Skip to main content
sharethis

จีนมีนโยบาย 'ลูกสามคน' หวั่นคนวัยทำงานลดในอนาคต หลังมีอัตราการเกิดลดลง นักกิจกรรมชี้หากรัฐมีสวัสดิการสุขภาพและการศึกษาให้ประชาชนดีจริง จำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นเองโดยไม่ต้องดำเนินนโยบายแทรกแซงชีวิตส่วนตัวใดๆ

ประเทศที่มีประชากรมากเป็นอันดับหนึ่งของโลกอย่างจีนก็กำลังประสบปัญหาการชะลอตัวของอัตราการเกิดใหม่ของประชากรเช่นเดียวกัน ทำให้จากเมื่อหลายสิบปีที่แล้วพวกเขามีการจำกัดประชากรด้วยนโยบายลูกคนเดียวและต่อมาก็เปลี่ยนเป็นสองคน ในวันที่ 31 พ.ค. ที่ผ่านมาจีนได้ประกาศนโยบายใหม่เพื่อส่งเสริมอัตราการเกิดและแก้ปัญหาสังคมสูงวัย ด้วยการปรับนโยบายลูกสองคนให้กลายเป็นนโยบายลูกสามคน

อย่างไรก็ตาม เรื่องการกดดันให้ประชาชนมีลูกตามจำนวนที่รัฐบาลต้องการนั้นกลายเป็นต้นตอของการละเมิดสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ยุคนโยบายลูกคนเดียวแล้ว เช่นการบีบบังคับให้คนที่ตั้งครรภ์ในระยะที่อายุครรภ์มากแล้ว การบังคับทำหมัน ไปจนถึงการคอยสอดส่องเรื่องการเจริญพันธุ์ของผู้หญิงโดยทางการ 

นโยบานใหม่ของจีนประกาศออกมาหลังจากที่ผู้นำสีจิ้นผิงประชุมร่วมกับเหล่าคณะกรรมการระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เรียกว่า 'โปลิตบูโร' ในเรื่องการพยายามแก้ปัญหาประชากรสูงวัยโดยที่สื่อจีนระบุว่าทางการจีนจะส่งเสริมคู่รักที่ต้องการจะมีลูกคนที่สาม

โปลิตบูโรระบุว่าพวกเขาจะจัดให้มี "การศึกษาและแนะแนวเพื่อส่งเสริมในเรื่องการแต่งงานและการมีครอบครัวในหมู่คนรุ่นที่อยู่ในวัยแต่งงาน" โดยเสนอเรื่องการลดภาษีกับแรงจูงใจเรื่องที่อยู่อาศัยให้กับคนที่อยากจะมีลูกเหล่านี้ โดยที่รัฐบาลจะสัญญาว่าจะให้สวัสดิการการเลี้ยงดูเด็กและลดภาระด้านการศึกษาให้ 

การเลี้ยงดูเด็กในจีนก็มีภาระค่าใช้จ่ายสูงมากพ่อแม่ผู้ปกครองต้องดิ้นรนเพื่อหาเงินมาส่งเสียด้านการศึกษาของพวกเขา หรือถึงแม้ว่าพวกเขาจะเข้าเรียนในโรงเรียนรัฐบาลที่ไม่มีค่าเล่าเรียนแต่ก็ยังมีภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ นอกจากนี้ยังมีข้อกังวลว่าผู้คนจะไม่พร้อมที่จะต้องใช้เรี่ยวแรงทั้งทางกาย ทางใจ ทางอารมณ์ ไปกับการเลี้ยงดูลูกหลานเพิ่มมากขึ้นเพื่อตอบสนองต่อการแก้ปัญหาให้รัฐบาล

นอกจากนี้ผลโพลที่สำนักข่าวซินหัวทำการสำรวจทางโซเชียลมีเดียจีนเว่ยปั๋วระบุว่า จากผู้ตอบแบบสอบถามประมาณ 31,000 ราย มีประมาณ 29,000 ราย ที่ระบุว่าพวกเขาจะไม่มีลูกเพิ่มขึ้นมากกว่านี้

จางเจี้ยนผิง นักกิจกรรมด้านสิทธิจากมณฑลเจียงซูกล่าวว่าการไปแทรกแซงชีวิตส่วนตัวของประชาชนไม่เคยเป็นเรื่องดี จางบอกว่ามันเป็นเรื่องผิดทั้งจากก่อนหน้านี้ที่พยายามจำกัดการกำเนิดและก็ผิดมากพอกันที่ในปัจจุบันจะส่งเสริมให้มีลูกมาดขึ้น

จางบอกว่าเมื่อเศรษฐกิจพัฒนาไปถึงระดับหนึ่งแล้วจำนวนประชากรจะหดตัวลงไปตามธรรมชาติ การลดลงของอัตราการเกิดเช่นนี้ยังเกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ หลายประเทศไม่ว่าจะเป็นไต้หวันหรือแคนาดา แต่ประเทศเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นต้องแทรกแซงสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์ของผู้คน เพราะเมื่อประเทศเหล่านี้ให้สวัสดิการที่ดีกับผู้คนอย่างเรื่องหลักประกันสุขภาพและการศึกษาอัตราการเกิดก็จะเพิ่มขึ้นเอง

ศาสตราจารย์เกษียณอายุจากเซียงไฮ้ กู่กัวผิง กล่าวว่าคนโสดในจีนจะไม่ได้รับอนุญาตให้มีลูก ในขณะที่คู่แต่งงานมีลูกได้แต่พวกเขาก็อาจจะไม่มีฐานทางเศรษฐกิจมากพอในการเลี้ยงดูลูก "การเลี้ยงดูลูกคนหนึ่งในตอนนี้แพงขึ้นมากเกินไปแล้ว นี้ยังไม่ต้องพูดถึง 2 หรือกระทั่ง 3 คน ... คนธรรมดาทั่วไปไม่มีเงินมากพอหรอก" กู่กล่าว

กู่อีกกล่าวว่าในยุคสมัยประมาณ 60-70 ปีก่อนหน้านี้คนอยากจะมีลูกมากกว่าเพราะความเหลื่อมล้ำระหว่างครัวเรือนต่างๆ ยังไม่มากมายเท่าตอนนี้

นอกจากเรื่องนโยบายลูก 3 คนแล้วซินหัวยังรายงานอีกว่าจีนมีแผนการจะปรับขยายเวลาอนุญาตเกษียณอายุจาก 60 ปี เป็น 65 ปี จากการที่ทางการจีนกังวลว่าจำนวนประชากรวัยทำงานที่น้อยลงจะทำให้เงินทุนที่ใช้ในการเตรียมให้กับวัยเกษียณที่มีจำนวนประชากรมากขึ้นไม่เพียงพอ

นอกจากนี้ประชาชนในเว่ยปั๋วยังพากันวิจารณ์เรื่องนี้กันไปในหลายแนวทาง เช่น บ้างก็ระบุว่า "แล้วไม่คิดจะขึ้นเงินเดือนให้เราบ้างเลยหรือ" บางก็ถามว่า "แล้วจะมีเงินอุดหนุนให้หรือไม่" บางคนก็ระบุไปในทำนองเห็นด้วยกับนโยบายว่า "มาในเวลาที่สมควร" แต่ก็มีผู้ใช้งานรายหนึ่งที่ระบุว่า "ราคาที่พักอาศัยและนโยบายการศึกษาควรจะปรับให้ทันกับนโยบายแบบนี้ด้วย"


เรียบเรียงจาก

China's New 'Three-Child Policy' Sparks Skepticism Over Costs to Parents, Radio Free Asia, 31-05-2021

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก

https://www.worldometers.info/world-population/population-by-country/

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net