ไรเดอร์ยุคโควิด-19 แบกรับทุกความเสี่ยง แนะรัฐทำสถานะแรงงานให้ชัดเจน

อาชีพไรเดอร์เป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจแพล็ตฟอร์มที่เติบโตพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิตอล ในยุคโควิด พวกเขามีรายได้เพิ่มขึ้น แต่เป็นเพียงภาพส่วนเสี้ยวเดียว เมื่อพวกเขาต้องแบกต้นทุนทุกอย่างเอง รวมถึงความเสี่ยงที่จะติดเชื้อ ขณะที่เจ้าของแพล็ตฟอร์มทำหน้าที่หักหัวคิว

ยุคโควิด ร้านอาหารเปิดให้นั่งแบบจำกัดจำนวน อีกมากต้องปิดกิจการเพราะสายป่านไม่ยาวพอ ผู้คนยังไม่อยากออกจากบ้านเพื่อลดความเสี่ยง อาชีพที่น่าจะได้ประโยชน์จากสถานการณ์นี้คือไรเดอร์ส่งอาหาร

ชนฐิตา ไกรศรีกุล เจ้าหน้าที่วิจัย สถาบันแรงงานและเศรษฐกิจที่เป็นธรรม (JELI) บอกว่า ไรเดอร์กลุ่มนี้มีรายได้เพิ่มขึ้นจริง แต่...ก็เฉพาะคนที่กล้าออกไปทำงานเพราะการการไปยังสถานที่ต่างๆ เจอผู้คนมากหน้าหลายตามีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อีกทั้งเศรษฐกิจแพล็ตฟอร์มลักษณะนี้ก็ผลักภาระค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงอย่างไว้บนบ่าของไรเดอร์

พูดอย่างถึงที่สุด เจ้าของแพล็ตฟอร์มไม่ต่างอะไรกับคนหักหัวคิวจากการทำงานของไรเดอร์

นอกจากไรเดอร์ส่งอาหารแล้ว ยังมีสายที่ส่งของและส่งคน 2 กลุ่มหลังโดนพิษโควิดหนักชนิดขาดรายได้ ทำให้เริ่มหันมารับส่งอาหารด้วยรถยนต์ ถามว่าคุ้มหรือไม่? ไม่ แต่ยังดีกว่าขาดรายได้ ผลพวงที่ตามมาคือสายส่งอาหารมองว่าไรเดอร์กลุ่มนี้เข้ามาแย่งลูกค้า ชนฐิตาบอกว่า ข้อพิพาทพวกนี้ทางบริษัทก็ยังปล่อยให้ดำเนินต่อไปเนื่องจากไม่สามารถหางานมาให้ทุกคนได้

จริงหรือที่ว่าไรเดอร์รายได้ดี

ในสถานการณ์ปกติคำโฆษณาว่าไรเดอร์มีรายได้หลักหมื่นต่อเดือนเป็นความจริงอยู่ ถีบขึ้นไประดับ 2 หมื่นบาทต่อเดือนก็มีเช่นกัน แต่ไม่มาก ประเด็นคือรายได้หมายถึงจำนวนเงินที่ได้รับมาโดยยังไม่มีการหักต้นทุนด้านต่างๆ

“ตัวเลขในอินเตอร์เน็ตที่บอกว่ารายได้เฉลี่ย 2 หมื่นขึ้นไป” ชนฐิตาแจกแจง “แต่ยังไม่ได้หักค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ เราเคยคุยกับไรเดอร์ หลายคนไม่ได้มีโทรศัพท์เครื่องเดียว ต้องมีโทรศัพท์สำหรับกดรับงานโดยเฉพาะ เน็ตต้องแรง โทรศัพท์ก็มีการล็อกสเป็กรุ่นว่ายิ่งโทรศัพท์แพงเท่าไหร่ มีความเชื่อว่าจะยิ่งกดรับงานได้มากขึ้น มีประกันอุบัติเหตุที่เขาต้องแบกเอง ค่าน้ำมัน

“ถึงเราจะเห็นตัวเลขรายได้เป็นหมื่น แต่เราต้องถามว่าเขาจ่ายต้นทุนไปเท่าไหร่ เขาทำงานกี่ชั่วโมง บางคนที่บอกว่าทำได้ 2 หมื่น เขาต้องทำงาน 12 ชั่วโมง ถ้าเขาทำงานตามกฎหมาย 8 ชั่วโมง รายได้จะต้องน้อยกว่านี้มาก”

