Skip to main content
sharethis

30 เครือข่ายภาค ปชช. และนักวิชาการ ร่อนหนังสือถึงนายกฯ เสนอแนวทางรัฐไทยช่วยเหลือผู้ลี้ภัยจากพม่าตามหลักมนุษยธรรม ไม่ผลักดันผู้ลี้ภัยกลับไปเผชิญอันตรายที่ประเทศต้นทาง ตั้งคณะทำงานระดับเพื่อจัดการปัญหาผู้ลี้ภัย พร้อมให้ภาคประชาชน และนักวิชาการ เข้าไปมีส่วนร่วมในการทำงาน 

2 มิ.ย.64 ประชาไทได้รับแจ้ง 30 องค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ ร่อนหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธาน สมช. ย้ำปัญหามนุษยธรรมยิ่งใหญ่ที่ประเทศไทยเมืองพุทธต้องตระหนัก ส่งคนหนีภัยกลับไปตายในแดนเถื่อนบาปมหันต์ อาจถูกประณามทั่วโลก ชี้ความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ตามหลักมนุษยธรรมเป็นเรื่องไร้พรมแดน ตั้งกลไกระดับชาติระดมการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนช่วยบรรเทาทุกข์ได้

 

เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ ผู้ห่วงใยในปัญหามนุษยธรรม

2  มิถุนายน 2564

 

เรื่อง  การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ชาวเมียนมา

เรียน  พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และประธานสภาความมั่นคงแห่งชาติ

อ้างถึง  หนังสือถึงนายกรัฐมนตรี ฉบับลงวันที่ 10 เมษายน 2564

 ตามที่ได้มีเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหาร ยึดอำนาจโดยฝ่ายกองทัพที่ประเทศเมียนมาเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ศกนี้ และได้มีการใช้กำลังอาวุธปราบปราม ออกหมายจับ และไล่กวาดล้างชาวเมียนมาผู้เห็นต่างอย่างไม่ลดละ จนกระทั่งบัดนี้ทั้งที่ประชาคมโลก โดยองค์การสหประชาชาติ และประชาคมอาเซียนได้ออกมาเรียกร้องให้ฝ่ายกองทัพเมียนมายุติการใช้ความรุนแรง ปลดปล่อยผู้ถูกคุมขัง และยุติการคุกคามประชาชนพลเมืองชาวเมียนมาที่ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนออกจากถิ่นฐาน และการอพยพหนีภัยมาสู่ชายแดนไทย-เมียนมา และอินเดีย-เมียนมา ในจำนวนล้านกว่าคน และแสนกว่าคนตามลำดับ และเป็นที่คาดว่าจำนวนจะเพิ่มขึ้นอีกรวมเป็นถึง 3-4 ล้านคน และจะตกอยู่ในสภาพของการขาดรายได้ ขาดอาหาร ขาดน้ำ ขาดเวชภัณฑ์ และเครื่องใช้สอยประจำวัน ซึ่งการระดมการช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมทั้งภายในประเทศเมียนมา และตามบริเวณชายแดนดังกล่าว  ก็ประสบกับประเด็นปัญหาของการขาดความร่วมมือ หรือได้รับการขัดขวางจากฝ่ายกองทัพเมียนมา เป็นผลให้การลำเลียง และการกระจายความช่วยเหลือต่างๆ เป็นไปอย่างยากลำบาก  นอกจากนั้น การจัดส่งความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม และการดูแล เช่น การให้ที่พักพิงชั่วคราว และการดูแลทางด้านชีวิตประจำวันและการสาธารณสุข  ทางด้านฝ่ายไทยก็ยังประสบปัญหากับความไม่แน่ชัดของนโยบายและมาตรการ และกระบวนการสั่งการ การติดต่อและประสานงานระหว่างส่วนกลาง กับส่วนทางด้านชายแดน และระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของฝ่ายไทยด้วยกันเอง และกับองค์การสหประชาชาติและเครือข่าย รวมทั้งองค์กรที่มิใช่รัฐ หรือองค์กรที่ไม่แสวงหากำไร

ในการนี้พวกเราบรรดากลุ่มองค์กรที่มิใช่รัฐ หรือที่ไม่แสวงหากำไร รวมทั้งแวดวงวิชาการ และสื่อ รวมทั้งชาวบ้านผู้มีจิตศรัทธา ซึ่งได้ร่วมประชุมหารือและหาทางกระชับความร่วมมือกันเป็นระยะๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือต่อชาวเมียนมา ทั้งในเขตแดนไทย และในเขตแดนเมียนมา ขอเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้โปรดพิจารณากำหนดแนวทางนโยบายโดยคำนึงถึงมนุษยธรรมเป็นสำคัญ ด้วยเห็นได้ว่าชาวเมียนมาตกอยู่ในสภาวะลำบากยากเข็ญ และจะต้องหนีร้อนมาพึ่งเย็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก่อนหน้านี้ได้มีการจัดทำข้อเสนอถึงท่านตามหนังสือฉบับลงวันที่ 10 เมษายน ที่ผ่านมาแล้ว เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์และความจำเป็นอย่างยิ่งยวด จึงมีข้อเสนอแนะให้เป็นแนวทางการดำเนินการดังนี้

1.  ประกาศเขตห้ามการบิน (No fly zone)โดยฝ่ายยานบินเมียนมา ใกล้ประชิดเขตแดนไทย-เมียนมา ทั้งเพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงของอธิปไตยของไทย

2.  ขอให้นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในฐานะรัฐมนตรีรักษาการตามกฎหมายอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 ของพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 เสนอให้ ครม. มีมติเห็นชอบให้ผ่อนผันให้ผู้หลบหนีการสู้รบและความขัดแย้งทางการเมืองจากประเทศเมียนมา ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษภายใต้การดูแลของกระทรวงมหาดไทยในพื้นที่รองรับบริเวณชายแดนที่กระทรวงมหาดไทยดำเนินการจัดให้ และภายใต้มาตรการการควบคุมโรคติดต่อตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนด สำหรับผู้ที่ต้องการการคุ้มครองจากสถานการณ์ที่เป็นภัยต่อชีวิตจากความไม่ปลอดภัยทางการเมือง สามารถดำเนินการขอรับการคัดกรองให้เป็นผู้ได้รับการคัดกรองตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วย การคัดกรองคนต่างด้าวที่เข้ามาในราชอาณาจักร และไม่สามารถเดินทางกลับประเทศอันเป็นภูมิลำเนาได้ พ.ศ. 2562 ตามแนวทางที่กระทรวงมหาดไทยกำหนดเป็นกรณีพิเศษ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักมนุษยธรรมซึ่งมีความเป็นสากล เป็นที่ยอมรับของนานาชาติเป็นหลัก และมีคุณค่าและความจำเป็นเหนือกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง ซึ่งไม่สามารถตอบสนองและรองรับกับสถานการณ์พิเศษในประเทศเมียนมา และที่เขตแดนไทย-เมียนมาในช่วงเวลานี้ได้ การผลักดันกลับโดยทันที หรือดำเนินคดีด้วยการอ้างว่ามีการเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตรวจคนเข้าเมือง จึงเป็นเรื่องของการไม่ยอมรับรู้ซึ่งความเป็นไปในประเทศเมียนมา และไม่คำนึงถึงความเอื้ออาทรต่อเพื่อนมนุษย์ในแง่หลักมนุษยธรรม (และในแง่พุทธหรือศาสนาหนึ่งใด)

3. เพื่อให้เกิดการดูแลและคุ้มครองผู้หนีภัยความขัดแย้งจากประเทศเมียนมาอย่างเป็นระบบและเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลควรมีการจัดตั้งคณะทำงานประสานงานดูแล ให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยความขัดแย้งจากประเทศเมียนมาในระดับชาติ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมเป็นคณะทำงาน โดยมีหน้าที่พิจารณากำหนดแนวทางการดูแล จัดระบบและประสานงานการให้ความช่วยเหลือผู้หนีภัยจากความขัดแย้งในประเทศเมียนมาระหว่างส่วนกลางกับพื้นที่ และในระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจัดทำข้อเสนอในระดับนโยบายให้แก่รัฐบาลในการบริหารจัดการต่อไป

4. ประเทศไทยมีประสบการณ์อย่างมากมายเป็นที่จดจำและยกย่องจากประชาคมโลก อาทิ การให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมรับชาวเวียดนามสมัยสงครามอินโดจีน-ฝรั่งเศส  ชาวเวียดนามจากสงครามกลางเมือง ชาวเวียดนามที่หลั่งไหลเข้ามาทางทะเล ชาวกัมพูชาที่เข้ามาทั้งในช่วงการกดขี่ของฝ่ายเขมรแดง การยึดครองกัมพูชาของเวียดนาม และสงครามกลางเมือง  การให้ความช่วยเหลือชาวลาวโดยเฉพาะชาวลาวชาติพันธุ์ม้ง และชาวเมียนมาในช่วง 30 กว่าปีที่ผ่านมา และยังคั่งค้างอยู่ที่ค่ายอพยพอยู่อีกกว่าแสนคน และล่าสุด ชาวเมียนมาชาติพันธุ์โรฮิงญา และชาวเมียนมาจากเหตุการณ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ศกนี้ เป็นแนวทางการดำเนินการที่เปิดเขตแดนอ้าแขนต้อนรับด้วยหลักมนุษยธรรมเป็นสำคัญ ที่พึงได้รับการพัฒนาต่อยอดต่อไป

5. รัฐบาลไทยและอาเซียนควรให้การรับรองคณะรัฐบาลสหภาพแห่งชาติ (National Union Government of Myanmar : NUG) ในฐานะที่เป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยที่มีรัฐธรรมนูญของเมียนมาให้การรับรอง อีกทั้งยังเป็นระบอบที่รัฐบาลไทยและอาเซียนให้การยอมรับและใช้เป็นวิถีปฏิบัติในการธำรงไว้ซึ่งการบริหารจัดการประเทศที่ได้รับการยอมรับในสากลโลกอีกด้วย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net