สมัชชาคนจนบึงกาฬค้านกระทรวงทรัพย์ฯ ใช้งบโควิด-19 สร้างอาคารในที่สาธารณประโยชน์กุดทิง

สมัชชาคนจนบึงกาฬร้องเรียนผ่านผู้ว่าราชการจังหวัดถึงกระทรวงทรัพยากรฯ เพื่อค้านการก่อสร้างอาคารรุกล้ำเข้าไปในพื้นที่สาธารณประโยชน์กุดทิงที่กระทรวงทรัพยากรฯ ประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ทับเมื่อปี 62 จนเป็นกรณีพิพาทกับชาวบ้านที่ชาวบ้านเคยใช้ทำกิน

1 มิ.ย.2564 ฝ่ายสื่อสารสมัชชาคนจนรายงานว่า เมื่อ 31 พ.ค.2564 เวลา 11.30 น. ตัวแทนสมัชชาคนจนจังหวัดบึงกาฬ จำนวน 10 คน เข้าพบผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬเพื่อขอให้กระทรวงทรัพทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ยุติการก่อสร้างและขอให้รื้อถอนอาคารของเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง จังหวัดบึงกาฬ ซึ่งก่อสร้างรุกล้ำเขตที่สาธารณประโยชน์กุดทิง

หลังจากยื่นหนังสือเสร็จ รัชนี สิทธิรัตน์ ตัวแทนสมัชชาคนจนจังหวัดบึงกาฬ อ่านแถลงการณ์สมัชชาคนจน ระบุว่า

“นับตั้งแต่พวกเราทราบข่าวว่า จะมีการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง จังหวัดบึงกาฬ ทับหนองกุดทิง ซึ่งเป็นแหล่งทำมาหากินที่สำคัญของพวกเรานั้น พวกเราก็ได้ทำการคัดค้านมาโดยตลอด โดยไปยื่นหนังสือคัดค้านต่อหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องหลายครั้งด้วยกัน และต่อมาพวกเราก็ได้เข้าร่วมชุมนุมกับสมัชชาคนจนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งในเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ลงมาเจรจาด้วยตนเองและรับปากว่าจะไปดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของพวกเรา”

รัชนีระบุว่า ทางสมัชชาคนจนยืนยันว่าที่สาธารณประโยชน์กุดทิง เป็นที่ดินที่ชาวบ้านในระแวกนั้นใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นการเก็บผัก หักฟืน หรือเป็นที่เลี้ยงสัตว์ หากมีการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง ก็จะทำให้ชาวบ้านเสียผลประโยชน์และต้องเดือดร้อนเป็นอันมาก

ตัวแทนสมัชชาคนจนกล่าวต่อว่า อีกทั้งในการก่อสร้างอาคารดังกล่าวนั้นยังเอางบประมาณโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้าน ทั้งที่ควรจะควรเอามาใช้ฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจและประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 โดยตรงจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าการนำมาใช้ก่อสร้างอาคารดังกล่าวที่ยังเป็นพื้นที่พิพาทซึ่งหาข้อยุติไม่ได้ว่าจะประกาศเป็นเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิงหรือไม่

รัชนีกล่าวทิ้งท้ายว่าหากไม่มีคำตอบจากรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรฯ สมัชชาคนจน จังหวัดบึงกาฬ จะมารวมตัวกันเพื่อทวงถามความคืบอีกครั้ง

กรณีนี้สืบเนื่องมาจาก เมื่อปี พ.ศ.2561 มีการคัดค้านการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง จังหวัดบึงกาฬ ทับหนองกุดทิง ซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ที่ประชาชนในหลายหมู่บ้านรอบพื้นที่ยังคงมีการใช้ประโยชน์ร่วมกันมาอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เช่น การเลี้ยงสัตว์ การเก็บผักเก็บเห็ด เป็นต้น

ต่อมาในเดือนตุลาคม 2562 สมัชชาคนจนจัดชุมชนเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าว อันส่งผลให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจน ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 334/2562 ลงวันที่ 15 พ.ย. 2562 มอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับข้อเรียกร้องไปพิจารณา ทั้งนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ลงมาเจรจาด้วยตนเองและรับปากว่าจะไปดำเนินการแก้ไขปัญหาตามข้อเสนอของชาวบ้าน แต่หลังจากการประชุมเจรจากับสมัชชาคนจนหลายครั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหากลับไม่มีความคืบหน้าแต่อย่างใด

เมื่อวันที่ 18 พ.ย.2562 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้ลงนามประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง ซึ่งก่อให้เกิดข้อพิพาทกับชาวบ้านขึ้นเป็นการสร้างปัญหามากกว่าการแก้ไขปัญหา อีกทั้งต่อมายังส่งคนเข้าไปบุกรุกเพื่อก่อสร้างอาคารของเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิงทับซ้อนที่สาธารณประโยชน์กุดทิง ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปใช้เก็บหาของป่าได้อีก

ต่อมาในวันที่ 7 เมษายน 2564 สมาชิกสมัชชาคนจนพบเห็นบุคคลจำนวนหนึ่งเข้าไปบุกรุกในพื้นที่พิพาทโดยไม่มีการประกาศให้ประชาชนทราบ ซึ่งเป็นการบุกรุกที่สาธารณะที่ชาวบ้านใช้เก็บเห็ดอยู่เป็นประจำ ชาวบ้านจึงได้ไปแจ้งความที่สถานีตำรวจภูธรเมืองบึงกาฬ และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจมาตรวจพบกลุ่มบุคคลดังกล่าวที่อ้างว่าเป็นผู้รับเหมาก่อสร้างและได้รับอนุญาตจากเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง ให้เข้ามาก่อสร้างแต่กลุ่มบุคคลเหล่านั้นกลับไม่ได้มีเอกสารแสดงต่อชาวบ้านและเจ้าหน้าที่ และเมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมกลุ่มบุคคลดังกล่าวก็ถอนตัวออกไป

นอกจากนี้สมัชชาคนจนได้แจ้งเรื่องดังกล่าวให้กับทางสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการแก้ไขปัญหาของสมัชชาคนจนทราบ ต่อมาในวันที่ 19 พฤษภาคม 2564 สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี โดย สุรศักดิ์ เรียงเครือ รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสมัชชาคนจน จึงประสานงานให้เกิดการหารือระหว่างกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช และสมัชชาคนจน แต่การหารือกลับปรากฏว่า ผู้อำนวยการกองนิติการ กรมอุทยานฯ ได้อ้างความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าทางกรมอุทยานฯ สามารถดำเนินการก่อสร้างได้ตามกฎหมาย โดยใช้งบประมาณภายใต้โครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มาใช้ก่อสร้างอาคารในเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง ทั้งๆ ที่ยังเป็นพื้นที่พิพาทและสร้างปัญหาซ้ำซ้อนให้เกิดความทุกข์ยากของชาวบ้านท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซ้ำซ้อนเข้าไปอีก

ตัวแทนสมัชชาคนจน ยืนยันว่าที่สาธารณประโยชน์กุดทิง เป็นที่ดินที่ชาวบ้านในระแวกนั้นใช้ประโยชน์ร่วมกันไม่ว่าจะเป็นการเก็บผัก หักฟืน หรือเป็นที่เลี้ยงสัตว์ เมื่อมีการประกาศเขตห้ามล่าสัตว์ป่ากุดทิง ก็จะทำให้ชาวบ้านเสียผลประโยชน์และต้องเดือดร้อนในการหาอยู่หากินเป็นอันมาก อีกทั้งการก่อสร้างอาคารยังได้ใช้งบประมาณโครงการเงินกู้เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ชาวบ้านเห็นว่า ควรจะเอางบประมาณดังกล่าวไปดำเนินการฟื้นฟูเยียวยาเศรษฐกิจและประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนโดยตรงจะเป็นประโยชน์ยิ่งกว่าการนำมาใช้ก่อสร้างอาคาร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท