สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 28 พ.ค.-3 มิ.ย. 2564

สมาคมภัตตาคารไทยหวั่นร้านอาหารเจ๊ง 5 หมื่นราย ทำตกงาน 5 แสนคน หลังมาตรการรัฐอุ้มได้ไม่ทั่วถึง

นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจร้านอาหารขณะนี้ ได้รับผลกระทบจากการระบาดโควิด-19 ระลอก 3 ทำให้รายได้ลดลงตามยอดขายที่น้อยลง แม้รัฐบาลมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายออกมา เพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับประชาชน ได้แก่ การเพิ่มวงเงินคนละครึ่ง เฟส 3 จำนวน 2 พันบาท เราชนะ 2 พันบาท ม.33 เรารักกัน 2 พันบาท และการเติมเงินเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) 200 บาท ซึ่งส่วนนี้เป็นมาตรการที่ออกมาเพื่อช่วยเหลือเยียวยากลุ่มคนฐานราก รวมถึงโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ที่ออกมาเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายในกลุ่มผู้มีศักยภาพในการใช้จ่ายมากขึ้น หรือกลุ่มระดับกลางขึ้นไป โดยมองว่าโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ ตอบโจทย์การใช้บริการร้านอาหารขนาดกลางขึ้นไปสูงมาก แต่ถามกลับว่า ในภาวะวิกฤตแบบนี้ จะมีคนต้องการใช้บริการทานอาหารราคาต่อมื้อหลักหมื่น เพื่อรับส่วนลดหลักพันจริงๆ หรือ แม้ช่วงปกติจะมีกลุ่มคนที่มีฐานะ สามารถใช้จ่ายได้ แต่ก็เพราะต้องการรับบริการที่ดี อาทิ ทานอาหารไป ฟังดนตรีสด ดื่มแอลกอฮอล์สังสรรค์กับกลุ่มเพื่อน หากเป็นแบบนี้อาจมีคนสนใจโครงการที่ออกมา แต่สถานการณ์ในตอนนี้ไม่น่าจะเอื้อประโยชน์ได้มากนัก ส่วนโครงการคนละครึ่ง เราชนะ และม.33 เรารักกัน มาตรการกระตุ้นใช้จ่ายเหล่านี้สามารถช่วยเหลือคนตัวเล็กๆ ให้มีความสามารถใช้การใช้จ่ายได้ และผู้ที่ได้อานิสงส์เชิงบวกเป็นร้านอาหารริมถนน ที่ช่วยให้รอดชีวิต สามารถทำมาหากินได้ แต่ผู้ประกอบการรายกลางขึ้นไป ไม่ได้อานิสงส์เชิงบวกเลย จึงมองว่ารัฐบาลต้องหันมาดูร้านอาหารขนาดกลางขึ้นไปมากขึ้น

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า รายได้ของร้านอาหารในภาพรวมตอนนี้ เฉลี่ยเหลืออยู่ที่ 30% ซึ่งเป็น 30% ที่นับจากยอดขาย 70% เท่านั้น เพราะภาวะในขณะนี้รายได้ยังไม่กลับมาเต็ม 100% เหมือนปกติ โดยตั้งแต่ปลายปี 2563 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการต้องควักต้นทุนออกมาใช้จ่ายในธุรกิจตลอด ทำให้ความเสียหายลุกลามมากขึ้น การขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลเพิ่มเติม จึงเป็นทางออกสุดท้ายที่เห็นแล้ว เนื่องจากยอดขายที่ลดลงต่อเนื่องเหลือ 30% ทำให้อีก 40% ที่หายไปกลายเป็นต้นทุน เมื่อหักรายได้ก็เท่ากับขาดทุน ซึ่งผู้ประกอบการไม่สามารถรองรับการขาดทุนในทุกเดือนได้จริงๆ โดยในปี 2563 โควิดกระทบทำให้ร้านอาหารต้องปิดธุรกิจไปกว่า 50,000 ราย แม้ผลกระทบในรอบนี้แรงกว่า 2 รอบที่ผ่านมา แต่หากประเมินว่า การระบาดโควิดรอบ 3 ทำให้มีผู้ประกอบการต้องปิดตัวลงอีก 50,000 ราย แต่ละรายมีลูกน้อง 10 คน เท่ากับว่าจะต้องมีแรงงานถูกการเลิกจ้าง 5 แสนคน ซึ่งเชื่อว่าหากรัฐบาลไม่เติมความช่วยเหลือเข้ามาเพิ่ม จะเห็นผู้ประกอบการล้มและคนไร้งานทำอีกไม่น้อยกว่าจำนวนที่คาดไว้แน่นอน

“การที่ร้านอาหารต้องปิดตัวลง ส่งผลกระทบกับธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง อาทิ พ่อค้าแม่ค้าตลาดสดที่ขายวัคถุดิบให้กับร้านอาหารเหล่านี้ เกษตรกรที่ส่งสินค้าให้พ่อค้าแม่ค้าตลาดสดขายต่อ จนถึงคนส่งน้ำแข็ง คนจำหน่ายแก๊ส และถ่านหุงต้มด้วย เพราะตอนที่รัฐประกาศห้ามนั่งทานอาหารที่ร้าน เห็นภาพตลาดสดไม่มีลูกค้า ผักสดและเนื้อสัตว์เหลือจำนวนมาก ทั้งที่ปกติจะขายออกเกือบหมดแล้ว จึงมองว่าหากรัฐบาลยังไม่ช่วยเหลือธุรกิจร้านอาหารอีก ผลกระทบจะถูกส่งต่อไปในหลายภาคส่วนมากขึ้น” นางฐนิวรรณ กล่าว

นางฐนิวรรณ กล่าวว่า หลังจากรัฐบาลได้มีคำสั่งห้ามไม่ให้นั่งรับประทานอาหารภายในร้าน ซื้อกลับบ้านได้เท่านั้น ต่อมาแม้รัฐบาลจะผ่อนคลายให้นั่งทานที่ร้านได้ถึง 21.00 น. ในสัดส่วน 25% ของจำนวนที่รองรับลูกค้าได้ แต่การผ่อนคลายดังกล่าว มีส่วนช่วยได้เพียงร้านอาหารริมทาง หรือร้านอาหารรายย่อยเท่านั้น เพราะมีจำนวนโต๊ะให้บริการลูกค้าไม่มาก ประกอบกับลูกค้าที่เข้าไปใช้บริการร้านอาหารในตอนนี้ ก็เป็นการทานอาหารจริงๆ ไม่ได้เป็นการทานอาหารเพื่อใช้เวลาพบปะสังสรรค์กับครอบครัวหรือเพื่อนฝูงเหมือนปกติ ทาหารรายย่อยเท่านั้นที่ได้อานิสงส์เชิงบวก แต่ร้านอาหารขนาดกลางขึ้นไป ไม่ได้รับประโยชน์จากการผ่อนคลายดังกล่าวด้วย เพราะร้านอาหารขนาดกลางขึ้นไป จุดขายจะอยู่ที่บรรยากาศ การนั่งทานอาหารร่วมกับครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนจำนวนหลัก 10 คนต่อโต๊ะ และกิจกรรมพิเศษ อาทิ ดนตรีสด ซึ่งภาวะในตอนนี้ไม่สามารถให้บริการลูกค้าในรูปแบบเดิมได้ เพราะมีการจำกัดจำนวนนั่งต่อโต๊ะ ไม่อนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกิจกรรมสันทนาการต่างๆ ที่ทำให้เกิดการรวมตัวคนจำนวนมากได้