ทั้งนี้รายได้ของไรเดอร์จะแบ่งเป็น 3 ส่วน หนึ่งคือค่าส่งหรือค่ารอบที่เป็นฐาน สองคือค่าส่งเพิ่มตามระยะทาง และสามคือค่าโบนัสหรือเงินจูงใจ (incentive) โดย 2 ส่วนแรกจะถูกหักส่วนหนึ่งให้กับเจ้าของแพล็ตฟอร์ม

สิ่งที่ไรเดอร์ได้และเสียกับสิ่งที่บริษัทได้

การแบ่งสัดส่วนรายได้ระหว่างไรเดอร์ส่งอาหารกับเจ้าของแพล็ตฟอร์มเป็นอย่างไร ชนฐิตา ยกตัวอย่างว่าค่าส่งฐานหมายถึงในแต่ละคำสั่งซื้อมีค่าส่งขั้นต่ำ 50 บาท ถ้าระยะทางที่ต้องส่งไกลขึ้นก็จะมีการบวกค่าส่งเพิ่มขึ้นตามระยะทาง เช่นกิโลเมตรละ 10 บาท

ทั้งสองส่วนนี้จะถูกหักร้อยละ 15 ให้กับบริษัท กล่าวคือถ้าค่าส่งทั้งหมด 100 บาท ค่าส่งฐาน 50 บาท ส่วนนี้จะถูกหักเงินไป 7.50 บาท อีก 50 บาทคือระยะทางที่เกินมา 5 กิโลเมตร ก็จะถูกหักอีก 7.50 บาท รวมเป็น 15 บาท ไรเดอร์จะได้เงินจริง 85 บาท

เดี๋ยวก่อน 85 บาทนี้ยังต้องหักค่าน้ำมัน ค่าโทรศัพท์ ค่าเสียโอกาส ค่าแรง ค่าเครื่องแบบ ค่ากระเป๋า และความเสี่ยงอื่นๆ ในสถานการณ์ปัจจุบันอาจรวมถึงค่าหน้ากาก ค่าแอลกอฮอล์ล้างมือ รวมถึงภาษีเงินได้อีกร้อยละ 3 ซึ่งจะเหลือเท่าไหร่ขึ้นกับไรเดอร์แต่ละคนจะบริหารจัดการ

แต่เจ้าของแพล็ตฟอร์ได้แน่ๆ 15 บาท

เรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ผ่านมา กรณีไลน์แมน ทางบริษัทมีการหักค่าส่งฐานจาก 62 บาทเหลือ 55 บาท ซึ่งทำให้รายได้ของไรเดอร์ลดลง โดยทางบริษัทใช้วิธีเพิ่งเงินจูงใจแทน

“การเพิ่มแบบนี้มันดีกับบริษัทเพราะเขาจะจ่ายให้เมื่อไรเดอร์ทำงานหนักขึ้นเพื่อแทนค่าส่งฐานที่ถูกลดลงไป การลดค่าส่งฐานแล้วเพิ่มเบี้ยขยันก็เหมือนเป็นการลดต้นทุนของบริษัท ไม่ต้องจ่ายให้ทุกคน แต่จ่ายเฉพาะคนที่ทำงานได้มากพอถึงเกณฑ์เท่านั้น”

ภาพไรเดอร์รวมตัวหน้าสำนักนายกฯ เรียกร้องให้รัฐช่วยแก้แก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบผ่านการเป็น “พาร์ตเนอร์” หลังผู้บริหารไม่ลงมาเจรจา เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.63

