Skip to main content
sharethis

คนทำงานด้านแรงงานข้ามชาติเปิดคลับเฮาส์แชร์ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ในแรงงานข้ามชาติ ที่กลายเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมายจากนโยบายรัฐตั้งแต่ระลอกแรกที่ทำให้พวกเขาหลุดจากระบบเนื่องจากไม่มีนายจ้าง ไม่กล้าไปแสดงตัวเพื่อตรวจหาเชื้อ หรือแม้จะติดต่อให้หน่วยงานสาธารณสุขมารับตัวคนป่วยก็ไม่มี เสนอให้รัฐเปิดให้นายจ้างมาลงทะเบียนให้ลูกจ้างไปฉีดวัคซีนได้และให้สิทธิรักษาฟรีเหมือนประเทศอื่น

31 พ.ค.2564 ฝ่ายสื่อของเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (Migrant Working Group - MWG) รายงานเวทีสนทนาผ่านคลับเฮ้าส์ ในหัวข้อ "ทำไมแรงงานข้ามชาติติดโควิดเยอะ???" ที่จัดโดยเครือข่ายฯ เพื่อสะท้อนปัญหาและหาทางออกที่รัฐไทยควรเร่งดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย อดิศร เกิดมงคล ผู้จัดการ MWG, โรยทราย วงศ์สุบรรณ ที่ปรึกษา MWG และคอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association - HRLA)

อดิศร เกิดมงคล

อดิศร เกิดมงคล กล่าวถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในแรงงานข้ามชาติว่า เขากังวลการแพร่ระบาดในระลอกสามที่กระจายตัวมากขึ้น จากข้อมูลของกรมควบคุมโรคและศูนย์กลางข้อมูลเปิดภาครัฐพบว่ามีแรงงานข้ามชาติติดเชื้อกว่า 1.5 หมื่นราย โดยเฉพาะพื้นที่กทม. และปริมณฑลซึ่งในพื้นที่เหล่านี้มีจำนวนแรงงานข้ามชาติอยู่เกือบครึ่งของจำนวนแรงงานข้ามชาติทั้งหมดในประเทศ หรือประมาณ 1.1 ล้านคน

อดิศร กล่าวว่า ปัญหาการหลุดออกจากระบบของกลุ่มแรงงานข้ามชาติที่สะสมมาตั้งแต่การแพร่ระบาดในระลอกแรก ที่มีการปิดสถานประกอบการ และเกิดปัญหาของข้อกฎหมายเพราะเมื่อเปลี่ยนนายจ้าง ลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติจะต้องหานายจ้างใหม่ใน 30 วัน แต่ในความเป็นจริงแทบทำไม่ได้เลย เพราะสถานประกอบการปิดหมด ไม่ให้มีการเคลื่อนย้ายแรงงานทำให้มีแรงงานหลุดออกจากระบบ ดังนั้นอาจพูดได้ว่านโยบายของรัฐ ทำให้มีแรงงานผิดกฎหมายมากขึ้นไป แม้ว่าภายหลังจะมีความพยายามแก้ไข โดยการขยายระยะเวลาแต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่แท้จริง

อดิศร ระบุว่า หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกแรกเริ่มดีขึ้น จึงมีการเสนอให้ทยอยนำเข้าแรงงานเป็นระบบ มีการตรวจคัดกรอง มีเรื่องการกักตัว แต่จนถึงขณะนี้ผ่านไปปีกว่ายังไม่มีความคืบหน้าใดๆ เมื่อมาเจอกับระลอกสอง ก็ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนว่า การแพร่ระบาดในระลอกสองมาจากไหนกันแน่ แต่เป็นข้อสังเกตุของกระทรวงสาธารณสุขว่ามาจากแรงงานข้ามชาติ