ที่มา: มติชนออนไลน์, 3/6/2564

แนะเปลี่ยน "พนักงาน" เป็น "ผู้ถือหุ้น" เพิ่มแรงจูงใจให้เติบโตไปด้วยกัน

3 มิ.ย. 2564 ไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงแนวทางในการพัฒนาความยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียนในตลาดทุนว่า สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีศักยภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง การเพิ่มสิ่งตอบแทนหรือสวัสดิการเพื่อรักษาพนักงานคุณภาพเอาไว้อาจทำได้ไม่ยาก โดยหนึ่งในสวัสดิการที่ “บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์” นิยมนำมาใช้เพื่อช่วยสร้างแรงจูงใจให้พนักงานมุ่งมั่นทุ่มเททำงาน คือ ESOP

ESOP หรือ Employee Stock Option Program คือ สวัสดิการในรูปแบบหนึ่งที่กิจการออกและเสนอขายหุ้นของกิจการให้แก่พนักงาน เพื่อให้มีส่วนร่วมและมีสิทธิในฐานะเจ้าของกิจการคนหนึ่งด้วย และเมื่อกิจการมีผลกำไรที่ดี มีการเติบโตมากขึ้น และจ่ายเงินปันผลได้ นอกจากนี้ หุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อาจมีราคาปรับสูงขึ้น พนักงานในฐานะผู้ถือหุ้นของกิจการก็จะได้รับผลตอบแทนเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ปัจจัยเหล่านี้จะเป็นแรงกระตุ้นให้พนักงานทำงานด้วยความมุ่งมั่นทุ่มเท และมีความผูกพันกับกิจการ

แต่เดิมธุรกิจ SME หรือ Startup ยังไม่สามารถเลือกใช้ ESOP ได้ จนเมื่อต้นปี 2563 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกหลักเกณฑ์ PP-SME ซึ่งเปิดโอกาสให้บริษัทจำกัดสามารถขาย ESOP ให้กรรมการและพนักงาน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจูงใจบุคลากรที่มีศักยภาพให้อยู่ร่วมงานกับกิจการได้

SME ที่เป็นบริษัทจำกัดซึ่งเข้าร่วมโครงการส่งเสริมการระดมทุนผ่านตลาดทุน ระหว่าง ก.ล.ต. และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)* สามารถเสนอขาย ESOP ให้กรรมการและพนักงานของกิจการและบริษัทย่อย รวมถึงนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นเพื่อถือหุ้นแทนกิจการสำหรับการจัดสรรหุ้นให้แก่กรรมการและพนักงาน (SPV) โดยไม่จำกัดวงเงิน ไม่จำกัดจำนวนผู้ลงทุน และไม่ต้องยื่นเอกสารคำขออนุญาตต่อ ก.ล.ต. เพียงแต่ต้องแจ้งข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับกิจการให้พนักงาน และรายงานผลการขายให้ ก.ล.ต. ทราบเท่านั้น

ESOP จึงเป็นเครื่องมือที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับ SME ที่ต้องการ Option ช่วยเพิ่มความน่าสนใจและจูงใจคนที่มีศักยภาพในการเข้ามาร่วมงาน นอกจากนี้ ในบางครั้งการได้รับเงินเดือนสูงๆ อาจจะไม่สามารถจูงใจพนักงานที่มีศักยภาพได้มากเท่ากับการทำให้เห็นโอกาสประสบความสำเร็จ มีเป้าหมายร่วมกันที่จะเรียนรู้ พัฒนา และเติบโตไปพร้อมกันในฐานะ “ผู้ถือหุ้น”

เพราะ SME เป็นหนี่งในกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่เป็น SME อยู่กว่า 3.1 ล้านราย มีการจ้างงานทั่วประเทศมากกว่า 12 ล้านคน และยังเป็นแหล่งพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งนี้ มูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (GDP SME) ในไตรมาส 4 ของปี 2563 สูงถึง 1.42 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 34.3% ของ GDP ประเทศไทย**

ก.ล.ต. จึงมุ่งหวังให้ตลาดทุนเป็นแหล่งเงินระดมทุนสำหรับกิจการทุกประเภท โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SME ซึ่งเป็นรากฐานเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศให้สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยต้นทุนที่ไม่สูงจนเกินไป ควบคู่ไปกับการคุ้มครองผู้ลงทุนอย่างเหมาะสม

ที่มา: ผู้จัดการออนไลน์, 3/6/2564

ยืดเวลาแรงงานเพื่อนบ้านทำงานในไทย

3 มิ.ย. 2564 มติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว 3 ประเด็น เสนอให้การขยายระยะเวลาการผ่อนผันให้แรงงานประเทศเพื่อนบ้าน ที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงาน ที่การผ่อนผันให้อยู่และทำงานในประเทศใกล้จะสิ้นสุด ให้อยู่ในราชอาณาจักรและทำงานได้เป็นการชั่วคราวต่อไป

โดยต้องยื่นขอก่อนการอนุญาตทำงานตามสิทธิปัจจุบันของแต่ละกลุ่มจะสิ้นสุดลง ซึ่งกรณีที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสิ้นอายุต้องออกเอกสารฉบับใหม่ภายใน 1 ปี เพื่อให้สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ย้ายตราประทับการอนุญาตให้อยู่ในประเทศได้ต่อไป

ส่วนกลุ่มที่หนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทางสิ้นอายุแล้วให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษต่อไปอีก 1 ปี เพื่อทำเอกสารประจำตัวฉบับใหม่ และตรวจลงตราวีซ่ากับสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ประเด็นที่ 2 การแก้ไขข้อขัดข้องกรณีแรงงานต่างด้าวตาม MOU ในกลุ่มที่ลาออกจากนายจ้างเดิมแล้วยังหานายจ้างใหม่ไม่ได้จะผ่อนผันให้อยู่ทำงานต่อไปได้ถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 โดยจะขยายเวลาให้หานายจ้างใหม่ได้ จาก 30 วัน ไปเป็น 60 วัน

และประเด็นสุดท้ายขยายการดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล ถึงวันที่ 16 มิถุนายนนี้ และขยายระยะเวลาตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 พร้อมทำประกันสุขภาพและยื่นขออนุญาตทำงานได้ถึงวันที่ 18 ตุลาคมปีนี้ 3 ข้อเสนอนี้ กระทรวงแรงงาน จะนำเข้า ครม. พิจารณาอนุมัติต่อไป เพื่อให้แรงงานจากเพื่อนบ้านกว่า 2,100,000 คน ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ต่อไป

ที่มา: ch7.com, 3/6/2564

มัคคุเทศก์ ร้อง สธ.จัดฉีดวัคซีน

นายวิโรจน์ สิตประเสริฐนนท์ นายกสมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย เข้ายื่นหนังสือต่อเลขานุการรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เรียกร้องให้มีการฉีดวัคซีนให้กับมัคคุเทศก์ในพื้นที่ กทม.จำนวน 1,000 โดส เพื่อเป็นการจุดประกายให้ภาครัฐได้คิดถึงคนทำงานด้านการท่องเที่ยว เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออาชีพและรายได้ และเมื่อรัฐบาลมีแนวคิดเปิดประเทศ อีกทั้งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการเปิดภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