แนะรัฐออกมาตราช่วยไรเดอร์ลดความเสี่ยงจากโควิด

จากทั้งหมดที่กล่าวมาแสดงให้เห็นว่า สถานะของไรเดอร์ตามกฎหมายแรงงานยังไม่ชัดเจน

“ในสายตาของรัฐและนายจ้างพยายามมองไรเดอร์เป็นแรงงานนอกระบบเพราะจะไม่มีความรับผิดชอบในฐานะนายจ้าง-ลูกจ้าง แต่เกณฑ์การพิจารณาความเป็นนายจ้าง-ลูกจ้างอาจจะดูได้หลายแบบ ดูจากอำนาจบังคับบัญชา อำนาจในการให้คุณให้โทษกับแรงงาน อำนาจในการจ่ายเงิน ซึ่งถ้าเราพิจารณารายบริษัท เราจะเห็นว่าหลายบริษัทอาจจะส่วนมากที่เข้าข่ายความเป็นนายจ้าง-ลูกจ้าง ซึ่งเราก็พยายามผลักดันกับภาครัฐ อาจเรียกว่าเป็นแรงงานกึ่งในระบบกึ่งนอกระบบเพราะมันก็ค่อนข้างก้ำกึ่ง คือไรเดอร์ยังไม่มีสถานะคนงานอย่างเป็นทางการ ทางภาครัฐก็ยังไม่มีการตีความความที่เป็นทางการ ความคลุมเครือตรงนี้ทำให้ไรเดอร์ขาดสวัสดิการเสมือนเป็นแรงงานนอกระบบ”

ชนฐิตาแสดงทัศนะว่าการแก้ไขปัญหากรณีไรเดอร์ต้องแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือการเยียวยาเฉพาะหน้าในช่วงโควิด เนื่องจากไรเดอร์ไม่สามารถ work from home ได้และไม่สามารถหยุดงานโดยมีรายได้เหมือนพนักงานบริษัท ภาครัฐจึงควรเตรียมมาตรการเพื่อให้พวกเขาทำงานได้อย่างปลอดภัย โดยให้สิทธิในการตรวจโควิดอย่างสม่ำเสมอและได้รับการฉีดวัคซีนที่มีคุณภาพเป็นลำดับต้นๆ

ทำสถานะไรเดอร์ให้ชัดเจน

ส่วนในระยะยาว ชนฐิตาเห็นว่าการตีความสถานะคนงานเป็นเรื่องสำคัญมาก

“ตอนแรกเราก็คิดว่าการบังคับใช้กฎหมายคุ้มครองแรงงานเท่าที่มีในการคุ้มครองไรเดอร์ก่อน อย่างน้อยก็ยังพอรักษาสิทธิของไรเดอร์ในฐานะคนงานบางอย่างไปได้ แต่เท่าที่เราคลุกคลีกับภาครัฐมาต้องยอมรับว่าภาครัฐปฏิเสธการตีความกฎหมายคุ้มครองแรงงาน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ร.บ.ประกันสังคม เพื่อให้ครอบคลุมไปถึงไรเดอร์ เขาจะอ้างว่าบริษัทให้ข้อมูลกับเขามาอีกแบบหนึ่ง คนงานมีสิทธิที่จะเปิดแอพฯ รับงานเมื่อไหร่ก็ได้และเขาไม่ค่อยฟังฝั่งคนงานมาก เพราะฉะนั้นการบังคับใช้กฎหมายเท่าที่มีอยู่ให้ครอบคลุมมันก็ค่อนข้างปิดตายสำหรับเรา ทางเลือกระยะยาวสุดท้ายคือการให้รัฐหรือศาลตีความสถานะคนทำงานและมีการร่างกฎหมายใหม่ซึ่งจะคุ้มครองเขาในฐานะคนงานคนหนึ่ง”

ชนฐิตา อธิบายต่อว่า “ถ้ารัฐเห็นว่าเป็นการทำงานที่มาพร้อมสภาพบังคับ ดังนั้น สภาพบังคับก็ต้องมาพร้อมความรับผิดชอบของบริษัท เวลาที่คนงานประสบอุบัติเหตุก็ควรตีความให้เข้ากับกองทุนเงินทดแทน ประกันสังคม หรือถ้าเขาเห็นว่าเป็นการทำงานแบบที่มีนายจ้างตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มันควรมีการพิจารณาคืนสิทธิบางอย่างให้กับคนงานเหมือนในต่างประเทศ เช่น เรทการได้รับค่าจ้างขั้นต่ำ สิทธิในการได้รับเวลาพัก วันหยุด วันลาที่ได้รับค่าจ้าง แต่ตอนนี้เมื่อเขาไม่อนุมานว่าเป็นคนงาน เราก็ต้องให้มีการตีความอย่างเป็นทางการเกิดขึ้น”

การเป็นแรงงานในเศรษฐกิจแพล็ตฟอร์มอาจไม่ได้งดงามอย่างคำโฆษณา หากภาครัฐเชื่องช้ากว่าโลกธุรกิจยุคดิจิตอล ซึ่งก็กำลังเป็นเช่นนั้น มันจะนำไปสู่การขูดรีดรูปแบบใหม่

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท