมกับแบบเผด็จการอำนาจนิยมจะไม่ส่งผลต่างกันต่อ growth mindset ของปัจเจกบุคคลเลย 

เมื่อหันไปมอง mindset แบบเสรีนิยมสายประโยชน์นิยมของ John Stuart Mill ยืนยันชัดเจนว่า  “เสรีภาพ” คือพื้นที่เพื่อการเติบโตของปัจเจกบุคคล คือหลักประกันประโยชน์สุขส่วนรวมและความก้าวหน้าของมนุษยชาติ ดังนั้น จึงต้องปฏิเสธโครงสร้างทางการเมืองเผด็จการทรรราชย์ทุกรูปแบบ เพื่อสร้างระบอบเสรีภาพประชาธิปไตยที่สามารถให้หลักประกันเสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองรองรับความเจริญเติบโตของปัจเจกบุคคล, ประโยชน์สุขส่วนรวม และความก้าวหน้าของมนุษยชาติ

ขณะที่เสรีนิยมสายเสมอภาคของ Immanuel Kant, John Rawls ก็ยืนยันชัดเจนว่าเสรีภาพและความเสมอภาคคือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และเป็นรากฐานของความยุติธรรมทางสังคมและการเมือง มนุษย์ที่เจริญงอกงามได้ต้องมีเสรีภาพและความเสมอภาคที่แสดงถึงการมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การศึกษาที่ส่งเสริมความเติบโตงอกงามของมนุษย์ต้องเป็น “การศึกษาเพื่ออิสรภาพ” (autonomous education) คือการศึกษาที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนใช้เหตุผลของตนเองในการเลือกสิ่งที่ดีที่เหมาะกับตน และกล้าใช้เสรีภาพในการเลือกใช้ชีวิตในแบบที่ “ใช่” สำหรับตนเอง ตราบที่ไม่ละเมิดเสรีภาพของคนอื่นหรือไม่ก่ออันตรายต่อบุคคลอื่น วัฒนธรรมการศึกษาเพื่ออิสรภาพแบบเสรีนิยมจึงปฏิเสธระบบโครงสร้างและวัฒนธรรมเผด็จการอำนาจนิยมในมิติต่างๆ ทั้งเผด็จการอำนาจนิยมในครอบครัว โรงเรียน มหาวิทยาลัย องค์กรของรัฐและเอกชน และระบอบการปกครองเด็จการทุกรูปแบบ

ดังนั้น การเติบโตงอกงามของปัจเจกบุคคลกับความก้าวหน้าของเสรีประชาธิปไตยและประโยชน์สุขส่วนรวมจึงเป็นเหตุปัจจัยเกื้อหนุนกัน จะเห็นว่า mindset แบบเสรีนิยมที่มองความเติบโตของปัจเจกบุคคล โดยเน้นการเจริญเติบโตด้วยตนเองของแต่ละคนในพื้นที่เสรีภาพของปัจเจกบุคคลและเสรีภาพทางการเมืองตามระบอบเสรีประชาธิปไตย ดูเหมือนจะสอดคล้องกับ “กฎความเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน” ตามหลักพุทธธรรมมากกว่า 

ขณะที่ mindset แบบพุทธไทยที่เชื่อว่าปัจเจกบุคคลเติบโตจากด้านในของตนเองได้ โดยไม่สนใจว่าสังคมจะเป็นเผด็จการหรือประชาธิปไตย กลับขัดกฎความเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกันตามหลักพุทธธรรมเสียเอง


 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net