พร้อมเผยว่าที่ผ่านมาในกลุ่มมัคคุเทศก์ ได้มีการรวมตัวกันและส่งรายชื่อเพื่อต้องการฉีดวัคซีนรวม 35,000 โดส แล บางส่วนสมัครลงทะเบียนในพื้นที่ของตนเองแล้ว

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 2/6/2564

ประกันสังคม สรุปผลดูแลผู้ประกันตนตรวจโควิด-19 ณ 31 พ.ค. 2564 ช่วยคัดกรองไปแล้วกว่า 2.35 แสนคน

นายทศพล กฤตวงศ์วิมาน เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งกระทรวงแรงงานภายใต้การกำกับดูแลของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน มีนโยบายให้ความสำคัญกับการควบคุมป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด -19 ให้กับผู้ประกันตน

จึงสั่งการให้สำนักงานประกันสังคมบูรณาการร่วมกับกระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร และกระทรวงสาธารณสุข โดย สปสช. ดำเนินการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุก ให้กับผู้ประกันตนโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ภายใต้โครงการ “แรงงาน…เราสู้ด้วยกัน” เป้าหมายเพื่อดูแลผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมตามมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 โดยเพิ่มช่องทางบริการตรวจเชื้อให้กับผู้ประกันตนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง 10 จุดที่อยู่ในพื้นที่ในกรุงเทพฯ ปทุมธานี สมุทรปราการ นนทบุรี ชลบุรี เชียงใหม่ สมุทรสาคร ภูเก็ต ระยอง และพระนครศรีอยุธยา เพื่อลดปัญหาความแออัดการตรวจคัดกรองในโรงพยาบาล และให้ผู้ประกันตนสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น

อย่างไรก็ดีโครงการดังกล่าว ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานภาคเอกชน และโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคมดำเนินการตรวจโควิดเชิงรุกเป็นไปอย่างเรียบร้อย สามารถช่วยเหลือและบรรเทาสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายความแออัดจากการเข้ารับบริการตรวจคัดกรอง ลดการกระจายของโรคป้องกันการเกิดคลัสเตอร์ใหม่ ในสถานประกอบ ได้เป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก

นายทศพล กล่าวว่า สำหรับภาพรวมในการดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุกให้กับผู้ประกันตน ณ 31 พ.ค. 2564 ยอดรวมสะสมทั้งสิ้น ของการเปิดให้บริการ ตั้งแต่วันที่ 16 เม.ย. – 31 พ.ค. 2564

จุดตรวจอาคารกีฬาเวสน์ 1 ศูนย์เยาวชน กรุงเทพมหานคร(ไทย-ญี่ปุ่น) เขตดินแดง มีผู้มาตรวจจำนวน 89,921 คน ที่จังหวัดปทุมธานี

จุดตรวจวิทยาลัยการอาชีวศึกษาปทุมธานี มีผู้มาตรวจจำนวน 15,862 คน ตรวจเชิงรุก ในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจ จำนวน 25,416 คน รวมทั้งสิ้น 41,278 คน

ที่จังหวัดสมุทรปราการ จุดตรวจสถาบันฝีมือแรงงาน ภาค 1 มีผู้มาตรวจจำนวน 9,453 คน ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการมีผู้มาตรวจจำนวน 23,727 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 32,680 คน

ที่จังหวัดนนทบุรี จุดตรวจเทศบาลเมืองพิมลราช มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 3,369 คน ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจจำนวน 12,494 คน รวมทั้งสิ้นจำนวน 15,863 คน

ที่จังหวัดชลบุรี ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 23,000 คน ที่จังหวัดเชียงใหม่ ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้น จำนวน 10,777 คน

ที่จังหวัดสมุทรสาคร ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 11,413 คน

ที่จังหวัดภูเก็ตมีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 690 คน

ที่จังหวัดระยอง ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 6,675 คน

และที่จังหวัดอยุธยา ตรวจเชิงรุกในสถานประกอบการ มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 3,211 คน

โดยภาพรวมทั้ง 10 จุด ในการตรวจโควิด-19 เชิงรุกให้กับผู้ประกันตน มีผู้มาตรวจทั้งสิ้นจำนวน 235,508 คน

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 2/6/2564

ตรวจ พนง. CPF สระบุรี 5,695 คน ติดเชื้อโควิด 462 รอผลตรวจ 1,894 ราย

สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรี ดําเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกพนักงานโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ CPF อ.แก่งคอยแล้ว จํานวน 5,695 คน ทราบผลการตรวจแล้ว จํานวน 3,799 คน พบผู้ติดเชื้อจํานวน 462 ราย เป็นชาวกัมพูขา จํานวน 293 คน ชาวไทย จํานวน 169 คน รอผลการ ตรวจ 1,894 คน

ผู้ที่ตรวจพบเชื้อฯ ดังกล่าว ได้นําตัวเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลในพื้นที่จังหวัดสระบุรี ได้แก่ 1. โรงพยาบาลสนามเจ็ดคต 2.โรงพยาบาลของรัฐและเอกชนในจังหวัดสระบุรี 3.โรงพยาบาลสนามตะกุด

มาตรการที่ดําเนินการแล้ว ได้ตรวจหาเชื้อในพนักงานทั้งหมดทั้งในโรงงาน และโรงพยาบาลต่างจังหวัดที่ผู้ป่วยพํานักอยู่และบริเวณโดยรอบ แจ้งข้อมูลกลุ่มเสี่ยงระหว่างจังหวัด เพื่อติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงใกล้ชิดในการเฝ้าระวังอาการ ตรวจหาเชื้อ และกักกันตัวที่บ้าน รวมทั้งให้ สาธารณสุขอําเภอ ติตตาม ดูแล พนักงานอาศัยอยู่ในพื้นที่ อย่างใกล้ชิด

การดําเนินการของโรงงานฯ ได้จัดตั้งโรงพยาบาลสนามตะกุด ในพื้นที่ของบริษัทฯ โดยคาดว่าจะสามารถรองรับผู้ติดเชื้อได้ 500 เตียง

และขณะนี้ได้หยุดการผลิตเพื่อทําความสะอาด และปิดสถานที่ค้าขายโดยรอบ มาตรการที่ต้องด้าเนินการต่อ ได้ขอให้พนักงานที่มีความเสี่ยงที่ยังไม่ได้ตรวจหาเชื่อ ให้ไปรับการตรวจที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน

รวมถึงครอบครัวหรือผู้ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ ให้แยกกักตัวเอง สังเกตอาการ หากมีอาการไข้ ไอ มีน้ํามูก เจ็บคอ คอแห้ง จมูกไม่ได้กลิ่น สิ้นไม่รับรส ตาแดง ตื่นขึ้น ถ่ายเหลว ขอให้ไปตรวจหาเชื้อโดยด่วนที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน ให้รักษา มาตรการการป้องกันโรค สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่าง งดเดินทางไปในสถานที่แออัดและการรวมกลุ่มหนาแน่น ทั้งนี้คณะกรรมการควบคุม โรคจังหวัดสระบุรี ได้พิจารณาและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ, 2/6/2564