อดิศรตั้งคำถามว่า แรงงานเหล่านี้ได้รับสิทธิในการเข้าถึงระบบสาธารณสุขหรือไม่ เพราะมีแรงงานข้ามชาติที่อาจจะไม่มีหลักประกันทางสุขภาพอะไรเลย ทั้งประกันสังคม และประกันสุขภาพ ประมาณ 34% ของแรงงานทั้งหมด ส่วนในระลอกสามนั้นปัจจุบัน คาดว่ามีแรงานข้ามชาติที่หลุดจากระบบเกือบ 1 ล้านคน จากทั้งหมด 2 ล้านคน ดังนั้นหากรัฐบาลยังไม่สามารถดึงเข้าสู่ระบบได้ แรงงานยังกลัวว่าจะถูกจับ หลบหนีไปเรื่อยๆ อาจทำให้ตัวเลขแรงงานติดเชื้อในระลอกนี้อาจจะมากกว่าระลอกสองที่จ.สมุทรสาครเป็นเท่าตัว

นอกจากนั้นแล้วยังพบว่าแรงงานข้ามชาติที่เป็นผู้ป่วยโควิด 19 ผู้สัมผัสเสี่ยงสูง รวมถึงแรงงานข้ามชาติที่อยู่ในพื้นที่ที่มีการระบาดสูงในระลอกที่ 3 ยังประสบปัญหาหลักพื้นฐานที่เรียกว่าปัญหา 4 อ. นั่นคือ อาหารที่มีไม่เพียงพอในช่วงกักตัว ไม่มีที่พักอาศัยเนื่องจากขาดรายได้ หรือบางแห่งให้แรงงานข้ามชาติออกจากหอพัก ไม่มีอาชีพหรืองานที่จะพอทำให้เกิดรายได้ช่วงกักตัวหรือรักษาตัวเนื่องจากแรงงานส่วนหนึ่งเป็นแรงงานรายได้ หรือไม่มีความมั่นคงในการจ้างงานระหว่างและหลังการรักษาตัวแล้ว และไม่ได้รับการรักษา เมื่อมีอาการป่วย

กลุ่มแรงงานข้ามชาติที่ได้รับผลกระทบขาดแคลนอาหารและสิ่งจำเป็นในการดำรงชีพทำให้ต้องรอรับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ

นอกจากนั้นแล้ว ยังมีปัญหาในเรื่องการเข้าถึงข้อมูลการสื่อสารซึ่งแรงงานข้ามชาติยังไม่ได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเข้าใจง่ายรวมถึงมีช่องทางในการสื่อสารปัญหาและความต้องการของตนเอง ปัญหาเรื่องการถูกตีตราว่าเป็นสาเหตุของการระบาดที่พบมากขึ้นในช่วงหลัง การเข้าไม่ถึงการตรวจคัดกรองโรค การส่งต่อดูแล รักษาเมื่อติดเชื้อโควิด 19

ประเด็นสุดท้ายคือความรู้สึกไม่ปลอดภัยเนื่องจากปัญหาในเรื่องเอกสารและมาตรการการจับกุมของเจ้าหน้าที่ ซึ่งทั้งหมดนี้อาจจะส่งผลให้แรงงานข้ามชาติไม่กล้าปรากฏตัว เคลื่อนย้ายไปหางานในพื้นที่อื่น ๆ ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงในการระบาดของโรคโควิด-19เพิ่มมากขึ้นด้วย

โรยทราย วงศ์สุบรรณ

ประเด็นที่อดิศรกล่าวยังสอดคล้องกับโรยทราย ที่ปรึกษา MWG ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม 63 หลังเกิดระลอกแรก มีแรงงานข้ามชาติตัดสินใจกลับประเทศ บางส่วนอยู่ในไทยแต่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุ ลูกจ้างถูกนายจ้างเอาชื่อออกจากระบบ เลยกลายเป็นคนที่ใบอนุญาตทำงานหมดอายุไม่รู้ตัว ซึ่งดูเหมือนว่ารัฐบาลจะหมกมุ่นกับคำว่าผิดกฎหมาย ทั้งที่คนที่เข้าเมืองผิดกฎหมายในเมืองไทย คือ คนที่อยู่ในเมืองไทยอยู่แล้ว เข้ามาอย่างถูกกฎหมาย แต่เอกสารหมดอายุ

โรยทราย เล่าด้วยว่า จากประสบการณ์ลงพื้นที่จ.สมุทรสาคร พบว่าแรงงานส่วนใหญ่ทำงานตลาดกุ้ง และโรงงานอาหารทะเลแปรรูปที่มีความเย็นชื้น ห้องพักหนึ่งห้องเช่าอยู่กัน 2 ครอบครัว ในลักษณะผลัดกันนอน ทำงานกะเช้า กะกลางคืน ทำให้ไม่สามารถเว้นระยะห่างได้ มีความแออัด รวมถึงเรื่องสุขอนามัยบางอย่าง นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานเวลาเจ็บป่วย มักจะไม่กล้าบอกหัวหน้างานทำให้คนเจ็บป่วยไม่ได้รักษาอย่างทันท่วงที

ที่ปรึกษา MWG กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่เห็นทิศทางหรือนโยบายที่แน่ชัดจากรัฐบาลว่าจะฉีดวัคซีนให้กับแรงงานข้ามชาติด้วยหรือไม่ นอกจากนี้ยังพบว่าแรงงานที่ติดเชื้อถูกทอดทิ้ง ทำให้แรงงานรู้สึกว่าถ้าตรวจแล้วติดเขาก็ไม่มีที่รักษา ซึ่งประเด็นนี้อยากให้เทียบกับคนต่างชาติในประเทศอื่น ที่รัฐรักษาให้ฟรี แต่ในขณะที่แรงงานข้ามชาติยังถูกรพ.มาเรียกเก็บเงินค่ารักษาอีกแม้รัฐบาลจะให้การรักษาฟรี แต่ยังมีความเข้าใจผิดของสถานพยาบาล เวลาป่วยจึงไม่กล้าบอกใคร อย่างไรก็ตามเห็นว่าการลุยตรวจเชื้อเชิงรุกเป็นสิ่งที่สมุทรสาครทำได้และประสบความสำเร็จในการควบคุมโรคซึ่งอยากให้มีต่อไป

“ทราบว่าในแรงงานข้ามชาติบางส่วนยังมีความคิดเห็นที่ต่างกันว่าจะรับวัคซีนหรือไม่ บางคนอยาก บางคนไม่อยากและวันนี้ยังไม่เห็นชุดข้อมูลประชาสัมพันธ์ถึงประโยชน์ในการฉีดวัคซีนในภาษาของแรงงานข้ามชาติแต่อย่างใด อีกทั้งยังมีแรงงานบางส่วนมีความเชื่อเกี่ยวกับโควิด ที่ผิดๆเช่น มีการแขวนหอม กระเทียม หรือทำพิธีทางไสยศาสตร์บางอย่างและเชื่อว่าจะทำให้ไม่ติดเชื้อ ดังนั้นต้องถามว่าอสม.ที่ดูแลแรงงานข้ามชาติมีเพียงพอหรือไม่ที่จะช่วยเผยแพร่ข้อมูลที่ถูกต้องให้กับแรงงาน” โรยทรายกล่าว

โรยทราย มีข้อเสนอว่า กลไกแรงงานสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญในการแก้ไขสถานการณ์การแพร่ระบาดในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ เพราะสามารถเปิดรับฟังปัญหาและความต้องการของแรงงานได้ ดีกว่ามอบหน้าที่ความรับผิดชอบไว้ที่ล่ามแต่เพียงอย่างเดียว ซึ่งอาจจะทำให้เกิดความไม่เข้าใจกันระหว่างแรงงานและนายจ้างได้ นอกจากนี้ที่ยังมีการดูแลเรื่องสาธารณสุขขั้นพื้นฐาน เช่น บ้านพักที่อยู่อาศัยที่ถูกสุขลักษณะก็เป็นสิ่งจำเป็น พร้อมกันนี้ยังเรียกร้องให้นายจ้างไปขึ้นทะเบียนขอรับวัคซีนให้กับลูกจ้างที่เป็นแรงงานข้ามชาติตามระบบประกันสังคมเพื่อให้เข้าถึงสิทธิในการรับวัคซีน นอกจากนี้นายจ้างควรสะท้อนปัญหาที่เผชิญอยู่กับกระทรวงแรงงานให้รับทราบและขอให้ทางรัฐบาลดูแล เพราะถ้าไม่ดูแลแรงงานข้ามชาติ ผู้ที่ได้รับผลกระทบก็คือนายจ้างเอง

“จนถึงขณะนี้ยังไม่เห็นมีท่าทีจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานต่อการให้ความสำคัญในการจัดการปัญหาแรงงานข้ามชาติสักเท่าไหร่ เพราะนโยบายยังอยู่แค่ว่าจับกุมคนเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย และรอฟังคำสั่งจากพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้ ซึ่งส่วนตัวกังวลเพราะครั้งนี้ มีหลายวิกฤตเข้ามา ทั้งการเมืองเมียนมา โควิด และเศรษฐกิจ ถ้าดำเนินการแบบนี้ต่อไปสุดท้ายผลร้ายก็จะอยู่ที่ตัวคนไทย และเศรษฐกิจไทยเองด้วย” โรยทรายระบุ

คอรีเยาะ มานุแช

ด้านคอรีเยาะ มานุแช นายกสมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนกล่าวถึงกรณีที่มีการระบุกันว่าการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายเป็นสาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดโควิด-19 ว่า เป็นการสื่อสารอย่างคลาดเคลื่อน ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสังคมในการมองแรงงานข้ามชาติว่าเป็นกลุ่มคนที่นำพาเชื้อโรคเข้ามา ซึ่งการเข้าเมืองผิด หรือ ถูกกฎหมาย ไม่ได้แปลว่านำพาโรคมา ดังนั้นอยากให้โฟกัสในเรื่องการควบคุมโรค หรือมาตรการให้คนเข้าถึงการตรวจเชื้อมากกว่า เพราะในปัจจุบันมีคำสั่งของกระทรวงแรงงานที่เข้มงวดจับกุมแรงงานข้ามชาติลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย ซึ่งเหตุนี้อาจกลายเป็นคลัสเตอร์ใหม่ไม่รู้ตัว เพราะเมื่อแรงงานรู้สึกหวาดกลัว ไม่กล้าแสดงตัวเพื่อเข้าตรวจหาเชื้อเพราะกลัวถูกจับ ก็อาจจะทำให้การควบคุมโรคไม่เป็นไปในทิศทางที่ควรจะเป็นได้

“การสื่อสารของรัฐที่ผ่านมา จะบอกตัวเลขสถิติ เช่น คนไทยเป็นศูนย์แล้ว แต่แรงงานข้ามชาติยังติดอยู่ เป็นการสื่อสารที่พุ่งไปที่แรงงานข้ามชาติติดเชื้อ จริงๆคนเหล่านี้อาจอยู่ในการควบคุมของตม. อยู่ในสถานที่กักตัว ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด ตอกย้ำว่าแรงานข้ามชาติ กลายเป็นคนแพร่เชื้อในประเทศไทย นอกจากนี้อยากให้เข้าถึงกลไกเยียวยาของแรงงานข้ามชาติเหล่านี้มีมากขึ้น และทางหน่วยงานต้องให้ความดูแล คุ้มครองโดยไม่คำนึงถึงสัญชาติ หรือ สถานะของบุคคล” นายกสมาคมนักกฎหมายฯ ระบุ

ในเวทีพูดคุยยังมีการเสนอความคิดเห็นจากผู้เข้าฟัง โดย “แจ็ค” ล่ามชาวพม่า ได้เล่าประสบการณ์จริงที่เคยพบมา ว่า เขาเคยโทรศัพท์ไปตามสายด่วนของหน่วยงานรัฐให้มารับแรงงานข้ามชาติที่ป่วยโควิด-19 แต่ทางหน่วยงานสาธารณสุขกลับปฏิเสธในการมารับตัวคนป่วย

แจ็คยังระบุถึงปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ เมียนมามี 135 ชาติพันธุ์ แต่รัฐบาลไม่เคยทำเอกสารในภาษาที่หลากหลายเพื่อให้แรงงานเข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้นทำให้การสื่อสารกับแรงงานโดยตรงเป็นไปด้วยความลำบาก จนขณะนี้มีการพูดกันปากต่อปากว่าที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยให้ความสนใจแรงงานข้ามชาติ แต่มาครั้งนี้จะเอาวัคซีนมาฉีดให้พวกเขา ทำให้พวกเขาคิดว่าจะถูกใช้เป็นหนูทดลองยาหรือไม่ นี่คือปัญหาการสื่อสารที่นำไปสู่ความเข้าใจผิด

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net