‘กลุ่มแท็กซี่’ ร้องผ่าน ‘สภา-กมธ.แรงงาน’ ค้านร่างกฎกระทรวงฯ ให้รถยนต์ป้ายดำส่งผู้โดยสารได้อย่างป้ายเหลือง

2 มิ.ย. 2564 ที่รัฐสภา นายวรพล แกมขุนทด นายกสมาคมวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ พร้อมด้วยผู้ขับขี่แท็กซี่กว่า 30 คน เดินทางมายังหน้าอาคารรัฐสภา เพื่อยื่นหนังสือร้องเรียนต่อนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผ่านนายแทนคุน จิตต์อิสระ คณะทำงานทางการเมืองของประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อคัดค้านการยกร่างกฎกระทรวงฯ กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการนำรถยนต์ส่วนบุคคล (ป้ายดำ) มาใช้ในการรับจ้างขนส่งผู้โดยสารผ่านแอพพลิเคชั่น ซึ่งกระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างเสนอกฎหมายเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี

ทั้งนี้ เวลา 11.30 น. ตัวแทนกลุ่มวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์สาธารณะแท็กซี่ พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย ยังได้ยื่นร้องเรียนต่อนายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร

นายวรพลกล่าวว่า การอนุญาตให้รถยนต์ส่วนบุคคลป้ายทะเบียนดำมาจดทะเบียนเป็นรถยนต์รับจ้างขนส่งผู้โดยสารแบบทางเลือก โดยไม่ต้องเปลี่ยนเป็นป้ายเหลืองได้นั้น ขัดแย้งต่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) รถยนต์ พ.ศ.2522 และยังเป็นการใช้อำนาจโดยมิชอบของนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เนื่องจากความหมายของรถยนต์รับจ้างต้องเป็นรถยนต์บริการธุรกิจ รถยนต์บริการทัศนาจร และรถยนต์บริการให้เช่า ที่จัดไว้ให้เช่าเพื่อนำไปรับจ้างบรรทุกคนหรือสิ่งของเท่านั้น

นายวรพลกล่าวว่า นอกจากนี้ รถแท็กซี่ป้ายเหลืองยังต้องแบกรับภาระเสียภาษีร้อยละ 6.5 ต่อปี ทำให้รถรับจ้างมีราคาแพงกว่ารถยนต์ส่วนบุคคล ดังนั้น หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีจะกระทบความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่อย่างมาก จึงเห็นว่าทางกรมการขนส่งทางบกภายใต้กำกับกระทรวงคมนาคม ควรต้องสร้างความเป็นธรรม และหาวิธีจัดการแก้ปัญหาให้สอดคล้องกับวิชาชีพผู้ขับขี่รถยนต์จ้างสาธารณะอย่างยั่งยืน

ด้านนายเฉลิม ชั่งทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขอเรียกร้องไปยังรัฐบาลให้เร่งการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ก่อนเปิดภาคเรียนการศึกษา ให้แก่ผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างที่มีอยู่ในระบบถึง 90% ที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน เนื่องจากขณะนี้สถานการณ์โควิดในพื้นที่กรุงเทพมหานครยังแพร่ระบาดหนัก และใกล้กับช่วงเปิดภาคเรียนแล้ว ซึ่งกังวลว่าจะกลายเป็นการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส รวมถึงความไม่มั่นใจของผู้มาใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้าง

ขณะที่นายสุเทพกล่าวว่า ตนในฐานะประธาน กมธ.แรงงาน จะบรรจุเรื่องนี้เข้าสู่ กมธ.อย่างเร่งด่วน และจะทำทุกช่องทางเพื่อช่วยเหลือพี่น้องแรงงาน ให้ประชาชนทุกคนได้รับการช่วยเหลืออย่างเป็นธรรม

ที่มา: มติชนออนไลน์, 2/6/2564

‘Sodexo’ สถานที่ทำงานที่ดีที่สุดของกลุ่ม LGBTQ+ เดินหน้าสนับสนุนความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม

โซเด็กซ์โซ่ (Sodexo) บริษัทผู้นำระดับโลกด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการบริหารจัดการแบบครบวงจรจากประเทศฝรั่งเศส ได้รับเลือกให้เป็นหนึ่งในสถานที่ทำงานที่ดีที่สุดของกลุ่ม LGBTQ+ ติดต่อกัน 14 ปีซ้อน พร้อมเดินหน้าสนับสนุนความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการมีส่วนร่วม เพื่อตอกย้ำการเคารพสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพในความหลากหลายทางเพศ รวมทั้งสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับพนักงานทุกคนในสถานที่ทำงาน

มร.อาร์โนด์ เบียเลคกิ ประธานบริหาร โซเด็กซ์โซ่ ประเทศไทย กล่าวว่าโซเด็กซ์โซ่ เริ่มมีนโยบายการปฏิบัติต่อกลุ่มความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ+) มาเป็นเวลานาน เพื่อตอกย้ำการสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและปลอดภัยในสถานที่ทำงานและมุ่งมั่นที่จะขจัดการเลือกปฏิบัติในทุกรูปแบบ พร้อมทั้งสนับสนุนกลุ่ม LGBTQ+เพื่อให้พวกเขารู้สึกได้ถึงเสรีภาพและมีโอกาสที่จะเติบโตในหน้าที่ได้อย่างเท่าเทียมกัน ทั้งนี้ บริษัทฯ ได้ตั้งแคมเปญ Sodexo Speak Up EthicsLine เพื่อช่วยให้พนักงานและพันธมิตรทางธุรกิจของเรามีช่องทางในการสื่อสารรายงานพฤติกรรม การเลือกปฏิบัติ หรือกิจกรรมที่ขัดต่อจรรยาบรรณของบริษัท โดยพนักงานกลุ่ม LGBTQ+ของโซเด็กซ์โซ่ทุกประเทศที่ประสบปัญหาสามารถใช้ Sodexo Supports Me สายด่วนสำหรับข้อมูลและการให้คำปรึกษาได้ทุกคน ที่สำคัญผู้ร้องเรียนมั่นใจได้ว่าข้อมูลและรายละเอียดทุกอย่างจะถูกเก็บเป็นความลับ

นอกจากนี้ โซเด็กซ์โซ่ ยังได้จัดโครงการ “Sodexo Global Pride Network” เพื่อสนับสนุนการรวมเป็นสมาชิกของกลุ่ม LGBTQ+ โดยมีแนวคิดหลัก 3 ประการ ได้แก่ ตั้งกลุ่ม18+ LGBTQ+ และเครือข่ายพันธมิตรเพื่อการยอมรับในความหลากหลายและความเท่าเทียมความเป็นตัวตนของพนักงาน, ตั้งแคมเปญเพื่อสร้างความตระหนัก : โดยวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี โซเด็กซ์โซ่ จัดเฉลิมฉลอง “วันสากลยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน คนข้ามเพศ และคนรักสองเพศ” (International Day AgainstHomophobia and Transphobia) โดยให้พนักงานทุกคนได้พูดคุยเกี่ยวกับความกังวลและแบ่งปันเรื่องราวต่างๆ ในการใช้ชีวิตในมุมมองของกลุ่มผู้หลากหลายทางเพศ และโซเด็กซ์โซ่ทั่วโลกได้ปฏิบัติตามมาตรฐาน UN LGBTI ซึ่งก็คือการแก้ไขปัญหาการเลือกปฏิบัติต่อกลุ่มหลากหลายทางเพศ

สำหรับภาพรวมในระดับโลกนั้น มร.อาร์โนด์ กล่าวว่า โซเด็กซ์โซ่ได้รับการยอมรับจากองค์กรชั้นนำต่างๆ ในเรื่องของการปฏิบัติต่อพนักงานทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม โดยเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2563 โซเด็กซ์โซ่ติดอันดับหนึ่งในกลุ่มองค์กรที่ได้คะแนนสูงสุดจาก Workplace Pride GlobalBenchmark โดยได้รับคะแนนถึง 93.5% และเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2562ได้ 82.1% ซึ่งเป็นปีที่โซเด็กซ์โซ่ได้รับการยอมรับให้เป็น Workplace Pride2020 Advocate เป็นคะแนนขององค์กรที่ดีที่สุดที่เข้าร่วมในเกณฑ์มาตรฐาน เป็นผลจากการขับเคลื่อนและการสนับสนุนจากเครือข่ายพนักงานกลุ่ม 18+LGBTQ + และเครือข่ายพันธมิตร พร้อมด้วยพนักงานประมาณ2,000 คนทั่วโลกที่เข้าร่วมเป็นพันธมิตร

และเดือนมกราคม พ.ศ.2564โซเด็กซ์โซ่ได้รับคะแนน 100% จากมูลนิธิรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (The HumanRights Campaign Foundation) ที่พิจารณาจากดัชนีความเท่าเทียมด้วยการวัดนโยบายขององค์กรและแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมในสถานที่ (Diversity, Equity and Inclusion:DEI) โดยได้รับการแต่งตั้งให้เป็น “สถานที่ทำงานที่ดีที่สุดเพื่อความเท่าเทียมกันของ พนักงานกลุ่ม LGBTQ+” ติดกัน 14 ปีซ้อน

“ในช่วงวิกฤติที่ต้องเผชิญกับภาวะทางเศรษฐกิจที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เราพบว่าพนักงานกลุ่มLGBTQ+ บางคนได้แสดงให้เห็นถึงความสามารถในความคิดสร้างสรรค์และการมีส่วนร่วมของบริษัท จนได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี และถึงแม้ว่าเรายังอยู่ในช่วงของการแพร่ระบาด แต่เรายังคงปฏิบัติตามค่านิยมและนโยบายของเราเพื่อให้โซเด็กซ์โซ่เป็นสถานที่ทำงานและชุมชนที่เป็นธรรมและเท่าเทียมอย่างสม่ำเสมอรวมทั้ง เรายังมีการฝึกอบรมให้กับพนักงานกว่า 270 คน เกี่ยวกับ “Spiritsof Inclusion” ตั้งแต่ช่วงปีที่แล้วจนถึงปัจจุบัน” มร.อาร์โนด์ กล่าว

ด้าน ศุกลภัทร ราพรหม หรือ “ซาแมนธ่า” พนักงานกลุ่ม LGBTQ+ เล่าว่า ก่อนร่วมงานกับโซเด็กซ์โซ่ ได้ทำงานให้กับบริษัทต่างๆ ต้องทำงานร่วมกับลูกค้าที่หลากหลาย และมีช่วงหนึ่งได้ไปประจำที่สำนักงานส่วนกลางของบริษัทลูกค้ารายหนึ่ง เพราะต้องติดต่อประสานงานกับลูกค้าตลอดเวลา โดยทุกๆ ครั้งที่ได้ร่วมงานกับพวกเขาก็มักจะมีปัญหากลับมาตลอด ซึ่งเป็นเฉพาะกับเราเท่านั้น จึงคิดว่าน่าจะเกิดจากสาเหตุที่พวกเขาไม่ชอบเรา เพราะว่าเรามีเพศสภาวะที่แตกต่าง จึงเป็นสาเหตุให้ลาออกมาจากที่นั่น จากนั้นจึงได้มาร่วมทำงานกับ โซเด็กซ์โซ่ประเทศไทย ซึ่งเป็นบริษัทที่ใส่ใจในเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศ ทำให้เรามีอิสระทางความคิดและการแสดงออกรวมทั้งยังสามารถตัดสินใจในสถานการณ์ต่างๆ ที่อยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงโดยไม่กระทบกับการปฏิบัติงาน

“หลังจากได้รับมอบหมายให้ดูแลงานลูกค้าที่ไซต์งาน รู้สึกมีความสุขที่ได้ร่วมงานกับลูกค้าที่มองเพศทางเลือกอย่างเราเป็นคนปกติคนหนึ่ง เพราะด้วยสภาวะทางเพศที่ไม่สามารถระบุตัวตนได้ว่าเป็นหญิงหรือชายอย่างเราทำให้สังคมตราหน้าว่าเราเป็นกะเทยและที่ผ่านมาการทำงานร่วมกันกับบริษัทและลูกค้าก็ราบรื่นมาโดยตลอด ถึงจะมีปัญหาบ้างแต่ก็เล็กน้อย เพราะปัญหาที่เกิดส่วนใหญ่เป็นเรื่องงานไม่ใช่เรื่องเพศ

สำหรับคนที่อยู่ในสภาวะเพศทางเลือก ขอให้รักตัวเองและครอบครัวให้มากๆ เพราะคิดว่าเพศอย่างเราจะต้องอดทนให้มากกว่าเพศปกติ เพราะในทุกๆ วันเราต้องพบปะพูดคุยและได้รับการปฏิบัติจากผู้คนที่หลากหลาย แต่เราต้องไม่ทำให้ตัวเองดูไร้ค่าและให้เขามาดูถูกเราได้ ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือการวางตัว และความคิดบวกต่อสังคมภายนอก”

ที่มา: แนวหน้า, 1/6/2564

มาเลเซีย ล็อกดาวน์วันแรก 1 มิ.ย. ตม.สตูล เข้ม หวั่นแรงงานลักลอบเดินทางเข้าประเทศผิดกฎหมาย

พ.ต.อ.ธนิสร แสงท่านั่ง ผกก.ตม. จว. สตูล พ.ต.ท.ยศพร มาศรีนวล รอง ผกก.ตม.จว.สตูล พ.ต.ต.หญิง ธนันยา สุตมาศ สว.ตม.จว.สตูล พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสตูล นำเรือตรวจการณ์ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสตูล ล่องออกสู่กลางทะเลอันดามัน บริเวณท่าเทียบเรือตำมะลัง ตำบลตำมะลัง อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ไปยังพื้นที่จุดแนวเขตน่านน้ำ ทางทะเลรอยต่อระหว่างจังหวัดสตูล กับรัฐเปอร์ลิส ประเทศ มาเลเซีย ทันที

หลังทราบว่าทางประเทศมาเลเซีย พบตัวตัวเลขที่น่าเป็นห่วง พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ทำสถิติ สูง รวมทั้งนายมูห์ยิดดิน ยัสซิน นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย ประกาศล็อกดาวน์ทั่วประเทศ โดยให้มีผลตั้งแต่วันนี้ วันอังคารที่ 1 มิถุนายน

แถลงการณ์ที่ออกมาระบุว่า มาตรการล็อกดาวน์ดังกล่าว จะเป็นการล็อกดาวน์เต็มรูปแบบในทุกภาคส่วน ทั้งในทางสังคมและเศรษฐกิจ เบื้องต้นจะมีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 14 มิถุนายน แต่สิ่งหนึ่งที่น่ากลัวคือคนไทยที่ตกค้างอยู่ในประเทศมาเลเซีย จะต้องดิ้นรนหนีกลับเข้าประเทศอย่างแน่นอน

และที่เสี่ยงที่สุด คอยจับตาดูในช่วงภาคกลางคืนนี้ ที่อาจจะมีลักลอบเข้ามาได้ง่าย แบบกองทัพมดคน รวมทั้งคนไทยในต่างแดน หรือแรงงานเถื่อน ต้องหนีออก และแอบเข้ามาอย่างช่องทางธรรมชาติที่ง่ายที่สุด

พ.ต.อ.ธนิสร พร้อมด้วยกำลังเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสตูล จึงกางแผนที่ภูมิประเทศชี้จุดวางกำลังเรือที่มีความพร้อมไว้สแตนบาย 2 ลำ มีความเร็วออกจตรวจตรา น้ำมันเต็มถังทันทีเพื่อออกสกัดกั้น จับกุม ผู้ ลักลอบเข้าประเทศโดยผิดกฎหมาย ทั้งนี้ยังได้ขึ้นไปยังบนเกาะปูยู ตำบลเกาะปูยู อำเภอเมือง จังหวัดสตูล ถือเป็นเกาะที่ใกล้กับฝั่งประเทศเพื่อนบ้านมากที่สุด ออกวางกำลัง สร้างตาสัปปะรดแหล่งข่าวที่ไว้ใจได้ สอดส่องดูแลแจ้งข่าวทันทีเมื่อพบผู้ต้องสงสัย คนแปลกหน้าหนีขึ้นเกาะ

นอกจากนี้ ยังสุ่มตรวจเรือขนส่งสินค้าข้ามประเทศ เพราะเป็นภารกิจที่สำคัญในการตรวจค้น เสี่ยงที่เรือเหล่านี้จำลำเลียง แรงงาน คนไทย มาแบบผิดกฎหมาย เข้ามาแฝงซ่อนในคลังสินค้าเรือ โดยออกค้นเรือทันที

ทางด้าน นายพิชญพัทธ์ เรืองชาตรี นายอำเภอทุ่งหว้า ได้สั่งการให้ นายเชิดศักดิ์ หมีนหา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลนาทอน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน พร้อมด้วย นายสมยศ ฤทธิ์ธรรมนาถ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน พนักงานท้องถิ่น อบต.นาทอน เจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจ สภ.ทุ่งหว้า เจ้าหน้าที่ รพ.สต.วังตง และอสม. ร่วมกันปฏิบัติหน้าที่ ณ ด่านตรวจคัดกรองโควิด อบต.นาทอน

เพื่อคัดกรองและค้นหาผู้ติดเชื้อเชิงรุก ในพื้นที่อย่างเข้มงวด ตามมาตรการยกระดับของจังหวัดสตูล ในการป้องกันการเเพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ผลการปฏิบัติหน้าที่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ประชาชนที่สัญจรผ่านไปมา ได้ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามมาตรการดังกล่างอย่างเคร่งครัด

ที่มา: สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น, 1/6/2564

กลุ่มผู้ประกอบการ นวดแผนไทย ร้องกมธ.แรงงาน เยียวยาหลังศบค.สั่งปิดกิจการ

1 มิ.ย. 2564 ที่รัฐสภา นายสุเทพ อู่อ้น ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร รับเรื่องร้องเรียนจากกลุ่มผู้ประกอบการนวดแผนไทย หลังศบค.ประกาศสั่งปิด 5 กิจการ

โดยนายพิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย กล่าวว่า ตนมายื่นหนังสือให้กมธ.แรงงาน เพื่อขอคัดค้านคำสั่งศบค.ที่มีคำสั่งออกมาปิดกิจการต่อ 14 วัน ซึ่งในช่วงเช้าทางกทม. ได้แถลงข่าวให้เปิด 5 กิจการได้ ซึ่งผู้ประกอบการได้เตรียมซื้ออุปกรณ์ต่างๆ มาแล้ว แต่ในช่วงค่ำกลับมีประกาศศบค.ออกมาเช่นนั้น ตอนนี้ทุกคนแทบล้มทั้งยืน ตนคิดว่าคำสั่งนี้ไม่เป็นธรรมกับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็ก เช่น ร้านนวด ร้านสปา ซึ่งที่ผ่านมาโดนสั่งปิดมาโดยตลอด แรงงานหมอนวดเป็นแรงงานนอกระบบจึงไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยา จึงอยากให้ประธาน กมธ. ช่วยเหลือแรงงานและผู้ประกอบการ SMEs ขนาดเล็กด้วย

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการร้านนวดเพื่อสุขภาพใน กทม. และ จ.นนทบุรี กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่ผ่านมา นโยบายต่างๆ ที่ออกโดยศบค. ทำให้กิจการได้รับผลกระทบจำนวนมาก ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากและมีอยู่ทุกภาคส่วน เช่น งานราชการ ธนาคาร ร้านสะดวกซื้อ แต่ทุกๆ หน่วยงานได้รับการดูแลอย่างเป็นธรรม ไม่มีหน่วยงานใดถูกสั่งปิดทั่วพื้นที่เหมือนร้านสปา ร้านสักคิ้ว หรือฟิตเนส ดังนั้น จึงขอให้ ศบค. กทม. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลพวกเราอย่างเท่าเทียม โดยเราต้องการพื้นที่ในการทำงานในสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 นอกจากนี้ ในส่วนของร้านนวดในพื้นที่ จ.นนทบุรี ค่อนข้างยึดหลักการตาม กทม. เป็นหลัก แต่หากพิจารณาจากตัวเลขผู้ติดเชื้อจะพบว่าตัวเลขต่างกันมาก ซึ่งร้านนวด จ.นนทบุรี มีคำสั่งปิดอย่างไม่มีกำหนด ทั้งๆ ที่ผู้ประกอบการมีมาตรการตามสาธารณสุขกำหนด อีกทั้งมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐก็ไม่ถึงผู้ประกอบการโดยตรงและไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง หากมาตรการเหล่านี้ไม่ชัดเจนช่วยผ่อนปรนให้พวกเราได้ช่วยเหลือตัวเองน่าจะดีกว่า

ขณะที่ นายสุเทพ กล่าวว่า ตนในฐานะประธาน กมธ. รู้สึกเศร้าใจกับการบริหารจัดการที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับแรงงานและผู้ประกอบการที่เกิดจากความไม่ชัดเจนด้านนโยบายของศบค.และรัฐบาล ซึ่งเป็นการผลักภาระ รัฐบาลเหมือนคนกลับกลอกทำให้แรงงานและผู้ประกอบการวางแผนชีวิตและธุรกิจไม่ได้ โดยตนจะรับเรื่องและเร่งดำเนินการ โดยจะมีการประชุมของ กมธ. และเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กทม. ผู้ว่าฯ จ.นนทบุรี ศบค. เข้ามาประชุมเพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน ตนขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการเยียวยาประชาชนแบบถ้วนหน้า มีมาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจโดยแลกกับการจ้างงาน อาจให้มีการกู้เงินแบบไม่มีดอกเบี้ยหรือให้เงินเปล่าธุรกิจที่ถูกปิดจากคำสั่งของรัฐ รวมถึงการจัดหาวัคซีนต้องทำอย่างรวดเร็ว ไม่แทงมาตัวเดียวเหมือนทุกวันนี้ และเร่งกระจายการฉีดให้ทั่วถึง

ที่มา: มติชนออนไลน์, 1/6/2564

สำรวจสุขภาพจิตช่วง COVID-19 ระลอกใหม่ พบแรงงานเสี่ยงเข้าสู่ภาวะเครียด ซึมเศร้า

31 พ.ค. 2564 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงผลสำรวจสุขภาพจิตในสถานการณ์ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ (โควิด-19) ระลอกใหม่ พบว่าคนไทยปรับตัวรับมือสถานการณ์ได้ดีมากขึ้นเมื่อเทียบกับปี 2563 โดยพลังใจจากครอบครัวและคนใกล้ชิดยังเป็นปัจจัยสำคัญ และขณะนี้พบความเสี่ยงด้านสุขภาพจิตสูงในกลุ่มแรงงานโดยเฉพาะกลุ่มรับจ้างขับรถสาธารณะ จึงจัดเวทีเสวนาระหว่างกรมสุขภาพจิตและผู้แทนกลุ่มแรงงานทั้งในและนอกระบบเพื่อทำความเข้าใจถึงปัญหาด้านสุขภาพจิตในกลุ่มวัยแรงงาน และบูรณาการการทำงานร่วมกันในทุกภาคส่วน

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า กรมสุขภาพจิตได้ดำเนินการติดตามผลกระทบสถานการณ์โควิด-19 มาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มมีการระบาดในประเทศไทย ในภาพรวมของผลสำรวจ ความเครียด อาการซึมเศร้า ความเสี่ยงในการทำร้ายตนเอง มีการปรับตัวสูงขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 มากขึ้น แต่การปรับตัวสูงขึ้นของปัญหาด้านสุขภาพจิตในช่วงการระบาดของปี 2564 ยังไม่ถึงระดับเดียวกับช่วงที่มีการระบาดในช่วงเดือนมีนาคม 2563 ซึ่งสะท้อนว่าประชาชนส่วนหนึ่งมีพลังใจที่ดีมากขึ้น เริ่มมีการปรับตัวรับมือต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดได้ดีมากขึ้น

“และเมื่อสำรวจพลังทางใจของคนไทยปี 2564 พบว่าปัจจัยด้านพลังใจที่คนไทยมีอยู่มากที่สุด คือ การมีคนในครอบครัวและคนใกล้ชิดเป็นกำลังใจ รองลงมาเป็นการมองว่าการแก้ปัญหาทำให้เรามีประสบการณ์มากขึ้น และตามมาด้วยความสามารถในการจัดการปัญหาได้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ จากผลสำรวจยังพบอีกว่า สำหรับคนที่มีพลังใจลดน้อยลงจะทำให้รู้สึกว่าปัญหายากลำบากมากขึ้นและกังวลว่าจะเอาชนะปัญหานั้นไม่ได้ นอกจากนี้ กรมสุขภาพจิตได้นำผลสำรวจล่าสุดมาจำแนกตามอาชีพ พบว่าระดับความเครียดมาก-มากที่สุด ในรายอาชีพกลุ่มรับจ้างขับรถสาธารณะมีอัตราสูงสุด (ร้อยละ 14.8) รองลงมาเป็น กลุ่มว่างงาน (ร้อยละ 8.8) และบุคลากรสาธารณสุข (ร้อยละ 6) ตามลำดับ ซึ่งอาชีพกลุ่มรับจ้างขับรถสาธารณะนี้ มีทั้งอาการซึมเศร้า (ระดับค่อนข้างมาก-มาก ที่ร้อยละ 7.4) และความเสี่ยงในการทำร้ายตนเอง (ระดับค่อนข้างบ่อย-เกือบทุกวัน ที่ร้อยละ 3.7) ซึ่งเป็นอัตราสูงที่สุดในทุกกลุ่มอาชีพอีกด้วย” อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าว

พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า ผลกระทบที่สำคัญที่สังเกตได้จากผลรายงานล่าสุด คือ ผลกระทบด้านสุขภาพจิตที่มีต่อกลุ่มแรงงาน จึงเป็นที่มาของการประชุมหารือกับผู้แทนกลุ่มแรงงานในวันนี้ ที่จะช่วยทำให้กรมสุขภาพจิตสามารถดำเนินงานได้ตรงตามความต้องการของกลุ่มแรงงานทั้งในระบบและนอกระบบ และสื่อสารเรื่องการสร้างวัคซีนใจในองค์กรของวัยทำงาน เน้นการสร้าง “safe calm hope care” ในชุมชน องค์กร และสังคม จะช่วยให้ประชาชนมีมุมมองปัญหาเปลี่ยนไปในทางบวกมากขึ้น การที่แรงงานไทยมีสุขภาพจิตดีจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศชาติผ่านวิกฤตต่อไปได้

การจัดเวทีเสวนาในวันนี้ ประกอบด้วย กรมสุขภาพจิต นายมนัส โกศล ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน, ผู้แทนจากกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส), ประธานสหกรณ์แท็กซี่สุวรรณภูมิ, ผู้แทนบริษัทออโต้อัลลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด, ผู้แทนสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย จ.สมุทรปราการ, ผู้แทนสหพันธ์แรงงานปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์แห่งประเทศไทย, ผู้แทนสหภาพแรงงาน วายเอ็มพี กรุ๊ป จ.ชลบุรี, กลุ่มลูกจ้างไรเดอร์จากแอพพลิเคชันลาลามูฟ, ผู้แทนสมาพันธ์ศูนย์ประสานงานแรงงานนอกระบบแห่งประเทศไทย, ผู้แทนหน่วยงานพัฒนาและบริการสังคม สภาคริสตจักรในประเทศไทย, ผู้แทนมูลนิธิรักษ์ไทย, ผู้แทนมูลนิธิเพื่อนหญิง, ผู้แทนมูลนิธิพิพิธภัณฑ์แรงงานไทย, ผู้แทนสมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย, สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) และผู้แทนสภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย ได้ทำความเข้าใจร่วมกันถึงสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตของคนไทยโดยเฉพาะในกลุ่มแรงงานร่วมกันวางแผนสนับสนุนโครงการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตกลุ่มแรงงานในระบบภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. สำนักสร้างสรรค์และโอกาส ซึ่งทำงานกับแรงงานในสถานประกอบการจำนวน 13 แห่ง ในพื้นที่ จ.ระยอง จ.ชลบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.พระนครศรีอยุธยา จ.อ่างทอง จ.สมุทรสาคร จ.นครปฐม และ กรุงเทพมหานคร และวางแผนการทำงานแบบบูรณาการระหว่างทุกภาคส่วนเพื่อมุ่งให้เกิดสุขภาพจิตที่ดีและลดความสูญเสียจากปัญหาด้านสุขภาพจิตในกลุ่มวัยแรงงานของประเทศไทย

ที่มา: มติชนออนไลน์, 31/5/2564

ก.แรงงานลุยตรวจโควิดเชิงรุกแคมป์คนงาน

นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในแคมป์คนงานว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีความห่วงใยต่อสถานการณ์ดังกล่าวจึงสั่งการให้กระทรวงแรงงาน บูรณาการกับกระทรวงมหาดไทย ผู้ว่าราชการจังหวัด สาธารณสุขจังหวัด และโรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุกแก่แรงงานในสถานประกอบการและแคมป์คนงานในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีและนนทบุรี เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19

นายสุชาติ กล่าวต่อว่า จังหวัดปทุมธานี เริ่มตรวจโควิด – 19 เชิงรุกในสถานประกอบการ เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 พ.ค. 2564 จำนวน 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท ไทสัน ลูกจ้างจำนวน 1,948 คน บริษัทโชคชัย เอ็นจิเนียริ่ง ลูกจ้างจำนวน 825 คน และ บริษัทเคลแมกซ์ แมซินเนอรี่ ลูกจ้างจำนวน 136 คน โดยมีโรงพยาบาลการุญเวช ปทุมธานี โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม เป็นผู้ดำเนินการตรวจ

ทางด้านจังหวัดนนทบุรี มีแผนดำเนินการตรวจโควิด-19 เชิงรุกในสถานประกอบการะยะที่ 2 เริ่มตั้งแต่วันที่ 29 พ.ค. – 30 มิ.ย. 2564 เป้าหมายสถานประกอบการจำนวน 160 แห่ง ลูกจ้าง 11,140 คน และตรวจโควิด-19 เชิงรุกในแคมป์คนงาน อีกจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท ชิโนทัย ลูกจ้างจำนวน 759 คน และบริษัท นวรัตน์ พัฒนาการ ลูกจ้างจำนวน 454 คน โดยมีโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ อินเตอร์เนชั่นเนล โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม เป็นผู้ดำเนินการตรวจกรณีตรวจพบเชื้อจะถูกส่งตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลในเครือข่ายประกันสังคม ซึ่งมีทีมแพทย์และพยาบาลดูแลเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ การตรวจโควิด-19 เชิงรุกดังกล่าวจะเป็นการชะลอการแพร่กระจายของเชื้อและควบคุมการแพร่ระบาดในช่วงที่รอการฉีดวัคซีนให้แก่แรงงานในสถานประกอบการอีกด้วย

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 31/5/2564

ศบค.มท.แจ้งผู้ว่าฯ ทั่วประเทศ คุมเข้มแคมป์คนงาน

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ ปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินในส่วนที่เกี่ยวกับการสั่งการและประสานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้สั่งการไปยังผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดพิจารณาดำเนินการนำมาตรการด้านการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในแคมป์คนงานก่อสร้างของกรุงเทพมหานคร อาทิ มาตรการควบคุมการเคลื่อนย้ายของแรงงานข้ามเขตภายในจังหวัดที่กำหนด ให้มีการแจ้งล่วงหน้าไปยังปลายทางไม่น้อยกว่า 7 วัน การจัดทำบัญชีหรือทะเบียนแรงงานที่มีการเดินทางออกนอกพื้นที่เพื่อประโยชน์ในการติดตามตัวและควบคุมโรค มาพัฒนารายละเอียดเพิ่มเติมให้มีความชัดเจนขึ้น เพื่อเป็นแนวทางสำหรับจังหวัดอื่นๆนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์การแพร่ระบาดในพื้นที่ต่อไป

ที่มา: สำนักข่าวไทย, 30/5/2564

ยอดรวมพนักงาน ขสมก. ติดเชื้อโควิดทะลุ 100 แล้ว

29 พ.ค. 2564 คณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID – 19) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ หรือ ขสมก. แจ้งว่าวันนี้พบพนักงานขสมก. ติดเชื้อโควิด-19 อีกจำนวน 5 ราย ประกอบด้วย 1. พนักงานเก็บค่าโดยสารรถธรรมดา สาย 47 เพศหญิง อายุ 45 ปี 2. พนักงานเก็บค่าโดยสารรถธรรมดา สาย 136 เพศหญิง อายุ 51 ปี

3. พนักงานเก็บค่าโดยสารรถธรรมดา สาย 136 เพศหญิง อายุ 55 ปี 4. พนักงานขับรถโดยสารธรรมดา สาย 47 เพศหญิง อายุ 28 ปี และ5. พนักงานขับรถโดยสารธรรมดา สาย 72 เพศชาย อายุ 51 ปี ส่งผลให้ ณ วันที่ 29 พ.ค.2564 ขสมก. มียอดสะสมพนักงานติดเชื้อโควิด-19 รวมทั้งสิ้น 102 คนแล้ว

ที่มา: ข่าวสด, 29/5/2564

แรงงานเมียนมานับพัน โวย รพ.สนามแคลคอมพ์ ไฟดับ-ร้อนอบอ้าว

28 พ.ค. 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ย้อนเหตุการณ์ไปเมื่อคืนวันที่ 27 พ.ค. 2564 ที่ผ่านมาบรรยากาศหน้าอาคาร 11 ภายในโรงงานแคลคอมพ์ อ.เขาย้อย จ.เพชรบุรี มีกลุ่มแรงงานที่ชิดเชื้อโควิด 19 ซึ่งเป็นแรงงานชาวเมียนมากว่า 1,000 คน ลงมาประท้วงหลังจากเกิดความไม่พอใจเนื่องจากไฟดับทำให้การเป็นอยู่ภายในตัวอาคารที่มีอากาศร้อนอบอ้าวจนอยู่ไม่ได้ฝ่าย เจ้าหน้าที่ นำโดย นายณัฐวุฒิ เพ็ชรพรหมศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี นางวิพร แววศรีผ่อง นายอำเภอเขาย้อย ทหารและตำรวจ ต้องตรึงกำลังเข้าช่วยระงับเหตุและเข้าพูดคุยเจรจา

และขอความช่วยเหลือจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเขต 1 (ภาคใต้) เข้าช่วยสนับสนุนรถโมบายในการดำเนินการให้กระแสไฟฟ้ามีเพียงพอต่อความต้องการของผู้ป่วยที่พักอาศัย

บรรยากาศล่าสุด วันที่ 28 พ.ค. 2564 กลับเข้าสู่ภาวะปกติ มีเพียงสื่อจากหลายสำนักที่มาปักหลักในพื้นที่ เพื่อรอฟังข้อมูลสรุปของจังหวัดว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร โดยส่วนสาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้กระแสไฟฟ้าจ่ายไฟไม่เพียงพอเนื่องจากผู้เข้าพักรักษาตัวได้นำอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนตัวมีทั้งกะทะไฟฟ้า พัดลม กาต้มน้ำร้อน มาใช้

สำหรับการประชุมวันนี้ นายภัคพงศ์ ทวิพัฒน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี พร้อมส่วนเกี่ยวข้องได้เดินทางมาที่โรงงานแคลคอมพ์ เพื่อเข้าประชุมหารือในการวางมาตรการและหาวิธีการแก้ไขปัญหาไม่ได้เกิดขึ้นอีก ที่ขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการประชุม

ที่มา: PPTV, 28/5/2564

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท